While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

สมาธิฝึกสติแบบง่าย .. ทำไมต้องยากล่ะ


เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ อาจไม่ตรงกับสำนักไหนเลย เพราะเล่นหลายสำนักมาก ลองไปลองมา สุดท้ายก็ได้วิธีที่ง่ายและได้ผล .. แล้วเอามาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งอาจไม่ตรงกับที่คุณเจอก็ได้ แล้วก็ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ศาสนาไหน คุณก็หาประโยชน์จากมันได้
การฝึกสมาธิของผมคือ ทำเองที่บ้าน ไม่เคยไปตามวัดตามวากับเขาแม้แต่ครั้งเดียว แต่อาศัยการอ่านเยอะมากๆ คือถ้าคุณจะฝึกด้วยตัวเอง คุณต้องอ่านนะ เพราะสมาธิเป็นเรื่องที่มีความก้าวหน้า มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางจิตด้วย ซึ่งเราต้องดูตัวเองอยู่ตลอดเวลา .. ถ้าผิดทาง ผลที่ได้ จะไม่ถูกต้องอย่างคนที่เขาอยู่ในทางที่ถูก พบเจอ .. เราต้องแก้ไข ไม่งั้นอาจหลงทางหรือเป็นบ้าเป็นบอไป .. การเล่นกับจิต คุณต้องระวังมากๆ .. แต่ถ้าคุณมีสติ คุณจะปลอดภัยล้านเปอร์เซนต์ คือต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลานั่นแหละครับ
ที่ผมจะพูดถึง เป็นสมาธิแบบนั่งนะครับ ความจริงถ้าไม่สะดวก นั่งแล้วมันเมื่อย ปวดขา หรือป่วย สภาพร่างกายไม่พร้อม จะใช้แบบนอนก็ได้ .. ทั้งหมดที่ผมจะพูด เป็นสมาธิแบบระลึกรู้ตัว ฝึกสติให้กล้าแกร่ง ข้อดีคือ ถ้าเรามีสติอยู่ตลอดเวลา เราจะไม่หวั่นไหวไปกับอะไรง่ายๆ ในสิ่งกระทบกระทั่ง อารมณ์มั่นคง อันจะนำมาซึ่งความไม่ทุกข์ร้อนกับอะไรง่ายนัก เรียนรู้อะไรได้ง่ายขึ้น ทำอะไรได้ดีขึ้น ..
สำหรับผม สิ่งที่ผมต้องการคือ สติ การจัดเรียงคลื่นสมอง และให้สมองได้พักอย่างแท้จริง เป็นหลัก แต่ผลพลอยได้มันก็ตามมาเองอยู่ดี (ซึ่งแค่ 12-15 นาทีต่อวัน ก็เพียงพอแล้วล่ะครับ) .. ส่วนเรื่องการพิจารณาอาการที่เกิดขึ้นกับกายและจิตในระหว่างวัน ก็ช่วยให้เรื่องของสมาธิพัฒนาได้เร็วขึ้นนะครับ แต่คงต้องแยกออกไปพูดต่างหาก เพราะรายละเอียดค่อนข้างมาก .. แต่ประโยชน์ของสมาธิ คงไม่ต้องเอามาพูดกันมาก ใครๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้ว งั้นเริ่มเลยละกันครับ
ที่นั่ง .. คงต้องหาที่นั่งกันก่อน จะนั่งที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องสร้างบรรยากาศให้มันวุ่นวายเกินไปนัก เราไม่ได้จะเอาบรรยากาศภายนอก แต่เราจะดูเข้าไปภายในตัวเรา ในความรู้สึกของตัวเราเอง .. แต่มันก็ไม่ควรมีอะไรมากวนใจมากมายนัก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เสียง ยุง หรือแรงลม แรกๆ ยังไม่ต้องไปนั่งในป่าช้าก็ได้ครับ ผีตัวจริงยังไม่มา ผีในใจคุณก็แสดงอิทธิฤทธิ์เองแล้ว .. เรายังไม่ถึงขั้นสูง อย่าเพิ่งไปลองของตัวเองเสียตั้งแต่แรกเลยครับ มันจะไปไม่รอดเสียเปล่าๆ
ท่านั่ง .. จะนั่งท่าไหนก็ไม่สำคัญ เอาให้มันไม่กลายเป็นตุ๊กตาล้มลุกก็พอ .. เทคนิคคือ ถ้าคุณนั่งขัดสมาธิ หน้าตักยิ่งกว้าง ก็ยิ่งมั่นคง ให้ก้นสัมผัสพื้นแบบเต็มแก้ม ที่นั่งอย่าให้มันนิ่มนัก แข็งไปก็ไม่ดี .. ถ้าเล่นกับพื้นโดยตรง นั่งไปนานๆ จะเจ็บตาตุ่ม กับข้อเท้า เพราะมันต้องรับแรงกดที่จะโน้มตัวไปข้างหน้าตามธรรมชาติ อย่างเต็มๆ .. คงไม่มีใครนั่งพับเพียบทำสมาธิกระมัง
ให้นั่งตัวตรง กระดูกสันหลังเรียงกันเป็นเส้นตรง สติที่คุณฝึก ก็ต้องคุมเรื่องนี้ด้วย ถ้าสติไม่เต็มหรือดิ่งลงฌาณ ความตรงมันจะหายไป .. ความตรง สร้างสมดุลได้ดี มันจะเหมือนการแขวนไว้ ไม่ใช่การทิ้งน้ำหนักลงที่ข้อต่อ การหายใจก็จะสะดวกด้วย
1.  ท่ามาตรฐาน คือ ขาขวาทับซ้าย อันนี้เป็นท่าที่มีความสมบูรณ์แบบทีเดียว ก็พระท่านนั่งแบบนี้มาตั้ง 2000 กว่าปีแล้วนี่ ไม่ดีท่านจะนั่งหรือ .. อาจไม่ต้องขัดสมาธิเพชรให้มันยาก เราไม่ได้กะจะไปอวดใคร จะสร้างความลำบากให้ตัวเองไปทำไม อย่าลืมว่า วันนี้เราจะใส่ใจเรื่องสติกันเป็นสำคัญ
2.  คนแก่ คนฝรั่ง ผู้ป่วย .. นั่งเก้าอี้โยกสบายๆ ก็ได้ จริงๆ คือควรเป็นเก้าอี้ที่มีที่วางแขน และพิงได้ถึงหัว .. อย่าไปพยายามทรมานตัวเองกันเลย มันจะทุกข์เปล่าๆ เราไม่ได้จะเอาอะไรกับเรื่องนั้น
การวางมือ .. อยากวางยังไงก็วางไปเถอะครับ มันไม่ใช่ประเด็น เอาให้รู้สึกไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องไปพะวงกับมันทีหลังก็พอ แต่เผื่อนึกไม่ออก ผมมีท่าแนะนำมาให้เลือกด้วยนะครับ
1.  ท่ามาตรฐาน คือ มือขวาทับซ้าย หัวแม่มือชนกัน .. อันนี้จะดีใน 5 นาทีแรก หลังจากนั้น มันจะให้ความรู้สึกว่ามีไฟช็อตที่หัวแม่มือ แล้ว 2 มือมันจะพยายามดันเข้าหากัน กล้ามเนื้อแขนท่อนล่างจะเกร็งตัว กว่าจะนิ่งก็ราว 15 นาที .. เสียเวลากับความรำคาญเปล่าๆ แต่บางท่านก็อาจไม่เป็น ต้องลองดูเองนะครับ
2.  มือขวาทับซ้าย หัวแม่โป้งไขว้กันไว้ .. ท่านี้จะสบายสุด ในกรณีที่ผ้าบนหน้าตักตึงพอ (ลองนึกถึงจีวรพระนะครับ) คือมันจะมีที่วางสบายๆ .. แต่ถ้าไม่ตึง มือมันจะไหลลงไปเรื่อยๆ สร้างความรำคาญไม่สิ้นสุด แถมยังจะดึงไหล่ให้ค้อมลง หัวก็จะก้มลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายตัวงอ ปอดถูกบีบให้เล็กลง หายใจไม่สะดวก
3. วางราบบนเข่า จะให้ความรู้สึกมั่นคงดีครับ ลำตัวไม่เหวี่ยงไปมา แต่สมาธิรวมยากกว่า การคว่ำมือจะให้ความรู้สึกสบายกว่าการหงายมือ
4.  หงายมือไว้บนตัก 1 ข้าง วางคว่ำไว้บนเข่า 1 ข้าง .. ให้ความรู้สึกกระจัดกระจายดีครับ ผมลองดูเพราะเคยเห็นพระพุทธรูปน่ะ แล้วเสือกบังอาจลองทำตาม คิดว่าง่าย ไม่ง่ายเลยครับสำหรับผม
หลับตาหรือไม่หลับตาดี .. ยังไงก็ได้ครับ แล้วแต่ความเหมาะสม และสถานการณ์
1.  การหลับตา จะเป็นการตัดสิ่งเร้าภายนอกออกไป อาจเป็นแสงวูบไหวที่จะทำให้คนขวัญอ่อนจิตกระจาย หรือมัวแต่ดูจิ้งจกไล่กันจนเพลิน ตกใจแมลงบินผ่านหน้า .. อะไรพรรค์นี้
2.  ลืมตา .. ภายใน 1 เดือนแรก คุณอาจเจอกับภาพหลอน แต่จะหายไปเองในเดือนที่ 2 (นั่งอย่างน้อยวันละ 15 นาทีก็เจอแล้ว) .. ไม่ต้องคิดมาก มันไม่ใช่อดีตชาติอะไรหรอกครับ ถ้าคิดอย่างนั้นมันจะไม่จบนะ การมีหูทิพย์ตาทิพย์ มันไม่มีประโยชน์อะไรในการดำเนินชีวิต ไม่งั้นพวกเข้าทรงคงถูกรางวัลที่ 1 รวยกันไปหมดแล้ว ว่าไหม ..
ผมอยากให้คิดว่า การเห็นภาพในขณะหลับตา มันเป็นการทำงานของจิต เมื่อเราพยายามทำให้เขาหยุดอยู่นิ่งๆ เขาจะหาทางออก โดยการสร้างภาพมาหลอนเรา อันนี้เป็นการอธิบายที่ถูกต้องในทางวิทยาศาสตร์
ถ้าคุณไม่อยากดู รู้สึกรำคาญ (เหมือนผม) ลืมตาเสียก็จบ .. ให้หลุบตาลงต่ำ มองเข้าหาจุดๆ หนึ่ง ห่างจากหน้าสันจมูกไปราว 6-8 นิ้ว ไม่ต้องเพ่ง คุณจะได้ภาพรางๆ ที่ให้ความรู้สึกสบายๆ .. ไม่มีอะไรต้องห่วงเรื่องการไปต่อ เมื่อผ่านไปราว 5 นาที ตาจะหลับลงเองและภาพหายไปแล้ว แต่ถ้ามันยังอยู่ เราลืมตาใหม่เมื่อไหร่ก็ได้
ถ้าคุณไม่รำคาญ คุณอาจไม่จำเป็นต้องลืมตาก็ได้ แต่ต้องชัดเจนกับตัวเองเรื่องสติ ให้เกิดความรับรู้ถึงการ เห็นก็เห็น เหมือนการดูหนัง อย่าไล่ตาม อย่าลงเล่น ภาพเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องพิศดารอะไรหรอกครับ เป็นสิ่งที่เราบันทึกไว้ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรามาแต่เล็กแต่น้อยน่ะแหละ จิตเปิด มันก็พุ่งขึ้นมาจากจิตใต้สำนึก มาสู่ระดับที่รับรู้ได้ .. สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้คือ เราจะไม่มีทางเห็นผีของอินเดียนแดง เพราะเราไม่เคยรับภาพเข้าไปไว้ในสมองของเรา การอธิบายนี้ชัดเจนพอไหมครับ
อีกอันก็ได้ ถ้าคุณสังเกตพระเถระ ไม่เคยมีองค์ไหนพูดถึง การให้ตีความสิ่งที่เห็นจากสมาธิเลย (มีก็แต่พระเกจิเท่านั้น หรือไม่ก็พวกต้มตุ๋นแหกตา) พระเถระจะพูดว่า เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็น ไม่จริง, มันเป็นอาการทางจิต, ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์อะไร ไม่ต้องใส่ใจ .. เพราะงั้น ผมอยากให้คุณลืมเรื่องการระลึกชาติ หรือทักษะในการนั่งทางในเสียเถอะ อย่าไปเอาดีทางนั้นเลยครับ
เริ่มได้ .. ทั้งหมดที่คุณต้องทำคือการดูลม ง่ายไหม .. แค่ดูมันเฉยๆ ..
แต่เรื่องนี้ทำให้ผมเสียเวลาไปเยอะมาก เพราะความเข้าใจผิดในคำว่า .. กำหนดลมหายใจ .. โง่น่ะ เลยคิดว่าต้องทำให้มันยาวพอดีๆ มันถึงจะสบาย ถึงจะไปได้รื่นๆ แต่มันไม่ใช่ .. การทำอย่างนั้น เป็นการพยายามไปควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ มันเลยยุ่งไปกันใหญ่ กลายเป็นคุณไปทำให้อัตราการหายใจของตัวเองขัดข้อง ทำให้เกิดอาการเหมือนจะหายใจไม่ออก ผมพูดถูกไหม .. เอาล่ะ วันนี้ผมจะพล่ามให้กระจ่าง
คุณต้องดึงการรับรู้ขึ้นมาที่จุดสูงสุดของหัวคุณ ให้เกิดความรู้สึกของการดู เหมือนดูการกระดิกปลายเท้าของตัวเอง (ต้องยกตัวอย่างไกลหน่อยครับ เดี๋ยวนึกภาพไม่ออก) .. ถ้าไม่ทำแบบนี้ คุณจะพยายามบังคับลม ไปลากให้มันยาวขึ้น ไปทำให้มันสั้นลง แล้วคุณจะอึดอัดหายใจลำบาก และมันไม่ใช่เรื่องสมาธิ แต่เป็นการฝึกลมปราณ คุณไม่ได้คิดจะฝึกวิทยายุทธใช่ไหม ..
การดูคือ การรับรู้ถึงมัน มันจะสั้นจะยาวก็เรื่องของมัน เราแค่รับรู้อย่างเดียวเท่านั้น .. ลองทำทั้ง 2 อย่าง แล้วเปรียบเทียบความรู้สึกกันดูเองนะครับ
คุณอาจสงสัยว่า แล้วฉันจะดูสิ่งที่มองไม่เห็นได้ยังไง .. ลองลากลมหายใจเข้าแรงๆ คุณรับรู้มันได้แล้วไง .. ช่วงแรกๆ ให้ตามจากรูจมูกจนถึงช่องท้องเลยนะครับ ทำไงล่ะ ก็สร้างภาพเอา ใส่สีที่คุณชอบให้กับลมไป แต่สีขาวจะให้ความรู้สึกสบายสุด .. อดทนทำให้ถึงเดือนนะครับ อย่าข้ามขั้นตอน ผมข้ามมาแล้ว เพราะความที่ขี้เกียจตามลงไปตลอดสาย มันเลยยากในขั้นถัดมา สติหลุดง่ายน่ะครับ .. คนเรามันช่างคิด
ขั้นถัดไปดูที่จมูกก็พอ รับรู้จนลมผ่านไปทั้งหมด ในการหายใจเข้า-ออกแต่ละครั้ง .. ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ลมจะหายไป คือคุณจะไม่รู้สึกถึงลมแล้ว แต่คุณจะรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของทรวงอกแทน สุดท้ายก็ไม่รู้สึกด้วยแหละครับ คุณจะรู้ว่ายังหายใจอยู่ แต่ไม่มีความเคลื่อนไหว .. ผมคิดว่ามันเป็นกลไกการรับรู้ของสมองนะ ไม่แน่ใจ แต่มันหายไปจริงๆ ลองดูเถอะ .. แล้วคุณจะเจอกับความนิ่งสงบ สบาย เป็นสุข ใจไม่แกว่ง ความคิดไม่กระจัดกระจาย ถ้าจะให้ดีคุณลองดูความรู้สึกของตัวเองตอนที่ลมเข้าและลมออกไปด้วยสิครับ มันจะเพลินขึ้นอีกเยอะเลย
เรื่องเหนือธรรมชาติ .. ผมไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ว่ามันเป็นแค่การรับรู้ของสมองที่ผิดเพี้ยน หรือเป็นเรื่องจริง ใครจะรู้ .. แต่ถ้าคุณนั่งได้นานถึง 30-45 นาที โดยไม่ลืมลมหายใจตัวเองเลยนะ มันจะเข้าสู่สภาพสูญญากาศ .. คือคุณยังรับรู้อยู่ และเหมือนการลืมตาเห็นอย่างชัดเจนด้วย แต่คุณรู้ว่าคุณไม่ได้ลืมตา ตัวคุณไม่มี มันกลายเป็นที่ว่าง ไม่มีอะไรเลย ไม่มืดไม่สว่าง ไม่น่ากลัว และการรู้ของคุณเหมือนลอยอยู่กลางอากาศนิ่งๆ .. อธิบายยากแฮะ
บางครั้ง มันจะเกิดความรู้สึกถึง ร่างกายและการรับรู้มันไม่อยู่ในที่เดียวกัน แต่เหลื่อมกันไปมา มีความเคลื่อนไหว เหมือนการรับรู้มันอยากจะออกมาจากร่างกายที่เทอะทะ .. เจออาการนี้ ผมคิดอย่างเดียวเลยว่า กูไม่ออกโว๊ย แต่ก็ไม่ลืมตา ยังมีความอยากรู้อยากเห็นตามประสามนุษย์ ตรงนี้แหละที่ต้องระวัง ..
ตามตำราที่ถูกต้อง (พระป่าสายกรรมฐาน) จะบอกว่า ให้กลับไปควานหาลมหายใจ มันจะหลุดออกจากสภาพนั้นได้ แล้วกลับมานิ่งสงบเหมือนเดิม
การบริกรรมคาถามันดีไหม .. ก็ดีครับ ในกรณีที่คุณเป็นพวกที่มีความฟุ้งซ่านมากเป็นพิเศษ เราอาจต้องหาคำอะไรมาช่วยให้ความคิดอยู่เป็นที่เป็นทาง ถ้าทางพุทธมักจะใช้คำว่าพุทโธ สัมมาอะระหัง ทางคริสต์มักใช้คำว่า เยซู .. ความจริงคำที่ใช้จะเป็นอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ การดูลมจะทำให้เกิดความรู้สึกโล่งสบายกว่า และไม่ต้องมาสลัดทิ้งทีหลัง .. ถ้าคุณตั้งใจดูลมจริงๆ ผมว่าดีกว่าอีก เพราะมันเป็นสาย ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
ความจริง คนเรามีสมาธิอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มันไม่ต่อเนื่อง สติเองก็เหมือนกัน การฝึกฝนจะช่วยให้มันทำงานได้ดีขึ้น .. อีกเรื่องคือ สมาธิฝึกสติมันไม่ได้มีขอบเขตที่การนั่งหรือนอนเท่านั้น คุณอาจฝึกได้จากการฟังดนตรี การอ่านหนังสือ การเดินในระหว่างวัน หรือกิจกรรมอื่นๆ ตั้งแต่กินข้าวยันเข้าห้องน้ำ โดยให้สติเข้าไปจับและรับรู้ถึงสิ่งต่าง .. คราวนี้ก็จะลามไปถึงเรื่องการดูจิตแล้วสิ ไว้คราวหน้าแล้วกันครับ .

ไม่มีความคิดเห็น: