วันนี้พี่น้องไปเที่ยวร้าน fusion music สนุกและได้ความรู้มาเพียบ ผมยังนึกถึงความรู้สึกตอนไปเดินหากีต้าร์ตัวแรกกันแถวเวิ้ง เมื่อปี 1992 มั๊ง ตอนนั้นผมเรียนปี 1 น้องอยู่ ม.3 ไม่รู้จักกีต้าร์ ไม่มีตังค์ อยากเล่นกีต้าร์เพราะได้ฟัง the loner! (เด็กมันไม่รู้ ว่าเพลงนี้ไม่มีใครเล่นได้เหมือน) มีเงินเก็บจากค่าขนมอยู่ 4-5 พัน ซื้อหมดตัว ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไป 30 ปี นิสัยอย่างนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน! แต่ความรู้กับความคิดมันเปลี่ยนไปละ (นิสัยคือสันดาน มันไม่เปลี่ยน ย่อมไม่แปลก)
ไปถึงไอ่น้องชายก็บอกเขา “ว่างครับ ขอมาดูกีต้าร์หน่อย” (เจตนาเราคือ อย่ามาคาดหวังว่าเราจะซื้อนะ) เขาก็ต้อนรับอย่างกระตือรือร้น ทั้งที่ไม่รู้มันจะซื้อไหม ทั้งที่เราขอลองตัวสี่แสนห้า! มันเป็นนโยบายของร้านเขาที่เชิญชวนคนเข้ามาดูของ มาจับ มาเล่น
ราคาที่ผมจะพูดถึง ไม่ระบุเป๊ะๆ คงดีกว่าครับ เพราะแต่ละที่ ตั้งราคาต่างกัน ยังอาจเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เป็นอีกตลาดที่น่าเรียนรู้เรื่อง demand-supply เอาคร่าวๆ ถ้าเทียบกับเมื่อ 2-3 ปีก่อน standard สภาพดีราคาปรับขึ้นหมื่นสองหมื่น ส่วน R9 สวยๆ ปรับขึ้นมาสี่ห้าหมื่น ทำให้เปอร์เซนต์ลดจากราคามือหนึ่ง น้อยลง
เราจบกับ R9 ไปละ จับ Lemon Burst 2018 มือหนึ่งมาสองแสนกว่า เพราะหามือสองสวยๆ ไม่ได้สักที เราไม่ได้ฟุ่มเฟือยนะครับ รอกันเป็นปี เพื่อมือสองสวยๆ สักแสนกลางๆ แต่มันไม่มีจริงๆ จนเสี้ยนเต็มที่ละ เลยเช็คร้านขายมือหนึ่ง เจอเจ้านี่สวยมาก ลายสม่ำเสมอ จึงกระโดดงับทันที
แต่เรายังค้างคา อยากจะเข้าใจว่า tom murphy edge collector choice มันแพงไปได้อีกหลายเท่าเพราะอะไร เรายังถามถึง greenie collector’s choice ว่าจบไปที่เท่าไหร่ เขาว่าล้านหนึ่งแสน (ตัวจริงหกสิบล้านบาท ถ้าปล่อยออกมาอีกที น่าจะไปถึงร้อยล้าน) ผมสังเกตว่าถ้ามีของดีหลุดเข้ามาในตลาด (สวย สภาพดี หรือหายาก) จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน คนรอเก็บมีเยอะ ต้องคอยตามเพจซื้อขาย ต้องตัดสินใจให้เร็ว
น้องที่ต้อนรับเราผายมือให้ดูบน shelf ที่มีกีต้าร์วางอยู่ 10 กว่าตัว บอกพวกนี้เป็น highlight ของร้านครับ น้องผมมองกราด แล้วเดินปรี่เข้าไปหา R9 สองตัวในสุด ยืนเล็ง น้องเขาเลยเอาลงมาให้ดูทั้งคู่ พอบอกว่าขอลองเสียงได้ไหมครับ เขากับน้องอีกคนรีบชวนกันแบกขึ้นไปให้ลองที่ชั้น 2 ทั้งสองตัว
ตัวหนึ่งเป็น R9 ปกติ(แสนปลายๆ) อีกตัวเป็น Tom Murphy Edge the beast(สี่แสนกลาง) R9 เป็นกีต้าร์ที่เสียงดีอยู่แล้ว (คือถูกหูผมน่ะ) น้องผมลองแบบ test กีต้าร์ไม่กี่ตัวโน๊ตก็ไม่รู้จะเล่นอะไร ไอ่น้องนั่นเลยเอาไป improvise ให้ฟัง เราขอให้ลองเทียบเสียงทั้งสองตัวด้วย riff สั้นๆ เหมือนเดิม เพราะกลัวจะแยกความต่างไม่ได้ ผมก็ได้คำตอบแล้วว่า สิ่งที่จะได้นอกเหนือจากการทำเก่าโดยใคร ก๊อปใครมา คือเสียงที่หนักแน่น ลุ่มลึกกว่า สมชื่อ the beast
แล้วไอ่น้องนั่นก็ไปหยิบ R7 มายั่ว ซึ่งผมไม่เคยสนใจเลย ปกติมันมีแต่ gold top เรียบๆ ที่เมื่อปี 1957 กิ๊บสันทำออกมาข่มเฟนเดอร์ แล้วในความคิดผม ไม่รู้จะดูอะไรเพราะมันทองไปทั้งตัว คงไม่มีใครวางกีต้าร์หันหน้าเข้าข้างฝาเพื่อดูไม้หลังอย่างเดียวกระมัง! เมื่อเราบอกว่าตามเพจอยู่ ไม่เห็นตัวนี้ เพิ่งมาเหรอครับ น้องเขาว่าอยู่มาเดือนละ ไม่เอาขึ้นเพจเพราะคนฝากขาย (หรือมันจะมีอะไรมากกว่านั้น ผมพอเดาได้ละ แต่จะไม่พูดตรงนี้)
ตัวนี้น่าสนใจ เป็น R7 รุ่นครบรอบ 60 ปี แบบ heavy edge ทำให้เก่าด้วยการกรีดให้เป็นรอยแล็คเกอร์ร้าวทั้งตัว ในแนวขวาง ทั้งหน้า-หลังไปยันหัว ลำตัวด้านหลังเป็นรอยถลอกขนาดใหญ่ ที่คงจำลองจากการสะพายเล่นแบบต่ำแล้วถูหัวเข็มขัดหรืออะไรอื่น ไม้หลังสวย เส้นเป็นระเบียบ ฟิงเกอร์บอร์ดสีเข้มสม่ำเสมอ เขาทำเก่าแล้วเคลือบแลคเกอร์อีกครั้ง เพื่อไม่ให้มันเยินไปกว่านี้ ในมือของคนปกติ
เมื่อมาค้นหาข้อมูลเพิ่มจึงรู้ว่า รุ่นครบ 60 ปีนี่ทำออกมา 6 แบบ แบบละ 60 ตัวเหมือนกันเด๊ะ ให้เหยื่อเลือกเอาที่ชอบๆ ผมชอบความถี่ของช่องไฟบนลายกรีดของมัน เมื่อลากนิ้วขวางรอยแตกเบาๆ ให้ความรู้สึกสัมผัสที่ดีมาก
เสียงที่น้องเขาเล่นให้ฟัง(improvise ใช้ได้ว่ะ) มันอ้วนๆ หนา แน่นดี แปลกจากเพลงที่ผมฟังทั่วไป (1980-2000 ส่วนใหญ่ใช้ R9 หรือ std ในเวลานั้น) แต่รับได้จากความคุ้นหูจาก guns and roses อัลบั้มแรก จัดว่าเสียงไม่ขี้เหร่ (แม้เป้าหมายเดิมจะเป็น custom reissue 68 “beauty and the beast” ฟิงเกอร์บอร์ด ebony ที่ให้เสียงแผดสะใจ) เมื่อถามราคา น้องเขาว่าสองแสนกว่าๆ ผมต้องหาข้อมูลเพิ่มก่อน เพราะตัวนี้ไม่เคยอยู่ในความสนใจ รีบร้อนอาจได้เสียใจทีหลัง ส่วนไอ่น้องชายบอก “เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน” 555 ก็จริงนะ อีกไม่กี่วัน เราอาจเจออะไรที่น่าประทับใจกว่า
ระหว่างที่เขาเอา 2 ตัวแรกไปเก็บ ก็ทิ้งเราไว้ตามลำพังนานเลย ดูอย่างอื่นไปเรื่อยๆ ครับ และระวังของให้เขามากๆ ด้วย(เข็มขัด กระดุม หัวซิป) ผมไม่ได้มาที่นี่เกือบ 3 ปี ตั้งแต่ได้อาจื่อไป วันนี้มีของดีให้ดูเพียบ ดูเหมือนร้านจะเปลี่ยนแนวไปเล่นของสำหรับสะสม
ผมสังเกตว่ารสนิยมในงานศิลป์ของกีต้าร์ฝั่งตะวันออกกับตะวันตกต่างกันพอดู ในเรื่องการมองความงามของลายไม้ ความบาลานซ์ของแนวเส้น(ตั้ง-ขวาง) สีที่สม่ำเสมอของฟิงเกอร์บอร์ด มีอยู่ตัวที่ผมเห็นคลิปแล้วชื่ออีด่างก็โผล่เข้ามาในความคิด! คือมันมีวงไม้ด้านหนึ่งชัดๆ (ไอ่ห่า ตัดยังไงวะ) หรือฝรั่งมันชอบอย่างนี้
สิ่งที่หายาก เช่น รอยหมีข่วน หรือรอยไม้รัน ที่ไอ่น้องนั่นบอกว่ามันเป็นแก่นไม้พี่ มีน้อย แข็ง เลยนิยมเอามาทำคอ อ่อ เพิ่งรู้ว่าไม่ใช่การเลื่อยพลาด อีกตัวที่เจอ หลังคอเนียนมาก แต่เหมือนตัดพลาดจากไม้คนละวงปี ที่สีต่างกันคนละเรื่อง เลยเป็นดวงๆ อยู่ 2 จุดเด่นๆ มันอาจทำยากมากและต้องการใช้เป็นจุดขาย! ประเด็นพวกนี้คนอื่นอาจมองสวย แต่ผมก็ไม่ชอบอยู่ดี และอะไรที่มันขัดตา จะซื้อมานั่งดูทำห่าอะไร ใช่มะ รสนิยมเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงๆ
ความโรคจิตอีกอย่างของผม ที่น้องผมไม่ทำเป็นอย่างแรกเมื่อจับกีต้าร์ คือการเอามือประคองแล้วสไลด์ขึ้นลงตลอดคอช้าๆ เพื่อดูความปราณีตในการเก็บปลายเฟรท ไอ่น้องนั่นสังเกตเห็นแล้วเอามาเป็นประเด็นหนึ่งในการพูดคุย อันนี้มองด้วยตามันเนี๊ยบหมดแหละ นอกจากบางตัวที่ refret มาไม่ดีจนเห็นได้ชัด การลากมือจะเจอความคมที่มองไม่เห็น ผมขำตัวเองที่ test สิ่งนี้เป็นอย่างแรก ทั้งๆ ที่ผมไม่เล่นกีต้าร์
แล้วเจ้า tom anderson ก็เตะตาผม เมื่อหยิบดู มันเบามาก กะเอาน่าจะ 3 โลนิดๆ เลยหยิบมานั่งส่อง การส่องกีต้าร์สนุกกว่าส่องพระเยอะ มีอะไรให้ดูมากมาย ผมไม่เคยรู้จักยี่ห้อนี้มาก่อน ผมมักรู้จักกีต้าร์จากเพลงที่ผมฟัง ฟังเพราะค่อยไปหา ว่ามันเอาอะไรเล่น
เจ้านี่งานปราณีต เนียนกริบ เข้าคอเป็นเหลี่ยมสามด้าน(ไม่เคยเห็นมาก่อน) ตัวเล็ก บาง น่าจับเล่น (ทั้งๆ ที่ผมไม่คิดจะเล่น) เขาปล่อยเจ็ดหมื่นกลางๆ อาจจากร่องรอยและรุ่นปี ภายหลังเขาลองให้ฟังก็ยิ่งน่าเก็บ มันเล่นได้ทุกแนว และเสียงดีทุกแนวจนน่าแปลกใจ ผมถามเสียงมันดีได้ยังไง ก็มันเล็ก บาง ขนาดนี้ (มันแหกกฎฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ไง) เขาว่าอิเล็กทรอนิคส์ดีมากอันนี้ ตัวนั้นมีฮัมบัคกิ้ง 2 ตัว ซิงเกิลคอยด์ตรงกลางอีกตัว
อ่อ มันถึงปรับเสียงได้มากและดี ไอ่น้องชายบอกถ้าถึงมือกู ต้องลองทำตัวตัดคอยด์ เพิ่มเสียงได้อีกบาน แล้วเขาก็ต้องเสียเวลาอธิบายเรื่องวงจรให้ผมฟัง เออๆ ออๆ ก็ไม่ได้ “มึงยังไม่เข้าใจนี่” แล้วอธิบายใหม่จนเข้าใจ ตอนกินเหล้าไปเป็นร้อยซีๆ แล้ว! เจ้านี่ซนมากครับ เล่นไปถึงวงจรโน่นเลย โดยไม่สนว่ากีต้าร์มันตัวละกี่บาท ก็เราไม่คิดจะขาย เลยไม่ต้องสนเรื่องพวกนี้ ไอ่แบบซื้อมาเก็บ เล่นไม่ได้ เปลี่ยนสายก็ไม่ได้ จะซื้อมาทำห่าอะไร
ไอ่น้องนั่นเล่าถึงเพื่อนทั้่ง 4 กับกีต้าร์ 4 ยี่ห้อจากแคลิฟอเนีย แล้วไปเอาตัวท๊อปที่มีมาลองเสียงให้ฟัง james tyler, suhr อะไรอีกยี่ห้อวะ (ทอมเป็นคนแรกที่ทำกีต้าร์ แล้วเพื่อนๆ ก็ทำมั่ง) แต่ผมชอบเสียงกับภาพรวมของ tom anderson ที่สุด จัดเป็นของน่าเล่น น่าเก็บ
Fender master build by jeff beck ก็น่าประทับใจ เป็นงานแฮนด์คราฟโดยคนๆ เดียว แรกรู้จักกีต้าร์ผมชอบเฟนเดอร์ เพราะมันไม่มีอย่างอื่นให้เห็น แต่กีต้าร์ตัวแรกกลับเป็นทรง ibanez ตัวถัดมาเป็นทรง les paul ทีนี้เพลงที่ผมชอบฟังมันไม่ใช่แนวเฟนเดอร์ นอกจาก yngwei, iron maiden, olarn ที่ไม่ได้เล่นด้วยเสียงเฟนเดอร์แท้ๆ ผมเลยไม่คุ้นกับเสียงเด้งๆ ของมัน (ขัดหู เป็นการส่วนตัว)
แต่ตัวมาสเตอร์บิ้วด์นี่เสียงนิ่งมาก ไม่เด้งโดด เสียงทิ้งลากยาวสม่ำเสมอ อันนี้เกือบสองแสน น้องเขาว่าทำได้ปีละตัวมั๊ง งานปราณีตสวยงาม กระทั่งเฟรทยังขัดจนมนเหมือนปลายนิ้ว เสียงผ่าน รูปร่างไม่โดนใจ แต่ถ้าไม่มีอะไรจะเก็บก็น่าเก็บ ดูมีอนาคต มาร์คไว้
ถ้าดูมากๆ สังเกตไปเรื่อย คุณจะเห็นความต่างระหว่างงานทำมือกับงานเครื่องจักรอย่างชัดเจน แน่นอน ของ handcraft มันน่าสนใจกว่า งานมันจะไม่เนี๊ยบหรอก เช่น รอยปาดไบด์ดิ้งหุ้มเฟรท แต่งานฝีมือให้ความรู้สึกถึงคุณค่าในความตั้งใจมากกว่างานเครื่องจักร มันเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะรุ่นปกติจะไม่ทำมือ(ค่าแรงจะพุ่งเกินขายได้) รุ่นพิเศษก็ต้องทำมือมันถึงจะสมน้ำสมเนื้อกับราคา มันเป็นงานศิลป์!
อีกเรื่องคือกีต้าร์แต่ละรุ่น จะมีความโดดเด่นคนละแบบ(ยี่ห้อแยกเสียงหลัก, รุ่นแยกเสียงรอง) เหมาะกับเพลงต่างประเภทกัน เราเลยไม่ค่อยเห็นซิมโฟนิคเมทัลเอาเฟนเดอร์หรือกิ๊บสันไปใช้ ด้วยเสียง น้ำหนัก และลักษณะการเล่น แต่กลับไปใช้กลุ่ม ESP, Ibanez ที่เหมาะสมกว่า (ผมว่าเขาคงอยากได้เสียงแบบกิ๊บสันแหละ แต่เล่นไม่ไหว)
ยกเว้น Trans-Siberian Orchestra หรือ Randy Rhoads ที่เอา Gibson custom มาเล่น แต่ก็ไม่ได้ใช้กับทุกเพลง บางทีเขาก็ใช้ Flying V หรือ Jackson เมื่อดูภาพ จะเห็นได้ว่าทุกตัวที่แรนดี้ใช้ เป็นกีต้าร์ฮัมบัคกิ้งคู่ทั้งหมด (เอา single coil 2 ตัวมาวางคู่กัน เท่ากับ humbugking 1 อัน จะมีฝาครอบหรือไม่ก็อีกเรื่อง)
ส่วนเรื่องเอฟเฟ็กซ์จัดเป็นตัวแปรรอง จึงเป็นเรื่องปกติที่คนฟังเพลงแบบไหน ก็จะชอบเสียงกีต้าร์แบบนั้น ไอ่น้องคนที่มาลองกีต้าร์ให้เราฟัง ดูจะเป็นคนชอบฟังเสียง เขาใช้ริฟหลายแบบ ปรับเสียงไปมา เพื่อค้นหาเสียงโดดเด่นที่กีต้าร์ตัวนั้นๆ มี
อีกตัวที่ผมว่าสวย เป็น ibanez steve vai sundew หยาดน้ำค้างราคาแสนกว่าๆ! ฮัมบัคกิ้งเป็นลายฉลุสวยมาก เห็นแล้วนึกถึงการด้นลายบนปืนโบราณ คอ 3 ชิ้นประกบ(เพิ่มความแข็งแรง) เล่นจุดต่อด้วยเส้นบางๆ สีน้ำตาลเข้ม ฟิงเกอร์บอร์ดลายเถาวัลย์น่ามอง
ส่วนตัวลายผ้าม่านบ้านแม่นั่น ดูเป็นงานทำยาก(เหมือนลายผ้าจริง) พิสุทธิ์เคยเอามาเล่นในอัลบั้มแรก ตัวนี้เมื่อ ปี 89 ขายกันห้าหกหมื่นราคามือหนึ่ง ตอนนี้ไปที่แสนกว่าๆ ราคามือสอง จัดว่ามีอนาคต (ถ้ายังไม่ไปเทียบเรื่องค่าเงิน)
ผมไม่พูดถึง PRS เพราะแทบจะไม่ได้ฟังเพลงที่ใช้มันเล่น แต่เคยหยิบจับพินิจพิจารณาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ก็เป็นของดี ที่งานปราณีตมากๆ แต่เสียงไม่ถูกหูผมเท่านั้นเอง ส่วน Ibanez ได้ลองของ kiko สิ้นสงสัยไปแล้ว ESP ก็สิ้นสงสัยแล้วเช่นกัน จะว่าไป ผมฟังเพลงที่ใช้ Ibanez กับ ESP เล่นเยอะอยู่ แต่เขาก็ใช้ effect เยอะด้วย ตัวเสียงกีต้าร์ผ่านแอมป์เพียวๆ ไม่ค่อยโดนใจผมนัก เลยเอาไว้ก่อน ค่อยๆ ไล่จากที่อยากมากไปอยากน้อยเนอะ
ผมเห็นกีต้าร์หลายตัวต่อไม้ 2 ชิ้น (3 ชิ้นก็มี) ถ้าไม้หดไม่เท่ากันใช้นิ้วลูบก็รู้ ถ้าอบมาดีก็ไม่รู้ ต้องดูด้วยตา บางตัวต่อเล่นลายไม้ด้วยนี่แทบจะดูไม่ออก ต้องเอียงหาแสงเงา ร่องรอยบางอย่างก็เช่นกัน มุมแสงที่ดีช่วยให้เห็นได้ อะไรที่ไม่เห็นก็อาศัยสัมผัสจากปลายนิ้ว
การต่อไม้เป็นเรื่องแล้วแต่ใจคิด บริษัทกีต้าร์บอกว่ามันเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งตามทฤษฎีมันก็จริง บ้างก็คิดว่ามันต้องการประหยัดไม้ ยังมีเรื่องไม้คอชิ้นเดียวยาวถึงหัว คอกับหัวคนละชิ้น คอประกบ 2-3 ชิ้น หัวประกบ 3-5 ชิ้น หรือเรื่อง neck thrugh แท้ / เน็คทรูเทียม / bolt on โดยมีข้อดี ข้อด้อย จุดเด่น ราคา เป็นตัวแปร บ้างว่าไม่มีผลต่อเสียง บ้างว่ามี ก็ต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลกันไป
เป็นไอเดียน้องคนนั้นที่เอาไฟมาไว้ให้ลูกค้าส่อง จัดเป็นความจริงใจของทางร้านอีกอย่างที่ผมนับถือ นอกเหนือไปจากการการันตีคืนเงินร้อยเปอร์เซนต์ ถ้าพบว่าไม่เป็นอย่างที่เห็น ซึ่งหาได้ยากจากพ่อค้าแม่ค้า ร้านนี้ขายออนไลน์ด้วย ดังนั้นภาพถ่ายจะถ่ายให้เห็นตำหนิชัดเจน เพื่อไม่ต้องเสียเวลาทีหลัง จัดเป็นร้านที่ค่อนข้างไว้ใจได้ ส่วนเรื่องราคาก็ต้องไปเปรียบเทียบค้นหาเอา
จากที่คุยกับน้องเขา เขานั่งหาของกับเจ้าของร้านทุกวัน ของรุ่นพิเศษที่เหนือ highends ขึ้นไป (highends เช่น fender std, gibson std) มักสั่งนำเข้า มีค่าส่ง ค่าเสี่ยง ค่าส่งกลับเมื่อเกิดปัญหา ค่าแลกเปลี่ยนเงิน ค่าใช้จ่ายจึงสูงกว่าคนถือมาฝากขาย (อันนี้ผมพอเข้าใจ เพราะที่ทำงานซื้อขายกับต่างประเทศอยู่) ราคามาจากตัวแปรต่างๆ รวมถึงการการันตีสินค้า ที่นี้ก็อยู่ที่คุณพอใจ
ถ้าเป็นที่อื่นหรือบุคคล คุณก็ต้องพิจารณาจากการพูดจาและโปรไฟล์อื่นร่วมด้วย (จงขุดเท่าที่จะขุดได้) ถ้ามีแววว่าไม่จริงใจก็อย่าไปยุ่ง เพราะเราต้องกรองความจริงที่อาจพลาด จากความ bias ในตัวสินค้าที่อยากได้ แม้จะมีกฎหมายไว้คอยช่วยเหลือ แต่ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก เสียเวลา และต้องเจ็บใจที่โดนหลอก! คนเราจะกล้าหลอกคนอื่น เมื่อคิดว่าอีกฝ่ายโง่กว่า มันน่าแค้นก็ตรงนี้แหละ
ร้านนี้ยังรับเซตกีต้าร์ด้วย ทุกตัวที่วางขาย เซตใหม่ให้ได้ค่าดีที่สุด ระยะทัชชิ่งของเขาจึงต่ำมาก การเซตกีต้าร์เป็นเรื่องค่อนข้างยากและยิบย่อย ปรับจุดเดียว ไปหมด ต้องตั้งกันหลายรอบ กว่าจะได้ค่าที่ถูกต้องและพอใจ ซึ่งเราจะทำเมื่อต้องการค่าที่ดีกว่าโรงงาน หรืออย่างที่เราชอบๆ (ค่าโรงงานก็มีให้หาข้อมูลมาตั้งได้ ไว้ใช้เป็นค่ามาตรฐานหรือตอนตั้งกลับ) คนเคยลองจะรู้ดี บางทีก็ถอดใจ คนบางกลุ่มจึงมองว่าสะดวกกว่า ถ้าไปจ้างผู้เชี่ยวชาญทำให้ เช่นคนอย่างผมจะไม่ทำมันแน่ แต่น้องผมเขาบอกว่า กูมีเวลา! ผมเลยได้รู้จากเขาว่ามันยากยังไง ถ้าสนใจก็มีให้ศึกษาได้ทั่วไป
สรุปว่าหยิบของเขาดูเป็น 10 ตัว! น้องคนนั้นเล่าเรื่องที่เราไม่เคยรู้หลายอย่าง บางเรื่องไม่่มีให้อ่าน หรือกว้างเกินกว่าที่เคยคิดอยากรู้ เขามีน้ำใจที่จะแบ่งปัน เมื่อจะกลับผมเลยขอบคุณแล้วขอบคุณอีก เขาดูเป็นคนตรงๆ ดี อาจด้วยความเป็นฟรีแลนซ์ไม่ใช่ลูกจ้าง เขาเสนอความจริงให้เราเห็น นั่งเล่นให้เราฟัง วิเคราะห์เสียงไปด้วยกัน เมื่อเล่าแล้วเราเก็ท เลยคุยกันยาว จากที่คิดว่าจะดูสักชั่วโมง กลายเป็นเกือบ 4 ชั่วโมง เหมือนไอสไตน์พูดถึง เวลามองหญิงงามกับเวลาจับกระทะร้อน!
แล้วก็เสร็จเจ้า tube screamer จนได้ ทั้งที่กะว่าวันนี้จะยังไม่ซื้ออะไร ไอ่ท่อกรีดร้องนี่เจ็ดพันห้า เป็นเอฟเฟ็กซ์ที่นักดนตรีทุกคนต้องมี น้องผมถามแล้วเขาดันมี เลยเอามาลองกัน มันก็ต่างจริง น้องผมปล่อยเขาอิมโพรไวส์ไป 3-4 ตัวโน๊ตแล้วกดสลับกันไปมา เราต้องเห็นความต่างใช่ไหมถึงจะซื้อ สุดท้ายก็เห็นดีเห็นงามว่ามันต้องมีจริงๆ เป็นของไอบาเนสเจแปนรุ่นใหม่หน่อยที่เอาหลอดขึ้นมาให้เห็น(Ibanez NTS Nutube) เราถามอันนี้มือหนึ่งเหรอ น้องมันรีบบอกมือสองครับพี่ (ถ้าคุณเป็นคนขาย จะตามน้ำไหม) มันดูใหม่มาก สภาพแกะกล่อง ไร้ริ้วรอย ก็เข้าใจได้ คนทั่วไปเล่นจะมีบอกซ์ใส่ ใช้มือกด ไม่เอาตีนเหยียบแบบนักดนตรีอยู่แล้ว
ถ้าไม่ใช่กีต้าร์ของนักดนตรี สภาพจะไม่ย่ำแย่ และนักดนตรีส่วนใหญ่ก็ไม่เอาของรุ่นพิเศษไปเล่นคอนเสริต เพราะมันจะมั่วแล้วหาย พวกนี้จะมีของดีแต่เก็บไว้บ้าน นานๆ เอาออกมาชื่นชมกับเพื่อน มีอยู่ยุคหนึ่ง นักดนตรีดังๆ มักเอากีต้าร์หลายตัวไปสลับเล่นในคอนเสริต หายครับ (อย่างไอ่ฟักทองเป็นต้น) ตอนหลังดูเหมือนจะเลิกทำอย่างนั้นกันแล้ว ผมได้ยินว่าร้านนำเข้ากีต้าร์แห่งหนึ่งสั่งโมเดลฟักทองมาหลายสิบตัว (gibson custom) แล้วเชิญอัสนีมาเซนต์ ปล่อยของได้หมดทันที
แต่ตัว relic (ทำเก่า)ทั้งหลายแหล่ จะก๊อปจากนักดนตรีดังๆ จากตัวที่ใช้ออกคอนเสริตเป็นประจำ พวกนี้ไม่ว่าจะรวยแค่ไหนก็ต้องใช้รถโคชเดินทาง (มีอยู่ช่วงที่ไปลองใช้เครื่องบินเล็กแล้วตายกันเพียบ เช่น John Denver, Randy Rhoads) มันย่อมเยินเป็นเรื่องธรรมดา ในมือคนทั่วไปหรือนักดนตรีที่ไม่ดัง เล่นยังไงคงไม่มีทางเละได้ขนาดนั้น
ทีนี้คนที่เก็บของรุ่นพิเศษ มักไม่มีเวลาจะเล่นกีต้าร์ คือมันต้องทำงานทำการเก็บเงินมาซื้อน่ะ (ถ้าพ่อมันไม่รวยสัสๆ และตามใจ) ไม่ว่างมาเล่นวันละ 8 ชั่วโมงแน่ๆ ส่วนคนที่เล่นตามผับบาร์ คอนเสริต ก็คงไม่เอาของพรรค์นี้ไปเล่นให้เสียของ ดังนั้นเมื่อหลุดจากรุ่นปกติมาสนใจรุ่นพิเศษแล้ว ของจะถูกคัดสภาพไปอีกแบบด้วยตัวของมันเอง จากแนวโน้มของผู้ใช้เดิม
ถ้าว่าง ไม่รู้จะทำอะไร แนะนำให้ไปร้านขายกีต้าร์ครับ (ร้านอื่นผมไม่รู้นะ แต่ร้านนี้น่ารักสุดๆ เหมือนเขามีความสุข ที่ได้แบ่งปันสิ่งที่มี ให้คนที่ชอบเหมือนกันได้ชื่นชม) เราได้เห็นของดี ได้ศึกษา ได้ความรู้เพิ่ม ได้ประสบการณ์ทางเสียง ได้เปิดหูเปิดตา
แล้วทำไมเราต้องไปร้านกีต้าร์ ก็เพราะคลิปลองเสียงกีต้าร์ที่ปล่อยๆ กันออกมา ไม่รู้ผ่านอะไรมาบ้างน่ะสิ(แอมป์ เอฟเฟ็กส์ การปรับแต่งเสียง) ถ้าอยากรุ่นไหน ต้องไปจับไปลองเท่านั้น .. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น