While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

สิ่งที่น่าจะช่วยพัฒนา Emotional Quotient ในมุมมองของข้าพเจ้า


ผมรู้สึกว่าสติกับสมาธิเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ Emotional Quotient นะ อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เนื่องจากเป็นคนที่ธรรมดามากๆ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเรื่องไหนเลย ...

ผมมองว่าสติ จะมีส่วนทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เห็นความต้องการส่วนลึกที่ซ่อนไว้ เห็นนิสัย สันดาน ที่เรามักปฎิเสธที่จะมองดูมัน กลบฝังมันไว้ ไม่ยอมรับ ไม่แก้ไข ปล่อยให้มันเกาะติด ก่อให้เกิดพฤติกรรมด้านบวก ด้านลบ ต่างๆ นาๆ โดยที่เราควบคุมมันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตามประสาของมัน

สมาธิจะทำให้เราใช้สติได้ดีขึ้น คนเราต้องใช้สมาธิกันเกือบตลอดเวลา ทุกคนมีมัน มากน้อยต่างกัน ถ้าเราปล่อยมันไปตามเรื่องตามราว เราก็จะเห็นว่าคนบางคนเปลี่ยนความสนใจ ไปเรื่อยๆ ในเวลาอันรวดเร็ว นั่นคือสมาธิสั้น และเมื่อมันสั้น เราก็จะไม่มีโอกาสพิจารณาอะไรๆ ให้ถ่องแท้ ขาดความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องที่วิ่งผ่าน มีความสนใจมั่วซั่ว จับประเด็นอะไรไม่ค่อยได้ คิดวิเคราะห์อะไรที่เป็นภาพรวมไม่ออก มองเห็นอะไรได้แค่เรื่องผิวเผิน น่าอิจฉาคนที่มีสมาธิดีอยู่แล้ว แต่ถ้าของเรามันไม่ดี เราก็ฝึกมันได้ พัฒนามันได้ ผลพลอยได้อีกอย่างคือ มันจะทำให้เราเห็นสภาวะจิตของคนอื่น ไม่ใช่การหยั่งรู้ความคิดนะ เราไม่ได้พูดกันถึงเรื่องอภิญญาที่มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรในการดำรงชีวิต ถ้าเราไม่ได้คิดจะเอาไสยศาสตร์ไปทำมาหากิน ประเภทปลุกเสก ลงอาคม หรือไปเป็นหมอดูนั่งทางใน แต่เรากำลังพูดกันถึงเรื่องสมาธิในระดับที่จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้ ไอ้การรู้สภาวะจิตที่ว่านี้ บางคนก็มีอยู่แล้ว พวก sense น่ะ แต่มันไม่ใช่เรื่องหลัก อย่าหลงประเด็นนะ เดี๋ยวจะกลายเป็นพวกอยากฝึกวิปัสนาแต่กลับไปติดคาอยู่กับอิทธิปาฎิหารย์ เก่ง.. แต่หลงทาง น่าเสียดาย

2 อย่างนี้จะทำให้เราเข้าใจตัวเองและ เข้าใจคนอื่นด้วย มันเป็นการเพิ่มระดับ Emotional Quotient อีกทางหนึ่ง ทำให้เราควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ทำให้เราเห็นได้ชัดขึ้น ว่าความต้องการของเรามีที่สิ้นสุดรึเปล่า มีจุดไหนที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเพียงพอได้ไหม เรามีที่หยุดไหม หรือมันเป็นแค่การกระโดดไปเรื่อยๆ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่ถ้าเราสนุกที่จะทำเช่นนั้น เราก็จะได้รู้ว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนั้นจริงๆ

เราจะเข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย เราจะเลิกมองพวกเขาในแง่ลบ เราจะเห็นอกเห็นใจพวกเขามากขึ้น พวกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นในแบบที่เราเห็นหรอก คนๆ หนึ่งประกอบขึ้นด้วยปัจจัยหลายด้าน ตั้งแต่เกิด ถูกเลี้ยงดูมายังไง สภาพแวดล้อม ครอบครัว สังคม การศึกษา ประสบการณ์ ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับอะไรมาบ้าง กว่าจะมาเป็น ความคิดของเขา ทัศนคติของเขา พฤติกรรมของเขา รวมๆ ออกมาเป็นตัวเขาให้เราได้เห็นกัน เราจะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนขนาดไหน เราจะเลิกคาดหวังที่จะให้ใครมามีระดับความคิดในมาตรฐานของเรา มันไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรหรอก แต่มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

สรุปแล้วถ้า EQ ดี มันจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น คาดหวังกับคนอื่นน้อยลง การไปลองทำแบบทดสอบ EQ ของกรมสุขภาพจิตดูจะทำให้รู้ว่า เราควรปรับปรุงเรื่องไหนบ้าง ถ้าเรายอมรับข้อบกพร่องของตัวเองได้ เราก็พัฒนามันได้ ไม่มีใคร perfect หรอก แม้แต่ไอน์สไตน์ แบบทดสอบประเมินออกมา 9 เรื่อง คือ การควบคุมตนเอง ความเข้าใจคนอื่น ความรับผิดชอบ แรงจูงใจ การแก้ปัญหา สัมพันธภาพ ความภูมิใจในตนเอง ความพอใจในชีวิต และความสุขสงบทางใจ

ว่ากันด้วยเรื่องการควบคุมตนเองที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ มันมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการควบคุมการแสดงออกภายนอก ถ้าควบคุมได้ก็จัดว่าดีในระดับมาตรฐานสังคม อีกส่วนหนึ่ง ถ้าเราควบคุมได้ถึงความรู้สึกภายในมันก็จะดีในระดับจิตวิญญาน มันมีเฉลยข้อสอบบางข้อในวิชาจิตวิทยาสังคมชั้นสูงระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง ที่ต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐก็เพราะว่า เดี๋ยวนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนเยอะมาก บางแห่งก็เชื่อถืออะไรไม่ได้ เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ จะส่งลูกหลานเรียนที่ไหนก็ดูให้ดี ที่ทำงานบางแห่งระบุคุณสมบัติผู้สมัครงานต้องจบจากมหาวิทยาลัยรัฐบาลด้วยซ้ำ คำตอบที่ถูกก็เช่น สิ่งสำคัญในชีวิตคนเราคือการค้นหาความหมายของชีวิตและให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาน, สิ่งที่ขาดดุลในสังคมปัจจุบันคือไม่มีดุลยภาพระหว่างวัตถุกับจิตวิญญาน, ปัญหาอย่างหนึ่งของคนในปัจจุบันคือ ความโลภ บ้าวัตถุ ขาดแคลนเชิงสัมพันธ์, เมื่อความต้องการขั้นพื้นฐานได้รับการตอบสนอง ไม่ว่าคนรวยหรือคนจนจะมีความสุขไม่ต่างกันเราคงต้องยอมรับความคิดเหล่านี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกคัดกรองมาจากข้อมูลที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว จนสามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนได้

เมื่อก่อน มันเป็นเรื่องกวนใจที่ทำให้รู้สึกหงุด หงิด รำคาญใจ ในเรื่องพฤติกรรม หลายๆ คนคงเจออยู่บ่อยๆ ถ้าไม่ได้เกิดมาเป็นคุณหนู นั่งกินนอนกิน วันๆ ไม่ต้องทำอะไร หรือใหญ่โตมากจนไม่มีใครกล้าล่วงเกิน หรือโชคดีที่ได้อยู่ในสังคมผู้ดี(กลุ่มคนที่มีความเข้าใจเรื่องสมบัติผู้ดีน่ะ) ตอนนี้เข้าใจมากขึ้น เพราะสภาพสังคมทุกวันนี้ เน้นไปที่วัตถุ มันไม่มีการให้ความสำคัญในเรื่องของศีลธรรมจรรยาอีกแล้ว คนเดี๋ยวนี้เลยไม่ค่อยรู้เรื่องศีลธรรม ไม่รู้เรื่องจรรยาหรือการแสดงออกที่เหมาะสม ไม่สนใจเรื่องกาละเทศะ เราต้องพยายามเข้าใจและยอมรับว่า จริงๆ แล้วพฤติกรรมการแสดงออกในทางลบต่างๆ มันไม่ได้เกิดจากพื้นฐานของนิสัยแย่ๆ สักเท่าไหร่ แต่มันเกิดจากแรงขับหรือความกดดันที่มีอยู่ภายใน ที่ทะลักออกมาอย่างขาดความควบคุม โดยเชื่อว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ใครๆ ก็ทำกัน ก็ไม่มีใครเคยบอกนี่ว่ามันไม่ดี จะไปว่าเขาผิดก็ไม่ได้ (ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด..อื้ม..แต่มันก็มีหนังสือเรื่อง ผิดที่ไม่รู้อยู่ในโลกนี้ด้วยนะ) จนมันกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในคนบางกลุ่ม คำถามคือ ... ถ้าแมลงวันทั้งโลกเห็นว่าขี้อร่อย แล้วมันอร่อยจริงไหม เราจะเชื่อโดยไม่ใช้วิจารณญานของตัวเอง แล้วลองกินขี้ดู เพราะคนส่วนใหญ่บอกว่าขี้มันอร่อย รึเปล่า ... อันนี้พระอะไรไม่รู้เขียนในหนังสือ อ่านเยอะจนจำไม่ได้ ต้องไป search เอาเองนะ (อ้าวๆ ยาวไปเรื่องจิตวิทยามวลชน ลามปามไปเรื่องศาสนาอีก ..)

มันก็คล้ายเรื่องเข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตามนั่นแหละ มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรสำหรับ คนบางคนที่จะปรับความชอบ รสนิยม ความคิด ทัศนคติ มุมมอง อะไรต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะยอมเปลี่ยนจุดยืนของเราไหม หรือจะรักษาความเป็นตัวตนของเราไว้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มันจะต่างกัน ก็ต้องเอามาวิเคราะห์กันอีกทีว่า มันจะมีผลกระทบอันมหาศาลกับชีวิตของเราไหม ในเรื่องหน้าที่การงาน การเงิน ความสุข ความทุกข์ อะไรพรรค์นั้น ถ้ามันไม่ได้สำคัญขนาดนั้นก็คงไม่ต้องสนใจหรอกมั๊ง ความถูกต้อง เหมาะสม น่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: