ความฟุ้งซ่านในที่นี้ ผมหมายถึง
การคิดไปเรื่อยๆ หรือความเครียด ความวิตกกังวล อันเกิดจากแรงกดดันพื้นๆ ทั่วไป
ไม่ใช่ปัญหาทางกายภาพที่เกี่ยวกับสมอง, Dendrite ทำงานผิดปกติ, ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ, หรือความเครียดขึ้นสูงจนถึงระดับของอาการโรคจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง..คือ..ถ้ามันถึงจุดนั้นแล้ว
เราคงต้องยอมรับว่า ไปพึ่งจิตแพทย์น่าจะดีกว่าการจัดการด้วยตัวเอง ที่ผมกำลังพยายามทำอยู่นี่
คือการสร้างกลไกป้องกันตัวเอง ไม่ให้ต้องเสียเงิน เสียเวลา ไปพบจิตแพทย์น่ะครับ
เท่าที่รู้เขาคิดเป็นชั่วโมง และแพงมาก..
อาการฟุ้งซ่านนี้
มันมักจะเกิดขึ้นตอนว่าง.. ซึ่งถ้ามันเป็นเวลาว่างที่พอจะทำอะไรได้
มันคงไม่มีปัญหา มันจะมีปัญหาก็ตรงที่ มันเป็นเวลาว่างที่ไม่ต่อเนื่อง
ไม่สะดวกพอสำหรับงานอดิเรก เช่น เมื่อคุณละจากงานตรงหน้ามาพิงพนักเก้าอี้สัก 10 วิ, คุณอาจต้องรออะไรในระยะเวลาสั้นๆ หรือคาดคะเนเวลาที่แน่นอนไม่ได้ อย่างการเข้าคิวรอจ่ายบิลค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าโทรศัพท์, รอกด ATM, รอจ่ายตังค์ใน Macro, รอติดต่อราชการ, รอคุณหมอเรียกหมาตรวจ, รอลุ้น film x-ray เจ้าหมาน้อย, รอหมาผ่าตัด อะไรแบบนี้ ซึ่งมันจะเป็นช่วงเวลาที่ ตื่นตัว วิตกกังวล
ฟุ้งซ่าน วุ่นวายใจ (ฮ่ะๆ.. คุณหมอจำหน้าเรากับชื่อหมา เขาจำหมาทุกตัวของเราได้
เก่งมากเลย.. ผมจะชื่อ BACH หรือ COFFEE ที่โรงพยาบาลสัตว์สุวรรณชาดนะ เผื่อเจอกัน..)
หรือการขับรถไปไหนมาไหนตามลำพัง
ผมไม่รู้ว่า คุณๆ จะเป็นอย่างผมไหม แต่คิดว่าหลายๆ คนน่าจะเป็นกันอยู่
คือคุณจะแยกประสาทการรับรู้และการตัดสินใจส่วนหนึ่งให้กับการขับรถ
แต่มันยังเหลืออีกเยอะ ที่จะพุ่งทะยานไปกับการคิดอีกหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน
อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับพระป่า ที่สะกิดใจให้ผมสังเกตเห็นว่า จริงๆ
แล้วท่านพูดถูกแฮะ เราไม่ได้คิดหลายๆ เรื่องพร้อมกันหรอก เพราะ *คนเราคิดได้ทีละเรื่องในหนึ่งขณะจิตเท่านั้น*
ไอ้ที่เราทำอยู่ มันเป็นการคิดแบบกระโดดไป กระโดดมา ระหว่างความคิดหลายๆ เรื่อง
แต่ละเรื่องก็เชื่อมโยงเรื่องของตัวเองไป จนทำให้เราหลงเข้าใจไปว่า เราคิดได้หลายๆ
เรื่องพร้อมๆ กัน เก่งว่ะ.. แต่เก็บความสามารถแบบนี้เอาไว้ใช้
เวลาต้อง clear งานหลายๆ อย่างพร้อมกัน
ดีกว่า..สมอง..ต้องใช้ให้ถูกทาง มันบอบบางมากนะ ควรได้รับการดูแลอย่างดี
ทีนี้พอเรื่องมันมากๆ เข้า
มันจะรู้สึกเบื่อและรำคาญตัวเอง ที่ควบคุมความคิดของตัวเองไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่
ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเลย มันมักจะสะเปะสะปะไปอยู่กับอดีตหรือไม่ก็อนาคต
อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น และไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าปล่อยไว้นานๆ
อาจสร้างปัญหาให้กับคลื่นสมองและกระบวนการคิดของตัวเอง แล้วถ้าหัวมันมีปัญหาจนไม่เสถียรพอที่จะทำงานได้ดี
จะทำอะไรกินล่ะ ที่บ้านไม่รวยนี่ ไม่มีใครทำเลี้ยง พ่อแม่ให้หาเงินใช้เอง กงสีก็ไม่มี
ไหนจะลูกบ๊าคอีกล่ะ ใช้ตังค์เยอะกว่าป๊ามันอีก
มันเลยนำไปสู่การหาวิธีป้องกันและแก้ไข เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้แบบดีๆ
ที่ผมใช้งานอยู่ จะมี 4-5 วิธี
ที่ใช้ได้ผลกับตัวเอง เรียงลำดับตามอาการที่เกิด จากง่ายไปยาก ที่จะเอามันลงให้ได้
เป็นส่วนผสมพันธุ์ทาง ของพุทธ จิตวิทยาและอื่นๆ ร่วมกัน
ใครไม่ใช่พุทธก็อย่าเพิ่งอคติเลยครับ ผมเองก็ไม่ใช่พุทธ ก็อย่างที่เคยบอก เราแค่เปิดใจศึกษา
เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองก็พอ (เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ได้กีดกันทางศาสนากันแล้วด้วย
ไม่มีใครหวงวิชาแล้ว เขาจะดีใจด้วยซ้ำที่เราใช้ประโยชน์จากแนวคิดของเขาได้
เหมือนผมจะดีใจ ถ้าบทความของผมจะเป็นประโยชน์กับใครได้บ้าง) แล้วก็ต้องยอมรับว่า ของเขามีแนวคิดและวิธีการดีๆ
ที่จะจัดการกับตัวเองได้อย่างง่ายๆ และได้ผล เป็นแขนงหนึ่งของจิตวิทยาได้เลย
แต่ถ้าใครเล่นสายวิปัสนากรรมฐานอยู่ อาจคิดว่าผมจะมาสอนไอ้เข้ว่ายน้ำเหรอ
ก็อย่าถือกันเลยครับ ความรู้ผม ไม่แน่นแน่ๆ เพราะมันมาจากการอ่านและทำความเข้าใจด้วยตัวเองทั้งหมด
อย่างแรกเลย ถ้ามันรู้สึกเฉยๆ
อยู่ ผมจะตามลม ตามไปเรื่อยๆ ดูลมเข้า ลมออก เอาสติจับอยู่กับลม
จะได้ไม่หลุดไปเรื่องอื่นเรื่อยเปื่อย วิธีนี้จะช่วยเรื่องสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้วิธีที่
3 ทำได้ง่ายขึ้น (ประโยชน์ของสมาธิ มีมากจนไม่อาจมองข้าม
ไว้เรามาว่ากันเฉพาะเรื่องไปเลยทีหลังนะครับ) และช่วยฆ่าเวลาได้ดีด้วย ก็น่าแปลก
บางทีเวลาเป็นชั่วโมง ดูเหมือนมันจะไม่นาน บางทีมีเวลาแค่ 10 นาที อยากจะให้มันนาน
มันก็ดูเหมือนจะนาน ผมยังหาคำอธิบายดีๆ ไม่ได้
ถ้าผมสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้เมื่อไหร่ จะเอามาเล่าให้ฟัง..ผมกำลังสงสัยว่า
มันต้องอธิบายด้วยหลักการของกลศาสตร์ควอนตัม รึเปล่า.. ถ้าใช่ คงต้องนานหน่อย
อาจจะหลายปี
อย่างที่สอง ใช้รูปแบบของผู้รู้
อันนี้ยากสำหรับผมนะ ผมใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะพอเข้าใจ (คือผมคงจะ IQ ไม่สูงน่ะ เลยเข้าใจได้ช้า แล้วตอนเด็กๆ ก็ไม่มี Mozart ให้ฟังด้วย มาฟังตอนแก่แล้ว มันก็ช่วยได้ไม่มาก)
มันเหมือนเราดูตัวเองทำนั่น ทำนี่ รู้สึกนั่น รู้สึกนี่ คิดนั่น คิดนี่
แล้วก็ย้อนมาดูตัวที่รับรู้ด้วย สลับไปมา มันจะทำให้ไม่ว่างไปคิดฟุ้งซ่าน
เป็นอุบายที่ดีทีเดียว เป็นวิธีการด้านวิปัสนากรรมฐาน เป็นการแยกตัวตนออกด้วย
มันจะลดเรื่องตัวเรา ของเรา เราคิด เราทำ แต่เป็นการมองว่าสังขาร (คือร่างกายนั่นแหละ
พูดให้มันยากไปอย่างนั้นเอง) มันคิด มันทำ มันจะช่วยให้เรารู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องต่างๆ
น้อยลง.. เรื่องนี้มีการใช้ในด้านจิตวิทยาด้วย เป็นรูปแบบของการสร้างเกราะป้องกันตัวเองจากสิ่งกระทบโดยตรง
และใช้ในการบำบัดคนที่มีความกลัว หรือมีความรู้สึกฝังใจในด้านลบ กับเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ให้คิดว่า เราเป็นอีกคนที่ดูตัวเราในสถานการณ์นั้นอยู่ สร้างภาพขึ้นมา
แล้วเปลี่ยนการกระทำ ดูผลที่ได้ จนกว่าจะได้ผลที่พอใจ
แล้วเอามันฝังลงในจิตใต้สำนึกไปเลย คือคิดบ่อยๆ มันจะลงไปเอง (จิตใต้สำนึกมันหลอกได้นะ
มันแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง เขาถึงให้ระวังเรื่องการรับรู้ด้วย พวกโฆษณาเขาใช้วิธีนี้กับเราอยู่)
เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบำบัดทางจิต เป็นการเอาเรื่องดีๆ เขียนทับเรื่องแย่ๆ หรือใช้ในการสร้างตัวตนในอุดมคติขึ้นมาใหม่
อันนี้ผมอ่านเจอในหนังสือด้าน NLP นะ
วิธีที่สาม
ผมมักจะใช้ในกรณีที่มีอารมณ์ด้านลบเกิดขึ้น (ยังไม่ถึงจุดที่จะเอาไปใช้กับอารมณ์ด้านบวกด้วย
อันนั้นให้พระท่านใช้ไปก่อน) เช่น วิตกกังวล โกรธ เสียใจ หงุดหงิด ไม่สบายใจ
มันจะเป็นการดูเข้าไปตรงๆ ที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ต้องหาความหมายให้มัน ว่ามันเป็นความรู้สึกแบบไหน
ถ้าคุณสังเกตบ่อยๆ คุณจะเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ดีก่อตัวขึ้น ก่อนที่คุณจะรู้ว่ามันคืออะไรเสียอีก
วิธีการคือ หยุดทุกอย่าง แล้วมองดูมัน เป็นการดูเฉยๆ นิ่งๆ
ไม่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยว เหมือนเราดูหนังแต่ไม่มีอารมณ์ร่วมน่ะ
มันจะหยุดของมันเอง แต่คุณต้องไม่รีบร้อน ไม่ต้องไปอยากให้มันหายไป ไม่ต้องหนีมัน
คุณต้องเผชิญหน้ากับมันไม่ว่ามันจะยากขนาดไหน ถ้าคุณทำได้ครั้งนึง
คุณก็จะไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับมันอีกในครั้งต่อไป มันจะง่ายขึ้น .. ในทางพุทธ
มันจะอยู่ในเรื่องวิปัสนากรรมฐาน เกี่ยวกับการดูสภาวะของจิต (ที่เคยอ่านนะครับ พระครูเกษม
ธรรมทัต กับหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช จะเน้นเรื่องนี้โดยตรง) หรือเรื่องสติปัฎฐาน 4
หมวดจิต หรือเรื่องของการรู้ตัว ถ้าทำบ่อยๆ คุณจะรู้ตัวได้เร็วขึ้น
ก่อนที่อารมณ์จะพาคุณเตลิดไป จนถึงจุดที่มีการแสดงออก หรือไปฆ่าใครด้วยความแค้น ..
ในด้านจิตวิทยา การเผชิญหน้ากับอารมณ์ไม่พึงประสงค์ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด .. จะว่าไป
คนที่ใม่ใช่เด็ก แค่ออกอาการก็เป็นเรื่องที่น่าอายแล้ว เพราะมันเป็นการแสดงถึงการไม่มีความสามารถในการควบคุมตัวเอง
การทำให้ภายนอกดูสงบ ราบเรียบ มันก็ดูดีอยู่หรอก ดูปลอดภัยดี สำหรับน้ำนิ่งๆ
ที่ข้างใต้เป็นน้ำวน แต่มันก็ยังซ่อนอันตรายอยู่ มันจะดีกว่าเยอะเลย ถ้ามันนิ่งทั้งผิวน้ำและใต้น้ำ
คุณจะชอบมันมากกว่า .. อันนี้ผมใช้เวลาทำความเข้าใจค่อนข้างนาน แต่มันใช้แล้วได้ผล
เลยทำให้คิดว่า ผมน่าจะเข้าใจได้ถูกต้องแล้ว
วิธีถัดมาที่ผมจะใช้
ถ้าวิธีการก่อนหน้านี้ใช้ไม่ได้ผล หรือมันได้ผลแบบไม่ยั่งยืน
คือมันคอยแต่จะมากวนใจอยู่นั่นหล่ะ มันจะเป็นเรื่องใหญ่หน่อย
หรือไม่ใหญ่แต่ไม่จบซักที ประมาณความรักความแค้นอะไรทำนองนี้ คล้ายๆ วรรณกรรมคลาสสิกอย่าง
wuthering heights รักมากก็แค้นมากอย่างนั้นน่ะ ( I hate
you but I love you too.. idiot เนอะ กว่าจะอ่านจบ ลุ้นเหนื่อยเลย
แต่มันสนุกมากนะไปหาอ่านดู ล้างแค้นกันมันส์มาก ) เรื่องแบบนี้ มันจะเล่นยากสักหน่อย
อาจเป็นด้วยเรื่องของเวลาที่ใช้ในการสร้างมันขึ้นมา..มันมาก
เวลาที่จะใช้ในการทำลายมัน ก็เลยต้องมากไปด้วย อย่างนั้นมั๊ง .. คือ พอมันนึกขึ้นมามันก็หยุดได้
แต่เดี๋ยวมันก็จะผุดขึ้นมาอีก ไม่หายไปจริงๆ น่ะครับ เป็นเรื่องที่น่ารำคาญอยู่
อย่างนี้ต้องโหสิให้เขา (หรือมัน) ไป ไม่ต้องยาก ผมเป็นคาทอลิก บาลีสันสกฤตยากๆ ผมไม่เล่น
เสียเวลาเยอะ มานั่งเรียน กว่าจะรู้เรื่อง คงได้ฆ่าใครไปบ้างแล้ว มันจะไม่ทันการ
เอาง่ายๆ แค่ตั้งใจว่า เราขออโหสิกรรมให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้ล่วงเกินเราไว้
เราจะไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรกับผู้ใดอีกต่อไป มันเหมือนเป็นอุบายให้เราสงบลง
สร้างความตั้งใจขึ้นมา สั่งให้ตัวเองเชื่อ ทำบ่อยๆ แล้วมันจะเชื่อ เชื่อผมสิ
เห็นไหม..คุณเริ่มคล้อยตามผมแล้ว.. เป็นรูปแบบของพุทธกับ NLP
ผสมกัน
ทีนี้ถ้ามันยังไม่ยอมลงอีก คุณอาจจะเป็นคนที่ของแรงมากนะ..
คุณคงต้องใช้ศาสตร์พื้นๆ อย่างเรื่องของ EQ ในการทำความเข้าใจตนเอง
และเข้าใจคนอื่น มันจะเสียเวลามากกว่าวิธีอื่น
แต่ถ้าวิธีอื่นไม่ได้ผลคุณคงต้องยอมเสียเวลา พิจารณาเรื่องราวทั้งหมดให้ละเอียด
ตั้งแต่ต้นจนจบ ซ้ำไป ซ้ำมา เอาให้ลึกซึ้งไปเลย ให้มันหายข้องใจ
แล้วมันจะมาถึงจุดที่เป็นคำสอนหลักของคริสต์ *การให้อภัย*
ของศาสนาอื่นหรือจิตวิทยาก็มี ถ้ามาถึงตรงนี้ มันจะจบได้แน่..
แต่คุณจะไม่มีวันให้อภัยใครได้หรอก ถ้าคุณยังไม่เข้าใจเรื่องต่างๆ อย่างแท้จริง
ลองดูครับ มันต้องได้ผลสักอย่าง
แล้วคุณจะชอบความรู้สึกที่เรียกกันว่า เป็นอิสระอย่างแท้จริง
เรามาพูดเรื่องของพุทธอีกที พระท่านว่า *จิตเดิมใสบริสุทธิ ที่ขุ่นมัวเพราะเราปรุงแต่ง*
พอเราเอาเรื่องต่างๆ ที่คอยเติมแต่งอารมณ์ออกไป เราก็จะได้ความสงบ เยือกเย็น
เป็นสุข ต้องลองดูเองครับ เจอเองแล้วจะเข้าใจ ว่าทำไมคนมากมายค้นหาความสงบทางใจ
อย่างน้อยมันก็จะช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้น
ช่วยให้สมองไม่ต้องทำงานหนักไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
เก็บไว้ใช้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณดีกว่า..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น