While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความเชื่อที่ถูกต้อง คืออะไร .. แล้วกูจะเชื่ออะไรดี


ถ้าจะให้ดี ก็คงต้องเป็นความเชื่อที่ถูกด้วย ความเชื่อผิดๆ มันก็มีอยู่มากเหมือนกันนะครับ ในสังคมของเรา
พอดีผมได้ดูหนังเรื่อง Trance เป็นหนัง action + psycho ปกติผมไม่ดูหนังไซโค เพราะคิดว่าชีวิตปกติของผมมีเรื่องเคร่งเครียดมากพออยู่แล้ว ไหนจะเจ้านาย ไหนจะลูกน้อง ผู้ร่วมงานเจ้าปัญหา แถมยังลูกค้าที่ทำตัวยิ่งกว่าพระเจ้า .. แต่หนังเรื่องนี้ฉากแอคชั่นใช้ได้เลย และส่วนของไซโคก็ไม่ใช่การสร้างความกดดันให้ผู้ดูครับ แต่เป็นการเล่นกับจิตในบทบาทการแสดง เป็นเรื่องของการบำบัดด้วยการสะกดจิตโดยผู้ที่มีความรู้ทางด้านจิตวิทยาเป็นอย่างดี อาจเป็นจิตแพทย์ด้วยไหม ผมไม่แน่ใจ ภาพจากแต่ละสถานการณ์ที่สร้างขึ้นต่างหากที่สะกิดใจผม อะไรจริง อะไรไม่จริง มันก็คล้ายๆ กับการทำงานในจิตของคนอย่างเราๆ
ทำให้ผมย้อนมานึกถึงเรื่องที่ผมเขียนมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 50 พอดี ถ้าไม่รวมอีก blog .. จนทำให้เพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันมา 20 กว่าปี เกิดความสงสัยว่ามันไปทำอะไรที่ไหนมา มันเป็นบ้าไปแล้วรึเปล่า ความจริงคือ มันมีความคิดมากมายอยู่ในหัว และหาคน field เดียวกันมาถกด้วยไม่ได้ ผมค้นพบว่าการเขียนทำให้ผมสงบลง (ผมอาจเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง) และช่วยให้ผมสามารถจัดเรียงความคิดที่วุ่นวายสับสนของตัวเองได้ดี นี่เป็นความเชื่อส่วนตัว ถ้าผมไปพบจิตแพทย์ เขาอาจแนะนำวิธีอื่นให้ผม เช่น ถักไหมพรม ถักโครเชต์ หรือปักครอสติด .. แต่ผมยังไม่อยากเสียตังค์ และเชื่อว่าผมยังสามารถจัดการกับตัวเองได้อยู่ ที่สำคัญ ผมไม่มีความสามารถกับงานพรรค์นั้นหรอกครับ ผมเป็นคนที่มีความอดทนค่อนข้างน้อย และขี้รำคาญ
แล้วผมเชื่ออะไร .. วิทยาศาสตร์ ตรรกะ จิตวิทยา ศาสนา เรื่องจริง จินตนาการ เรื่องที่ไม่แน่ใจ ถ้าผมบอกว่าผมเชื่อมันทุกเรื่องเลยล่ะ .. ผมเคยอ่านเจอเขาบอกว่า คุณต้องเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าคุณเชื่อทุกอย่าง เท่ากับคุณไม่เชื่อในอะไรเลย .. จริงดิ .. ผมกำลังมองลงไปในส่วนผสมทางความคิดที่คนแต่ละคนมีอยู่ ผมว่ามันก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ คุณอาจเชื่อในบางสิ่ง แต่คุณก็ยังมีเรื่องให้สงสัย คุณจะหาคำตอบเมื่อคุณมีโอกาส คุณจะเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสงสัยเรื่อยไป มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์
แต่เราคงชอบอะไรที่มันเป็นจริงกันมากกว่า สิ่งที่จริงคงต้องเป็นสิ่งที่มีเหตุผล .. ผมว่าคนทุกคนใช้เหตุผลกันทั้งนั้นแหละครับ เพียงแต่เหตุผลของคนๆ หนึ่ง อาจไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของคนอีกคน แต่เราต่างมีเหตุผลรองรับการคิด การพูด การกระทำ ซึ่งมันจะทำให้เราสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่เราต้องอธิบาย ได้อย่างน่าเชื่อถือ ก็คงพอถ้าเขาเชื่อคุณ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้นอีกไหม
การทำให้คนอื่นเชื่อ มันไม่ได้ยากสักเท่าไหร่ แต่คุณเชื่ออย่างนั้นด้วยรึเปล่า .. ถ้าคุณไม่ได้เชื่อหรือมันไม่จริงในความคิดคุณ คุณกำลังโกหก .. การโกหกเป็นเรื่องยุ่งยาก และเสียภาพพจน์ ถ้าถูกจับได้ ทำให้สูญเสียความไว้วางใจ ซึ่งสร้างยาก ..  คุณต้องสร้างเรื่อง สร้างสถานการณ์แวดล้อมเพื่อสนับสนุน ต้องจดจำ ทำให้ทุกส่วนประกอบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีรายละเอียด ผู้คนที่เกี่ยวข้องอีกล่ะ การจับโกหกเป็นเรื่องง่ายๆ แค่สังเกตุนิดหน่อย เว้นแต่ว่าคุณไม่สน รู้แล้วไง ฉันจะโกหกแกจะทำไม มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ แต่แบบนี้เขาเรียกว่าโกหกกันหน้าด้านๆ ถ้าจะทำ คุณต้องทำให้เนียนหน่อย จะได้ไม่เสียฟอร์ม .. แล้วคุณโกหกตัวเองด้วยไหม
การเชื่ออย่างมีเหตุผลคงเป็นสิ่งที่ดี งั้นคุณสบายใจได้เลย ในหนึ่งวัน คุณใช้เหตุผลจริงๆ ไม่เท่าไหร่หรอก ที่เหลือมันเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก และไอ้เหตุผลที่ว่ามันก็ตั้งอยู่บนความเชื่อส่วนตัวของคุณด้วย ที่มากไปกว่านั้น เราแต่ละคนต่างมีความขัดแย้งในตัวเอง เอาง่ายๆ จะกินนี่หรือกินนั่นดี ท้องมันมีอยู่แค่นี้ ใส่ทุกอย่างที่อยากไม่ได้ จะพูดหรือไม่พูด จะทำหรือไม่ทำ คุณอาจไม่เคยสนใจเพราะมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มันบอกว่า ความขัดแย้งมีอยู่จริง และเราต้องเลือกจากทางเลือกที่มี
คนปกติมักเลือกในสิ่งที่จะสร้างความพอใจให้กับตัวเองมากที่สุด ซึ่งบางทีอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง  การเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องอาจไม่สร้างความพอใจ แต่มันก็มีความพอใจซ้อนอยู่ อันมาจากความคิดที่เชื่อว่า กูทำถูกแล้ว .. สิ่งที่เราทุกคนรู้กันดีคือ ไม่ว่าเราจะเลือกอะไร เราก็ต้องได้รับผลจากสิ่งที่เราเลือก ซึ่งถ้ามันถูกต้องสวยงามก็ดีไป แต่ถ้าไม่ใช่ คุณก็จะเจอกับปัญหาให้ต้องแก้ไข จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่คุณทำไว้ ผมเลยมองว่ามันสำคัญ ที่เราควรรู้ว่าจริงๆ แล้วเราเชื่ออะไรบ้าง แล้วมาดูอีกทีว่า มันควรเป็นอย่างนั้นไหม
สิ่งที่เราเชื่อว่าถูก อาจไม่ถูกก็ได้ ยกตัวอย่างองคุลีมาล เอาคนที่ใครๆ ก็รู้จัก มันง่ายดี เขาเชื่อว่าเขาทำสิ่งที่ดี การฆ่าทำให้เขาปลดปล่อยผู้คนไปสู่สุขคติ แต่คนทั้งโลกก็รู้อยู่ว่ามันไม่ถูก หรือญาติผม (ผมชอบยกตัวอย่างของที่มีอยู่จริงแฮะ มันทำให้ผมเห็นภาพได้ชัดเจนดี) เขาบอกว่าต้องไปวัด มีพิธีใหญ่ครอบครูประจำปี เอ ผมเองก็อ่านตำราของชาวพุทธมาไม่ต่ำกว่าพันหน้า A4 ไม่เห็นมันจะมีเรื่องแบบนี้ที่ตรงไหน กับที่เขาบอกว่าพระให้ทำบุญวันเกิดกับจำนวนเท่าอายุ สมมุติคุณอายุ 50 คุณคงต้องทำบุญกับคน 50 คน หรือด้วยเงินห้าสิบ ห้าร้อย ห้าพัน ห้าหมื่น ห้าแสน หรือห้าล้าน เลือกเอานะครับ แต่มันต้องยุ่งยากกันขนาดนั้นเลยเหรอ
อย่างที่บอก ผมอ่านมากแต่ก็ไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้ อาจเป็นได้ว่าผมอ่านไม่เจอเอง .. แล้วยังไง ผมก็แค่เป็นห่วงเขาในฐานะญาติ ว่าความเชื่อผิดๆ มันจะทำให้เขาหลงทาง เสียเงิน เสียเวลาโดยไม่จำเป็น และเขาจะไม่ได้ในสิ่งที่เขาควรได้ ศาสนาพุทธมันไม่ใช่เรื่องของความอยาก มันเริ่มด้วยความอยาก แต่เป็นไปเพื่อความไม่อยาก คุณงงไหม .. ศึกษาให้มากหน่อย จะได้ไม่ถูกพวกอลัชชีหลอก .. แต่การเชื่อเรื่องงมงาย ผมมองว่ามันมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งผู้ทำให้เชื่อมีความน่าเชื่อถือ จิตวิทยาดี อีกส่วนคือ เราอยากเชื่อเอง หรือรู้ไม่มากพอ .. ที่ผมไม่เข้าใจ ทำไมมึงไม่เชื่อพระพุทธเจ้าวะ แต่เสือกไปเชื่อในเรื่องที่ค้านกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียเอง
แล้วคุณเชื่อเรื่องโชคชะตาไหม ยังไม่ต้องตอบก็ได้ครับ ลองดูข้อมูลตรงนี้ก่อน มันมีการวิจัยในอเมริกา โดยเก็บข้อมูลทั้งในแลปนอกแลป โดยสถาบันไหนผมจำไม่ได้หรอก ถ้าจำได้ มันจะช่วยให้ข้อมูลที่ผมเอามาพูด น่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะคุณสามารถนำไปค้นหาเพิ่มเติมได้ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ผมจะเอามาใช้น่ะ เลยไม่รู้จะจำมันทำไม .. มาเข้าประเด็นกันดีกว่า เขาสรุปมาว่า เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา มีเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เราควบคุมไม่ได้ ผมจะจัดให้มันอยู่ในเรื่องของโชคชะตาละกัน แต่การที่สถานการณ์ใน 10 เปอร์เซนต์นี้จะดีขึ้นหรือแย่ลง มันขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณปฎิบัติต่อ
ทีนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรอยู่นอกเหนือการควบคุมแล้วใช่ไหม มันเป็นทางเลือกด้วยตัวของคุณเองทั้งหมด .. ยกตัวอย่าง (อีกละ) ให้พอเห็นภาพ สมมุติรถคันหลังเบรคไม่ทัน ชนท้ายคุณ คุณคงตกใจ ตามมาด้วยความคิดว่าซวยชิบหาย รถพัง เสียเวลา อาจมีโมโห คุณลงมาจากรถ ทางเลือกที่หนึ่งคุณเปิดฉากด่า คุณคิดว่ามีกี่เปอร์เซนต์ที่เขาจะไม่ด่าตอบ แล้วตามมาด้วยความรุนแรง อีกทางเลือก คุณถามเขาว่า คุณโอเคไหม ผลที่ตามมาคาดเดาได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่ามันจะไม่แย่ไปกว่านี้ .. คุณเห็นภาพชัดเจนไหม  อ้าวแล้วรถพัง ก็ซ่อมสิครับ แต่คุณเลือกเองนะว่า จะถูกยิงตายอยู่ตรงนั้น หรือได้กลับไปกินข้าวเย็นกับลูกคุณ
แล้วคุณเชื่อว่าคุณทำสิ่งที่ถูกแล้วรึเปล่า คิดถูกแล้ว พูดถูกแล้ว ถ้าเชื่อก็ดีครับ มันจะทำให้ความขัดแย้งในตัวเองลดลง แต่แค่นั้นมันยังไม่พอ คุณต้องดูด้วยว่าไอ้ที่คุณคิดว่าถูก มันถูกในความคิดของคนอีกหกพันล้านไหม หรือมาตรฐานสังคมน่ะครับ เพราะถ้ามันไม่ถูกจริงๆ มันจะมีเรื่องไม่ดีตามมาแน่ๆ นอกเสียจากคุณรู้อยู่แล้ว และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา
แล้วผมเชื่ออะไร .. เอาตอนไหนล่ะครับ.

ไม่มีความคิดเห็น: