นี่คือภาพในความคิด ผมลงไป 5 รอบ จนได้สีที่ถูกใจ คือสีในขวดมันสว่างเกินไป ผมเล่นไป 3 รอบหวังให้มันเข้มขึ้น ก็ไม่เป็นผล รอบสี่ผมใส่สีดำไปนิด ดูดีกว่าเดิมแต่ยังไม่โดนใจ รอบที่ห้าจึงเพิ่มสีดำไปอีกหน่อย งานเครื่องถมลงยามักจะใส่สีจนเต็มขึ้นมา ก็แล้วแต่คุณชอบ แต่ผมชอบแค่นี้ มันมีมิติ มีอะไรให้ดูมากกว่า
สีน้ำเงินมุกจากขวดนาคา ที่ให้สีสว่าง หวานแหววเกินไปสำหรับผม สีน้ำเงินมุกผสมแม่สีดำบีเท่าหัวเข็มหมุด 1 หัว ดีขึ้น แต่ก็ยังฟ้าเกินใจไปนิด
สีน้ำเงินมุกผสมแม่สีดำบีเท่าหัวเข็มหมุด 2-3 หัว ได้สีครามเข้มแบบที่ชอบ
แต่ผมยังสงสัย ถ้าใช้สีมุกดำมาผสมมุกน้ำเงิน คงจะได้ประกายสวยกว่านี้ แต่ผมไม่มี จะลอง ต้องซื้อ(ไอ่ห่า ไหนว่าจะเลิกชอปปิ้ง) ผมเดาว่าถ้าให้ความร้อน สีจะเปลี่ยนได้อีก เตาอบขนมน่าจะช่วยได้ แต่ผมว่ามันโอเคแล้ว เลยไม่คิดเล่นต่อ
กำไลนี่ผมสั่งจากจีนมา 500 กว่าบาท สีเดิมรมดำ สวยสัสๆ จนอยากใส่ ความหมายก็โอเค เป็นแนวจีนผสมธิเบตเกี่ยวกับวัชระและสัตว์เทพทั้งสี่ จะใส่อะไรให้ศึกษาก่อนนะคุณ(เดี๋ยวจะซวย) นี่ไม่ใช่ของมู (กู แน่กว่า) แต่เป็นสิ่งที่ผมรู้จักและเข้าใจดี เป็นพุทธมหายานที่ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมเรื่องเทพเจ้า ซึ่งนิยมในจีนและญี่ปุ่น(เราก็มีพุทธแบบไทยๆ อย่าไปว่าเขาเลย) วัตถุประสงค์เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่จะมารังควาน ขวางทางบรรลุมรรคผลนิพพาน! คุณสมบัติคงคล้ายเซนต์ไมเคิล หรือพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ผมไม่ได้คาดหวังผลอะไร ประเด็นหลักคือมันสวยจนต้องมี (เหมือนกิ๊บสันอ่ะ แค่ราคาต่างกัน 4-5 ร้อยเท่า) รูปทรงบางๆ น่าจะพอใส่ได้ สำหรับคนขี้รำคาญที่ไม่เคยใส่อะไร ผมเลยปรับให้พอดีข้อมือ เพื่อไม่ให้มันเกะกะ ขยับไปมา หรือไปเกี่ยวอะไร ก็ไม่ได้ถอดมาหลายเดือน
แต่นานไปมันลอกว่ะ คงสบู่นั่นแหละ กลายเป็นสีเงินวาววับที่ผมรับไม่ได้ ถ้าพยายามจะรมดำใหม่ อีกพักคงเป็นเหมือนเดิม ผมจึงคิดถึงการลงยา เมื่อไปหาอ่าน สรุปได้ว่ามี 2 ประเภทให้เลือก คือลงยาร้อนกับลงยาเย็น ที่ยุ่งยากแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์และวัสดุที่ต้องลงทุนซื้อ คือผมจะทำแค่นี้แหละ มันดูจะไม่คุ้มกับราคา 1800 ค่าชุดลงยาเย็น นอกจากคุณมีแพลนจะรับทำเป็นเรื่องเป็นราว
แล้วมันมีอะไรง่ายกว่านั้นไหม ที่ให้ผลแบบเดียวกัน ผมนึกถึงสีอะคริลิคอีมัลชั่นที่น้องผมซื้อมาให้ เตรียมไว้เพื่อซ่อมสีรูปปั้นแม่พระที่หลุมฝังศพป้า มีสีมุกทองแดง มุกทอง และดำแม่สี เพราะภาพในความคิดผมเป็นสีทองแดงกึ่งบรอนซ์โบราณที่มีเงาเหลื่อมสีดำ เคร่งขรึม ทรงพลัง แรกติดตั้ง แม่พระองค์นี้มีสีปกติเหมือนในวัด นานไปก็ซีดจางเพราะโดนแดดแผดเผา ผมแก้ไขไปครั้งนึงด้วยสเปรย์สีบรอนด์เงินสำหรับพ่นมอเตอร์ไซค์ ที่ว่าตากแดดตากฝนได้ แต่นานไปก็แตกร้าว ราวเครื่องเคลือบเปลือกไข่สมัยราชวงศ์หมิง
น้องผมบอกว่า สีอะคริลิคจะจับพื้นผิว แผ่เป็นฟิลม์ยืดหยุ่น หุ้มไปบนผิวชิ้นงาน มันจะไม่แตกลายงา เขาเล่นกับรูปปั้นเทพเจ้ากวนอูของเมียที่บ้าน! จึงเป็นเหตุให้ผมคิดเอามาซ่อมพระ งั้นมันน่าจะใช้ได้กับกำไลผมด้วย ตามทฤษฎี!
แต่กับแม่พระที่ยืนตากแดดในสุสานทุกวันเป็นปีๆ จะแตกลายหมิงอีกไหม ก็ต้องลอง เรายังไม่ทำเพราะติดหน้าฝน ความชื้นจะทำให้งานไม่สมบูรณ์ น้องผมเล่าว่า เสาโทรศัพท์ก็ใช้สีแบบนี้หุ้มกันสนิม เขาเคยเจอกรณีทาเสร็จตอนบ่าย กลางคืนฝนตก เช้าสีละลายลงมาเจิ่ง ต้องล้างพื้นด้วยน้ำแรงดันสูง ทาใหม่ แกลลอลห้าลิตร 3800 (ถ้าจำไม่ผิด) น่าสงสารผู้รับเหมา แต่ถ้างานไม่เนี๊ยบ กูก็ไม่เซนต์
สิ่งที่คุณต้องมี ถ้าคิดจะเล่นแบบผม (ตั้งงบ 100 เดียวพอ เก็บตังค์ไว้ซื้อกีต้าร์)
1. สีอะคริลิคอีมัลชั่นที่เป็นสีมุก ถ้าต้องการเลียนแบบการลงยา จะมีสีที่นิยมใช้ไม่กี่สี คือ แดง เขียว น้ำเงิน เหลือง ความอ่อนแก่แล้วแต่ร้าน ซึ่งผสมไม่เท่ากันให้เกิดเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ก็มักออกแนวสว่างไสว ผมไม่เล่านะ ไปหาอ่านเอา มันไม่ได้ยาก แต่เกินความจำเป็น
กรณีที่มันเป็นของๆ เรา เราอยากทำเอง ก็เป็นเรื่องของเราใช่มะ เอาที่เราชอบๆ นั่นแหละดีที่สุด จงกล้าที่จะมีอัตลักษณ์ ไม่ใช่ก๊อปปี้ไอดอลไปเสียทุกสิ่ง จนสูญเสียความเป็นตัวตน
ถ้าคุณชอบสีสว่าง สีมุกขวดเดียวพอ มีขายทั่วไปตามร้านเครื่องเขียนหรือร้านออนไลน์ ผมไม่สะดวกร้านเครื่องเขียน ก็เล่นออนไลน์เสียค่าส่งไป ดังนั้นคุณลองนึกภาพสีที่คุณอยากเห็น แล้วประเมินเอาว่าขวดเดียวจบไหม จะได้ไม่ต้องเสียเวลาบวกค่าส่งกับสีอีกขวด
ผมเจอสีมุกนาคาขนาด 15 ml ราคา 40 กว่าบาท ค่าส่ง 30 ส่วนสีดำผมมีอยู่แล้ว ก็จบที่งบไม่ถึงร้อย แต่ถ้าคุณลองผสมสีในความคิดแล้วเห็นว่าขวดเดียวไม่จบ ก็คงเกินร้อยไปนิดๆ ผมเลือกสียี่ห้อนี้เพราะผมมองหาสีเข้มๆ ดูจากหน้าเวบในคอม มันดูเข้มสุด คุณลองเทียบด้วยตาคุณ(อย่าเชื่อผม) ความงามในความคิดของแต่ละคน เป็นรสนิยมที่แตกต่าง
2. พู่กันขนาดเล็ก อันนี้ผมมีอยู่เดิม ซื้อไว้ตอนคิดจะหัดเขียนอักษรจีน ถ้ายังไม่มีก็หาได้ทั่วไปตามร้านเครื่องเขียน หรือแผนกเครื่องเขียนในห้าง ราคา 10 กว่าบาท หรืออะไรก็ตามที่เอาสีโปะลงไปในร่องได้ ปาดได้ ก็ใช้ได้หมด
3. ฝาขวดน้ำสิงห์ขวดใหญ่ เมื่อพบว่าต้องผสมสี ผมก็มองหาอะไรเล็กๆ หลังไปเปิดๆ ดูฝาขวดพลาสติกที่จะทิ้ง ผมบังเอิญพบว่ามันเหมาะสุด เจ้านี่มี 2 ชั้น ชั้นในสูง 2-3 มิล เพียงพอกับการผสมสี ซึ่งเหลือเฟือกับกำไลอันนี้ ถ้าไม่มีชั้นในมันก็กว้างไป เปลืองสี(ทั้งที่ก็ไม่รู้จะเอาไปทาอะไรอีก เสียดายไง) ถ้าคุณมีจานสีของลูก ก็ยืมมาใช้ก่อนได้ มันล้างน้ำออกได้สบายๆ แต่ผมไม่มี เลยหาๆ เอา ถ้าคุณไม่ต้องผสมสี ก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อนี้
4. หลอดกาแฟเล็กๆ (ถ้าจะผสมสี) เอากรรไกรตัดผ่าให้มีลักษณะเป็นช้อนเล็ก ไว้ตักสีมาผสมกัน ก็ระวังสีในขวดจะเสียสีด้วยนะครับ อย่างผมตอนแรกใช้ไม้จิ้มฟันจุ่มสีดำมาใส่สีน้ำเงิน อีกครั้งก็ตักเอาเพราะต้องการมากกว่าเดิม
5. แก้วใส่น้ำ เอาไว้ล้างพู่กัน หลอด ฝาขวด ใช้เสร็จก็โยนๆ ลงไปแช่ไว้ก่อน ขณะจัดการกับสีบนชิ้นงาน จะล้างได้หมดจดทีหลัง ฝาขวดก็ล้างไว้ เผื่อไม่พอใจ อยากผสมสีแก้ใหม่ก็ทาทับมันลงไป
6. ทิชชู่ผิวหยาบๆ ถ้าผิวนุ่ม มีขุย งานจะเสีย เพราะมันจะลงไปติดกับสีที่ยังไม่แห้งดี ทีนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าจะเอาออกมายังไง ผมใช้ทิชชู่แผ่นใหญ่สำหรับในครัว อันนี้ไว้เก็บหยาบ คุณอาจใช้เศษผ้าก็ได้ อะไรที่มีใกล้ตัว
7. ผ้าหยาบๆ ถ้าเนื้อแบบผ้าดิบยิ่งดี ไว้ขัดสีออก ให้ลายขึ้นชัด ผมใช้ปลายผ้าขนหนูผืนเล็กที่ไม่ใช้แล้ว ตรงที่เย็บทบ มันสากดี
เริ่มขั้นตอนกันได้
1. ทำความสะอาดพื้นผิว ผมใช้แปรงสีฟันกับสบู่ ขัดๆๆ (อย่าเล่นแปรงทองเหลือง มันจะกินเนื้อนิ่มๆ ของเงินหรือทอง) จากนั้นล้างน้ำ เช็ด แล้วทิ้งให้แห้งสนิท**
2. เอาพู่กันจุ่มสีทา ปาดไปมา ให้เนื้อสีเต็มขึ้นมา มันจะเลอะพื้นผิวลายด้านบนแน่ๆ ช่างหัวมันก่อน
3. ปล่อยให้แห้งหมาดๆ ใช้เวลา 2-3 นาที เอาทิชชู่หยาบๆ เช็ดขอบ ข้าง บนลาย จะไล่สีออกไปให้เหลือบางลงหน่อย จะได้เบาแรงตอนเอาผ้าขัด ถ้าคุณต้องการให้สีเต็มร่องก็ไม่ต้องทำตรงนี้ ปล่อยให้มันแห้งสนิทไปเลย ค่อยใช้วัสดุเรียบพันผ้าขัด อย่าใช้ปลายนิ้ว เพราะจะกินเนื้อสีลึกเว้าลงไปแบบของผม
4. ใช้ผ้าขัดอีกรอบ ออกแรงถูสีที่เปื้อนบนลายออก ผมต้องการความลึกของมิติเลยถูตอนยังไม่แห้งดี จะได้ไม่เหนื่อยมาก ขัดไปเพลินๆ จนพอใจ(เมื่อยมือชิบหาย) ก็จะได้งานประมาณนี้ สวยสมใจ ได้อย่างที่คิด
ลองดูครับ บางทีชีวิตก็ต้องการความสุนทรีย์เล็กน้อย บางครั้งงานศิลป์ก็ช่วยปลอบประโลมจิตใจที่หยาบกระด้างให้อ่อนโยนขึ้น!
ส่วนเส้นสีดำข้างๆ เป็นชุมนุมเทวดาประจำตัวผม ซึ่งต้องซื้อตัวอักษรมาราว 300 ชิ้น ตัวเลขอีก 100 ชิ้น เพื่อให้ได้ชื่อเทวดาทั้ง 9 กับรหัสลับอีกนิดหน่อย ถ้าหาย ใครถอดรหัสได้ ก็จะได้เงินไปทั้งบัญชี ที่มีไม่กี่บาท! แต่คงยาก เพราะผมเล่นไหมยืด 0.5 สี่เส้นควบ กับรูหินฟ้าขนาด 0.8 ใช้น้ำมันจักรช่วยให้มันไม่ขาดขณะร้อย จารบีน่าจะดีกว่า แต่ดูจะโหดไปกับงานแบบนี้ เส้นนี้ให้ความรู้สึกสงบ อบอุ่น และเป็นสุข มันเป็นเรื่องของจิตใจ
ลูกปัดสวยๆ มันน่าหลงไหลไม่น้อย เห็นแล้วซื้อไปเรื่อย(จีน) ความสนุกอยู่ที่จะร้อยยังไงให้สวยและพอดี (ยังต้องมีสติ ไม่งั้นพัง) ไม่ใช่ขยับมือแล้วมันเคลื่อนไปมาน่ารำคาญ(เส้นนี้ร้อย 4 รอบถึงจะพอดี โดยครบชื่อที่ต้องการ และได้สีที่พอใจ) ซึ่งต้องคิดและใช้ชิ้นส่วนหลายอย่าง หมดกับสิ่งที่เกี่ยวข้องไปร่วมสองพัน แต่ใช้ไปสักร้อยได้มั๊ง ผมเคยคิด ร้อยขายเอาทุนคืนบ้างดีไหม แต่ก็ยังหวงดีไซน์อยู่ดี มันคิดยากไง ไว้ว่างๆ จะเอามาอวดโลก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น