While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561

ปฏิจจสมุปบาทที่ควรศึกษา

พุทธทาสภิกขุ
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรม ทั้งหลาย วันนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่องที่ต่อจากวานนี้ เรามาพูดกันเวลา ๐๕.๐๐ น. แล้วยังมีการเดินจากที่อบรมมาสู่สถานที่นี้ เป็นพิเศษประมาณสักกิโลครึ่ง ก็จัดว่าเป็นบทเรียนด้วย ไม่ใช่ว่าเดินเพราะจำเป็นต้องเดิน มีความมุ่งหมายที่จะให้มันเป็นบทเรียน หรือเป็นโรงเรียนอยู่ในการเดิน จึงต้องมีกำหนดกฎเกณฑ์ว่า เดินอย่างไม่มีตัวผู้เดินนั่น มันจะเป็น Morning walk พิเศษ เป็น Morning walk เขาหากำลังบริหารกาย แต่ Morning walk ของเรานั้นเป็นการเข้าโรงเรียนศึกษาธรรมะ และเดินอย่างไม่มีตัวผู้เดิน มีแต่สติสัมปชัญญะควบคุมให้นามรูป คือร่างกายและจิตใจนี้ เคลื่อนไหวไปอย่างถูกต้องโดยไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกู
บทเรียนของพุทธศาสนาคือ กระทำโดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ ถ้าท่านรู้สึกว่ากูเดิน นั่นมันก็ไม่ใช่บทเรียนนะ กูเดินมันมีเรื่องกู ของกู จะต้องถึง จะไม่ถึง จะลำบาก จะยุ่งยาก อย่างนั้น อย่างนี้ เดี๋ยวนี้จิตใจเกลี้ยง ไม่มีอะไร ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มีแต่สติสัมปชัญญะควบคุมการเดินให้เรียบร้อย ถูกต้อง ปลอดภัย
เขามักจะใช้บทบริกรรมกันว่า ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ อย่างนั้นก็ได้เหมือนกันนะ แต่ไม่ต้องถึงอย่างนั้นก็ได้ มีสติสัมปชัญญะรักษาจิต สงบ เกลี้ยง นิ่ง ว่าง แล้วควบคุมการเดินเรียบร้อย แม้ว่าจะเดินจงกรมในระยะสั้นๆ ในที่ฝึกธรรมมาศรมโน้นก็เหมือนกันแหละ ก็ต้องเดินอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันยาวหน่อย ก็เดินอย่างนั้นแหละ เป็นการฝึกบทเรียนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คืออนัตตา ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู
สรุปแล้วมันก็มีผู้นั่ง มีการนั่งโดยไม่มีผู้นั่ง มีการยืนโดยไม่มีผู้ยืน มีการนอนโดยไม่มีผู้นอน คือมันไม่มีตัวกูซึ่งเป็นผู้อย่างนั้นอย่างนี้ สรุปสั้นที่สุดก็เรียกว่ามีการกระทำ แล้วโดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ ไอ้ตัวผู้กระทำ นั้นมันคือตัวกู ตัวอัตตา อย่าเอากับมัน มีจิตเกลี้ยง มีจิตว่าง แต่ว่าเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้ามีตัวกูของกู มันอัดอยู่ในตัวกูของกู มันไม่มีสติสัมปชัญญะ พอไม่มีตัวกูของกูมันก็เต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ
บทเรียนนี้เรียกสั้นๆ ว่า กระทำโดยไม่ต้องมีตัวกูผู้กระทำ แต่มันมีสติสัมปชัญญะเต็มที่นะ ดังนั้นมันจึงกระทำ ถูก แล้วก็ถูกไปในทางที่จะไม่เป็นทุกข์ ถ้ามีตัวกูของกูเป็นผู้กระทำ มันก็มีกิเลสกระทำ มันก็ถูกอย่างกิเลส ของกิเลส เพื่อกิเลส มันก็มีผลอีกแบบหนึ่ง จำบทเรียนสั้นๆ ว่า กระทำโดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ มันก็เลยไปถึงว่า จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ตาม จะกินข้าวจะอาบน้ำ จะทำงาน จะอะไร ก็เรียกว่าอย่ามีตัวกู จะเรียกว่าลืมตัวกูก็ได้ แต่มันคนละความหมาย ไอ้ลืมตัวอย่างโง่เขลานะมันใช้ไม่ได้หรอก แต่มันลืมตัวด้วยสติสัมปชัญญะ ก็มีสติสัมปชัญญะมาทำหน้าที่เสียอย่างที่สุด แล้วก็ไม่คำนึงถึงตัวกูของกู
นี่ก็จะเรียกว่ามีสติสัมปชัญญะทำงานได้ดี ทำงานได้ดีไม่มีผิดพลาด แล้วการงานทั้งหลายของท่านทั้งหลายก็จะกลายเป็นการปฏิบัติธรรม ไถนาอยู่ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ทำสวนอยู่ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ค้าขายอยู่ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ทำงานที่บ้าน ทำงานที่ออฟฟิศอะไรก็เป็นการปฏิบัติธรรม จะกินข้าวอาบน้ำ จะถ่ายยอุจจาระ ปัสสาวะ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปเสียนะ ถ้าว่าไม่มีตัวกูเป็นผู้กระทำนะ มันมีสติสัมปชัญญะ นี่บทเรียนใหญ่ทั่วไป เป็นที่รวมของบทเรียนทั้งหมดขอให้เข้าใจ แล้วก็จดจำไว้
แล้วก็ประพฤติปฏิบัติทำด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าทำด้วยกิเลสตัณหาว่าตัวกูว่าของกู โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรับประทานอาหาร ระวังนะ ถ้ารับประทานด้วยตัวกูของกู มันก็มีเรื่องยินดียินร้ายมา ถ้ารับประทานด้วยสติสัมปชัญญะ มีแต่การรับประทาน มันก็ไม่มีเรื่องยุ่งยาก ด้วยเรื่องอร่อย ไม่อร่อย เป็นบวก เป็นลบ เป็นดีใจเป็นเสียใจ เป็นโกรธแม่ครัวให้ไปยุ่งยากลำบาก นี่ไม่มีตัวกูก็ให้อวัยวะตามธรรมชาติมันทำไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้เป็นตัวกูขึ้นมา
นี่คือใจความทั้งหมด ไม่มีความกระหายความอยากแห่งตัวกู มีแต่สติสัมปชัญญะจะทำให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง นี่คือบทเรียน แล้วทดลองดู Morning walk แบบพุทธบริษัท เดินโดยไม่ต้องมีผู้เดิน ก็เดินด้วยจิตว่าง เดินด้วยความวางแห่งจิต พอว่างแล้วก็สติสัมปชัญญะมันเข้ามาแทนนะ พอตัวกูของกูอัดเต็มแน่นอยู่ สติสัมปชัญญะไม่มีนะ เกิดไม่ได้ เข้ามาไม่ได้ นี่ก็ขอให้ใช้เวลา ๐๕.๐๐ น. ฝึกบทเรียนบทนี้ด้วย ไม่ว่าจะเดิน มาหรือเดินไปกลับ หรือจะเดินอยู่ที่ธรรมมาศรมโน้นมันก็มีการเดินเหมือนกัน เพราะว่าบทเรียนของการฝึกสมาธินั้นก็มีการเดิน การนั่ง การนอน การยืน
ไม่มีความรู้อันถูกต้อง มันก็เกิดความทุกข์ ทีนี้ก็จะได้พูดถึงเรื่องติดต่อมาจากเมื่อวานนี้ ว่าเราเกิดมาโดยไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา ไม่ได้สัญญากับใครว่าจะเกิดมา เมื่อเกิดมาแล้วตามธรรมชาติของชีวิตในโลกนี้ มีบิดามารดาเป็นแดนเกิดมันก็มีการเกิด ครั้นเกิดออกมาแล้วนี่ ก็มีปัญหาว่าจะทำอย่างไรกัน จะไม่รับผิดชอบ ก็กูไม่ได้ตั้งใจจะเกิด ไม่ได้สัญญาจะเกิด ไม่ต้องทำอะไรมันก็ได้เหมือนกันแหละ แต่ลองดูเถอะ ถ้าทำอย่างนั้นมันจะมีผลยังไง ฉะนั้นก็มีความจำเป็นที่ว่า จะต้องทำอย่างไรให้ถูกต้องกับเรื่องของการที่เกิดมา
สมมติอุปมาเหมือนอย่างว่า มันถูกจับไปปล่อยเกาะร้าง เอาสิต่อไปนี้แกจะทำอย่างไรล่ะ จะสมัครตายหรือจะสมัครอยู่ ถ้าสมัครอยู่ก็ขวนขวายสิ หาให้รู้ว่าจะทำที่อาศัยที่ตรงไหน จะได้อาหารอย่างไร จะได้ความปลอดภัยอย่างไร จะดำเนินชีวิตอย่างไร ก็หา หา หา ก็ทำ ทำ ทำ นี่มันต้องเป็นอย่างนั้นนะ นี่มันเกิดมาจากท้องมารดาโดยปราศจากความรู้ในเรื่องนี้ แล้วก็ค่อยๆ มาแสวงหาความรู้ สะสมความรู้ รู้มากขึ้น มากขึ้น จนไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเกิดมา เรื่องมันเป็นอย่างนี้
นี้การเกิดมามันก็เกิดเข้ามาในขอบเขตหรืออำนาจของกฎธรรมชาติ กฎของธรรมชาติน่ะมันมีอยู่ มันก็เกิดโดยกฎของธรรมชาติ เกิดมาตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ไม่พ้นไปจากการครอบงำของกฎของธรรมชาติ มันก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มันจึงจะหมดปัญหา ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเต็มไปด้วยความทุกข์ และเดี๋ยวนี้มันก็ได้เป็นแล้วนะ เพราะว่าเราได้เกิดมาโดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันก็เข้ามาสู่ ขอบเขตของความทุกข์ ปัญหาของความทุกข์ ถ้าไม่มองเห็นเป็นความทุกข์มันก็ไม่มีปัญหา
เพราะฉะนั้นจงมองเห็นปัญหาข้อแรกคือความทุกข์กันเสียก่อน ไม่มีสติปัญญา ไม่มีความรู้อันถูกต้อง มันก็เป็นความผิด ไม่รู้ หรือเป็นความผิดพลาดอยู่ในตัว มันก็เกิดความทุกข์ มีลักษณะที่จะศึกษาได้ง่ายๆ ว่า ชีวิตมันกัดเจ้าของ ชีวิตที่ไม่มีความรู้ทางธรรมะที่เรากำลังศึกษานั่นน่ะ ชีวิตชนิดนั้นมันกัดเจ้าของ ดูเอาเองตามที่เป็นจริงว่ามันกัดอย่างไร คือมันมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มันก็เกิดการกัดเจ้าของ
เดี๋ยวความรักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้นกัด เดี๋ยววิตกกังวลกัด เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์กัด เดี๋ยวอิจฉาริษยากัด เดี๋ยวความหวงกัด เดี๋ยวความหึงกัด ๑๐ อย่างเท่านี้มันก็พอจะเป็นตัวอย่างแล้ว ที่จริงมันก็มีมากกว่านี้มาก แต่ว่า ๑๐ อย่างนี้ คิดดูเถอะ
มันพอแล้วที่จะเห็นว่า โอ้ ปัญหา นี่เป็นชีวิตที่กัดเจ้าของ มันเป็นชีวิตที่จะเลวกว่าสุนัขละกระมัง เพราะว่าสุนัขมันยังไม่กัดเจ้าของนี่ พวกฝรั่งที่เขามากันทุกเดือน มันชอบคำพูดคำนี้ จึงได้สนใจธรรมะ ก็ได้พบวิถีใหม่แห่งชีวิต แล้วก็ได้ชีวิตใหม่คือชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ปฏิบัติถูกต้องจนไม่มีการกัดเจ้าของนะ เป็นอย่างนั้น
ขอให้เอาจุดนี้เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาและการปฏิบัติ ว่าจะพบ หรือมี หรือใช้ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ คือไม่เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวง หึง นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้นแหละ มันพอแล้ว ที่จริงมันมีหลายสิบอย่างหลายร้อยอย่างนี่ การกัดเจ้าของ ถ้าไม่มองเห็นความจริงข้อนี้ มันก็ศึกษาไปไม่ถูกหรอก เพราะมันไม่มีตัวปัญหา ไอ้ตัวปัญหานั่นคือตัวความทุกข์ แม้แต่ความสุขมันก็กลายเป็นความทุกข์ มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน
พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักความทุกข์กันเป็นจุดแรก แล้วก็จะขจัดให้มันหมดไป รู้เรื่องความจริงของความทุกข์ว่าเป็นอย่างไร แล้วมันเกิดมาอย่างไร แล้วมันจะดับไปได้อย่างไร ความทุกข์เกิดอย่างไร ความทุกข์ดับอย่างไร นี่เขาเรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันต้องใช้คำเดิมในภาษาบาลีสะดวกกว่า
ปฏิจจสมุปบาท ขอให้ช่วยจำสักหน่อยแม้มันจะเป็นคำแปลก ปฏิจจ แปลว่าอาศัยกัน สมุปบาท เกิดขึ้นพร้อม อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น แล้วเกิดใหม่ ต่อ ต่อ ต่อ ต่อไปจนเป็นความทุกข์ จนกว่าจะเป็นความดับทุกข์ ก็ต้องอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นทั้งนั้น
ดังนั้นเราจะต้องพูดกันถึงเรื่องนี้ เรียกสั้นๆ ว่าปฏิจจ-สมุปบาท พระพุทธเจ้าท่านตรัสชื่อนี้เต็มที่ ยาวเต็มที่ก็ว่า อิทัปปัจยตาปฏิจจสมุปบาท เรียกเต็มยาวขนาดนั้น ความเป็นไปตามปัจจัยแล้วอาศัยกันเกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นทั้งนั้นแหละ จะในแง่ของความทุกข์ หรือความไม่ทุกข์ หรือเป็นธรรมชาติล้วนๆ ก็อาศัยกันเกิดขึ้นทั้งนั้น สากลจักรวาลนี่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวทั้งหลายมากมาย มันก็เป็นไปตามปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้นทั้งนั้นนะ เป็นเรื่องครอบจักรวาล แต่ว่ามันไม่เกี่ยวกับเราหรอก ที่เกี่ยวกับเราในตัวเรา มันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์นี่ จึงจัดการกันในข้อนี้ดีกว่า
ศึกษาให้รู้เรื่องนี้ ก็เรียกว่าศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วควบคุมปฏิจจสมุปบาทให้ถูกต้อง คือไม่ให้เกิด หรือให้เกิดไปในทางที่ควรจะเกิด มันก็ไม่มีความทุกข์ แล้วสิ่งที่จะควบคุมนั้นก็คือสติ สติ สติ ที่เรากำลังฝึกนั่นเอง เราจึงต้องฝึกสติ ให้สามารถมีสติ และมีสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับสติ เช่น ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เป็นต้น แล้วเอาไปใช้ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท
เราจึงมีการสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทและการฝึกอานาปานสติ ๒ เรื่องเท่านั้นพอ ตามหลักการสอนการอบรมของธรรมมาศรมนี่ ก็มี ๒ เรื่องเท่านี้ รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทว่าทุกข์เกิดดับอย่างไร แล้วก็ฝึกสติ มีสติ ควบคุมมันไว้ให้ได้ มันก็ไม่มี ไม่เกิด ในทางที่จะเป็นทุกข์ มันก็ดับทุกข์ นี่เรื่องเรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท
ฉะนั้นขอให้เราสนใจคำนี้ แล้วก็ศึกษา ศึกษา ฝนตกลงมานี้ก็เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทของธรรมชาติของฝน มันสอนกันตรงๆ อย่างนี้แหละเห็นไหม แต่มันเป็นเรื่องภายนอก นี่มันเป็นเรื่องภายใน มันปรุงแต่งกันอยู่ในภายใน เกิดเป็นความทุกข์ หรือไม่เกิดความทุกข์ เกิดความหมดทุกข์ก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท
ทีนี้มันเป็นเรื่องลึก เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องเข้าใจยาก ก็ไม่เอามาสอนกัน บางทีก็มีการห้ามเสียอีกว่า อย่าเอามาสอนเลยมันยากเกินไป แล้วมันก็ยากจริงๆ ด้วย ยากจนถึงกับว่า พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องนี้ การตรัสรู้ ตรัสรู้เรื่องนี้นะ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ คือ ตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เกิดทุกข์อย่างไร ดับทุกข์ยังไง พอท่านตรัสรู้แล้ว ท่านก็ โอ้ จะเอาไปสอนใครที่ไหน ใครมันจะรู้ ท่านตรัสตั้งปฏิเสธไม่สอนนะ ไม่สอน ป่วยการ เหนื่อยเปล่า
แต่แล้วท่านก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า โอ มันน่าจะมีบางคน ไม่กี่คน ตามใจ แต่มันมีบางคนที่จะรู้ได้ ถ้าเราไม่สอนไอ้คนเหล่านี้คงไม่ได้รับประโยชน์ ขาดประโยชน์ ฉะนั้นสอนดีกว่า การฉุกคิดกลับที่จะสอนอย่างนี้ เขาพูดไว้ในบุคลาธิษฐาน ว่าพระพรหมโน่น พระพรหมมาจากพรหมโลก อาราธนาอ้อนวอนขอให้พระพุทธเจ้าช่วยสอนเถิด อย่างนี้ก็ตามใจเหมือนกันแหละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้ว ทำไมท่านจะรู้ไม่ได้เรื่องนี้ว่ามันควรจะสอน เพราะมันมีบางคน บางคนที่จะรู้ได้ ท่านก็ตกลงสอน
ขอให้พวกเราทุกคนนี่รวมอยู่ในพวกที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าบางคน บางคนจะรู้ได้ เราก็ทำตัวเป็นบางคนที่จะรู้ได้ มาศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่แล้วก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องยากที่สุดในบรรดาเรื่องที่จะต้องเรียน จะต้องรู้ พระเถระผู้เฒ่าบางท่านก็บอกทำนองขอร้องอาตมาว่า อย่า อย่าสอนเรื่องยากๆ อย่างนี้เลย สอนเรื่องศีลธรรม ทำมาหากิน ตั้งเนื้อตั้งตัวอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขก็พอแล้ว อย่าสอนเรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา เรื่องปฏิจจสมุปบาทเลย แต่อาตมาก็หัวดื้อ หัวดื้อตามเดิม ยังสอนอยู่ ยังพยายามจะสอน ยังพยายามจะเข็นครกขึ้นภูเขา ขึ้นภูเขาอยู่อย่างนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดีเถอะ มันมีทางที่จะรู้ได้
อาตมาได้ศึกษา พยายามศึกษา พยายามหาวิธีสอนตลอดเวลาตั้ง ๕๐ ปีแล้วนะ มันครึ่งศตวรรษแล้วนะ ที่ศึกษาเรื่องนี้ พยายามในเรื่องนี้ แล้วก็หาทางที่จะสอนในเรื่องนี้ มันก็พบว่าพอจะมีทาง พอจะมีทางให้เข้าใจได้ แต่ขอให้ทุกคนตั้งใจจริง ตั้งใจจริง ศึกษาเบื้องต้นให้รู้เรื่องความทุกข์ที่มีอยู่จริง แล้วก็ศึกษาจากความทุกข์นั่นแหละ ให้พบสิ่งที่มันตรงกันข้าม แม้โดยคำนวณว่าตรงกันข้ามเป็นอย่างไร พบแล้วก็ปฏิบัติให้ได้เป็นอย่างนั้น มันก็ดับทุกข์ได้ หรือพยายามที่จะให้เข้าใจได้ ในการศึกษาแม้ของยุวชนลูกเด็กๆ ท่านคงจะไม่เชื่อว่าจะสอนลูกเด็กๆ ได้ แต่ก็ขอให้ลองฟังดูก่อน ถ้าทำให้เขารู้จักเรื่องความทุกข์ได้ ละก้อมีทางสอนได้แหละ
ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร แล้วก็ขอพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือใจความก็ว่า ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรในชีวิต ความทุกขเกิดขึ้น เพราะว่าเราไม่มีความรู้มาแต่ในท้องมารดา คลอดออกมาโดยไม่มีความรู้เรื่องนี้ แล้วก็ต้องมาเผชิญกันกับปัญหา ก็ต่อสู้เอาเอง
เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นมันตั้งต้นที่ว่า ชีวิตนี้มันมีสิ่งสำคัญก็คืออายตนะที่อยู่ข้างใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะที่อยู่ข้างใน แล้วก็อายตนะที่อยู่ข้างนอกคือ รูปที่จะกระทบตา เสียงที่จะกระทบหู กลิ่นที่จะกระทบจมูก รสที่จะกระทบลิ้น สัมผัสผิวหนังที่จะมากระทบผิวหนัง ความคิด ความรู้สึกที่จะมากระทบจิตนะ ก็เลยได้เป็นข้างในก็ ๖ ข้างนอกก็ ๖
ถ้าไม่รู้จักไอ้ ๖ คู่นี้แล้วป่วยการ ไม่อาจจะศึกษาปฏิจจสมุปบาท แต่มันยากเกินไปหรือไม่ เอาลูกเด็กๆ มาบอกว่าแกมีตาใช่ไหม แล้วก็มีสิ่งที่มากระทบตา ทางตา แกก็มีหู มีสิ่งที่มากระทบหู แกก็มีจมูก ลิ้น กาย ใจ ครบ ๖ เด็กๆ ก็พอจะเข้าใจได้ นี่เรียกว่ารู้เบื้องต้นที่สุดแล้วว่าในร่างกาย ร่างกายอัตตภาพนี้มันมีไอ้นี่ อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก
นี้ก็ให้สังเกตต่อไปว่า พออายตนะภายใน เช่นตาเป็นต้น ได้กระทบกับอายตนะภายนอก เช่นรูปเป็นต้น มันเกิดวิญญาณ วิญญาณคือความรู้สึกทางตา รู้จักทางตา นี่วิญญาณในพระพุทธศาสนาหมายถึงอย่างนี้ ไม่ใช่วิญญาณจุติปฏิสนธิได้แบบของฮินดูของเก่าเขาก่อนนั้น เขามีวิญญาณในลักษณะอย่างนั้น วิญญาณตายตัว วิญญาณท่องเที่ยว วิญญาณคงที่ ไม่ใช่ นั่นมันวิญญาณฝ่ายโน้น
วิญญาณในพุทธศาสนามีปรากฏเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ กระทบทางตาเรียกว่าเกิดจักษุวิญญาณ กระทบทางหูเรียกว่าเกิดโสตวิญญาณ กระทบทางจมูกเรียกว่าฆานวิญญาณ กระทบทางลิ้นเรียกว่าชิวหาวิญญาณ กระทบทางกายเรียกว่ากายวิญญาณ กระทบทางจิตเรียกว่ามโนวิญญาณนั่น ก็จำคำว่าวิญญาณไว้ ๖ อีกเหมือนกัน มัน ๖ สามชุดแล้วนะ ๖ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ คือวิญญาณ มีการกระทบทางอายตนะที่ไหน เมื่อไร ก็เกิดวิญญาณที่นั่นเมื่อนั้น นี่คือเกิดวิญญาณ
มันอาจจะสอนเด็กให้รู้ได้นะ ที่เขาเรียนวิทยาศาสตร์น่ะยุ่งยากลำบากกว่านี้มาก ทำไมจะบอกให้เด็กๆ รู้ไม่ได้ พอตากระทบกับรูปมันเกิดความรู้สึกทางตา ก็เรียกว่าจักษุวิญญาณทั้ง ๖ ทางเอง วิญญาณทั้ง ๖ เอ้า รู้เรื่องวิญญาณ มันได้เป็น ๓ อย่างแล้วนะ คือว่าอายตนะภายใน เช่น ตาเป็นต้น อายตนะ ภายนอกคือรูป และวิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะการกระทบของ ๒ อย่างนี้ มันเป็น ๓ อย่าง มันเป็น ๓ อย่างขึ้นมาแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ไอ้การเข้าระหว่างธรรมทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะคำนี้แปลว่า การกระทบ ถ้ามีความรู้ ถูกต้องตามพระพุทธภาษิต จะต้องรู้ว่ามันกระทบกันระหว่าง สิ่ง ๓ อย่าง เราพูดกันชุ่ยๆ หวัดๆ ตามศาลาวัดว่ากระทบ ๒ อย่าง ตากับรูป หูกับเสียง นี้มัน ๒ อย่าง คนทั่วไปก็มักจะคิดอย่างนั้นว่าผัสสะ ผัสสะนี้กระทบกันระหว่างของ ๒ อย่าง
แต่ตามพระบาลี ๓ อย่าง ต้อง ๓ อย่าง วิญญาณรู้จักอายตนะภายนอกที่เข้ามากระทบอายตนะภายใน เลยรู้จักทั้ง ๓ อย่าง คือ รู้จักทั้งตา รู้จักทั้งรูป รู้จักทั้งจักษุวิญญาณ ครบ ๓ ครบ ๓ ทั้ง ๖ ทั้ง ๖ อย่าง นี่เรียกว่ารู้จักผัสสะ ผัสสะ ทีนี้เมื่อมีผัสสะอย่างนี้แล้วมันก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้นนะ มันมีปฏิกิริยาต่อไปคือเกิดเวทนา คือความรู้สึก ผลของผัสสะเกิดเป็นเวทนา เรียกว่าเวทนา
ถ้าถูกใจก็เรียกว่าสุขเวทนา ไม่ถูกใจก็เรียกว่าทุกขเวทนา ที่ไม่แน่ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจ ยังสงสัย ยังไม่แน่อยู่ก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา อทุกขมสุข อทุกขมสุข อย่าไปเรียกว่าอุเบกขา มันภาษาบาลีแท้ๆ เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา จะสุขจะทุกข์ แล้วก็อทุกขมสุขเวทนา นี่เวทนาเป็นอย่างนี้ เวทนารู้สึกอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดความอยากหรือตัณหาไปตามเวทนานั้น
ถ้ามันเป็นสุขเวทนามันก็อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากยึดครอง อยากหามาให้มาก อยากสะสมไว้ให้มากนะ ถ้าสุขเวทนามันอยากอย่างนั้น
ถ้าทุกขเวทนามันเกิดตรงกันข้าม มันอยากจะฆ่า อยากจะทำลาย อยากจะประทุษร้าย มันก็เป็นทุกข์เป็นแบบหนึ่ง เป็นลบ ทีแรกมันเป็นบวกมันจะเอา เป็นลบมันก็จะฆ่าจะทำลาย
นี้ถ้ามันเป็นอทุกขมสุข ไม่รู้ว่าบวกหรือลบแน่ สุขหรือทุกข์แน่ มันก็โง่เท่าเดิม มันก็โง่ตามเดิม แต่มันไม่พ้นจากการที่จะสงสัยอยู่ว่านี่มันจะเปลี่ยนเป็นสุขก็ได้นะ หรือว่าจะสงสัยจะเป็นทุกข์มันก็ระวังอยู่นะ มันก็มีปัญหาไปตามแบบนั้น
สุขเวทนามันก็ต้องเกิดความอยาก แบบเอา แบบดึงเข้ามา ทุกขเวทนาก็เกิดความรู้สึกผลักออกไปคือทำลาย ไอ้อทุกขมสุขเวทนามันโง่เท่าเดิม มันก็วิ่งอยู่รอบๆ วิ่งอยู่รอบๆ ไม่รู้จะผลักดีหรือจะดูด จะดึงดีนั่น เด็กพอจะเข้าใจได้นะ อย่าไปดูถูกเด็กๆ นี่เวทนา แล้วก็มีความอยากอย่างนี้เรียกว่าตัณหา
ตัณหาพวกหนึ่งอยากจะดึงดูดเข้ามา ตัณหาพวกหนึ่งอยากจะผลักออกไป ตัณหาพวกหนึ่งอยากจะเลิก ทำลายเสียให้หมดสิ้นไม่มีเหลือ เอ้า นี่เรียกว่าตัณหาแล้ว เวทนาให้เกิดตัณหาแล้ว มันไม่ยากเกินกว่าที่เด็กๆ เขาเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์นี่ยุ่งยากกว่านี้
เกิดตัณหา ความอยาก ความอยาก อยาก อยากที่รุนแรง หนัก อยาก อยาก อยาก ก็เกิดโง่ขึ้นมาว่า มีตัวกูผู้อยาก มันต้องอยากก่อน มีการกระทำที่เป็นความอยากก่อน จึงจะเกิดผู้กระทำ คือตัวกู นี่ระวังให้ดี มันต้องมีการกระทำก่อน มันจึงจะรู้สึกว่ามีผู้กระทำ หรือว่าเสวยผลของการกระทำอยู่ จึงจะเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้เสวย อย่างนี้เรียกว่าตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานว่าตัวกู แล้วก็มันจะต้องมีสิ่งที่เขาเข้ามาเกี่ยวข้องที่เรียกว่าของกู มันจึงเกิดทั้งตัวกู เกิดทั้งของกู นี่เรียกว่าอุปาทาน
อุปาทาน เป็นเรื่องทางจิตในภายใน ถ้ามีอุปาทาน อุปาทานอย่างนี้ ว่าตัวกูอย่างนี้ แล้วก็เป็นจุดตั้งต้นแห่งความมี มีภพ มีชาติ มันตั้งต้นที่จุดนี้แหละ ก็คือมันมีตัวกู เพราะมีอุปาทานจึงมีภพ ภพ ภพ แปลว่าความมีอยู่หรือความเป็นอยู่แห่งตัวกู ก็เรียกว่าภพ อุปาทานให้เกิดภพ เป็นจุดตั้งต้นเพียงก่อหวอดนั่น ภพ แล้วมันก็เจริญ เจริญ เจริญมาก เหมือนกะว่าตั้งครรภ์แล้วครรภ์มันก็แก่ แก่จนมันจะคลอด
พอภพนี่มันรุนแรงถึงที่สุดแล้วมันก็เกิดชาติ ชาติเกิด เกิดออกมาเป็นตัวกู เป็นของกูสมบูรณ์ มันก็แสดงบทบาทแห่งตัวกู คอยเอาอะไรๆ มาเป็นของกู แล้วมันก็เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของกู หรือถ้ามีชาติมีความเกิดแล้ว ก็เป็นที่ตั้งแห่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของกูนี่ แล้วก็เอาความทุกข์ ทุกข์ชนิดเป็นของกู ความโศกความพิไรรำพัน ความแห้งใจ ความปรารถนาแล้วไม่ได้ตามที่ปรารถนา มีสิ่งที่รัก มีสิ่งที่ไม่รัก เป็นของกู นี่ความทุกข์ก็สมบูรณ์กันที่ตรงนี้
แล้วจะให้อธิบายกันอย่างวัตถุก็ได้ แต่ให้มันเป็นเรื่องทางจิต เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต พ่อน่ะอุตส่าห์พยายามให้ลูกเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่เท่าไหร่พ่อเองน่ะมันจะรู้ จะรู้มากขึ้นจะรู้ดีขึ้น อาตมาเชื่อว่าแม้ลูกเด็กๆ มันก็พอจะเข้าใจได้ ถ้าว่าพ่อแม่พยายามอธิบายอย่างนั้น แต่ถ้าพ่อแม่เองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็เป็นไปไม่ได้ พ่อแม่เองก็ยังไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
พอรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็รู้ โอ้ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์น่ะ มันเกิดอย่างนี้นะ มันมีอวิชชาที่ผัสสะ ผัสสะมันโง่ ตากระทบรูปเกิดวิญญาณ ๓ ประการเรียกว่าผัสสะ ตรงผัสสะมันโง่ มันไม่รู้ มันไม่รู้อะไรเลย มันก็เกิดเวทนาที่หลอกให้เป็นบวก เป็นลบ หลงรัก หลงเกลียด เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ มันตั้งจุดตั้งต้นที่มันโง่เมื่อผัสสะ
ถ้าเรามีสติเพียงพอไม่โง่เมื่อผัสสะ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์นี่เกิดไม่ได้ มันเกิดฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ มันมีผัสสะฉลาด ผัสสะฉลาด มันไม่หลงเวทนา มันไม่หลงเวทนามันไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดตัณหา ไม่มีอุปาทาน ไม่มีภพ ไม่มีชาติ มันดับทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้มันดับทุกข์ เพราะอำนาจของสติปัญญา สัมปชัญญะ ด้วยแยกกันเป็น ๒ ทาง ปฏิจจสมุปบาทให้เกิดความทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทให้เกิดความไม่มีทุกข์
พุทธศาสนาสอนให้จัดการที่ต้นเหตุ แล้วจะแก้ปัญหาได้ เอาละเป็นอันว่าเรารู้ต้นเหตุ รู้จักต้นเหตุดีที่สุดว่า ความทุกข์เกิดอย่างไร แล้วก็ควบคุมต้นเหตุหรือตัดต้นเหตุนั้นเสีย ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ นี่คือพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล ก็ต่อสู้กับวิทยาศาสตร์ได้ แต่ที่ต่อสู้กันไม่ได้ก็เพราะวิทยาศาสตร์เขาพูดกันแต่เรื่องทางวัตถุ วัตถุ วัตถุ ไม่พูดทางเรื่องจิตใจ พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาตร์ทางจิตใจ ทำไมเราพูดกันทางจิตใจ เราก็จะบอกว่านี่ วิทยาศาสตร์ที่ดีกว่าที่เหนือกว่า ที่ดับทุกข์ได้
วิทยาศาสตร์ทางวัตถุจะมีแต่สร้างปัญหาให้ความทุกข์มันมากขึ้น ถ้ามีวิทยาศาสตร์ทางจิตใจก็ป้องกันความทุกข์ได้เพราะรู้จักต้นเหตุ ต้นเหตุว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไร จึงถือได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล
เมื่อมีคนถามพระอรหันต์องค์หนึ่งว่า พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร พระอรหันต์องค์นั้นก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าธรรมทั้งปวงมีเหตุ เป็นไปตามเหตุ ก็ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมทั้งปวง แล้วก็ทรงแสดงความดับแห่งธรรมทั้งปวง พระศาสดาของข้าพเจ้าสอนอย่างนี้ ที่เราเรียกกันว่าคาถาพระอัสสชิ หรือหัวใจของพุทธศาสนา
สรุปความให้เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุ คือมีเหตุ เป็นไปตามเหตุ ความที่มันเป็นไปตามเหตุ นั่นนะเรียกว่าอิทัปปัจจยตา เมื่อเป็นไปตามเหตุ มันก็เกิดขึ้นจากสิ่งที่เป็นเหตุ นี้ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เรียกกันเสียทั้งหมดก็ว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ความรู้เรื่องเหตุ แล้วก็จัดการที่ต้นเหตุ แล้วก็ได้รับผลสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์
ฉะนั้นขอให้จัดการที่เหตุ จัดการที่เหตุ ที่ต้นเหตุ ก็จะแก้ปัญหาได้ ถ้าไปมัวจัดการที่ปลายเหตุหรือผล มันก็ไม่ดับทุกข์ได้คำพูดโบราณในอินเดียหรือแม้แต่ในยุโรปก็คงจะมีนะ ว่าจัดการที่ต้นเหตุถูกต้อง จัดการที่ปลายเหตุไม่ถูกต้อง แล้วยังแถมกำชับไว้ด้วยว่า ไปมัวจัดการที่ปลายเหตุเป็นลูกหมา ต่อไปนะใช้คำตรงๆ มันสั้นดี มันง่ายดี
ถ้าจัดการที่ต้นเหตุมันเป็นลูกเสือหรือลูกราชสีห์ คงจะมองภาพพจน์ออกกระมัง ถ้าคุณเอาไม้ไปแหย่ แหย่สุนัขนี่ มันก็มัวกัดแต่ที่ปลายไม้นี่ มันกัดแต่ที่ปลายไม้ ถ้าคุณไปแหย่เสือสิ มันจะกัดคนถือไม้โน่น ไม่มัวกัดอยู่ที่ปลายไม้ นั่นแหละลูกเสือลูกราชสีห์ จึงพูดว่ามัวแก้ที่ปลายเหตุนี้เป็นลูกหมา คือโง่ ถ้าไปจัดการที่ต้นเหตุมันเป็นลูกเสือ ลูกราชสีห์ ที่มันฉลาด
พุทธศาสนามีหลักการจัดการที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะเรื่องอริยสัจ เรื่องอริยสัจจ์ก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยย่อ ย่อให้มันเหลือเพียง ๔ ทุกข์ แล้วก็เหตุให้เกิดทุกข์ แล้วความดับทุกข์ แล้วก็ทางที่ถึงความดับทุกข์ นั่นล้วนแต่จัดการที่เหตุทั้งนั้น จัดการที่เหตุของความทุกข์ ความทุกข์ก็ดับ
ถ้าจะจัดการที่เหตุให้ถูกต้อง ก็ต้องรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างที่กล่าวแล้ว แล้วก็ควบคุมมาเสียตั้งแต่ผัสสะและเวทนา ความทุกข์ก็ไม่เกิด นี่เป็นการจัดการที่ต้นเหตุ เรื่องอริยสัจนั่นเป็นเรื่องย่อเหลือเพียง ๔ อย่าง เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องเต็มที่สมบูรณ์แบบขยายออกไปเป็น ๑๑ อย่าง หรือ ๑๒ อย่าง แต่ที่แท้มันเรื่องเดียวกัน เรื่องเดียวกัน ครูไปสอนผิดๆ แยกไป ๒ เรื่อง ๓ เรื่องโน่น นักเรียนก็ยุ่งหัวไปหมด
เรื่องปฏิจจสมุปบาทกับเรื่องอริยสัจจ์น่ะมันเรื่องเดียวกัน ความทุกข์เป็นอย่างนี้คือไม่น่าปรารถนา อริยสัจจ์ก็บอกสั้นๆ ว่ามันเกิดมาจากตัณหา แต่ถ้าจะต่อให้ถูกต้อง มันเกิดมาจากกระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายผิด ฝ่ายโง่  มันมีตัณหารวมอยู่ในกระแสนั้นด้วย เมื่อตะกี้ก็พูดแล้ว มีอายตนะ มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา แล้วจึงมีอุปาทาน มีภพ มีชาติ มันมีตัณหาอยู่เป็นแกนกลางของปฏิจจสมุปบาท
ฉะนั้นอริยสัจจ์ในส่วนทุกข์กับสมุทัยก็คือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทัยวาร เต็ม เต็มที่ อริยสัจจ์ฝ่ายดับทุกข์ ทุกข์กับนิโรธก็คือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารเต็มที่ มีสติคุมอายตนะ มีวิญญาณฉลาด มีผัสสะฉลาด มีเวทนาฉลาด ไม่ ไม่ แล้วก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดทุกข์ ฝ่ายนี้เรียกฝ่ายดับทุกข์
ชีวิตเป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ทีนี้ที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นได้นะทำอย่างไร ก็ตอบสั้นๆ นี้ก็ด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าตอบให้ยาวก็ตอบว่ามีอริยมรรคมีองค์ ๘ มีมรรคมีองค์ ๘ รวมของสติสัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิอยู่ที่นั่น ก็เรื่องเดียวกันแท้ แต่ว่าพูดกันคนละแง่ พูดกันคนละฝ่ายเพื่อให้มันเข้าใจง่ายไปตามกรณีที่จะต้องพูด ฉะนั้นการรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็คือการรู้เรื่องอริยสัจ ฉะนั้นขอให้มองเห็นความสำคัญของเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องเต็ม เรียกเต็มที่ว่าอิทัปปัจยตาปฏิจจสมุปบาท
ไม่เคยมีใครสอนเรื่องนี้แม้ในอินเดีย เขาสอนกันอย่างอื่น ความทุกข์เกิดอย่างอื่น เกิดจากพระเป็นเจ้า เกิดจากอะไรก็ไม่รู้ ตามใจเขา แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอน เรื่องความทุกข์มันเกิดมาจากอวิชชาในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท กำจัดอวิชชาเสีย กระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่จะเกิดทุกข์ มันเป็นไปไม่ได้ มันกลับเกิดฝ่ายที่เป็นวิชชา เป็นความถูกต้อง แล้วมันก็ดับทุกข์ขึ้นมาแทนนี่
นี้เราจงมองให้เห็นว่าเป็นเรื่องของชีวิตโดยตรง พวกคุณลองคิดดูสิว่า คนคนไหน คนคนไหนบ้างที่มันไม่ตกอยู่ภายใต้กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนะ ก็ทุกคนมันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา กันทั้งนั้น แล้ววันหนึ่งเกิดได้ไม่รู้กี่ร้อยครั้ง เพราะมันมีตั้ง ๖ ทางที่จะเกิด แล้วทางเดียวมันก็เกิดได้หลายอย่างหลายรูปแบบ ฉะนั้นชีวิตนี้มันก็คือการเป็นอยู่ด้วยปฏิจจสมุปบาท
เมื่อไม่รู้หรือไม่ได้ฟังใครบอก ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ฟังคำตรัสของพระพุทธเจ้ามันก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าชีวิตทั้งหมดนี้คือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท คุณก็ไปดูเอาเองสิ ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่ออาตมา แล้วก็ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าด้วย ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้า เชื่อการที่เห็นเอง เห็นเอง เห็นเอง มันเห็นอยู่อย่างนี้ ว่ามีอายตนะนอกในถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ ๓ ประการเรียกว่าผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ พอมีชาติแล้วเกิดทุกข์ทั้งปวง
สิบเอ็ด สิบสองคำนี้ศึกษาให้เข้าใจ เข้าใจให้ดี เข้าใจให้ดี เพราะมันอยู่ในตัวชีวิตในตัวอัตภาพ มันรู้จักกันแต่เรื่องในบ้าน ในเรือน ในห้องน้ำ ห้องนอน รู้จักดีที่สุด เรื่องนอกบ้านนอกเรือนก็รู้จักดีที่สุด แต่ว่าเรื่องในตัวแท้ๆ กลับไม่รู้จัก คือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เกี่ยวข้องเกิดขึ้น เป็นไป ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ทั้งตื่นและทั้งหลับ เพราะว่าหลับมันก็ยังฝันร้าย ถ้าไม่ฝันมันก็ไม่มีปฏิจจสมุปบาท มันก็หลับสนิท มันก็พักผ่อนได้นะ
แต่ว่าหลับมันก็ยังมีความฝัน ฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือเรื่องตัวชีวิตตัวเรา แล้วก็ถูกให้ความหมายผิดๆ ว่าตัวกู ตัวกู แต่ที่ถูกนั้นไม่ใช่ตัวกู เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ คือธาตุทั้ง ๖ มันทำให้เกิดอัตตภาพร่างกายนี้ขึ้นมา แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งกระแสของปฏิจจสมุปบาทตามกฎของธรรมชาติ ถ้ารู้จักตัวเองหรืออัตภาพของตัวเองเพียงเท่านี้ก็จะดับทุกข์ได้ เป็นความจริง
ที่ลึกซึ้ง เพราะว่าเมื่อเห็นความจริงข้อนี้แล้วมันดับทุกข์ได้นี่ การเห็นปฏิจจสมุปบาทคือการเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาท นั่นคือการเห็นธรรม ธรรมะ การเห็นธรรมะคือการเห็นเราตถาคต เห็นเราตถาคตคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นเราตถาคต ต้องการเห็นปฏิจจสมุปบาทคือการเห็นธรรม เพราะฉะนั้นการเห็นปฏิจจสมุปบาทคือการเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ จำประโยคนี้ไว้มีประโยชน์มาก
พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่เมืองอื่น ลังกา พม่า ไม่มี ท่านอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณเอง ทุกคน ทุกคน เอาความโง่ออกเสีย ไม่มีม่านแล้ว โอ้ พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนี้นี่
เข้าไปในโบสถ์ก็พบแต่พระพุทธรูป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระธาตุมันก็เป็นกากเศษที่เหลืออยู่แห่งอัตตภาพของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า องค์พระพุทธเจ้าคือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท อย่างที่ท่านตรัสว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นตถาคตนะ
ฉะนั้นจงเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ที่ประทับนั่งอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พอเห็นปฏิจจสมุปบาทม่านแห่งความโง่ ม่านแห่งอวิชชามันสลายไป มันสลายไป ไม่มีอะไรบังพระพุทธเจ้า นี่จึงพูดให้จำง่ายและค่อนข้างจะหยาบคายหน่อยนะว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณทุกคนเลย พอเอาม่านนี้ออกเสียได้มันก็เป็นพระอรหันต์หมด มีพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้า กระทั่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ เสียเอง
ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันเป็นอย่างนี้ นี่จะหาเรื่องอะไรที่สำคัญกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ไม่มี มันเรื่องอริยสัจจ์โดยพิสดาร หรือจะหาเรื่องอะไรที่ลึกซึ้งเท่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันก็ไม่มีเหมือนกัน ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง แต่อย่าเอาความลึกซึ้งมาเป็นข้อแก้ตัว ว่ามันลึกซึ้ง ฉันไม่รู้ ฉันไม่อาจจะรู้ ฉันไม่สนใจ ถ้าอย่างนี้มันสูญ สูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ มันจะลึกซึ้งเท่าไหร่ฉันจะขุดค้นเอามาให้ได้ ให้รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็น่าหัว น่าหัวที่มันตั้งต้นด้วยเรื่องง่ายๆ
เรื่องที่อัตตภาพนี้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสิ่งมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดวิญญาณ แล้วเกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ และเป็นทุกข์ ถ้าเข้าใจคำทั้ง ๑๑ คำนี้ หรือ ๑๒ คำทั้งคำ สุดท้ายแล้วก็พอ อายตนะ อายตนะนี่ ภายในและภายนอกนี่ แล้วก็วิญญาณ แล้วก็ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นับเรียงตัวเป็นเรียงสิ่งก็จะได้ ๑๒๑๒ คำเรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม ถ้านับแต่อาการที่มันเป็นคู่ คู่ คู่ คู่ มันจะได้ ๑๑ คู่ นั่นอาการแห่งปฏิจจสมุปบาท ไอ้ตัวที่เป็นที่ตั้งแห่งอาการนั้น เรียกว่าปฏิจจ-สมุปปันนธรรม จำได้ก็ดี ถ้าจำไม่ได้ ก็จำแต่คำว่าปฏิจจสมุปบาทก็พอ
ปฏิจจสมุปปันนธรรม คือสิ่งที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาทถ้าดับ ถ้าเกิดทุกข์ขึ้นมารียกว่าปฏิจจสมุปบาท ถ้าดับทุกข์ลงไปเรียกว่าปฏิจจนิโรธ ปฏิจจนิโรธะ แต่คำนี้ไม่ค่อยเอามาพูดกันหรอก เพราะว่ามันพูดแต่ปฏิจจสมุปบาทมันก็พอเสียแล้ว มันหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ มันก็เป็นนิโรธ เป็นดับทุกข์
ถามดูซิว่าเรื่องของใคร เรื่องของใคร เรื่องของทุกคนจริงหรือไม่ แล้วมันจะลงไปถึงเรื่องของแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันไม่เต็มเปี่ยมเท่าเรื่องของคนน่ะ แต่มันก็แนวเดียวกันแหละ มันเป็นอย่างเดียวกันแหละ นี่ถ้าว่าต้นไม้มันมีความรู้สึกอยู่บ้าง มันก็มีความทุกข์ได้ ตามที่เขาเชื่อกันว่าต้นไม้มันก็รู้สึกเป็นทุกข์ได้ มันก็แนวเดียวกันอีกแหละ
คือความโง่ เป็นเหตุให้สัมผัสโง่ ให้เวทนาโง่ ให้ตัณหาโง่ ให้อุปาทานโง่ บทบาทโง่ตลอดกาล เพราะฉะนั้นรู้ปฏิจจสมุปบาทก็คือรู้ที่เป็นความฉลาดอย่างยิ่ง จนถึงกับเรียกว่าเป็นการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เราสมัครตรัสรู้ตาม คือรู้ตามพระพุทธเจ้าไม่ได้รู้เอง เราไม่เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราจะเป็นพุทธเจ้าองค์น้อยๆ รู้ตามพระพุทธเจ้าพระองค์ใหญ่ที่เรานับถือ
มันพอหรือยังละที่จะมองเห็นว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องสำ คัญที่สุด เป็นเรื่องเกิดทุกข์และดับทุกข์โดยตรง ทำไมจึงห้ามไม่ให้เอามาสอน ด้วยเหตุผลเพียงว่ามันยาก มันยาก ถ้าอย่างนี้มันก็โง่ดึกดำบรรพ์ โง่ดึกดำบรรพ์ นี่อาตมาอธิบายตามข้อความในพระพุทธภาษิต ในพระบาลี พระไตรปิฎก ถ้าอธิบายตามหนังสือชั้นหลัง เช่นหนังสือวิสุทธิมรรค เป็นต้น อธิบายอย่างอื่นนะ ไม่อธิบายอย่างที่กำลังพูดนี้ อธิบายอย่างอื่น อาตมาไม่เห็นด้วย ไม่จำไม่เอามาพูด ไม่เอามาสอน
อยากจะอธิบายตามนั้นก็ไปหาหนังสือวิสุทธิมรรคอ่านดู จะไม่เหมือนกับที่กำลังพูดนี้ เขาอธิบายอ้อมค้อม จนไม่รู้ว่าอะไรกันแล้ว นี่เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่เด็กเข้าใจได้ตามวิถีทางแห่งวิทยาศาสตร์ ใช้การศึกษาอย่างคณิตศาสตร์อย่างวิทยาศาสตร์ได้เต็มที่ นี่จะรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
อย่าโง่เมื่อผัสสะจะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ ทีนี้มันก็มีปัญหาอยู่ที่ว่า จะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้อย่างไร ก็คือว่าอย่าให้โง่เมื่อผัสสะ จะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ให้เกิดความทุกข์ก็คืออย่าโง่เมื่อผัสสะ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ และผัสสะ และจะมีเวทนานั่นนะ ตรงที่ผัสสะนะควบคุมไว้ได้อย่าให้มันโง่ ให้มันเป็นผัสสะฉลาด
ผัสสะฉลาดเรียกว่า วิชชาสัมผัส คือสัมผัสด้วยวิชชา ถ้าไม่อย่างนั้นมันโง่เป็นอวิชชา ก็เรียกว่าอวิชชาสัมผัสเดี๋ยวนี้พวกเราไม่รู้เรื่องนี้ก็สัมผัสทุกสิ่งด้วยอวิชชาสัมผัส เมื่อเกิดเวทนาโง่ ก็เกิดตัณหาโง่ จนได้เกิดทุกข์ จะโทษใครก็ไม่ได้ เกิดมาจกท้องมารดามันก็ไม่มีความรู้ พอเกิดมาแล้วมันก็ยังไม่มีโอกาสศึกษา มันจึงเป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายโง่นะ ฝ่ายเป็นทุกข์นะ จนกว่าจะได้มีโอกาสศึกษาธรรมะและปฏิบัติ มีสติสัมปชัญญะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาท จึงจะรอดตัว
การที่ท่านทั้งหลายมาที่นี่ ก็ขอให้มีความมุ่งหมายว่าศึกษาให้รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ว่าความทุกข์เกิดอย่างไร ความทุกข์ดับอย่างไร ทีนี้มันควบคุมไม่ได้ มันควบคุมไม่ได้ก็ศึกษาอานาปานสติภาวนา อานาปานสติภาวนา ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝนอานาปานสติภาวนา ก็มีสติ สติ สติสมบูรณ์ที่สุด เอามาใช้ควบคุมผัสสะ ในสายแห่งปฏิจจสมุปบาท เอามาควบคุมผัสสะ
นี้ผัสสะก็ไม่โง่ ผัสสะมันฉลาด มันรู้ว่า โอ้ ไอ้นี่ธาตุตามธรรมชาติปรุงแต่งกัน ไม่โง่ไปตั้งแต่ผัสสะ แล้วเวทนาก็ไม่โง่มันไม่หลงสุข ไม่เกลียดทุกข์ ไม่โง่ในเรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องอทุกขมสุข มันจัดการถูกต้องตามที่ควรจะเป็นแล้วมันก็ไม่เกิดตัณหา เพราะมันรู้ถูกต้องเสียแล้ว มันไม่โงไปเกิดตัณหา ในสุขเวทนาเป็นกิเลสประเภทราคะ โลภะ
แล้วก็ไม่หลงในกิเลส ไม่หลงในความทุกข์ ทุกขเวทนาแล้วเกิดกิเลสประเภทโทสะ โกรธะ แล้วก็ไม่หลงในอทุกขมสุขเวทนา มันก็ไม่เกิดกิเลสประเภทโมหะนี่เป็นหลักตายตัวในบาลี ถ้าโง่ในความสุขมันก็เกิดกิเลสประเภทโลภ โลภะ ลาภะ เป็นต้น
ถ้ามันโง่ในเวทนาประเภททุกข์ เป็นทุกข์ มันก็เกิดกิเลสประเภทโทสะ โกธะ ประทุษร้ายไป ถ้ามันไปหลงในเรื่องอทุกขมสุข มันก็โง่เท่าเดิม อวิชชาโมหะ เกิดกิเลสประเภทโมหะ โลภะ ราคะมีฐานที่ตั้งคือสุขเวทนา โทสะ โกธะ มีฐานที่ตั้งคือ ทุกขเวทนา โมหะ ความสงสัย ความโง่
ความนี่มีฐานที่ตั้งคืออทุกขมสุขเวทนา คือไม่รู้อะไรแล้วมันก็โง่เท่าเดิม จะโทษใครก็ไม่ได้ เกิดมาจากท้องมารดามันก็ไม่มีความรู้ พอเกิดมาแล้วมันก็ยังไม่มีโอกาสศึกษา มันจึงเป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายโง่นะ ฝ่ายเป็นทุกข์นะ จนกว่าจะได้มีโอกาสศึกษาธรรมะแล้วปฏิบัติ มีสติสัมปชัญญะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาท จึงจะรอดตัว
เรื่องของใครล่ะ เรื่องของใคร มันเรื่องของคนเราทุกกระเบียดนิ้ว เรียกว่าทุกปรมาณู มันเรื่องของคนเราทุกปรมาณู แต่เราก็ไม่รู้ เราไปเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์ รู้เรื่องต่างประเทศ รู้เรื่องโลกพระจันทร์โน้น แล้วมันช่วยอะไรได้ มันช่วยอะไรได้ แม้รู้เรื่องโลกพระจันทร์แล้ว มันก็ยังมีความทุกข์เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม มันช่วยไม่ได้นี่ เพราะมันไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ มาเรียนวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ จะรู้เรื่องความทุกข์แล้วก็ดับทุกข์ได้ แต่ให้ศึกษาอย่างละเอียดแยบคายลึกซึ้งเหมือนกะอย่างวิทยาศาสตร์
ใช้วิธีการของวิทยาศาสตร์แห่งยุคปัจจุบันนั่นแหละ แต่ว่าเอามาศึกษาเรื่องทางฝ่ายจิต ก็มีความรู้ทางธรรมและทางฝ่ายพระพุทธศาสนา แล้วก็ดับทุกข์ได้ วิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุให้มันไปก้าวหน้า ยิ่งก้าวหน้า ยิ่งไปไกล ยิ่งยุ่งยาก ยิ่งหลงใหล ยิ่งหลงใหลใน ในวัตถุนะ หลงใหลในความสุข ความทุกข์ ก็โง่เท่าเดิมเหมือนกัน ก็เรียกว่าโง่เท่าเดิมเหมือนกัน เมื่อมันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มันทำลายกันหมด วินาศกันทั้งโลกนะ
ถ้ามันศึกษาวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิตใจ มันไม่เห็นแก่ตัว เพราะว่ามันไม่มีตัว มันมีแต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ชีวิต จิตใจมันมีแต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มันไม่มีอัตตา ตัวตน มันไม่มีอหังการ มมังการ ตัวกูของกู แล้วมันจะเห็นแก่ตัวได้ที่ไหนล่ะ มันไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่มีกิเลสเกิด มันก็ไม่มีปัญหา มันก็ดับทุกข์สิ้นเชิง นี่สรุปใจความสั้นๆ ของปฏิจจสมุปบาทมันเป็นอย่างนี้
ปัญหามันก็เหลืออยู่แต่ว่า ทำอย่างไรจะควบคุมมันได้ ก็บอกแล้วบอกอีกว่า มีสติในขณะแห่งผัสสะ จงไปศึกษาให้ดี ขณะที่เป็นอายตนะ แล้วก็เป็นขณะแห่งวิญญาณ แล้วเป็น ขณะแห่งผัสสะ ตรงนี้ให้ควบคุมให้ได้ ให้เป็นผัสสะฉลาด เป็นผัสสะของวิชชาฉลาด ต่อไปก็จะไม่เกิดเวทนาโง่ ตัณหาโง่ ก็หมด หมดปัญหา ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของอีกต่อไป มีแต่ความสงบเย็น สงบเย็น ในความหมายแห่งพระนิพพาน แล้วก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทุกฝ่ายนะ
ผลของการรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันเป็นอย่างนี้ ใจความย่อๆ มันก็เป็นอย่างนี้ โดยหัวใจมันก็เป็นอย่างนี้ รายละเอียดก็จงศึกษาเพิ่มเติม ครูบาอาจารย์จะสอนให้ต่อไปอีกในที่อบรมนั่น ธรรมะ ๔ เกลอ
เอ้า ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง สิ่งที่จะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทคือสติ สติตามธรรมดามันมีไม่พอ สิ่งที่มีชีวิตมันมีสติด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่มันมีน้อย ไม่พอที่จะควบคุมกระแสแห่งปฏจิจสมุปบาท เราจึงต้องศึกษาอบรมเพิ่มเติม ที่จริง สติมันเป็นสิ่งที่ต้องมีกับสิ่งที่มีชีวิต ถ้าไม่มี มันตายหมด มันไม่รู้จะทำอย่างไร มันไม่รู้จะเดินอย่างไร จะนั่ง จะนอนอย่างไร จะกินอย่างไร
ถ้ามันมีสติตามสมควรแก่อัตตภาพ มันจึงพอที่จะว่าไปปฏิบัติได้ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในการกินอาหาร ในการทำกิจการงาน แล้วก็ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติ ไม่เดินชนเสา แต่ว่าสติเพียงเท่านั้น ไม่พอที่จะมาควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ต้องมีสติมากกว่านั้น ก็คือรู้เรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท แล้วเรามีความรู้เหนือ เหนือมัน ก็ควบคุมมันได้ เราก็ศึกษาเรื่องอานาปานสติกันต่อไป อานาปานะแปลว่า หายใจเข้าออก หรือออกเข้าแล้วแต่คุณจะชอบ
ในบาลีมีทั้ง ๒ อย่าง หายใจเข้าออกก็มี หายใจออกเข้าก็มี ถ้าสติอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ก็หมายความว่าผิดไม่ได้ ผิดไม่ได้ เพราะมีสติควบคุมให้มันผิดไม่ได้ นี้สตินั้นต้องมีปัญญา เอามา เอามาใช้ ก็ต้องอบรมส่วนที่เป็นปัญญา แล้วก็เป็นสัมปชัญญะเฉพาะหน้าที่ แล้วก็ต้องมีสมาธิคือเพิ่มกำลังให้แก่ ปัญญา เพิ่มกำลังให้แก่สติ ถ้าจะกล่าวเฉพาะส่วนที่สำคัญๆ เรา อบรมอานาปานสติหรือบำเพ็ญกรรมฐานนั่น มันทำให้ได้รับสิ่งสำคัญ ๔ สิ่ง คือ สติ แล้วปัญญา แล้วสัมปชัญญะ แล้วก็สมาธิ
พูดถึงผลของมันก่อนจะเข้าใจได้ง่ายนะ เราต้องการสติปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันนี่ ต้องมีสติระลึกได้ทันทีว่านี่มันอะไรนะ แล้วสติมันก็ไปเอาปัญญาที่จะแก้ แก้ปัญหาหรือข้อขัดข้องนี้ ไปเอาปัญญามา ฉะนั้นต้องมีปัญญาที่สะสมไว้เพียงพอ นี้ไม่ใช่เอามาทั้งหมด ปัญญามันมากเรื่องนัก เอามาแต่เรื่องที่จะแก้ปัญหา เฉพาะเรื่องนี้ ทางตา ทางหู ทางอะไรก็ตาม เฉพาะเรื่องนี้จะเอาปัญญาไหนมา นั่นก็เรียกว่าเลือกคัดเอามาให้มันตรงกับเรื่อง เรียกว่าสัมปชัญญะ สัมปชัญญะ ก็คือปัญญานั่นแหละ
ถ้าเก็บไว้ทั้งหมดทั้งกลุ่มเรียกว่าปัญญา แต่ถ้าหยิบออกมาเฉพาะกรณีเรียกว่าสัมปชัญญะ เช่นเดียวกับเรามีอาวุธทุกอย่างทุกชนิดประจำบ้านเรือน อาวุธทุกอย่างมี แต่พอจะใช้จริงๆ มันใช้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ แต่ควรใช้ปืน หรือใช้ดาบ หรือใช้มีด หรือใช้ระเบิด หรือใช้มันอย่างเดียวเท่านั้นแหละ
ก็มีอาวุธหลายอย่าง อาวุธทั้งหมดคือปัญญา อาวุธอย่างเดียวที่เลือกเอามาคือสัมปชัญญะ หรือว่าเรามียาแก้โรคทุกอย่าง ทุกอย่างอยู่ในตู้ยา พอจะใช้ยา จะกินยา มันกินอย่างเดียวเท่านั้นแหละ มันไม่ได้กินทั้งหมดหรอก ยาทั้งหมดนั้นคือปัญญาที่สะสมไว้เป็นคลังของปัญญา และหยิบเอามาทำให้เฉพาะกรณี เฉพาะโรคนี่ นี่เป็นสัมปชัญญะ ให้มันถูกให้มันตรงกับเรื่องเรียกว่าสัมปชัญญะ
นี้ปัญญากับสัมปชัญญะนี้บางทีหรือโดยมากมันก็อ่อนแอกำลังไม่พอ มันไม่สามารถจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้ จึงต้องมีสมาธิ สมาธิ สมาธิคือกำลังหรือน้ำหนัก เราจะเห็นได้ง่ายๆ เช่นว่าเรามีมีด มีดหรืออะไรก็ตามที่มันคมเหลือประมาณ คมเหลือประมาณ แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไป มันจะตัดได้อย่างไร ความคมก็เป็นหมันเท่านั้นเอง มีปัญญาอย่างปัญญา หรืออย่างสัมปชัญญะก็ตาม ถ้าไม่มีกำลังของสมาธิมากดลงไปมากดลงไป มันก็ไม่ตัดสิ ฉะนั้นมันจึงต้องมีไอ้สิ่งที่เป็นน้ำหนักที่จะช่วยให้ตัด
ถ้าในกรณีนี้สมาธิตามธรรมชาติไม่พอใช้ไม่ได้ ก็เอาสมาธิที่เราฝึกฝนอบรมมาใช้ มันก็มีน้ำหนักมากพอ ดูเอาเถอะ ดูให้เห็นในข้อที่ว่าจะคมยังไง จะคมอย่างไร ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปคามคมก็ไม่ตัดอะไร มันเป็นหมันเปล่านะ เป็นปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด อวดดีไปว่ามีปัญญา ต้องมีสมาธิด้วย ครบชุดแหละ สติระลึกได้ทันทีไปเอาปัญญามา เฉพาะที่ตรงกับเหตุการณ์เรียกว่าสัมปชัญญะ แล้วก็ให้เพิ่มกำลังให้แก่ปัญญาและสัมปชัญญะโดยสมาธิ
ฉะนั้นการฝึกอานาปานสติที่จะฝึกกันนี้ ถ้าถูกต้องสมบูรณ์แบบโดยแท้จริงแล้ว มันจะได้ผลอย่างน้อย ๔ อย่างนี้ ธรรมะ ๔ อย่างนี้ เป็นเบื้องหน้า เป็นเบื้องต้น หรือเป็นประธาน แต่ว่ายังมีอย่างอื่นอีกเยอะแยะ อย่างอื่นอีกเยอะแยะ ที่จะเรียกชื่อได้อีกมากมาย แต่ว่าเอาที่มันเป็นตัวล่ำสันใช้เป็นประโยชน์ได้ก็คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ
ปัญญานั้นมันขยายออกไปเป็นญาณ ญาณสารพัดอย่าง หลายสิบชื่อหลายร้อยชื่อ กระทั่งช่วยให้ตัดกิเลส ตัดปัญหาหมด เป็นพระนิพพานไปโน่น มันก็ด้วยวิธีการอย่างเดียวกันแหละ สติไปเอาปัญญามา ตัดกิเลสตัณหา ด้วยอำนาจกำลังของปัญญาและสมาธิ สัมปชัญญะนั่นคือจัดให้มันเหมาะสมที่จะทำ หน้าที่ปัญญาทั้งหมดมันจะทำงานอะไรกันไหวล่ะ มันแย่งกันทำนะ
เอามาเฉพาะเรื่อง เฉพาะอย่าง แล้วจัดให้มันตรงกับเรื่อง สัมปชัญญะแปลว่ารู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวทั่วพร้อม คือรู้ครบหมด แล้วก็รู้เฉพาะที่มันควรจะทำอย่างไร ก็เรียกว่าพร้อม พร้อม ธรรมะ ๔ อย่างนี้ต้องมี โดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะ ผัสสะ มันก็จะควบคุมได้ตลอดสายของปฏิจจสมุปบาท อาตมามาตั้งชื่อให้เป็นที่น่าสนใจว่าธรรมะ ๔ เกลอคู่ชีวิต ธรรมะเกลอคู่ชีวิต
นี้ถ้าจะให้ดีก็ทำให้มันเป็นชีวิตเสียเองสิ ธรรมะ ๔ เกลอ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ นี่ธรรมะ ๔ เกลอนี้ จะมาเป็นคู่ชีวิต ก็จะช่วยชีวิตไม่มีความทุกข์ คือมันมีความถูกต้องในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เดี๋ยวนี้เราไม่มี หรือมีไม่พอ มันก็ มันก็ต้องมีความทุกข์ แต่ถ้ามีธรรมะ ๔ เกลอนี้พอคุ้มครองได้ มันไม่มีความทุกข์
ฉะนั้นขอให้สนใจฝึกฝนอานาปานสติภาวนา จนให้ได้รับผลอย่างน้อยเป็นธรรมะ ๔ เกลอ ธรรมะ ๔ เกลอ ปัญญาเพิ่มไว้เท่าใด ก็ได้เก็บไว้เป็นคลัง พอเกิดเรื่องสติไปเอามาใช้เฉพาะเรื่อง เป็นสัมปชัญญะ สมาธิก็เพิ่มกำลังหรือเพิ่มน้ำหนักให้เพิ่มน้ำหนักให้ สิ่งเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ถูกต้องสมบูรณ์จนถึงที่สุด นี่อานาปานสติเมื่ออบรมถึงที่สุดแล้ว มันได้ผลอย่างนี้ เรียกว่าได้ผลเป็นสติปัฏฐานครบทั้ง ๔ ประการ ดังนั้นในรูปของอานาปานสติมันจึงมีสติปัฏฐาน ๔ ประการนั้น เป็นตัวแกน เป็นตัวหลัก เป็นตัวแกน
สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ อย่างคืออะไร คงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว แต่ก็คงจะมีผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มากเหมือนกัน ๔ อย่างคืออะไร ๔ อย่างคือเรื่องของกาย เรื่องของเวทนา เรื่องของจิต เรื่อง ของธรรม ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เรียกว่าธรรมเฉยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลนี่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าจะมองเอาใจความสำคัญก็ว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือนี้ เรียกว่าธรรม
เรารู้เรื่องกายดี เรื่องกายดีจนมีกายที่ดี ที่เหมาะสม ที่พร้อมที่จะทำหน้าที่ของกาย แล้วก็มีความรู้เรื่องเวทนาจนควบคุมได้ ไม่ตกเป็นทาสของเวทนา ซึ่งเป็นตัวการร้ายเวทนานี่ แล้วก็มีเรื่อง เรื่องจิต ความรู้เรื่องจิตจนบังคับจิตได้ แล้วก็มีความรู้เรื่องธรรมะคือสิ่งที่จะมาหลอกให้เรายึดถือ จนไม่ยึดถือ นี่ ๔ เรื่องนี้ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน สิ่งเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่กำหนดแห่งสติ สติมีที่ตั้งที่กำหนดเป็น ๔ อย่างนี้ ไอ้ ๔ อย่างนี้ ก็เลยเรียกว่าสติปัฏฐาน ถ้ามีเวลาพูดเท่านี้ก็พูดกันแต่ใจความ ใจความนั่นแหละสำคัญ ท่านจับใจความให้ได้ แล้วก็ไปขยายเอาเป็นเรื่องปลีกย่อยได้โดยง่าย ถ้าจับใจความไม่ถูกแล้วก็ฟุ้งซ่านหมดน่ะ
จะพูดกันก็ตั้งแต่คำว่าอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ความรู้นี้โบราณที่สุด เก่าแก่ที่สุด ดึกดำบรรพ์ที่สุด ไม่รู้ว่ามีมาตั้งแต่ครั้งไหน พอมนุษย์เริ่มพ้นจากความเป็นคนป่า มีปัญญาบ้างแล้ว ก็เริ่มรู้จักความสำคัญของลมหายใจ เขารู้จักจัดการเรื่องลมหายใจ เรียกว่ากาย กายคือกายเนื้อหนังนี่มันหล่อเลี้ยงอยู่ได้ด้วยลมหายใจ ไม่แยกกัน เรียกว่ากายลม คือลมหายใจ แล้วกายเนื้อ ผิวหนังร่างกายแฝดติดกันอยู่ เรียกว่ากาย กาย คนโบราณครั้งกระโน้นเขาก็รู้จักว่าจัดการลมหายใจถูกต้อง แล้วก็หมดความทุกข์ หมดความทุกข์
ลมหายใจนี่บางทีก็เรียกว่า ปราณ ในภาษาสันสกฤต เป็นภาษาไทยเรียกว่าปราณ เป็นภาษาบาลีเรียกว่าปาณะ ปาณะ คำว่าปาณะนั่นแหละคือคำว่าปราณ คำนี้หมายถึงลมหายใจก็ได้ หมายถึงสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตก็ได้ คนป่ารู้จักเสกเป่าคาถาให้ เรียกปราณ เอาปราณมาทำให้เข้มแข็งขึ้นมา ในนิทานเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ พอเขาเจ็บป่วยขึ้นมา เขาก็สำรวมสติใหม่เรียกปราณเข้ามา แข็งแรง ลุกขึ้นทำงาน ลุกขึ้นต่อสู้ได้ต่อไปอีกนะ นี่เขารู้จักใช้กำลังของปราณ ของปาณะ ของลมหายใจ
แต่ว่าในระยะเบื้องต้น เบื้องต้น เขาเหมาะสมกับคนที่ยังไม่รู้ถึงที่สุด แต่ว่าความรู้นี้มันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันขยายตัวเรื่อยมา ขยายตัวเรื่อยมา จนรู้จักวิธีทำให้ลมหายใจนี้มีประโยชน์ถึงที่สุด มีการเสกเป่าลมหายใจให้เด็กๆ หายเจ็บ หายป่วย หายความทุกข์ร้อนได้ตามสมควร นี่ก็เรียกว่าเพิ่มปราณให้ หรือว่าแก้ไขในเรื่องของปราณ มันยังไม่มาถึงเรื่องดับกิเลสนะ
แต่มันก็มีประโยชน์ที่จะดับความทุกข์เบื้องต้นได้ มีการเสกเป่าด้วยคาถาอาคม มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับปราณนี้ทั้งนั้นแหละ แต่มันค่อยๆ เจริญขึ้น เจริญขึ้น เจริญขึ้น จนเราใช้แก้ไขความร้อนของกิเลสหรือดับกิเลส แม้เพียงระยะสั้น คือว่าเมื่อมีร่างกายถูกต้อง มีลมหายใจถูกต้องนะ ความทุกข์มันลดไปได้มาก เรามีลมหายใจถูกต้อง มันระงับความเจ็บปวด ระงับอะไรได้มาก ระงับความดันโลหิตสูงก็ได้
ถ้ามีปราณ มีลมหายใจถูกต้อง ถ้ารู้ขึ้นมา รู้ขึ้นมา รู้ขึ้นมา จนมีความรู้ที่ทุกคนรู้ตามมากน้อย เรียกว่ารู้เรื่องอานาปานสติคงจะแพร่หลายมากนะในครั้งพุทธกาลนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังไม่เกิด ยังไม่สอน มันก็รู้แล้ว เพราะว่าเด็กชายสิทธัตถะ สี่ห้าขวบนั่นก็ไปทำอานาปานสติในพิธีแรกนาขวัญ มีคำว่าอานาปานสติใช้แล้ว เด็กชายอานาปานสติเล็กๆ รู้จักทำอานาปานสติ ดังนั้นเป็นที่เชื่อได้ว่า มันแพร่หลายในหมู่ประชาชน แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะตัดกิเลส
พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วตรัสรู้ ท่านพบความรู้นี้ถึงที่สุด จนเอามาใช้ตัดกิเลสเลย เป็นอานาปานสติชั้นสูงสุด ไว้จัดการข้อแรกเกี่ยวกับกาย คือกายเนื้อ หรือกายลมคือปราณก็ได้
เราจึงฝึกบทเรียนหมวดที่ ๑ เรียกว่า หมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือกายานุปัสสนาสติ จงฝึกลมหายใจตามวิธีที่จะมีให้ฝึก เมื่อฝึกได้ตามนั้นก็มีลมหายใจที่ดีที่ถูกต้อง แล้วร่างกายนี้ก็พลอยถูกต้อง พลอยมีกำลังอะไรขึ้นตามขึ้นมา เลยเป็นว่าชีวิตในด้านร่างกายนี้หมดปัญหา เรามีร่างกายที่ถูกต้อง มีร่างกายที่อยู่ในอำนาจของเรา บังคับให้เป็นอย่างไรก็ได้ แล้วก็จัดหรือทำให้ร่างกายนี้มีสมรรถนะสูงสุด เป็นที่ตั้งแห่งจิตต่อไป ต่อไป ให้ร่างกายมันถูกต้องเสียทีหนึ่งก่อน ก็ต้องฝึกวิธีอานาปานสติขั้นที่ ๑ เรื่องลมหายใจยาว ขั้นที่ ๒ เรื่องลมหายใจสั้น เรื่องกายทั้งปวง เรื่องทำกายสังขารให้สงบระงับ เป็น ๔ บทเรียน เสร็จเรื่องกาย
เสร็จเรื่องกาย แล้วก็จับเอาเวทนาเข้ามาเป็นบทเรียนสำหรับฝึก คำว่าเวทนานี้มันกว้างทั่วโลกครอบจักรวาล สัตว์มีชีวิตทั้งหลายตกอยู่ภายใต้อำนาจของเวทนา ตกเป็นทาสของเวทนา เพราะว่าชีวิตทั้งหลายทั้งคนและสัตว์ มันต้องการสุขเวทนา ฉะนั้นเวทนามันจึงเป็นนายเหนือหัวใจของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ถ้าควบคุมไม่ได้ มันเตลิดเปิดเปิงไปในทางผิด ควบคุมให้อยู่ในความถูก จึงต้องควบคุมเวทนา อย่าให้สุขเวทนาโดยเฉพาะกามารมณ์น่ะดึงพาไปได้ตามต้องการ ฉะนั้นควรควบคุมไว้ให้ได้ ให้เป็นเวทนาที่ถูกต้อง
ขอให้รู้ไว้เถอะว่า เวทนานี่คือสิ่งสูงสุดที่ลากคอลากหัวมนุษย์ไปตามความประสงค์ของเวทนา ต้องการเวทนาสูงสุดด้วยความโง่ก็เป็นเรื่องทางกาม ด้วยความฉลาดก็เรื่องระงับกิเลส ระงับกาม ระงับกิเลส เราเอาเวทนามาพิจารณา ปีติ เอ้อ มันยังฟุ้งซ่าน ความพอใจ ที่ยังฟุ้งซ่านเป็นปีติ ก็ยังดีกว่าไม่มีปีติ แต่ว่าถ้าปล่อยไปตามนั้นมันฟุ้งซ่าน นี่ถ้ามันเป็นความสุขคือสงบระงับลงไป เราก็รู้ว่าทั้งปีติและทั้งสุขนี้มันปรุงแต่งจิต ปรุงแต่งความนึกความคิด
ฉะนั้นควบคุมไว้ให้ได้ ควบคุมไว้ให้ดี ควบคุมจิตสังขาร คือ ปีติและความสุข ผู้ปฏิบัติต้องสร้างเวทนาขึ้นมาให้ได้ จะคำ นึงคำนวณเอาเวทนาซึ่งอยู่ภายนอกเข้ามาให้เกิดความรู้สึกก็ได้ แต่มันไม่ดีเท่ากับที่เอาเวทนาในภายในที่มีอยู่จริงในภายใน
เมื่อเราปฏิบัติหมวดที่ ๑ คือกายานุปัสสนาสำเร็จ มันจะเกิดความพอใจ พอใจเป็นปีติ ฟุ้งซ่าน ถ้าทำให้สงบระงับก็เป็นสุข เวทนานั้นแหละเอามาพิจารณาว่าเป็นจิตสังขาร ปรุงแต่งจิต ปรุงแต่งจิตแล้วควบคุมให้ได้ ให้ปรุงแต่งแต่ในทางที่ควรปรุงแต่ง หรือว่าไม่ให้ปรุงแต่งเสียเลยก็ได้
หมวดที่ ๒ ก็ยังมี ๔ บทเรียนอีกนะ คือ ๑ รู้จักปีติ ขั้นที่ ๒ รู้จักสุข ขั้นที่ ๓ รู้ว่าไอ้หมอนี่ปรุงแต่งความคิด ขั้นที่ ๔ ควบคุมมันให้ได้ ให้มันปรุงแต่งแต่ที่ควรจะปรุงแต่ง หรือไม่ให้ปรุงแต่งเสียเลยก็ทำได้ นี่อานาปานสติ หมวดที่ ๒ คือจัดการกับเวทนา จนเรามีอำนาจเหนือเวทนา เราเป็นนายเหนือเวทนา เช่นเดียวกับที่เราเป็นนายเหนือกาย เป็นนายเหนือกายในหมวดที่ ๑
ในหมวดที่ ๒ นี้ เราก็เป็นนายเหนือเวทนา เวทนาจะมาหลอกไม่ได้อีกต่อไป สุขเวทนาก็หลอกไม่ได้ ทุกขเวทนาก็หลอกไม่ได้ อทุกขมสุขเวทนาก็หลอกไม่ได้ ถ้าเราไม่หลงไอ้คุณค่าของเวทนา ใจความมันมีอย่างนี้ แต่การฝึกจริงนะมันยากหรือลำบาก หรือกินแรงงาน กินเวลามากกว่านี้ หมวดที่ ๒ จัดการกับเวทนาให้ชนะ
นี้หมวดที่ ๓ จิตโดยตรง จิตโดยเฉพาะ จะจัดการประพฤติปฏิบัติจนให้เป็นนายเหนือจิตให้จนได้ อย่าให้จิตเป็นนายเหนือ เหนือ เหนืออัตตภาพร่างกาย หรือว่าเหนือความรู้สึกของๆ เรานี่ เราจะให้สติปัญญามีอำนาจเหนือจิต อย่าให้จิตพาไปตามไอ้ความต้องการของจิต หมายความว่าตามธรรมดาจิตนี่เป็นจิตที่ไม่ถูกต้อง ยังเป็นอวิชชา ฉะนั้นทำจิตให้เป็นวิชชาเสียมันก็จะหมดปัญหา แต่เทคนิคมันมีละเอียดมากไปกว่านั้นจึงแบ่งออกเป็น ๔ บทเรียนอีกแหละ หมวด ๓ เรื่องจิต ก็แบ่งเป็น ๔ บทเรียน ๔ ข้อ
ข้อที่ ๑ มานั่งกำหนดดูจิตทุกชนิด ให้รู้จักจิตทุกชนิดว่ามันจะเป็นได้อย่างไรกี่มากน้อย ตั้งแต่ว่าจิตมีกิเลสหรือจิตไม่มีกิเลส จิตสงบระงับหรือไม่สงบระงับ จิตถูกปรุงแต่งหรือไม่ถูกปรุงแต่ง กระทั่งว่าจิตราคะ โทสะ โมหะ ให้รู้มันไปหมด เมื่อรู้จิตหลุดพ้น เดี๋ยวนี้เรายังไม่หลุดพ้น
แต่เรารู้จักความหลุดพ้นของจิตโดยการคำนวณ คือคำนวณว่าจิตมีราคะ ร้อนอย่างไร ร้อนอย่างไร คำนวณถ้ามันไม่มีร้อนเหล่านี้มันจะเป็นอย่างไร นั่นแหละสามารถจะรู้จักความหลุดพ้นได้โดยที่ยังไม่หลุดพ้น จิตมีโทสะเป็นอย่างไร เป็นอย่างไร เป็นอย่างไร ถ้ามันไม่มีโทสะเหล่านี้ มันจะเป็นอย่างไร นี่ก็รู้ รู้เรื่องของความหลุดพ้น
นี่จึงรู้จักทั้งฝ่ายที่เป็นทุกข์ยุ่งยากและฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ยุ่งยาก รู้จักจิตทุกชนิด ในที่สุดก็พอใจเลือกเอาจิตหลุดพ้น จึงพยายามที่จะทำจิตให้หลุดพ้น รู้จักจิตทั้งปวงแล้วก็เลือกเอาจิตที่ควรจะพอใจ คือจิตหลุดพ้น ก็มาทำพิธีบังคับจิต ฝึกฝนการบังคับจิต
ซึ่งบทเรียนขั้นที่ ๒ ก็ทำจิตให้ปราโมทย์ แล้วก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ แล้วก็ทำจิตให้ปล่อยวาง ต้องเอาความปราโมทย์เข้ามาเป็นเป็นข้อแรก คือปราโมทย์นั่นมันเป็นกำลัง การจะบรรลุธรรมะในพระพุทธศาสนาหมวดไหนก่อนก็ตาม จะต้องเอาปีติหรือสุขหรือปราโมทย์มานำหน้าสมาธิ หล่อเลี้ยงสมาธิ แล้วสมาธิก็หล่อเลี้ยงปัญญา
เราต้องรู้จักทำให้ปราโมทย์ ให้ปีติ ให้เป็นสุขโดยทางจิตนี้ก่อน จึงฝึกจิตปราโมทย์ ปราโมทย์โดยวิธีใดก็ฝึกไป ฝึกไปให้มันหล่อเลี้ยงจิต นี้มันก็มีประโยชน์ถมเถไป สามารถทำจิตปราโมทย์ เท่านี้มันก็น่าจะพอ แต่ยังไม่พอหรอก เอาอันนี้ไปหลงใหลในความปราโมทย์ แต่เอาเถอะทำให้ปราโมทย์ให้ได้ก่อน
ถ้าหมดขั้นที่ ๒ ของหมวดนี้ได้แล้ว ก็ทำขั้นที่ ๓ เป็นสมาธิดีกว่า หยุด หยุด หรือรวมกำลังจิต ไม่ปราโมทย์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ ไม่ ไม่ซ่าน ไม่ซ่านไปรอบตัว จิตนี้มีลักษณะเหมือนกับแสง มันซ่านออกไปรอบตัว จุดเทียนเข้าไว้แสงสว่างมันก็ซ่านไปรอบตัว เราไม่ให้ซ่านไปรอบตัวให้มันรวมเข้ามาอยู่ที่ตรงกลาง
กระแสจิตถูกรวมเข้ามาอยู่ตรงกลางก็เป็นสมาธิ เป็นสมาหิโต เป็นสมาธิ เหมือนกับแก้วนูนรวมแสงแดดลุกเป็นไฟ เดี๋ยวนี้ก็รวมกระแสจิตที่ฟุ้งซ่านรอบตัวมาเป็นกระแสจิตที่มีเป็นจุดเดียว ศูนย์กลาง ก็เลยเป็นจิตที่สูง ที่แรง ที่มีอำนาจสูงสุดเท่าที่จิตมันจะเป็นได้
ฉะนั้นจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาหิโต เป็นสมาธินี่มันก็มีประโยชน์เหลือหลาย ที่อธิบายความหมายของคำว่าตั้งมั่น ตั้งมั่นเป็นสมาธินี่ คือว่ามันสะอาด เวลานั้นไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์ นี่มันสะอาด แล้วก็มันรวมกำลังเป็นจุดเดียวเป็นจุดศูนย์กลาง เรียกว่าสมาหิโต จิตสะอาดเรียกว่า ปริสุทโธ จิตรวมกำลังหมดเรียกว่า สมาหิโต ตั้งมั่นรวมเป็นจุดเดียว แล้วก็มีผลเกิดขึ้นเป็นกัมมนีโย คือจิตนี้เดี๋ยวนี้ได้ที่ ได้ที่ ได้ที่ พร้อมที่จะทำหน้าที่
ภาษาสากลเรียกว่า Activeness, Activeness เราต้องการกันนักใช่ไหม ในการกระทำใดๆ ก็เราต้องการ Active คือว่องไวในหน้าที่ เดี๋ยวนี้จิตมี กัมมนีโย คือเหมาะสมแก่การงานเป็น Activeness ที่สุด ความหมายของคำว่าสมาธิ จิตเป็นสมาธินี่ ก็คือสะอาดมาก่อน แล้วก็รวมกำลังเป็นจุดเดียว แล้วก็พร้อมที่จะทำการงาน กัมมนีโย เหมาะสมที่จะทำการงานทางจิตอย่างไรก็ได้ ความเป็นสมาธิของจิตมันมีองค์ ๓ สะอาด แล้วรวมกำลังเป็นจุดเดียว แล้วพร้อมที่จะทำหน้าที่
อย่างแรกเรียกว่าปริสุทโธ อย่างที่ ๒ เรียกว่าสมาหิโต อย่างที่ ๓ เรียกว่ากัมมนีโย นี่องค์ทั้ง ๓ นี้เป็นองค์ประกอบของจิตที่เป็นสมาธิ นี่เราก็ฝึกจิตให้เป็นสมาธิอย่างนี้ จนกว่าจะได้ นี่ข้อที่ ๓ ของบทเรียนในหมวดนี้
นี้ข้อที่ ๔ ฝึกให้มันปล่อย มันยึดถืออะไรเอาไว้ มากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม ให้มันปล่อย ให้มันปล่อย ฝึกให้มันปล่อย คือมีสติรู้ทันว่าไปยึดเข้ามันจะกัดเอา ไม่ไปยึดอะไรนะ ให้มันปล่อย ฝึกให้มันปล่อย ปล่อยทุกอย่าง ปล่อยตั้งแต่ของเล็กน้อยจนถึงของใหญ่หลวง กระทั่งปล่อยตัวเอง ไม่มีตัวเอง ไม่ยึดถือตัวเอง ปล่อย ปล่อย
หมวดนี้จึงมีว่า รู้จักจิตทุกชนิด แล้วก็ทำจิตให้ปราโมทย์ตามต้องการ แล้วทำจิตให้เป็นสมาธิได้ แล้วก็ทำจิตให้ปล่อยสิ่งที่มันยึดถืออยู่ มีคุณค่าเท่าไรคุณลองคำนวณเอาดูว่า บทเรียนหมวดนี้เกี่ยวกับจิต เดี๋ยวนี้เราเป็นนายเหนือจิต เดี๋ยวนี้เราจะใช้จิตให้ทำอะไรก็ได้ มันวิเศษอย่างนั้น นี่หมวดที่ ๓ ของอานาปานสติคือจัดการกับจิต จนเราชนะจิต มีอำนาจเหนือจิต บังคับ บังคับได้ตามต้องการ แล้วทำจนหลุดพ้นไปเลยนะ
ทีนี้ก็หมวดที่ ๔ มาหยิบเอาเรื่องธรรมะทั้งหมดขึ้นมาพิจารณา ธรรมะทั้งหมดเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือทั้งนั้นแหละ ดีก็ยึดถืออย่างดี ชั่วก็ยึดถืออย่างชั่ว เล็กนิดเดียวก็ยึดถืออย่างเล็กนิดเดียว มันเป็นที่ตั้งของความยึดถือ จนจะพูดได้ว่าตั้งแต่ขี้ฝุ่นเม็ดเดียวไปถึงพระนิพพานเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือทั้งนั้นแหละ
คนโง่ก็จะไปยึดถือนิพพานเป็นตัวตน นี่จะไม่ยึดถือสิ่งใด โดยความเป็นตัวตน เงินทอง ข้าวของ ยศศักดิ์ อำนาจวาสนา ก็มีใช้อยู่อย่างไม่ต้องยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็จะไม่มีปัญหา ถ้าไปยึดถือ มันก็จะไปรักนั่น แล้วจะเกลียดนี่ แล้วจะกลัวนั่น อย่างที่ว่ามาแล้ว รักบ้าง โกรธบ้าง เกลียดบ้าง กลัวบ้าง ตื่นเต้นบ้าง วิตกกังวลบ้าง อาลัยอาวรณ์บ้าง
นั่นมันจะเกิดขึ้นมาถ้าไปยึดถือเข้า ทุกสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ สิ่งดีก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ สิ่งชั่วก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ สิ่งที่กล่าวไม่ได้ว่าดีหรือชั่วก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ จึงใช้คำว่าธรรมทั้งปวงไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ นี้ก็เอาธรรมทั้งปวงมาพิจารณาให้เห็นว่าไม่ควรจะยึดถือ
เอาธรรมทั้งปวงมาพิจารณาในขั้นที่ ๑ ว่า อนิจจานุปัสสี สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับเรานี้มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง แม้จะยึดถืออย่างไรมันก็ยังไม่เที่ยง มันยังเปลี่ยนแปลงอยู่นั่นแหละ ยึดถือในมือมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ในมือ นี่เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยง ดูให้มาก ดูให้มาก เห็นความไม่เที่ยง
ความดีก็ไม่เที่ยง ความชั่วก็ไม่เที่ยง ไม่ดีไม่ชั่วก็ไม่เที่ยง ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ไม่เที่ยง แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าบุญก็ไม่เที่ยง สวรรค์ก็ไม่เที่ยง นรกก็ไม่เที่ยง ให้มันเห็นไปตลอดทั้งข้างบนและข้างล่างว่า ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเรื่อย ไหลเรื่อย ไหลเรื่อยนี่ เมื่อเห็นความไม่เที่ยงเป็นข้อแรกขั้นที่ ๑ อยู่แล้ว
มันก็มาถึงขั้นที่ ๒ มันก็คลายความยึดถือสิ เห็นความไม่เที่ยงเท่าไรก็คลายความยึดถือเท่านั้น แต่ว่าเห็นความไม่เที่ยงนี้ มันเห็นอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้เอามากล่าวไว้ในคำพูดคำนี้ คำพูดคำนี้กล่าวแต่ไม่เที่ยงอย่างเดียวนะ แต่ถ้าเห็นไม่เที่ยง มันจะต้องเห็นเป็นทุกข์ เห็นความเป็นทุกข์ เห็นไม่เที่ยงเห็นความเป็นทุกข์ มันจะต้องเห็นอนัตตา เห็นไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เห็นอนัตตาแล้ว มันก็จะต้องเห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น เรียกว่าเห็น ธัมมัฏฐิตตา
เห็นธัมมัฏฐิตตามันก็เห็น ธัมมนิยามตา ว่ากฎของธรรมชาติมันบังคับอยู่อย่างนี้ มันจึงไม่เที่ยง แล้วมันก็จะเห็นอิทัปปัจจยตาอย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันมีเหตุมีปัจจัย แล้วมันต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วมันจะเที่ยงได้อย่างไรเล่า นี้มันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย
ฉะนั้นขอให้เห็นความไม่เที่ยงเถอะ เป็นจุดแรก เห็นความทุกขตา-ความเป็นทุกข์ อนัตตา-ความไม่ใช่ตน ธัมมัฏฐิตตา-มันเป็นตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ธัมมนิยามตา-มีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ อิทัปปัจจยตา-เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
พอเห็นอย่างนี้แล้ว อ้อ มันมีตัวตนที่ไหนละโว้ย มันมีแต่ไหลเรื่อยอย่างนี้ ก็เรียกว่าเห็นสุญญตา-ว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตนนั่นนะเป็นเช่นนั้นเอง เห็นตถาตา-เป็นเช่นนั้นเอง พอเห็นตถาตาแล้วมันก็หยุดการปรุงแต่ง เห็นอตัมมยตา อตัมมยตา-ปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป เห็นความไม่เที่ยงนะมันมีปฏิกิริยามีผลสืบต่อจนถึงอตัมมยตา แต่ว่าในกรณีนี้เราไม่ได้หมายถึงนั่น
เราหมายถึงแต่เห็นไม่เที่ยง จนพอ เพียงพอที่จะคลายความยึดถือในสิ่งที่ไม่เที่ยง เรียกว่า วิราคานุปัสสี เป็นบทเรียนข้อที่ ๒ แห่งบทที่ ๔ วิราคา แปลว่า จางออก จางออก ที่มันเคยยึดมั่นถือมั่น มันจางออก จางออก ที่มันเคยย้อมติดแน่นนะ มันเริ่ม เริ่มละลายจางออก จางออก เห็นความไม่เที่ยงเท่าไร มันก็จะคลายออกเท่านั้น เห็นความไม่เที่ยงถึงที่สุด มันก็คลายออกถึงที่สุดนะ เมื่อมันคลายออก คลายออก เดี๋ยวมันก็หมดนะ นี่จึงเห็นนิโรธานุปัสสี ดับไปแล้วแห่งความยึดมั่นถือมั่น
เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ก็ถือว่าสิ่งทั้งปวงมันก็ดับไปแล้ว ดับไปแล้วเพราะเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่นมัน มันไม่มีความหมายแก่เรามันจึงมีค่าเท่ากับดับไปแล้ว โลกนี้ทั้งโลกก็ดับไปได้ ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นมัน เรียกว่านิโรธานุปัสสี นิโรธานุปัสสี เห็นความดับแห่งความยึดมั่นถือมั่น พร้อมกันนั้นก็เห็นความดับแห่งความทุกข์ นี่บทเรียนที่ ๓ ข้อที่ ๓ ของหมวดที่ ๔ ยังเหลืออีกข้อ
ข้อสุดท้ายเป็นบทเรียนขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ ๔ ก็ว่า โอ้ ดู ดู ดู สุดท้ายดูสิ เอ้า หมดปัญหาแล้วโว้ย หมดปัญหาแล้วโว้ย เรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี คือสลัดคืน สลัดคืน สลัดคืน ทิ้ง ปล่อยหมด เคยโกง คดโกงเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกู มาเป็นของกู เดี๋ยวนี้เลิก เลิก เลิก เป็นของธรรมชาติไปตามเดิม นี้ความทุกข์เคยเอามายึดถือไว้เป็นของกู คืน คืน คืน ไม่มีความทุกข์
ก็คือดูผลสำเร็จสุดท้ายของการปฏิบัติ ว่าเดี๋ยวนี้คืนหมด ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เป็นปัญหา ความทุกข์ก็ดับไปโดยสิ้นเชิง เช่นว่าเราเคยหลงใหลในทรัพย์สมบัติ อำนาจ วาสนา บารมี เราก็มาพิจารณาดู โอ้ มันไม่เที่ยง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย โยกโคลง หลอกลวง ก็เริ่มคลายความยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สมบัติ อำนาจ วาสนา บารมี คลาย คลาย คลาย เดี๋ยวมันก็หมด ก็หมดความยึดมั่นถือมั่น ในทรัพย์สมบัติ อำนาจวาสนา บารมี ก็ดูสิ โอ้ หมดแล้ว หมดแล้ว ทิ้งไปหมดแล้ว ทิ้งไปหมดแล้ว นี่อานาปานสติข้อที่ ๔ ของหมวดที่ ๔ คือหมวดสุดท้าย
หมวดที่ ๑ เรื่องกาย ก็มี ๔ หัวข้อ มี ๔ บทเรียน หมวดที่ ๒ เรื่องเวทนา ก็มี ๔ บทเรียน หมวดที่ ๓ เรื่องจิต ก็มี ๔ บทเรียน หมวดที่ ๔ เรื่องธรรมทั้งปวงที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ก็มี ๔ บทเรียน ถ้าจำหัวข้อทั้ง ๔ นี้ ไว้ให้ดีไม่เสียหลาย ไม่เสียหลายหรอก ไม่ครึคระงมงาย จะฉลาดในทางธรรมะโดยเร็ว
หมวดที่ ๑ คือหมวดกาย มีลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น มีกายทั้งปวง และก็มีดับกายสังขาร
วดที่ ๒ เวทนา มีปีติ มีสุข มีจิตสังขารคือไอ้ ๒ อันนั้นนะเป็นจิตสังขาร แล้วระงับอำนาจ ระงับกำลังของมันเสีย เรียกว่า ดับจิตสังขาร ทำให้จิตสังขารระงับอยู่ มันก็มี ๔ ข้อ
หมวดที่ ๓ จิต รู้จักจิตทั้งปวง เป็นขั้นที่ ๑ แล้วบังคับฝึกให้มันปราโมทย์ ก็เป็นกำลังแห่งการปฏิบัติ แล้วบังคับให้หยุด ให้เป็นสมาธิ แล้วบังคับให้คล่องแคล่วในการทำหน้าที่ ให้เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ เป็นกัมมนียะ มันก็มี ๔ ข้อ รู้จักจิต รู้จักบังคับให้ปราโมทย์ รู้จักบังคับให้รวมกำลัง รู้จักบังคับให้ปล่อย ให้เหมาะสมที่จะทำการงาน หรือว่าจะเอากันอีกอย่างหนึ่งก็ว่ารู้จักจิต ก็ว่ารู้จักบังคับให้ปราโมทย์ บังคับให้มีเป็นสมาธิ แล้วบังคับให้ปล่อย นี่เอาเพียง ๔ อย่าง อย่างนี้ก็ง่ายดี
ทีนี้หมวดที่ ๔ ธรรมะ ธรรมทั้งปวงไม่ว่าอะไร ล้วนแต่ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น คนโง่จะยึดมั่นถือมั่นได้ทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรให้เป็นตัวกูของกู ทีนี้ก็มาดูว่าทั้งหมดนั้นนะมันไม่เที่ยง เพราะว่ามันมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง มันก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ปรุงแต่ง นั่นคือมันไม่เที่ยง พอเห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยง มันหลอกลวง มันก็คลายความรัก คลายความยึดมั่นถือมั่น ไอ้สิ่งที่เราเคยหลงรักไม่ว่าอะไรก็ตาม มันจะคลายความหลงรัก เรียกว่าวิราคะ เห็นอนิจจังแล้วก็เกิดวิราคะ เมื่อมีวิราคะเป็นไป เป็นไป เป็นไปถึงที่สุด มันก็เกิดนิโรธะ ดับหมดแห่งความยึดมั่นถือมั่น แล้วมารู้ส่งท้ายเรื่องอีกทีว่า โอ้ อย่างนี้จบเรื่อง จบเรื่อง จบพรหมจรรย์ จบพรหมจรรย์ หมดปัญหา เพราะว่าโยนทิ้งไปหมดแล้วไอ้สิ่งที่เป็นปัญหา
ท่านพยายามทบทวนไอ้ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ข้อนี้ให้เข้าใจแจ่มแจ้งอยู่เสมอ แล้วมันจะเป็นอัตโนมัตินะ ต่อไปนี้จะค่อยๆ เป็นไปเอง ค่อยๆ เป็นไปเองตามความจริง หรือตามระบบของความจริงที่ธรรมชาติมันกำหนดไว้ มันจะค่อยๆ เป็นไปเอง เพราะมันมีหนทางนะ จึงขอร้องว่า จงกำหนดธรรมะ ๑๖ อย่างนี้ หรือบทเรียน ๑๖ ขั้นนี้ ให้คล่องแคล่ว คล่องแคล่ว แต่ละวันเอามานึกถึงครั้งหนึ่ง รอบหนึ่งก็ยังดี แทนที่จะสวดมนต์ภาวนาว่าออกมา ก็ให้มันนึก ให้มันนึก ให้มันครบทั้ง ๑๖ ข้อ
ถ้าเอามาสวดเป็นสวดมนต์ได้ก็ยิ่งดี สวดอานาปานสติภาวนาได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้จำแม่นยำ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ข้อ มีอยู่อย่างนี้ ทีนี้ก็เริ่มการฝึกให้เป็นไปตามนั้นทั้ง ๔ หมวด ที่เรามาฝึกกันที่นี่ ๔๕ วันนี้ มันไม่ทันหรอก ไม่พอหรอก แต่ว่าพอที่จะรู้วิธีว่าจะฝึกอย่างไร ดังนั้นขอให้ท่านพยายามรู้วิธีที่จะฝึก อย่างไรเสียภายในเวลา ๔๕ วัน ก็เก็บไปฝึกที่บ้านหรือที่ไหนก็ตาม ไปต่อ ต่อ ต่อไปถึงที่สุด เพราะเวลาเท่านี้มันทำได้เท่านี้ ฝรั่งมันมา ๑๐ วันมันก็ทำได้เท่านี้
รู้วิธีที่จะไปทำต่อไปอย่างไร เบิกบานทางธรรม เป็นความเบิกบานที่ไม่รู้จักโรย เรามีความรู้เรื่องที่สำคัญที่สุด ๒ เรื่องแล้ว คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่เป็นตัวชีวิต แล้วก็เรื่องที่จะควบคุมปฏิจจสมุปบาท คืออานาปานสติ
ภาวนา มี ๒ เรื่องเท่านั้นน่ะ รู้ปฏิจจสมุปบาท เห็นชัดว่าทุกข์เกิดอย่างนี้ ทุกข์ดับอย่างนี้ ก็ทำให้มันได้ แต่นี้มันทำไม่ได้นี่ มันต้องฝึกสิ่งที่จะช่วยทำให้ได้ก็คืออานาปานสติ พอฝึกอานาปานสติแล้วมันได้ผลมหาศาล แต่ที่สำคัญที่สุดที่จะแยกเอามาใช้ประโยชน์ก็คือ สติอย่างหนึ่ง ปัญญาอย่างหนึ่ง สัมปชัญญะอย่างหนึ่ง สมาธิอย่างหนึ่ง นี่เรียงลำดับใหม่ตามที่จะใช้ในการทำหน้าที่
ถ้าเรียงลำดับไปใช้ในห้องเรียน สำหรับเรียนในห้องเรียน มันเรียงลำดับอย่างอื่นตามใจก็แล้วกัน แต่นี่เป็นนักปฏิบัติที่จะใช้ปฏิบัติกันโดยตรง เราจะเรียงลำดับตามเหตุการณ์ที่มันมีอยู่จริง ที่จะต้องปฏิบัติอยู่จริง เราต้องมีสมาธิมากแล้วก็เร็ว เร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ แต่ว่าสมัยโบราณเขาใช้คำเปรียบด้วยลูกศร สติ สตินี่คำเดียวกับ สร แปลว่าลูกศร ความเร็วแห่งลูกศรเป็นอย่างไร เอามาใช้เป็นความเร็วแห่งความระลึก ระลึกเร็วทันควัน ไม่ปล่อยให้โอกาสล่วงไป
มีสติ มีสติ มีสติก็สามารถที่จะไประลึกถึงปัญญา ถ้าเราฝึกอานาปานสติอยู่ มันมีปัญญา ปัญญา ปัญญา ปัญญาเพิ่มขึ้น เก็บไว้เป็นคลังอย่างหนึ่ง พอเกิดเรื่องร้ายขึ้นมา สติเร็วอย่างลูกศรหรือสายฟ้าแลบไปเอาปัญญามา ไปเอามาอย่างหนึ่งที่เหมาะ สติเป็นผู้เลือกเอามาให้เหมาะ ไม่เอามาทั้งหมด ถ้าทั้งหมดเรียกว่าปัญญา เอามาเฉพาะที่จะใช้แก้ปัญหาเรียกว่าสัมปชัญญะ คัดเลือกดูให้ดี ให้ถูก ให้ตรง ให้ครบ ให้ ให้ครบ ให้พร้อม เรียกว่าสัมปชัญญะ
ปัญญาที่เก็บไว้ในคลังนั้นเรียกว่าปัญญา ปัญญาที่เอามาทำหน้าที่เฉพาะเรื่องนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ เรียกว่าปัญญาในหน้าที่ ปัญญาเก็บไว้เรียกว่าปัญญา ปัญญาในหน้าที่เรียกว่าสัมปชัญญะ
เมื่อปัญญาในคลังมีพอก็เลือกเอามาได้ตามต้องการ มาเป็นสัมปชัญญะ มาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ เมื่อเกิดความยากลำบาก จะต่อสู้กับเหตุการณ์คือกิเลส เป็นต้น แล้วมันก็มักจะท้อแท้เพราะว่ากำลังไม่พอ ก็เป็นสมาธิ ทำให้เป็นสมาธิขึ้นมา เพราะว่าเมื่อฝึกอานาปานสตินั้นมันมีสมาธิ ได้สมาธิ เป็นความเป็นผลได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน สมาธิ สมาธินี้เป็นกำลังมาหนุนสัมปชัญญะให้เข้มแข็ง ให้คมกล้า จะตัดข้าศึกคือปัญหาออกไป เรียกว่าธรรมะ ๔ เกลอ
ถ้าท่านมาฝึกอานาปานสติจนได้ธรรมะ ๔ เกลอแล้วก็คุ้มค่า เกินค่า เกินค่า ขอให้ได้ธรรมะ ๔ เกลอนี่กลับไป แม้น้อยๆ ก่อนแล้วก็ค่อยมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น สูง สูง สูงขึ้นไป จนเต็มอัตราของมัน มีธรรมะ ๔ เกลอเป็นคู่ชีวิต ก็จะเป็นพุทธบริษัทสมชื่อ เป็นพุทธบริษัทที่ไม่มีความทุกข์ รวมเรียกกันสั้นๆ ว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน ก่อนนี้เป็นผู้ไม่รู้ โง่เขลาและหลับอยู่ด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ไม่เบิกบาน เบิกบานไม่ไหว
เดี๋ยวนี้รู้ที่ควรจะรู้ โดยเฉพาะรู้ปฏิจจสมุปบาทนี่ เรียกว่าตื่นจากหลับ คือกิเลส คือความไม่รู้ ไม่มีกิเลสครอบงำ มันก็เบิกบาน เบิกบาน เบิกบานทางธรรมะนี่พิเศษนะ คือเบิกบานที่ไม่รู้จักโรย ดอกไม้บานเดี๋ยวก็โรย จะเบิกบานโดยธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมันเบิกบานนิรันดร เบิกบานไม่รู้จักโรยคือพระนิพพาน
เบิกบานที่ไม่รู้จักโรยนั่นคือพระนิพพาน มีลักษณะแล้วแต่จะมอง มองในความสวยก็สวยที่สุด มองในความเย็นก็เย็นที่สุด มองในแง่ของความไม่มีทุกข์ก็ถึงที่สุด มองในแง่ของเสรีภาพ หลุด หลุดพ้น ก็หลุดพ้นที่สุด มันที่สุดอยู่ที่ความเบิกบาน เป็นพระนิพพานของพระนิพพาน เรื่องมันก็จบ
รู้ปฏิจจสมุปบาทแล้วควบคุมได้ด้วยอานาปานสติ เอาชนะความทุกข์ทั้งปวงได้ จึงขอสรุปความสั้นๆ เตือนว่า ท่านจงมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทให้พอสมควร เดี๋ยวนี้เรียน เรียนรู้ในเบื้องต้นสำหรับไปศึกษาต่อไปให้สม ให้เต็มที่ มีความรู้ให้เต็มที่ แล้วก็ฝึกสิ่งที่จะช่วยให้ปฏิบัติได้ตามนั้นให้เต็มที่ คืออานาปานสติ ฝึกอานาปานสติอย่างน้อยก็ขอให้ได้ธรรมะ ๔ เกลอ ธรรมะ ๔ เกลอ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ มองเห็นชัดเจนไม่ใช่ว่าท่องจำอย่างเดียว สติไปเอาปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์เอาสมาธิเพิ่มกำลังให้ ชนะ ชนะ ชนะ พุทธศาสนาต้องเรียกว่าศาสนาแห่งชัยชนะ ไม่พ่ายแพ้แก่กิเลสและความทุกข์ มันจะไม่คุ้มค่าอย่างไร เสียเวลามาบ้าง เสียเงินบ้าง เหนื่อยบ้าง อะไรบ้าง มันก็ได้ผลเกินค่า ขอให้ท่านทำให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายนี้ แล้วก็มันจะถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ทุกคนจะซ้องสาธุการ
ถ้าผีสางเทวดามีจริงมันก็จะพลอยแซ่ซ้องสาธุการ ว่ามันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ดีแล้ว ดีแล้ว อนุโมทนา อนุโมทนา ถ้าไม่มีอะไรมาช่วย เราก็ทำของเราเอง เราถูกต้องของเราเอง เราอนุโมทนาของเราเอง เราชื่นชมโสมนัสของเราเอง เพราะว่าสามารถจะดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ คำพูดนี้น่าหัวเราะ แต่จริงที่สุด มีประโยชน์ที่สุด เคยมีชีวิตที่กัดเจ้าของ เอ้า เลิก เลิก กลายเป็นชีวิตที่ไม่อาจจะกัดเจ้าของ เพราะมี ๔ เกลอ ๔ เกลอควบคุมอยู่ ชีวิตไม่อาจจะกัดเจ้าของ
จงทำให้สำเร็จทันแก่เวลาด้วยความไม่ประมาท เดี๋ยวมันจะเข้าโลงเสียก่อนจะพบกับสิ่งนี้ ขอให้ได้พบสิ่งนี้เสียก่อนแต่ที่จะเข้าโลง นั่นแหละคือความไม่ประมาท ไม่ประมาท ซึ่งเป็นพระพุทธประสงค์ว่าท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม จะเรียกว่าสมบูรณ์อยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ท่านรีบทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ก็สนองพระพุทธประสงค์เป็นลูกของพระพุทธเจ้าที่ดี รับมรดกธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ เพราะว่าสามารถเอาชนะความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วควบคุมได้ด้วยอานาปานสติ
อาตมาใคร่ครวญอย่างยิ่งแล้วเห็นว่า ๒ เรื่องนี้พอ ๒ หัวข้อนี้พอ รู้ปฏิจจสมุปบาท ปฏิบัติอานาปานสติให้ควบคุมปฏิจจสมุปบาทได้ ๒ เรื่องนี้พอ เรื่องอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล มันเป็นบริวารของ ๒ เรื่องนี้ มันไม่รวมอยู่ใน ๒ เรื่องนี้ จงสนใจในความหมายของ ๒ เรื่องนี้ รู้ปฏิจจสมุปบาท แล้วปฏิบัติอานาปานสติ แล้วก็เตรียมพร้อมสำหรับที่จะเป็นบิดามารดา ที่เป็นบูรพาจารย์ของลูก เพราะว่าลูกเกิดมาจากท้องมารดา ไม่มีความรู้อะไรเลย
จงจัดอะไรให้มันถูกต้องในบ้านในเรือน ให้มันมีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องทางศีลธรรม วัฒนธรรม อย่าให้เป็นเด็ก อย่าให้เด็กๆ ของเราหลงใหลไปในเรื่องต่างๆ ที่มันหลงใหลกัน หลงสวย หลงงาม หลงเอร็ดอร่อย หลงจนพ่อแม่น้ำตาตก เรื่องจะจบหรือไม่จบก็คิดดูเอง มันไม่มีปัญหาเหลือ เรื่องบวกก็ไม่เป็นปัญหา เรื่องลบก็ไม่เป็นปัญหา เรื่องสุขก็ไม่เป็นปัญหา เรื่องทุกข์ก็ไม่เป็นปัญหา อยู่เหนือปัญหา เดี๋ยวนี้ไม่มี ไม่มีปัญหา ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ อยู่เหนือนั่น จิตว่าง จิตปกติ จิตคงที่ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ นั่นแหละคือความหลุดพ้น
ถ้ายังต้องดีใจ เสียใจ ร้องไห้ หัวเราะอยู่นั่นน่ะ ยังติดคุกของชีวิต ติดคุกของอัตตา ยังติดตะรางติดคุกของอัตตา ยังไม่ได้หลุดพ้น ถ้าหลุดพ้นมันก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ต้องหัวเราะ ต้องร้องไห้ ต้องดีใจ ต้องเสียใจ เรียกว่าอยู่เหนือโดยประการทั้งปวง เรียกว่าวิมุตติ หลุดพ้น แล้วก็ไปสู่พระนิพพาน ภาวะของความดับเย็นแห่งความร้อนคือความทุกข์ นิพพานไม่ได้แปลว่าตายนะ มันสอนกันผิดๆ ลัทธิอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนาอาจจะสอนว่านิพพานคือความตายที่ไม่เกิดอีก ตามใจเขา ช่างหัวมัน
ในพุทธศาสนา นิพพานคือเย็นแห่งความร้อน ความร้อนคือกิเลสและความทุกข์ ไม่ต้องตาย ที่นี่เดี๋ยวนี้มีนิพพานได้ ถ้าไม่มีกิเลสและไม่มีทุกข์ก็เรียกว่ามีนิพพานได้ อย่าไปฝากไว้กับตายแล้ว มันจะได้ประโยชน์อะไรมันตายแล้ว เย็นกันที่นี่ เย็นกันเดี๋ยวนี้ เพราะว่ามีความรู้มีการปฏิบัติเพียงพอ ก็มีพระนิพพาน พอกพูนหนทางแห่งพระนิพพานด้วยการศึกษาอานาปานสติและการปฏิบัติ ศึกษาและปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทและอานาปานสติทั้ง ๒ เรื่องพร้อมกันไป เคียงคู่กันไป รู้และปฏิบัติให้ได้
ขอบพระคุณท่านทั้งหลาย ๒ ชั่วโมงแล้ว อดทนฟังด้วยความอดกลั้นอดทน ขอบคุณที่เป็นผู้ฟังที่ดี และช่วยทำให้อาตมาเป็นคนมีประโยชน์ ไม่เป็นหมัน ขอบคุณ ขอบคุณ ท่านทั้งหลายไม่ต้องขอบคุณอาตมานะ อาตมาเสียอีกขอบคุณท่านทั้งหลายที่ช่วยทำให้อาตมาเป็นคนมีประโยชน์ เป็นคนมีประโยชน์ ขอบคุณ ขอบคุณ เป็นผู้ฟังที่ดีตลอดเวลา ๒ ชั่วโมงแล้ว
ขอให้ทุกท่าน ทุกท่าน ประสบความสำเร็จตามที่หวังมาว่าจะได้รู้อะไร จะได้ปฏิบัติอะไร จงให้ได้รับผลอันนี้ไปตามสมควร อย่างน้อยก็เป็นเค้าเงื่อนเบื้องต้น แล้วไปศึกษาปฏิบัติต่อไป ต่อไป ต่อไป เพื่อจะช่วยลูกช่วยหลานให้มีความรู้ถูกต้องไว้เสียตั้งแต่ต้นด้วย จะเป็นผู้นำครอบครัวที่ดี จะพากันไปสู่พระนิพพานทั้งหมดนะ ขอให้สมประสงค์และมีความถูกต้องสะดวกดายอยู่ในการทำปฏิบัติธรรมะ ทำหน้าที่ให้เป็นปฏิบัติธรรม ทำการงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม ทุกอย่างเป็นการปฏิบัติธรรมไปหมดเลย สนุกไปหมด แล้วก็สุขสวัสดีในลักษณะนี้ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย.

ไม่มีความคิดเห็น: