While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี (1)

ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี
(พระพุทธเจ้า)
ทุกข์ให้รู้ กิเลสให้ละ นิโรธให้แจ้ง มรรคให้เจริญ
สะสมมาจาก FB ครับ อ่านไปเก็บไป ที่ถูกจริตวิสัย เอาไว้ทบทวน/แบ่งคนอื่น
การดับทุกข์นั้น มีทางที่จะทำให้ได้ โดยสร้างวิชชาให้เกิดขึ้น เพื่อรู้ถูกในสิ่งทั้งปวง จนไม่มีความอยากในสิ่งใด ทั้งในสิ่งที่ถือว่าชั่วหรือดี คือไม่อยากทั้งในทางที่จะรับหรือในทางที่จะปฏิเสธโดยสิ้นเชิงนั่นเอง
ถ้าสร้างวิชชาขึ้นมาได้ ก็เป็นอันว่ามีความ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง โดยสมบูรณ์ แต่ในระยะที่ยังสร้างวิชชาขึ้นมาไม่ได้โดยสมบูรณ์ ท่านมีระเบียบวิธีประพฤติปฏิบัติ เพื่อต่อต้านหรือประทังการลุกลามของกิเลสเหล่านี้ไว้พลางก่อน คือ
สอนให้มีการบริจาค เพื่อประทังความโลภ
สอนให้เจริญเมตตา เพื่อประทังความโกรธ
สอนให้พอกพูนสติสัมปชัญญะ เพื่อประทังความหลง."
หมายเหตุ : "วิชชา" แปลว่า ความรู้ หมายถึง ความรู้แจ้ง , ความรู้ในอริยสัจ ๔ นั่นเอง
พุทธทาสภิกขุ
ประโยคเดียวนี้ "ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง" ครอบคลุมสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิเอาไว้แล้ว ฝึกแค่นี้เอง ฝึกเล็กนิดเดียวเอง ไม่ต้องเรียนอะไรมากมายเป็นตู้ๆ พระไตรปิฎกเยอะแยะมากมาย เรียนแล้วไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เริ่มตรงที่บอกนี่
แล้วต่อไปเราจะได้สติขึ้นมา จะเห็นความจริงของจิต จิตเดี๋ยวมันก็ไหลไปคิด เดี๋ยวมันก็ไหลไปเพ่ง เดี๋ยวมันก็รู้ สลับไปสลับมา ต่อไปปัญญามันเกิด มันรู้ว่าจิตไหล จิตนี้ไม่เที่ยง จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตผู้คิดก็ไม่เที่ยง จิตผู้เพ่งก็ไม่เที่ยง จิตผู้รู้ก็รักษาไม่ได้ เดี๋ยวเดียวก็ไหล จิตผู้เพ่งก็ห้ามไม่ได้ มันจะเพ่ง จิตผู้ไหลไปหลงไป จะห้ามไม่ให้เกิด ก็ห้ามไม่ได้ มันจะหลง อันนี้เรียกว่าเห็น อนัตตา
หรือเราจะเห็นอนิจจังบ้าง เห็นอนัตตาของจิตบ้าง ปัญญามันจะเกิด ตรงที่เราสามารถเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา หรือเห็นทุกขังได้ เห็นไตรลักษณ์ได้ เรียกว่าเห็นความจริงของรูปนามกายใจ คือตัววิปัสสนากรรมฐาน
หลวงพ่อย่อวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งการฝีกสมาธิ ทั้งฝึกวิปัสสนา รวบลงมาเหลืออยู่ในจุดเดียวที่จะช่วยพวกเราให้ง่ายขึ้น ก็คือ ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ให้ย่นย่อลงกว่านั้นอีกก็คือ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเคลื่อนไป คอยรู้ทัน
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช
เรายืมร่างกายมาจากโลก ต้องดูแลรักษาของที่ยืมมาให้ดี ถ้าเราไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ ใจก็จะไม่ปรุงแต่ง ถ้ายังยึดกายยึดใจอยู่ ก็ยังปรุงแต่ง อย่างเรายึดว่าร่างกายนี้เป็นของเรานะ เราต้องคอยปรุงแต่ง ถ้าเรายึดว่าจิตใจเป็นของเรา เราก็ต้องปรุงแต่ง ต้องคอยหาความสุขมาประเคนให้มันเรื่อยๆ
ทุกวันนี้แต่ละคนทำอะไรอยู่นึกออกไหม ทุกวันนี้วิ่งหาความสุขมาให้กายมาให้ใจนะ ไม่ได้ทำอย่างอื่นหรอก ตลอดชีวิตเลยที่ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพื่อให้กายให้ใจมีความสุข ถ้าเมื่อใดเราปล่อยวางกายวางใจได้นะ เราจะไม่มีภาระ อย่างกินข้าว อาบน้ำ ขับถ่าย เราจะไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของเรา เราเห็นว่าร่างกายไปกินข้าวเอง ร่างกายมันไปอาบน้ำของมันเอง ร่างกายมันไปขับถ่าย ร่างกายมันเจ็บป่วยของมันเอง ไม่ใช่เรา ไม่มีภาระทางใจเกิดขึ้นเลย ร่างกายมันทำของมันเอง  ไม่ใช่เราทำ
เมื่อก่อนหลวงพ่อรู้สึกว่า ร่างกายนี้น่าเบื่อที่สุดเลย เราภาวนาแล้วได้เห็นกายนี้มันมีแต่ทุกข์ มีแต่ภาระ เดี๋ยวหิว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวต้องขับถ่าย เดี๋ยวอย่างโน้น เดี๋ยวอย่างนี้ มีภาระที่ต้องดูแลรักษามากมาย กลุ้มใจนะ ไม่ชอบเลย วันหนึ่งพอปัญญามันตามทัน เราก็เห็นร่างกายมันไปทำมาหากิน มันก็ไปทำของมันเอง เราไปเดือดร้อนอะไรกับมันด้วย ร่างกายมันไปซื้อข้าวมากินใช่ไหม มันก็เคี้ยวของมันเอง มันก็กลืนของมันเอง ไปหาเงินมาเอง ร่างกายมันทำของมันเอง แล้วเราไปยุ่งอะไรกับมันด้วย ทำไมต้องไปขี้เกียจแทนมัน เบื่อแทนมันด้วย
ค่อยๆ ภาวนานะ ความรู้ความเข้าใจจะค่อยๆ พลิกๆๆ จนเห็นเลย ทั้งกายทั้งใจเขาทำงานของเขาเอง ไม่ใช่ตัวเราหรอก พอเขาไม่ใช่เรา เราก็ไม่มีภาระ ไม่มีภาระไม่ใช่ว่าไม่ดูแล ความรู้สึกของผู้ภาวนาก็คือรายืมร่างกายนี้มาจากโลก ร่างกายนี้เป็นสมบัติของโลก ยืมเขามาใช้ เพื่อสร้างคุณงามความดี พัฒนาตนเอง เมื่อเรายืมเขามาใช้ก็มีหน้าที่ดูแลรักษาของที่ยืมให้ดีๆ ไม่ใช่ยืมเขามาใช้แล้วก็ทำปู้ยี่ปู้ยำให้พังๆ ไป
ฉะนั้นเราก็มีหน้าที่ดูแลรักษาร่างกาย เจ็บป่วยก็ไปหาหมอ มันปวดมันเมื่อย ก็เปลี่ยนอิริยาบถ เวลามันหิวก็ไปกินข้าว  มันร้อนก็อาบน้ำ มีหน้าที่ดูแลไป ดูแลเพื่อเอาเขาไว้ใช้งาน ไม่ใช่ว่าพอไม่ยึดเป็นของเราแล้ว จะไปโหดร้ายทารุณกับมัน ยืมของเขามาแล้วไม่รักษา ก็ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเราก็ดูแลรักษาร่างกาย ส่วนจิตใจเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ให้คอยรู้เอา ก็เห็นเลย คิดดีเขาก็คิดเอง คิดร้ายเขาก็คิดเอง สุขเขาก็สุขเอง ทุกข์เขาก็ทุกข์เอง กุศลอกุศลก็เกิดขึ้นได้เอง
คอยรู้คอยดูนะ สิ่งที่หลวงพ่อพูดดูเหมือนยาก มันยากสำหรับการฟังเบื้องต้นเท่านั้นแหละ แต่ว่าพอพวกเราอดทนฟังไปเรื่อยๆ จนสติตัวจริงเกิดแล้วจะไม่ยากอีกต่อไป เราไม่ต้องทำอะไร ร่างกายเคลื่อนไหวเรารู้สึก จิตเคลื่อนไหวเรารู้สึก มันรู้สึกเอง รวมความแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย ร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้สึก จิตเคลื่อนไหวก็รู้สึก รู้สึกได้เอง พอรู้สึกมากๆ ต่อไปปัญญาก็เกิด เห็นว่าตัวที่เคลื่อนไหวไม่ใช่เราหรอก ต่อไปก็ดูไปอีกเห็นอีก ทั้งกายทั้งใจเป็นทุกข์ล้วนๆ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ตั้งใจรักษาศีลห้าเอาไว้ ศีลห้าจำเป็นมากเลย ถ้าจะไปมรรคผลนิพพาน ไม่มีศีลห้าอย่ามาโม้เลย ไปไม่รอด ใจฟุ้งซ่าน ฉะนั้นตั้งใจรักษาศีลไว้ก่อน แล้วก็ลงมือปฏิบัติในรูปแบบด้วย เจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวันนี่ดีที่สุดแล้ว แต่แค่นั้นบางทีไม่ไหวไม่มีกำลังพอ ต้องทำในรูปแบบนะ ทำสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ทำสมถะบ้าง
ทำในรูปแบบนี่ทำได้ ๒ แบบ บางทีก็ทำสมถะ บางทีก็เจริญวิปัสสนาในรูปแบบ เช่นเราหายใจไปเรื่อยๆ นะ วันไหนจิตใจมันฟุ้งซ่านเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ามาก จิตจับเข้ากับลม  พักผ่อนอยู่กับลมแล้วมีความสุข นี่ทำสมถะ
วันไหนที่มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขี้เกียจขี้คร้านเอาแต่ความสุขนะ รู้สึกกายรู้สึกใจไป เห็นร่างกายมันหายใจ ร่างกายที่หายใจนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา เห็นจิตใจมันทำงานไป หายใจไปแป๊บ หนีไปคิดเรื่องโน้น หายใจไป วิ่งมาเพ่งอยู่ตรงนี้ รู้ทันจิตใจไป
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราปฏิบัติในรูปแบบก็เลยมี ๒ อย่าง ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา พลิกไปพลิกมา ซ้อมวิปัสสนาในขณะที่ทำรูปแบบนี่ มันจะทำให้เราเห็นสภาวะได้ชัด มากกว่าตอนที่อยู่ในโลกข้างนอกนี้ อย่างตอนที่นั่งดูเราเห็นจิตมันทำงาน ดูสบายๆ นะ อย่าถลำลงไปดู ดูสบายๆ เห็นมันทำงานไปเรื่อย มันจะเห็นได้ละเอียดได้ประณีตกว่าตอนที่อยู่ในโลกข้างนอกนี้ ความรู้ความเห็นใดๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่ทำในรูปแบบอยู่นี้ เป็นความรู้ความเห็นที่ชัดเจนแจ่มใส ชัดกว่าความรู้ความเห็นที่อยู่กับโลกข้างนอกอย่างนี้ แต่ว่าจะทำในรูปแบบอยู่ตลอดชีวิตไม่ได้ใช่ไหม ถึงเวลาออกมาอยู่ข้างนอกนี้ ชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่กับโลกข้างนอกนี้ เราก็มาเจริญสติในชีวิตประจำวัน
เราภาวนาอย่างนี้นะ ถือศีลไว้ ปฏิบัติในรูปแบบไป ทำสมถะเมื่อควรทำ ทำวิปัสสนาเมื่อควรทำ หมดเวลาแล้วมาเจริญสติในชีวิตประจำวัน ยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึกตัว จิตใจเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกุศลอกุศล ก็คอยตามรู้ตามดูเรื่อยๆ ไป อย่างนี้ถึงจะมีโอกาสได้มรรคได้ผลนะ ไม่ใช่นอนกระดิกเท้ากินเหล้าเมายาไปเรื่อยๆ แล้วนานๆ มาดูจิตสักแวบหนึ่ง หวังว่าจะเป็นพระอรหันต์ ไม่ได้เป็นหรอก ไม่นานเขาก็เอาไปเผาแบบหมูหัน
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เกิดขึ้นมาอายุสั้นอายุยาว ก็ท่องเที่ยวไปที่นั่นมาที่นี่ ไปใกล้ไปไกล ผลสุดท้ายก็มาที่จุดนี้ จะไปไหนก็มีกิเลสครอบงำเป็นนาย บังคับจิตไปเรื่อยๆ จะไปสู่ภพใดก็เพราะกรรม วิบาก ซึ่งเป็นอำนาจของกิเลส พาให้เป็นไป ส่วนมากเป็นอย่างนั้น
มีกรรม วิบาก และกิเลส ควบคุมไปเหมือนผู้ต้องหา ไปสู่กำเนิดนั้นไปสู่กำเนิดนี้ เกิดที่นั่นเกิดที่นี่ ก็เหมือนผู้ต้องหา ไปด้วยอำนาจกฎแห่งกรรม โดยมีกิเลสเป็นผู้บังคับบัญชาไป สัตว์โลกเป็นอย่างนี้ด้วยกัน ไม่มีใครที่จะเป็นคนพิเศษ ในการท่องเที่ยวใน วัฏสงสารนี้ ต้องเป็นเช่นเดียวกัน ผู้ที่เป็นคนพิเศษคือผู้ที่พ้นจากกงจักร คือเครื่องหมุนของกิเลสแล้วเท่านั้น
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อผู้ใดมีวิชชาเกิดขึ้นในตนเองแล้ว ก็ย่อมจะเห็นความจริงว่า อันใดเป็นบุญ อันใดเป็นบาป คนที่ยังไม่มีวิชชาเกิดขึ้น ใจตนก็ยังหลงงมงายอยู่ เช่น ยึดถือว่าร่างกายเป็นของของคนบ้าง คือ ยึดในขันธ์ ๕ ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของของตน เป็นต้น
บางคนก็ถือเอาความโลภ โกรธ หลง เป็นตัวเป็นตน เช่น ในคราวโลภก็ถือเอาโลภมาเป็นตัวของตัว ในคราวโกรธก็ถือเอาความโกรธ มาเป็นตัวของตัว ในคราวหลงก็ถือเอาหลงมาเป็นตัวของตัว
แต่พวกนี้มันก็เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว บางทีในคราวที่ไม่โกรธก็ถือว่า ความไม่โกรธนั่นแหละเป็นตัวของตัว แล้วในคราวที่ไม่โลภ ไม่หลง ก็ถือเอาความไม่โลภไม่หลงนั้นแหละมาเป็นตัวของตัวอีก ก็เลยป้วนเปี้ยนกันอยู่อย่างนี้ นี่เป็นเพราะอวิชชาความไม่รู้จริง
ถ้าใครมีวิชชาเกิดขึ้นแล้ว ถึงจะมีความโลภก็ไม่ถือเอาความโลภ ว่าเป็นตัวของตัว ความโกรธ ความหลงก็เช่นเดียวกัน
พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
อย่าไปข่มใจ ใจของทุกคนเหมือนเด็ก เป็นเด็กซนเด็กดื้อด้วย อย่างเราจะเรียกเด็กเข้าบ้าน เด็กไปวิ่งเล่นหน้าบ้าน เราจะเรียกให้ลูกเราเข้าบ้าน ไปบังคับเอาเชือกไปลากคอมานะ เด็กก็อึดอัดใช่ไหม เด็กก็เครียดสิ ถ้าอยากให้เด็กกลับมาอยู่กับความสงบ อยู่ในบ้านไม่หนีไปเที่ยว เอาขนมไปล่อ ไอ้คนนี้ชอบกินไอติม เอาไอติมไปล่อมัน
นี่แหละที่เราทำกัมมัฏฐาน คือเอาอารมณ์ที่สบายใจไปล่อมัน บางคนรู้พุทโธแล้วสบายใจ พุทโธก็เหมือนไอติมที่เอาไปหลอกเด็กนั่นแหละ เด็กก็เข้ามากินไอติมในบ้านไม่วิ่งซนไป คนนี้หัดรู้ลมหายใจแล้วสบาย ก็ไปรู้ลมหายใจ รู้เล่นๆ  เหมือนเอาขนมไปล่อ จิตมันพอใจที่จะรู้ลมหายใจ มันก็กลับเข้ามาไม่หนีไปเที่ยว คนไหนจะดูท้องพองยุบก็ดูไป จิตมันชอบใจที่จะดูท้องพองยุบ ดูสบายๆ  มันก็กลับมารู้สึกอยู่ที่ท้องได้ ไม่หนีไปเที่ยว
ฉะนั้นหลักของการทำสมถกัมมัฏฐานต้องสบายนะ ตัวสบายเท่านั้นแหละถึงจะสงบ ในอภิธรรมถึงกับสอนเลย ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดความสงบ ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ไม่ใช่ไปบังคับมัน ดังนั้นถ้าปฏิบัติแล้วเครียดกับกาย ถึงเราพยายามจะบังคับใจของตัวเองแล้ว ก็ยังไม่มีความสุข จะไม่สงบเลย
ศาสนาพุทธสอนเรื่องเหตุกับผลไว้ ทำเหตุอย่างนี้มีผลอย่างนี้ อยากให้เกิดปัญญาใจต้องตั้งมั่น ใจจะตั้งมั่นได้ จิตใจต้องมีความสุขอยู่ในอารมณ์ที่รู้ ถึงจะมีสมาธิขึ้นมา จิตจะรู้ในอารมณ์ได้ รู้รูปนามได้ จิตต้องจำอารมณ์รูปนามได้ แต่ละตัวจะมีเหตุมีผลทั้งหมดเลย
การที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำทำให้เกิดสติ ทันทีที่มีสติจิตจะเป็นกุศล ทันทีที่จิตมีกุศล จิตจะมีความสุข ทันทีที่จิตมีความสุข จิตจะตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้รูป ก็เห็นความจริงของรูปว่าไม่ใช่เรา ปัญญาแก่รอบจริงๆ วิมุตติก็เกิดขึ้น ปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจ ธรรมะมีเหตุมีผลนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ถ้าใจไม่ตั้งมั่นใจก็จะไหล ไหลไปไหน ไหลไปรวมกับกาย ไหลไปรวมอยู่กับเวทนา ไหลไปรวมอยู่กับสังขาร จิตตสังขารในใจเรา ไหลไปรวมกับว่างๆ หรือบางทีก็ไหลออกนอก ไหลไปคิดไปนึกไปปรุงไปแต่ง นี่เรียกว่าใจมันไม่ตั้งมั่น ใจเราจะแฉลบซ้ายแฉลบขวาอยู่ทั้งวันนะ ค่อยฝึกนะ ฝึกไปช่วงหนึ่งจะมองเห็น ใจจะแฉลบไปแฉลบมาตลอดเวลา เดี๋ยวแฉลบไปดู  เดี๋ยวแฉลบไปฟัง เดี๋ยวแฉลบไปคิด  เดี๋ยวแฉลบไปเพ่ง มีสารพัดรูปแบบ นี่ใจมันไม่มีสัมมาสมาธิ
ถ้ามีสตินะ ใจหลงไปคิดรู้ทันว่าใจหลงไปคิด ใจมันจะตั้งมั่นขึ้นมา แต่ตั้งได้แวบเดียวนะ เดี๋ยวก็ไหลอีก ทีนี้พอไหลไปเรารู้  ไหลไปเรารู้ มันก็จะตั้งมั่นอยู่ได้นาน มันจะเหมือนตั้งได้ต่อเนื่อง ความจริงไม่ได้ตั้งต่อเนื่องหรอก จิตที่ตั้งมั่นก็เกิดดับทีละขณะ เหมือนกับจิตชนิดอื่นนั่นแหละ แต่มันเกิดบ่อย เกิดบ่อยจนเหมือนมันอยู่ได้นานๆ  
พออยู่ได้อย่างนี้เรื่อยๆ บางทีสติไประลึกรู้กาย บางทีสติไประลึกรู้จิต จงใจระลึกไม่ได้ มันระลึกของมันเอง เดี๋ยวก็รู้กาย  เดี๋ยวก็รู้จิต พอรู้มากๆ  มันจะเห็นความจริง เอ้อ กายเมื่อกี้นี้อย่างนี้ กายตอนนี้อย่างนี้ จิตตะกี้อย่างนี้ จิตเดี๋ยวนี้อย่างนี้ เห็นไม่เหมือนกัน หรือเห็นว่ากายในปัจจุบันนี้ที่เรามองอยู่ มันของถูกรู้ถูกดู จิตที่เราตามรู้ตามดูนี่ก็ของถูกรู้ถูกดู ไม่มีตัวเราเลย ไม่ใช่ตัวเราเลย เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมด
การที่เห็นกายเห็นใจไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูบ้าง ของอยู่นอกๆ บ้าง เป็นของเกิดดับบ้าง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นบ้าง เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นความจริง การเห็นความจริงเรียกว่าปัญญา
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
การปฏิบัติไม่ยากนะ อยู่ที่เราทำตัวเราเองนะ วันๆ ฟุ้งซ่าน เที่ยวเล่นโน้นเล่นนี้ไปเรื่อย ไม่มีเวลาดูตัวเอง สนใจเรียนรู้ตัวเองให้เยอะๆ ดูลงในร่างกาย ดูลงในจิตใจตัวเอง ฝึกบ่อยๆ "จนมันอัตโนมัติ"
อัตโนมัติเป็นยังไง? หมายถึงว่า อย่างร่างกายเราขยับมันรู้สึกเอง รู้สึกได้เอง จิตใจเราเคลื่อนไหวนะรู้สึกได้เอง ไม่ได้เจตนารู้สึก ต้องฝึก! จนกระทั่งมันรู้สึกเอง เนี่ยสติอัตโนมัติ แล้วพอใจเราไหลไป เคลื่อนไป ไหลไปคิด สติก็รู้ทัน สมาธิอัตโนมัติก็จะเกิดขึ้น ไม่ได้เจตนาให้จิตมีสมาธิ แต่สมาธิเกิดเอง ทำไมสมาธิเกิดเอง? เพราะจิตไม่ฟุ้งซ่าน ทำไมจิตไม่ฟุ้งซ่าน? เพราะมีสติรู้ทันความฟุ้งซ่านของจิต
อย่างจิตหนีไปคิด เนี่ยจิตมันฟุ้งซ่าน เรารู้ทันว่าจิตหนีไปคิด สมาธิจะเกิดเอง นี้จิตรู้จะเกิดขึ้นแทนที่จิตคิด จิตคิดดับไป เกิดจิตรู้ขึ้นแทน ต้องฝึกจนเป็นสมาธิอัตโนมัติ หมายถึงจิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว "โดยไม่รักษา" ถ้ายังต้องรักษาอยู่ จิตยังแข็งๆ เครียดๆ อยู่อย่างนี้ ยังใช้ไม่ได้
งั้นเราฝึกนะให้ได้สติอัตโนมัติ ให้ได้สมาธิอัตโนมัติ แล้วก็ดูรูปนาม/กายใจเขาทำงานไป ต่อไปมันจะเริ่มเห็นว่า ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เห็นจนมันรู้แจ้งแก่ใจนะ ว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฝึกเรื่อยๆ
พอสติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติเกิดแล้วนะ เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ดูความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ วิธีดู ก็ดูอย่างที่หลวงพ่อสอนเมื่อเช้านี้ ง่ายๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรานะ มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอกระทบแล้วความรู้สึกของเราเกิดขึ้น รู้สึกสุข ก็รู้ทัน รู้สึกทุกข์ ก็รู้ทัน รู้สึกดี รู้สึกชั่ว ก็รู้ทันไป ปัญญามันก็จะค่อยๆเกิดขึ้นมา
มันจะเห็นว่า ความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว ความสุขก็สั่งไม่ได้ ความทุกข์ก็สั่งไม่ได้ กุศล หรืออกุศล/โลภ โกรธ หลง ก็เป็นของชั่วคราว ควบคุมบังคับมันไม่ได้ เนี่ยคือตัวปัญญาเริ่มเห็นความจริง คือเริ่มเห็นไตรลักษณ์ เห็น(ไตรลักษณ์)ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ จนจิตมันฉลาด มันรู้ว่าสภาวะที่เป็นคู่ๆทั้งหลาย คือความปรุงแต่งทั้งหลาย มันจะมีสภาวะที่เป็นคู่ๆ เช่นดีกับชั่ว สุขกับทุกข์ สิ่งที่เป็นคู่ๆทั้งหลายนะ มันเท่าเทียมกัน
ความสุขกับความทุกข์ มันเท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ หมายความว่า ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความสุขก็บังคับไม่ได้ ความทุกข์ก็บังคับไม่ได้ หรือความดี ความชั่ว ก็เป็นของเป็นคู่ๆกัน ก็บังคับไม่ได้ เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป
เนี่ยพอใจมันมีปัญญานะ มันรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเท่าเทียมกัน สภาวธรรมที่เป็นคู่ๆนั้นเท่าเทียมกัน (เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์) สิ่งที่เป็นคู่ๆ ก็มีเยอะแยะ เช่น หายใจออกกับหายใจเข้าก็เป็นคู่กัน ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นคู่กัน บางคนบอก แต่มันมีสีอิริยาบถมันเป็นคู่ได้ยังไง คำว่าคู่เนี่ยหมายถึงมีภาคี/มีการเปรียบเทียบได้
เปรียบเทียบได้ อย่าง ยืน เดิน นั่ง นอน สี่อิริยาบถ มันก็ถือว่าเป็นธรรมคู่ เป็นธรรมที่เปรียบเทียบได้ ยืน ก็ไม่เหมือนกับเดิน ไม่เหมือนกับนั่ง ไม่เหมือนกับนอน อย่างนี้แต่ละตัวไม่เหมือนกัน มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน ดูอย่างนี้ก็ได้
ดูหายใจออกหายใจเข้าก็เป็นคู่ได้ ดูสุขดูทุกข์ก็เป็นคู่ได้ หรือเราเป็นคนขี้โกรธ เราดูคู่ที่เราจะใช้ดู สำหรับคนขี้โกรธก็คือ มีความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ ความโกรธหายไปก็รู้ จิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธนะ เป็นคู่หนึ่ง
ถ้าเราขี้โลภ เราก็ดูจิตที่โลภกับจิตไม่โลภ เราเป็นคนหลงเก่ง ก็ไปดูจิตที่หลงกับจิตที่ไม่หลง คือจิตรู้นะ
เราเป็นคนฟุ้งซ่าน เราก็ดูคู่ของความฟุ้งซ่านคือความหดหู่ มันจะซึม พอช่วงไหนฟุ้งมากๆ อีกช่วงหนึ่งมันจะซึม ไปดูเอา มันจะพลิกไปพลิกมา พอหายซึมก็ฟุ้งใหม่ หายซึมก็ฟุ้งใหม่ เป็นคู่กัน
เนี่ยเรียนสิ่งที่เป็นคู่ๆนะ จนกระทั่งเห็นว่าทั้งสองด้านนะ ทั้งด้านดี ด้านชั่ว ด้านสุข ด้านทุกข์ ล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น เกิดแล้วดับทั้งสิ้น บังคับไม่ได้ ถ้าปัญญาเรารู้แจ้งแทงตลอด ว่าความปรุงแต่งที่เป็นคู่ๆทั้งหลายเนี่ย เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน งั้นต่อไปเวลาความสุขเกิดขึ้น จิตจะไม่หลงยินดี ความทุกข์เกิดขึ้น จิตจะไม่หลงยินร้าย กุศลเกิดขึ้น จิตก็ไม่หลงยินดี อกุศลเกิดขึ้น จิตก็ไม่หลงยินร้าย จิตเข้าสู่ความเป็นกลาง ต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง จิตเป็นกลางต่อธรรมะที่เป็นคู่ๆ
เมื่อจิตเป็นกลางแล้วนะ จิตจะไม่ดิ้นรนปรุงแต่งต่อ ความปรุงแต่งเกิดขึ้น จิตรู้ด้วยความเป็นกลาง จิตไม่ปรุงต่อด้วยความยินดียินร้าย ถ้าจิตไม่มีปัญญา เนี่ยจิตจะเกิดยินดีต่ออย่างหนึ่ง ยินร้ายต่ออีกอย่างหนึ่ง ในสิ่งที่เป็นคู่นั้น ก็เลยมียินดีกับยินร้ายไปเรื่อยๆ พอยินดีจิตก็ดิ้นรน ติดอกติดใจก็ดิ้นรนแสวงหา อยากให้มันมาอีก หรือมันมาแล้ว สภาวะอันนั้นมาแล้ว ก็อยากให้มันอยู่นานๆ เนี่ยตัณหามันมีขึ้นมา ถ้าไม่ชอบมันก็อยากให้มันหายไปสิ้นไป หรืออยากให้มันไม่เกิดขึ้นอีก นี่ก็คือตัณหา(เรียกว่า)วิภวตัณหา อยากให้ไม่มี อยากให้ไม่เป็น
เมื่อตัณหาเกิดขึ้น ความปรุงแต่งของจิตก็จะเกิดขึ้นอีก ความปรุงแต่งก็คือการสร้างภพของจิตนั่นเอง มีตัณหาเมื่อไหร่จิตก็สร้างภพ บางทีก็เป็นภพของนักปฏิบัติ บางทีก็เป็นภพของพ่อ ภพของแม่ ภพของลูก ภพของอาจารย์ ภพของนายจ้าง ภพของลูกจ้าง สร้างภพขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็สร้างหน้ากากสร้างอะไรขึ้นมานะ หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เวลาเป็นคนดีก็ต้องทำมาดอย่างนี้ เวลาเจอศัตรูเราต้องทำปั้นปึ่งใส่ เชิดหน้าใส่ อะไรอย่างนี้มันต้องแสดง
เนี่ยใจมันปรุงไปเรื่อยๆนะ มันไม่มีทางพ้นทุกข์หรอก เพราะว่าปรุงแต่งไม่เลิก ถ้าเมื่อไหร่จิตเข้าสู่ความเป็นกลาง ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงแล้วเนี่ย มันจะไม่หลงยินดี มันจะไม่หลงยินร้าย ต่อสิ่งที่เป็นคู่ๆทั้งหลายทั้งปวง เมื่อไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ก็จะไม่มีความปรุงแต่งต่อ ไม่มีความอยากเกิดขึ้น ถึงจุดนึง ที่สติ สมาธิ ปัญญาของเราพอ ศีลของเราดี จิตจะรวมเข้าอัปนาสมาธิโดยที่เราไม่ได้เจตนา มันจะรวมของมันเองนะ แล้วกระบวนการของอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
การปล่อยวาง ที่แท้จริงนั้น ไม่ได้เป็นผลของการบังคับด้วยอำนาจของสมาธิ ต้องเป็นผลของการรู้แจ้ง ด้วยอำนาจของปัญญา อุปสรรคที่ทำให้เราปล่อยวางไม่ได้ ได้แก่ ความยึดถือ ในกาม ในทิฏฐิ ในสีลัพพตปรามาส และในตัวตน เราจะต้องทำความรู้ความเข้าใจ ในของ 4 อย่างนี้ ซึ่งเรียกโดยสมมุติว่า เป็นสมบัติที่ปุถุชนอุตส่าห์หอบหิ้วมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ด้วยความยึดถือที่เรียกว่าอุปาทาน
เมื่อได้ศึกษาทราบ เรื่องกาม เรื่องทิฏฐิ เรื่องศีลพรต และตัวตน อย่างถูกต้องและเพียงพอแล้ว ย่อมเกิดความปล่อยวางในสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ ด้วยอำนาจของปัญญา เพราะว่าเราไม่อาจจะปล่อยวางได้ด้วยอำนาจของการบังคับ แม้ด้วยอำนาจของสมาธิ ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดการปล่อยวางได้ ได้แต่เพียงบังคับ
การปล่อยวางที่แท้จริงนั้น ไม่ได้เป็นผลของการบังคับ ต้องเป็นผลของการรู้แจ้งในสิ่งเหล่านั้น จนเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากสิ่งเหล่านั้น ในตัวมันเอง นี่เราเรียกว่าความปล่อยวาง
เมื่อมีการปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การบรรลุโลกุตตรธรรม ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิ
ก่อนหน้านั้น สัตว์ตั้งอยู่ในโลกียภูมิ และติดแน่นอยู่ด้วยโลกียธรรม ครั้นศึกษาทราบลักษณะอันแท้จริง จนปล่อยวางโลกียธรรมทั้งหลายได้ ก็พ้นจากโลกียภูมิมาสู่โลกุตตรภูมิ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลุถึงโลกุตตรธรรม
พุทธทาสภิกขุ
เวลาจะกินข้าว ให้กินด้วยความมีสติ พิจารณาอาหาร กินเพราะอะไร กินเพราะจำเป็น ไม่ใช่กินด้วยความเมามัน จะแต่งเนื้อแต่งตัว ก็รู้ว่าเราแต่งตัวไปเพื่ออะไร เราใส่เสื้อผ้าเพราะมันจำเป็น ไม่ใช่เพื่อสนองกิเลสไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นพระจะห่มจีวรนี่ต้องพิจารณา ห่มจีวรเพื่อกันร้อน กันหนาว กันแมลง กันโป๊นะ
พิจารณานะ ใช้เพราะมันจำเป็น กินเพราะอะไร เพราะจำเป็น ใส่เสื้อผ้า เพราะมันจำเป็น กินยา เพราะว่ามันจำเป็น เวลาจะอยู่บ้าน เข้าบ้านก็พิจารณา อย่างพระอยู่กุฏิก็พิจารณาว่า ทำไมต้องอยู่กุฏิ จำเป็นอย่างไร บริโภคก็ตามความจำเป็น นี้เป็นศีลอันหนึ่งของเราเหมือนกัน อย่างจะซื้อเสื้อผ้าอะไรนี่ พิจารณาหน่อยทำไมต้องซื้อ ถ้าตามแฟชั่นก็คือเป็นทาสเขานั่นแหละ คนกำหนดแฟชั่นมันเก่งนะ มันสั่งคนทั้งโลกได้
ถ้าเรามีสติรักษาจิตไปเรื่อยนะ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ เราจะมีศีลที่ดี คืออินทรียสังวรศีล เราก็รักษาศีลได้แน่นแฟ้น มั่นคง ไม่คลอนแคลน เราจะมีศีลที่น่าชมเชย มีศีลที่ไม่ด่างพร้อย ไม่ขาด ไม่ทะลุ เรียกอริยกันตศีล ศีลที่พระอริยเจ้าชมเชย
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เวลาร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นเนี่ย สิ่งที่จะทำนะ คือการเคลื่อนไหว สังเกตดูเถอะ อย่างเวลาเจ็บหนักๆ จริงๆ ก็จะดิ้นไปดิ้นมา พยายามจะดิ้นหนีทุกข์ เวลาเรานั่งอยู่เมื่อยแล้วก็ขยับ เคลื่อนไหวหนีทุกข์ นอนอยู่นานๆ ก็เมื่อย ก็พลิกตัวหนีทุกข์ มันเป็นเรื่องหนีทุกข์ตลอด เพราะฉะนั้น ความทุกข์เนี่ย แสดงตัวอยู่ตลอดเวลานะในร่างกายนี้ แต่เราละเลยที่จะเรียนรู้ เราก็เลยหลงใหล ปลาบปลื้ม อยู่กับร่างกายนี้ไม่เลิก ถ้าเรามีสติระลึกอยู่ในร่างกายเนืองๆ เราจะเห็นร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์นะ ไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของวิเศษ
พอใจมันยอมรับความจริงว่า ร่างกายนี้คือตัวทุกข์แล้วเนี่ย ต่อไปไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย จิตเราจะไม่ทุกข์ ทุกข์จะอยู่ที่กายเท่านั้น แต่จิตจะไม่ทุกข์ ร่างกายจะแก่ เรารู้สึกมันธรรมดา ร่างกายเจ็บไข้ ก็ธรรมดา ร่างกายจะตาย ก็ธรรมดา พอใจมันรู้สึกว่า ธรรมดาๆ ธรรมดานี่แหละของสำคัญนะ พวกเราพยายามจะให้ผิดธรรมดา เช่น ไม่ยอมแก่ ไม่ยอมเจ็บ ไม่ยอมตาย เนี่ยอยากผิดธรรมดา ในขณะที่ความจริงแล้วมันทำไม่ได้
งั้นความจริงคือธรรมดา มันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย เด็กเกิดวันหนึ่ง มันก็แก่ไปวันหนึ่งแล้ว มันก็ใกล้ความตายเข้าไปวันหนึ่งแล้ว ทำไมเด็กมันต้องร้อง มันทุกข์ มันหิวนมมันก็ร้อง มันทุกข์ พยายามดิ้น ไม่ถูกใจอะไรก็ดิ้นๆ เคลื่อนไหวพยายามหนี ถ้าดูแล้วมันน่าสลดสังเวชนะ เราพยายามดิ้นหนีความทุกข์ตลอดเวลา แล้วมันหนีไม่ได้
เรียนรู้ลงไป พระพุทธเจ้าบอก "ทุกข์ให้รู้" (ทุกข์ คือขันธ์ ๕ ย่อลงมาคือกายกับใจ) ไม่ใช่ทุกข์ให้ละ ไม่ใช่ทุกข์ให้หนี มีสติอยู่ในร่างกาย แล้วก็จะเห็นทุกข์ในร่างกาย แล้วถ้าเราพัฒนาไปนะ เรามีความรู้สึกมีสติ รู้สึกจิตใจตัวเอง เราจะเห็นความทุกข์ในจิตใจ เราจะเห็นเลย(ว่า) ทุกคราวที่ใจมีความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้น ทุกคราวที่ใจมีความดิ้นรนปรุงแต่ง ความทุกข์จะเกิดขึ้น
มันจะเห็นนะ อย่างใจเราอยากอะไรขึ้นมานิดเดียวนะ จะสมอยาก(หรือ)จะไม่สมอยาก ไม่สำคัญหรอก แค่ใจมีความอยากเกิดขึ้น ใจก็มีความทุกข์แล้ว อย่างเราอยากเจอสิ่งที่ดีๆเนี่ย แค่อยากเจอสิ่งที่ดีๆนะ ใจก็ทุกข์แล้ว อยากจะหนีจากสิ่งที่ไม่ดี ใจก็ทุกข์แล้ว เนี่ยค่อยๆ สังเกตไป ทันทีที่ใจมีความอยากใจก็มีความทุกข์ พอมีความอยากเกิดขึ้นใจดิ้นรน เมื่อไหร่ใจเกิดความดิ้นรน ใจก็มีความทุกข์
เวลาที่เรานั่งสมาธิเราอยากสงบ เราทุกข์หรือเราสุข ตอนนั่งสมาธิสุขหรือทุกข์ ถ้าสติปัญญาไม่พอก็ว่าสุขนะ เข้าฌานมีความสุข สติปัญญามากพอเราจะรู้เลย ฌานทั้งหลายเนี่ยเป็นโลกๆ หนึ่ง เป็นภพๆหนึ่ง ยังไม่พ้นจากทุกข์หรอก กระทั่งเข้านิโรธสมาบัติ นิโรธฯ ยกเว้น อันนั้นพวกเราเข้าไม่เป็น ทิ้งไปก่อน
อย่างเข้าอรูปฌานอะไรอย่างนี้นะ เข้าอรูปฌานได้ก็นึกว่ามีความสุข ถ้าไม่มีสติปัญญาพอก็เห็นว่ามีความสุข ถ้ามีสติปัญญาพอนะ ก็เห็นว่าอรูปฌานก็ยังทุกข์อยู่ เป็นโลกๆหนึ่ง มีความแตกสลายเกิดขึ้นเหมือนกัน เข้าอรูปแล้วสุดท้ายจิตก็หลุดจากอรูปมา กลับมาวนเวียนอีก
เนี่ยเฝ้ารู้ลงไปนะ ในจิตเนี่ยเต็มไปด้วยความทุกข์ จิตจะสมอยากหรือจะไม่สมอยากนะ แค่อยากก็ทุกข์แล้ว จิตปรุงแต่ง ไม่ว่าจะปรุงดี(ปุญญาภิสังขาร) หรือปรุงชั่ว(อปุญญาภิสังขาร) ปรุงความว่าง(อาเนญชาภิสังขาร) ก็ทุกข์ทั้งสิ้น
ปรุงชั่ว คนส่วนใหญ่คิดว่าปรุงชั่วแล้วจะมีความสุข อย่างไปหลอกสาว หลอกสำเร็จแล้วมีความสุข คิดอย่างนี้ มันไม่สุขจริง เดี๋ยวมันก็ต้องไปหลอกคนอื่นอีก เพราะความสุขมันไม่อิ่มมันไม่เต็มสักที งั้นตอบสนองกิเลสเท่าไหร่ๆ หวังว่าจะมีความสุข มันก็ไม่มีความสุข งั้นความปรุงชั่วเรียกว่า อปุญาภิสังขาร ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขจริง
พยายามปรุงดีนะ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา ในขณะที่เราภาวนาไปเรื่อยๆนะ เราจะรู้เลย จิตเข้าสมาธิก็เป็นภาระ จิตเจริญปัญญาก็เป็นภาระ เนี่ยถ้าปัญญาเราแก่กล้าพอนะ ถ้าปัญญาไม่แก่กล้าไม่เห็นหรอก แต่ถ้าปัญญาแก่กล้าพอนะจะรู้เลย ความปรุงแต่งที่ดีๆเนี่ย ความปรุงแต่งแม้แต่เล็กแต่น้อยนะ ก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย
แต่ว่าโดยภูมิจิตภูมิธรรมของพวกเรานี้ พยายามอย่าไปปรุงแต่งชั่ว ให้ปรุงแต่งดีไว้ก่อน เพราะปรุงแต่งดีเนี่ย พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นโลกียะทั้งสิ้นนะ ศีล สมาธิ ปัญญาเนี่ย แต่สะสมไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งก็จะเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญาที่เป็นโลกุตตระ เป็นอีกแบบหนึ่ง เกิดขึ้นในขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง มันจะเปลี่ยนจิตใจของเราถึงรากฐานเลย มันจะดับสนิทเลย ความทุกข์ไม่เกิดอีก
เนี่ยเรียนรู้กายไปก็เห็นนะ กายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ เรียนรู้จิตใจไปก็จะเห็น จิตใจเต็มไปด้วยความทุกข์ มีความอยากทีไร มีความทุกข์ทุกที มีความปรุงแต่งทีไร มีความทุกข์ทุกที ปรุงหยาบๆ ก็ดูเห็นทุกข์ง่าย อย่างปรุงชั่วเนี่ยเห็นทุกข์ง่าย ปรุงดีนะมันละเอียดขึ้นไป ปุญญาภิสังขาร มันเป็นความปรุงที่ละเอียดกว่าความปรุงหยาบ ดูให้เห็นทุกข์เนี่ยต้องใช้ปัญญา มีปรุงอีกชนิดหนึ่ง เรียกอาเนญชาภิสังขาร(คือ)ปรุงหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ จิตจะเข้าไปสู่อรูปฌาน
พอเข้าถึงอรูปเนี่ย จะไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือแต่ใจดวงเดียวที่ทรงอรูปฌานอยู่ งั้นมีความสุขมีความสงบอยู่อย่างนั้นแหละ ตราบที่กำลังฌานยังให้ผลอยู่ ไม่กระทบอารมณ์ภายนอก เพราะฉะนั้นจิตไม่กระฉอก ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เนี่ยก็คิดว่าตรงนี้มีความสุข ตรงนี้เรียกว่าอาเนญชาภิสังขาร(คือ)หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ คนที่จะเห็นว่า(อาเนญชาภิสังขาร)ตัวนี้เป็นทุกข์ได้ บารมีต้องแก่กล้ามาก คนที่เห็นตรงนี้เป็นทุกข์ท่านแรกนะ ในศาสนาเราคือเจ้าชายสิทธัตถะ
เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบสได้ฌานที่ ๗ (อากิญจัญญายตนฌาน)เป็นอรูปชั้นที่ ๓ เป็นฌานที่ ๗ ไปเรียนกับอุทกดาบสได้ฌานที่ ๘ (เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน) เป็นอรูปฌานที่ ๔ สูงสุดแล้ว แล้วถามอาจารย์ว่ามีธรรมะที่ยิ่งกว่านี้อีกมั้ย อาจารย์บอกไม่มี หมดแล้ว หมดภูมิเท่านี้แล้ว แล้วก็เชิญเจ้าชายสิทธัตถะ มาช่วยเป็นผู้ช่วยสอน
เจ้าชายสิทธัตถะปัญญาแก่กล้า ท่านรู้ว่าการเข้าอรูปฌานหรืออาเนญชาภิสังขาร (คือ)ความปรุงความว่างๆเนี่ย ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์จริง หลุดออกจากความว่างเมื่อไหร่ ความทุกข์ก็ตามมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้น คำสอนอย่างนี้ ยังหาสาระแก่นสารเพื่อความพ้นทุกข์ไม่ได้ เนี่ยท่านเป็นองค์แรกนะในศาสนานี้ ที่เห็นว่า กระทั่งอาเนญชาภิสังขาร ก็ยังหาสาระแก่นสารไม่ได้ งั้นความปรุงชั่ว(อปุญาภิสังขาร) ความปรุงดี(ปุญญาภิสังขาร) ความปรุงความว่าง(อาเนญชาภิสังขาร) เป็นความปรุงที่ละเอียดๆ เป็นชั้นๆขึ้นไป แต่สติปัญญาแก่กล้าพอ ก็จะรู้ว่าไม่พ้นจากทุกข์หรอก
นี้พระพุทธเจ้าท่านก็เที่ยวแสวงหาทางพ้นทุกข์ ท่านรู้เลยว่า"ตัณหานี้พาให้ทุกข์" แต่ว่าปรุงดีก็ไม่ได้พ้น ปรุงชั่วก็ไม่ได้พ้น ปรุงว่างก็ไม่ได้พ้น ฝึกทางใจแล้ว ปรุงสามแบบนี้ ไม่ได้ผลหรอก(คือไม่พ้นทุกข์) ก็มาฝึกทางกาย ทรมานร่างกายนะ ทรมานไปเรื่อยๆ ก็พบว่าไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา เพิ่มความทุกข์ขึ้นมาเปล่าๆ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
สุดท้ายท่านก็ระลึกถึงตอนเด็กๆได้ ตอนเด็กๆ ท่านเคยเข้าสมาธิชนิดหนึ่ง ได้ปฐมฌานเองนะ ตอนเด็กๆ เข้าสมาธิชนิดหนึ่ง มีวิตก วิจารณ์ ปีติ มีความสุข มีจิตเป็นหนึ่ง มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นสมาธิชนิดรู้สึกตัว ไม่ใช่สมาธิฤาษีที่เคลิบเคลิ้มลืมตัว งั้นท่านระลึกถึงฌานที่ได้ตอนเด็ก ทำไมท่านทำอันนี้ได้ เพราะท่านเคยเรียนจากพระพุทธองค์ก่อนๆมาแล้ว เคยผ่านพระพุทธเจ้ามาหลายองค์แล้ว จนกระทั่งมาเจอพระพุทธเจ้าทีปังกร เมื่อสี่อสงไขยแสนมหากัปป์ก่อนนั้น
วันที่ท่านเจอพระพุทธเจ้าทีปังกร ท่านเป็นฤาษีชื่อสุเมธ/สุเมโธ วันนั้นนะ ท่านพร้อมที่จะบรรลุพระอรหันต์แล้ว แล้วท่านไม่เอา ท่านปรารถนาพุทธภูมิต่อ แล้วได้รับพยากรณ์ ถึงตรงนั้นนะ ท่านชำนาญมากอยู่แล้ว เรื่องสมาธิชนิดตั้งมั่นเนี่ย ไม่อย่างนั้นเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ งั้นท่านเก่งมาก่อน ที่จะเจอพระพุทธเจ้าทีปังกรอีกนะ นี่ท่านระลึกถึงสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้นะ ท่านก็ทำฌานไปทางใหม่แล้ว แต่ฌานคนละแบบที่ทำแบบฤาษี ทำฌานแบบฤาษีเนี่ย จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
อันนี้ท่านทำฌานไปนะ จนจิตเด่นดวงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถึงฌานที่ ๔ (จิต)เป็นอุเบกขา แล้วโน้มน้อมจิตนี้ไปเพื่อญาณทัศนะ ไปเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ อะไรมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่ ชาติมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่ ชาติคืออะไร การได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือรูปนามนั่นเอง ถ้าเราหยิบฉวยรูปนามเข้ามาเมื่อไหร่ ความทุกข์มีอยู่ แต่ท่านดูไปเรื่อย ทำไมไปหยิบฉวยรูปนาม (เพราะ)มันมีความอยาก อยากให้รูปนามเป็นสุข อยากให้รูปนามพ้นทุกข์ แล้วไปยึดถือรูปนามขึ้นมา
ความอยากนี้รากเหง้ามาจากไหน มาจากความไม่รู้ความจริง ของรูปนาม/กายใจ คืออวิชชา พอท่านเข้าใจความเป็นจริง ท่านไม่ได่คิดเอานะ ท่าน"เห็น"เอา จิตที่ทรงฌานที่ ๔ อยู่เนี่ยไม่มานั่งคิดหรอก ไม่มานั่งคิดหรอก แต่ดูสภาวะที่มันเป็นจริงๆ พอฌานสี่แล้ว  ท่านใช้ฌานสี่ ไม่หยุดนิ่งอยู่เฉยๆนะ มาเรียนรู้ความจริงของรูปนาม/กายใจ เรียนรู้สาวไปถึงต้นเหตุนะ ในที่สุดก็เข้าใจความเป็นจริง เพราะความไม่รู้อริยสัจหรือเพราะอวิชชานั่นเอง
ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ไม่รู้ว่าทุกข์ต้องรู้ ไม่ใช่ละ ไม่รู้ว่าสมุทัยคือตัณหาเนี่ยต้องละ ไม่ใช่ตอบสนอง ไม่รู้ว่านิโรธ(นิพพาน)คือต้องทำให้แจ้ง ไม่ใช่ทำให้เกิด นิพพานไม่มีใครทำให้เกิด ไม่รู้ว่ามรรคต้องทำให้เจริญ(คือ)เจริญศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา
เนี่ยพอรู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้นะ ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา โดยการเจริญปัญญา(วิปัสสนากรรมฐาน) ไม่ใช่ด้วยการทำสมาธินะ(สมถะกรรมฐาน) สมาธิ(ชนิดจิตตั้งมั่น)นั้นเป็นแค่ ทำจิตให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา งั้นบางคนมักง่าย บอกพระพุทธเจ้าบรรลุพระอรหันต์ เพราะว่าทำอานาปานสติ อันนั้นพลาดอย่างแรงนะ
อานาปานสติท่านทำไปเพื่อให้ได้ฌานที่ ๔ แต่เป็นอานาปานสติที่ประกอบด้วยสติ ได้ฌานสี่ซึ่งจิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วถัดจากนั้นท่านเจริญปัญญา ด้วยธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาปฏิจจสมุปบาท เจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เนี่ยสัจจบรรพ เรียนอริยสัจ งั้นถามว่าพระพุทธเจ้า ท่านบรรลุพระอรหันต์เพราะอะไร เพราะเจริญอะไร ไม่ใช่เพราะอานาปานสติ แต่เพราะ เจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานสัจจบรรพ
ถ้าเรียนอย่ามั่วนะ ไม่อย่างนั้นนั่งหายใจไปเรื่อยๆ หวังว่าวันหนึ่งจะบรรลุ ตอนหลวงพ่อเด็กๆ นะ หลวงพ่อฝึกอานาปานสติ ทีแรกคิดว่าหายใจไปเรื่อยๆ วันหนึ่งจะบรรลุพระอรหันต์ หายใจอยู่ตั้งยี่สิบกว่าปีก็หันอยู่แค่นั้นน่ะ หันซ้ายหันขวา หันขึ้นข้างบนบ้าง หันลงข้างล่างบ้าง หันซ้ายหันขวา ติดฝั่งซ้ายติดฝั่งขวา ติดข้างบน ติดข้างล่าง ติดดี ติดชั่ว ติดอย่างโน้นติดอย่างนี้ จิตติดสุขติดทุกข์อะไรอย่างนั้นไป ไม่พ้นหรอกนะ
ตัวที่จะพาเราให้พ้นได้จริงๆนะ คือวิปัสสนากรรมฐาน เรียนรู้ความจริงของรูปนาม/กายใจไป ดูว่าจริงๆ รูป(กาย)เป็นยังไง จริงๆ นาม(ใจ)เป็นยังไง เรียนรู้ว่ากายเป็นยังไง ใจเป็นยังไง กายเป็นยังไง กายก็เป็นทุกข์น่ะสิ ใจเป็นยังไง ใจก็เป็นทุกข์นั่นแหละ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งจิตจะปล่อยวางรูปนาม/ขันธ์ ๕ บรรลุพระอรหันต์กัน ตรงที่ปล่อยวางรูปนามได้นั่นแหละ
แล้วชีวิตที่เหลือนี่จะเต็มไปด้วยความสุข มันเป็นชีวิตที่เพื่อคนอื่น เพื่อสิ่งอื่น แล้วมันไม่ใช่เพื่อตัวเองแล้ว งานของตัวเองเสร็จธุระแล้วนะ มีความสุขสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็พยายามส่งทอดความสุขไปให้คนอื่น
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ใจอย่าดื้อกับธรรมะนะ ใจที่จะรองรับธรรมะได้นะ ต้องมีความสงบ มีความสำรวม รู้ ตื่น เบิกบาน ใจที่ฟุ้งซ่านรับธรรมะไม่ได้ ใจที่เคร่งเครียดก็รับธรรมะไม่ได้ มีใจอยู่สองอย่างที่ไม่ดีนะ ใจฟุ้งซ่าน เนี่ยใจมันหนีไปโน้น หนีไปนี้ กับใจที่เคร่งเครียด เราข่มตัวเองไว้ บังคับตัวเองไว้ ใจที่จะรับธรรมะได้นะ เป็นใจที่เปิด พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สภาวะมันจะเป็นผู้รู้นะ มันจะรู้เนื้อรู้ตัว มันตื่น เป็นภาวะที่ตื่นขึ้นมา มันน่าแปลกที่คนทั้งโลกเนี่ย หาคนตื่นน่ะ ได้น้อยเต็มที คนที่ตื่นจริงๆ มีน้อยเต็มที มีมากก็ยุคนี้แหละ เมื่อก่อนหาคนที่ตื่นเนี่ย หายากมากเลย
หลวงพ่อเคยสอนกรรมฐานให้เพื่อนกลุ่มหนึ่งนะ สมัยหลวงพ่อยังเป็นโยมอยู่ แล้วก็(พากัน)นั่งรถตู้ไปหาครูบาอาจารย์ ก็มีอยู่สิบคนอย่างนี้ เต็มรถตู้คันนึง เมื่อเข้าวัดไปนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านจิตไวๆนะ ท่านดูปุ๊บท่านก็อุทานว่า ไปรวมกันมาได้ขนาดนี้ได้ยังไง มีคนที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาสิบคนเนี่ย ท่านถือว่าเยอะมากแล้ว ซึ่งมันก็เรื่องจริง
ตามวัดต่างๆ นะส่วนใหญ่มันก็คนไปทำบุญ ไม่ได้คิดจะพัฒนาจิตตนเอง อีกพวกนึงก็ไปนั่งสมาธิให้จิตเคลิบเคลิ้มลืมตัวเอง จิตไม่ได้เป็นผู้ตื่นนะ(แต่)จิตเป็นผู้หลับ ในโลกหาคนที่ตื่นได้เนี่ย หายากมาก เราตื่นแต่ร่างกาย แต่จิตนั้นมันหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน มันก็คือคนหลับ ลืมตาอย่างนี้นะแต่จิตมันหลับ
ขั้นแรกเลยที่เราจะมาภาวนาเนี่ย ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นให้ได้ก่อน วิธีทำจิตให้ตื่นเนี่ย ไม่ใช่ไปเขย่ามันนะ ไปเขย่าๆ ตื่น! ตื่น! ตื่น! อย่างเนี้ย มันไม่ตื่นหรอก มันยิ่งหลงมากขึ้น ยิ่งดิ้นรนมาก ยิ่งหลงมาก
วิธีที่จะทำให้(จิต)ตื่นเนี่ยนะ ก็หัดเรียนรู้สภาวะที่มันหลับ ที่มันฝัน รู้จักฝันกลางวันมั้ย ฝันกลางวัน daydream  มนุษย์ทั้งหลายเนี่ยฝันกลางวันอยู่ตลอดเวลา งั้นมันไม่ตื่น
สภาวะที่จิตฝันกลางวันนั้นก็คือ สภาวะที่จิตหลงไปอยู่ในโลกของความคิดนั่นเอง ความคิดก็คือความฝันตอนที่เราตื่นอยู่ความฝันคือความคิดตอนที่เราหลับอยู่ งั้นความคิดกับความฝันเนี่ย วิถีของจิตที่มันทำงานนะทำแบบเดียวกัน แต่ทำตอนหลับเค้าเรียกว่าฝัน ทำตอนตื่นก็เรียกว่าคิด เวลาเราฝันนะ เรามีร่างกายเราก็ลืม มีจิตใจเราก็ไม่รู้สึก อย่างตอนเราฝันเนี่ย เวลาเราคิด มีร่างกายเราก็ไม่รู้สึก มีจิตใจเราก็ไม่รู้สึก ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในใจก็ไม่รู้ เพราะขณะนั้นมัวแต่รู้เรื่องที่คิด
ธรรมชาติของจิตนั้น รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว เมื่อจิตมันรู้เรื่องราวที่คิดซะแล้วเนี่ย มันจะมารู้กาย ทำไม่ได้ มันจะมารู้ใจก็ทำไม่ได้ เนี่ยเราต้องถอนตัวออกจากโลกของความคิดให้ได้ มาอยู่ในโลกของความรับรู้ แล้วคราวเนี้ย จิตเราก็จะสามารถรับรู้กาย รับรู้ใจของตัวเองได้ รับรู้ ก็รับรู้ทีละอย่างนะ ถ้ารู้กาย ก็ไม่รู้ใจ ถ้ารู้ใจ ก็ไม่รู้กาย ธรรมชาติของจิตนั้นรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว เรียกว่ามีเอกัคคตา รู้ได้ครั้งละอย่างเดียว
ทำยังไงจะตื่น อาศัยการฝึกสติ ให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งนะ ควรจะทำอย่างยิ่งเลย ไอ้ประเภทไม่ต้องทำ นึกจะตื่นก็ตื่นเลยเนี่ยมีเหมือนกันนะ พวกบารมีแก่กล้ามากๆ ส่วนใหญ่ไม่เป็น ก็ต้องฝึกเบื้องต้น ทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เราถนัด ที่เราคุ้นเคย ทำแล้วมีความสุข ถ้าทำแล้วเครียดอย่าไปทำ ทำแล้วเคลิบเคลิ้มอย่าไปทำ
อย่างบางคน นั่งหายใจ(ทำอานาปานสติ)ไปแล้วเครียด หรือดูท้องพองยุบแล้วเครียด บริกรรมพุทโธแล้วเครียด ก็ไม่เอา เอาอันอื่น หรือทำแล้วเคลิบเคลิ้ม อย่างนั่งหายใจไปแล้วเคลิ้มจะขาดสตินะ เหมือนจะหลับอยู่อย่างนั้นแหละ เราจะฝึกให้ตื่น ไม่ได้ฝึกให้หลับ งั้นเราเลือกอารมณ์กรรมฐาน ที่เหมาะกับตัวเอง
บางคนจิตใจมันฟุ้งซ่านมากนะ อาจจะบริกรรม เช่นบริกรรมพุทโธๆ ช่วงไหนมันฟุ้งซ่านมากก็พุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆๆ เนี่ยไม่ให้จิตมันมีช่องว่าง ที่จะหนีไปคิดเรื่องอื่น ให้มันคิดเรื่องพุทโธอยู่ พอจิตมันเริ่มสงบนะ ก็พุทโธธรรมดา พุทโธ พุทโธ พุทโธไปสบายๆ
หรือใช้ลมหายใจ ก็เหมือนกัน หลักเดียวกัน กรรมฐานอะไร ก็หลักเดียวกันหมดอย่างเนี้ย คือคอยรู้ทันใจตัวเองไป รู้ลมหายใจ แล้วจิตหนีไปจากลมหายใจ จิตหนีไปจากการรู้ลมนะ จิตหนีไปจากการรู้ร่างกายที่หายใจก็รู้ทัน หลวงพ่อไม่แนะนำให้ดูตัวลมหายใจนะ มันไม่เหมือนกันนะ ระหว่างการดูตัวลมหายใจ กับการรู้ว่าร่างกายกำลังหายใจเนี่ย ไม่เหมือนกัน
รู้ร่างกายหายใจเนี่ย รู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้ทั้งตัว เห็นตัวนี้กำลังหายใจ อย่างนี้ดี ถ้ารู้ที่ตัวลมหายใจโดยตรง มันจะกลายเป็นกสิณ เรียกว่ากสิณลม จ้อง(ที่ตัวลมหายใจ)ไปเรื่อยๆนะ สุดท้ายมันจะกลายเป็นแสงสว่าง ลมจะหายกลายเป็นแสงเลย แล้วก็จะไปเล่นอะไรต่ออะไร ถ้าอยู่ห่างครูบาอาจารย์เนี่ย ไม่แนะนำ
ที่ปลอดภัยกว่าก็คือ รู้สึกร่างกายไปทั้งตัวเนี่ย รู้สึกสบายๆ เห็นร่างกายกำลังหายใจอยู่ สองอันนี้ไม่เหมือนกันนะ เห็นร่างกายทั้งตัวเนี่ยหายใจอยู่ กับเห็นลมหายใจ ไม่เหมือนกัน ถ้าเห็นลมหายใจเนี่ยมันจะพุ่งไปที่สมถกรรมฐาน พุ่งไปที่การทำความสงบ
แต่ถ้าเราเห็นร่างกายหายใจอยู่เนี่ย เราจะเกิดสติ ร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ลองไปดูสติปัฏฐานนะ ภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บังลังก์ คู้บัลลังก์คือนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว
ท่านไม่ได้บอกว่า ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า แล้วรู้อยู่ที่ลมหายใจ ท่านไม่ได้บอกว่าให้รู้อยู่ที่ลมหายใจนะ ท่านสอนให้แค่ว่า หายใจออกยาวก็รู้ ตัวไหนหายใจออก ก็ร่างกายนี้หายใจออกนะ เรารู้สึกไปทั้งตัว เราจะฝึกจนได้ความรู้ตัวทั่วพร้อมมา รู้สึกมันทั้งตัวโดยไม่เจตนานะ
รู้ตัวทั่วพร้อมที่ผิดมีเหมือนกัน คือรู้แล้วใจแข็งๆ รู้หมดเลยเนี่ย แต่ใจจะแข็ง ใจแข็งๆ ให้รู้สบายๆ ตรงสบายนั้นสมาธิมันจะเกิด สมาธิเกิดจากความสุข ถ้าจิตมีความสุขอยู่ในอารมณ์อะไร สมาธิก็จะเกิด จิตจะสงบอยู่ในอารมณ์อันนั้น อย่างเรารู้ร่างกายที่หายใจนะ รู้ไปสบายๆ แล้วพอจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น เราก็จะรู้ได้เร็ว เพราะว่ามันจะลืมการหายใจ ลืมรู้ว่าร่างกายหายใจ ไปดูสติปัฏฐานให้ดีนะ มันจะไม่ใช่การเพ่ง อย่างการรู้ลมหายใจเนี่ย/อานาปานสติเนี่ย ท่านแปลว่า มีสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ใช่มีสติรู้ลมหายใจ
งั้นภิกษุทั้งหลาย คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกสั้น รู้ว่าหายใจออกสั้น หายใจเข้าสั้น รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจไปยาวๆ สบายๆ  ตอนจิตมันจะสงบเนี่ย ลมมันจะสั้นลงเอง ไม่ต้องเจตนาให้สั้นนะ บางคนไปกลั้นลม อย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย ลมมันจะค่อยๆสั้น ลมละเอียดจนกระทั่งหยุด เหมือนกับหยุดหายใจไปชั่วคราว ใจก็นิ่งแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วก็มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ แต่ถ้าไปดูลมแบบจ้องที่ตัวลมหายใจนะ ลมมันจะตื้นๆสั้นๆ แล้วก็หยุด กลายเป็นแสง แล้วคราวเนี้ย จ้องอยู่ที่แสง เล่นกับแสง อันนั้นเป็นเส้นทางที่จะหัดเข้าฌานนะ กับหัดเล่นอภิญญา มันเป็นอีกทางนึง
ส่วนพวกเราหน้าตาเข้าฌานยากนะ ฟุ้งซ่านเก่ง เราแค่หายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัวให้ได้ แค่นี้ก็รู้สึกตัวได้ทั้งวันแล้ว ดูในสติปัฏฐาน ๔ นะ ไม่มีเพ่งที่อวัยวะอันใดอันหนึ่งหรอก อย่างอานาปานสติเนี่ย รู้ร่างกายหายใจ อิริยาบถ ๔ (คือ)ยืน เดิน นั่ง นอน เนี่ยรู้ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ต้องไปจ้องนะ บางคนจะเดินเนี่ยจ้องอยู่ที่เท้า จ้องอยู่ที่เท้ามันก็เหมือนจ้องอยู่ที่ลมหายใจ ให้รู้ทั้งตัวเนี่ย เห็นตัวนี้กำลังเดิน เห็นตัวเนี้ย กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังนอน รู้สึกไปทั้งตัว เนี่ยค่อยๆฝึกไป
อย่าให้ใจมันไหลไปจมอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จมลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะได้แต่สมถะชนิดเพ่งอารมณ์ เรียกอารัมมณูปนิชฌาน มันจะขึ้นวิปัสสนายาก แต่ถ้าจิตสงบแล้วตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ รู้สึกกาย รู้สึกใจได้นะ มันจะเดินวิปัสสนาง่าย เพราะวิปัสสนา เป็นความรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามใจเรา มันเป็นไปตามธรรมชาติ ความตาย ความเจ็บไข้ ความวิบัติ เหล่านี้มันเป็นของธรรมดา ไม่ใช่มีมาให้เรากลัว ไม่ใช่มีไว้สำหรับให้เรากลัว แต่มีไว้สำหรับให้เราเรียน ให้เราศึกษา ให้เรากล้าเผชิญหน้า สิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการของเรานั่นแหละ มันมาเพื่อให้เราเรียน หรือมาเพื่อสอบไล่ความเก่งของเรา
สิ่งที่จะทำมนุษย์ให้เป็นสุขอันแท้จริง คือความเข้าใจอันถูกต้องในความเป็นมนุษย์ของตนเองต่างหาก คือ รู้จักตัวเอง รู้จักกิเลส รู้จักผลของความไม่มีกิเลส หรือที่เรียกตามหลักพุทธศาสนาว่า รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุแห่งทุกข์ รู้จักความไม่มีทุกข์เลย และรู้จักวิธีทำให้ถึงความไม่มีทุกข์เลย การกุศลอันสูงสุด จึงคือการทำให้มนุษย์ทั้งโลก มีความเข้าใจอันถูกต้อง
พุทธทาสภิกขุ
หัดภาวนานะ เรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้กายรู้ใจของเราเอง ไม่มีทางพ้นทุกข์ถาวรทางที่สอง วิธีพ้นทุกข์ของชาวโลก มันก็มีมาตลอดนะตามสติปัญญา อย่างคนทั่วๆไปนะ เขามีความทุกข์เพราะเขาไม่สมอยาก งั้นเขาพยายามทำสองอย่าง พวกหนึ่งเพิ่มความสามารถในการตอบสนองความอยาก เช่นหาทางรวยให้เยอะๆ มีเงินเยอะๆ จะได้ตอบสนองความอยากได้เยอะกว่าคนอื่น นี้ความอยากเนี่ย ตอบสนองเท่าไหร่ไม่มีวันสิ้นสุด มัน(ยิ่ง)เพิ่มความอยากไปเรื่อยๆ
อีกพวกหนึ่งพยายามทำลายความอยากไป ฝึกทรมานกายทรมานใจ มันรักร่างกาย ก็ทรมานร่างกาย มันรักจิตใจ ก็ทรมานจิตใจ กดข่มบังคับมันไม่ทำตามความอยาก พวกหนึ่งก็สนองความอยากไปเลย พยายามสนองให้เต็มที่ เพิ่มความสามารถในการตอบสนอง พวกหนึ่งก็ข่มความอยาก พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรที่ไม่ฉลาดแบบนั้น บังคับกายบังคับใจไป มันก็ไม่ได้ช่วยให้ความอยากหมดไป มันทรมานเฉยๆ มันไม่ประกอบด้วยปัญญา
คนทั่วๆ ไปเขาเห็นว่า ถ้ามีความอยากเกิดขึ้นเนี่ย ไม่มีความทุกข์หรอก แต่ถ้าตอบสนองไม่ได้ก็มีความทุกข์ พวกหนึ่งเห็นว่า มีความอยากเกิดขึ้นก็มีความทุกข์แล้ว อย่างพวกเราภาวนาเนี่ย พอใจเรามีความอยากเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าใจมันดิ้น ใจมันมีความทุกข์ทันทีที่อยาก นี่เห็นใจของตัวเองนะ พัฒนาไปเป็นลำดับๆ ถ้าไม่มีพัฒนาการเลย เป็นชาวโลกก็เห็นว่า  มีความอยากเนี่ยยังไม่ทุกข์ ต่อเมื่อไม่สมอยากถึงจะทุกข์
พวกนักปฏิบัติก็พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เห็นว่าถ้ามีความอยากก็มีความทุกข์ ถ้าไม่มีความอยากก็ไม่มีความทุกข์ วิธีที่จะทำให้มันไม่มีความอยาก มันทำได้หลายอย่าง อันนึงตอบสนองมันไปเลย อีกอันนึงกดข่มมัน ส่วนวิธีของพระพุทธเจ้าเนี่ย เรียนรู้ความอยาก(ว่า)รากเหง้ามันมาจากไหน แก้ที่ต้นเหตุ
รากเหง้าของ(ความอยาก) คือความไม่รู้ความจริงของรูปนาม/กายใจ ไม่รู้รูปนาม/กายใจอย่างที่เป็น ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา(ไตรลักษณ์) พอเราไม่มีความรู้แจ้งเห็นจริงนะว่ามีอวิชชาอยู่(คือ)ไม่มีวิชชา ไม่รู้ความจริงของรูปนาม/กายใจ ว่ารูปนาม/กายใจนี้คือตัวทุกข์นะ มันคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษ
พอเราคิดว่ามันไม่ใช่ตัวทุกข์ เราไม่รู้ว่ามันเป็นตัวทุกข์ มันก็จะอยากให้มันมีความสุข เนี่ยความอยากมันก็เกิดขึ้น เวลาที่มันมีความทุกข์ เราก็อยากให้มันพ้นจากความทุกข์ มันมีความอยากเกิดขึ้น เพราะความไม่รู้ความจริงของกายของใจนี่เอง
เราไปสังเกต ความอยากทั้งหลายแหล่ที่เรามี ความอยากทั้งหลายที่มีมากมายนะ บอกกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดอะไรเนี่ย จะนับยังไงก็ได้ ย่อๆ ลงมาเนี่ยมันคือ อยากให้ร่างกาย ให้จิตใจ มีความสุข อยากให้ร่างกาย จิตใจ พ้นจากความทุกข์ มันอยากเท่านี้แหละ ที่อยากๆ อยู่ทุกวัน อยากกินของอร่อยนะเพราะอยากมีความสุข เห็นมั้ย กินของอร่อยได้สบายใจ ถ้าหิวขึ้นมาก็อยากกินข้าว อะไรอย่างนี้ อะไรก็ได้ให้มีกินก็แล้วกัน เนี่ยใจมันจะมีความอยาก พอได้สนองความอยากอันนี้แล้ว มันจะเพิ่มความอยากขึ้นไป
อยากหาความสุข ทีแรกก็อยากหนีความทุกข์ก่อน สุดท้ายก็อยากหาความสุข นี้ความสุขเนี่ย มันเป็นเหมือนภาพลวงตา มันเหมือนๆ จะหยิบมาได้ แล้วมันก็หลุดมือไปทุกที เราลองย้อนไปดูชีวิตจริงๆ ของพวกเราดู ในชีวิตเรา เราดิ้นรนหนีความทุกข์ เราดิ้นรนหาความสุขมาตั้งเท่าไหร่แล้ว ดิ้นรนหนีความทุกข์นะ สุดท้ายความทุกข์ก็ตามมาทัน อย่างบางคนนะ พยายามออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรง กินอาหารถูกสุขลักษณะ อะไรต่ออะไรเยอะแยะ สุดท้ายก็แก่ สุดท้ายก็เจ็บ สุดท้ายก็ตาย หนีไม่รอด หรือพยายามหาอะไร ที่เพลิดเพลินพอใจมาตอบสนองมัน กระทั่งเข้าฌานนะ มีความสุขทางจิตใจมากเลย มันอยู่ชั่วคราวมันก็เสื่อมไป ฌานเองก็ไม่เที่ยง
งั้นความสุขนะมันก็ไม่คงที่ ความทุกข์มันก็ห้ามไม่ได้ เนี่ยถ้าเราภาวนา เราก็จะเห็นความจริงเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ใจที่จะดิ้นรนหนีความทุกข์เนี่ย มันจะเลิกดิ้นรน มันจะรู้สึกว่า ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ใจที่ยังหิวโหยแสวงหาความสุข มันก็จะเลิกหิวโหย เพราะมันรู้ว่าความสุขก็ไม่คงที่ ได้มาแป๊บๆ นะ ก็หลุดมือหายไปแล้ว เราลองย้อนดูในชีวิตเราเนี่ย ความสุขในชีวิตเรา แต่ละคนเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น แต่มันก็อยู่ชั่วคราว ไม่ว่าจะสุขอะไรนะ
บางคนคิดว่า มีลูก มีเมีย มีความสุขอะไรเนี่ย เลี้ยงลูกไว้ รักลูกมากเลย มีความสุขเล่นกับลูกทุกวันๆ คิดว่าเนี่ยมีความสุขมาก อุตส่าห์สร้างบ้านนะ ซื้อที่ดินผืนใหญ่ เพื่อจะปลูกบ้านให้ลูกอยู่เป็นหลังๆ มีลูกกี่คน ก็ปลูกบ้านให้ทุกคน อะไรอย่างนี้ หวังว่าทุกคนจะอยู่ด้วยกัน สุดท้ายไม่มีใครอยู่กัน ต่างคนต่างก็แยกย้ายไป ความสุขก็สูญหายไป ความสุขที่อาศัยลูก ความสุขอาศัยที่คู่ครองของเรา อยู่ได้ชั่วคราวมันก็หายไป
เนี่ยถ้าฉลาดพอนะ เรียนรู้ความจริงของโลก ของชีวิต เราจะรู้เลย(ว่า) ความทุกข์เป็นของห้ามไม่ได้ ส่วนความสุขเป็นของไม่ยั่งยืน เรียนรู้ความจริงตรงนี้เรื่อยๆ ภาวนาไป สังเกตอยู่ในกาย สังเกตอยู่ในใจ
อย่างร่างกายเราเนี่ย เรารู้สึกว่าร่างกายเรายังหนุ่มยังสาว ยังแข็งแรง มีความสุขมาก ถ้าเรามีสติระลึกรู้ร่างกายไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ เนี่ยเราเฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เป็นของปกติ เป็นของธรรมดา ห้ามมันไม่ได้ ความทุกข์มันมีอยู่ในร่างกายนี้
เนี่ยพอเราเห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ วันแล้ววันเล่าเฝ้ารู้ไป ใจก็ค่อยๆ ฉลาด รู้ความจริงว่าร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ เป็นกองทุกข์ พอใจยอมรับความจริงได้ ใจก็จะไม่อยากให้ร่างกายมีความสุข ไม่ต้องมีความอยากหรอก เพราะว่าอยากไปก็ไม่สมอยากจริง ใจไม่ปฏิเสธ ไม่ได้อยากให้มันพ้นทุกข์ เพราะว่ามันพ้นไม่ได้ เรามีหน้าที่แค่ทุเลาความทุกข์เป็นคราวๆไป เพื่ออาศัยร่างกายนี้สร้างคุณงามความดี สร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับชีวิตเราเอง หรือทำประโยชน์กับผู้อื่นต่อไป
เราก็แค่ดูแลรักษาไว้ แต่ว่าไม่หลงใหลได้ปลื้มว่ามันจะไม่ทุกข์ ไม่ได้หลงใหลว่ามันจะมีความสุขตลอดกาล เนี่ยใจของพระอรหันต์นะ พระอนาคามี อะไรอย่างนี้ ทำไมยังรักษาร่างกายอยู่ เพราะว่าเอาไว้ทำประโยชน์ ประโยชน์ของตนถ้ายังไม่เสร็จก็ต้องทำต่อ ประโยชน์ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นท่านก็ทำไปได้เรื่อยๆ ท่านก็ยังรักษาร่างกาย แต่ไม่ใช่รักษาเพราะเห็นว่ามันเป็นของดีของวิเศษ
เนี่ยเราเฝ้ารู้ลงไปในร่างกายเรื่อยๆ ทุกๆลมหายใจเข้าออกมีแต่ความทุกข์ ทุกๆอิริยาบถมีแต่ความทุกข์ พอเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อไปพอร่างกายมันแก่ มันจะไม่หวั่นไหว มันจะรู้ว่าร่างกายมันทุกข์ เนี่ยร่างกายมันอยู่ไม่ได้นานหรอก มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย  มันเริ่มแก่แล้ว มันเก่า เวลาร่างกายเจ็บไข้ จิตใจจะไม่หวั่นไหว จะรู้สึกว่าเป็นธรรมดา ความเจ็บไข้เป็นการเตือน ให้เราเห็นความจริงของชีวิต ความแก่ก็เป็นการเตือนนะ ให้เห็นความจริงของชีวิตไม่ให้ประมาท
ความเจ็บไข้ก็เป็นการเตือน ไม่ให้เราประมาทในชีวิต ความตาย เห็นคนอื่นเขาตายเนี่ย ก็เป็นเครื่องเตือนไม่ให้เราประมาท ให้เรารู้ความจริงของชีวิต งั้นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เป็นสิ่งที่มาเตือนเรา เป็นครูคนหนึ่ง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ฝึกสมาธิ(ฝึกให้จิตตั้งมั่น)ที่ดีนะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง กรรมฐานที่แนะนำคือบริกรรมพุทโธ อันนี้แนะนำเพราะอะไร  เพราะทำง่าย เราท่อง พุทโธๆ พุทโธเป็นความคิดนะ พุทโธไม่มีสภาวะอะไรรองรับหรอก มันเป็นความคิด แต่ใช้ทำสมถะดี เราคิดคำว่าพุทโธไปเรื่อยๆ ไม่บังคับให้จิตนิ่ง ไม่บังคับให้จิตสุข ไม่บังคับให้จิตสงบ พุทโธๆ พุทโธเล่นๆ ไปนะ แล้วคอยรู้เท่าทันจิตเวลาจิตมันไหลไปที่อื่น พุทโธๆ ไป พอจิตไหลไปนี่ ส่วนใหญ่จะไหลไปคิด มันเที่ยวไปคิดเรื่องอื่น มันจะลืมคิดพุทโธ ฉะนั้นการที่เราคิดพุทโธนี่ เป็นการจงใจคิด เราคิดคำว่าพุทโธขึ้นมา แต่พอเราขาดสติ จิตเราไหลไป มันจะไปคิดเรื่องอื่น มันจะไม่คิดพุทโธ ฉะนั้นเราจะฝึกเรื่อยๆ เราพุทโธจนชำนาญเลย พอจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น แล้วลืมพุทโธนะ มันจะรู้ตัวได้เร็ว
ถ้าเราไม่ชอบพุทโธ ใช้กรรมฐานอื่นได้ไหม ใช้ได้ ใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวกับกายและใจของเรา เช่นหายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัวไปเรื่อยๆ ไม่เอาสงบนะ หายใจเข้า หายใจออก ก็คอยรู้สึกตัวเรื่อยๆ พอใจหนีไป(ไหลไป)อยู่ที่ลมหายใจ ก็รู้ทัน พอใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น ก็คอยรู้ทันนะ
ฉะนั้นทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราชอบ และมีความสุขที่จะทำ แต่ทำแล้ว ไม่ใช่เพื่อให้จิตมีความสุขความสงบ หรือเพื่อความดีอะไรทั้งหลายทั้งสิ้น ทำเพื่อจะคอยรู้ทันจิตตัวเองเท่านั้นเอง
จุดสำคัญที่เราจะได้สมาธินี่ ไม่ใช่ตรงที่รู้ลมหายใจ ไม่ใช่ตรงที่รู้ท้องพองยุบ ไม่ใช่ตรงที่รู้ยกเท้าย่างเท้า ไม่ใช่ตรงที่รู้อิริยาบถ แต่จุดที่เราจะมีสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา อยู่ตรงที่เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไป
วันนี้สอนวิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นนะ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น เจริญปัญญาไม่ได้ จิตสงบนิ่งซื่อบื้ออยู่ เจริญปัญญาไม่ได้ จิตต้องตั่งมั่นเป็นคนดู จิตเป็นคนดูได้ทีละขณะก็พอแล้ว เรียกว่า ขณิกสมาธิ จิตไหลแล้วรู้ ไหลแล้วรู้นะ มันจะตั้งมั่นขึ้นทีละขณะ ทีละขณะสั้นๆ เดี๋ยวไหลอีก รู้อีก ไหลอีก รู้อีก พอไหลอีก รู้อีก ถี่ๆ นะ มันจะมีความตั้งมั่น รู้สึกเหมือนกับรู้นานๆ ได้ แล้วคราวนี้เราจะดูกายมันเคลื่อนไหว ดูใจมันเคลื่อนไหว
ในความเป็นจริง ตรงที่เราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วเราเห็นจิตเคลื่อนไหว มันต่อเข้าการเจริญปัญญาได้เลย เราจะเห็นว่า จิตที่รู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่เคลื่อนไหวก็ไม่เที่ยง จิตที่รู้ก็รักษาไว้ไม่ได้ จิตจะเคลื่อนไหวก็ห้ามมันไม่ได้ จะเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตา ฉะนั้นตรงที่เราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง เมื่อจิตเคลื่อนแล้วรู้นะ มันพร้อมจะต่อยอดขึ้นปัญญาเลย แล้วเส้นทางนี้จะสั้นนิดเดียวเลย ขอให้จิตถูกเท่านั้นแหละ คอยรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ แล้วปัญญาจะเกิดนะ พอปัญญาแก่รอบ วิมุตติคือมรรคผลก็จะเกิด ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ง่ายๆ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ถ้าฟังธรรมะจนเห็นตัวสภาวะได้ถูกต้องนะ สติจะเกิด เพราะจิตมันไปเห็นสภาวะเข้า สติจะเกิด อย่างนั่งฟังหลวงพ่อพูดเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะรู้จักจิตที่แอบไปคิด จิตที่หลงไปคิดเป็นยังไง จะรู้ว่าจิตที่หนักๆ แน่นๆ  เป็นยังไง จิตที่จงใจปฏิบัติเป็นยังไง จะค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละอย่างสองอย่างนะ จิตที่สงสัยเป็นยังไง เรียนรู้ไปอย่างนั้น จิตสงสัยขึ้นมาก็รู้ทันมัน หัดรู้ไปเรื่อย จิตใจเราเป็นยังไง คอยรู้ไปเรื่อยๆ รู้เล่นๆ นะ แล้วสติจะเกิดเอง สติเกิดเองนะ หิริโอตตัปปะ อินทรียสังวรศีล ศีล  สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จะเกิดตามมาเป็นแถวเลย
ขาดสติตัวเดียวไม่มีอะไรดีขึ้นเลยนะ ขาดสติเมื่อใดจิตก็เป็นอกุศลทันทีเลย แต่ถ้ามีสติแล้วไปเพ่ง เพ่งอยู่ที่ท้อง ที่เท้า ที่ลม ก็ได้แค่สมถะ ถ้ามีสติระลึกรู้สภาวะความเคลื่อนไหวของกาย ความเคลื่อนไหวของใจ ระลึกรู้เรื่อยๆ จะเกิดปัญญา มันจะเห็นเอง กายนี้ก็ไม่เที่ยง ใจนี้ก็ไม่เที่ยง
รู้สึกมั้ย ฟังหลวงพ่อพูด ฟังไปคิดไป ดูออกมั้ย ไม่ผิดนะ ไม่ผิด หลวงพ่อกำลังหัดให้ดู ว่าเดี๋ยวใจก็ไปฟัง เดี๋ยวใจก็ไปคิด ดูออกมั้ย เดี๋ยวมันก็ฟัง เดี๋ยวมันก็คิด สลับไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ฟังอย่างเดียว ให้เราหัดรู้ทันใจของเรา ใจไปฟังก็รู้ทันนะ ใจเราไปคิดก็รู้ทัน หัดดูไป หัดไปอย่างนี้แหละ
มาฟังหลวงพ่อพูด พูดแต่เรื่องสภาวะนะ หัดรู้สภาวะไป รู้สภาวะแล้ว เดี๋ยวสภาวะก็จะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู แล้วจะเข้าใจธรรมะเป็นลำดับๆ ไปนะ ปล่อยวางเป็นลำดับๆ ไป เข้าถึงความสุขเป็นลำดับๆ ไป ห่างทุกข์เป็นลำดับๆ ไป ถึงที่สุดมีแต่ความสุขล้วนๆ เลยนะ มีความสุขมีแต่ความเต็มอิ่ม มันอิ่มนะ อิ่มมาก
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ตามใจไม่ได้นะ กิเลสต้องคอยรู้ทัน รู้สึกขึ้นมา อย่าปล่อยใจให้ไหลตามกิเลสไปนะ กิเลสเล็กกิเลสน้อย ตอนแรกๆ มันก็เหมือนน้ำในลำห้วยอ่อนๆ น่าเล่นนะ น่าลุยเล่น เผลอแป๊บเดียว เดินตามลำห้วยนี้ไปเรื่อยๆ นะเดี๋ยวก็ถึงแม่น้ำใหญ่ คราวนี้กระแสกิเลสจะเชี่ยวกราก เอาไม่อยู่ละ ถูกมันพัดพาไป พัดพาไปตกน้ำตกตาย ลงเหวน้ำตกไป
อย่างบางคนประมาทนะ ภาวนาแล้วประมาท คิดว่า กูเก่ง กูเก่งนะ ไม่กลัวกิเลส กล้าไปเล่นกับกิเลส บางคนเล่นกับกิเลสนะ เช่น ไปจีบสาวเล่น ไปจีบหนุ่มเล่น รู้สึกไม่เห็นมีพิษภัยอะไรเลย ไปจีบเค้าเล่นๆ หนุ่มก็ไปจีบสาว สาวก็ไปจีบหนุ่ม เล่นไปเล่นมา ถลำลงไป เบรกไม่ได้แล้วนะ ถูกมันลากไปทั้งวันทั้งคืน อย่างนี้ก็มี หรือไปเล่นกับความโกรธ เกลียดยายคนนี้  เกลียดนิดๆ คิดมันทุกวันเลย คิดเรื่อย ยายคนนี้มันเลวอย่างนั้น เลวอย่างนี้นะ เล่นไปเรื่อยนะ ไม่ระวังใจ แป๊บเดียวความโกรธตัวใหญ่ เอาไม่อยู่ คราวนี้โกรธทั้งวันทั้งคืน ถูกความโกรธพัดพาไปลงเหวอีก ลงเหวน้ำตกไป
กิเลสนี่ประมาทไม่ได้นะ คอยเรียนรู้ คอยระวัง คอยดูจิตดูใจของเรานะ อย่าไหลตามมันไป หรือมันชอบหนีไปคิดเป็นโมหะ หนีไปคิด รู้สึกคิดแล้วสนุกดี เคยรู้สึกไหม ใครรู้สึกบ้าง บางทีนั่งคิดแล้วมีความสุขดี เพลิดๆ เพลินๆ นะ อย่าหลงกลนะตัวนี้ ถูกหลอกสาหัสสากรรจ์เลย จะข้ามภพข้ามชาติไม่ไหวเลย คิดแล้วมันเพลิน คิดแล้วมีความสุข สังเกตมั้ย มันชอบคิดเรื่องเก่า บางคนจะเป็นตอนนอนนะ ตอนนอนจะต้องคิดซักนิด แล้วมันสบาย เดี๋ยวได้หลับ กลับไปคิดแต่เรื่องเก่าๆ บางคนก็นั่งคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยทั้งวัน ใจก็ฟุ้งๆ
คอยรู้ไปนะ ใจอย่าหลงไปในโลกของความคิด มันชอบคิดเรื่อยเปื่อย ให้รู้ทัน ถ้ายังสนุกก็เพลิดเพลินกับความคิดเรื่อยเปื่อย จะไปคิดเรื่อยเปื่อยมากขึ้นๆ ตามใจไม่ได้นะกิเลส ต้องคอยรู้ทัน อย่างบางคนประมาท พระด้วยซ้ำไป ไม่เฉพาะโยม พระดังมากเลย เจริญเมตตามาก เห็นใครก็เมตตาไปหมดเลยนะ หวานแหววไปหมดเลย รู้สึกไม่กลัวกิเลส กูเก่ง กูเก่งนะ ท่านมีราคะเกิด เสียผู้เสียคนหมด
ดังนั้นต้องคอยรู้ทันจิตใจของเรานะ จิตใจของเรามีธรรมชาติไหลลงที่ต่ำ ไหลลงที่ต่ำอัตโนมัติเลย ขืนไปเล่นกับกิเลสถูกมันพาไหลลงต่ำไปเรื่อยๆ ตอนขึ้น ขึ้นยากนะ ตอนขึ้นขึ้นยาก ตอนแรกๆ ที่กิเลสยังบางๆ เราไปเล่นกับมันรู้สึกมันสะใจดี บางทีแกล้งโมโหใครซะหน่อยนะ สะใจดี หรือพวกผู้หญิงชอบสวมวิญญาณนางเอก เป็นกันเยอะนะเท่าที่หลวงพ่อสังเกตดู ชอบสวมวิญญาณนางเอก ชอบคิดอะไรให้เศร้าๆ นิดๆ นึงให้แสบๆ ในใจเนี่ย ชอบนะ ชอบสวมวิญญาณนางเอก แล้วทำเป็นเศร้าๆ แหมน้ำตาคลอๆ อยู่ข้างใน แล้วมีความสุข โธ่เอ๊ย จะลงนรกยังไม่รู้ตัว ประตูนรกอยู่ตรงนั้นแหละ
กิเลสเล็กกิเลสน้อยก็ไว้ใจไม่ได้นะ ต้องคอยรู้ทันไป สตินั่นแหละ ดีที่สุดเลย กิเลสไหลแวบมาสู่ใจเรา สติเกิดอัตโนมัติเลย แต่สติจะเกิดได้ จิตต้องรู้จักกิเลสเสียก่อน ต้องค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ ทำความรู้จักมันไป เพิ่มขึ้นมาวันละอย่างสองอย่าง เรียนรู้กิเลส เพิ่มขึ้นไปวันละนิดวันละหน่อย ไม่ต้องรีบร้อนนะ รีบร้อนเป็นกิเลสอีก หัดรู้จักไป เช่น นั่งพุทโธ พุทโธไป นั่งดูท้องพองยุบ นั่งหายใจ ใจลอยแวบไปละ หนีไปคิดละ รู้ทันว่าหนีไปคิด หัดรู้จักในที่สุด ใจหนีไปคิดแวบ ก็จะรู้ทัน
หัดรู้จักสภาวะไปเรื่อยๆ พุทโธ พุทโธ ก็ได้นะ พุทโธก็ดี ความจริงคอยรู้ลมหายใจ รู้ท้อง รู้มือก็ได้ แต่ส่วนมากชอบเพ่ง แต่บริกรรมพุทโธแล้วไม่รู้จะเพ่งตรงไหน หาที่เพ่งยากนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป ใจแอบไปคิดแวบ รู้ทันละ ให้รู้ว่าใจหนีไปคิด  ไม่ต่อว่ามันนะ แค่รู้ทัน พุทโธ พุทโธไป ใจชักจะซึมๆ ก็รู้ว่าใจซึมๆ พุทโธ แล้วมีความสุข ก็รู้ว่ามีความสุข พุทโธ แล้วก็คอยรู้ทันใจของตัวเองไปเรื่อยๆ นี่คือการหัดรู้สภาวะ
ต่อไปจิตจำสภาวะได้มาก จำสภาวะได้แม่น สติจะเกิดบ่อย เพราะสติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่นยำ เรียกว่า เกิดจากถิรสัญญา จิตมันจำได้แม่นสติจะเกิด เพราะฉะนั้นเราต้องซ้อมทุกวันนะ หัดพุทโธไป หัดหายใจ หัดพองยุบอะไรไปก็ได้ที่เคยทำแล้วสบาย แต่ถ้าทำแล้วเครียดๆ ไม่เอานะ แสดงว่าไม่ถูกจริต
อย่างคนไหนพุทโธแล้วอึดอัด ก็ไม่เอาพุทโธ เอาอย่างอื่น คนไหนหายใจแล้วอึดอัด ก็อย่าเอาลมหายใจ ไปหากรรมฐานอื่น กรรมฐานถมเถไป หรือดูท้องพองยุบแล้วอึดอัด ก็ไม่เอา ไปเอาอันอื่น เอาที่มันสบายๆ บางคนสวดมนต์ก็ได้นะ สวดมนต์ก็ได้ สวดไปเรื่อยๆ เห็นปากพะงาบๆ ไปนะ แล้วก็เดี๋ยวเห็นใจไหลแวบหนีไปคิดเรื่องอื่น แต่ปากก็ยังสวดได้นะ จิตใจหนีก็ให้รู้ทันไว้ รู้สภาวะไปเรื่อย เดี๋ยวสติเกิดเองนะ ต่อไปพอกิเลสเกิดขึ้นในจิตในใจแวบ สติเห็นเอง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ภาวนาไปเรื่อยๆ (เห็น)จิตมีนับไม่ถ้วนหรอก (จิต)เกิด-ดับทางทวารทั้ง ๖ ตลอดเวลา ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ภาวนาไปเรื่อยๆนะ เห็นตัวผู้รู้ก็ไม่เที่ยง(ตัวผู้รู้)เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็กลายเป็นผู้คิด พอรู้ทันว่าคิดก็เกิดตัวผู้รู้ เดี๋ยวก็เกิดตัวผู้ดูทางตา เกิดตัวผู้ฟังทางหู เกิดตัวผู้รู้กลิ่นทางจมูก เกิดตัวผู้รู้รสทางลิ้น เกิดตัวผู้รู้สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่กระทบร่างกาย นี่เกิดทางกาย (จิต)เกิดดับๆ ไปเรื่อย
จิตที่เกิดทางใจก็เกิดดับ จิตเกิดทางใจก็วิจิตรพิสดารมีหลายแบบ จิตสุขก็มี จิตทุกข์ก็มี พวกเรามีมั้ย จิตสุข จิตทุกข์ ในใจ จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตเฉยๆ(คือจิต)ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ บางทีเกิดขยันอยากภาวนา ภาวนาไปสิบนาทีขี้เกียจแล้ว อยากไปทำอย่างอื่นแล้ว จิตจากกุศลดับไปแล้ว เกิดจิตอกุศลแล้วอยากจะฟุ้งซ่าน เนี่ยเฝ้าดูเข้าไปเรื่อยก็(เห็นจิต)เกิดดับไปเรื่อยๆ
จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธมันโกรธเอง เราไม่ได้เจตนาจะโกรธ มันกระทบอารมณ์ แล้วใจไม่ชอบอารมณ์อันนี้ จิตก็โกรธขึ้นมา จิตโกรธอยู่ชั่วคราว เรามีสติรู้ทัน จิตโกรธก็ดับ มันกระทบอารมณ์แล้วชอบนะ จิตโลภมันก็เกิด เรามีสติรู้ทันจิตโลภก็ดับ เนี่ยตัวจิตเองก็เกิดดับ เราดูจิตเกิดดับผ่านทางเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต แต่จิตมันมีสภาวะอันเดียว คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์
จิตทุกดวงเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ งั้นเราจะดูตัวจิตตรงๆ นะดูไม่ออก เราอาศัยสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต(เจตสิก) ความสุขเกิดร่วมกับจิต จิตดวงนี้มีความสุข จิตที่มีความสุขเกิดแล้วก็ดับ มันดับไปพร้อมกับตัวความสุข จิตที่มีความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ มันดับไปพร้อมกับตัวความทุกข์ จิตดีเกิดแล้วก็ดับพร้อมกับตัวความดี จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง ก็เกิดดับ พร้อมกับความโลภ ความโกรธ ความหลง
เราอาศัยเจตสิก คือสิ่งที่มาเกิดร่วมกับจิต ทำให้เห็นว่า จิตแต่ละดวงมันไม่เหมือนกัน ไม่ใช่มีจิตอย่างเดียว "จิตไม่ได้มีดวงเดียว" จิตมีแตกต่างกันมากมาย จิตดีก็มี จิตชั่วก็มี ชั่วก็มีชั่วหลายแบบ จิตดีก็มีดีหลายแบบ จิตสุข จิตทุกข์ ก็ไม่เหมือนกัน เนี่ยเราจะดูเห็นจิตมันเกิดดับไปเรื่อย
แล้ว(จิต)มันก็เกิดเองดับเอง อย่างจิตจะสุข จะทุกข์ เราเลือกไม่ได้ จิตจะดี หรือจิตจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ ถ้าสั่งได้ เราก็จะสั่งว่าจิตจงมีความสุขทั้งวัน แต่มันก็ไม่สุข ถ้าสั่งได้ เราก็สั่งให้จิตดีทั้งวัน มันก็ไม่ดี
เราสั่ง(จิต)ไม่ได้ ตรงที่สั่งไม่ได้เรียกว่าเห็นอนัตตา แต่ตอนภาวนาไม่มีชื่อนะ จะเห็นจิตอันนี้ เกิดดับๆ มันไม่พูดหรอกว่านี้เห็นอนิจจัง เห็นจิตมันเปลี่ยนแปลงโดยที่บังคับมันไม่ได้ มันก็ไม่บอกหรอกว่านี่อนัตตา ไม่มีคำพูดอะไร เห็นแต่สภาวะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เกิดดับ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ก็ดูอย่างนั้นแหละ ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ ขยันดู ไม่ได้คิดว่าจะดูไปถึงเมื่อไหร่ คิดว่าครูบาอาจารย์สอนให้มีญาณเห็นจิต มีญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป
มีญาณเห็นจิตก็คือมีปัญญาเห็นว่าจิตมันเกิดดับ จิตมันบังคับไม่ได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีญาณเห็นจิต (คือ)เห็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นตัวจิตตรงๆ ไม่ได้นะ ไม่มีญาณ เฉยๆ นิ่งๆ ว่างๆ บางคนไปฝึกให้จิตว่างๆ ใช้ไม่ได้ เป็นมิจฉาทิฏฐิเลย แล้วก็จะรู้สึกว่า จิตเที่ยง จิตคือตัวเรา จิตเป็นอัตตา ยิ่งภาวนามันก็ยิ่งหลงผิด
นี้เราปล่อยให้จิตทำงาน แล้วมีสติตามรู้ไป ปัญญาคือญาณก็จะเริ่มหยั่งรู้ จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตดีก็ไม่เที่ยง จิตชั่วก็ไม่เที่ยง จิตไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่เที่ยง จิตไปคิดทางใจ ก็ไม่เที่ยง เห็นแต่จิตมันไม่เที่ยง เห็นแต่จิตมันเป็นเอง เราบังคับมันไม่ได้
อย่างเวลานั่งฟังหลวงพ่อพูดเนี่ย เดี๋ยวตาก็ดู เดี๋ยวหูก็ฟัง เดี๋ยวใจก็คิด สลับกันอยู่สามช่องนี้ ไปสังเกตดู ตอนที่กำลังฟังอยู่นี้แหละ เดี๋ยวตาก็ดู ดูหลวงพ่อบ้าง ดูคนอื่นบ้าง เดี๋ยวหูก็ฟัง ตั้งใจฟัง พอฟังแล้วก็ต้องคิด ถ้าฟังแล้วไม่คิดจะฟังไม่รู้เรื่อง ที่รู้เรื่องเพราะคิด เพราะฉะนั้น ไอ้ที่รู้นั้นอาจจะผิดก็ได้ เพราะคิดผิด งั้นอย่าเชื่อสิ่งที่คิด เฝ้ารู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ จนความจริงมันปรากฏ จิตทุกชนิดไม่เที่ยง จิตทุกชนิดบังคับไม่ได้ มันรู้เองแหละ
หลวงพ่อภาวนานะ มีญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป ก็เห็นจิตมันเกิดดับเปลี่ยนแปลงไป เหมือนตาเห็นรูป ตาเห็นรูป ตาไม่เคยบังคับรูป ตาไม่เลือกรูป เราเลือกไม่ได้ว่าจะเห็นรูปที่ดี หรือรูปที่เลว เราเลือกไม่ได้ว่า เห็นรูปที่เห็นแล้วมีความสุข  หรือมีความทุกข์ เลือกไม่ได้ งั้นเวลาตาจะเห็นรูป ตาไม่ได้เลือกรูป เวลาเราจะดูจิต จิตก็ไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์ดีก็ได้ อารมณ์ร้ายก็ได้ อารมณ์ชั่วก็ได้ อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ (อารมณ์)อะไรก็ได้ ดูเหมือนตาเห็นรูป เพราะตาไม่เลือกรูป มีรูปให้ดูตาก็ดู มีอะไรเกิดขึ้นกับจิตเราก็ดูไป ไม่เลือก อย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอก "มีญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป" ดูจิตใจมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
การดูจิตเป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด เมื่อก่อนไม่กล้าพูดนะ แต่หลังๆ มีคนเขาไปขุดธรรมะครูบาอาจารย์ขึ้นมา พูดเหมือนกันทุกองค์เลย อยากไปเร็วที่สุดก็ไปด้วยจิตนั้นแหละ ถ้าดูจิตไม่ได้ก็ดูกาย ก็อ้อมหน่อย เพราะจะดูกายได้ดีต้องทำสมถะก่อน อ้อมมากเลย ไปทำสมาธิให้จิตสงบ จิตตั้งมั่น จิตสงบ จิตตั้งมั่นแล้วมาดูกาย ดูไปเรื่อยๆนะ ถึงวันนึงก็จะเข้ามาที่จิต
งั้นถ้าเราสติปัญญามากพอ กำลังสติสมาธิปัญญาเราดี รู้เข้าไปที่จิตเลยนะ รู้ที่จิตก็ละความเห็นผิดที่จิต บางองค์ท่านก็สอน "รู้ที่จิต ละที่จิต" ฟังไม่ดีก็นึกว่าให้ละอารมณ์(สิ่งที่จิตไปรู้เข้า) อย่างละจิตดีให้ละ จิตชั่วให้ละ อะไรๆ ก็ไม่เอาเลยสักอย่าง นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐินะ อะไรๆ ก็ไม่เอาสักอย่าง มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรๆก็ว่าง อะไรๆก็ไม่มี พวกนัตถิกทิฏฐิ ไม่มีอะไรสักอย่าง
ดูไปเรื่อยๆ มีญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ ไม่แทรกแซง ไม่บังคับ สุดท้ายปัญญามันก็รู้แจ้งแทงตลอดในตัวจิต (ว่า)จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา "จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี" เมื่อไหร่เห็นว่าจิตไม่ใช่เรา (ก็เห็น)ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่เรา เพราะขันธ์ ๕ เกิดจากจิตดวงเดียวนั่นแหละ จิตเหมือนเมล็ดพันธุ์ มีเมล็ดต้นไม้อยู่ เหมือนเมล็ดมะม่วงอยู่หนึ่งเมล็ด ก็งอกเป็นต้นมะม่วง มีราก มีต้น มีใบ มีกิ่ง มีลูกได้อีก เหมือนมีจิตดวงเดียวนี่แหละ ก็งอกขันธ์ ๕ ขึ้นมาได้อีก
งั้นถ้าเมื่อไหร่เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นผลผลิตของจิตก็ไม่ใช่เรา โลกทั้งโลกปรากฏแก่เราด้วยขันธ์ ๕ ด้วยอายตนะ ๖ โลกปรากฏขึ้นมาด้วยสิ่งเหล่านี้ เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา มันก็รวมอายตนะ ๖ ไม่ใช่เราเข้าไปด้วย โลกข้างนอกก็ไม่ใช่เรา อะไรๆ ตัวเราก็ไม่มีเลย ที่ไหนก็ไม่มี
งั้นปัญญาแทงตลอดลงมาที่จิตตัวเดียวนี้แหละ ว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่เรา โลกก็ไม่ใช่เรา รูปนาม-กายใจ อายตนะ ขันธ์ ธาตุ อินทรีย์ ล้วนแต่ไม่ใช่เราทั้งหมด งั้นแตกหักลงที่จิตดวงเดียวนี้เอง
ตรงนี้ไม่ยากนะ! เราเฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย เห็นจิตเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่ยากหรอก อดทน ไม่ต้องคิดมากว่าจะต้องดูถึงเมื่อไหร่ "เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละ" ดูกี่ปีกี่ชาติก็จะดูอย่างนั้นแหละ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ในสมัยพุทธกาล สังเกตไหมธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน เรียบๆ ง่ายๆ อย่างสอนอริยสัจ ๔ นี่สอนฆราวาสด้วยนะ ไม่ใช่ว่าเป็นธรรมะชั้นสูงแล้วไม่สอนฆราวาส ไม่ใช่ อริยสัจ ๔ สอนทั่วๆ ไปเลย ฆราวาสที่อินทรีย์อ่อน ก็ได้เรียนอริยสัจ แต่ว่าไปเรียนต่อท้ายธรรมะที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา สอนเรื่องการทำทาน  เรื่องถือศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษของกาม เรื่องการออกจากกาม แล้วก็เรื่องอริยสัจ ออกจากกามแล้วก็มาเรียนรู้อริยสัจ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ คื ขันธ์ ๕ คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ที่รู้ไม่ได้ก็เพราะว่า กามสุขัลลิกานุโยค หลงตามกิเลสจนลืมตนเอง และเพราะอัตตกิลมถานุโยค คือการบังคับกาย บังคับใจ ทำให้รู้ไม่ได้
ถ้าไม่สุดโต่งไปสองข้างนั้น กายเคลื่อนไหวมันก็รู้สึก จิตเคลื่อนไหวมันก็รู้สึก อย่าไปหลงอยู่ในโลกของความคิดเท่านั้นเองง่ายๆ นะ ธรรมะง่ายสุดๆ เลย นี่พวกเราส่วนใหญ่ไปหลงในโลกของความคิด วันๆ นั่งคิดกันทั้งวันเลย ขณะใดหลงไปอยู่ในความคิด ขณะนั้นไม่ได้อยู่กับการรู้กายรู้ใจ รู้ไม่ได้ กายกับใจจะหายไปจากโลก
สังเกตมั้ย ตอนที่เราไปคิดนะ เรามีกายก็เหมือนไม่มีนะ มีใจก็เหมือนไม่มี งั้นเราคอยรู้สึกไป อย่าหลงไปในโลกของความคิดนานนะ น่าเกลียด คอยรู้สึกๆ ไว้ ใจไหลไปแล้วรู้สึก ใจไหลไปแล้วรู้สึก เราก็จะสามารถรู้กายรู้ใจได้ คอยรู้กายรู้ใจอย่างที่เค้าเป็นไปเรื่อยๆ รู้ซื่อๆ รู้ง่ายๆ นะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
มีอยู่คราวหนึ่ง ขณะที่สามเณรเพิ่มภาวนาไปได้ระยะหนึ่ง จิตเริ่มสงบ ก็ปรากฏร่างพญางูยักษ์ดำมะเมื่อมขึ้นมาอยู่ตรงหน้า มันจ้องมองท่านด้วยความประสงค์ร้าย แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ฟ่อ-ฟ่ออยู่ไปมา สามเณรเพิ่งซึ่งเพิ่งฝึกหัดภาวนาใหม่ๆ เกิดความหวาดกลัว ผวาลืมตาขึ้นก็ไม่เห็นพญางูยักษ์ จึงรู้ได้ทันทีว่า สิ่งที่ท่านเห็นนั้นเป็นการเห็นด้วยสมาธิจิตที่เรียกว่านิมิตนั่นเอง จึงได้หลับตาลงภาวนาต่อ พอหลับตาลงเท่านั้นก็พลันเห็นงูยักษ์แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ทำท่าจะฉกอีก แม้จะหวาดกลัวน้อยลงกว่าครั้งแรก แต่ก็กลัวมากพอที่จะต้องลืมตาขึ้นอีก เมื่อนำเรื่องนี้ไปถามหลวงปู่ ได้รับคำอธิบายว่า อย่าส่งใจไปดูไปรู้ในสิ่งอื่น การภาวนา ท่านให้ดูใจของตนเองหรอก ท่านไม่ให้ดูสิ่งอื่น
การบำเพ็ญกัมมัฏฐานนี้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไปรู้ไปเห็นอะไรเราอย่าไปดู ให้ดูแต่ใจ ให้ใจอยู่ที่พุทโธ เมื่อกำลังภาวนาอยู่ หากมีความกลัวเกิดขึ้น ก็อย่าไปคิดในสิ่งที่น่ากลัวนั้น อย่าไปดูมัน ดูแต่ใจของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วความกลัวมันจะหายไปเอง
หลวงปู่ได้ชี้แจงต่อไปว่า สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นนั้น บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เหมือนกับว่า คนที่ภาวนาแล้วไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ เข้า การที่เขาเห็นนั้นเขาเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นมันไม่จริง เหมือนอย่างที่เราดูหนัง เห็นภาพในจอหนัง ก็เห็นภาพในจอจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง เพราะความจริงนั้น ภาพมันไปจากฟิล์มต่างหาก ฉะนั้น ผู้ภาวนาต้องดูที่ใจอย่างเดียว สิ่งอื่นนอกจากนั้นจะหายไปเอง ให้ใจมันอยู่ที่ใจนั้นแหละ อย่าไปส่งออกนอก
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หลวงปู่ดูลย์บอกหลวงพ่อว่า การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง
ถ้าจะปฏิบัติไม่ให้ยากนะ ก็ต้องดูกายดูใจเราเหมือนเราอ่านหนังสือ รู้กายรู้ใจเรา เหมือนเรานั่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่ารูปกับนามหรือกายกับใจ หรือจะเรียกหนังสือ ๒ เล่มก็ได้ เรื่องกายเรื่องหนึ่ง เรื่องใจเรื่องหนึ่ง อ่านอย่างนี้ ทำตัวเป็นนักอ่าน ท่านให้อ่านหมายถึงว่า หนังสือมันมีอยู่อย่างไร ก็รู้มันไปอย่างนั้น คำว่าอ่าน มันก็ตรงกับคำว่า ตามรู้ตามดูนั่นเอง มันมียังไงก็ตามรู้ตามดูมันไปอย่างนั้น รู้กายไปอย่างที่เป็น รู้ใจอย่างที่เป็นไป ท่านให้อ่าน ท่านไม่ได้ให้เป็นนักประพันธ์
แต่พวกเราชอบทำตัวเป็นนักประพันธ์ ชอบดัดแปลงกาย ดัดแปลงใจ หรือทำตัวเป็นผู้กำกับคอยบังคับกายบังคับใจ เพราะฉะนั้นให้ทำตัวเป็นแค่นักอ่าน ตามรู้กายอย่างที่มันเป็น ตามรู้ใจอย่างที่มันเป็น ถึงวันหนึ่งก็เห็นความจริงของกายของใจ
การเห็นความจริงของกายของใจนั่นแหละ เรียกว่า มีดวงตาเห็นธรรม ธรรมะคืออะไร ธรรมะก็คือการที่เราเห็นว่ากายกับใจ รูปนาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระโสดาบันที่ว่ามีดวงตาเห็นธรรมนั้น ท่านเห็นว่าทั้งรูปทั้งนามที่เกิดขึ้นมา ล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น ไม่มีตัวเราหรอก นี่เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม  คือเห็นความจริงนั่นแหละ ความจริงของรูปของนาม  ของกายของใจ พอเห็นความจริงได้ ละความเห็นผิดว่ากายกับใจเป็นเรา ก็เป็นพระโสดาบัน
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
 “สังขารมันแปลว่า การปรุง ปรุงแต่ง หรือสิ่งปรุงแต่ง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง พอเป็นภาษาไทย รู้กันแต่ว่า คือ ร่างกายสังขาร คือร่างกาย ดับสังขารคือตาย เมื่อไปงานศพจะได้ยินพระสวด อนิจฺจา วต สงฺขาราสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มักจะเล็งถึงร่างกาย และโดยเฉพาะศพที่นอนอยู่ในโลง อย่างนี้ไม่ถูกดอก
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ในที่นี้ก็แปลว่า ของปรุงทั้งหลาย ของที่ถูกปรุงทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เพราะมันถูกปรุงขึ้นมา แล้วมันก็เปลี่ยนไป ควรจะเข้าใจเสียให้ถูก สำหรับจะไปฟังอะไรถูก คิดนึกอะไรถูก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัก ๒ อย่างนี้ ซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัทเรา คือบอกว่า ที่ปรุงนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ที่ดับ หยุด นั้น เป็นสุขอย่างยิ่ง หัวข้อนี้จำไว้ให้ได้ แล้วก็ให้นึกได้ทันทีที่มันมีเรื่อง คนเรามันก็มีเรื่องสองเรื่องนี้ตลอดชีวิต ตลอดชีวิตของคนเรา จะมีเรื่องปรุงกับเรื่องดับ เรื่องปรุงเรื่องดับ สลับกันไป
สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา = สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
เตสํ วูปสโม สุโข = การระงับเสียซึ่งสังขาร(นิพพาน)นั้น คือการระงับเสียซึ่งการปรุงนั้นเป็นสุข ไม่ใช่หมายความว่า การตายเป็นสุข

พุทธทาสภิกขุ
การมีสตินี่แหละคือความไม่ประมาท มีสติรู้กายรู้ใจ เรียกว่าทำสติปัฏฐาน ถ้ามีสติรู้อย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน
สติรู้กายรู้ใจเรียกสติปัฏฐาน พอรู้แจ้งเรียกว่ารู้ทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ้งก็ปล่อยวางตัวทุกข์ คือปล่อยวางขันธ์ ขันธ์ห้าคือตัวทุกข์ พอปล่อยวางขันธ์ห้าไป จิตไม่มีอะไรจะยึดฉวยนะ ไม่มีอะไรจะเกาะ จิตก็พ้นจากขันธ์ พ้นจากทุกข์นั่นเอง ไม่ใช่ดับทุกข์นะ ไม่ใช่ดับทุกข์ พ้นทุกข์ ขันธ์ก็อยู่ส่วนขันธ์ไป จิตก็อยู่ส่วนจิต อิสระจากกัน แต่จิตก็เป็นขันธ์นะ
มันมีธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง เป็นจิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เกาะกับขันธ์ จิตชนิดนี้จึงไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากขันธ์ ทำหน้าที่รู้ขันธ์ไป  ทำงานอยู่กับโลก รู้บัญญัติบ้าง รู้ขันธ์บ้าง ทำงานอยู่กับโลก แต่ไม่เกาะอะไรนะ เรียกกิริยา เป็นมหากิริยาจิต จิตดวงนี้ไม่เกาะไม่เกี่ยวกับอะไร สบาย มีความสุขอย่างนั้นแหละ
จิตส่งออกนอกไหม ส่งออก ถ้าพูดในสำนวนของนักปฏิบัตินะ จิตพระอรหันต์ก็ยังส่งออกนอก คือออกรู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจตามปกตินั่นเอง แต่ไม่กระเพื่อม ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายอะไรขึ้นมา ไม่ใช่ว่าขันธ์ห้าจะเป็นสุข ขันธ์ห้าจะเที่ยง  ขันธ์ห้าจะเป็นอัตตา เป็นไปไม่ได้ ที่เป็นพระอรหันต์ได้ก็เพราะเห็นว่า ขันธ์ห้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ววางได้
ที่วางไม่ได้ก็เพราะไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ วางไม่ได้เพราะเห็นว่ามันทุกข์บ้างสุขบ้าง รู้สึกมั้ยร่างกายเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง มันรู้สึกอย่างนี้ไงถึงวางกายไม่ได้ ถ้ารู้สึกว่าร่างกายเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง มันก็ดิ้นหาความสุข  ดิ้นหนีความทุกข์ ถ้ารู้สึกว่าจิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง จิตก็ยังดิ้นหาความสุข  ดิ้นหนีความทุกข์อยู่ แต่เมื่อไรเห็นว่าทุกข์ล้วนๆ นะ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จิตจะวาง  วางเองไม่ต้องเชิญให้วาง วางเอง
เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่าทำยังไงจะหลุดพ้น ไม่มีใครทำจิตให้หลุดพ้นได้ จิตเขาหลุดของเขาเอง อย่าว่าแต่ทำจิตให้หลุดพ้นเลย แค่ทำจิตให้เกิดสติสักขณะหนึ่งยังทำไม่ได้เลย สติเกิดเองเพราะมีเหตุ จิตหลุดพ้นเพราะอะไร เพราะมีปัญญาแจ่มแจ้ง รู้ความจริงของกายของใจแจ่มแจ้งว่าเป็นไตรลักษณ์ แล้ววาง วางเอง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
 “รากเหง้าของความปรุงแต่งก็คืออวิชชานั่นเอง ฉะนั้นพวกเราพยายามมาเรียนรู้นะ ไม่ต้องหาทางว่า จะปรุงอย่างไรที่จะไม่ปรุงชั่ว ไม่ต้องหาทางว่าจะปรุงอย่างไรที่จะปรุงแต่ดีๆ หรือจะปรุงอย่างไรที่จะว่างๆ ไม่ยึดอะไรสักอย่าง ไม่ต้องดิ้นรนหาทางปรุงแต่งอย่างนั้น
เรียนรู้ลงมาที่รูปนาม กายใจนี้ ให้เห็นความจริงของรูปนาม กายใจนี้ ถ้าเห็นแจ้งแล้วก็รู้ว่าขันธ์ ๕ มันเป็นตัวทุกข์นะ ความอยากที่จะให้ขันธ์ ๕ เป็นสุข ก็ไม่มี ความอยากที่ให้ขันธ์ ๕ พ้นทุกข์ ก็ไม่มี จิตเข้าถึงความเป็นกลาง ตรงที่จิตมันเข้าถึงความเป็นกลางนะ มันจะไม่ปรุงต่อ ที่มันปรุงเพราะมันไม่เป็นกลาง อย่างมันอยากดี มันเกลียดชั่วหรือมันรักสุข เกลียดทุกข์อย่างนี้ เพราะจิตมันไม่เป็นกลาง มันจึงปรุงต่อ
ถ้าเมื่อไหร่จิตมีปัญญาแก่รอบ เป็นกลางต่อทุกสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้า จิตจะไม่ปรุงต่อ ไม่ว่าดี หรือชั่ว หรือว่าง จะไม่ปรุงอะไรเลย เมื่อจิตไม่ปรุงแต่งต่อ การหยั่งจิตลงไปเกิดในภพใหม่จะไม่มี เพราะตัวสังขารนี่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ให้จิตหยั่งลงไปสู่ภพต่างๆ
ฉะนั้นการที่เรารู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ จิตก็พ้นไปจากความปรุงแต่ง เมื่อรู้ว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ จิตจะไม่ปรุงต่อ ถ้าจิตไม่ปรุงต่อ จิตจะไม่หยั่งลงสู่ความเกิด
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
"พอกิเลสเกิดขึ้นมา โทสะเกิดเราก็ด่า อนุสัยเนี่ยมันปรุงกิเลสหยาบขึ้นมา พอมันปรุงกิเลสหยาบขึ้นมาแล้วครอบงำใจเราได้ เราก็ทำกรรมใหม่  มันจะสะสมอนุสัยให้มากขึ้น"
การเจริญสติ ทำให้อนุสัยเหี่ยวแห้งไปเรื่อยๆ อนุสัยเป็นการสะสมของกิเลสเอาไว้ สันดานที่ไม่ดีเรียกว่าอนุสัย ส่วนจริตเป็นเรื่องของความคุ้นเคย อย่างใจเราคุ้นเคยที่จะโมโห ก็เรียกว่ามีจริตขี้โมโห  มีโทสจริต แต่มันจะมีโทสจริตได้เนี่ย มันต้องมีสันดานขี้โมโหด้วย มีอนุสัยขี้โมโหด้วย ฉะนั้นตัวอนุสัยจะเป็นตัวของกิเลส จริตเป็นตัวปรากฏขึ้นมาของกิเลส อนุสัยเป็นแค่กิเลสขั้นกลางๆ เท่านั้นเอง ตัวสังโยชน์ละเอียดกว่าอนุสัยอีก ที่พระอริยะละเนี่ยละสังโยชน์ สังโยชน์เป็นกิเลสที่ผูกมัดเราไว้ในโลก ผูกมัดสัตว์ไว้ในภพ
ในการปฏิบัติธรรมเนี่ย พอกิเลสผุดขึ้นมาแล้วเรารู้ทัน กิเลสก็ดับไป ทันทีที่เกิดสติ ก็ไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมไม่ได้ปฏิบัติเพื่อละกิเลส แต่แค่มีสติ  กิเลสก็ดับ ทีนี้พอกิเลสดับไป เราก็ไม่ทำตามความเคยชินเก่าๆ ที่กิเลสสอนให้ทำ ความเคยชินของเราก็ค่อยๆ เปลี่ยน อนุสัยจะค่อยๆ เปลี่ยนไป อย่างแต่เดิมเราด่าไวมากเลย ใครมากระทบนะ เราโมโหเราด่าเลย พอกิเลสเกิดขึ้นมา โทสะเกิดเราก็ด่า อนุสัยเนี่ยมันปรุงกิเลสหยาบขึ้นมา พอมันปรุงกิเลสหยาบขึ้นมาแล้วครอบงำใจเราได้ เราก็ทำกรรมใหม่ มันจะสะสมอนุสัยให้มากขึ้น
หลวงพ่อยกตัวอย่างนะ สมมุติสาวๆ คนหนึ่งบ่นไม่เป็นนะ พอแต่งงานแล้วจะบ่นเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องดูแลบ้าน ดูแลสามี ดูแลลูก ทีแรกก็อบรมสั่งสอนนะ ในที่สุดกลายเป็นยายแก่ขี้บ่น เนี่ยมันเคยชิน มันเคยชินไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นถ้าหากอนุสัยมันทำงานขึ้นมา แล้วเราก็ตอบสนองกิเลสไป อนุสัยจะยิ่งตัวใหญ่ขึ้น แต่ถ้าอนุสัยปรุงกิเลสขึ้นมาแล้ว เรามีสติรู้ทันปั๊บ กิเลสดับไป อนุสัยลงทุนแล้วขาดทุน มันจะค่อยๆ ฝ่อไป เพราะฉะนั้นเราเจริญสติเนี่ย อนุสัยจะค่อยๆ เหี่ยวแห้งไปเรื่อยๆ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ธรรมะต้องทนจริงๆ เลยนะ ต้องทนดูแล้วดูอีก วันแล้ววันเล่า ฝึกไป เราหลงมาตลอดชีวิตเลยนะ กี่ภพกี่ชาติเราก็อยู่กับโลกของความหลงตลอดเลย มาหัดรู้สึกตัวนิดๆ หน่อยๆ จะเอามรรคผลนิพพาน  ก็เร็วไปหน่อย แต่มันไม่ได้ยากเท่าที่คิด
พยายามรู้สึกตัว อย่าให้หลงไป อย่าให้ใจลอย รู้สึกตัวบ่อยๆ รักษาศีล รู้สึกตัวไว้ ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงาน ทำตัวเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูไปเรื่อย ถึงจุดหนึ่งปัญญามันแจ้งขึ้นมาว่า มันไม่มีเราหรอก ค่อยฝึกไป นี่เป็นปัญญาขั้นต้นนะ เห็นว่าตัวเราไม่มี ล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ เป็นพระโสดาบัน
ค่อยฝึกๆ ต่อไปอีก  ปัญญาค่อยแก่กล้าขึ้น จนวันหนึ่งปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ รู้แจ้งเลย ทีแรกมันแจ้งในร่างกายก่อน เห็นเลยว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ของดีของวิเศษแล้ว อย่างพวกเราตอนนี้รู้สึกไหมว่า ร่างกายเราเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง  รู้สึกไหม ถ้ายังรู้สึกแบบนี้ยังปล่อยวางกายไม่ได้หรอก แต่ถ้าวันใดปัญญาแก่รอบจริงๆ จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ นะ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง ถ้าเห็นถึงขนาดนี้มันจะวางกายนะ มันจะถอยเข้ามาเรียนอยู่ที่จิต รวมลงที่จิตดวงเดียวเลยคราวนี้ เราก็มาภาวนาอยู่ที่จิตอีก
ภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่า ถ้าจิตมีความอยาก จิตมีความยึด จิตก็มีความทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตก็ไม่ทุกข์ จิตจึงมี ๒ ชนิดอีกแล้ว มีจิตที่สุขกับจิตที่ทุกข์ อันนี้เรียกว่ายังไม่รู้แจ้ง ถ้าฝึกมากเข้าๆ จะรู้แจ้งว่าจิตนั่นแหละคือตัวทุกข์ เหมือนที่เราเคยเห็นกายเป็นทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้ก็เป็นทุกข์ล้วนๆ ขึ้นมา มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ถ้าเห็นอย่างนี้ได้มันจะปล่อยวางจิต ถ้าปล่อยได้ทั้งกายปล่อยได้ทั้งจิต ก็ไม่มีอะไรให้ยึดถืออีกในโลกนี้ โดยสมมติโดยบัญญัติ  เขาเรียกว่า "พระอรหันต์" ความทุกข์ทางใจจะไม่มีอีก  เหลือแต่ความทุกข์ทางร่างกาย ร่างกายก็ยังทุกข์นะ ไม่หาย
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ประมาทไม่ได้เลยนะสังสารวัฏเนี่ย พลาดแวบเดียวเนี่ยไปยาวมากเลย เหมือนเราไต่ภูเขา เราพลัดตกเหวลงมานะ ไม่ใช่ง่ายที่จะขึ้นไป ทุลักทุเลนะ ต้องเข้มแข็งนะ สู้กับกิเลสถอยไม่ได้ แต่สู้ต้องมีสติปัญญา เหมือนเราไต่เขาต้องมีสติปัญญา ไม่ใช่ไต่โง่ๆ ขึ้นไปนะ ตอนนี้เหนื่อยแล้วหยุดพัก หาชะง่อนหินพักก่อน มีเรี่ยวมีแรงค่อยไต่ใหม่
เราภาวนาไปแล้วช่วงนี้เหน็ดเหนื่อยแล้ว ก็ให้ทำสมถะ ทำความสงบ สงบแล้วจิตใจมีเรี่ยวมีแรงแล้ว มาเจริญปัญญารู้กายรู้ใจอีก กระดื๊บๆๆ ไปเรื่อยไม่ท้อถอยนะ จะยากลำบากแค่ไหนก็ถอยไม่ได้นะ เป็นโอกาสดีมากๆ ของพวกเราแล้ว ที่ได้เจอศาสนาพุทธนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ใจของพวกเราโดยธรรมชาตินั้นผ่องใส แต่ไม่บริสุทธิ์หรอก มันแฝงอยู่ด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ แฝงด้วยกิเลสอนุสัยต่างๆ ที่ซ่อนอยู่เยอะแยะเลย แต่เวลาที่กิเลสอนุสัยยังไม่กระเพื่อมขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าจิตใจเราใสสว่างสบาย
ถ้าเรารองน้ำใส่ตุ่มเอาไว้นานๆ ก็จะเห็นว่ามีตะกอนอยู่ที่ก้นตุ่ม เวลาตะกอนยังไม่กระเพื่อมขึ้นมา น้ำก็ใส เวลาตะกอนกระเพื่อมขึ้นมา น้ำก็ขุ่น สภาวะของจิตก็เหมือนกัน มันมีอนุสัยที่สะสมมา เราสะสมการทำชั่วเอาไว้ สะสมไปเรื่อยๆ มันก็เก็บเอาไว้ในภวังคจิต เวลาที่ยังไม่ถูกผัสสะแรงๆ มากวน หรือยังไม่มีอารมณ์ที่แรงๆ มากระทบ เหมือนไม่มีใครไปกวนน้ำในตุ่ม ตะกอนก็ไม่ฟุ้งขึ้นมา อนุสัยไม่ทำงาน น้ำก็ใส
ฉะนั้น จิตโดยธรรมชาตินี่มันใส มันขุ่นขึ้นมาเพราะถูกอารมณ์มารบกวน พอมันกวน อนุสัยต่างๆ ที่มันซ่อนอยู่ก็ฟุ้งขึ้นมา เป็นกิเลสหยาบๆ ใจก็หมอง ไม่สะอาด โดยธรรมชาติใจของเราเหมือนน้ำใสในตุ่ม ไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์ เราต้องค่อยๆ เจริญสติ เจริญปัญญาไป คล้ายๆ เรากรองน้ำไปเรื่อย ในที่สุดก็กรองเอาเศษขยะขี้ผงตะกอนต่างๆ ออกไปหมด ก็จะได้น้ำที่บริสุทธิ์ เครื่องกรองตะกอนออกจากน้ำ ก็เหมือนเครื่องกรองกิเลสออกจากใจเรา ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
ศีลเหมือนกระชอนหรือตะแกรง กรองเอาของหยาบๆ ออกไปจากใจเรา กรองเอาราคะ โทสะ โมหะ ที่รุนแรงออกไป
สมาธิเป็นเครื่องกรองของสกปรกระดับกลางๆ คือตัวนิวรณ์ทั้งหลาย
ปัญญาเป็นเครื่องจัดการกับกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน ไม่ต้องรอให้มันฟุ้งขึ้นมา มันจะเหมือนท่อน้ำเข้าไปดูดเอาตะกอนที่ก้นถังออกไป ซึ่งเป็นงานที่ประณีต ถ้าเราขจัดสิ่งสกปรกออกไปจากจิตได้ จิตใจเราก็จะทั้งผ่องใสและบริสุทธิ์
บางทีเรามักง่าย เราได้ยินธรรมะบอกว่า "ธรรมชาติเดิมของจิตนั้นผ่องใส แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา" เราก็คิดมักง่ายว่าไม่ต้องทำอะไร จิตนั้นผ่องใสอยู่แล้ว เพียงแต่คอยขจัดไม่ให้กิเลสจรมา หรือคอยหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์เท่านั้น
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนตื้นขนาดนั้น จะคอยขจัดกิเลสที่จรมาก็เป็นภาระที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะตะกอนยังมีอยู่ที่ก้นโอ่ง ยังไม่ได้เอาออก จะเลี่ยงการกระทบอารมณ์ก็ไม่ได้ เพราะเรามีตาหูจมูกลิ้นกายและใจ เราต้องขจัดกิเลสด้วยศีล สมาธิ  ปัญญา จึงจะสามารถเอาของสกปรกออกไปได้จริงๆ คราวนี้น้ำจะแกว่งขนาดไหนก็ไม่มีตะกอนขึ้นมา เหมือนจิตที่ฝึกดีแล้ว จิตของพระอรหันต์ กระทบอารมณ์เท่าไรๆ  ก็ไม่มีตะกอนอะไรขึ้นมา ก็สว่างแจ่มใสบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่อย่างนั้นเอง
ฉะนั้น ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการกระทบหรือคอยประคองจิตให้นิ่ง บางคนก็สอนคลาดเคลื่อนว่า อย่าไปแกว่งน้ำสิ อยู่เฉยๆ  หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ ตะกอนจะได้ไม่ฟุ้งขึ้นมา อย่างนี้ก็มี บางพวกบอกไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่นิ่งๆ อย่าไปกระทบมัน น้ำก็จะได้สว่างใสอยู่อย่างนั้น นี่หรือที่คิดว่าจิตบริสุทธิ์อยู่แล้ว ที่จริงก็ยังไม่บริสุทธิ์หรอก เพียงแต่กิเลสยังไม่ขึ้นมาทำงานให้ดูเท่านั้นเอง
การประคองจิตให้นิ่ง ประคองจิตให้ว่าง ไม่ให้มันกระทบอารมณ์ เลี่ยงการกระทบอารมณ์บ้าง กระทบแล้วคอยควบคุมจิตไม่ให้กระเพื่อมบ้าง มีตั้งหลายแบบที่ทำกันอยู่ หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ก็คล้ายๆ อย่าไปแตะตุ่มน้ำนี้นะ ให้มันอยู่นิ่งๆ ตะกอนจะได้ไม่ขึ้นมา แล้วบอกว่าจิตบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ ทั้งที่ตะกอนยังอยู่ก้นตุ่ม อนุสัย กิเลส สังโยชน์ทั้งหลายยังซ่อนอยู่ในจิต จึงยังไม่เป็นพระอรหันต์หรอก การหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ ไม่ดู ไม่ฟัง ไม่ดมกลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัสทางกาย ไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง หวังว่ากิเลสจะไม่กระเพื่อมขึ้นมานั้น ไม่ใช่ทางที่พระพุทธเจ้าสอนหรอก เพราะมันไม่สิ้นสุด มันซ่อนกิเลสเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้นเอง
วิธีเลี่ยงการกระทบอารมณ์ที่ดีที่สุดมีอยู่ ๒ อย่าง อันเป็นการสร้างภพละเอียดขึ้นมา คือ
อย่างที่ ๑ ฝึกจิตจนได้พรหมลูกฟัก คือไม่มีจิต ตอนนั้นไม่รู้ตัวเลย ไม่มีอะไรกระทบแน่นอน
อย่างที่ ๒ ลดการกระทบลงไป  คือการเข้าอรูปฌาน พอเข้าอรูปฌาน ตาหูจมูกลิ้นกายไม่ทำงาน ก็ตัดการกระทบไป ๕ ช่อง เหลือที่ใจอันเดียว  สบายเพราะไม่มีอะไรมากวน  ก็หลงๆ สบายอยู่อย่างนั้น การไปปรุงภพที่ละเอียดขึ้นมาไม่ใช่ทางที่จะพ้นทุกข์
การหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ ก็ไม่ใช่ทางที่จะพ้นทุกข์
ถ้าเราจะเจริญสติปัญญาจริงๆ อย่ากลัวน้ำขุ่น ให้มันกระทบอารมณ์ตามธรรมชาติ เพียงแต่อย่าเติมของสกปรกเข้าไปให้มันเท่านั้นแหละ ให้ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดา ตะกอนกิเลสทั้งหลายก็จะทำงานขึ้นมา แล้วให้เรามีสติรู้ทัน มันคล้ายๆ ของสกปรกลอยขึ้นมา เรามีสติรู้ทันก็คอยช้อนเอาออก กิเลสลอยขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทัน กิเลสจะสลายตัววับไปเลย นี่มันเริ่มขาดทุนแล้ว ของสกปรกคืออนุสัยเริ่มอ่อนกำลังลงทีละน้อยๆ พอตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ แล้วอนุสัยกิเลสทำงาน ปรุงกิเลสหยาบขึ้นมา เรารู้ทัน กิเลสสลายตัวหายไป อนุสัยขาดทุนไปเรื่อยๆ อนุสัยจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น การที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง ไม่ได้ทำเพื่อละกิเลสตรงๆ เราไม่มีความจำเป็นต้องละกิเลส เพราะกิเลสหายไปแล้ว การที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจ ในเวลาที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ แล้วกิเลสทำงานขึ้นมา อนุสัยลงทุนสร้างกิเลสขึ้นมา ถ้าเรารู้ทัน อนุสัยจะขาดทุน อนุสัยจะค่อยๆ อ่อนกำลังลง แต่ถ้ารู้ไม่ทัน กิเลสทำงานแล้ว มันจะเก็บตะกอนคืออนุสัยเอาไว้ในจิตใต้สำนึก คือในภวังคจิตของเรา
การที่เราเจริญสตินี่ ไม่ได้มุ่งไปทำลายตัวกิเลสโดยตรง แต่มันส่งผลให้อนุสัยอ่อนกำลังลงเป็นลำดับๆ นี่คือการค่อยๆ กรองเอาตะกอนออกไปจากก้นโอ่ง มันเป็นงานที่ประณีตนะ ต้องทำความเข้าใจ ถ้าไม่ใช่ปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ยากเหลือเกินที่จะเข้าใจเส้นทางสายนี้ได้
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ถ้าตั้งอกตั้งใจภาวนา พอจิตตื่นขึ้นมา มันง่ายนิดเดียวจริงๆ ง่าย เราไปทำให้มันยากเอง มันจะยากอะไร ถูกเขาด่าแล้วโกรธ รู้ว่าโกรธนี่ ถ้าจะให้ยากก็ต้องไม่โกรธ ทำอย่างไรจะไม่โกรธนี่ยากนะ หรือโกรธแล้วทำอย่างไรจะดับนี่ยาก ถูกเขาด่าแล้วโกรธก็รู้ว่าโกรธ ใครก็ทำได้ เพียงแต่เรานึกไม่ถึงว่าการปฏิบัติจะง่ายขนาดนั้น
ธรรมะก็ธรรมดานั่นแหละ ธรรมะไม่ธรรมดาแล้วมันจะเป็นธรรมะได้อย่างไร ธรรมะกับธรรมดามันก็คำเดียวกันนั่นแหละ เราเรียนธรรมดาของกาย  ธรรมดาของใจนะ จนเห็นว่า โอ้ย มันธรรมดา อย่างร่างกายนี้ต้องเจ็บต้องตายเป็นเรื่องธรรมดา หรือจิตใจเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสงบเดี๋ยวฟุ้งซ่านเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ายอมรับความธรรมดา ใจก็เข้าสู่ความเป็นกลางไม่ดิ้น
มีวิธีฝึกกัมมัฏฐานง่ายๆ อยู่อันหนึ่ง อันนี้อยากฝากญาติโยมไปดู กระทั่งพระก็ได้นะ คือ แต่ละคนจะแอบสร้างภพขึ้นมา สร้างภพคือสร้างสภาวะอะไรขึ้นมาบางอย่าง จะสร้างกันทุกคนแหละ เวลาเจอคนนี้ก็ต้องวางมาด มันจะสร้างขึ้นมาตลอดเวลา หรือเวลาบางคนจะคุยกับหลวงพ่อ ต้องทำเสียงหล่อๆ หน่อย ต้องให้มันไม่ธรรมดา เนี่ยเสแสร้งสร้างขึ้นมา  เพื่ออะไร เพื่อให้ดูดี
ลองสังเกตตัวเองดู กะเทาะเปลือกตัวเองออก จนเห็นเลยตัวจริงของเราเป็นอย่างไร เราชอบสร้างภาพหลอกๆ ขึ้นมา อย่างเราเจอคนแต่ละวันๆ เราจะสร้างมาดขึ้นมา เจอลูกค้าเราก็ต้องทำอย่างนี้ เจอเจ้านายก็ต้องทำท่านี้ เจอสาวเราต้องทำอย่างนี้  ต้องวางฟอร์ม ฟอร์มที่สร้างขึ้นคือสภาวะนั่นเอง คือภพอันหนึ่ง บางทีก็เป็นภพของพ่อ วางฟอร์มเป็นพ่อ บางทีก็วางฟอร์มเป็นแม่ วางฟอร์มเป็นนางเอก มีนะวางฟอร์มเป็นนางเอก ทำเศร้าๆ มีหยดน้ำตาและหยดเลือดเยิ้มๆ ในใจ ชอบนักเชียว หาเรื่องลงนรกแท้ๆ เลย สะใจ เจ็บๆ แสบๆ คันๆ  โอ้ย ชอบ ชอบเข้าไปได้อย่างไร ทำให้จิตคุ้นเคยกับอกุศล แต่ละคนจะวางฟอร์ม ฉะนั้นให้เรารู้ทัน ภพทั้งหลายถ้าเรารู้ทันเราจะหลุดออกมา ไม่มีอะไร ว่างๆ ไม่มีอะไร แต่ถ้ารู้ไม่ทัน มันก็สร้างภาพขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างสวยงาม อย่างโน้นอย่างนี้
พวกเราแต่ละคนเหมือนหมูกระดาษนะ เราปั้นขึ้นมา ถ้าเรารู้ตัวจริง มันไม่ได้มีจริง เราค่อยๆ ลอกเปลือกมันออก ลอกสิ่งที่ปรุงแต่งออกไป ลอกออกไปเป็นชั้นๆ ลอกออกไปเรื่อย ถึงจุดหนึ่งจะเข้าไปถึงตัวจริงของมัน ตัวจริงของมันไม่มีอะไรเลย มันมาจากความว่างเปล่า แล้วก็สร้างขึ้นมาจนเป็นตัวเป็นตน
แต่ถ้าเมื่อใดเราลอกตัวเองออกไปเรื่อย ลอกความปรุงแต่งออกไปเรื่อย จนสุดท้ายลอกชั้นในออกไป สุดภายในก็เป็นความว่างๆ อาจจะขังอากาศอยู่ พอเปลือกกระดาษหลุดออกไปแล้ว อากาศนั้นก็กระจายรวมกับอากาศข้างนอกนั่นเอง เพราะฉะนั้นการภาวนาก็เหมือนกันนะ ถ้าจิตพ้นจากความห่อหุ้มนะ ไม่ได้มีเปลือกห่อหุ้ม ไม่ได้สร้างระบบใดๆ ห่อหุ้ม มันจะกลืนเข้ากับอากาศข้างนอกนั่น กลืนเข้ากับโลก ฉะนั้นเราภาวนาจนถึงจุดสุดท้าย จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่จะกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อว่า "วันใดเธอเห็นว่าจิตกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งเดียวกัน เธอจะแจ่มแจ้งฉับพลันนั้นเลย"
เราฟังก็นึกว่าเป็นวิธีปฏิบัตินะ แต่ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ก็ดูจิตของเราไปเรื่อย ดูไปจนกระทั่งวันหนึ่งพอเราไม่ยึดถือจิตซะอย่างเดียว เราสลัดคืนจิต จิตกับโลกกลมกลืนเป็นอันเดียวกันนั่นเอง วันหนึ่งพากเพียรไป ดูกายดูใจของเราไป เราปอกเปลือกของตัวเองล่อนจ้อนไม่มีอะไรเหลือเลย เราจะพบตัวจริงของเรา ซึ่งไม่มีอะไรเลย
เพราะฉะนั้นเราภาวนาแล้ว เราจะไม่ได้อะไรมา และไม่ได้เสียอะไรไป เพราะเราไม่มีอะไรตั้งแต่แรกแล้ว ไม่มีอะไรเลย แต่จิตถัดจากนั้นจะเป็นอย่างไร จิตที่ปล่อยวางจิตไปแล้ว จะมีแต่ความสุขล้วนๆ ยืนเดินนั่งนอน มีแต่ความสุขล้วนๆ เกิดอะไรขึ้นจิตจะไม่กระเพื่อมไหวเลย กลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นจิตกับธรรมะก็เป็นอันเดียวกัน หลอมรวมเข้าด้วยกัน จิตที่หลอมรวมกับธรรมะเป็นอันเดียวกัน จิตอันนั้นเรียกว่าพระสงฆ์ จิตอันนั้นเป็นพระพุทธ พุทธะ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นอันเดียวกัน เป็นเรื่องที่แปลกนะ
เวลาเราภาวนาเบื้องต้น  เรารู้สึกพระพุทธก็อันหนึ่ง พระธรรมก็อันหนึ่ง พระสงฆ์ก็อันหนึ่ง แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นอันเดียวกัน เป็นความไม่มีอะไร เป็นธรรมะนั่นเอง แต่ไม่ใช่แบบว่างเปล่าสาบสูญ ถ้าสาบสูญเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีแต่ความสุขล้วนๆ เลยเมื่อเรากระทบ เราสัมผัส เราระลึกถึง ฉะนั้นถ้าเราฝึกจนถึงจุดที่เราปล่อยวางจิตได้แล้ว เวลาเรามนสิการถึงนิพพาน นิพพานกับจิตก็สัมผัสกันอยู่ตรงนั้นเลย นิพพานไม่ใช่ต้องเข้าสมาธิแล้วส่งจิตไปดู
ค่อยฝึกนะ แล้วจะมีความสุขอันมหาศาลรออยู่ข้างหน้า หัดเบื้องต้นก็มีความสุขเกิดน้อยไปก่อน คนไม่มีสติ พอมีสติขึ้นมาก็มีแต่ความสุข คนไม่มีศีล พอมีศีลขึ้นมาก็มีความสุข คนไม่เคยมีสัมมาสมาธิ พอจิตมีสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นไม่หลงไม่เผลอไปตามอารมณ์ สักว่ารู้ว่าเห็นอยู่ก็มีความสุข จิตที่มีวิมุตติ มีปัญญาขึ้นมาก็มีความสุข มีวิมุตติขึ้นมาก็มีความสุข เราภาวนาไป เราจะมีความสุขเป็นลำดับๆ ไป
เบื้องต้นมีความสุขจากการรู้สึกตัวก่อน หัดตัวนี้ให้ได้ก่อน อย่างพอเรามีความสุขจากการรู้สึกตัว มันจะรู้สึกตัวบ่อย  เพราะเราชอบแล้ว เราชอบรู้สึกตัว เราไม่ชอบเผลอแล้ว แต่เดิมคิดว่าเผลอๆ เพลินๆ มีความสุข รู้สึกตัวไม่มีความสุข เพราะรู้สึกตัวแล้วเห็นแต่ทุกข์ เห็นกายเป็นทุกข์ เห็นใจเป็นทุกข์ แต่พอเรารู้สึกตัวเป็น รู้สึกไปเรื่อย จะพบว่าทันทีที่รู้สึกตัวมีความสุขขึ้นมา มีความสุขโชยแผ่วๆ ขึ้นมา นี่สุขในตัวเอง เราก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เมื่อใดใจหลงเข้าไปแทรกแซง ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เมื่อใดใจไม่แทรกแซง คิดว่ารู้คิดว่าเห็นก็มีความสุข ตรงนี้เป็นความสุขที่กายใจตั้งมั่น ใจมีปัญญา แต่ยังไม่ใช่ความสุขที่สุด
ความสุขของศาสนาพุทธนั้นลึกซึ้งเป็นชั้นๆ ไป คนในโลกใจมันคลุกอยู่กับอารมณ์ อย่างมีความอยากขึ้นมาแล้ว ได้รับการตอบสนองสมอยากแล้วมีความสุข ไม่สมอยากแล้วถึงจะทุกข์ นี่ตื้นที่สุดเลย พวกเราผู้ภาวนาจะเห็นเลย ถ้ามีความอยากแล้วจะทุกข์ ถ้าไม่มีความอยากแล้วไม่ทุกข์ จะเห็นอย่างนี้ ถ้าถึงจุดสุดท้ายจะเห็นเลย จะมีความอยากหรือไม่มีความอยาก ขันธ์ห้านี้ก็เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง
ถ้าเห็นอย่างนี้เรียกว่ารู้อริยสัจแจ่มแจ้งแล้ว รู้ว่าขันธ์ห้าเป็นตัวทุกข์ของมันเอง ความอยากจะให้ขันธ์ห้าเป็นสุขจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว เพราะรู้ว่ามันเป็นตัวทุกข์ ทำอย่างไรมันก็ทุกข์ อย่างเรารู้ว่าไฟนี่เป็นของร้อน เราก็ไม่ต้องไปอยากให้มันเย็นนะ  อย่างไรมันก็ร้อน เราไม่โง่พอที่จะอยากให้ไฟอันนี้เย็น จะไม่โง่ขนาดนั้น คือจิตที่มันรู้ว่าขันธ์เป็นของร้อน มันจะไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ขึ้นมาอีกแล้ว ไม่ไปหยิบฉวยจิต ไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ ตัวเราที่จริงไม่มี เราไปสร้างตัวเองขึ้นมาก่อน ว่าฉันคืออย่างนี้ สร้างภาพหลอกๆ ขึ้นมาจากความไม่มีอะไร ก็ให้มันมีขึ้นมา ที่หลวงพ่อพูดเรื่องหมูกระดาษอะไรน่ะ เพราะจริงๆ มันไม่มีนั่นแหละ ไปสร้างมันขึ้นมา หน้าที่ก็แค่รู้ทันแล้วเลิกสร้างไป
ตัวหมูกระดาษจริงๆ หมายถึงว่าแต่เดิมมันไม่มีหรอก คือในความเป็นจริงไม่มีตัวเรามาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ว่าเราไปสร้างภาพสร้างเปลือกอะไรขึ้นมา จนเรารู้สึกว่าเรามีอยู่จริง พอเรารู้ทันเปลือกที่เราสร้าง วันหนึ่งเราไม่สร้างเปลือกนะ เราก็พบว่าจริงๆ เราไม่มีอะไรอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้อะไรมา ไม่เสียอะไรไป
คำว่า "หมูกระดาษ" พูดภาษาบาลีเลยก็คือคำว่าภพนั่นเอง จิตเราชอบสร้างสภาวะบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา แล้วเราก็ไปติดอยู่ในสภาวะอันนั้น เช่น ทันทีที่เราคิดเรื่องการปฏิบัตินะ เราก็จัดแจงบังคับใจของเราให้นิ่งๆ แล้วเราก็แช่อยู่กับความนิ่ง  นี่เรียกว่าติดในภพ เวลาเราเจอคนนี้เราก็วางฟอร์มแบบนี้ เจอคนนี้เราก็ทำแบบนี้ เราเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปเรื่อยๆ เรียกว่าเปลี่ยนเปลือกเปลี่ยนหน้ากาก เปลี่ยนหมูกระดาษไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงไม่มี
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
อริยสัจข้อที่สามที่เรียกว่าความดับทุกข์ คนมักจะเข้าใจว่าตายไป เข้าโลงไปแล้ว สิ้นสุดกันทีถึงจะเป็นเรื่องความดับทุกข์
พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ หมายถึงการดับตัณหานั้นเสียเป็นความดับทุกข์ฉะนั้นตัณหาดับที่ไหน มีความดับทุกข์ที่นั่น ตัณหาดับไปเมื่อไรมีความดับทุกข์เมื่อนั้น ดังนั้นพอมีความทุกข์เกิดขึ้นเราจงมีสติสัมปชัญญะดับทุกข์ทันที แล้วมันก็มีความดับทุกข์ที่นั่น มีนิพพานในลักษณะอย่างนี้ที่นั่น ไม่ใช่ต่อตายแล้ว
เรื่องตายแล้วไม่ให้เอามาพูดกัน เรื่องหลังจากตายแล้วนั้นมันขึ้นอยู่กับเรื่อง(ตอน)ที่ยังไม่ตาย ถ้าเราทำเรื่องต่าง ๆ ในขณะที่ยังไม่ตายถูกต้อง ต่อตายแล้วมันก็เป็นเรื่องถูกต้องไปหมด ถ้าเราทำเรื่องที่ยังเป็นๆ อยู่นี้ผิด ตายแล้วมันก็ผิดมันมีเรื่องผิด ฉะนั้น เราจงสนใจทำให้ถูกที่สุดในที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วมันก็คุ้มไปหมด
คำว่าดับทุกข์นี้จะเรียกว่านิพพานก็ได้ แต่มีหลายความหมาย นิพพานในอันดับชิมลอง ในอันดับตัวอย่าง ในอันดับปัจจุบันทันตาเห็นนี้ก็มีมีชื่อเรียกเหมือนกัน แต่ว่านิพพานในความหมายสูงสุดก็คือ ดับกิเลสหรือดับทุกข์สิ้นเชิงเป็นพระอรหันต์
พุทธทาสภิกขุ
เราคิดพิจารณาชีวิตสังขารว่าเกิดแก่เจ็บตายไม่จีรังยั่งยืน โอ้ สังขารนี้ไม่เที่ยง อย่างนี้ยังไม่ใช่เป็นปัญญาแท้ เขาเรียกว่าเป็นจินตาญาณ เป็นความรู้จากความคิด คิดเหตุคิดผลเอาอดีตอนาคต แต่ปัญญาแท้ ๆ ที่เป็นภาวนามยปัญญา นั้นเป็นความเห็นเฉพาะหน้า รู้เห็นจริง ๆ คือเห็นสังขารคือรูปนามนี้ มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตาจริงๆ นั่นหมายถึงว่าผู้นั้นจะต้องเจริญสติอยู่ มีสติกำหนดรู้สังขารอยู่ คือรูปธรรม นามธรรม เขาเรียกว่าสังขาร จะต้องกำลังเจริญสติระลึกรู้รูปนามอยู่ แล้วเห็นรูปนามนั้นมีสภาวะเปลี่ยนไปต่อหน้าต่อตา แล้วจึงรู้สึกได้ว่าไม่เที่ยง โดยไม่ได้มีความคิดเข้ามา เห็นจริงๆ เห็นต่อหน้าต่อตาในปัจจุบัน
เช่น ระลึกรู้ทางกาย ก็เห็นสังขารที่กายนั้น มีความเปลี่ยนแปลงไปจริง ๆ ความเย็น ความรู้สึกเย็น ความร้อน รู้สึกร้อน อ่อนแข็งหย่อนตึง รู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลง กระทบแล้วก็เสื่อมสลายไป เปลี่ยนแปลง เวทนาก็ดี ความสบาย ไม่สบายที่เกิดขึ้น ก็มีความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ยั่งยืน สี เห็นก็เปลี่ยนแปลง สีสัน สภาพเห็น เสียงได้ยิน เสียงกระทบหูได้ยินเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้ แล้วก็เห็นว่ามันก็เปลี่ยนแปลง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก มีความเปลี่ยนแปลง สภาพของนามธรรมที่จิตใจ ความรู้สึกในจิตใจ ความปรุงแต่งในจิตใจ ก็มีความเปลี่ยนแปลง เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นบ่อย ๆ ๆ ก็รู้สึกไม่เที่ยง ๆ เมื่อเห็นอย่างนั้นย่อมเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายในสังขารเหล่านี้ว่ามันไม่เที่ยง
พระพุทธองค์ตรัสว่า นั่นแหละจะเป็นทางแห่งความดับทุกข์ได้ เมื่อเกิดความเบื่อหน่าย นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด
หรือพิจารณาเห็นสังขารนี้มันเป็นทุกข์ ความทุกข์ ไม่ใช่เฉพาะความปวด ความเจ็บ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจเท่านั้นที่ว่าทุกข์ อันนั้นเป็นทุกขเวทนา ก็เป็นทุกข์เหมือนกันแหละ แต่มันมีทุกข์ที่เรียกว่าทุกขภาวะ หรือทุกขลักษณะ ทุกขลักษณะนี้จะให้ลักษณะต่อความรู้สึกของปัญญาผู้ปฏิบัติว่า มันทนอยู่ มันตั้งอยู่ไม่ได้ สังขารคือรูปนามนั้น เมื่อระลึกรู้แล้วเห็นความที่มัน ต้องหมดไป ดับไป มันตั้งอยู่ในฐานะเดิมไม่ได้
เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง กระทบแล้วเห็นมันดับไปในทันที ความไหวๆๆ ดับไป ได้ยินๆ ดับไป ได้ยินดับไป คิดนึกดับไป สภาพรู้ดับไปด้วยกัน สิ่งที่ยื่นให้รู้ก็ดับ สิ่งที่เข้าไปรู้ก็ดับไปด้วยกัน เห็นมันดับ อาการที่เห็นมันหมดไปๆมันตั้งอยู่ไม่ได้ ๆ  เกิดแล้วต้องหมดไป นั้นคือการเห็นทุกข์ เห็นทุกขลักษณะ เรียกว่าสภาพที่เป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเมื่อใดเห็นด้วยปัญญา อย่างนี้เขาเรียกว่าเห็นด้วยปัญญา (ไม่ใช่คิดนึกเอาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์) เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง เคยหลงมานี้มันจะเบื่อหน่ายแล้ว มันทุกข์อย่างนี้เบื่อ นั่นแหละเป็นทางแห่งความดับทุกข์ เป็นทางแห่งพระนิพพาน นิพพานคือสภาพดับทุกข์
ฉะนั้น ทุกข์ ผู้ที่จะเข้าถึงความดับทุกข์นี้ มันจะต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ผ่านความเบื่อหน่าย คนเราถ้าไม่เบื่อหน่ายมันก็หลงอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่เห็นทุกข์มันก็หลงอยู่ มันต้องเห็นทุกข์จึงจะได้เบื่อหน่าย เห็นความไม่เที่ยง เห็นความทุกข์ก็ตาม ฉะนั้นเราต้องปฏิบัติให้มันเห็น เจริญสติ
สัพเพ ธัมมา อะนัตตา ในช่วงอนัตตานี้ ท่านใช้คำว่า สัพเพธัมมา ไม่ได้ใช้คำว่า สัพเพสังขารา เพราะว่าสัพเพธัมมา นี้กินความกว้างกว่า สัพเพ สังขารา สัพเพ ธัมมา นี้กินความรวมไปถึงนิพพานด้วย แต่ สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ สังขารา อะนิจจา นี้ ยกเว้นนิพพาน เพราะนิพพานไม่ใช่สังขาร
ฉะนั้นจะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ ใช้คำว่าสังขาร ใช้คำว่า ธัมมา มันจะกินนิพพานด้วย จะไปเรียกว่านิพพานไม่เที่ยงไม่ได้ นิพพานเป็นทุกข์ไม่ได้ แต่เรียกว่านิพพานเป็นอนัตตาได้ เพราะฉะนั้นใช้คำว่า สัพเพ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงได้ เพื่อจะยกนิพพาน สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ยกนิพพาน รูปนามทั้งหมดเป็นทุกข์ แต่ถ้ากล่าวถึง อนัตตา แล้วกล่าวได้ทั้งหมด ธรรมทั้งหมด สัพเพ ธัมมา เรียกว่าธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตาหมด แม้นิพพานก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
เมื่อใดบุคคลพิจารณาเห็นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ย่อมจะเกิดความเบื่อหน่าย ถ้ากำหนดไปต้องเห็นด้วยปัญญา จริงๆ อนัตตา มันก็อยู่ที่ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์นั้นแหละ มันอยู่ด้วยกันนั่นแหละ อนัตตาคือบังคับไม่ได้ บังคับไม่ได้ก็คือมันเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป บังคับมันไม่ได้ บังคับอย่าเกิดมันก็เกิด บังคับอย่าดับมันก็ดับ การเกิดการดับบังคับไม่ได้ รูปนามนี้ รูปนามมันเกิดดับตลอดเวลา บังคับอะไรไม่ได้เลย อันนี้อนัตตา สิ่งที่บังคับไม่ได้ จะยึดถือเป็นตัวตนไม่ได้ เป็นเราเป็นของเราไมได้ ถ้าเป็นตัวตนเป็นเราเป็นของเราก็ต้องบังคับได้ นี้บังคับไมได้
ฉะนั้นอาการที่เป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันก็คืออนิจจังนั่นแหละ มันแปรเปลี่ยน มันจึงดับไป ถ้ามันไม่แปรเปลี่ยนมันก็ดับไม่ได้ เกิดดับไม่ได้ อันที่มันเกิดดับ แสดงว่ามันแปรสภาพ เกิดแล้วแปรสภาพ มันก็ดับไป ฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้มันอยู่ด้วยกัน มันเป็นลักษณะของรูปนาม รูปนามนี้จะมีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง แล้วแต่ว่าปัญญาของบุคคลนั้น ไปจับในความรู้สึกในแง่ไหน
บางคนก็จับความรู้สึกในแง่ไม่เที่ยง ๆ บางคนก็จับในแง่เป็นทุกข์ ทน ตั้งอยู่ไม่ได้ บางคนก็จับในแง่ของอนัตตา บังคับไม่ได้ไม่ใช่ตัวตน เห็นอย่างนี้แล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อนั้นย่อมเป็นทางแห่งความหลุดพ้น เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด
หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
ถ้าดูจิตไปเรื่อยๆ จะเห็นอริยสัจของจิต อริยสัจของจิตก็คือจิตมันจะปรุงความทุกข์ขึ้นมา เราจะเห็นกระบวนการที่จิตปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา พอเห็นแจ่มแจ้ง จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งก็เป็นอริยมรรค จริงๆ เป็นอรหัตตมรรค จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นอะไร ว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ได้เป็นอย่างอื่นหรอก นี่ท่านสอนสั้นๆ  "ให้ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก"
ที่จริงธรรมะไม่มีมากหรอก มีมากเพราะเราคิดมาก เวลาไปเรียนกับครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่จริงๆ ท่านสอนไม่มาก แต่สิ่งที่ท่านสอน ทำกันแรมปี หรือหลายๆ ปี บางทีทำกันทั้งชาติ อย่างหลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต พูดสั้นๆ นะ พูดง่ายๆ ดูจิตไป เราก็ดูไป อย่าส่งจิตออกนอก มันก็ครอบคลุมการปฏิบัติเอาไว้เยอะแยะ คือให้คอยรู้สึกตัวขึ้นมา อย่าให้หลงไปนะ อย่าหลงไป คืออย่าส่งจิตออกนอกไป แล้วก็ให้คอยดูไม่ให้เพ่ง ให้คอยดูไปเรื่อยๆ ถ้าดูจิตไปเรื่อยๆ จะเห็นอริยสัจของจิต อริยสัจของจิตก็คือจิตมันจะปรุงความทุกข์ขึ้นมา เราจะเห็นกระบวนการที่จิตปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา
พอเห็นแจ่มแจ้ง จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งก็เป็นอริยมรรค จริงๆ เป็นอรหัตตมรรค จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นอะไร  ว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ได้เป็นอย่างอื่นหรอก นี่ท่านสอนสั้นๆ " ให้ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก" สอนสั้นๆ แต่ทำกันนาน เริ่มตั้งแต่จะดูอะไร จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มีเรื่องต้องคิดมากมาย ท่านไม่ได้ให้คิดมาก "คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้"
หรือไปเรียนกับหลวงปู่เทสก์ ท่านก็สอนนิดเดียว สอนเรื่องจิตกับใจ เรื่องฌานกับสมาธิเน้นอยู่สองเรื่อง ท่านบอก "จิตอันใด ใจอันนั้น" อันเดียวกันคือเป็นธาตุรู้เหมือนกัน เป็นธรรมชาติรู้เหมือนกัน แต่จิตนี่มันไม่รู้เฉยๆ มันรู้แล้วเสวยอารมณ์ด้วย มันหลงไปตามความยินดียินร้าย มันทำงาน มันปรุงแต่ง ใจมันรู้เฉยๆ ทีแรกเราก็เห็นจิตมันทำงานไป พอเรารู้เท่านั้น  เราไม่ไปทำอะไรมันนะ รู้ลูกเดียวเลย ก็คล้ายๆ การดูจิตนั่นเอง เสร็จแล้วจิตมันจะเข้ามาเป็นใจ คือหมดความปรุงแต่ง
คำว่า "ใจ" นี่ท่านให้อรรถาธิบายเอาไว้อีกอันหนึ่ง แปลว่ากลาง ภาษาไทยโบราณคำว่าใจแปลว่ากลาง อย่างใจกลาง  ใจมือ แต่ภาษาเดี๋ยวนี้ไม่มีคำว่าใจมือ ใจมือคือกลางมือ ใจมือ ใจเท้า อะไรอย่างนี้ฉะนั้น  "ถ้าเมื่อใดเข้าถึงความเป็นกลางอย่างแท้จริง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง" คำสอนของท่านง่ายๆ นะ แต่ภาวนากันปางตายกว่าจะเห็น
มันก็เห็นแต่จิตนะ มันก็ทำงานไปเรื่อยๆ บางทีก็มีตัวผู้รู้ขึ้นมา มีตัวผู้รู้ขึ้นมาไปรู้กาย รู้เวทนา รู้จิตทำงานไปเรื่อยๆ เราก็คิดว่าตัวผู้รู้เป็นใจ มันไม่ใช่หรอก มันต้องวางจิตลงไปถึงจะเจอใจ ใจนี่จะเป็นกลาง คำว่าเป็นกลาง ไม่ได้อยู่ข้างนอกแล้วก็ไม่ได้อยู่ข้างใน
หลวงพ่อเองได้ยินหลวงปู่ดูลย์บอก "อย่าส่งจิตออกนอก"  หลวงพ่อก็ส่งเข้าข้างใน ไปเจอหลวงปู่สิม ท่านบอกว่าผิดนะ ให้ออกมาอยู่นอกๆ นี้  แท้จริงคืออยู่กลางๆ คำว่ากลาง ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต เป็นปัจจุบันอยู่ตรงกลาง แต่อย่าหานะจุดที่เป็นกลาง หาอย่างไรก็ไม่เจอ พอหาแล้วมันจะเป็นจิตที่ปรุงแต่งไม่ใช่ใจหรอก วันใดหยุดการปรุงแต่งถึงจะเห็นตัวนี้  มันจะเป็นกลาง ถามว่าเป็นกลางอยู่ที่ไหน ไม่อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในที่ทุกที่ได้ นี่คำสอนของแต่ละองค์ลึกนะ
หรือทำไมหลวงปู่เทสก์ท่านสอนเรื่องฌานกับสมาธิ เพราะคนรุ่นก่อนๆ นี้นิดหน่อยส่วนมากชอบเพ่ง เพ่งให้จิตนิ่งๆ  ท่านสอนเลย เรื่องเพ่งใช้ไม่ได้ เพ่งนี่ท่านสมมุติเรียกว่า ฌาน แต่ภาษาท่านจะไม่ตรงกับปริยัติหรอก ฌานของท่านแปลว่าการเพ่งเป็นแต่สมถะ ส่วนสมาธินี่ใจมันตั้งมั่นในการรู้ คือใจที่รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมามีสมาธิ ท่านบอกต้องแยกตัวนี้ให้ออก ต้องแยกจิตกับใจให้ออก ต้องแยกฌานกับสมาธิให้ออก
"จิต" มันเป็นตัวทำงานคิดนึกปรุงแต่ง
"ใจ" เป็นผู้ตื่น
"ฌาน" ก็เป็นตัวเพ่ง น้อมจิตอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว
"สมาธิ" ก็คือใจมันตั้งมั่น  สักว่ารู้ สักว่าเห็นอารมณ์
ฉะนั้นฌานในความหมายของท่านก็คือการทำสมถะ สมาธิตามนิยามของท่านก็เอาไว้ทำวิปัสสนา นี่ท่านพยายามสอนให้เราแยกให้ออก ถึงวันนี้ก็ยังจำเป็น หลวงพ่อดูก็ยังจำเป็น ผู้ปฏิบัติเกือบทั้งหมดที่ไปเข้าคอร์สกัน เอาเข้าจริงก็คือการไปเพ่ง ไปเพ่งมือบ้าง เพ่งเท้าบ้าง เพ่งท้องบ้าง เพ่งลมหายใจบ้าง เพ่งลูกเดียว แล้วอะไรเกิดขึ้น ก็เกิดสมถะ เกิดสงบขึ้นมา พอสงบยังไม่เต็มที่ มีปีติ อาการของปีตินี่แหละ ที่บางคนหลงว่าเป็นวิปัสสนาญาณ
ไม่ใช่ญาณ ญาณเป็นชื่อของปัญญา ไม่ใช่ชื่อของอาการทางร่างกายหรือจิตใจ ญาณเป็นความรู้ความเข้าใจไตรลักษณ์ ไม่ใช่รู้เข้าใจอันอื่นด้วย ฉะนั้นบางคนเดินจงกรมตัวลอย  ตัวเบา ตัวโคลง ตัวใหญ่ บางคนก็รู้สึกตัวเล็ก บางคนตัวหนัก บางคนตัวโคลงไปโคลงมา บางคนรู้สึกเหมือนฟ้าแลบ แปล๊บๆ ปล๊าบๆ บางคนรู้สึกเหมือนแมลงตัวเล็กตัวใหญ่มาไต่ อันนี้เป็นอาการของสมถะทั้งสิ้นเลย ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาเป็นชื่อของญาณเป็นชื่อของปัญญา วิปัสสนาคือการเห็นอย่างวิเศษ  เห็นอะไร เห็นกายเห็นใจแสดงไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างอื่นไม่ถือว่าเป็นวิปัสสนา
ฉะนั้นคำสอนของครูบาอาจารย์นะแต่ละคำๆ แต่ก่อนท่านสอนนิดเดียวนี่ โอ้โฮ ทำนานกว่าจะเข้าใจ คล้ายๆ กับสอนเคล็ดวิชากำลังภายในให้นะ หรือเคล็ดกระบี่อะไรให้ สอนมาคำสองคำเอง ฝึกกันแรมปี พอแตกฉานมันเข้าใจวงกว้าง ส่วนพวกเรารุ่นนี้ อินทรีย์จะอ่อนลงนิดหน่อย นี่พูดแบบเกรงใจนะ อินทรีย์อ่อนลงนิดหน่อย ต้องขยายความมาก
มันคล้ายๆ สมัยก่อนเรียนหนังสือนี่ อาจารย์จะ assign(มอบหมาย)หนังสือให้อ่าน แล้วต้องค้นคว้ามากมายไปสอบ เดี๋ยวนี้มีติวเตอร์ติวข้อสอบ บางทีไปล้วงข้อสอบมาได้ด้วย หลวงพ่อนะคล้ายๆ ติวเตอร์หน้ารามเข้าไปทุกทีแล้ว ต้องเฉลยถี่ยิบเลย ไม่อย่างนั้นพวกเราขี้เกียจ พูดตรงๆ นะใจไม่ถึง ใจเหยาะแหยะ ทำบ้างไม่ทำบ้าง ขี้เกียจขี้คร้านนะ นี่จุดอ่อนของพวกเราเลยคือทำไม่จริง ทำจริงหมายถึงว่ามีสติอยู่เรื่อยๆ เหมือนเราพายเรือทวนน้ำ หรือขึ้นบันไดเลื่อน เราจะขึ้นข้างบนแต่บันไดมันเลื่อนลง ต้องเข้มแข็งนะ ลุยแหลกเลย เราหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดคือเราถอยหลัง ต้องอดทน
ฉะนั้นครูบาอาจารย์ก่อนๆ สอนน้อยๆ หลวงพ่อต้องสอนเยอะขึ้น หรือบางองค์ก็สอนน่ารัก หลวงปู่บุดดาสอน "กายเดียว จิตเดียว หนังผืนเดียว" จบแล้ว หรือท่านพุทธทาสท่านสอนเรื่องจิตเดิมแท้ แต่ส่วนมากคำสอนของท่านพุทธทาส จะไปเน้น "สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น" อันนี้ท่านบอกเป้าหมาย แต่ครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ มักจะบอกวิธีปฏิบัติ อย่างหลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต หลวงปู่เทสก์ให้เรียนเรื่องจิตกับใจเรื่องฌานเรื่องสมาธิ นี่คือการปฏิบัติทั้งสิ้นเลย 
เพราะท่านอาจารย์พุทธทาสท่านไปชี้เป้าว่า สุดท้ายไม่มีอะไร ไม่มีตัวกูของกู บางคนเรียนคำสอนของท่านไม่ครบถ้วน ท่านก็สอนวิธีการนะ วิธีการของท่านคืออานาปานสติสิบหกขั้น แต่คนชอบมองข้ามตัวนี้ ใครๆ คิดถึงท่านพุทธทาสก็คิดแต่ว่าไม่มีตัวกูของกู ก็เลยไปคิดแต่เรื่องไม่มีตัวกูของกู คิดเอาเองนะ การคิดว่าตัวกูของกูไม่มี มันก็กูคิดอีกนั่นแหละ มันละกิเลสไม่ได้นะ ฉะนั้นจะไปนั่งคิดเอา ไอ้นั่นก็ไม่ใช่ตัวกู ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ของกู ไม่สามารถละกิเลสได้ ต้องมีมรรควิธี มีวิธีการ วิธีการที่ท่านสอนคือ อานาปานสติสิบหกขั้น ซึ่งครอบคลุมกระจายลงในสติปัฏฐานทั้งสี่เลย รวมความแล้วก็คือสอนสติปัฏฐานสี่นั่นเอง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
มีคนจำนวนไม่น้อยเมื่อให้ทาน ใจก็ไม่ได้ลดละ กลับอยากได้มากขึ้น เช่น ทำบุญถวายสังฆทานก็อธิษฐานขอให้มั่งมี ได้โชคลาภ หรือไม่ก็อยากประกาศให้สาธารณชนรู้ว่าตนเป็นคนใจบุญ บางคนชอบทำบุญ แต่ไม่อยากอุทิศส่วนบุญให้ใคร เพราะกลัวว่าบุญของตนจะเหลือน้อยลง
ส่วนใครที่เคร่งศีลหรือขยันทำสมาธิภาวนาแล้วเกิดความหลงตน รู้สึกว่าตนเองบริสุทธิ์กว่าคนอื่น หรือเหยียดผู้อื่นว่าด้อยกว่าตน อย่างนี้ก็ยากจะมีความสุขใจได้ เพราะมีมานะแน่นหนาและตัวตนใหญ่ขึ้น ไม่ถือว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพราะแทนที่กิเลสจะลดลง กลับพอกพูนมากขึ้น
พระพุทธองค์ถึงกับตรัสว่า บุคคลที่เคร่งในศีลวัตรหรือได้คุณพิเศษทางจิต เช่น ได้ฌานสมาบัติ แต่หากเกิดความรู้สึกลำพองใจว่าฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนคนอื่นไม่ได้เป็นอย่างฉัน เกิดอาการยกตนข่มผู้อื่นแล้ว ล้วนเป็น อสัตบุรุษทั้งสิ้น
ทาน ศีล และภาวนานั้นเป็นเสมือนเครื่องขัดเกลากิเลสออกไปจากจิตใจ ยิ่งขัดเกลามากเท่าไร จิตใจก็จะงดงามผ่องแผ้วมากเท่านั้น ไม่ต่างจากหินก้อนโตเทอะทะผิวหยาบ เมื่อถูกช่างแกะสลักเอาส่วนเกินออกไป สิ่งที่เหลือคือองค์พระปฏิมาอันงดงาม
หากให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนาแล้วกิเลสไม่ได้ลดลง ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนแน่นหนา ก็แสดงว่าทำผิดแล้ว หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือทำผิดในสิ่งที่ถูกความดีนั้นหากทำไม่ถูก วางใจไม่เป็น มันก็เป็นโทษแก่ตนเองได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงเตือนเสมอว่า ระวังอย่าให้ความดีกัดเจ้าของ
ไหนๆ จะทำความดีแล้ว ก็ควรทำโดยมุ่งลดละหรือสกัดส่วนเกินที่พอกหุ้มจิตใจออกไป เช่น เวลาทำบุญก็นึกถึงประโยชน์ของผู้รับเป็นสำคัญ ไม่นึกปรารถนาอะไรให้ตัวเอง หรือถ้าจะตั้งจิตปรารถนาก็ขอให้กิเลสลดลง ความโลภเบาบาง
ในทำนองเดียวกัน เมื่อรักษาศีลก็อย่าไปเพ่งโทษหรือจับผิดคนอื่น แต่หันมาดูใจของตนเองว่ากิเลสหรือมานะ
เพิ่มพูนขึ้นหรือไม่ เมื่อทำสมาธิภาวนาก็อย่ามัวเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น แม้จะได้ความสงบก็ไม่ควรประมาทหรือหลงดีใจ เพราะสิ่งสำคัญ อยู่ที่ว่าความยึดติดถือมั่นในตัวตน ลดลงหรือไม่ ถ้ายึดติดถือมั่นในตัวตนมากขึ้น ก็ถือว่าถอยหลัง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ไม่ว่าเราจะทำสมถะหรือวิปัสสนา เราก็ต้องมีสัมปชัญญะ รู้ชัดว่าเราจะทำกรรมฐานชนิดใด และต้องรู้ด้วยว่าเราจะทำกรรมฐานนั้นๆเพื่ออะไร
ซึ่งสมถะนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทำจิตที่ไม่สงบให้เกิดความสงบ เพื่อทำจิตที่ไม่มีความสุขสบายให้เกิดความสุขสบาย และเพื่อทำจิตที่เป็นอกุศลให้เปลี่ยนเป็นจิตที่เป็นกุศล ส่วนวิปัสสนานั้นไม่ได้ฝึกเพื่อสิ่งเหล่านี้ แต่ฝึกเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ หรือฝึกเพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจเท่านั้นเอง
กายกับใจหรือขันธ์ ๕ นี่แหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า"ทุกข์" และ"ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้" เพราะฉะนั้น หน้าที่ของพวกเรา
ก็คือการรู้กายรู้ใจเนืองๆ หรือที่เรียกว่าการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ต้องรู้เนืองๆ จนเกิดปัญญารู้ความจริงของกายของใจ ปัญญาชนิดนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ อันเป็นปัญญาที่เข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา
ถ้าเมื่อไหร่เรามีปัญญาเห็นว่ากายกับใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ตัวเราอย่างแท้จริงแล้ว เมื่อนั้นจิตจะปล่อยวางความยึดถือกายและใจลงได้ แล้วประจักษ์ถึงนิพพานโดยอัตโนมัติ คนที่หัดดูกายดูใจมากๆ จนวันหนึ่งเห็นว่า กายกับใจไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงธาตุ เป็นขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของโลก ไม่ใช่ของเรา เห็นว่าตัวเราที่แท้จริงไม่มี อันนี้จะได้ พระโสดาบัน ถ้าเฝ้ารู้กายรู้ใจต่อไป จนปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจได้ เรียกว่าพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ไม่ใช่คนที่ฝึกจิตให้ดีถาวร ให้สุขถาวร ให้สงบถาวรได้ เพราะท่านไม่ได้มุ่งเอาสิ่งเหล่านี้ ความสุข ความสงบ ความดี อะไรทั้งหลาย เป็นเรื่องของโลก แต่พระอรหันต์ คือท่านที่รู้ความจริงของกายของใจ จนหมดความยึดถือกายและใจ
ฉะนั้น เราต้องเจริญวิปัสสนา คือเรียนรู้กายและใจตนเอง จนเข้าใจความเป็นจริงแล้วปล่อยวาง ความพ้นทุกข์ที่แท้จริง อยู่ตรงที่ปล่อยวางได้นี่แหละ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
สมถะหรือวิปัสสนาควรทำเมื่อใด ถ้าเมื่อใดเราสามารถรู้กายรู้ใจได้ ไม่ต้องไปทำสมถะตอนนั้น เวลานั้นเป็นเวลาทำวิปัสสนา แต่ถ้าเมื่อใดรู้กายรู้ใจไม่ได้ก็ไปทำสมถะ ไปคิดพิจารณาธรรมะเอาเป็นเครื่องอยู่ที่ดี ดีกว่าไปคิดเรื่องโลกๆ แล้วจิตใจว้าวุ่นขึ้นมา ใช้หลักนี้นะ
ถ้าหากเราดูจิตได้ เรารู้ทันจิต ดูจิตไปเลยถ้าดูจิตไม่ได้ ก็รู้ร่างกายเอาไว้ อย่างบางคนทำงานหนักเหนื่อย เดินไปห้องน้ำ ดูจิตไม่ได้ หัวหมุนไปหมดแล้ว ก็ดูร่างกายมันเดิน ดูจิตไม่ได้ให้ดูกายถ้าดูทั้งกายทั้งจิตไม่ได้ ก็ไปคิดพิจารณาธรรมะ หรือไปทำความสงบอย่างอื่นขึ้นมา เป็นเวลาของการทำสมถะ
ถ้าจิตสงบแล้วก็อย่ามัวแต่คิดนะ เสียเวลา เพราะปัญญาที่เกิดจากการคิดเอา เรียกว่าจินตามยปัญญา ไม่ฆ่ากิเลส ต้องเป็นภาวนามยปัญญาถึงจะฆ่ากิเลสได้
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
โยมเอาผลไม้อันหนึ่งมาถวายเรานะ ไม่รู้จักชื่อมันหรอก แต่เรารู้ว่ารสมันหวานมันอร่อย เรารู้ครับ มันรู้แต่เราไม่รู้ชื่อมันว่าผลอะไร ไม่จำเป็น จำเป็นแต่รู้รสว่ามันหวานมันอร่อยไหม นี่มันจำเป็นมาก
นี่ผลอะไรไม่จำเป็นเท่าไหร่ ถ้ามีใครมาบอกก็จำไว้ ถ้าไม่รู้ชื่อมันก็ปล่อยมันทิ้งก็ได้ เพราะถ้าเรารู้ชื่อมันอีก มันจะมีรสหวานเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่ใช่ มันจะมีรสเปรี้ยวเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่ใช่
ความรู้ในการประพฤติปฏิบัตินี้ ปฏิบัติเพื่อให้มันรู้จัก แต่รู้ในการปฏิบัติน่ะมันถึง ไม่ใช่มันไม่ถึง มันรู้ถึง เมื่อรู้ถึงมันก็ละ รู้จากการปฏิบัติเมื่อรู้ถึงแล้วมันละ ไอ้ความรู้จากการเรียนรู้แล้วมันไม่ละนะ มันยิ่งแน่นเข้าไปอีก มันมัดเราเข้าไปเสียอีก
หลวงปู่ชา
วิธีทำสมถะเพื่อต่อวิปัสสนา หลักของการทำสมถะ อย่าทิ้งสติ มีสติไปเรื่อย เวลาจิตรวมก็รวมด้วยความมีสติ ไม่รวมแบบขาดสติ วูบๆ วาบๆ หรอก รู้เนื้อรู้ตัวตลอดสายของการปฏิบัติ รวมลงไปลึกเลย จนร่างกายหายไปเลย ลมหายใจก็หาย  ร่างกายก็หาย โลกทั้งโลกก็หายไปหมดเลย เหลือแต่จิตอันเดียวก็ยังไม่ขาดสติอีกนะ มีจิตดวงเดียวอยู่อย่างนั้น เด่นอยู่อย่างนั้น ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ทำไมต้องมีจิตโดดเด่นขึ้นมา เพื่อเราจะได้เอาไว้ต่อวิปัสสนา
แต่บางคนทำไม่ถึงฌานก็ไม่เป็นไรนะ แค่หัดพุทโธๆๆ ไป ค่อยๆ ดูไป พุทโธเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ใจมันค่อยตั้งมั่นขึ้นมา
อย่างนี้ก็ใช้ได้ หายใจไปเรื่อยๆ หายใจออกหายใจเข้าไป แล้วเห็นร่างกายมันหายใจ มีจิตเป็นคนดู อย่างนี้นะถึงจะเรียกว่าทำสมถะเพื่อจะต่อวิปัสสนา หายใจแล้วมีจิตเป็นคนรู้คนดูขึ้นมา ดูท้องพองยุบไป เห็นร่างกายมันพองร่างกายมันยุบ มีจิตเป็นคนดู
บทเรียนเรื่องการทำสมาธินี่ในทางศาสนาพุทธ ท่านถึงใช้คำว่า "จิตตสิกขา" คือทำสมาธิจนกระทั่งเราเห็นจิตของเรา จิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูนี่แหละ พร้อมที่จะใช้เดินวิปัสสนาต่อแล้ว
ฉะนั้นถ้าคนไหนจะทำสมถะ ก็อย่าให้ขาดสติ หายใจไปเห็นร่างกายหายใจ มีจิตเป็นคนดู หายใจไปจิตแอบไปคิด รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน ก็มีจิตอีกคนหนึ่งเป็นคนดู เฝ้ารู้ไป จนกระทั่งจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าเราทำสมถะเป็น บางช่วง บางครั้งบางคราว จิตก็เข้าพักสงบ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่นะ แต่สงบ ไม่แส่ส่ายไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สงบ ไม่คิดไม่นึกอะไร ใจว่าง สบาย สว่าง อันนี้ทำสมถะเต็มที่
ต่อไปก็หัดนั่งสมาธิไป แล้วเห็นจิตเคลื่อนไหว รู้ไปเรื่อย จนจิตตั้งมั่นขึ้นมา ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาอย่างนี้ ถึงจะดี จะได้เอาไว้ต่อวิปัสสนา ทีนี้พอเราหัดภาวนาไปนะ พุทโธๆ เราเห็นเลยพุทโธเป็นของถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้พุทโธ หายใจออกหายใจเข้านะ หายใจไปจนกระทั่งเห็นเลยร่างกายมันหายใจ จิตเป็นผู้รู้ว่าร่างกายหายใจ มีจิตที่เป็นผู้รู้ขึ้นมา จะเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า เห็นร่างกายมันเดินไป จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ต่อไปพอผู้รู้ผู้ดูมันหายแวบไป คือมันขาดสติเมื่อไร ผู้รู้ก็หายเมื่อนั้น สติมันจะระลึกได้เอง เพราะมันเคยเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่เนืองๆ
เพราะฉะนั้น เราจะฝึกจนกระทั่งสามารถรู้สึกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันได้เนืองๆ เมื่อไรเป็นผู้หลง ก็ขาดผู้รู้ เมื่อไรเป็นผู้รู้ ก็ไม่เป็นผู้หลง บางทีก็เป็นผู้รู้ บางทีก็หลงเป็นผู้คิด บางทีก็เป็นผู้รู้ บางทีก็เป็นผู้เพ่ง ตอนเรามาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราเห็นตัวผู้รู้เองก็เกิดดับไปเรื่อยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้เรื่อยๆ
เมื่อใจมันเป็นคนรู้คนดูขึ้นมาได้ มันจะเห็นร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นวัตถุ ร่างกายเป็นก้อนธาตุ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไป จะเห็นเวทนาทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา ความสุขความทุกข์ทั้งหลาย ความไม่สุขไม่ทุกข์ทั้งหลาย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ฉะนั้น เราค่อยๆ ฝึกนะ จนใจของเรามันตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวเรื่อยๆ  แต่ไม่ได้ตั้งเอาไว้จนแข็งๆ นะ รู้ตัวตลอดเวลานี่ใช้ไม่ได้ ต้องรู้บ้างเผลอบ้าง จนเห็นว่าตัวรู้เองก็เกิดๆ ดับๆ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เราคิดว่าการปฏิบัติเนี่ย ต้องทำ(เฉพาะ)ตอนที่นั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรม อันนั้นเข้าใจผิดนะ การปฏิบัติเนี่ย ปฏิบัติตลอดเวลาที่รู้สึกตัวอยู่ งั้นมีสองตอนเท่านั้น สองเวลาเท่านั้นที่ไม่ต้องปฏิบัติ ๑.เวลาหลับ ๒.เวลาที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิด อันนั้น สติ สมาธิ ปัญญา ไปจดจ่อกับงาน จะมารู้กาย รู้ใจไม่ได้ เวลาที่เหลือเนี่ย รู้สึกกาย รู้สึกใจไป
ดูกาย ดูใจ ตัณหาเกิดขึ้น ให้รู้เอา หรือจะรู้ไวกว่านั้นก็ได้นะ ใจเป็นสุขก็รู้ ใจเป็นทุกข์ก็รู้ ใจเฉยๆ ก็รู้ (รู้เวทนาทางใจ) ถ้ารู้ทันตรงนี้ไม่ได้นะ ตัณหามันจะเกิด/มันจะอยากมีความสุข แล้วมันก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ ความสุขหายไป ก็อยากให้ความสุขกลับมา มีความทุกข์ ก็อยากให้ความทุกข์หายไป อะไรอย่างนี้ ตัณหามันจะตามเวทนามา เนี่ย ค่อยๆดูไป ถ้าไม่ดู มันก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ อยู่ที่ตัวเองแล้วล่ะ! (หลวงพ่อ)สอนหลักของการปฏิบัติให้เต็มที่แล้ว อยู่ที่เราเองนะ รักดี ก็ต้องภาวนาเอา ดูของจริง ครูบาอาจารย์ช่วยเราไม่ได้หรอก
อย่างหลวงพ่อนะ เรียนกรรมฐานกับครูบาอาจารย์สามสิบกว่าองค์นะ เคยมีกรรมฐานที่ครูบาอาจารย์ต้องแก้ให้เนี่ย ทั้งหมด ๗ ครั้งเอง ๗ ครั้งเท่านั้น บางองค์แก้(กรรมฐานให้หลวงพ่อ) มากกว่าหนึ่งครั้ง อย่างหลวงปู่สิม(พุทฺธาจาโร) นี้เคยแก้(กรรมฐานให้หลวงพ่อ)มากกว่าหนึ่งครั้ง งั้นจริงๆแล้ว(หลวงพ่อ)ใช้ครูบาอาจารย์ไม่เปลือง
นี้พวกเรา ถ้าถามเอาๆ มาเจอหน้า(หลวงพ่อ)ทีไร ก็มีเรื่องถามทุกที แสดงว่าไม่ได้เป็นนักปฏิบัติ นักปฏิบัติจะไม่ได้มีคำถามมากนะ เพราะ "สงสัย รู้ว่าสงสัย" ก็จบแล้ว! ไม่เห็นจะต้องถามเลย เราก็ดูเอาสิ ดูของจริงเอา ของจริงๆเป็นยังไง ก็ดูเอาเอง ถ้าไม่ดูเอาเอง เราจะไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดได้ ถ้าไม่รู้แจ้งแทงตลอดในกองของขันธ์ ว่าขันธ์นี้เป็นตัวทุกข์แล้วก็ ยังไงก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอีก มันจะเที่ยวแสวงหาขันธ์ไปเรื่อยๆ จิตนี้จะหิว เที่ยวแสวงหา
งั้นช่วยตัวเองให้มากนะ ถามให้น้อย สังเกตให้มาก ตัวนี้แหละจะช่วยเรา พวกที่สงสัยในกรรมฐานมากเนี่ยนะ คือพวกคิดมาก ไม่ใช่พวกรู้มากนะ เราต้องเป็นพวก "รู้" มาก ภาษาไทย(รู้มาก)ก็ไม่ดีอีกแล้วตัวนี้ รู้มากยากนาน ให้ "รู้"(รู้สภาวะ)ให้มากๆ เราเป็นพวก "รู้"(รู้สภาวะ)มากๆ ไม่ใช่ "รู้มาก" นะ ภาษาไทย รู้มากๆ คือ รู้บ่อยๆ รู้เนืองๆ แล้วมันจะเข้าใจด้วยตัวเอง วิญญูชนรู้ด้วยตนเอง ไม่ต้องถามใครหรอก กิเลสของตัวเองมี-ไม่มี มันก็รู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปถามใครเค้า
งั้นสังเกตตัวเองให้เยอะนะ ถามให้น้อย งั้นวันนี้คงจะไม่มีใครยกมือส่งการบ้าน มีมั้ย ยังอยากถามมั้ย อยากให้รู้ว่าอยากไป จบแล้ว ถ้าอยากแล้วรู้ว่าอยาก ก็คือสบายแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย แล้วหลวงพ่อพบอย่างหนึ่งนะ คนที่มีปัญหามากเนี่ย คือพวกคิดมาก ถ้าพวก "รู้สภาวะ" ไปเรื่อยๆ ปัญหาน้อย ปัญหาน้อย หรือว่าเวลาที่มีปัญหาขึ้นมา ก็เอาไว้ดูเอง
หลวงพ่อเคยนะ(สมัยหลวงพ่อยังเป็นฆราวาส)ก็มันมีสองตัวเนี่ย ผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ จะเห็นอยู่อย่างนี้ ผู้รู้อยู่ข้างบนเป็นคนดูลงมา ถ้าจับผู้รู้ก็ไม่ถูกแล้ว จับสิ่งที่ถูกรู้(จับอารมณ์)ก็ไม่ถูกนะ เคยสงสัยว่าเราจะรู้ตัวไหน
หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต จิตมันอยู่เป็นคนดู งั้นมันน่าจะดูตัวนี้ พระพุทธเจ้าบอกให้ดูตัวทุกข์ ตัวทุกข์มันคือตัวที่ปรุงแต่ง นี่มันจะดูตัวไหน ระหว่างหลวงปู่ดูลย์กับพระพุทธเจ้า
หลวงปู่ดูลย์ให้ดู ดูจิต เราก็ควรจะดูผู้รู้ พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ทุกข์ มันก็ควรจะรู้ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นนี่ สองอันนี้จะดูตัวไหน ขยับจะถามหลวงปู่ดูลย์นะ เอาไว้ก่อน ดูเองก่อน เอะอะก็ถามครูบาอาจารย์นะ นิสัยไม่ดีหรอก อ่อนแอ ศึกษาเอาเอง ดูจากของจริงไป ดูไปจนกระทั่งหลวงปู่ดูลย์มรณภาพ ยังไม่ได้คำตอบ
ก็ไปเรียนกับหลวงปู่เทสก์ต่อ ขยับจะถามหลวงปู่เทสก์นะ แต่ก็เอาไว้ดูก่อน (จน)หลวงปู่เทสก์มรณภาพนะ ก็เรียนกับหลวงปู่สิม จนหลวงปู่สิมก็มรณภาพอีกนะ รวมความแล้วครูบาอาจารย์มรณภาพหมดเลย ตอนที่หลวงพ่อไปบวชเนี่ย เหลือหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ กับหลวงปู่เหรียญ เหลืออยู่สององค์ที่เคยเรียนกับท่าน นอกนั้นมรณภาพไปหมดแล้ว
เรามาภาวนานะ ภาวนาไปได้พรรษาหนึ่ง ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าจะดูตัวไหน เราก็นึกถึงหลวงปู่สุวัจน์ ท่านใกล้จะมรณภาพแล้ว ใจมันคิดอย่างนี้นะ ท่านใกล้จะมรณภาพแล้ว ต้องไปหาท่าน เข้าไปกราบท่านครั้งสุดท้าย ขยับจะถามนะ เอาไว้ดูเองน่ะ ไหนๆ ก็ดูเองมาตั้งยี่สิบปีแล้ว ดูเองต่อ แล้วก็ไม่ได้ถามนะ
พอบวชได้สี่พรรษา ตอนนี้ไม่ต้องถามแล้ว รู้แล้ว เข้าใจ(ตอน)บวชได้สามพรรษาเนี่ย เข้าใจแล้ว เราไม่ได้เอาตัวไหนสักตัวหนึ่ง แล้วที่หลวงปู่ดูลย์สอนนะก็ถูก ที่พระพุทธเจ้าสอนก็ถูก เราเองไม่เข้าใจเอง เราคิดว่าผู้รู้อยู่นี่ ผู้รู้ไม่ได้เป็นตัวทุกข์ ความรู้สึกนึกคิด ความปรุงแต่งเนี่ยเป็นตัวทุกข์
เราก็เลยคิดว่า เอ้ พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์ ก็ต้องดูตัวล่างนี่(ตัวความปรุงแต่ง) หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต ต้องดูตัวบน(ตัวผู้รู้) ที่จริงตรงที่เข้าใจขึ้นมาเนี่ย เราจะรู้ "ตัวจิตนั่นแหละ คือตัวทุกข์" งั้นมันอันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าสอนเลย แต่หลวงปู่ดูลย์สอน นี่(คือ)จุดสุดท้ายของการปฏิบัติ
เวลาเราภาวนานะ เราจะค่อยๆ วางขันธ์มาตามลำดับนะ เราจะวางรูปไปก่อน วางรูปได้นะ วางเวทนา สัญญา สังขาร  เนี่ยมันจะวางไปด้วยกันนะ แล้วก็ตัวสุดท้ายคือการวางจิต ปล่อยวางจิต หลวงตามหาบัวเรียกตัวจิตผู้รู้ว่า จิตอวิชชา นี่แหละตัวหัวโจกอวิชชาซ่อนอยู่ที่ตัวจิตนี่เอง งั้นที่หลวงปู่ดูลย์บอก จิตเห็นจิต "อย่างแจ่มแจ้ง" เป็นมรรค หรือว่า พระพุทธเจ้าบอกว่าให้รู้ทุกข์ ก็คือตัวจิตผู้รู้นั้นแหละ คือตัวทุกข์
ถ้ารู้ตรงนี้ แตกหักลงตรงนี้นะ วัฏฏะก็ล่มลงตรงนี้เลย เนี่ยครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ให้นะ แล้วก็ค่อยๆคลำไป ค่อยๆทำความ เข้าใจ สังเกตเอาๆ ไม่ไปนั่งถามท่านนะ ถ้าไปถามท่านนะ มันจะคล้ายๆอะไร รู้มั้ย คล้ายๆ อาจารย์เซน อาจารย์เซนเค้าจะให้ธรรมะมาบทหนึ่ง ใช่มั้ย ไปดูเอาเอง แทนที่เราจะไปดูเอาเอง จนเกิดความรู้ความเข้าใจ เราก็เที่ยวถามนะ เนี่ยการบ้านข้อนี้ failed ล้มเหลวแล้ว ไม่ช่วยล้างกิเลสเราแล้ว
แต่การที่เราคอยสังเกตเองๆ อ๋อ จิตนั่นแหละ คือตัวทุกข์ เนี่ย เข้าใจแล้ว ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ารู้ทุกข์นั่นเอง รูปนามเป็นทุกข์ รูปนามทั้งหมดนะ หัวโจกของรูปนาม ก็คือจิตนั่นเอง จิตเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง (จิต)เป็นประธาน เป็นหัวหน้าในธรรมทั้งปวงนะ แล้วจิตดวงเดียวนี้เป็นตัวทุกข์นะ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ทั้งหมดเลย แล้วโลกนี้ทั้งโลกเป็นตัวทุกข์ทั้งหมดเลย มันแตกหักลงตรงจุดนี้เท่านั้นเอง
หลวงปู่ดูลย์ก็สอน จิตเห็นจิต"อย่างแจ่มแจ้ง" เป็นมรรค อันนี้ท่านสอนแบบขยักเอาไว้นิดหนึ่ง ถ้าสอนเต็มยศก็คือ จิตเห็นจิต "อย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นไตรลักษณ์" เนี่ยนะเป็นอรหัตมรรค มันจะแตกหักกันที่จิตนี่เอง
งั้นค่อยๆเรียนไปนะ ค่อยๆคลำไป คิดมาก สงสัยมาก ฟุ้งซ่านมาก (ก็)ปฏิบัติไม่ได้ งั้นพวกที่คิดมาก วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ อะไรเนี่ย ภาวนายาก อีกพวกหนึ่ง พวกติดเพ่ง เพ่ง.. นิ่งสงบอยู่ (จิต)เลยไม่ยอมเดินปัญญา พวกนี้ก็ไปไหนไม่รอด งั้นการปฏิบัตินะ
สิ่งที่ผิดเนี่ยมีสองค่ายใหญ่ๆ ใหญ่เรียกว่าสองขุม มีอยู่สองขุม เพราะ "ขุม" เนี่ย ใช้เรียกนรก มีอยู่สองขุม
อันหนึ่งก็คือความหลงไป จิตหลงไป จิตไหลไป ลืมตัวเอง / อันหนึ่งก็คือบังคับกาย บังคับใจตัวเองอยู่
จิตหลงไป ไหลไป เพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย เนี่ยเป็นกามสุขัลลิกานุโยค
บังคับกาย บังคับใจอยู่ เรียกอัตตกิลมถานุโยค นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด เดินอยู่ในอัตตกิลมถานุโยค  ทุกคน ทุกสำนัก ไม่บังคับกาย ก็บังคับใจ ส่วนมากบังคับทั้งกาย ทั้งใจ
เห็นมั้ย พอหลวงพ่อเริ่มหยุด ก็เริ่มรวบ(จิต)เข้ามาแล้ว รู้สึกมั้ย เริ่มจะมาบังคับแล้ว เพราะฉะนั้น อย่ามาบ่นว่า แหม!ธรรมะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว ปฏิบัติผิดล่ะสิ มัวแต่เพ่งเอาๆ บังคับตัวเองอยู่
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
สิ่งแวดล้อมยังมีอิทธิพลต่อ ใจพวกเรานะ ต้องฝึก! เพราะว่าเราไม่รู้ ว่าเราจะตายตอนไหน อย่างถ้าเช้าๆ (จิต)มัวๆซัวๆ อย่างนี้นะ เกิดตายตอนนี้ไปลำบากนะ เดี๋ยวจะว่าไม่เตือน เราไม่ได้เลือกเวลาได้ว่าตายตอนที่ แหมกำลังสดชื่นเต็มที่ อะไรอย่างนี้นะ ตอนไหนก็ต้องฝึก เพราะไปรู้ว่าจะไปเมื่อไหร่ งั้นทุกเวลาทุกนาทีนี่นะ ที่ไม่ได้ทำงานที่ต้องคิด หรือไม่ได้นอนหลับนี่ เนี่ย เวลาเหล่านั้นแหละ รู้สึกตัวไว้! อย่าทิ้งเปล่าๆ อันตรายมากเลย
อย่างเราขับรถอยู่ดีๆนะ เรียบร้อย ไม่มีใครมายุ่งกับเรา เราไม่ยุ่งกับใคร อยู่ๆ (มี)รถบรรทุก(คนขับ)หลับ ในนะ ข้ามมาอีกจากฝั่งหนึ่ง มาเหยียบเรา ก็มีนะ หรือวิ่งอยู่ในถนนดีๆ รถแก็สระเบิด อย่างนี้นะ เอาแน่ไม่ได้ บางทีไปไหว้พระพรหมยังโดนลูกระเบิดเลย เคยมีมาแล้วนะ งั้นเราไม่รู้นะว่าความตายจะมาถึงตัวเราวันไหน เมื่อไร เวลาไหน งั้นเราต้องเตรียมพร้อมในทุกๆ สถานการณ์
สมัยที่หลวงพ่อหัดภาวนานะ หลวงพ่อก็ต้องฝึกตัวเอง อย่างจิตของเรายังไม่มีกำลังเข้มแข็งเนี่ย เวลาที่เราอยู่ในชีวิตธรรมดา จิตมันชอบไหลไปรวมเข้ากับอารมณ์ ไปรวมเป็นก้อนอยู่ในอก ไหลเข้าไป เผลอๆ อะไรอย่างนี้นะ แล้วมันเข้าไปไหล พอรู้เนี่ย รู้ทันว่าจิตไหลไปนะ หลวงพ่อจะพยายามฝึก จะทำยังไงจิตมันจะแยก ออกจากอารมณ์(แยก)ให้ได้นะ ในประมาณ ๓ วินาที ถึง ๕ วินาที
พยายามฝึก ทีแรกนะตั้งหลายนาทีแน่ะ กว่า(จิต)จะหลุดออก มา(จากอารมณ์) ต่อไปค่อยๆฝึกเรื่อยๆนะ ต่อไปพอรู้ปุ๊บ หลุดปั๊บเลย แต่(จิต)ก็ยังไหลอีก (จิต)ไหลไปรวม(กับอารมณ์) พอรู้ก็หลุด ฝึกอยู่อย่างนี้ แล้วก็มีความมั่นใจว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นนะ เราเอาตัวรอดได้แน่ๆ เพราะสติของเราไว
เนี่ย หลวงพ่อพยายามฝึกตัว เองนะ ฝึกสติ ฝึกสมาธิ สมาธิก็คือ ฝึกให้ใจตั้งมั่นอยู่กับตัวเอง (จิต)หลุดออกจากอารมณ์นะ
ถึงจะอยู่ในอารมณ์อันใดก็ตาม พอรู้อารมณ์อะไรก็ตามนะ คือจิตอยู่ส่วนจิต อารมณ์อยู่ส่วนอารมณ์ พยายามฝึก แล้วกะว่าเวลาถ้าต้องตายนะ ในสมัยโน้นนะ(ตอนหลวง พ่อยังเป็นฆราวาส) ถ้าต้องตายเนี่ย จะคิดถึงพระพุทธเจ้าไว้ อย่างเดียวเลย แล้วอะไรจะเกิดขึ้นก็ ให้มันเกิดไป เนี่ย ตั้งใจไว้อย่างนั้น เพราะเรายังไม่ถึงพระพุทธเจ้า เราก็ตั้งใจว่าจะถึง เพราะ(ตอนนั้น)ใจเรา ยังไม่ได้รวมกับพระพุทธเจ้า
งั้นพยายามฝึกตัวเอง อย่าเฉยๆ ละเลย เฉื่อยๆ ใช้ไม่ได้นะ อย่างพวกเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเวลา เวลามานั่งเฉยๆ (ตอน)หลวงพ่อยังไม่มา อย่างนี้ เราก็ปล่อยใจของเราเซื่องซึมไป บางคน(จิต)ก็ล่องลอย บางคนบอกรีบฉวยโอกาสตอนนี้แหละนอน เพราะว่าตื่นมาแต่เช้า ยังต้องนอนซะก่อน เดี๋ยวหลวงพ่อมาจะได้สดชื่น เอาหน้าที่สดชื่นมาส่งการบ้าน
พอหลวงพ่อมาเนี่ย มันตื่นไม่ทันนะ ยังตื่นไม่ทัน พยายามเบิกเนตรมันก็ไม่ยอมเบิก เปิดสปอร์ตไลท์หน่อย หลวงพ่อสู้กับความมืดไม่ไหวแล้ว ใครจิตออกนอก ? เอ้อ สารภาพมา บางคนสารภาพไม่ทัน เพราะออกไปไกล พอหลวงพ่อพูดว่าใคร(จิต)ออกนอก ยังนึกอยู่ว่าหลวงพ่อพูดอะไร ยังแปลไม่ทัน เพราะ(จิต)ออกไปไกล หน้าตาค่อยดูสว่างขึ้นหน่อย พวกหลงแสงสี
มีสัตว์อยู่ชนิดหนึ่งนะ มันเป็นพวกหลงแสงสี แถวสุโขทัย เค้าจะเปิดไฟไว้กลางทุ่งเยอะเลย ไว้ล่อแมงดา รู้จักตัวแมงดามั้ย คล้ายๆ แมลงสาบนะ แต่ตัวโตหน่อยสองสามนิ้ว ตัวหนึ่งหลายบาท ชาวบ้านแถวนั้นไม่ทำนา เค้าเรียกทำนาแมงดา เปิดไฟไว้ในทุ่งกลางคืน แล้วก็คอยจับเอา มันมาติดตาข่าย (แมงดา)มันหลงแสงสี พวกเรา ถ้ามีแสงสีเพิ่มขึ้น รู้สึกมั้ย ใจมันตื่นขึ้นมา สิ่งแวดล้อมยังมีอิทธิ พลต่อใจเรานะ ต้องฝึกอีก ยัง(ฝึก)ไม่พอ
ไม่งั้นเวลาใกล้ตายเนี่ย คนแวดล้อมเราจะมาสวดมนต์นั่งสมาธิ เราบอกไม่เอา ช่วยเปิดไฟหน่อย เปิดไฟสปอร์ตไลท์เลยยิ่งดี จะได้ดวงสว่าง ได้ดวงนิมิตสว่าง อะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่องนะ ยังอาศัยสิ่งภายนอก สิ่งภายนอกยังมีอิทธิพลอยู่ ต้องฝึกตัวเอง
บางคนเวลาจะภาวนานะ จะโทษโน่นโทษนี่ตลอดเลย ภาวนาไม่ได้เพราะลูกกวน ภาวนาไม่ได้เพราะสามีไปเที่ยว (สามี)ไม่ยอมกลับบ้าน ภาวนาไม่ได้ มันไปเที่ยวสิ เราว่าง ดี มันไปเลยนะ ไม่กลับมานะเรายิ่งสบาย ภาวนาของเรา สิ้นเดือนเอาเงินมาส่งก็พอแล้ว ตัวมันจะไปไหนก็ช่างมันเถอะ ไปเฝ้าตัวมันไว้ กลุ้มใจ
เนี่ย เวลาคนทั่วไปนะ ที่ภาวนาไม่ชำนาญเนี่ย จะโทษโน้นโทษนี้ไปเรื่อยเลย เนี่ย คนที่ทำงานกวนประสาท เลยเจริญสติไม่ได้เลย บางทีก็โทษคนโน้นโทษคนนี้ เจออารมณ์อะไรเข้าเนี่ย มีแต่ความหงุดหงิดใจ หงุดหงิดไปหมดเลยนะ
อีกพวกหนึ่ง เจออะไรก็ชอบไปหมดเลยนะ เห็นอะไรสวยๆ ก็ชอบ เห็นอะไรก็อยากได้ ก็โทษสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนมีเพลงนะ บอกเด็กมันยั่ว ตัวเองมันชั่วต่างหาก แล้วมาหาว่าเด็กมันยั่ว ใครเคยได้ยินมั้ยเพลงนี้ หลวงพ่อเคยได้ยินตอนก่อนบวช
ตั้งแต่บวชแล้วไม่ได้ยินเพลง อยู่เมืองกาญจน์ยังได้ยินนะ เพราะว่าชาวบ้านเนี่ยจัดงานบ่อย โจ้นจนนะชาวบ้าน แต่เวลามีงานทีหนึ่ง จะบวชนาค จะทำศพ จะทำอะไร ต้องมีเครื่องเสียงมาเปิด จ้างรถ(เครื่องเสียง)เสียงดังมาก เปิดเสียงดังๆ ถ้าเปิดค่อยๆ ไม่คุ้มกับเงินที่จ่าย งั้นเอาให้ดังที่สุด เราเลยพลอยได้ยินไป ด้วยเพลงบ้าๆบอๆ อะไรไม่รู้ ฟังแล้วเวียนหัว
เนี่ย ถ้าใจเราเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม เราจะภาวนา แต่เสียงดัง ข้างๆ บ้านเราเสียงดัง ใจเราหงุดหงิด ใจเราหงุดหงิด ภาวนาได้มั้ย ภาวนาได้ ใจหงุดหงิด รู้ว่าหงุดหงิด ไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ โมโหแล้ว รู้ว่าโมโห แอบไปแช่งมันให้ตายเร็วๆ อยู่ในใจ (ให้)รู้ทัน ฝึกได้ตลอด ฝึกได้ตลอด ผัวจะมีผู้ช่วยให้เรา(จะมีเมียน้อย) เราไม่ชอบ เราโกรธ มันจะมีผู้ช่วย ไม่อยากมี อยากทำงานคนเดียวเป็นแม่บ้านใหญ่ จะมีผู้ช่วยไม่ชอบใจ ใจเราก็เศร้าหมอง เนี่ย หาเรื่องที่เศร้าหมองได้ทุกเรื่องเลยนะ รถติดก็เศร้าหมอง ฝนตกก็เศร้าหมอง ฝนไม่ตกก็เศร้าหมอง
ทำอย่างไร เราจะสามารถมีชีวิตที่สงบสุข อยู่ในสถานการณ์ทุกสถานการณ์ได้ งั้นเราต้องฝึกตัวเอง ของฟรีไม่มีหรอก ต้องฝึกเอา เวลาฝึกเนี่ย เราคอยรู้นะ เรากระทบอารมณ์แล้วเนี่ย ใจเรายินดี เรารู้ทัน ใจเรายินร้าย เรารู้ทัน รู้ไปเรื่อยๆ แค่นี้แหละ ต่อไปมันจะเป็นกลางกับทุกสภาวะ
อย่างหลวงพ่อนะ ก่อนที่มันจะเป็นกลาง มันก็ไม่เป็นกลางแบบเดียวกับพวกเรานี่แหละ ไม่ใช่ว่าดีวิเศษมากกว่าพวกเรานะ กิเลสก็ไม่ได้แพ้พวกเราหรอก อย่างหลวงพ่อนี้เป็นพวกโทสะจริต หงุดหงิดง่าย นอนกลางคืนนะ ข้างบ้าน บ้านติดกัน มันมีหมาอยู่ตัวหนึ่ง หมาตัวนี้กลางวันมันนอนสงบเสงี่ยมเงียบเลย ไปรษณีย์มากดออดหน้าบ้าน หมายังไม่ตื่นเลยนะ ไม่รู้เค้าเลี้ยงไว้ทำอะไร แต่กลางคืนเนี่ยมันตื่น ตื่นแล้วมันชมนกชมไม้ มันร้องเพลงทั้งคืนเลยนะ เจอใบไม้ก็เห่า ลมพัดอะไรต่ออะไร เห่าไปเรื่อยๆ เราก็จะนอนนะ ห้องนอนเราอยู่ติดกับที่หมาอยู่ด้วย แค่รั้วกั้น
ชะโงกลงไปดู มันเห่าอะไรว้า อ๋อ มันเห่าเฉยๆ เห่าพระจันทร์อยู่ เห่าไปเรื่อยๆ ฮู้ย แค้นมากเลย เมื่อไหร่มันจะไปสักที
เมื่อไหร่มันจะตายสักที มันก็ไม่ไปนะ โมโหจริงๆ นะ ถอดไฟฉาย สมัยนั้นไฟฉายมีถ่านเป็นก้อนๆ นะ ขว้างกระบาลมัน จะขว้างด้วยไฟฉายก็เสียดายของ หาอะไรขว้างไม่ได้ เอาถ่านไฟฉายขว้าง
เนี่ย โกรธหมานะ เสร็จแล้วก็เฉลียวใจนะ เฮ้ย ทะเลาะกับหมาว่ะ เราทะเลาะกับตัวอะไรแล้วก็ ภูมิจิตภูมิธรรมของเราเสมอกับเค้านะ มันถึงทะเลาะกันได้ พอเฉลียวใจขึ้นมาอย่างนี้นะ ไม่เอาแล้ว หมาส่วนหมาสินะ เราก็ภาวนาของเราไป เราก็เห็นโทสะ พอเฉลียวใจขึ้นมาว่าทะเลาะกับหมาเท่านั้นนะ โทสะดับเลย หมานี้น่าสงสารนะ หมาเหงา อันนี้สงสารหมาแล้ว หมาเหงา หมาเลยต้องร้องเพลงไปเรื่อยๆ คล้ายๆ มีตัวละครตัวหนึ่งนะ ชื่อแงซาย ตอนดึกๆ คนอื่นหลับหมดแล้ว แงซายต้องร้องเพลง ใครเคยอ่านมั้ย เรื่องเพชรพระอุมา คล้ายๆ เรื่องสมบัติพระสุลี นั่นพระอิศวร อันนี้เพชรพระอุมา เรื่องแบบเดียวกันเลย เนี่ยพอใจเราเกิดเมตตานะ โทสะมันไม่มีสงสารมัน มันอยู่ในภพภูมิที่ลำบาก
เนี่ยค่อยๆ ฝึกตัวเองไปนะ เวลาเราโกรธใครสักคนนะ อย่างเราโกรธ ทำไมมันทำอย่างนี้ โกรธมากเลย เราลองกลับข้างนะ
กลับใจตัวเองว่าเราเป็นเค้า ทำไมเราคิดอย่างนี้ ทำไมเราทำอย่างนี้ หรือว่า ถ้าเราเป็นเค้าเนี่ย เราจะทำยังไง
ปรากฏว่ามีอยู่คราวหนึ่งนะ หลวงพ่อจำเคสไม่ได้แล้ว รู้สึกจะโมโหหัวหน้า ทำไมมันทำงานอย่างนี้วะ เรื่องหนึ่งนี่นะทำสิบ ครั้งยี่สิบครั้ง นี่เรื่องปกติเลยนะ งานแต่ละชิ้นนะ สมัยโน้นคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีตัดต่อนะ เขียนด้วยมือ อะไรอย่างนี้ เด็กพิมพ์ดีดก็พิมพ์ อยู่นั่นแหละ เรื่องเดียวนี่พิมพ์ อยู่นั่นแหละ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกคนนะเครียด ทุกคนนะเซ็งไปหมดเลย เพราะมีหัวหน้าทำงานไม่ รู้จักจบ ทำแบบ nonstop ไปเรื่อยๆ ผลงานไม่ค่อยได้ ทำงานได้เยอะ แต่ว่าผลงานไม่ค่อยได้ โลเลเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ใจเราก็โกรธนะ วันหนึ่งเราก็นึกขึ้นมาว่า ทำไมเค้าเป็นอย่างนี้ ตอนเด็กๆ (หัวหน้า)เกิดในยุคสงครามพอดี ตอนเด็กๆ ลูกระเบิดมา กลางค่ำกลางคืนเนี่ย ชีวิตไม่เคยอบอุ่นเลย นอนๆ อยู่ก็ได้ยินเสียงหว๋อ ก็วิ่งลงจากบ้านนะ ไปลงอยู่ในคู บ้านเป็นสวน มันจะมีร่อง ร่องสวน ลงไปนอนหลบอยู่อย่างนั้น ยุงกัดอะไรต่ออะไร ชีวิตนี่รู้สึกไม่มั่นคงไม่ปลอดภัยตลอดเวลา งั้นเวลามาทำงานนะ ทำไปแล้วก็รู้สึกว่ายังไม่ดีพอ ใจมันรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย
พอเราพิจารณาไปอย่างนี้นะ เราหายโกรธเลยนะ เราสงสารแทนเลย เค้าขาดอย่างแรง ถ้าเราเป็นเค้านะ อยู่ในปรากฏการณ์ ในสถานการณ์อย่างเค้า เราก็ทำอย่างเค้า เราก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เป็นเรื่องปกติ พอมันเข้าใจนะ เรียกเอาใจเขามาใส่ใจเรา คนโบราณสอนดีนะ เอาใจเขามาใส่ใจเราปุ๊บนะ มันเข้าใจขึ้นมาแล้ว มันหายโกรธเลย หายโกรธเลย เปลี่ยนมาเป็นเมตตาแทน จากโทสะนะ พลิกเป็นเมตตาได้ อยู่ที่มุมมองของจิตนะ อย่างเรื่องอะไรที่เราขัดเคืองเนี่ย เราพลิกมุมมองขึ้นนิดเดียวนะ มันกลายเป็นเราเมตตาขึ้นมา แช่มชื่นใจ
งั้นมีชีวิตนะ พยายามมีชีวิตอยู่กับ ปัจจุบัน มีความสุข มีความสงบ ในท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย ยังไงโลกก็ต้องวุ่นวาย ยังไงบ้านเมืองก็ต้องวุ่นวาย ไปดูประวัติศาสตร์สิ มีมั้ย ยุคไหนที่บ้านเมืองไม่วุ่นวาย ลองไปดูซิ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ใช่มั้ย ไม่ปลอดภัยเลย ชาวบ้านนะเครียดตลอดเลย ไม่รู้ว่าพม่าจะยกมาตีเมื่อไหร่ เครียด เดี๋ยวก็ต้องถูกเกณฑ์ไปรบแล้ว ทำนายังไม่ทันจะได้เรื่องได้ราวอะไรนะ ก็มาถูกเกณฑ์ไปอีกแล้ว ชีวิตต้องอดๆ อยากๆ ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ลำบาก ไปรบไม่รู้จะรอดหรือจะตาย หรือจะยังไงแน่ หรือจะพิการกลับมา อะไรอย่างนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน
สมัยรัชกาลที่ ๒ ก็ยังมีสงคราม สมัยรัชกาลที่ ๓ ก็มี มีสงครามทั้งกับอินโดจีน รบกับลาว รบกับญวน พม่านี่ห่างออกไปแล้ว รัชกาลที่ ๓ ท่านเลยเตือนว่า ต่อไปศึกพม่าไม่มีแล้ว ให้ระวังฝรั่งไว้ อย่าไปเชื่อฝรั่ง ให้เรียนรู้ความรู้ของฝรั่งนะ แต่อย่าไปเชื่อมัน เนี่ยท่านสอนดีนะ แต่พวกเราไม่ค่อยเชื่อหรอก
มียุคหนึ่งเราตามฝรั่งนะ เราเชื่อฝรั่งมากเลย สุดท้ายมันส่งเสริมสนับสนุน กลุ่มก่อการร้ายในบ้านเราก็มี เนี่ยเพราะว่าเชื่อ ฝรั่ง ตามเค้าไปเรื่อยๆ อะไรๆ ก็ผูกกับเค้า แต่ค่อยๆ ถอยออกมานะ เดิมเงินบาทเนี่ย ผูกไว้กับดอลลาร์อย่างเดียวเลย แล้วก็เปลี่ยนเป็นตะกร้าเงิน(SDR) เปลี่ยนเป็นระบบอย่างอื่นขึ้นมา ค่อยๆ ถอยออกมา
รัชกาลที่ ๓ เตือนไว้แล้ว ในรัชกาลที่ ๔ ฝรั่งเริ่มเข้ามา รัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเริ่มรุกรานแล้ว ยึดบ้านยึดเมือง สมัยรัชกาลที่ ๖ เศรษฐกิจก็เริ่มทรุดโทรมลง เรามีสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัยรัชกาลที่ ๗ เนี่ย เศรษฐกิจตกต่ำทั้งโลกเลย แล้วบ้านเมืองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา สมัยรัชกาลที่ ๘ มีสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยรัชกาลที่ ๙ เริ่มต้นมีสงครามเย็น มีสงครามเย็น ต่อมาก็มีสงครามกลางเมือง สงครามจรยุทธ รบกันอยู่หลายปี ไม่มีเคยสงบเลยนะ ตอนท้ายๆ มาเปลี่ยนมาเรื่อยๆ นี่นะ มีต้องไปชุมนุมตามถนนกัน อดหลับอดนอน อดข้าว ข้าวไม่ค่อยอดหรอกมีคนเอาไปแจก แล้วก็เข้าห้องน้ำลำบาก เราต้องฝึกการเข้าห้องน้ำในที่สาธารณะ วุ่นวายเห็นมั้ย แล้วบ้านเมืองก็สงบมาปีสองปีเอง
ลองไปดูนะประวัติศาสตร์ ไม่มียุคไหนเลยที่สงบสุข เรามักจะคิดว่าในอดีตนะสงบสุข เพราะเรายังเด็ก เราไม่รู้ว่ามันวุ่นวายแค่ไหน อย่างหลวงพ่อเนี่ยคิดว่า ก่อนปีสองพันห้าร้อยสงบสุขนะ ชีวิตเราบ้านเมืองยุคนั้นร่มเย็น ปี ๒๔๘๙ อันธพาลครองเมือง เนี่ยมันครองเมืองจริงๆ นะ แล้วก็เดินอยู่ริมถนนเนี่ย มันขว้างระเบิดขวดใส่กัน มันโดนเราด้วยคราวเนี้ย เราไม่ได้เกี่ยวข้อง
ไม่เคยมีนะ ยุคไหนที่บ้านเมืองสงบ สุขอย่างแท้จริง ในโลกนี้ไม่มีหรอก สามก๊กแต่งขึ้นมาตั้งนานแล้ว สามก๊ก ใครเคยอ่านสามก๊ก เริ่มต้นว่ายังไง บอกว่าแผ่นดินจีนมีสุขแล้วก็มีศึก ใช่มั้ย มีศึกแล้วก็มีสุข อะไรอย่างเนี้ย หรือว่ามีศึกแล้วมีสุข มีสุขแล้วมีศึก ก็ไม่รู้ สลับกันอยู่อย่างเนี้ย นั่นแหละความจริง
งั้นเราจะมาใฝ่ฝันนะ ไปหาโลกอุดมคติที่สงบสุข แล้วถึงจะมาภาวนาเนี่ย อีกหลายๆ ชาติก็ไม่ได้ภาวนา ต้องฝึก ต้องภาวนาให้ได้ในทุกๆ สถานการณ์ วิธีที่จะภาวนาให้ได้ในทุกๆ สถานการณ์นะ คือ "อย่าใจลอยไป" อย่าไปหมกมุ่นวุ่นวาย กับปัญหาทั้งหลาย มีปัญหาเป็นเรื่องธรรมชาติ ชีวิตต้องมีปัญหา แต่เมื่อมีปัญหาแล้ว อย่าหมกมุ่นกับมัน ถอนตัวออกมาเป็นคนดู ถอนตัวออกมาเป็นคนดู เวลาใจเราเข้าไปหมกมุ่นเนี่ย ให้รู้ทันเลย(ว่า)ใจหมกมุ่น ดูลงไปใจที่หมกมุ่นนะ เป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวก็จับ เดี๋ยวก็ไม่จับ เป็นอนัตตา ห้ามไม่ได้ พอเห็นเป็นอนัตตามันจะหลุดออกมาเลยนะ เห็นไตรลักษณ์แล้วมันหลุดออก
งั้นเวลาจิตใจเราไปหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเนี่ย ให้เราพิจารณาลงไป คิดมันลงไปเลย เรื่องไตรลักษณ์นั้นแหละ สิ่งแวดล้อมเราที่มาเป็นปัญหาเนี่ยก็ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ จิตใจของเราที่ไปมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง เราก็ห้ามไม่ได้เหมือนกัน เนี่ยสอนมันไป ค่อยๆพามันดูอย่างนี้นะ พา(จิต)มันดูไป
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
จิตจะปรุงแต่งไม่ใช่ปัญหานะ ปัญหาคือเราอย่าเข้าไปปรุงแต่งจิต ถ้าจับหลักตรงนี้ได้ การภาวนาจะราบรื่น อะไรก็ได้ที่ปรากฏขึ้นมา สุขจะเกิดก็ได้ ทุกข์จะเกิดก็ได้ เฉยๆ จะเกิดก็ได้ กุศลก็ได้ โลภโกรธหลงก็ได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมดเลย
กิริยาหลักมีคำเดียวคือคำว่า "รู้" ทันทีที่เรายินดียินร้ายแล้วเราเข้าไปแทรกแซง ความทุกข์จะเกิดขึ้นในใจ แต่ถ้าเราสักว่ารู้สักว่าเห็น ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้นในใจ เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนว่า จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ รู้เฉยๆ  มันเป็นธรรมดาที่ราคะจะต้องเกิด มีเหตุเขาก็เกิด จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ ไม่ได้ให้แก้ เพราะฉะนั้นจิตจะปรุงแต่งไม่ใช่ปัญหานะ ปัญหาคือเราอย่าเข้าไปปรุงแต่งจิต ถ้าจับหลักตรงนี้ได้ การภาวนาจะราบรื่น อะไรก็ได้ที่ปรากฏขึ้นมา สุขจะเกิดก็ได้ ทุกข์จะเกิดก็ได้ เฉยๆ จะเกิดก็ได้ กุศลก็ได้ โลภโกรธหลงก็ได้
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมดเลย อย่างความโกรธก็แสดงไตรลักษณ์ว่า มันไม่เที่ยง มันทนอยู่ไม่ได้ มันบังคับไม่ได้ มันเกิดจากเหตุ ถ้ามีเหตุมันก็เกิด ไม่มีเหตุมันก็ไม่เกิด เราบังคับมันไม่ได้ ทุกๆ ตัวแสดงไตรลักษณ์เหมือนๆ กันหมดเลย
เพราะฉะนั้นในทางจริยธรรม สภาวธรรมแต่ละอย่างไม่เท่าเทียมกัน กุศลย่อมดีกว่าอกุศล แต่ในขั้นของการเจริญวิปีสสนานี่ สภาวธรรมทั้งหลายเท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดังนั้นกุศลเกิดขึ้นก็รู้ไป อกุศลเกิดก็รู้ ในสติปัฏฐานสอนว่า จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะก็รู้ว่าไม่มีโมหะ จิตมีโมหะเป็นอกุศล จิตไม่มีโมหะเป็นกุศล กิริยาที่ทำต่อกุศลและอกุศลนั้นเท่าเทียมกันคือรู้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเรามีแต่หน้าที่ของการรู้
ถ้าเราไปดูมหาสติปัฏฐานสูตร หรือสติปัฏฐานสูตรซึ่งมีหลายสูตร ที่เรียกมหาสติปัฏฐานไม่ใช่สติใหญ่นะ มหาสติปัฏฐาน หมายถึงมหาสูตร สูตรนี้ใหญ่ มีสติปัฏฐานสูตรย่อยๆ อีกหลายสูตร ในสติปัฏฐานทุกๆ สูตรนี่ กิริยาหลักมีอยู่คำเดียวคือคำว่ารู้ หายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้าสั้นก็รู้ ยืนอยู่ก็รู้ เดินอยู่ก็รู้ นั่งอยู่ก็รู้ นอนอยู่ก็รู้ มีแต่คำว่ารู้ คู้ก็รู้ เหยียดก็รู้ เหลียวซ้ายแลขวาก็รู้ ก้าวไปก็รู้ ถอยหลังก็รู้ รู้อยู่ มีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ มีราคะก็รู้ ไม่มีราคะก็รู้ มีโทสะก็รู้ ไม่มีโทสะก็รู้ มีโมหะก็รู้ ไม่มีโมหะก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้
มีนิวรณ์ก็รู้ มีกามฉันทนิวรณ์ก็รู้ รู้ว่านิวรณ์เกิดจากอะไร นิวรณ์ดับไปได้เพราะอะไร หรือตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ภายนอกก็รู้ทัน รู้ตาด้วย รู้รูปด้วย รู้หูด้วย รู้เสียงด้วย ตัวสำคัญคือรู้การกระทบด้วย รู้วิญญาณที่รับรู้การกระทบด้วย รู้สังโยชน์ รู้กิเลสที่เกิดตามหลังการกระทบด้วย
ไม่ได้มีตรงไหนเลยที่บอกว่าให้เกินรู้ ไม่ใช่ตามองเห็นรูปแล้วให้ตัดความรู้สึกเสีย หรือให้กำหนดที่ตา กำหนดที่รูป พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านให้รู้ ไม่ได้ให้กำหนดลงไป ถ้ากำหนดลงไปแล้วใจมันจะนิ่ง มันจะไม่มีกิเลส ไม่มีสังโยชน์อะไรที่เกิดตามหลังมา ดังนั้นเราตามรู้ธรรมดานี่เอง พอรู้แล้ว ใจเราปรุงกิเลสขึ้นมา เราก็รู้ทัน
คำว่ารู้นี่เป็นคำสำคัญ ในสติปัฏฐานเต็มไปด้วยคำว่ารู้ ไม่มีคำว่าละ แต่เมื่อเรารู้กายรู้ใจแจ่มแจ้งตรงตามความเป็นจริงมากแล้ว มันจะละอันหนึ่งคือมันจะละความยินดียินร้ายในโลก คำว่าโลกก็คือกายใจรูปนามนี่เอง เป็นคำว่าโลกในนิยามศาสนาพุทธนะ โลกมีนิยามว่าหมู่สัตว์ก็ได้ มีนิยามว่ารูปกับนามก็ได้ กายกับใจนี้เองที่เรียกว่าโลก
เราทำสติปัฏฐาน เรารู้กาย เวลารู้กายถูกต้อง มันรู้ใจด้วย จะรู้ทั้งกายทั้งใจ หรือเราทำจิตตานุปัสสนา เรารู้จิต ถ้ารู้จิตถูกต้องก็จะรู้กายด้วย มันจะเนื่องกัน พอรู้แล้ว เข้าใจความเป็นจริงของกายของใจของรูปของนามแล้ว มันจะละความยินดียินร้ายในรูปในนามนั้นได้ เช่น เราเคยยินดีกับความสุข ยินร้ายกับความทุกข์ ยินดีกับกุศล ยินร้ายกับอกุศล พอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราก็จะเห็นว่าความสุขชั่วคราว ความทุกข์ชั่วคราว กุศลชั่วคราว อกุศลชั่วคราว ทุกอย่างชั่วคราว
พอเห็นว่าทุกอย่างชั่วคราว มันเสมอภาคกัน จิตจะไม่ยินดียินร้ายในสิ่งทั้งปวง จิตจะเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลาง รู้รูปด้วยจิตเป็นกลาง รู้นามธรรมทั้งหลายด้วยจิตเป็นกลาง จิตไม่เติมแต่งไม่ปรุงแต่งต่อ อะไรปรากฏก็ได้ สภาวธรรมใดๆ ปรากฏก็เสมอภาคกันหมดเลย เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วจิตไม่ปรุงต่อ
เพราะฉะนั้น จิตจะปรุงราคะขึ้นมา ปรุงโทสะขึ้นมา หรือมันจะพากย์ขึ้นมา มันจะบรรยายขึ้นมา มันจะพูดขึ้นมา ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรารู้ทัน เราก็จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ใจไม่ยินดียินร้ายขึ้นมา พอใจเราไม่ยินดียินร้าย ใจจะไม่ปรุงแต่ง พอมันหมดความปรุงแต่ง จิตจะเข้าไปสัมผัสธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง คือนิพพานได้
ดังนั้นเส้นทางนี้ไม่ได้ลึกลับอะไร เต็มไปด้วยเหตุด้วยผล แต่อย่าเอาเหตุผลของการคิดมาใช้ ให้รู้กายให้รู้ใจไปจนมันประจักษ์ชัดว่าทุกอย่างชั่วคราว จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง เมื่อจิตหมดความดิ้นรนปรุงแต่งแล้ว จิตจะไปสัมผัสกับธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง นิพพานมีอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่ได้เกิดขึ้นและไม่ได้ดับไป มีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ไม่เห็น เพราะว่าอวิชชาหรือความไม่รู้ความไม่เห็นของเรา ไปบังไว้
พอเราเกิดอวิชชา เราจะคิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา เราหวงแหนกายนี้ใจนี้ อยากให้มันมีความสุข นี่คือความไม่รู้ทุกข์ คือไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นก้อนทุกข์ ก็เกิดอยากให้มันมีความสุข เกิดสมุทัย เกิดการดิ้นรนขึ้นมา จิตใจยิ่งมีความทุกข์ซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ถ้าเรารู้กายรู้ใจแจ่มแจ้งนะ มันหมดความอยาก หมดความดิ้นรนเลย นิโรธจะปรากฏขึ้น คือนิพพานจะปรากฏต่อหน้าต่อตาเลยนะ
นิพพานคืออะไร นิพพานคือความสิ้นตัณหานั่นเอง สิ้นความทะยานอยากของจิต เมื่อสิ้นความทะยานอยากของจิต สิ้นตัณหา ภพคือการทำงานของจิตก็จะไม่เกิดขึ้น คือจิตจะไม่ปรุงต่อแล้ว เมื่อไม่มีภพไม่มีการทำงานของจิต จิตจะไปสัมผัสไปเห็นนิพพานได้
ทันทีที่เรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้กายรู้ใจนี้แจ่มแจ้ง จนกระทั่งรู้ว่าเป็นแค่ธาตุแค่ขันธ์ไม่ใช่เรานะ หมดความรัก หมดความอยาก สมุทัยจะถูกละอัตโนมัติ หมดความอยากจะให้มันสุข ให้มันดี ให้มันคงทนถาวร ให้มันเที่ยง ให้มันบังคับได้ตลอดไป พอหมดความอยาก นิโรธหรือนิพพานก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตา การที่เรารู้ทุกข์จนกระทั่งหมดความอยาก ละสมุทัยได้ แจ้งนิโรธต่อหน้าต่อตาเรียกว่ามรรค มรรคตัวนี้เรียกว่าอริยมรรค
ส่วนมรรคที่พวกเราคอยรู้กายคอยรู้ใจนี้ ไม่เรียกว่าอริยมรรค แต่เรียกว่าบุพภาคมรรค หรือมรรคเบื้องต้นนะ ยังไม่ใช่ตัวอริยมรรคนะที่พวกเราเดินกันอยู่ อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง ถ้ารู้กายรู้ใจแจ่มแจ้งเต็มที่แล้วใจยอมรับ อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นชั่วขณะเดียว สังโยชน์ก็ขาดแล้ว ขาดแล้วขาดเลย ไม่กลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่นะ
อย่างสังโยชน์ทั้งหลาย ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลานะ เมื่อก่อนหลวงพ่อเข้าใจผิด ตอนหัดภาวนาใหม่ๆ หลวงพ่อคิดว่าสังโยชน์มีอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างตอนที่จิตลงภวังค์นี่จะไม่มีสังโยชน์ หรือเด็กเกิดใหม่ๆ เด็กไม่ได้สำคัญว่านี่กายนี่ใจของตัวเอง นี่เป็นตัวเรา เด็กคิดไม่เป็น ดังนั้นเด็กที่เกิดใหม่ไม่มีสักกายทิฏฐิ เด็กที่เกิดใหม่ๆ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่เคยสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เลย วิจิกิจฉาที่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เรียกว่าวิจิกิจฉาแท้ ส่วนวิจิกิจฉาเช่นสงสัยว่าคนนี้ชื่ออะไร ถนนนี้วิ่งไปถึงไหนนี่เรียกวิจิกิจฉาเทียม ตัวนี้ไม่ใช่กิเลส เด็กไม่มีวิจิกิจฉาคือไม่ลังเลสงสัย ในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์นะ เด็กไม่มีสีลัพพตปรามาส ไม่ได้ถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย เพราะเด็กไม่คิดจะถือศีลบำเพ็ญพรตอะไร วันๆ แค่ได้กินนมก็พอใจแล้ว ได้นอนได้ทำตัวอบอุ่น ดังนั้นเด็กเกิดใหม่ๆ ไม่ได้มีสังโยชน์ แต่มีอนุสัยนะ พร้อมที่จะงอกกิเลสหยาบๆ ขึ้นมา พร้อมที่จะสร้างสังโยชน์ สร้างอะไรขึ้นมาใหม่อีก
ของเราก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าอนุสัยจะเกิดตลอดเวลา ในขณะที่จิตของเรามีสติขึ้นมา อนุสัยก็ไม่มี สังโยชน์ก็ไม่มี ถ้าเราขาดสติเมื่อใด กิเลสก็เกิดขึ้นมา ฉะนั้นตัวกิเลสเองก็เกิดๆ ดับๆ สังโยชน์เองก็เกิดๆ ดับๆ เป็นขณะๆ ไป เช่นเดียวกับสภาวธรรมอื่นๆ นั่นเอง ดังนั้นไม่ต้องไปเกลียดมัน มันเกิดขึ้นมาก็รู้ไป มันก็เกิดแล้วก็ดับให้เราดู แสดงธรรมะให้เราดูเท่าเทียมกับธรรมะฝ่ายกุศลนั่นแหละ พอรู้ชัดๆ รู้มากๆ นะ ถึงจุดที่อริยมรรคเกิดขึ้นแล้ว มันจะตัดสังโยชน์เด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
อย่างพระโสดาบันขาดสติได้ไหม พระโสดาบันขาดสติได้ แต่ขณะที่พระโสดาบันขาดสติ จะไม่มีสักกายทิฏฐิขึ้นมา ขาดแล้วขาดเลย ดูลงมาทีไรนะ ไม่มีความรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเราเลย แต่ว่ายึดถือไว้
ฉะนั้นการภาวนา ถ้าจิตของเราจะพากย์ จิตจะมีความโลภโกรธหลง ไม่ใช่ปัญหานะ แต่ถ้าเราเกิดยินดียินร้าย ยินดีในความดีของมันในความสุขของมัน ยินร้ายในอกุศลในความทุกข์ จิตจะดิ้น จิตจะทำงาน อยากให้ดี ความอยากเกิด จิตก็ดิ้น อยากให้พ้นทุกข์ อยากให้มีความสุข อยากให้กิเลสหายไป จิตจะเกิดการดิ้นทั้งนั้นเลย ทันทีที่ตัณหาเกิด จิตก็จะดิ้น
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เวลารู้สึกตัว ความเป็นตัวตนจะหายไป ให้หัดรู้สภาวะที่จิตเผลอไป ต่อไปพอจิตเผลอแวบ สติเกิดเองเลย แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นได้ชั่วขณะนะ แล้วก็เผลอใหม่ รู้สึกใหม่ เผลอใหม่ ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรู้สึกตัวตลอดเวลานะ การปฏิบัติไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อให้มีสติตลอดเวลา อย่าสำคัญผิด สติตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ เราไม่ใช่พระอรหันต์ พระอรหันต์ก็ไม่ได้มีสติตลอดเวลานะ เวลาที่เป็นวิบากจิตก็ไม่ได้มีสติ เวลาที่จิตลงภวังค์ไปเป็นภวังคจิตก็ไม่ได้มีสติ เวลาที่ตามองเห็นหูได้ยินเสียงก็ไม่ได้มีสติ สติมันเกิดในวนจิตเท่านั้นเอง ตรงนั้นเป็นกิริยาเฉยๆ มันเกิดเองอัตโนมัติ
ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีสติตลอดเวลา เรามีสติขึ้นมาแล้วก็เผลอไป มีสติขึ้นมาแล้วก็เผลอไป อันนั้นดีที่สุดแล้ว เพราะเราเป็นได้แค่นั้น การที่เรามีสติขึ้นมาแล้วก็เผลอ มีสติขึ้นมาแล้วเผลอนี่ มีข้อดีมากเลย การที่มีสติขึ้นมาหนึ่งครั้งเนี่ย มันได้ตัดชีวิตเราเป็นสองท่อนแล้ว อย่างคนทั่วๆ ไปเผลอวันละครั้ง ตั้งแต่ตื่นจนหลับไม่เคยรู้สึกตัวเลย มันจะเผลออยู่อย่างนั้นทั้งวัน มันรู้สึกมีตัวเราอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอมีสติขึ้นหนึ่งแวบ วันนี้เกิดมีสติหนึ่งครั้ง ชีวิตถูกตัดขาดเป็นสองท่อนแล้ว มีเผลอสองอัน รู้สึกตัวอยู่ตรงกลางอันหนึ่ง
ฉะนั้นถ้าสติเกิดบ่อยนี่ ชีวิตจะถูกตัดเป็นท่อนเล็กๆ เป็นขณะที่เล็กลงๆ นะ เผลอแวบรู้สึก แวบรู้สึก พอรู้สึกได้แวบเดียว เดี๋ยวก็เผลอไปอีกแล้ว แล้วก็รู้สึกอีก เนี่ยมันจะเห็นเลย จิตจะเผลอก็ห้ามมันไม่ได้ จิตจะรู้สึกตัวก็สั่งให้รู้สึกไม่ได้ รู้สึกแล้วก็รักษาไม่ได้ จิตทั้งที่เผลอทั้งที่รู้สึกตัว เกิดแล้วดับทั้งสิ้น
ฉะนั้นภาวนาไม่ใช่เอาจิตที่รู้สึกตัวนะ ถ้าภาวนาอยากได้จิตที่รู้สึกตัว คือภาวนาเอาดี ไม่ได้ภาวนาเอาความจริง การมีสติสมาธิปัญญามีธรรมะอะไรขึ้นมาเนี่ย เป็นแค่เครื่องอาศัยเท่านั้นเอง อาศัยเพื่อจะได้รู้ว่า เมื่อกี้เผลอไป ตอนนี้รู้สึก รู้สึกได้แวบเดียวก็เผลออีกแล้ว เผลอแล้วรู้สึก เผลอแล้วรู้สึกนี้  ชีวิตจะขาดเป็นท่อนๆ เวลาเผลอก็เกิดความเป็นตัวตนขึ้นมา เวลารู้สึกขึ้นมาความเป็นตัวตนก็หายไป เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ มันจะค่อยๆ ละความเห็นผิดว่ามีตัวตนได้ ฉะนั้นเรามีสติแวบหนึ่งรู้สึก แวบหนึ่งรู้สึกนะ แล้วก็หลงไป แค่นี้พอแล้ว ดังนั้นการปฏิบัติง่ายนะ ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแค่ว่าหัดรู้สภาวะแล้วสติจะเกิดดีขึ้นๆ เอง
แต่เดิมสติเกิดยาก วันหนึ่งเกิดครั้งหนึ่งก็บุญโขแล้วนะ เพราะคนทั้งโลกไม่ค่อยเกิดสติ ไม่ค่อยมีสติ ทีนี้เราหัดทีแรกก็นานๆ มีสติทีหนึ่ง พอหัดไปนานๆ นะ สติเกิดบ่อย คล้ายๆ เราทำมาหากินนะ ต้นทุนเราน้อยนะ สมมุติเราหาบเต้าฮวยขาย ได้กำไรวันหนึ่งไม่กี่บาท ต่อมารวยขึ้นมานะ หากินง่ายนะ นอนอยู่เฉยๆ เงินก็ไหลเข้าบ้านแล้ว
การภาวนาก็เหมือนกัน หัดทีแรก นานๆ สติจะเกิดทีหนึ่งนะ แต่พอจิตมันจำสภาวะได้แม่นขึ้นๆ นะ ชำนิชำนาญมากขึ้น สติเกิดทั้งวันเลย ไม่ได้เชิญให้เกิด เกิดทั้งคืนด้วย ยกเว้นเวลาจิตลงภวังค์ไปหลับจริงๆ ซึ่งไม่นานเท่าใดหรอก จะรู้สึกนอนอยู่นี่ ร่างกายพลิกซ้ายพลิกขวาก็รู้สึกได้เองเลย จิตใจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว คิดนึกอะไร มันรู้สึกได้เองเลย ทั้งวันทั้งคืน มันต้องเป็นอัตโนมัติแล้วไม่เหนื่อยยาก ถ้ายังเหนื่อยยากอยู่ ยังฝืนอยู่ ยังฝืดอยู่นะ แสดงว่ายังทำไม่เป็น
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
งานหลักของเราคือทำตัวให้พ้นสังสารวัฏ พระพุทธเจ้าถึงสอนว่า เพราะรู้ตามความเป็นจริง รู้ตามความเป็นจริงหมายถึงรู้รูปนามนะ รู้รูปนามตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงคือไตรลักษณ์นั่นเอง รู้ว่ารูปนามตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา เพราะรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย รู้สึกไหมมันน่าเบื่อ สุขก็น่าเบื่อนะ ทุกข์ก็น่าเบื่อนะ ดีก็น่าเบื่อ ชั่วก็น่าเบื่อ อะไรๆ ก็น่าเบื่อ หยาบก็น่าเบื่อ ละเอียดก็น่าเบื่อ เพราะมันของไม่เที่ยงทั้งหมดเลย
เพราะรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด คลายกำหนัดนี่ ภาษาไทยฟังแล้วแปลยาก ภาษาบาลีเรียกว่าวิราคะ หมายถึงใจเราไม่เข้าไปผูกพันกับมัน ใจไม่เข้าไปผูกพันในความสุข เพราะรู้ว่าความสุขก็ชั่วคราว ไม่ไปหลงยินดีว่ามันจะถาวร อยากให้มันถาวร ไม่มีอย่างนี้ จะไม่ดิ้นรนเพื่อจะรักษาความสุขแล้ว ใจไปเห็นความทุกข์เข้าก็ไม่ผูกพันกับความทุกข์ ไม่ใช่คิดว่าความทุกข์เป็นตัวเราของเรา แล้วต้องไปหาทางละ คือใจมันจะไม่ไปผูกพันกับสภาวะที่มันไปรู้เข้า ใจมันคลายออก
เพราะรู้ตามความเป็นจริงก็เลยเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายเลยคลายกำหนัด คือคลายความผูกพันรักใคร่ในสภาวะอันหนึ่ง เกลียดสภาวะอันหนึ่ง เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากรูปจากนามนั่นเอง ที่เห็นจิตมันไปคว้าจิตขึ้นมา มันไม่หลุดพ้นนะ มันปล่อยไม่ได้ ถ้ามันเห็นความจริงว่าจิตนี้ทุกข์ล้วนๆ มันจะทิ้ง เรียกว่ามันเห็นไตรลักษณ์ ก็แจ่มแจ้งนะ ทิ้งเลย มันทิ้ง
เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น อะไรหลุดพ้นจากอะไร จิตหลุดพ้นจากความถือมั่นในขันธ์นั่นเอง จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิต จิตหลุดพ้นออกมา เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้เลยนะ รู้ด้วยตัวเองนะ ของมันเคยยึด เคยถือหนักๆ นะ มันหลุดแล้วมันวาง มันเห็นต่อหน้าต่อตา มันวางจริงๆ เพราะมันไปเห็นธรรมที่พ้นจากความเกิดความตาย
เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้น ก็จะรู้ธรรมะที่พ้นออกไป เรียกว่าวิมุตติญาณทัสสนะ รู้ธรรมะแห่งความหลุดพ้น คือรู้นิพพานนั่นเอง แล้วก็รู้อีกนะว่าชาติสิ้นแล้ว คือความเกิดสิ้นแล้ว ความเกิดคืออะไร คือการที่ใจเราเข้าไปหยิบฉวยรูปนามนั่นเอง ใจที่เราไปหยิบฉวยจิตเนี่ย คว้าปั๊บเข้ามา หยิบฉวยเข้ามา นี่คือความเกิดหรือชาตินั่นแหละ ใจเข้ามาหยิบฉวยกายก็เกิดชาติ ใจหยิบฉวยจิตก็เกิดชาตินะ
พอเบื่อหน่ายคลายกำหนัดก็หลุดพ้น รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว ไม่หยิบฉวยอะไรขึ้นมาอีกแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมเนี่ย การศึกษาธรรมะศึกษาจบแล้ว จบในศีลในจิตในปัญญา สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ไม่ใช่ศีลสมาธิปัญญานะ เราพูดเล่นคล่องๆ ปากหรอก ศีลสมาธิปัญญา ไตรสิกขาคือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา แจ่มแจ้งแล้วรู้หมดแล้ว
ศีลเนี่ย คือการศึกษาเพื่อสู้กิเลสหยาบๆ เพื่อให้จิตมีความตั้งมั่นเพียงพอ พร้อมที่จะมาเรียนรู้จิต คือทำจิตตสิกขา
จิตตสิกขาเนี่ย จิตจะสงบจากนิวรณ์ จากกิเลสชั้นกลาง พร้อมที่จะไปเจริญปัญญา มันจะรู้ว่าจิตอย่างไรที่ข่มนิวรณ์ได้ จิตอย่างไรข่มนิวรณ์ได้แล้ว พร้อมที่จะเจริญปัญญาด้วย จิตที่ข่มนิวรณ์ได้คือจิตที่ทำสมถะ จิตที่ข่มนิวรณ์แล้วพร้อมที่จะเจริญปัญญา คือจิตที่พร้อมต่อการทำวิปัสสนา ไม่เหมือนกันนะ
พอถึงปัญญาสิกขาก็คือ การเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ละกิเลสขั้นละเอียดคือ ความหลงผิดได้ ละอวิชชาได้นะ
ฉะนั้นสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขาเนี่ย ชำแหละกิเลสเป็นชั้นๆ เข้ามานะ จนกระทั่งจิตใจเราบริสุทธิ์ หมดจด หมดงานต้องทำ นี่เรียกว่าเรียนจบหลักสูตร เรียกว่าพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว หมายถึงว่าเรียนจบหลักสูตรแล้ว คนที่เรียนจบหลักสูตรเรียกว่าอเสขบุคคล คือคนที่ไม่ต้องเรียนอีกแล้ว คือพระอรหันต์นั่นเอง
พวกเรายังเป็นนักเรียนนะ พระโสดาบันเป็นนักเรียนจริงๆ พวกเราคล้ายๆ เป็นนักเรียนเตรียมอนุบาล ยังไม่ถึงขั้นเป็นนักเรียน เพราะพระโสดาบันขึ้นไปถึงจะเรียกว่าเป็นเสขบุคคล เป็นนักเรียน พระอรหันต์เรียกว่าอเสขบุคคล ไม่ต้องเรียน ส่วนเราเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นปุถุชนที่ดี ปุถุชนแปลว่าหนา กิเลสหนานั่นแหละ ไม่ใช่อะไรหนานะ ไม่ใช่สมองหนา กะโหลกหนานะ กิเลสหนาหมายถึงว่ากิเลสมีแรงมาก ลากจูงจิตใจเราไปลงนรก เราก็ยอมไปกับมันนะ มันเอาความหอมหวานมาหลอกมาล่อ
ฉะนั้นเราค่อยศึกษาไปนะ จนกระทั่งวันหนึ่งงานเสร็จแล้ว ใจไม่ไปหยิบฉวยอะไรอีกแล้ว มันพ้นทุกข์แล้ว มันเห็นนิพพานเต็มบริบูรณ์ต่อหน้าต่อตา นี่พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจที่ควรทำเนี่ยควรทำในอะไร ในสังสารวัฏนี่เอง พวกเราที่เวียนว่ายในสังสารวัฏนะ เรามีงานหลักของเราคือทำตัวให้พ้นสังสารวัฏให้ได้นะ นี่คืองานหลักของเรานะ ไม่ใช่ร่อนเร่ไปในสังสารวัฏ เวียนเกิดเวียนตายไปเรื่อยๆ อย่างนั้นงานไม่มีที่สิ้นสุด
กิจที่ควรทำก็คือการข้ามภพข้ามชาตินั่นเอง ได้ทำเสร็จแล้วทำหมดแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก เพราะตรงนี้ไม่มีอะไรจะต้องทำแล้ว กายกับใจเราคืนให้ธรรมชาติ คืนให้โลกไปแล้ว จิตใจจะมีแต่ความสุขนะ มีความสุขมีความสงบ มีความเบิกบานถาวรอยู่อย่างนั้น จะหลับตื่นยืนเดินนั่งนอน มีแต่ความสุขล้วนๆ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
พระพุทธเจ้าสอนสิ่งที่มีสาระแก่นสาร ท่านสอนสิ่งที่มีประโยชน์ สอนให้เราแยกได้ อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ นอกจากมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์แล้ว อะไรสมควรแก่เรา อะไรไม่สมควรแก่เรา ของมีประโยชน์บางอย่างก็ไม่สมควรแก่เรา ยกตัวอย่าง  ท่านบอกว่าสมถะและวิปัสสนานี้มีประโยชน์ แต่บางคนทำสมาธิไม่ได้ ทำสมถะไม่ได้ก็ไม่สมควรแก่เรา ฉะนั้นพอจะลงมือภาวนา ฉันจะต้องทำสมาธิให้ได้เสียก่อน เพราะมันเป็นเรื่องดีที่จิตจะสงบเสียก่อน แล้วเจริญปัญญาทีหลัง มันดีจริง มันมีประโยชน์จริง แต่ทำไม่ได้ นี่ไม่ใช่ของที่สมควรแก่เราแล้ว เกินฐานะ
ฉะนั้นเราก็ต้องเลือกกัมมัฏฐานที่พอเหมาะพอควรกับฐานะตัวเอง วันหนึ่งๆ หาเวลาสงบไม่ได้เลย จะไปทำให้มันสงบทำไม เสียเวลา เรียนรู้ความไม่สงบไปเถอะ ถ้าเรารู้ทันความไม่สงบไปแล้ว มันจะสงบของมันเอง แค่เรามีสติขึ้นมา เห็นว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตก็สงบของมันเอง นี่ใช้ปัญญานำสมาธิ คนไหนมีโอกาส มีเวลามาก ใช้สมาธินำปัญญาได้ก็ทำไป เพราะมันดีทั้งนั้นแหละ ทั้งสมาธิทั้งปัญญา มีประโยชน์ทั้งคู่
เวลาที่ใครคนใดคนหนึ่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็บรรลุด้วยสมาธิและปัญญาทุกคน ไม่ใช่บรรลุด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฉะนั้นเวลาบรรลุพระอรหันต์ ในพระไตรปิฎก ชอบใช้สำนวนว่าบรรลุพระอรหันต์ ด้วยปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบกลับ ไม่กำเริบกลับ ไม่เสื่อมถอยแล้ว ไม่กลับไปฟุ้งแล้ว
ฉะนั้นเวลาบรรลุจะบรรลุทั้งสองอัน แต่ว่าตอนเริ่มต้น ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทั้งคู่ คนไหนทำสมถะได้ก็ทำไป ทำสมถะแล้วอย่าติดในความสงบ เสียเวลา ให้ออกมารู้กายรู้ใจไว้ คนไหนทำสมถะไม่ได้ก็ไม่ต้องคร่ำครวญ ชาตินี้คงไม่มีหวังได้มรรคผลนิพพาน อย่าไปคร่ำครวญนะ เสียเวลา
หลวงพ่อเห็นพวกทำสมาธิเยอะ ทำสมถะเยอะ ไม่บรรลุมรรคผลนิพพานเยอะไป ไม่บรรลุอะไรเลย นอกจากจะไปพรหมโลก หรือถ้าสมาธิเสื่อมไปก็อารมณ์ร้าย กิเลสรุนแรงกว่าชาวบ้านธรรมดาอีก ดังนั้นไม่จำเป็นเสมอไป เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ อันไหนสมควรกับเรา เราก็ทำอันนั้น ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตตัวเอง
ทางเดินของการปฏิบัติมีหลายสาย สองสายหลักๆ คือ ทำสมาธิก่อนแล้วค่อยเจริญปัญญา หรือเจริญปัญญาแล้วทำสมาธิ มีสายพิเศษอีกสายหนึ่งสำหรับคนพิเศษ คือ ทำทั้งสมาธิและเจริญปัญญาไปด้วยกัน ทำได้นะสำหรับคนพิเศษ คนพิเศษชนิดนี้ก็คือ คนที่ดูจิตดูใจจนชำนิชำนาญ เวลาที่เข้าถึงอัปปนาสมาธิ ทรงอยู่ในอัปปนาสมาธิ มีสติระลึกรู้องค์ธรรมของสมาธิในขณะนั้น เห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์ธรรมนั้นได้ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงกระเพื่อมไหวอยู่ภายใน เห็นความเกิดดับยิบๆ  ซึ่งไม่มีภาษามนุษย์เรียกว่าคืออะไร ไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร เห็นแต่สภาวะเกิดดับๆ อยู่ในสมาธินั้น ทำได้ถ้าดูจิตชำนิชำนาญแล้ว ไม่ใช่การคิด  ถ้าเป็นการคิดพิจารณาปั๊บ ตกออกจากสมาธิเลย
ดังนั้นเส้นทางเดินมีตั้งเยอะแยะ เลือกเส้นทางที่เราเดินได้ ไม่ใช่เลือกเส้นทางที่อาจารย์ของเราเดิน หลายคนเลือกเส้นทางของอาจารย์ หรือเลือกเส้นทางตามเพื่อน เขาเข้าวัดนี้ก็เข้า เขาเข้าคอร์สนี้ก็เข้า เขาไปเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้าแล้วดี เราก็ต้องไปยกอย่างเขาบ้าง มันก็ไม่จำเป็นนะ ถ้าเดินสวยแล้วบรรลุ พวกวงโยธวาทิตบรรลุก่อนใช่ไหม ไม่จำเป็น หรือบางคนก็ต้องนั่งหลับตาภาวนา ถ้าหลับตาภาวนาแล้วบรรลุเร็ว คนตาบอดก็บรรลุก่อน หรือถ้าไม่ต้องฟังอะไรแล้วบรรลุเร็ว คนหูหนวกก็บรรลุก่อน จริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น การภาวนานี่นะเปิดตาหูจมูกลิ้นกายใจให้มันทำงานไป เวลาเราภาวนาแล้วให้ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ แล้วเราคอยรู้ความเปลี่ยนแปลงของใจ อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
แต่ในบางขณะบางเวลาที่เราปฏิบัติในรูปแบบ โดยเฉพาะการนั่งสมาธิภาวนา เราตัดการกระทบทางตาหูจมูกลิ้นกายออก เหลือแต่ใจอันเดียว เราดูการกระทบทางใจ เดี๋ยวใจมันคิดโน่นคิดนี่ เดี๋ยวใจมันก็ปรุงโน่นปรุงนี่ นี่ก็ทำวิปัสสนาได้
เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เป็นนะ ถึงเวลานั่งสมาธิ เราก็นั่งเป็นดูได้ ช่วงไหนจิตฟุ้งซ่านก็ดูให้สงบ ช่วงไหนสงบแล้วก็ดูให้เกิดปัญญา ทำได้หมด มีเวลาที่จะนั่งปฏิบัติตามรูปแบบอย่างนี้ แล้วใช้ชีวิตประจำวัน ยืนเดินนั่งนอน รู้สึกตัวตลอดวัน รู้กายรู้ใจทั้งวัน ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ กระทบแล้วใจกระเพื่อมขึ้นมา กระเพื่อมแล้วเราก็รู้ไปเรื่อยๆ  ให้เราฝึกให้ได้ในชีวิตประจำวัน ให้ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ไป หรือเวลากลางคืนไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เราตัดการรับรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกายออก เหลือแต่ความรับรู้ทางใจอันเดียว บางคนไม่เอาไหนเลย พอนั่งสมาธิก็ตัดความรับรู้ทางใจออกไปด้วย คือหลับไปเลย อย่างนั้นไม่ได้เรื่องนะ
อย่างน้อยมันต้องมีการรับรู้อยู่ ถ้าไม่รับรู้ทางห้าทวาร ก็ต้องรับรู้ทางทวารใจอันเดียว อย่าไปรับรู้ทางทวารตาอันเดียวนะ บางคนฝึกกัมมัฏฐานไปรับรู้ทางทวารตาอันเดียว ก็มีเหมือนกัน พอตากระทบรูปกำหนดอยู่ที่ตาตลอดเลย กำหนดอยู่ที่จักขุประสาทบ้าง กำหนดอยู่ที่รูปที่ตาไปเห็นบ้าง กำหนดอยู่ที่การกระทบอารมณ์ทางตาบ้าง หรือกำหนดอยู่ที่จิตที่รู้อารมณ์ทางตาบ้าง นี่กำหนดได้ตั้งสี่แบบ แล้วอะไรเกิดขึ้น ใจก็นิ่งๆ อยู่อย่างนั้นเอง บางคนก็นึกว่าเป็นพระอรหันต์นะ เพราะว่าใจไม่เคยกระเพื่อมเลย ใจไม่เคยกระเพื่อม เพราะว่าไปเพ่งเอาไว้ตั้งแต่ต้นทางแล้ว เพ่งตั้งแต่ตอนกระทบอารมณ์ เราไปเพ่ง มันก็นิ่งไม่กระเทือน กระทบแล้วไม่กระเทือนก็นึกว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ ถ้ากระทบแล้วกระเทือนขึ้นมาแล้วไม่ได้ยึดถือ มันถึงจะใช่นะ แต่ถามว่าสิ่งที่กระเทือนเป็นอะไรกระเทือน ขันธ์กระเทือน จิตที่เป็นธรรมแท้ไม่ได้กระเทือนด้วยเลย ไม่มีความเคลื่อนไหวภายใน สักนิดเดียวก็ไม่มี
หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า ภายนอกว่างเปล่าไม่มีรูปลักษณ์ ภายในเหมือนท่อนไม้และก้อนหิน ไม่มีความกระเพื่อมไหว นี่จิตที่เรียกว่าจิตหนึ่ง แล้วท่านก็บอกว่าไม่มีข้างนอกข้างในด้วย ที่บอกว่าภายในภายนอกนี่พูดโดยโวหาร ที่จริงคือจิตไม่ปรุงแต่งอะไรแล้ว จิตสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักว่าคิดนึกไป จิตชนิดนี้จะมีความสุขมาก
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
สติปัฏฐาน เป็นเครื่องถอดถอนความยินดียินร้ายในโลก สภาวะรู้ก็เกิดทีละแวบเดียว คือมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง ตัวโน้นก็เป็นโมหมูลจิต มีอุทธัจจะ นี่มันคิดต่อ ดูไปเพื่อให้เห็นว่ามันเกิดดับ ไม่ได้ดูเอารู้นานๆ หลายคนตั้งเป้าผิดนะ คิดว่าทำอย่างไรจะรู้ตลอดเวลา รู้ตลอดเวลาแล้วจะได้บรรลุเร็วๆ ไม่บรรลุหรอก
ฉะนั้นเรารู้ ไม่ใช่เพื่อจะรู้ แต่รู้เพื่อให้เห็นความจริงว่าทั้งรู้ทั้งเผลอ เกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ อย่างนี้ต่างหาก ถ้าเข้าใจหลักแล้ว การภาวนาง่ายมาก ดีก็ได้ ร้ายก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ อะไรก็ได้ เพราะทุกสิ่งเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น ถ้าใจไม่ยอมรับความจริง ใจก็เกิดยินดียินร้ายขึ้นมา ไม่ยอมรับความจริง ไม่เห็นความจริง ฉะนั้นภาวนาไป  วันหนึ่งใจก็พ้นจากความยินดียินร้ายในใจ
ฉะนั้นสติปัฏฐานท่านถึงบอกว่า เป็นเครื่องถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสีย "วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง"
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
หลักปฏิบัติต้องเป็นอันเดียวกัน คือหลักที่พระพุทธเจ้าสอน อันแรกสุดเลย เราต้องมีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ เครื่องอยู่เครื่องรู้ของจิตที่เป็นกายเวทนาจิตธรรม คือกายกับใจเรานี่เอง คือรูปกับนาม มีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ คำว่าเครื่องอยู่มันก็บอกแล้วว่าไม่ใช่คุก เครื่องอยู่คือบ้าน พวกเรานักปฏิบัติส่วนใหญ่ อยู่ๆ ก็หาเรื่องติดคุก คือน้อมใจให้มันซึมทื่อนิ่ง ห้ามกระดุกกระดิกนะ คนอยู่บ้านนี่ เวลามีธุระ ออกจากบ้านได้ตลอดเวลา คนติดคุกอยากไปไหนก็ไปไม่ได้ ถูกขัง
เพราะฉะนั้นเราต้องมีวิหารธรรม คือเอากายเวทนาจิตธรรมเป็นบ้าน เป็นที่ระลึกของสติ ให้สติคอยมาระลึกอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าจิตใจมีธุระจะไปทำงานที่อื่น มันก็ออกจากบ้านไป วิ่งไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง วิ่งไปคิดบ้าง มันก็ทำงานของมัน เราไม่ได้ห้ามมัน แต่พอหมดธุระแล้วก็กลับมาอยู่บ้าน มาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับอิริยาบถนะ มาอยู่กับพุทโธก็ยังได้นะ พุทโธก็เนื่องด้วยความคิด เนื่องด้วยจิต พุทโธก็เป็นชื่อของจิต
เรามาอยู่กับอารมณ์กัมมัฏฐานของเรา ใครเคยดูท้องพองยุบก็ดูไป เคยรู้ลมหายใจก็รู้ไป เคยขยับมือก็ขยับไป แต่ไม่ใช่ทำเพื่อให้จิตนิ่ง ไม่ได้เพ่งให้นิ่ง เพ่งให้นิ่งคือตรึงความรู้สึกเอาไว้ที่เดียวคือติดคุก หลายคนภาวนาแล้วจิตอึดอัดนะ พอลงมือภาวนาก็เพ่งเลยเพ่งกายเพ่งใจ เพ่งให้นิ่ง กายก็นิ่งๆ ผิดความเป็นจริง จิตใจก็แข็งทื่อขึ้นมาผิดความเป็นจริง อันนั้นติดคุกแล้ว ไม่มีความสุขเลย จิตใจที่ไม่มีความสุขเป็นจิตอกุศลนะ จิตที่เป็นกุศลต้องมีความสุข
ดังนั้นถ้าเราภาวนาแล้วหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ นั่นอกุศล ติดคุกอยู่ ติดคุกทางใจนะ ขังตัวเองด้วยความเชื่อมั่นเอาเอง ด้วยทิฏฐิ คิดเอาเองว่าทำอย่างนี้แล้วจะดี ฉะนั้นอันแรกเลยต้องมีวิหารธรรม คนไหนรู้ท้องพองยุบแล้วสติเกิดก็เอาอันนั้น รู้ลมหายใจแล้วสติเกิดก็เอาอันนั้น พุทโธแล้วสติเกิดก็เอาอันนั้นนะ ขยับมือทำจังหวะแล้วสติเกิดบ่อยก็เอาอันนั้น
สติเกิดบ่อย ก็คือรู้ทันตัวเองได้บ่อย เช่น บางคนดูท้องพองยุบแล้วจิตไหลไปคิดแวบ สติระลึกรู้ทันว่าหลงไปคิดแล้ว ลืมพองยุบไปแล้ว พอระลึกรู้ทันว่าจิตหนีไปคิดแล้ว มันจะตื่นขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง เราก็เห็นร่างกายมันพองมันยุบไป ตรงนี้เดินปัญญาได้แล้ว เห็นว่าตัวที่พองที่ยุบอยู่ไม่ใช่ตัวเรา นี่จะเดินปัญญาได้ หรือบางคนรู้ลมหายใจนะ รู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า รู้ไปสบายๆ จิตหนีไปคิดแวบ ลืมลมหายใจ มีสติรู้ทันว่าจิตหนีไปแล้ว
ทันทีที่มีสติรู้ทันว่าจิตหลงไป จิตจะตื่นขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง ในขณะนั้นจิตมันจะเกิดตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ มันจะเกิดปัญญาเห็นว่าตัวที่กำลังหายใจอยู่นี่ ไม่ใช่ตัวเราหรอก แต่เป็นรูปกำลังกระเพื่อมไหวอยู่ มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออก หรือรู้ทันว่าจิตนั้นเป็นอนัตตา แต่เดิมจิตรู้อยู่ที่ลมหายใจ แล้วอยู่ๆ จิตก็หนีไปคิด แล้วสติก็เกิดขึ้นเองอีก เกิดขึ้นเองทั้งสิ้นเลย สติระลึกได้ ใจก็ตั้งมั่นขึ้นมาเอง เดิมหนีไป ตอนนี้ตั้งมั่นอีกแล้ว มีแต่ของไม่เที่ยง ของบังคับไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่ามีปัญญา
ต้องมีสติ ใจตั้งมั่นขึ้นมานะ แล้วถึงจะเกิดปัญญา ความตั้งมั่นเรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญานะ ไม่ใช่เอาสติไปเพ่งๆ ลูกเดียว จิตไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ พอเพ่งไปจิตก็แข็งซึมทื่ออยู่ที่เดียวนะ ไม่เกิดปัญญา ไม่สามารถเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ได้ นอกจากมีวิหารธรรมแล้ว เราก็ฝึกให้มีสติ มีใจตั้งมั่นขึ้นมา รู้สึกตัวขึ้นมา มีสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวรู้เท่าทันทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา นี่คือหลักของสติปัฏฐานนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาก็คือ ปัญญาเข้าไปเห็นไม่เที่ยง เห็นทุกข์  เห็นอนัตตา ซึ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันอยู่ที่รูปนาม(กายใจ) มันเป็นลักษณะ เป็นสภาพของรูปนาม ที่รูปนามหรือปรมัตถ์มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะดับทันที เกิดขึ้นแล้วดับทันที เกิดขึ้นแล้วดับทันที อาการที่มันเกิดดับนี้ มันแสดงถึงความปรวนแปร เกิดแล้วมันปรวนแปรแล้วดับไป เกิดแล้วปรวนแปรแล้วดับไป ความปรวนแปรของมันแสดงถึงความไม่เที่ยงของมัน ความเป็นทุกข์ของมัน ความเป็นอนัตตาของมัน
ทีนี้เอาจิตไปอยู่กับบัญญัติ(สมมุติ) ไปอยู่กับความว่าง มันก็ไม่มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะความว่างมันไม่มีจริง มันจะแสดงความเกิดดับไม่ได้ ของไม่จริงนี่ หรือเอาไปอยู่กับชื่อ ภาษา มันก็ไม่มีเกิดมีดับอะไร เพราะมันไม่มีจริง เอาไปอยู่กับรูปร่างสัณฐาน ไปอยู่กับความหมาย มันก็ไม่มีเกิดมีดับอะไร เพราะมันไม่มีจริง
ฉะนั้น การเจริญสติจึงต้องเข้าถึงของจริง คือปรมัตถ์ สติต้องระลึกจรดสภาวะปรมัตถธรรม เรียกว่าสภาวธรรมก็ได้ เรียกว่าปรมัตถธรรมก็ได้ เรียกว่ารูปนามก็ได้ เรียกว่าขันธ์ ๕ ก็ได้ แล้วแต่จะเรียก เรียกว่าธาตุก็ได้ เรียกว่าธรรมชาติก็ได้ ระลึกให้ตรงต่อสภาพธรรมเหล่านี้ จึงจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทำไมต้องให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วย เพราะถ้าไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตมันก็ไม่เกิดความหน่าย คลายความกำหนัดยินดี ไม่เกิดความสังเวช ไม่เบื่อ ไม่หน่าย ไม่คลายความกำหนัดยินดี มันก็ยึดติดอยู่อย่างนั้น มันก็หลงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ยินดี พอใจ หลงใหล ยึดถือยึดมั่น(อุปาทาน) มันก็ต้องเป็นกิเลส ทำกรรม(ดีชั่ว)วนเวียนไม่จบไม่สิ้น เมื่อเห็นความจริงในสภาพที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ย่อมเบื่อหน่าย พระพุทธเจ้าบอกว่า นั่นแหละเป็นทางแห่งความหลุดพ้น
เมื่อบุคคลมาพิจารณาเห็นว่า สังขาร(ความคิดปรุงแต่ง)ทั้งหลายทั้งปวงมีสภาพไม่เที่ยง เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน เมื่อบุคคลทั้งหลายมาพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด เมื่อบุคคลมาพิจารณาเห็นว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด
ต้องเห็น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาต้องผ่านการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วไม่ใช่เห็นครั้งเดียว เห็นแล้วเห็นอีก เห็นอยู่อย่างนั้นแหละ เห็นจนมันไม่ยินดียินร้าย เห็นจนมันไม่มีทางอย่างอื่น จนจิตมันปลงได้ มันหลุดจากความยึดถือได้ เพราะว่ามันไปอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว จิตมันจึงยอมได้ เป็นอย่างนี้เช่นนี้เอง มันเป็นอย่างนี้เอง ธรรมดาเป็นอย่างนี้ คือไม่เที่ยงอย่างนี้เอง ความไม่เที่ยงก็คือความไม่เที่ยง มันจะให้เที่ยงไม่ได้ ความเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์อย่างนั้น ความบังคับไม่ได้ก็บังคับไม่ได้อย่างนั้น มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้
แต่ทุกวันนี้จิตเรายังไม่ยอมคลาย ยังไม่ยอมหน่าย ยังไม่คลายความยึดถือ เพราะมันยังคิดว่าควรจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างนี้ได้ จะเอาอย่างนั้นได้จะเอาอย่างนี้ได้ ก็เรียกว่ายังยึดในความเที่ยงอยู่ ยังไม่ยอมจริง ยังยึดในความสุขอยู่ ยังยึดความเป็นตัวตนอยู่ เพราะว่ามันไม่รู้ซึ้ง ไม่รู้แจ้งจริง ๆ ถ้ารู้แจ้งจริง ๆ มันก็คลาย มันก็ปล่อยได้ เหมือนกับเรายังไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นทุกข์เป็นโทษ มันก็ยังหลงไปยินดีอยู่นั่นแหละ ไปเอาอยู่นั่นแหละ ไปชอบอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าเรารู้ว่านี่มันโทษจริง ๆ
อย่างเหล็กที่เขาเผาไฟแดง ๆ ถ้ารู้แล้วมันเป็นโทษแน่นอน ไปแตะต้องแล้วเผาไหม้แน่นอน ใครจะไปจับถ้ารู้ซึ้งมันจริง ๆ แต่ถ้าคนไม่รู้ เห็นแดง ๆ ไม่เคยรู้จักความร้อนมาก่อน ไม่รู้จักเหล็กที่เผาไฟร้อน ๆ เป็นอย่างไร เหมือนเด็กเล็ก ๆ เด็กไร้เดียงสามันไม่รู้เรื่อง มันก็ต้องจับจนได้ อันนี้อุปมาให้ฟัง
หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
ถ้าใจยังอาลัยอาวรณ์ จะยังละกามราคะไม่ได้ ต้องเห็นทุกข์ต้องเห็นโทษถึงจะละได้ ดังนั้นกิเลสเกิดขึ้นมา ความอยากเกิดขึ้นมา หรืออะไรเกิดขึ้นมาแล้ว เรายังละไม่ได้เพราะเรายังทุกข์ไม่พอ ถ้าเมื่อใดเรารู้ว่านี่คือทุกข์ล้วนๆ นะ อย่างไรก็ไม่เอา ดังนั้นการรู้ทุกข์นี่แหละ คือเรื่องสำคัญที่สุดในการภาวนา รู้ลงไปในกายในใจ จะเห็นกายนี้ก็ทุกข์ จิตนี้ก็ทุกข์ เห็นอย่างนี้ถึงวันหนึ่งเขาถึงจะวาง
ฉะนั้นอย่าเกลียดทุกข์นะ ทุกข์เนี่ยดีเอาไว้รู้ ถ้ามันยังไม่พอ มันก็ไม่วาง ไม่มีใครสั่งจิตให้หลุดพ้นได้ จิตเขาหลุดพ้นของเขาเอง หลุดพ้นของเขาเองได้ เพราะเขามีสติมีสัมมาสมาธิมีปัญญาแก่รอบ เขามีสติมีสัมมาสมาธิมีปัญญาแก่รอบได้ด้วยตัวของเขาเอง แต่หน้าที่ของเราก็คือพาให้เขาเรียนรู้ไป อย่าพาเขาเที่ยวเร่ร่อนไป พาให้เขาคอยรู้กาย พาให้เขาคอยรู้ใจ เวลาเขารู้กายรู้ใจก็อย่าเผลอเพลินไปที่อื่น อย่าไปเพ่งใส่กายใส่ใจ ให้สักว่ารู้ว่าเห็น รู้อย่างมีสัมมาสมาธิ แล้วเขาจะเห็นความจริงของกายของใจด้วยตัวเขาเอง พอเขามีความรู้ขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง เขาก็หลุดพ้นของเขาเอง
เราปฏิบัติกับจิตของเราเหมือนลูกเรา เหมือนเด็กคนหนึ่ง เราไปฉลาดแทนลูกไม่ได้นะ เราอาจจะฉลาด แต่ลูกโง่ทำอย่างไรก็ไม่ฉลาด เราไปทำความฉลาดแทนเขาไม่ได้ แต่เราพาให้เขาเรียนได้ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้กับเขา เช่น อย่าไปพาเขาทำผิดศีลธรรม ให้เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้เขาได้ศึกษา ได้ฟังธรรม ให้เขาได้ปฏิบัติธรรม รู้กายรู้ใจ หรืออย่างเราเลี้ยงลูกก็ให้เขาได้เรียนหนังสือ ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คบเพื่อนที่ดี เขาจะเกิดความรู้ความฉลาดขึ้นเอง แล้วเขาก็สอบได้ของเขาเอง เขาสอบได้ของเขาเอง เพราะเขาฉลาดของเขาเอง เราไปสอบแทนลูกไม่ได้ หรือบางคนทำได้ก็ไม่รู้นะ
ฉะนั้น เราฝึกจิตใจนะ ให้จิตใจได้เรียนรู้กายเรียนรู้ใจเรื่อยๆ ตอนนี้เขาเรียนรู้จนเหน็ดเหนื่อยแล้ว ก็พาให้เขาได้พักผ่อนบ้าง ให้เขาทำความสงบเข้ามา เขาพักผ่อนพอสมควรแล้ว เหมือนลูกเราขี้เกียจขี้คร้าน เราก็ต้องเร่งรัดให้อย่าขี้เกียจนะ คอยทำการบ้าน คอยเรียนหนังสือ คอยรู้กายรู้ใจไว้ เขาเรียนไปเหนื่อยแล้วก็ให้เขาพักอีก เนี่ยเป็นระยะๆ อย่างนี้ไป พอเขาเติบโตขึ้นมานะ เขาก็มีความรู้ของเขาเอง
เราจัดการกับจิตด้วยวิธีเดียวกันนี้ อย่าห้าวหาญไป กูเก่ง กูจะทำจิตให้หลุดพ้นนะ หลวงพ่อเคยนะ ขนาดภาวนาจนชำนาญแล้วนะ สักปี ๓๖-๓๗ ภาวนาแล้วทำไมตรงนี้ไม่พัฒนา เลยภาวนาใหญ่ อยู่ที่วัดวังน้ำมอก สาขาวัดหินหมากเป้ง ไปภาวนาที่นั่น เสร็จแล้ว วันหนึ่งเหนื่อยแล้ว ก็เลยเดินเข้าไปในโรงครัว มีตู้หนังสือธรรมอยู่ตู้หนึ่ง ขี้ฝุ่นเกาะเลยนะ แบบตั้งแต่ปิดไว้แล้วคงยังไม่เคยมีใครเปิด ไปเปิดมาเจอหนังสือของอาจารย์มหาบัวเล่มหนึ่งชื่อ เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม
ยืมเขามาอ่าน อ่านได้ไม่กี่หน้านะ ปกติไม่ชอบอ่านหนังสือ อ่านได้ไม่กี่หน้า ใจมันก็สอนขึ้นมาบอกว่าไม่มีใครทำจิตให้หลุดพ้นได้หรอก จิตเขาหลุดพ้นของเขาเอง เราอ่านในเรื่องของท่าน มีเรื่องที่จิตท่านหลุดพ้นเยอะแยะนะ เลยปิดหนังสือยกมือกราบท่านนะ เอาหนังสือไปเก็บเข้าตู้ แล้วก็มารู้กายรู้ใจไป ให้จิตเขาเข้าใจของเขาเอง ไม่มีอะไรหรอก ง่ายสุดๆ เลยนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
หน้าที่ของพระ คือล้างกิเลสของตัวเอง พอล้างกิเลสตัวเองแล้ว ก็สืบทอดธรรมะออกไป ให้คนซึ่งมีบุญบารมีเนี่ยเขาได้ฟังธรรมะ
วิธีสืบทอดศาสนาเนี่ย ไม่ใช่แค่พิมพ์หนังสือธรรมะแจกนะ หนังสือธรรมะจะท่วมประเทศอยู่แล้ว แต่มันไม่มีคนอ่าน เราพิมพ์กันเยอะแยะ ของหลวงพ่อก็พิมพ์ไว้เป็นล้านเล่มแล้วมั้ง พิมพ์ตามๆ กันไป แจก ถามจริง อ่านกันบ้างรึเปล่า ใครไม่อ่านยกมือซิ แต่ว่าเวลาเค้าแจกแล้วรับ ยกมือซิ
การดูจิตเนี่ย ดูตามหลังไป โกรธก่อน แล้วรู้ว่าโกรธ โลภก่อน แล้วรู้ว่าโลภ ใจลอยไปก่อน แล้วรู้ว่าใจลอย ไม่ใช่ทันกำลังใจลอย คำว่ากำลังใจลอยนี่ไม่มี เป็นไปไม่ได้ เพราะขณะที่ใจลอยจิตเป็นอกุศล สติไม่มี เพราะฉะนั้น ไม่มีเครื่องมือในการรู้สภาวะ
เครื่องมือในการรู้สภาวะคือสติ (สติ)เกิดต่อเมื่อจิตเป็นกุศลเท่านั้น ถ้าจิตมีกิเลส จิตไม่มีกุศล สติไม่มี งั้นต้องโกรธก่อน ระหว่างโกรธไม่มีสติหรอก แต่โกรธแล้วรู้ว่าโกรธ สติเกิดตามขึ้นมา ทำยังไงจะตามได้เร็วเท่านั้นเอง ไม่ใช่เมื่อวานโกรธวันนี้รู้ อะไรอย่างนี้ไม่ไหว ต้องตามเร็วๆ
อะไรทำให้สติเกิด การที่จิตจำสภาวะได้แม่น ทำให้สติเกิด นี้เป็นกฎของธรรมะเลยนะ เป็นหลักเลย การที่จิตจำสภาวะได้แม่นนี้ทำให้สติเกิด พอสภาวะอันนั้นเกิด สติก็รู้ทันเลยว่าอันนี้เกิดแล้ว
งั้นเราก็หัดรู้สภาวะไป อย่างเราขี้โกรธ โกรธบ่อย เราก็หัดรู้ไป ใจโกรธก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ ฝึกอย่างนี้ ต่อไปพอความโกรธเกิดปุ๊บ สติจะระลึกได้เอง เพราะมันจำได้แล้วว่า ความโกรธหน้าตาเป็นอย่างนี้
ถ้าเราคนไหนขี้โลภ เจออะไรก็อยากได้หมด เจอสามีชาวบ้านยังอยากได้เลย เนี่ยใจเราโลภ อยากได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ฟังโฆษณาอะไรก็อยากได้ เห็นโฆษณาอะไรก็อยากได้ เห็นคนอื่นเขามีอะไรก็อยากได้ ใจโลภตลอด ก็รู้ทันใจที่โลภไป รู้ทันความโลภไปเรื่อยๆ ความโลภเกิดขึ้นก็รู้ ความโลภหายไปก็รู้ ดูอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปความโลภเกิด สติจะเกิดเอง มันจะระลึกได้เอง อ๋อ โลภแล้วนะ มีคำว่าแล้ว โลภแล้วนะ โกรธแล้วนะ
มีคำว่า'แล้ว'ด้วย การดูจิต แต่ แล้วสดๆ ร้อนๆ นะ เมื่อวานโลภวันนี้รู้ ใช้ไม่ได้ เมื่อวานโกรธวันนี้รู้ ใช้ไม่ได้ ต้องรู้ให้ไว รู้ให้ไว(ได้)เพราะรู้บ่อยๆ พอจิตจำสภาวะได้แม่นแล้ว พอสภาวะอันนั้นเกิด สติจะเกิด
อย่างเราดู สมมุติเราขี้โมโหเนี่ย เราดูใจโกรธ เดี๋ยวก็โกรธ ๆ ดูทุกวันๆ นะ สักพักเดียวเราก็จำได้ ว่าความโกรธหน้าตาเป็นอย่างนี้นะ หน้าตาเป็นยังไงความโกรธ หน้าตาไม่สวยไม่งาม หน้าหงิกหน้างอ ไม่ใช่ดูหน้าจริงๆ นะ ดูความรู้สึก เวลาความรู้สึกโกรธเกิดขึ้น มีความสุขมั้ย เวลาโลภเกิด มีความสุขมั้ย มี ถ้าโลภน่ะมี มีความสุขได้ ถ้าโกรธไม่มีความสุข
เนี่ยคอยรู้ทันไป โกรธขึ้นมาก็รู้ เวลาโกรธนะ มันจะมีพลัง ที่จะผลักอารมณ์นั้นให้กระเด็นออกไป อย่างเราเกลียดใครสักคนนะ เราก็อยากผลักเขาออกไป ถ้าเกลียดมากนะ ก็อยากเอากำปั้นผลัก ถ้าเกลียดมากกว่านั้น อยากเอาเท้าผลัก มีหลายระดับ  เพราะฉะนั้น โทสะเนี่ยมีลักษณะผลักออกไป ผลักอารมณ์ออกไป ราคะมีลักษณะดึงอารมณ์เข้ามา เนี่ยเราจะเห็นเลย เวลาราคะนะ  มันจะดึงเข้าหาตัว มันอยากได้มา เวลาโทสะเกิดนี่อยากผลักออกไป เวลาโมหะเกิดเนี่ย ดูอะไรไม่รู้เรื่อง สับสน ดูอะไรไม่รู้เรื่อง งง
งั้นเราหัดรู้สภาวะไป เราขี้โกรธเราก็ดู จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ เราขี้โลภก็รู้ไปนะ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ เราฟุ้งซ่านเก่งก็รู้ไป จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตตั้งมั่นขึ้นมาก็รู้ เมื่อไหร่รู้ว่าฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นก็ตั้งมั่น กลับข้างกัน รู้บ่อยๆ จิตจำได้แล้ว โลภ โกรธ หลง เป็นอย่างนี้ พอโลภ โกรธ หลง เกิด สติก็เกิดระลึกรู้ได้ จิตก็ตั้งมั่นเป็นกลางขึ้นมา
ต่อไปก็จะเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับ ความโลภ เกิดแล้วก็ดับ ความไม่โลภ เกิดแล้วก็ดับ ความโกรธ เกิดแล้วก็ดับ ความไม่โกรธ เกิดแล้วก็ดับ ความฟุ้งซ่าน เกิดแล้วก็ดับ ความสงบตั้งมั่น เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ดับทั้งสิ้น ในที่สุดปัญญามันก็เกิดนะ เป็นความรู้รวบยอด ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นพระโสดาบันแล้ว
ใจรู้ ไม่ใช่เรารู้นะ ใจรู้ ไม่ใช่เรารู้ อย่างได้ยินหลวงพ่อพูดว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ จำได้แล้ว อย่างนี้ยังไม่ใช่โสดาบัน ใจเรายังไม่ได้มีความรู้ ต้องพาใจให้เรียนรู้ของจริงซ้ำแล้วซ้ำอีกไป เห็นเลยอันนี้เกิด แล้วมันก็ดับ อันนี้เกิด อันนี้ก็ดับ อย่างนี้ดูไปเรื่อยๆ จนวันนึง(จิต)มันรู้เอง มันรู้จริง เวลารู้จริงนะ จิตจะรวมเข้าสมาธินะ จะเข้าฌาน เข้าเอง ไม่ต้องหัดเข้าฌานหรอก จิตมันเข้าได้เองเลย แล้วมันก็เข้าไปล้างกิเลสข้างใน ล้างตะกอนก้นตุ่มน้ำ
ตุ่มน้ำใบนี้นะ ล้างกันสี่ครั้ง ครั้งที่หนึ่งก็เอาตะกอนออกไปได้เยอะเลย ตะกอนหยาบๆ ครั้งที่สองก็เอาตะกอนออกไป ครั้งที่สามก็เอาตะกอนออกไป ครั้งที่สี่ ทุบตุ่มน้ำแตกไปเลย ไม่มีที่ให้ตะกอนอาศัยอยู่อีกแล้ว ใจไม่มีที่กิเลสจะแฝงอยู่ได้อีกแล้ว เพราะปล่อยวางจิตไปได้ จิตเปรียบเสมือนตุ่มน้ำนี่เอง รองรับของดีไว้ก็ได้ รองรับของเลวไว้ก็ได้
ตอนที่บรรลุพระอรหันต์เนี่ย มันทำลายจิตลงไป จิตอย่างที่พวกเรามีอย่างนี้ ถูกทำลาย จิตตัวผู้รู้อะไรนี้ ถูกทำลายไป เหลือแต่ธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ ไม่มีขอบเขต ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีการไป ไม่มีการมา มันเป็นของมันเอง มันบริสุทธิ์แล้ว จิตของเราไม่บริสุทธิ์ ปนเปื้อน มีกิเลส ถูกความอยากครอบงำ ปรุงความอยากขึ้นมา แล้วความอยากก็มาครอบงำ น่าสงสาร ก็เหนื่อย เวลาใจอยาก ใจก็ดิ้นรน ใจก็เหน็ดเหนื่อย
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เราต้องการความสุข แล้วความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขเหมือนเงา เหมือนภาพลวงตา เหมือนความฝัน เหมือนจะจับได้แล้วก็หลุดมือไป เป็นอย่างนี้ตลอด ไม่มีความสุขที่ครอบครองไว้ได้ตลอดเวลาเลยบางคนแสวงหาความร่ำรวย เพราะคิดว่ารวยแล้วจะมีความสุขบางคนอยากมีชื่อเสียง มีอำนาจ เพราะคิดว่ามีชื่อเสียงและมีอำนาจ แล้วจะมีความสุขบางคนมองสองชั้น มีอำนาจด้วยและหาความร่ำรวยด้วย แล้วจะมีความสุขบางคนมองว่ามีครอบครัวที่ดี พออยู่พอกินก็มีความสุขมาตรฐาน
ความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน แล้วแต่จะคิด มนุษย์แสวงหาโลกในอุดมคติ แต่ไม่เคยมีมนุษย์รุ่นไหนหาได้ ให้แสวงหาแทบตายก็หาไม่ได้ เพราะคนเรามีกิเลส เต็มไปด้วยความอยากซึ่งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จึงไปไม่ถึงจุดที่สมบูรณ์ในชีวิตเสียทีถ้าเราไม่รู้ เราหาคำตอบไม่ได้ เราก็จะตามโลกเขาไปเขาทำอะไร เราก็ทำตามเขาไปเรื่อยๆ หาสิ่งที่ตัวเองต้องการ แสวงหาไปเรื่อย ถ้าเทียบกับชาวโลกโดยทั่วไปก็มีความสุข แต่ใจมันไม่อิ่ม มันเลยรู้สึกขาด
การปฏิบัติธรรมมุ่งเอาความจริง ความจริงอาจจะไม่สุข เรามาเรียนรู้ความจริงของชีวิต ไม่ใช่มาหลอกตัวเองความสุข เป็นแค่ภาพลวงตา แต่ความทุกข์เป็นสิ่งที่มีอยู่เต็มโลก ทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความไม่สมปรารถนา บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเผชิญกับความจริงของชีวิต ให้เห็นความจริงของชีวิต
คนที่ยอมรับความจริงของชีวิต คือคนที่จะพ้นจากความทุกข์ วิธีดูความจริงเรียกว่าวิปัสสนกัมมัฏฐานดูความจริงว่าชีวิตประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรม หรือขันธ์ 5 ความจริงของรูปนามคือไตรลักษณ์ มีแต่เรื่องอนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) อนัตตา(บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนที่ถาวร) ดังนั้น เราจึงไม่ได้ภาวนาเพื่อหาความสุข เพราะความสุขก็ไม่เที่ยง ถ้าหาแต่ของไม่เที่ยงก็ได้แต่ของไม่เที่ยง สุขประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็ทุกข์อีก เราจะมุ่งไปหาของชั่วคราวมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยยังเรียกว่าประมาทอยู่ สิ่งที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงต้องเที่ยง ต้องไม่มีความทุกข์ ต้องพึ่งพาได้จริง ซึ่งก็คือธรรมะนั่นเอง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ผู้ปฏิบัติจะข้ามโลกได้ต้องไม่มีพัก ไม่พักหมายถึงไม่หลงตามกิเลส ไม่เพียรหมายถึงไม่บังคับตัวเอง หลวงพ่อพูดง่ายๆ ว่าไม่เผลอกับไม่เพ่งนั่นแหละ ให้รู้กายให้รู้ใจอย่างที่เขาเป็น ถ้าเราไปเพ่งเอาไว้นะ คือการบังคับตัวเอง เราลืมกายลืมใจก็คือเผลอไป นั่นไปพักแล้ว ไปพักอยู่กับภพกับชาติทั้งหลาย
ฉะนั้น "เพียรไปแบบไม่มีความเพียร" คำว่าเพียร ไม่ใช่แปลว่าบังคับตัวเอง คำว่าเพียรหรือคำว่าสัมมาวายามะเนี่ยนะ หมายถึง เรามีสติขึ้นมานั่นเอง ทันทีที่เรามีสติ จะเกิดวิริยะ เกิดสัมมาวายามะโดยอัตโนมัติ ทันทีที่มีสติ อกุศลที่มีอยู่จะถูกละ อกุศลใหม่จะไม่เกิดขึ้น กุศลที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นมา กุศลที่เกิดแล้วก็จะเกิดขึ้นบ่อย การที่อกุศลไม่เกิด กุศลเกิด นี่แหละเรียกว่ามีความเพียร ความเพียรไม่ใช่การบังคับตัวเองนะ ความเพียรเกิดจากการมีสติ มีสติปุ๊บเรียกว่ามีความเพียร
หลวงปู่มั่นเคยสอน "มีสติก็มีความเพียร ขาดสติคือขาดความเพียร" ท่านสอนมาจากการปฏิบัตินะ ตรงเป๊ะเลย
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
การปฏิบัติคือการรู้ทุกข์ คือรู้กายรู้ใจนั่นเอง ถ้ารู้ไม่ถูก ก็หลงไปสองข้าง หลงไปเผลอไปคิด กับเผลอเข้ามาเพ่งไว้ กำหนดไว้ บังคับไว้ สุดโต่งสองข้าง ถ้ารู้ถูกต้อง เรียกว่าทางสายกลาง คือการรู้กายรู้ใจตรงตามความเป็นจริง เมื่อรู้ตรงตามความเป็นจริง กายกับใจจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู ถ้ากายกับใจไม่แสดงไตรลักษณ์ ใช้ไม่ได้ อย่างบางคนทำจิต หลวงพ่อทำให้ดูนะ พวกที่ดูเป็นดูไว้ อยู่ระดับนี้นะ จะเห็นสิ่งอื่นเป็นไตรลักษณ์หมดเลย ยกเว้นจิต จิตเที่ยง รู้สึกไหม จิตคงที่ตลอด กี่วันกี่คืนจิตก็คงที่อยู่ตลอด สิ่งอื่นหรอกที่ไม่เที่ยง จิตเที่ยง อย่างนี้ละสักกายทิฏฐิไม่ได้จริงหรอก
แต่วิธีที่จะปฏิบัติเข้าทางสายกลางที่ถูกนะ รู้ตรงที่ผิดไว้ หัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ เผลอเป็นอย่างนี้ เพ่งเป็นอย่างนี้ โลภ โกรธ หลง เป็นอย่างนี้ รู้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสติตัวจริงเกิด จะเข้าทางสายกลางเอง ทางสายกลางนี้ไปจงใจเข้าไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ว่า "กลาง" อยู่ตรงไหน บางคนพยายามหาจุดที่เป็นกลางนะ คิดว่า "กลาง" ต้องอยู่กลางหน้าอกแน่ หรืออยู่กลางหน้าผาก นั่นมันกลางอะไรก็ไม่รู้ นั่นมันกลางกายนะ หรืออยู่เหนือสะดือ อยู่อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ กลางไม่ได้เข้าอย่างนั้น
ถ้ามีสติที่แท้จริงเมื่อไหร่ จิตก็เข้าทางสายกลางเมื่อนั้นแหละ จิตจะมีสติได้เมื่อมันรู้จักสภาวะ ดังนั้นให้หัดรู้สภาวะไป หัดรู้ ดูท้องพองยุบไปก็ได้ เห็นไปเลยว่ารูปมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู รูปมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู ไม่ใช่ "คิด" นะ ต้องรู้สึกเอา วิปัสสนาไม่ใช่คิดนะ บางคนชอบคิด เช่น โกรธขึ้นมา ขณะที่โกรธ จิตเป็นอกุศล ตรงที่รู้ว่าโกรธนี่เป็นกุศล ตรงนี้ปฏิบัติเสร็จแล้ว ถัดจากนั้นเริ่มผิดอีกแล้ว เช่น บริกรรม "โกรธหนอๆ" อะไรนี่นะ ตรงนี้คิดนะ จิตที่รู้กับจิตที่คิดเป็นคนละดวงกัน ตรงที่จิตคิดนี่ ตกจากวิปัสสนาแล้ว
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
นอกจากมีวิหารธรรมแล้ว เราก็ฝึกให้มีสติ มีใจตั้งมั่นขึ้นมา รู้สึกตัวขึ้นมา มีสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวรู้เท่าทันทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา นี่คือหลักของสติปัฏฐานนะ
อันแรกเลย มีวิหารธรรม อย่างเอากายในกายเป็นวิหารธรรมเรียกว่า "กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ" มีความเพียรที่จะแผดเผากิเลส เรียกว่าอาตาปี ไม่ใช่ภาวนาเพื่อตอบสนองกิเลส พวกเราชอบภาวนาเพื่อตอบสนองกิเลส คือสนองอัตตาตัวตนนั่นเอง ภาวนาแล้วเมื่อใดกูจะเก่ง เมื่อใดกูจะได้ เมื่อใดกูจะบรรลุ ภาวนาเพื่อสนองอัตตานะ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ กิเลสไม่เร่าร้อนหรอก เราเร่าร้อนเอง ใจเราจะเร่าร้อนว่าเมื่อใดจะได้ๆ
มีอาตาปีคือแผดเผากิเลส ไม่ถูกกิเลสย้อมใจ ภาวนาโดยไม่ถูกกิเลสย้อมนะ ไม่ใช่กิเลสผลักให้ภาวนา มีสัมปชาโน คือมีความรู้สึกตัวขึ้นมา มีสติรู้ลงที่กายรู้ลงที่ใจ กายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวก็รู้สึก แล้วจะนำไปสู่อีกประโยคหนึ่งเรียกว่า "วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง" คือเอาความยินดียินร้ายในโลกออกเสียได้
คำว่าโลกก็คือรูปนามกายใจเรานี่เองนะอย่าไปแปลว่าโลกตรงตัวนะ ไม่ใช่ Earth นะ โลกก็คือรูปกับนาม กายกับใจนี้ มันเป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาพุทธ คำว่าโลก ไม่ใช่โลกอย่างที่คนไทยใช้ โลกอย่างที่คนไทยใช้คือพวกภพพวกภูมิ โลกแปลว่าหมู่สัตว์ก็ได้ แปลว่ารูปนามก็ได้
พอเรามีสติ มีใจตั้งมั่น เราจะมีปัญญาขึ้นมาเลยว่า ทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตเราชั่วคราว อย่างพอใจเรามีความทุกข์ขึ้นมา สติรู้ทันปั๊บ ความทุกข์จะดับไปนะ ความทุกข์ทางใจจะดับทันที แต่ความทุกข์ทางกายไม่ดับหรอก ตราบใดที่ยังมีเหตุอยู่ก็ยังมีอยู่ หรืออกุศลทั้งหลายนะ ถ้าสติระลึกรู้ปั๊บ ดับทันที ส่วนกุศลเนี่ย สติระลึกไม่จำเป็นต้องดับนะ เวทนานี่ สติระลึกแล้วไม่ จำเป็นต้องดับ คนละเรื่อง ไม่ใช่อกุศล ถ้าสติตัวจริงเกิด ใจเราตั้งมั่น เราจะเห็นความจริงอันหนึ่งว่า สภาวะทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรมนะ ไม่ใช่ตัวเรา
อย่างเราเห็นว่าความโกรธที่เกิดขึ้นนะ ไม่ใช่ตัวเราหรอก เราจะเห็นว่าร่างกายที่ยืนที่เดินที่นั่งที่นอนนะ ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอยู่ พอเราเห็นลงมานะ มันจะไม่มีตัวเรา พอมันไม่มีตัวเราจริงๆ นะ ความยินดียินร้ายในรูปในนาม ในกายในใจ จะไม่มี หมดไปเอง ดังนั้นภาวนาไปถึงสุดท้าย มันจะหมดความยินดียินร้ายในกายในใจนี้ ในรูปในนามนี้ เรียกว่าเอาความยินดียินร้ายในโลกออกเสียได้ อันนี้เป็นขั้นที่สูงขึ้นไปนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
กระแสของกิเลสกระแสของโลกทุกวันนี้รุนแรงเหลือเกิน มันกำลังลากคนลงนรกตลอดเวลา ก็เลยต้องพยายามพาพวกเราดูสภาวะนะ ถ้าเราดูสภาวะเป็น วันหนึ่งเราก็เอาตัวรอด ปิดอบายได้ ได้โสดาก็ปิดอบายได้แหละ ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยนะ แต่ต้องดูสภาวะให้เป็น
ถ้าดูสภาวะไม่เป็น เป็นพระโสดาบันไม่ได้ อย่างไปนั่งภาวนาแล้วก็เพ่งเอาๆ ทุกสิ่งทุกอย่างนิ่งไปหมดเลยนะ ไม่เห็นสภาวะที่เกิดดับเปลี่ยนแปลง กี่ปีกี่ชาติก็ไม่ได้โสดา ปิดอบายไม่ได้ ยิ่งภาวนายิ่งเกิดความลำพองว่า กูเก่งกว่าคนอื่น กูแน่นะ กูชั้นหนึ่งแล้ว คนอื่นกิเลสหนา กูกิเลสบางนะ กูตัวเบ้อเร่อซ่อนอยู่นี่ไม่เห็น
ฉะนั้นเราหัดรู้สภาวะนะ ขุดคุ้ยลงมาในจิตในใจเรานี่แหละ รู้ทันลงไปเรื่อยๆ ความปรุงแต่งใดๆ เกิดขึ้นรู้ทัน มันจะขาดไป เดี๋ยวมันก็ปรุงอีกเพราะอนุสัยมันยังมี อาสวกิเลสยังอยู่มันก็ปรุงขึ่นมาอีก พอปรุงอีกเราก็รู้อีกก็ขาดอีก มันคล้ายๆ กิเลสมันลงทุนแล้วมันขาดทุนตลอดเวลา ในขณะที่จิตใจของคนทั้งหลายเนี่ย เป็นที่ลงทุนของกิเลสแล้วกำไรงาม กิเลสผุดขึ้นมานิดหนึ่งนะ เราสนองกิเลสไปตั้งเยอะแน่ะ เพราะว่ารู้ไม่ทัน กิเลสเลยครองโลกไป
ส่วนพวกเราผู้ปฏิบัติผู้หวังความพ้นทุกข์จริงๆ นะ พอกิเลสไหวตัวขึ้นมาเรามีสติรู้ทัน นี่กิเลสลงทุนมาแล้วกิเลสขาดทุนหากินไม่ได้ เพราะเรารู้ทันเสียก่อน กิเลสเหมือนต้นหญ้า สมมุติอย่างนี้ พอกิเลสโผล่ขึ้นมานะเราก็ตัดต้นหญ้าไป เดี๋ยวมันก็งอกใหม่ เราก็ตัดอีก มันงอกเมื่อไรก็ตัดไปเมื่อนั้นแหละ จนหมดเชื้อของมัน หมดอาหาร หมดเรี่ยวหมดแรงไปเองนะ
ฉะนั้นต้องอดทนนะ คอยรู้ลงไปซ้ำแล้วซ้ำอีก กิเลสก็จะค่อยๆ อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ อนุสัยนั่นแหละอ่อนกำลัง ถ้ากิเลสปรุงเป็นกิเลสหยาบๆ ขึ้นมาไม่ได้ หากินไม่ได้ อนุสัยจะค่อยอ่อนกำลังลงนะ กิเลสตระกูลรากหญ้าจะค่อยๆ อ่อนกำลัง ถึงวันหนึ่งมันก็เหี่ยวแห้งตายไปจากจิตใจของเรา เราก็จะไม่ต้องไปรักษาจิตใจอีกแล้วว่ากิเลสจะโผล่ขึ้นมาอีก กิเลสจะโผล่ขึ้นมาไม่ได้อีกแล้ว มันไม่มีเชื้อเหลือ เชื้อของกิเลสคืออวิชชานั่นเอง คือความไม่รู้แจ้งไม่เห็นจริงว่ากายกับใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เราปฏิบัติธรรมเพื่อใคร เพื่อตัวเองนั่นแหละ ไม่ใช่เพื่อใครหรอก ไม่ใช่เพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพื่อหลวงพ่อนะ ไม่ใช่ ทำเพื่อตัวเองแท้ๆ เลย กิเลสแผดเผา จิตใจเร่าร้อน อยู่ทุกวี่ทุกวัน เห็นไหม มันทุกข์ขนาดไหน เห็นบ้างไหม แล้วจะยอมจมอยู่กับความทุกข์ แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดชีวิต แล้วก็ข้ามภพข้ามชาติก็ไปจมอยู่กับอย่างนี้อีกหรือ
ชีวิตนี้ได้ฟังธรรมะ ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นนาทีทองในสังสารวัฏแล้วนะ น้อยชาติที่จะได้เกิดเป็นคน น้อยชาติที่จะได้ฟังธรรมะ น้อยชาติที่จะได้สนใจศึกษาปฏิบัติลงมือทำจริงๆ ชาตินี้พวกเรามีทุกอย่างเลยนะ พวกเราได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พวกเราสนใจศาสนา พวกเราได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน พวกเรามีโอกาสที่จะปฏิบัติเท่าเทียมกันทุกคนเลย คนงานมากก็ปฏิบัติได้ คนงานน้อยก็ปฏิบัติได้ เด็กผู้ใหญ่ผู้หญิงผู้ชายทำได้หมดแหละ นี่เราได้รับสิ่งที่วิเศษที่สุดแล้ว
ถ้าระลึกชาติได้จะรู้เลยว่า ชาติใดที่ไม่เจอศาสนาพุทธจะวังเวง ใช้คำว่าวังเวงนะ แล้วไประลึกเอาเองว่ามันวังเวงไหม ไม่ใช่ชั่วนะ แต่วังเวง มันทำบุญทำทาน อะไรอย่างนี้ มันทำ ไม่ใช่ไม่ทำหรอก แต่จิตใจไร้ทิศทาง ไร้ที่พึ่ง มันวังเวงใจ  ดังนั้นชาตินี้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เรามีโอกาสที่ได้ฟังธรรม ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติแล้ว ต้องทำนะ อย่าทิ้งนาทีทองในสังสารวัฏนี้ไป ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง ไม่เหมือนนาทีทองในโทรทัศน์หรือห้างสรรพสินค้านะ มันโกหก วันหนึ่งมีตั้งหลายรอบนะ
บางคนมาถามหลวงพ่อว่า ทำไมหลวงพ่อภาวนาเร็ว ตั้งแต่เจ็ดขวบ หลวงพ่อภาวนา แต่ทำได้แค่สมถะ ไม่มีวันใดที่ไม่ทำเลย คิดว่าการปฏิบัติมีแค่นั้นแหละ แค่นั่งหายใจ ทำอานาปานสติ จนอายุยี่สิบเก้า ทำสมถะอยู่ยี่สิบสองปี ไปต่อไม่เป็น
ไปเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง ตั้งแต่ที่ท่านสอน ไม่มีวันใดที่ไม่ได้ดูจิตตัวเอง แทบจะเรียกได้ว่า เว้นแต่เวลาทำงานที่ต้องคิดกับเวลานอน เวลาที่เหลือคือเวลาดูจิต ถ้าเรากล้าทุ่มเทขนาดนี้นะ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ  หลับแล้วมันยังดูต่อเลย แล้วทำไมมันจะไม่เร็ว มันทำอยู่ทั้งวันทั้งคืน แล้วทำไมมันจะไม่เร็ว เอาให้ได้นะ หลวงพ่อไม่ได้วิเศษกว่าพวกเราหรอก แต่หลวงพ่ออึดกว่าพวกเรา หลวงพ่ออึด แล้วหลวงพ่อไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่เชื่อง่ายๆ ดีนะ ไม่ใช่ภาวนาไป เจอสภาวะอะไรก็เชื่อแล้ว บรรลุแล้ว ถูกกิเลสเอาไปกินแล้วนะ
ฉะนั้นเกิดอะไรขึ้นต้องดูนะ ทบทวนแล้วทบทวนอีก ค้นคว้าพิจารณาตรวจสอบ ด้วยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ภาวนาแล้วกิเลสลดลงไหม ตัณหาลดลงไหม ภาวนาแล้วยังอยากคลุกคลีกับผู้คนไหม มักน้อยสันโดษไหม ยินดีตามมีตามได้ไหม หรือยังอยากยุ่งกับผู้คนเยอะแยะ ภาวนาแล้วพอใจในความสงบสงัดไหม ภาวนาแล้วศีลของเราดีขึ้นไหม ภาวนาแล้วจิตของเราตั้งมั่นไหม ภาวนาแล้วเราเห็นความจริงของกายของใจมากขึ้นไหม ภาวนาแล้วทุกข์น้อยลงไหม
คอยรู้ไป ตรวจสอบตัวเองเรื่อยๆ นะ เครื่องตรวจสอบมีนะ พระพุทธเจ้าสอนไว้เยอะแยะ ไม่ใช่ภาวนาแล้ววูบหมดสติไป ตื่นขึ้นมาบอกบรรลุพระอรหันต์นะ อย่างนั้นมันหันไปหันมา กิเลสมันไม่หมดหรอก
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เรื่องการปฏิบัตินี่คล้ายๆ เราเดินขึ้นภูเขา สมมติมีภูเขาลูกหนึ่ง เวลาเราจะเดินขึ้น เราก็จะคอยดูว่าคนส่วนมากเขาไปทางไหน  เราก็จะตามเขาไป ถ้าเดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็ขึ้นยอดเขาได้เหมือนกันแหละ เดิมเราก็คิดว่าทางที่เราเลือกนี้ดีที่สุด แต่ถ้าเราขึ้นบนยอดเขาแล้วเราหันไปรอบตัว เราจะรู้เลย ทางขึ้นเขานี้มีรอบทิศทางเลย ขึ้นทางไหนก็ได้ สำนักไหนก็ได้ พูดจริงๆ แต่หลักให้ถูกก็แล้วกันนะ
ดูท้องพองยุบ ดูแล้วเคลิ้ม นี่ใช้ไม่ได้ ดูแล้วเพ่ง ได้สมถะ ดูแล้วเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู ได้วิปัสสนาด้วยการดูกาย รู้ว่ากายไม่ใช่เรา ดูท้องพองยุบแล้วเห็นจิต เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย นี่เอาท้องพองยุบเป็นพื้นฐานแล้วมาดูจิตได้ ทำจิตตานุปัสสนาได้
รู้ลมหายใจก็เหมือนกัน รู้แล้วขาดสติใช้ไม่ได้ รู้แล้วเพ่งลมหายใจ ได้สมถะ รู้แล้วเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู  นี่ทำวิปัสสนาดูกาย เห็นเลย ตัวที่หายใจอยู่นี้ไม่ใช่เราหรอก รู้ลมหายใจแล้วก็คอยรู้สภาวะของจิตใจไป  นี่ก็ไปดูจิต
ขยับมืออย่างสายหลวงพ่อเทียน ขยับแล้วใจลอยไป นี่ไม่ได้อะไรเลย อย่างที่สองขยับแล้วเพ่ง จิตไปเพ่งใส่มือ เพ่ง เพ่ง เพ่ง ได้สมถะ อันที่สาม เห็นรูปมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู อันที่สี่ขยับแล้วรู้จิตไป นี่หลวงพ่อเทียนต้องการสอนตรงที่ "กายเคลื่อนไหวให้รู้ จิตเคลื่อนไหวให้รู้" แต่หลายคนเข้ามาไม่ถึงตรงที่ท่านสอน ไปติดอันที่สองหมด หรือไม่ก็ติดอันที่หนึ่งเลย คือหลงอยู่ในความคิด ขยับท่านี้แล้วก็คิดไป เดี๋ยวท่าต่อไปมันอะไรนะ อ้อ ท่านี้ เอ๊ะ แล้วอะไรอีกล่ะนี่ คิดตลอดเลยนะ ถึงจะคิดหนอ คิดหนอ ก็ไม่มีผลอะไร คิดหนอนั่นแหละคิดล่ะ
ให้หัดรู้สภาวะไป ทางใครทางมันนะ แต่ละคนมีทางเฉพาะของตัวเอง ไม่ต้องเลียนแบบกัน แต่ฟังหลักไตรสิกขาที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังให้รู้เรื่อง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ วันละเล็กวันละน้อย ไม่ต้องรีบแต่ขยัน ขยันรู้ขยันดูแต่ไม่รีบร้อน ถ้าลุกลี้ลุกลนอันนี้ไม่ดี ดังนั้นต้องรู้จักให้กำลังใจตัวเอง ช่วงไหนมันเหนื่อยนักทำอะไรไม่ไหว พุทโธอย่างเดียวก็ยังได้เลย ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำสมถะไว้ก่อน มันลำบาก ต้องต่อสู้กับกิเลสความหลงผิดของเราเอง ต่อสู้กับความหลงผิดของเราเอง ไม่ได้สู้กับคนอื่นหรอกกัมมัฏฐานเนี่ย เอาชนะตัวเองนี่ยากที่สุดเลย ชนะคนอื่นไม่อัศจรรย์นะ  ชนะกิเลสชนะจิตใจตัวเองได้นี่อัศจรรย์ที่สุดเลย ชนะคนอื่นมันก่อเวร ชนะกิเลสตัณหาของตัวเองนี่มันพ้นทุกข์จริงๆ ต้องพากเพียรนะ ต้องอดทน.."
พละห้า กำลังจริงๆ มีห้าอันนะ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่กำลังมีห้าอัน
ศรัทธาเนี่ย อาศัยการน้อมการนึกการคิดพิจารณา คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงครูบาอาจารย์ ทำไมครูบาอาจารย์ดูมีความสุขจังเลย ทำอย่างไรเราจะมีความสุขอย่างนั้นได้บ้าง ครูบาอาจารย์ไปทำอะไรมา ท่านไปทำอะไรมาถึงมีความสุข หรือท่านไปทำอะไรมา ใจถึงเปิดโล่งไปหมดเลย หลวงพ่อก็เคยใช้เหมือนกัน ตัวนี้เคยเห็น ตอนนั้นหลวงปู่สุวัจน์กลับมาจากอเมริกานะ ไปกราบท่านที่สวนทิพย์ ซอยวัดกู้ ปากเกร็ด ไปเห็นท่านนะ โอ้ ทำไมท่านมีความสุขจัง ท่านเป็นอัมพาตนะ บางทีหามกันกะร่องกะแร่งมา บางทีหามกันกระดูกหักก็มีนะ ดูท่านมีความสุข ทำอย่างไรเราจะได้ดีอย่างท่านบ้าง เสร็จแล้วเฉลียวใจ เอ๊ะ มานะนี่ รู้สึกว่าท่านเก่งเราไม่ได้เรื่อง นี่ไปเทียบเขาเทียบเราขึ้นมานะ
การที่เราได้เห็นครูบาอาจารย์ มันทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมา แต่ต้องช่วยพิจารณานะ อย่างหลวงพ่อ บางครั้งเหนื่อยๆ ขึ้นมา ก็พิจารณาศึกษาประวัติครูบาอาจารย์แต่ละรูป กว่าจะมาเป็นครูบาอาจารย์นะ ล้มลุกคลุกคลานกันมาทั้งนั้นแหละ ลำบาก หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์เนี่ย ท่านก็เคยเดินธุดงค์หลงป่าหลงเขานะ ตกเขาด้วย เป็นแผลลึกลงไปที่หน้าแข้ง เจ็บปวดแค่ไหนก็ต้องซมซานออกมาให้ได้ ไม่งั้นก็ตายเลย ลำบาก แต่เดิมท่านก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรานี่แหละ มีกิเลส มีความอยาก มีอะไรต่ออะไรเหมือนๆ กัน ทำไมท่านเอาดีได้ เราต้องเอาอย่างท่าน ใจมันนึกอย่างนี้ ไม่ท้อถอยนะ
ดังนั้นศรัทธามันต้องเป็นการให้กำลังกับตัวเอง ศรัทธาเกิดขึ้นมันก็มีกำลังใจ มีกำลังที่จะทำความเพียร ดังนั้นมีศรัทธามันก็เลยมีวิริยะขึ้นมา มีความเพียร ถ้าหมดศรัทธา ก็หมดเรี่ยวหมดแรงไปเลย ท้อแท้ทอดอาลัย เช่น โอ้ เราวาสนาน้อย อาจารย์ของเรานั้นสร้างบารมีมานานแล้ว เรายังทำไม่ได้หรอก เราขอทำบุญใส่บาตรไปก่อน อย่างนี้เรียกว่าคิดล้างผลาญตัวเองนะ ศรัทธาแล้วมันต้องให้กำลังใจตัวเอง ก็จะได้มีความเพียร
การจะทำความเพียรก็ไม่ใช่เพียรถูลู่ถูกัง เพียรโง่ๆ เขลาๆ ต้องเพียรเจริญสติ มีความเพียรก็ต้องเพียรอะไร ต้องเพียรเจริญสติ มีสติไปเรื่อย ตามรู้ตามดูไปเรื่อยๆ แล้วคอยสังเกตใจเรา ใจเราบางทีดูไปๆ ไม่ตั้งมั่น ไม่ตั้งมั่นก็สังเกตอีก ดูจิตดูใจ ใจก็ไปอยู่นอกๆ อีกแล้ว ถ้าทำความสงบเข้ามา ทำสมาธิเข้ามา หรือว่าไปรู้ทันว่าใจไม่ตั้งมั่น สมาธิก็จะเกิด ใจจะตั้งมั่นขึ้นมา มีใจที่ตั้งมั่นนี่มีกำลังมาก มีสติ มันก็มีกำลังมากขึ้นนะ มากกว่ามีความเพียรธรรมดา มันมีเป็นชั้นๆ เลยกำลัง สุดท้ายก็คือกำลังของปัญญา อาวุธตัวสำคัญเลยก็คือปัญญา ปัญญาจะมีได้ ก็อาศัยศรัทธาวิริยะสติสมาธินี่แหละ เกื้อกูลส่งเสริมมาเป็นทอดๆ ปัญญาก็คือ การที่เราสามารถเห็นความจริงของกายของใจนี่เอง ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้นะ
เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ วันละเล็กวันละน้อย ไม่ต้องรีบแต่ขยัน ขยันรู้ขยันดูแต่ไม่รีบร้อน ถ้าลุกลี้ลุกลนอันนี้ไม่ดี ดังนั้นต้องรู้จักให้กำลังใจตัวเอง ช่วงไหนมันเหนื่อยนักทำอะไรไม่ไหว พุทโธอย่างเดียวก็ยังได้เลย ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำสมถะไว้ก่อน มันลำบาก ต้องต่อสู้กับกิเลสความหลงผิดของเราเอง ต่อสู้กับความหลงผิดของเราเอง ไม่ได้สู้กับคนอื่นหรอก กัมมัฏฐานเนี่ย เอาชนะตัวเองนี่ยากที่สุดเลย ชนะคนอื่นไม่อัศจรรย์นะ ชนะกิเลสชนะจิตใจตัวเองได้นี่อัศจรรย์ที่สุดเลย ชนะคนอื่นมันก่อเวร ชนะกิเลสตัณหาของตัวเองนี่มันพ้นทุกข์จริงๆ ต้องพากเพียรนะ ต้องอดทน
บางครั้งเรารู้สึกท้อแท้ขึ้นมาเพราะอะไร บางทีเราไปตั้งความหวังไว้ เช่น ปฏิบัติเท่านี้น่าจะได้ผลเท่านี้ พอปฏิบัติด้วยความคาดหวัง มันไม่เป็นอย่างหวังก็ท้อแท้ใจ หลวงพ่อภาวนานะ ไม่เคยท้อเลย เหนื่อยแต่ไม่ท้อนะ เบื่อก็รู้ว่าเบื่อ ท้อใจก็รู้ว่าท้อใจ วับก็ขาดเลย ไม่มีเวลาท้อ รู้สึกว่ากิเลสตัณหายังเผาลนจิตใจของเรา ไม่มีเวลาท้อแท้นะ เหมือนไฟไหม้บ้านอยู่อย่างนี้ เหนื่อยนะต้องขนของหนี หรือจะมาดับไฟ แต่หยุดไม่ได้ เพราะไฟกำลังไหม้อยู่ ไฟกำลังเผาใจเรา ท้ออย่างไรก็ต้องสู้นะ มันหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดก็คือถูกไฟครอกตายอยู่ตรงนั้นเลย เสียชาติเกิด
หลวงพ่อเคยท้อจริงๆ ครั้งเดียว ตอนมาอยู่สวนโพธิ์ บวชแล้วนะ ตอนเป็นฆราวาสไม่เคยท้อเลย เพราะไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องได้อะไร เมื่อไหร่ ไม่คาดหวังแล้วง่าย พอบวชแล้วนี่ลุกลี้ลุกลนแล้วว่าบวชแล้วต้องลุยแล้ว มาบวชได้เมื่อแก่ตั้งสี่สิบแปด กว่าพ่อกว่าแม่จะพร้อม แม่พร้อมคือแม่ตายไป พ่อพร้อมคือพ่อยอมมาอยู่วัดด้วย กว่าจะได้บวชอายุเยอะ ลุกลี้ลุกลนในการภาวนาไป โอ้ เหนื่อย ใช้สติใช้ปัญญาสังเกตเอา เรารีบร้อนเกินไปแล้ว ใจเย็นๆ นั่งดูไป สังเกตแต่ละวัน คอยรู้คอยดูจิตใจไปสบายๆ  บางวันใจก็วางความยึดถือใจไป หลุดออกไป โอ้สบาย นิพพานแล้ว นิพพานอยู่นี่เอง หลายๆ วันเสื่อมได้อีกแน่ะ เจริญแล้วเสื่อมๆ อยู่ตรงนี้
เราสังเกตดูแต่ละแง่แต่ละมุมที่จิตมันดำเนินไป ล้วนแต่เป็นเรื่องอริยสัจทั้งหมดเลย จิตค้นคว้าแต่เรื่องอริยสัจ แต่ไม่รู้ตัวนะว่าเป็นเรื่องอริยสัจ พอค้นคว้าอริยสัจไป มุมนี้หลุดออกมา โอ้สบายแล้ว เอ๊ะ หลายวันเสื่อมลงมาอีก จิตมันค้นคว้าอีก ค้นคว้าเข้าใจอริยสัจอีกมุมหนึ่งแล้ว สบายอีกแล้ว เสร็จแล้วก็เสื่อม ถึงจุดหนึ่งนะท้อใจเลย จนปัญญาแล้วนะ หมดสติ หมดปัญญาแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ถึงทางตัน
ครูบาอาจารย์ก็ไม่มี ช่วยตัวเองไม่รู้จะช่วยอย่างไร จนปัญญา ท้อใจว่าชาตินี้ไปไม่รอดแล้วได้แค่นี้ ใจมันถอด ถอดใจ พอยอมรับว่าได้แค่นี้นะ ใจเลิกดิ้นเลย เห็นไหม เอาความท้อใจมาใช้ประโยชน์อีก เห็นไหม ไม่ใช่ท้อแท้แล้วเลิกปฏิบัตินะ ท้อแล้วเลิกดิ้น ใจไม่ดิ้น มันไม่มีทางจะทำให้มันหลุดพ้นได้แล้วชาตินี้ หมดปัญญาแล้ว
ตามรู้ตามดูนะ พอมันแจ้งอริยสัจจริง แจ้งปฏิจจสมุปบาทจริงๆ โอ้ มันคุ้มค่ากับการที่เราเหนื่อยยากมาแสนสาหัสนะ เหนื่อยยาก หลวงพ่อภาวนามาตั้งแต่ไหนๆ เราลำบากมานานทุลักทุเล ใจต้องถึงจริงๆ นะ ต้องสะสมกำลังจิตกำลังใจของเรา เรียกว่าบารมีแต่ละอันๆ สะสม การจะออกจากภพจากชาติไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราไม่เริ่มเสียแต่วันนี้นะ ไปเจอพระศรีอารย์ฯ เราก็ขี้เกียจขี้คร้านอีก ทำไม่เป็นอีกนั่นแหละ เริ่มตั้งแต่วันนี้ไป
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ให้คอยรู้ทันจิตที่หลงไปคิด ฝากตรงนี้ไว้นะ ตัวนี้สำคัญมากนะ พอจิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ในที่สุดเราจะเกิดตัวผู้รู้ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู คราวนี้เราจะเดินปัญญาได้แล้ว พอจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว งานถัดจากนี้มา หัดแยกธาตุ แยกขันธ์ แยกกาย แยกใจ จะมาตั้งมั่นรู้ตัวอยู่เฉยๆ โง่ๆ อยู่อย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว
ท่านอาจารย์มหาบัวท่านสอนนะว่า "ถ้าไม่พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ อย่ามาคุยอวดเลยว่าเจริญปัญญา" ไม่ได้เจริญปัญญาจริงหรอก เพราะฉะนั้นเราต้องมาหัดแยกธาตุแยกขันธ์
วิธีแยกทำยังไง พอใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูนะ อย่าอยู่สงบเฉยๆ เฉยๆ นิ่งๆ เสียโอกาส ต้องมาเจริญปัญญา ค่อยๆ นั่งดูลงไปเลย ตอนนี้พวกเรานั่งอยู่ใช่ไหม รู้สึกไหมร่างกายที่นั่งอยู่เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตของเราเป็นคนดู มันจะแยกออกมานะ จิตมันจะแยกออกมาเป็นคนดู เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายพยักหน้า จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายยกมือ จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนดู ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ หัดแยกไปเรื่อย จะเห็นว่าจิตเป็นคนดู มันจะค่อยๆ แยก กายก็ส่วนกาย จิตก็ส่วนจิต ค่อยๆ แยก จะพบว่ากายกับจิตเป็นคนละอันกัน นี่เราเริ่มแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็น ๒ ส่วนแล้ว
วิธีการที่มาหัดแยกธาตุแยกขันธ์ เป็นวิธีการเฉพาะในพระพุทธศาสนา ภาษาปริยัติเรียกว่า"วิภัชวิธี" วิภัชวิธีนี่จะเป็นการหัดแยกสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน" ออกเป็นส่วนๆ และจะพบว่าไม่มีตัวตน คล้ายๆ เรามีรถยนต์ ๑ คัน เราคิดว่ารถยนต์มีจริงๆ เรามาถอดรถยนต์เป็นชิ้นๆ ถอดลูกล้อออกมาก่อน ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ใช่ไหม แต่รถยนต์ไม่มีลูกล้อไม่ได้ใช่ไหม เนี่ย ถอดรถยนต์ออกมาเป็นส่วนๆ นะ ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ กันชนก็ไม่ใช่รถยนต์ ใช่ไหม ตัวถังก็ไม่ใช่รถยนต์ เบาะที่นั่งก็ไม่ใช่รถยนต์ พวงมาลัยก็ไม่ใช่รถยนต์ เครื่องยนต์ของมันก็ไม่ใช่รถยนต์ ถังน้ำมันก็ไม่ใช่รถยนต์ เห็นไหมพอเรามาถอดรถยนต์ออกเป็นชิ้นๆ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยนะ พบว่าไม่มีรถยนต์แล้ว รถยนต์เป็นสิ่งที่เอาอะไหล่ทั้งหลายนี่มาประกอบมารวมกัน แล้วเราก็สรุปหมายรู้เอาว่านี่แหละคือรถยนต์
วิภัชวิธีที่จะมาเรียนรู้เพื่อทำลายความเห็นผิดว่ามีตัวกูของกู ก็คือการหัดแยกสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" ออกเป็นส่วนๆ เรียกว่าหัดแยกธาตุแยกขันธ์ดู เบื้องต้นหัดแยกกายกับใจก่อน ค่อยๆ นั่งไป รู้สึกไป อย่าใจลอย ต้องไม่ใจลอยไปนะ รู้สึกตัวก่อน พอรู้สึกตัวแล้วดูกาย เห็นร่างกายที่นั่งอยู่นี้เป็นของถูกรู้ถูกดู นั่งดูไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งกระดุกกระดิก
นั่งดูไปนานๆ จะเห็นว่ากายก็อยู่ส่วนกาย จิตก็อยู่ส่วนจิต กายกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู พอเรานั่งไปนานๆ มันปวดมันเมื่อยขึ้นมา เห็นอีก ความปวดความเมื่อยแต่เดิมไม่มี ร่างกายเรานั่งอยู่สบายๆ ความปวดความเมื่อยเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาทีหลัง แปลกปลอมเข้ามาทีหลัง เพราะฉะนั้นความปวดความเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาอีกอันหนึ่ง คนละอันกับร่างกาย
ความปวดความเมื่อยนี่ภาษาพระเรียกว่า "เวทนา" คือ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ทางร่างกายก็ได้ ทางจิตใจก็ได้ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ทางกาย ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆ ทางใจ ทางใจมีเฉยๆ ด้วย  ตัวนี้ไม่ใช่ร่างกาย ตัวนี้ไม่ใช่จิตใจ
อย่างพอเรานั่งไปนานๆ มันปวดขึ้นมา ค่อยดูไป ทำใจสบายๆ ดูไป ความปวดก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความปวดเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกายด้วยและก็ไม่ใช่จิต เพราะมันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า นี่ค่อยหัดตัวนี้นะ พอมันปวดมากเข้าๆ อย่าเพิ่งกระดุกกระดิกนะ ทนๆ เอาก่อน มันปวดมากๆ นะ ใจมันชักทุรนทุราย เช่น ชักเป็นห่วงร่างกายแล้ว นั่งนานปวดมากอย่างนี้อาจจะเป็นอัมพาตได้ เดี๋ยวเดินไม่ได้พิกลพิการใครจะเลี้ยง ใจเริ่มฟุ้งแล้ว ใจเริ่มปรุงแต่ง วิตกกังวลอะไรต่ออะไรขึ้นมาเยอะแยะไปหมดเลย
ความปวดมันอยู่ที่ร่างกายนะ ความทุรนทุรายมันอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นความปวดกับความกลุ้มอกกลุ้มใจนี่ คนละอันกัน คนละขันธ์กัน ความกลุ้มอกกลุ้มใจภาษาพระเขาเรียกว่า "สังขารขันธ์" คนละขันธ์กันนะ นี่เรามาหัดแยกสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" เราจะเห็นเลยความทุรนทุรายเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ไม่ใช่จิตด้วย ไม่ใช่ร่างกายด้วย ไม่ใช่เวทนาคือความปวดความเมื่อยนั้นด้วย คนละอันกัน นี่ค่อยๆ หัดแยกนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
อะไรที่เราไปติดไปข้องไปยึดไปถือ มันล้วนแต่ทำความเผ็ดร้อนให้เราทั้งนั้นเลย ไปติดในทรัพย์สมบัติก็ทุกข์เพราะทรัพย์สมบัติ ไปติดในความคิดความเห็น ก็ทุกข์เพราะความคิดความเห็น ติดเพราะความถือตัวถือดีถือเด่น ก็ทุกข์เพราะความถือตัวนั่นแหละ อย่างคนถือตัวนะ คนดังทั้งหลายนี่ เดินไปไหนแล้วไม่มีคนรู้จัก อย่างบังเอิญวันนั้นเดินไปที่ๆ ไม่มีคนรู้จักก็จ๋อยนะ
อย่างสมมุติว่านายกเกิดไปเดินๆ เดินไปชั่วโมงหนึ่งยังไม่มีใครทักเลย ใจแป้วเลยนะ นี่ไงเกียรติยศชื่อเสียง คนอื่นเขาให้ ไม่ใช่ตัวเองให้ อย่างเราให้ค่าตัวเองว่ากูเก่งกูใหญ่กูดัง ไม่มีใครรู้จักเลย หมายังแยกเขี้ยวใส่ซะอีก ใจก็ฝ่อ คือไม่รู้ว่าอะไรของโลก สมบัติทรัพย์สินนี่ของโลกนะ ชื่อเสียงเกียรติยศก็ของโลก โลกเขาให้ คนอื่นเขาให้ ไม่ใช่ของตัวเองหรอก วันไหนมันหลุดมือเขาไปให้คนอื่นแทนก็ใจฝ่อเลย
เราภาวนาเราจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีความสุข จิตใจเข้าถึงความสุขความสงบ ฝึกเอานะ หลวงพ่อได้แต่ชี้ชวน ได้แต่บอกทางให้ ที่เหลือต้องทำเอาเอง พึ่งลำแข้งของตัวเอง เดินจงกรมไว้ พึ่งก้นของตัวเอง อย่าพึ่งหลังมากนัก หลังเป็นอวัยวะที่ใช้ตอนเมื่อการภาวนามันไม่ไหวแล้ว มันเมื่อยแล้วค่อยนอนนะ พึ่งลมหายใจ พึ่งร่างกาย พึ่งมือ พึ่งเท้า ขยับไป คอยรู้สึกไปเรื่อย
ชีวิตเป็นของชั่วคราวหมดแล้วหมดเลยนะ ชีวิตถัดไปชาติถัดไปจะได้เจอศาสนาพุทธหรือเปล่า ยังไม่แน่ จะได้เป็นคนหรือเปล่าก็ไม่แน่นะ ชาตินี้ได้ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว อย่าให้เสียโอกาส ต้องพัฒนาตัวเองให้ได้ บอกให้จนไม่รู้จะบอกอย่างไรแล้วนะ หลวงพ่อกล้ายืนยันเลยนะ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ไหนสอนละเอียดเท่าหลวงพ่อ ส่วนมากท่านสอนชี้หลักๆ ให้ ใจถึงๆ นะ ไปลูบๆ คลำๆ หลายๆ ปี เข้าใจขึ้นมาคำหนึ่ง
ทีนี้พอเรียนละเอียดแล้วก็อย่าขี้เกียจล่ะ อย่ามัวแต่ภูมิใจว่าฟังหลวงพ่อมาเยอะแล้วเข้าใจธรรมะแล้ว อันนั้นเป็นความจำ ใช้ไม่ได้ ต้องดูของจริงไป มันไม่ได้ยากอะไร อย่าใจลอย ถ้าเราใจลอยไป เราก็ลืมกายลืมใจตัวเอง ในขณะเดียวกันก็อย่าไปเพ่งอยู่ที่กายอยู่ที่ใจ อย่าไปบังคับจิตให้นิ่งๆ  อยู่กับท้องอยู่กับเท้าอยู่กับมืออยู่กับลมหายใจนะ อย่าบังคับจิตให้เพ่งให้นิ่งอยู่กับความว่าง การบังคับจิตให้เพ่งให้นิ่งอยู่กับอันใดอันหนึ่ง เป็นแค่สมถะได้แต่ความสุขความสงบชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวก็เสื่อม
ให้มาเรียนรู้ของจริง รู้ลงในกาย อย่าใจลอยไป อย่าเพ่งอยู่ที่กาย รู้ลงที่จิตใจนะ อย่าใจลอยไป อย่าเพ่งจิตใจ รู้ไปมันดีบ้างร้ายบ้างสุขบ้างทุกข์บ้าง หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป ดูอย่างนี้ง่ายที่สุดเลย ไม่เห็นจะยากเลย หลวงพ่อบางทีอยากถามเหมือนกันว่ามันยากตรงไหน ทำไมมันภาวนากันไม่ค่อยจะได้
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้นะ เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ วันละเล็กวันละน้อย ไม่ต้องรีบแต่ขยัน ขยันรู้ขยันดูแต่ไม่รีบร้อน ถ้าลุกลี้ลุกลนอันนี้ไม่ดี ดังนั้นต้องรู้จักให้กำลังใจตัวเอง ช่วงไหนมันเหนื่อยนักทำอะไรไม่ไหว พุทโธอย่างเดียวก็ยังได้เลย ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำสมถะไว้ก่อน
มันลำบาก ต้องต่อสู้กับกิเลสความหลงผิดของเราเอง ต่อสู้กับความหลงผิดของเราเอง ไม่ได้สู้กับคนอื่นหรอกกัมมัฏฐานเนี่ย เอาชนะตัวเองนี่ยากที่สุดเลย ชนะคนอื่นไม่อัศจรรย์นะ ชนะกิเลสชนะจิตใจตัวเองได้นี่อัศจรรย์ที่สุดเลย ชนะคนอื่นมันก่อเวร ชนะกิเลสตัณหาของตัวเองนี่มันพ้นทุกข์จริงๆ ต้องพากเพียรนะ ต้องอดทน บางครั้งเรารู้สึกท้อแท้ขึ้นมาเพราะอะไร บางทีเราไปตั้งความหวังไว้ เช่น ปฏิบัติเท่านี้น่าจะได้ผลเท่านี้ พอปฏิบัติด้วยความคาดหวัง มันไม่เป็นอย่างหวังก็ท้อแท้ใจ
หลวงพ่อภาวนานะ ไม่เคยท้อเลย เหนื่อยแต่ไม่ท้อนะ เบื่อก็รู้ว่าเบื่อ ท้อใจก็รู้ว่าท้อใจ วับก็ขาดเลย ไม่มีเวลาท้อ รู้สึกว่ากิเลสตัณหายังเผาลนจิตใจของเรา ไม่มีเวลาท้อแท้นะ เหมือนไฟไหม้บ้านอยู่อย่างนี้ เหนื่อยนะต้องขนของหนี หรือจะมาดับไฟ แต่หยุดไม่ได้ เพราะไฟกำลังไหม้อยู่ ไฟกำลังเผาใจเรา ท้ออย่างไรก็ต้องสู้นะ มันหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดก็คือถูกไฟครอกตายอยู่ตรงนั้นเลย เสียชาติเกิด
หลวงพ่อเคยท้อจริงๆ ครั้งเดียว ตอนมาอยู่สวนโพธิ์ บวชแล้วนะ ตอนเป็นฆราวาสไม่เคยท้อเลย เพราะไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องได้อะไร เมื่อไหร่ ไม่คาดหวังแล้วง่าย พอบวชแล้วนี่ลุกลี้ลุกลนแล้วว่าบวชแล้วต้องลุยแล้ว มาบวชได้เมื่อแก่ตั้งสี่สิบแปด กว่าพ่อกว่าแม่จะพร้อม แม่พร้อมคือแม่ตายไป พ่อพร้อมคือพ่อยอมมาอยู่วัดด้วย กว่าจะได้บวชอายุเยอะ ลุกลี้ลุกลนในการภาวนาไป โอ้ เหนื่อย ใช้สติใช้ปัญญาสังเกตเอา เรารีบร้อนเกินไปแล้ว ใจเย็นๆ นั่งดูไป สังเกตแต่ละวัน  คอยรู้คอยดูจิตใจไปสบายๆ บางวันใจก็วางความยึดถือใจไป หลุดออกไป โอ้สบาย นิพพานแล้ว นิพพานอยู่นี่เอง หลายๆ วันเสื่อมได้อีกแน่ะ เจริญแล้วเสื่อมๆ อยู่ตรงนี้
เราสังเกตดูแต่ละแง่แต่ละมุมที่จิตมันดำเนินไป ล้วนแต่เป็นเรื่องอริยสัจทั้งหมดเลย จิตค้นคว้าแต่เรื่องอริยสัจ แต่ไม่รู้ตัวนะว่าเป็นเรื่องอริยสัจ พอค้นคว้าอริยสัจไป มุมนี้หลุดออกมา โอ้สบายแล้ว เอ๊ะ หลายวันเสื่อมลงมาอีก จิตมันค้นคว้าอีก ค้นคว้าเข้าใจอริยสัจอีกมุมหนึ่งแล้ว สบายอีกแล้ว เสร็จแล้วก็เสื่อม ถึงจุดหนึ่งนะท้อใจเลย จนปัญญาแล้วนะ หมดสติ  หมดปัญญาแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ถึงทางตัน ครูบาอาจารย์ก็ไม่มี ช่วยตัวเองไม่รู้จะช่วยอย่างไร จนปัญญา ท้อใจว่าชาตินี้ไปไม่รอดแล้วได้แค่นี้ ใจมันถอด ถอดใจ พอยอมรับว่าได้แค่นี้นะ ใจเลิกดิ้นเลย เห็นไหม เอาความท้อใจมาใช้ประโยชน์อีก เห็นไหม ไม่ใช่ท้อแท้แล้วเลิกปฏิบัตินะ ท้อแล้วเลิกดิ้น ใจไม่ดิ้น มันไม่มีทางจะทำให้มันหลุดพ้นได้แล้วชาตินี้ หมดปัญญาแล้ว
ตามรู้ตามดูนะ พอมันแจ้งอริยสัจจริง แจ้งปฏิจจสมุปบาทจริงๆ โอ้ มันคุ้มค่ากับการที่เราเหนื่อยยากมาแสนสาหัสนะ เหนื่อยยาก หลวงพ่อภาวนามาตั้งแต่ไหนๆ เราลำบากมานานทุลักทุเล ใจต้องถึงจริงๆ นะ ต้องสะสมกำลังจิตกำลังใจของเรา เรียกว่าบารมีแต่ละอันๆ สะสม การจะออกจากภพจากชาติไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราไม่เริ่มเสียแต่วันนี้นะ ไปเจอพระศรีอารย์เราก็ขี้เกียจขี้คร้านอีก ทำไม่เป็นอีกนั่นแหละ เริ่มตั้งแต่วันนี้ไป
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ผู้ปฏิบัติต้องช่วยตัวเองให้มากๆ สังเกต สู้ด้วยสติ สู้ด้วยปัญญา มีสติก็คืออย่าลืมตัวเอง คอยรู้กายคอยรู้ใจเอาไว้เรื่อยๆ มีปัญญาก็คอยตรวจสอบตัวเองเรื่อยเลย ที่ทำอยู่นี้มันถูกหรือผิด อย่างเราภาวนาไปแล้ว ใจของเราหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ  อะไรอย่างนี้ ผิดแน่นอน หรือเราภาวนาแล้วเครียดๆ ขึ้นมา นี่ผิดแน่นอน ภาวนาแล้วต้องสบาย ต้องโปร่งโล่งๆ ต้องสบายนะ หรือภาวนาไปแล้ว แหมมันสบายมาเจ็ดวันเจ็ดคืนแล้ว ต้องผิดแน่นอน อะไรมันจะเที่ยงขนาดนั้น อย่างนี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ
เราต้องมีสติมีปัญญา ปัญญาเบื้องต้นของเรานี่แหละเรียกว่าโยนิโสมนสิการ มีความแยบคายในการสังเกตตัวเองว่า สิ่งที่เดินนี่มันถูกหรือมันผิด หรือแยบคาย เช่น เราภาวนาแล้ว ช่วงนี้สังเกตตัวเองว่ามันเนือยๆ ไป ก็ต้องแยบคายนะ ทำให้มัน active (กระฉับกระเฉง) ขึ้นมาหน่อย หรือช่วงนี้ขยันดูทั้งวันทั้งคืน จนเพื่อนถามว่าไปกัดกับใครมา ดูโทรมนะ ภาวนาจนโทรมอย่างนี้ ก็ต้องรู้ว่าเร่งมากไป จิตใจไม่มีความสุข แห้งแล้ง นี่ต้องวัดตัวเองเรื่อยๆ นะ
ฉะนั้นช่วยตัวเองให้มาก มีสติรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ อย่าลืมกายอย่าลืมใจ ลืมได้แต่อย่าลืมนาน มีปัญญาคือโยนิโสมนสิการ คอยตรวจสอบตัวเองเรื่อยๆ ว่าที่ทำอยู่นี่ มันอยู่ในร่องในรอยไหม โยนิโสมนสิการจะเกิดได้  ต้องฟังธรรมนะ ฟังหลวงพ่อพูด หรืออ่านหนังสือที่หลวงพ่อเขียนเอาไว้ โยนิโสมนสิการไม่ใช่การคิดพิจารณาตามใจชอบ แต่การคิดการพิจารณานั้นจะต้องสอดคล้องถูกต้อง กับหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้
อย่างถ้าเราภาวนาไปแล้วเราพยายามดูจิตให้ทัน โมโหตัวเองที่ดูอย่างไรก็ไม่ทันสักที ถ้ามีโยนิโสมนสิการ แยบคาย เคยได้ยินได้ฟังมาว่าการดูจิตนี่ต้องตามดู เราก็จะระลึกขึ้นได้ว่าพลาดไปทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว คือพยายามดูจิตให้เป็นปัจจุบัน นี่โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อยตามใจชอบนะ หลายคนเคยไปอ่านหนังสือ สมัยก่อนมีเรื่องหนึ่งนะชื่อ สิทธารถะ แล้วตอนหลวงพ่อหนุ่มๆ นะ มีเรื่อง นกนางนวลด้วย พออ่านแล้วแหมใจมันฮึกเหิม จะหาธรรมะด้วยตนเองเหมือนสิทธารถะ เหมือนนกนางนวล นกนางนวลตัวนี้ตกทะเลแหงๆ เลย
ฉะนั้นต้องเรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เราจะหาด้วยตัวเองเนี่ย หาได้เหมือนกัน ถ้าเราเป็นพระโพธิสัตว์ ใช้เวลาอย่างต่ำที่สุดยี่สิบอสงไขย ใช้เวลาต่ำที่สุดที่จะหาด้วยตนเองได้ พระพุทธเจ้าเราภาวนา ก่อนที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้านะ ทั้งหมดยี่สิบอสงไขยแสนมหากัปป์ ยี่สิบอสงไขยนี่นะ สิบหกอสงไขยทำไปลุ่มๆ ดอนๆ สี่อสงไขยแสนมหากัปสุดท้ายนี้เท่านั้นแหละ ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระทีปังกร
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ให้รู้ลงในกายนะ คอยรู้สึก อย่าลืมตัว อย่าเป็นคนลืมตัว ลืมตัว ไม่ใช่เป็นคนได้ดีแล้วลืมตัวนะ อันนั้นกระจอก ลืมตัวก็คือลืมกายลืมใจของเราเองนี่คือคนลืมตัว ลืมตัว เรียกว่าประมาท ปล่อยให้กายปล่อยให้ใจตายไปวันหนึ่งๆ โอกาสของเราที่จะพัฒนาคุณงามความดี ให้จิตให้ใจตนเองน้อยลงทุกวันๆ เรามัวแต่เพลินกับโลก เพลินไปในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์ทั้งหลาย ชีวิตเราสั้นลงๆ ทุกทีแล้ว หลวงพ่อไม่เห็นว่ามีอะไรจำเป็น เท่ากับการมีสติรู้ลงในกายรู้ลงในใจนี้
สติสัมปชัญญะ สัมปชัญญะเป็นความเข้าใจ เป็นตัวปัญญา สติเป็นตัวรู้ทันว่าอะไรผ่านมาผ่านไป อะไรเกิดขึ้นในกายรู้ทัน อะไรเกิดขึ้นในใจรู้ทัน สัมปชัญญะหรือปัญญาเป็นตัวเข้าใจ เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เขาเป็น เข้าใจตามความเป็นจริง คือเห็นว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง ทุกอย่างมันทนอยู่ไม่ได้ มันเป็นทุกข์ ทุกอย่างบังคับไม่ได้ คอยดูอยู่ในกายในใจ จะเห็นสิ่งเหล่านี้ทั้งวันเลย
อย่างร่างกายของเรา สังเกตไหม นั่งดีๆ ก็ทุกข์นะ ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เราหายใจออกหายใจเข้า ก็ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ที่ต้องหายใจก็เพื่อแก้ทุกข์นั่นแหละ พอหยุดหายใจหรือเป็นหวัด หายใจไม่ออกก็ทุกข์นะ หายใจออกลูกเดียวก็ทุกข์ใช่ไหม ต้องหายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ หายใจเข้าไปสักพักหนึ่งก็ทุกข์อีกแล้ว ต้องหายใจออกเพื่อแก้ทุกข์ ดูสิว่าร่างกายนี้มันถูกความทุกข์บีบคั้นขนาดนี้
เราไม่เห็นนะ ไปประมาทมัวเมาว่ามันเป็นของดีของวิเศษ ถ้ารู้ลงมา มันทุกข์ล้วนๆ เลยนะ นั่งก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ นอนยังต้องพลิกไปพลิกมาเลย เราเห็นเลยกายนี้มันทุกข์ล้วนๆ เลย คอยรู้สึกอยู่ในกายก็เห็นว่ามันทุกข์ล้วนๆ ถึงวันหนึ่งมันจะหมดความรักในกายนี้ หมดความยึดถือในกายนี้ พอหมดความยึดถือในกายจะเป็นพระอนาคามีนะ เป็นภูมิของพระอนาคามี พระโสดาบัน พระสกิทาคา ยังยึดกายอยู่
การภาวนานอกจากรู้กายก็คอยรู้จิตใจของเราไปด้วย ทำขนานกันไป ไม่ใช่รู้อันใดอันหนึ่งหรอก บางครั้งก็รู้กาย บางครั้งก็รู้ใจ คนที่ภาวนาเป็นแล้วจะรู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่รู้กายอันเดียว ไม่ใช่รู้ใจอันเดียว ไม่ใช่รู้เวทนาอันเดียว บางคนบอกฝึกมาสายนั้นสายนี้ จริงๆ สายไปแล้ว
ถ้าภาวนามีสติจะไม่มีสาย เดี๋ยวสติก็รู้กาย  พอสติรู้กาย ปัญญาก็เข้าใจความเป็นจริงของกาย ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุนะ สติไปรู้จิตใจ ปัญญามันก็เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในจิตใจ จะสุขจะทุกข์จะดีจะชั่วจะโลภจะโกรธจะหลง จะผ่องใสหรือจะเศร้าหมองอะไรก็ตามทั้งหมดไม่เที่ยง ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเราเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง ดูจิตใจจะเห็นความไม่เที่ยงได้ชัด หรือดูไปอีกทีก็จะเห็นอนัตตาได้ชัด เราบังคับมันไม่ได้ เห็นไหม  เราเลือกไม่ได้นะ
อย่างเราฟังคนสองคนพูด คนนี้เราชอบ  คนนี้เราไม่ชอบ พูดประโยคเดียวกันนั่นแหละ ความรู้สึกเรายังไม่เหมือนกันเลย เราเลือกไม่ได้นะ ไม่ใช่เดินๆ อยู่  คนตะโกนบอกว่าไอ้บ้า ต้องโกรธใช่ไหม ห้ามมันไม่ได้ มันจะโกรธ พอหันไปดูเป็นเพื่อนเราร้องทักทายเรา ธรรมดามันเรียกชื่อพ่อเราด้วยซ้ำไป วันนี้มันเรียกเราไอ้บ้า นี่สุภาพขึ้นเยอะแล้วนะ รู้สึกดีใจ  พลิกจากโกรธเป็นดีใจ จิตใจจะดีใจก็ห้ามมันไม่ได้ คอยดูของจริงไป  จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดูไปอย่างนี้ ร่างกายเราก็ดูไปว่ามันมีแต่ความทุกข์ล้วนๆ
อย่าขี้เกียจดูนะ ไม่ใช่ดูนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็กลับไปอยู่กับลมหายใจ หรือไปเพ่งท้องพองยุบอย่างนั้น ไม่เกิดปัญญาอะไรขึ้นมา ให้รู้ลงในกายมากๆ เห็นว่ามันมีแต่ความทุกข์บีบคั้น รู้ลงไปในใจ เห็นแต่ความไม่เที่ยง ความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว กุศลอกุศลชั่วคราวหมดเลย มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้ เราเลือกไม่ได้นะ สั่งให้สุขมันก็จะทุกข์นะ ห้ามทุกข์ มันก็จะทุกข์ ความสุขเกิดขึ้นแล้ว สั่งให้สุขนานๆ มันก็ไม่สุขอีก มันอยู่เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันก็หายไป
พวกเรารู้สึกไหม ความสุขสั้นแต่ความทุกข์ยาวเพราะเราไม่ชอบ อันไหนเราชอบจะรู้สึกมันน้อยไป อันไหนเราไม่ชอบจะรู้สึกมันเยอะไป ใจเรานะมันบังคับไม่ได้ เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเปลี่ยนของมันเองหรือเปล่า ไม่ใช่ มันเปลี่ยนตามการกระทบ เห็นไหม มันมีการกระทบก่อน ตามองเห็น ใจถึงเปลี่ยน หูได้ยินเสียง ใจถึงเปลี่ยน จมูกได้กลิ่น ใจถึงเปลี่ยน
ยกตัวอย่าง เรานั่งอยู่ตามลำพังเงียบๆ ได้ยินเสียงกรอบแกรบ ถ้าเรานั่งอยู่ตอนสว่างได้ยินเสียงกรอบแกรบ เราก็แค่หันไปดูใช่ไหม จิตเราก็เฉยๆ แค่สงสัย ถ้าอยู่ในป่าเปลี่ยวๆ กลางคืนวังเวง ได้ยินเสียงกรอบแกรบ มันจะไม่ใช่รู้สึกสงสัยแล้ว ใจเราเลือกไม่ได้ เห็นไหม เสียงอันเดียวกันนั่นแหละ ใจเรายังไม่เหมือนกันเลยในการได้ยินแต่ละครั้ง หรือได้กลิ่น อย่างเราได้กลิ่นอะไรเน่าๆ อยู่ในบ้าน ใจเราก็แค่กังวลใจหรือสงสัยตัวอะไรมาตายในบ้านเรา ลองมาอยู่ในวัดแล้วได้กลิ่นเน่าๆ บรรยากาศเป็นอีกแบบหนึ่ง มันวังเวง ใจมันจะเปลี่ยน ทั้งๆ ที่กลิ่นเดิมนั่นแหละ ใจเราเลือกไม่ได้เลย มีแต่ความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ตามรู้ไปนะ
การที่เราคอยรู้ความจริงของกายของใจนี่แหละ เรียกว่าวิปัสสนา ปัสสนา แปลว่าการเห็น วิ คือวิเศษ จึงแปลว่า การเห็นอย่างวิเศษ คือการเห็นความจริงของกาย ความจริงของจิตใจ เห็นความจริงจนกระทั่งใจมันคลายความยึดถือ ในกายในใจนี้ออกไป ไม่ได้ยากอะไร เห็นไหม ฝึกในชีวิตประจำวันก็ได้ อย่างคนขับรถปาดหน้าเรา ใจมันโกรธก็รู้ว่าโกรธ ไม่ใช่รู้ว่าถูกปาดหน้านะ อย่างนั้นคนอื่นก็รู้ คนไม่ปฏิบัติก็รู้ ใจเราเป็นอย่างไรเราคอยรู้ไปนะ แล้วค่อยๆ ดูไปนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ฆราวาสสู้พระไม่ได้ สมาธิยังสู้พระไม่ได้ ใจคอวอกแวก แล้วการปฏิบัติไม่ค่อยต่อเนื่อง ทำบ้างหยุดบ้าง ดู 5 นาที หลงชั่วโมงนึง อะไรอย่างนี้นะ ทำแป๊บๆ เดี๋ยวก็เลิก สู้พระไม่ได้
ทำไมสมาธิไม่ดี ทำไมการปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง เพราะว่ากาม ลึกลงไปก็คือกามนั่นเอง เราพอใจ เอร็ดอร่อยในการรู้รูป ในการฟังเสียง ในการดมกลิ่น ในการลิ้มรส ในการหาอะไรมาสัมผัสร่างกาย หรือคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เนี่ยกามธรรม กามทางใจ วันๆ เราสนใจ เราห่วงแต่เรื่องพวกนี้ ห่วงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ คิดอยู่ในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทุกวันๆ
กามไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กส์นะ แค่จะนั่งภาวนาซักหน่อยนะ เดี๋ยวก็อยากกินอะไรซักอย่าง เค้ากินอะไรกัน ยุคนี้นิยมอะไร นั่งภาวนา คิดถึงแล้วก็รีบแต่งตัวไปกินแล้ว เดี๋ยวก็จะไปดูโน่นดูนี่ ไปฟังโน่นฟังนี่ เนี่ยใจมันวอกแวกๆ อยู่อย่างนี้ มันวอกแวกเพราะมันหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มันคิดอยู่ในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เที่ยวแสวงหาเรื่อยไป การที่ใจร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย วุ่นวาย จิตมันออกนอก สนใจของข้างนอก ไม่สนใจในกาย ไม่สนใจในใจของตัวเอง สมาธิไม่มี ใจมันไหลไปหมด จะภาวนานะ แป๊บเดียวก็ไหลแล้ว ไหลตลอด แล้วจะภาวนาให้ต่อเนื่องได้ยังไง ถ้าใจมันหนีไป ใจมันหนีไปก่อนนะ ก็พากายหนีตามไป
กามมีคุณเหมือนกันนะ ให้ความสุข ความเอร็ดอร่อย เรียกกามคุณ แต่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีคุณน้อย มีโทษมาก โทษที่เห็นๆ ก็คือทำให้เราติดใจอยู่ในโลก โลกที่เราเพลินอยู่นี้เรียกว่ากามภพ บางทีเรียกว่ากามโลก โลก ล.ลิงนะ ไม่ใช่กามโรค มันติดอยู่ พออกพอใจ มีกามตัณหา มีภวตัณหา ที่จะอยู่ในกามโลก มีโทษ เมื่อเราติดอยู่ เราพัวพันอยู่ เราพ้นไปไม่ได้ เราก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่ตรงนี้เอง กามมันเป็นเครื่องดักสัตว์โลก ส่วนใหญ่เลย ถูกกามดักเอาไว้ ไปไหนไม่รอด ก็เป็นทาสมันไปเรื่อย
ไม่ได้มีแต่กามคุณ เพราะติดอยู่ในโลก สุดท้ายก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย นี่รับโทษ สมน้ำหน้าที่ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เพราะติดอยู่ในกาม เกิดมา ก็เกิดจากกาม จริงมั้ย เกิดมาก็เกิดเพราะกาม หมกมุ่นอยู่กับกาม ตายไป ก็อยู่กับกามอีก วนเวียนอยู่อย่างนั้น งั้น(กาม)มีคุณน้อย ให้ความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยแว๊ปเดียว มีโทษมากคือทำให้เราติดพัวพัน ออกไปไม่ได้ ตกเป็นทาสตลอดเวลา
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
พยายามมีสติคุ้มครองจิตไว้ แล้วศีลอันดีจะเกิดขึ้น เมื่อจิตใจเป็นปกติไม่ถูกกิเลสยั่วยวน จิตใจจะสงบง่าย จิตใจที่ไม่มีสมาธินะ เพราะมันถูกกิเลสรบกวน อย่างกามราคะมารบกวนเนี่ย จิตใจก็ไม่สงบ ปฏิฆะ โทสะ อะไรอย่างนี้ พยาบาทเกิดขึ้นมันรบกวนจิต จิตใจก็ไม่สงบ นี่ถ้าจิตใจมีสติคุ้มครองรักษาอยู่เรื่อยๆ กิเลสไม่เกิด จิตใจ(จะ)สงบเอง
เพราะฉะนั้น การที่เราคอยมีสติ คุ้มครองรักษาจิตไปเรื่อย จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ ไม่เพียงแต่ศีลอันดีจะเกิดนะ ไม่ใช่เฉพาะอินทรียสังวรศีลที่เกิดขึ้น แต่สมาธิที่ดีก็จะเกิดขึ้นด้วย ศัตรูของสมาธิ เป็นกิเลสที่เรียกว่านิวรณ์ นิวรณ์ เป็นกิเลส ระดับกลางๆ นะ ไม่รุนแรงแบบโลภ โกรธ หลงหรอก นี้เรามีสติรักษาจิตเราอยู่ นิวรณ์เกิดขึ้นมา อย่างกามฉันทะ ใจมันคิดถึงรูปที่พอใจ เสียงที่พอใจ กลิ่นที่พอใจ รสที่พอใจ สัมผัสที่พอใจ หรือว่าเรื่องราวที่คิดที่พอใจ ใจมันคิดอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่ามันมีกามฉันทะ มันพึงพอใจในกามคุณอารมณ์ มันจะทำให้ใจเรากระเพื่อมหวั่นไหว ใจจะเที่ยวแสวงหากาม
แต่ถ้าเรามีสติรู้เลยนะ ใจมันไปผูกพันในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในเรื่องราวทางใจ แล้วมันผูกพันติดอกติดใจขึ้นมา ให้มีสติรู้ทัน นิวรณ์อันนั้นจะดับไป จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่านเพราะกาม ตัวรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่สัมผัสกาย แล้วก็เรื่องราวที่สนุกสนานทางใจ เนี่ย ไม่ใช่ตัวกามนะ เป็นอารมณ์ของกาม(เรียกกามคุณอารมณ์) กามเกิดที่ใจเท่านั้นเอง กามเป็นกิเลสตระกูลโลภะของเราเอง งั้นรูปที่สวย หรือรูปที่ถูกใจ ไม่ใช่ตัวกาม แต่เป็นอารมณ์ที่มายั่วให้กามทำงาน งั้นอย่าโทษของข้างนอกนะ อย่างทำไมจิตมีโทสะทุกวันเลย ก็เพราะว่าอยู่กับคนเนี้ย หรือเป็นพระนะ ไม่ชอบหน้าพระองค์เนี้ย เห็นทุกวัน ก็บอกว่าพระองค์เนี้ยเป็นตัวพยาบาท
พยาบาทไม่ได้อยู่ที่ตัวคนอื่นนะ "อยู่ที่ใจตัวเอง" งั้นกามมันก็อยู่ที่ใจตัวเอง พยาบาทก็อยู่ที่ใจตัวเอง นิวรณ์อยู่ที่ใจของเราเอง นี้อาศัยกามคุณอารมณ์มายั่ว อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มายั่ว นิวรณ์ก็ทำงานขึ้นมา แล้วก็กลายเป็นกิเลสหยาบๆขึ้นมา ถ้าเป็นกิเลสหยาบๆขึ้นมา คราวเนี้ย จะเริ่มทำผิดศีลธรรมแล้ว ถ้ามีนิวรณ์เนี่ยเป็นกิเลสกลางๆ ถ้าเรารู้ทันซะตั้งแต่ตอนนี้ มันไม่ปรุงกิเลสที่รุนแรง มันจะไม่ผิดศีลหรอก
งั้นคอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองให้ประณีตมากขึ้นๆ ที่แรกก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กระทบแล้ว สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เกิดขึ้น ให้รู้ทัน ต่อไปเนี่ยเราจะเห็นเลย มันจะมีจิตใต้สำนึกเรานะกวนๆ ขึ้นมา อยากจะเห็นรูปที่ดี อยากจะพ้นจากรูปที่ไม่ดี หรือมันฟุ้ง ฟุ้งซ่านหมุนๆ ขึ้นมา ฟุ้งซ่านรำคาญใจขึ้นมา มันลังเลสงสัย หรือมันหดหู่ คอยรู้ทันนะ คอยรู้ทันกิเลสระดับกลาง เรียกนิวรณ์ ถ้ารู้ทันนิวรณ์ แล้วสมาธิจะเกิด เพราะศัตรูของสมาธิ คือนิวรณ์ แต่ต้องประกอบด้วยสตินะ สมาธิอันนั้นถึงจะเป็นสมาธิที่ดี
ถัดจากนั้น เราก็ดูจิตใจของเราต่อไป มีสติตามระลึกรู้ไป จิตใจเป็นสุขก็รู้ จิตใจเป็นทุกข์ก็รู้ จิตใจดีก็รู้ จิตใจชั่วก็รู้ ตามรู้ไป กิเลสจะหยาบ หรือกิเลสจะละเอียด ก็รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ รู้บ่อยๆ เรียกรู้เนืองๆ พอรู้ไปเนืองๆ  รู้ไปบ่อยๆนะ เราจะเห็น ต่อไปปัญญามันจะเกิดนะ มันจะเห็นว่า ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง กุศลก็ไม่เที่ยง โลภ โกรธ หลงก็ไม่เที่ยง
เนี่ยเราเฝ้ารู้ใจของเราไปเรื่อย (จะ)ได้ศีล ได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญาด้วย คือจะได้เห็นว่า ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง ความสุขก็สั่งไม่ได้ ความทุกข์ก็สั่งไม่ได้ ความเฉยๆ ก็สั่งไม่ได้ ความดีมันก็ไม่เที่ยง ความชั่วก็ไม่เที่ยง โลภ โกรธ หลงก็ไม่เที่ยง โลภ โกรธ หลงก็ห้ามไม่ได้ สั่งไม่ได้ จิตจะดีหรือจิตจะเลวก็เลือกไม่ได้
มันน่าตกใจนะ เราเลือกไม่ได้ว่าจิตเราจะดีหรือจิตเราจะเลว เลือกไม่ได้ มันมีจิตดวงหนึ่งเป็นคนเลือกเอง จิตดวงที่ทำหน้าที่เลือกว่าจิตต่อไปนี้จะดีหรือเลว เนี่ย ชื่อ"มโนทวาราว้ชชนจิต" ชื่อยาว มีชื่ออีกชื่อหนึ่งเรียก "โวฏฐัพพนจิต" รวมความก็คือ มันมีจิตชนิดหนึ่งทำหน้าที่เลือกว่า ต่อไปนี้จะเกิดกุศลหรืออกุศล เราเลือกไม่ได้ จิตเป็นคนเลือกเอง
อย่างเราจะรู้สึกตัว หรือเราจะเผลอเนี่ย พวกเราหัดปฏิบัติอยู่ รู้สึกมั้ย เราไม่ได้เจตนารู้สึก มันก็รู้สึกได้เองนะ เราไม่ได้เจตนาจะเผลอ มันก็เผลอได้เอง เราบังคับไม่ได้ ไม่เจตนาจะโกรธ เราก็โกรธได้เอง ไม่เจตนาจะโลภ ก็โลภได้เอง ไม่เจตนาจะหลง ก็หลงได้เอง ไม่เจตนาจะฟุ้งซ่าน ก็ฟุ้งซ่านได้เอง ไม่เจตนาจะหดหู่ ก็หดหู่ได้เอง ตรงที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา ไม่เป็นไปตามเจตนา ตัวนี้เรียกว่า "อนัตตา"
การที่เรามีสติรู้เท่าทันใจของเรานะ เราจะเห็นสภาวธรรม ลักษณะของสภาวธรรมเนี่ย ๒ อย่างที่เด่น คืออนิจจัง กับ อนัตตา
อนิจจัง หมายถึงว่า ของที่มันมีแล้วมันก็ไม่มี อย่างความสุขเนี่ยมันมีแล้วมันก็หายไป ความทุกข์มันมีแล้วมันก็หายไป ความโลภ โกรธ หลง มันมีแล้วมันก็หายไป มีมั้ยความโกรธที่ไม่หาย เคยโกรธอะไรนานที่สุดในชีวิตนี้ ใครเคยโกรธนานๆ ยกมือซิ เห็นมั้ย อกหัก อกหักรักคุดจิตใจนี้เศร้าหมองนาน เป็นตระกูลโทสะ ในความเป็นจริงแล้วเราโกรธเนี่ย ชั่วขณะที่คิดเรื่องที่ทำให้โกรธเท่านั้นเอง อย่างเวลาอกหักนะเกิดไปคิดเรื่องอื่นซะ ตอนนั้นลืม(คิด)เรื่องอกหักนะ ก็ไม่อกหัก
เพราะฉะนั้น ความทุกข์ที่เกิดจากการอกหักเนี่ย มันตามหลังความคิดเกี่ยวกับเรื่องอกหักมา ถ้ามัวไปคิดเรื่องอื่นซะแล้ว ลืมไป อย่างบางคนอกหักนะ มาเจอหน้าหลวงพ่อ ตกใจแทน เปลี่ยนจากเศร้าใจนะ เป็นตกใจ คนเจอหลวงพ่อเนี่ย สะดุ้งเยอะนะ สะดุ้งมากเลย คล้ายๆ ดวงตามัจจุราช รู้มั้ย อาวุธประจำตัวของยมบาลคืออะไร คือดวงตานะ (ยมบาล)มองปุ๊บเท่านั้นนะ สัตว์นรกนะ สะท้านหวั่นไหว ตาของหลวงพ่อเนี่ยน้องๆ มัจจุราช พอมอง พวกเรานี่กลัว ทำไมกลัว กลัวยมบาลนั่นแหละ ถ้ามั่นใจในความดีของตัวเอง จะไม่กลัว จะองอาจกล้าหาญ ไม่กลัวหลวงพ่อหรอก ถ้าไม่มั่นใจก็กลัว
เนี่ยดูของตัวเองไปนะ มีสติคอยรู้เท่าทันใจของเราเอง ใจเรานี่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อตามองเห็น เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นกระทบรส เมื่อกายกระทบสัมผัส เมื่อใจคิดนึกปรุงแต่ง
พอมีการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ใจเราเปลี่ยน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว มีสติตามระลึกรู้ไป สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ ศีลก็จะเกิดขึ้น สมาธิก็จะเกิดขึ้น ปัญญาก็จะเกิดขึ้น ตรงที่ปัญญาเกิดมันจะเห็นนะ สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วเนี่ย ทั้งหมดนั้นเท่าเทียมกัน(ในมุมของไตรลักษณ์) คือเกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ดับเลย
สุขและทุกข์ ดีและชั่ว ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อย่างสั่งใจตัวเองว่า อย่าไปรักเค้าเลยคนนี้ไม่ดี มันก็จะรัก เนี่ย ห้ามมันไม่ได้อย่างนี้เรียก "อนัตตา" อนิจจัง หมายถึงว่าของที่เคยมีแล้วไม่มี หมดไป สิ้นไป อนัตตา หมายถึงว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เนี่ยเฝ้ารู้ที่จิตของเรานะ ธรรมะที่เด่นเนี่ย ลักษณะที่เด่นเนี่ยคือ อนิจจังกับอนัตตา ส่วนตัวร่างกายเนี่ย ถ้าเรามีสติรู้ ตัวที่เด่นนะ คือตัวทุกข์กับตัวอนัตตา
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เวลาจิตไปติดว่างนี่ ไปดูที่จิตมันจะไม่มีอะไรให้ดู มันจะว่าง ให้ย้อนมาดูกาย กายนะ ไม่มีอะไรปิดบังหรอก แต่จิตถูกกิเลสปิดบังได้ กิเลสปิดบังร่างกายไม่ได้หรอก จะอย่างไรมันก็มีอยู่อย่างนี้ ดูลงไป มันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง มันสุขหรือมันทุกข์ มันเป็นตัวเราไหม มันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา
ถ้าเราค่อยๆ สังเกตตัวเอง อย่างเรามาย้อนมาดูในร่างกายเรา ดูของจริง ร่างกายนี้มันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา มันไม่เคยบอกเลย ร่างกายมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวทุกข์ มันบอกอยู่ตลอดเวลานะ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์นะ หายใจออก หายใจเข้าก็ทุกข์ นี่มันบอกความจริงเรา
ร่างกายเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวมันก็หายใจออก เดี๋ยวมันก็หายใจเข้า ทุกครั้งที่หายใจออก ทุกครั้งที่หายใจเข้า ก็ใกล้ความตายเข้าไปเรื่อยๆ เกือบจะไม่หายใจแล้ว ลมหายใจเหลือน้อยลงๆ
ฉะนั้น เวลาใจเรา ไปติดนิ่ง ติดเฉย ติดว่างนะ ให้ย้อนมาดูร่างกาย ดูความจริงของร่างกาย ไม่มีอะไรจะปิดบังร่างกายได้หรอก ถ้าเราคอยใส่ใจที่จะเรียนรู้ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี ในความเป็นจริงมนุษย์แสวงหาความรัก เพราะตัวเองไม่เต็ม พยายามหาคนอื่นมาเพื่อจะเติมเต็มชีวิตของตัวเอง ตัวเองขาด ฉะนั้นคนในโลกเต็มไปด้วยคนขาดนะ กะพร่องกะแพร่งไม่สมบูรณ์หรอก
ถ้าเราภาวนาจนจิตเราเต็มอิ่มอยู่ในตัวเอง เราจะไม่แสวงหาใครมาเติมชีวิตเรา แต่เราจะเอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ออกไปนะ พยายามช่วยเหลือให้คนอื่นเขาเต็มขึ้นมา แต่ว่าไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเองแล้ว ตัวเองเต็มไปแล้ว
พวกเรารู้สึกไหม พวกเราต้องหาเรื่อยๆ บางทียังไม่รู้เลยว่าแสวงหาอะไรอยู่ เที่ยวแสวงหาตลอดชีวิตเลย เด็กๆ ก็เที่ยวแสวงหา หาโน้นหานี้ไปนะ พยายามให้คนอื่นมาเติมเต็มชีวิตของเรา เช่น ต้องคบกับเพื่อน  ถ้าวันไหนไม่เจอเพื่อนก็เฉาไปเลย เห็นไหม เอาชีวิตไปฝากไว้กับเพื่อน พอโตขึ้นมาก็ต้องมีคู่ มีแฟน ถ้าขาดแฟนไปชีวิตก็แหว่งไป คือแต่ละคนมันขาดตลอดเวลา พอแต่งงานแต่งการแล้วก็ต้องมีลูกอีก เพื่อจะให้ลูกมาเติมเต็ม เห็นไหม หาทางเติมเต็มชีวิตตัวเองมาตั้งหลายอย่างแล้ว ไม่เต็มสักทีนะ เติมไปเรื่อยๆ ไม่มีวันเต็ม
พระพุทธเจ้าถึงสอนบอกว่า "นัตถิ ตัณหาสะมา นะที : ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี คือกว้างขวางใหญ่โตนะ เอาอะไรใส่เข้าไปก็ไม่เต็มสักที เมื่อมันไม่เต็มก็ต้องแสวงหา แสวงหาจากคนอื่นจากสิ่งอื่น อย่างบางคนก็วิ่งหาชื่อเสียงเกียรติยศ หาทรัพย์สินเงินทอง หาแฟน หาเพื่อน หาอำนาจ หาชื่อเสียงใช่ไหม หวังว่ามีสิ่งเหล่านั้นแล้วจะมีความสุข แต่มันไม่มีจริงหรอก มันได้มาแล้วก็รู้สึกไม่เต็มอีกแล้ว ต้องได้อย่างอื่นอีก
อย่างบางคนใช่ไหม ทีแรกยากจนก็ทำมาหากิน กะว่ารวยแล้วชีวิตจะเต็มอิ่ม ไม่อิ่มนะ พอมีเงินหลายหมื่นล้านรู้สึกไม่มั่นคงอีกแล้วนะ ต้องมีอำนาจด้วย ถึงจะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองได้ มีอำนาจแค่นี้ก็ยังไม่เต็มนะ ต้องมีแค่โน้นถึงจะเต็ม จนบางประเทศนะผู้นำมันอยากเป็นเจ้าโลก ถ้ามันเป็นเจ้าโลกได้จริงนะ มันก็คงคิดว่า มันจะปกครองจักรวาลนี้ได้อย่างไร เพราะมันไม่เต็มมันขาดตลอดนะ มันน่าอเนจอนาถที่สุดเลย ชีวิตหาความพอไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ลงมาที่กายที่ใจจนหมดความยึดถือตัวนี้ ปั๊บเดียวมันเต็มทันที
จิตเป็นเรื่องแปลกนะ พอเราปล่อย ไม่เอากายไม่เอาใจไป เราปล่อยไป เรากลับได้มา สมัยที่เราเที่ยวแสวงหานะ เรากลับไม่เต็ม พอเราหยุดแสวงหานะ เราคืนกายคืนใจให้โลก มันเต็มขึ้นมาในฉับพลันนั้นเลย อัศจรรย์ที่สุด ฉะนั้นถ้าเราอยากได้นะเราก็ปล่อยไป ถ้าเราอยากจะมีมากๆ นะเราก็ไม่ได้ นี่ธรรมชาตินี้มีความแปลกประหลาด ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้ พอหมดอยากแล้วได้
ฉะนั้นใจที่มีแต่ความอยากนะ จะไม่อิ่มไม่เต็ม ใจที่หมดความอยากนะ หมดความเห็นแก่ตัว หมดความยึดถือตัวเอง หมดความรักตัวเอง กลับเต็มเปี่ยมเลย มันเกิดความรักอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาในใจเรา ความรักชนิดนี้ไม่ได้ยึดถือเอาคนอื่น สิ่งอื่น หรือเอากายเอาใจนี้มาเป็นของเรา มันมีความรัก รักในกายรักในใจ รักผู้อื่นรักสิ่งอื่น รักสัตว์ทั้งหลาย รักต้นหมากรากไม้ รักโลกทั้งหมดอะไรอย่างนี้ มันเป็นความรักที่อบอุ่นที่เมตตาที่เจือจานออกไป ไม่ได้เพื่อเอามาครอบครอง
ฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์ท่านภาวนาของท่านแล้วเนี่ย ท่านมีความเมตตา มันไม่ใช่ความรักที่จะเอามาเป็นเจ้าของ แต่มันมีความเมตตาซึ่งเต็มเปี่ยมคล้ายๆ น้ำมันเต็มนะ มันก็ล้นออกไปจากถ้วย ออกไปหาที่อื่น คนซึ่งยังจิตใจคับแคบ ยังแห้งแล้ง ยังขาด คิดจะเอา แต่คนที่เต็มแล้วเนี่ย มันให้ได้ เราค่อยฝึกของเรานะ ชีวิตจะได้มีความสุข
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เราฝึกเพื่อรู้กิเลส ไม่คล้อยตามและไม่ต่อต้าน หน้าที่ของเราคือเรียนรู้ทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์ เราฝึกไม่ใช่เพื่อละกิเลส แต่เพื่อรู้กิเลส เห็นว่ากิเลสไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงสภาวธรรม มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับลงไป เพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ บังคับไม่ได้ วันใดถ้าไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ เรียกว่าได้ดวงตาเห็นธรรม ก็หมดทุกข์เองอนุสัยกิเลสลงทุนปรุงแต่งกิเลสขึ้นมา ถ้าเราหวั่นไหวยอมกิเลส มันปรุงแต่งแล้วได้กำไร ถ้าเรารู้เฉยๆ มันลงทุนแล้วขาดทุน มันจะเหี่ยวแห้งไป
อย่าไปต้านกิเลส ให้ยอมรับอะไรก็ได้ กิเลสมาก็รับได้ เรามีหน้าที่รู้ลูกเดียว เหมือนหญ้างอกเราก็ตัดมัน มันจะหมดอาหาร กิเลสมาก็รู้ว่ากิเลสมา กิเลสไปก็รู้ว่ากิเลสไป ไม่ต่อต้านกิเลส รู้ทันจิตใจของตัวเอง กิเลสอยู่ในใจเรา ถ้ากิเลสมาแล้วสู้กับมัน จะรู้สึกว่ากูเก่ง สนองกิเลส ถ้าไปขวางมัน มันจะทำลายล้างรุนแรง ดังนั้นจึงต้องไม่คล้อยตามกิเลส และไม่ต่อต้านกิเลส ถ้าเราปล่อยให้กิเลสไหลไปมันไม่แรง เพราะเราเป็นคนดู
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เรื่องที่เราต้องเรียนนะ เรื่องหนึ่งคือเรื่องอริยสัจ เรื่องหนึ่งเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องหนึ่งเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องหลักๆ ที่ต้องเรียน ถ้าเรียนเรื่องเหล่านี้แล้วเข้าใจ การภาวนาจะง่ายที่สุดเลย พูดได้ว่าไม่ได้ทำอะไร ทำตัวเป็นแค่คนสังเกตการณ์ พวกเราสังเกตไหม ในมหาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นทางสายเอกสายเดียว เพิ่อความพ้นทุกข์
ลองดูกิริยาในสติปัฏฐาน มีกิริยาหลักอยู่คำเดียวคือคำว่า "รู้" ท่านบอกว่าหายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ท่านไม่ได้บอกว่าหายใจออก ให้กำหนดไว้หกฐานเจ็ดฐานห้าฐานสิบฐาน ไม่มีนะ บางทีใช้คำว่ารู้ชัด เช่น ยืนอยู่ก็รู้ชัด เดินอยู่ก็รู้ชัด คำว่ารู้ที่ท่านพูดมีความหมายนะ มีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้  จิตใจเป็นกุศลก็รู้ มีความโลภก็รู้ มีความโกรธก็รู้ มีความหลงก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ สังเกตให้ดีนะ มีแต่คำว่ารู้เต็มไปหมดเลยในสติปัฏฐาน จิตมีกามฉันทนิวรณ์ก็รู้ชัด มีพยาบาทนิวรณ์ก็รู้ จิตมีอะไรขึ้นมาก็รู้
ดังนั้นกิริยาที่เป็นหัวใจของการภาวนา ในทางสายเอกทางสายเดียว คือคำว่า "รู้" นี่เอง คำว่า "รู้" มีสองนัยยะ อันแรกมีสติ รู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ คือรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังปรากฏ อันที่สองมีปัญญา รู้ความจริงของสภาวะรูปและนามอันนั้น ความจริงของสภาวะรูปและนาม ก็คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ฉะนั้นคำว่ารู้ครอบคลุมนัยยะสองประการ อันแรกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น อันที่สองรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ตัวเรา รู้อย่างนี้แหละถึงเป็นทางสายเอกทางสายเดียว เพื่อการพ้นทุกข์
ดังนั้นเราต้องฝึกจนสติแท้ๆ คือความระลึกได้เกิดขึ้นมา สติแท้ๆ เกิดจากจิตจำสภาวะได้ จิตจำสภาวะได้เพราะหัดตามรู้สภาวะบ่อยๆ หัดตามรู้กายบ่อยๆ หัดตามรู้เวทนาบ่อยๆ  หัดตามรู้จิตบ่อยๆ หัดตามรู้สภาวธรรมทั้งรูปธรรมนามธรรมบ่อยๆ
ดังนั้นสติปัฏฐานนี่จริงๆ แล้วมีสองขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่ง รู้กายเวทนาจิตธรรมไปเรื่อยๆ เพื่อให้จิตจำสภาวะได้ แล้วสติจะเกิดขึ้นเอง ดังนั้นสติปัฏฐานในเบื้องต้นทำให้เกิดสติ เรารู้เห็นร่างกายยืนเดินนั่งนอน คอยรู้สึกไป อย่าใจลอย แล้วอย่าเพ่งอยู่ที่กาย ดูจิตใจไป ก็อย่าใจลอย แล้วอย่าเพ่งอยู่ที่จิต รู้เวทนาก็อย่าใจลอยไป แล้วอย่าไปเพ่งเวทนา สิ่งที่ผิดมีสองอันคือเผลอไปกับเพ่งเอาไว้ เพ่งแล้วจะนิ่ง ไม่สามารถรู้สภาวะตรงตามความเป็นจริงได้ ดังนั้นสติปัฏฐานเบื้องต้นก็รู้กายเวทนาจิตธรรมไป แต่แบบไม่เพ่ง แล้วก็ไม่ใจลอย ลืมมันไป รู้บ่อยๆ เท่าที่รู้ได้จนจิตจำสภาวะได้แล้วสติจะเกิดขึ้น นี่เป็นสติปัฏฐานขั้นที่หนึ่ง
เมื่อสติเกิดขึ้นแล้วจิตใจตั้งมั่น สัมมาสมาธิเป็นสิ่งจำเป็น จิตใจที่ตั้งมั่นตรงนี้ต้องเรียนนะ บทเรียนเรื่องสัมมาสมาธิอยู่ในเรื่องจิตตสิกขา เรื่องสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ต้องเรียนให้ครบนะ ต้องเรียนจนกระทั่งจิตใจของเราตั้งมั่นเกิดสัมมาสมาธิ ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ สมาธิที่พวกเราฝึกมันเป็นมิจฉาสมาธิเป็นส่วนมาก เป็นสมาธิเพ่งจ้องบังคับ สัมมาสมาธิเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น สักว่ารู้สักว่าเห็นสภาวธรรม ตั้งมั่นกับตั้งแช่ลงไปไม่เหมือนกันนะ ถ้าจิตใจเราตั้งมั่นมีสติระลึกรู้รูปมีสติระลึกรู้นาม จะเกิดปัญญาขึ้นมาเห็นความจริงของรูปของนาม
ดังนั้นสติปัฏฐานเบื้องปลายนี่ทำไปเพื่อให้เกิดปัญญา มีสติระลึกรู้รูปรู้นาม รู้กายรู้ใจ ลงไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง คือสัมมาสมาธิถึงจะเกิดปัญญานะ เพราะสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าขาดสัมมาสมาธิจิตไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูละก็ ไม่เกิดปัญญาหรอก จะเป็นผู้เพ่งผู้จ้องผู้บังคับ ปัญญาที่เกิดขึ้นก็คือ การเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง
เบื้องต้นเห็นก่อนว่าไม่ใช่เรา พอเห็นตรงนี้นะ จิตบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ตัวเราไม่มี รู้กายรู้ใจต่อไป เห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลยนะ จิตปล่อยวางความยึดถือกายเป็นพระอนาคามี สุดท้ายจิตมันจะรวมลงมาอยู่ที่จิต มารู้อยู่ที่จิต เรียนรู้จนกระทั่งปล่อยวางจิต จะสมมุติเรียกว่าพระอรหันต์ ใช้คำว่าสมมุตินะ พระอรหันต์ไม่เคยรู้สึกว่ามีพระอรหันต์ เป็นของสมมุติขึ้นมา
นี่คือเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์ เป็นทางสายเอกทางสายเดียวที่เราต้องเรียน แต่ละจุดแต่ละมุมจะมีแง่มุมที่ต้องเรียนเป็นรายๆ ไปนะ นี่หลวงพ่อพูดในภาพรวมให้ฟังไว้ก่อน
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
การดูจิตเป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด เมื่อก่อนไม่กล้าพูด แต่หลังๆ คนไปขุดธรรมะครูบาอาจารย์ออกมา ท่านพูดเหมือนกันทุกองค์ อยากไปเร็วที่สุด ก็ไปด้วยจิต ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายก็อ้อมหน่อย เพราะจะดูกายได้ดี ต้องทำสมถะก่อน อ้อมมากนะ ไปทำสมาธิให้จิตสงบ จิตตั้งมั่น จิตสงบ จิตตั้งมั่นแล้วมาดูกาย ดูไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็จะเข้ามาที่จิต
ถ้าเราสติปัญญามากพอ กำลังสติ สมาธิ ปัญญาเราดี รู้เข้าไปที่จิตเลย รู้ที่จิต ก็ละความเห็นผิดที่จิต บางองค์ท่านก็สอนว่า รู้ที่จิต ละที่จิต ถ้าฟังไม่ดี จะนึกว่าให้ละอารมณ์ หรือละ จิตดีก็ให้ละ จิตชั่วก็ให้ละ อะไรๆ ก็ไม่เอาเลยสักอย่าง อันนั้นเป็นมิจฉาทิฐิ อะไรๆ ก็ว่าง อะไรๆ ก็ไม่มี คือพวกนัตถิกทิฏฐิ ไม่มีอะไรสักอย่าง
ดูไปเรื่อยๆ มีญาณเห็นจิต เหมือนตาเห็นรูป จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ ไม่แทรกแซง ไม่บังคับ สุดท้ายปัญญามันก็รู้แจ้งแทงตลอดในตัวจิต จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี
เมื่อไรเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ ทั้งหมดจะไม่ใช่เรา เพราะขันธ์ ๕ เกิดจากจิตดวงเดียว จิตเหมือนเมล็ดพันธุ์ มีเมล็ดมะม่วงอยู่หนึ่งเมล็ด ก็งอกเป็นต้นมะม่วง มีราก มีต้น มีใบ มีกิ่ง มีลูกได้อีก เหมือนมีจิตดวงเดียว ก็งอกขันธ์ ๕ ขึ้นมาได้อีก ฉะนั้น ถ้าเมื่อไหร่เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นผลผลิตของจิตก็ไม่ใช่เรา
โลกทั้งโลกปรากฏแก่เรา ด้วยขันธ์ ๕ ด้วยอายตนะ ๖ โลกปรากฏขึ้นมาด้วยสิ่งเหล่านี้ เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา มันก็รวมอายตนะ ๖ ไม่ใช่เราเข้าไปด้วย โลกข้างนอกก็ไม่ใช่เรา อะไรๆ ตัวเราไม่มีเลย ที่ไหนก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ปัญญาแทงตลอดลงมาที่จิตตัวเดียว ว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่เรา โลกก็ไม่ใช่เรา รูป นาม กาย ใจ อายตนะ ขันธ์ ธาตุ อินทรีย์ ล้วนแต่ไม่ใช่เราทั้งหมด ตกหักลงที่จิตดวงเดียวนี่เอง
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
จิตเจตสิก จิตนี้ว่างเปล่าโดยตัวของมันเอง มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ฉะนั้น ตัวมันนี่ว่าง ไม่มีอะไรเลย แต่ว่าจิตมีความพิสดาร เป็นจิตชนิดนั้น ชนิดนี้ เพราะเจตสิกหรือสภาวธรรม ที่เกิดร่วมกับจิต อย่างจิตโกรธ ก็คือตัวจิตซึ่งเป็นตัวรู้ ไปรวมเข้ากับความโกรธ ความโกรธกับจิต คนละอันกัน แต่เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน ฉะนั้น เวลาเราดูจิต ถ้าไปดูจิตตรงๆ เราจะไม่เห็นจิต เราจะดูผ่านความรู้สึก (เจตสิก) ที่เกิดร่วมกับจิต
ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกดี ความรู้สึกชั่ว โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ อะไรเหล่านี้ เกิดร่วมกับจิต มันจะทำให้เราสามารถจำแนกจิตได้ว่า จิตชนิดเป็นกุศล  ต้องเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นกุศล จิตชนิดเป็นอกุศล เกิดร่วมกับโลภ โกรธ หลง
เวลาความหลงเกิดนี่ ความหลงเกิดเดี่ยวๆ ได้ แต่เวลาความโลภ หรือความโกรธเกิด จะต้องเกิดร่วมกับความหลง ถ้าไม่หลงจะไม่โลภ ถ้าไม่หลงจะไม่โกรธ หลงนี่เป็นตัวหัวโจกของกิเลส ฉะนั้น อย่างเรารู้สึกตัว มีสติอยู่ จะไม่มีกิเลส มีกิเลสไม่ได้
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
จิตใจจะตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวได้ มีวิธีฝึกอันแรก ฝึกสมถะ ฝึกสมถะไปนะ พุทโธๆไปก็ได้ หายใจไปก็ได้ แล้วคอยรู้ทันจิตไว้ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป แล้วคอยรู้ทันจิตไปเรื่อย อย่างนี้เป็นสมถะแบบง่ายๆ แบบง่ายๆที่พวกเราพอจะทำได้ เพราะฉะนั้นเราหัดพุทโธไป หัดหายใจไป พอจิตเราเคลื่อนไหว เรารู้ทัน จิตเคลื่อนไหว รู้ทัน ในที่สุดจิตจะสงบ จิตจะตั้งมั่น ไม่หนีไปแล้ว เพราะหนีไปทีไรถูกรู้ทุกที
จิตนี้เหมือนเด็กซน สติเหมือนพ่อแม่ พอเด็กจะหนีออกจากบ้าน พ่อแม่หันมาดูนะ เด็กมันกลับมาไม่กล้าไปเที่ยว เนี่ยสติก็เหมือนกัน มันคอยดู ดูจิตใจอยู่ พอจิตใจจะหนีไปคิดนะ สติรู้ทันไปเรื่อย จิตใจก็ไม่หนีไป จิตใจก็สงบ จิตใจก็ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวได้ นี่ก็วิธีหนึ่งนะ ไม่ยาก อันนี้ง่ายๆ ใครๆก็ทำได้ เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายนะ ลองดู หายใจเข้าหรือพุทโธเข้าก็ได้นะ แล้วก็คอยรู้ทันจิตไป พอจิตไหลไปแล้วรู้ ไหลไปแล้วรู้ ในที่สุดจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา อันนี้เป็นวิธีทำสมถะที่ง่ายที่สุดแล้วนะ
สมถะอีกชนิดหนึ่งเป็นสมถะเต็มรูปแบบ อันนั้นทำยากแล้ว ในยุคนี้ที่มาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อเห็นอยู่ไม่กี่คน มีไม่มากที่ทำสมถะเต็มรูปแบบได้ เห็นมีคุณดำเกิง มีอาจารย์วิชา อาจารย์วิชาเป็นลูกศิษย์อาจารย์วิริยังค์ทำอานาปานสติ คุณดำเกิงเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านก็ทำอานาปานสติเหมือนกัน พวกนี้เขาฝึกสมาธิ เขาฝึกกันทุกวัน หายใจไปนะ หายใจไป หัดใหม่ๆก็จะไปรู้ลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก ลมหายใจเนี่ยเขาเรียกว่า บริกรรมนิมิตไปรู้ลมหายใจ ไม่เอาสติไปที่อื่นแล้ว มีแต่สติอยู่กับลม แต่ว่าไม่เผลอตัว ไม่เคลิ้ม ไม่ลืมตัว รู้สึกตัวอยู่ แล้วก็เห็นร่างกายนี้หายใจ ใจเป็นคนดูอยู่ เห็นลมอยู่ เอาลมหายใจนี้เป็นอารมณ์
หายใจไปนะ ทีแรกลมหายใจจะยาว หายใจเป็นธรรมชาติเนี่ย เราจะหายใจยาว หายใจลึกนะ หายใจไปถึงท้องเลย ทีนี้พอเราหายใจไปเรื่อย จนเริ่มสงบ ลมหายใจจะสั้น สั้นๆนะ จนขึ้นมาอยู่ที่ปลายจมูกนี้หน่อยเดียว เพราะฉะนั้นพอลมมันละเอียด ลมมันสั้น ค่อยๆละเอียดๆนะ ใจนี้มันจะโล่งว่าง จะสว่าง มันจะรู้สึกสว่าง
ทำไมรู้สึกสว่าง เวลาคนนั่งสมาธินะ เลือดจะมาเลี้ยงสมองส่วนหน้านี้เยอะ ถ้าคนฟุ้งซ่าน เลือดจะไปเลี้ยงที่อื่น ไปเลี้ยงมือเลี้ยงเท้าบ้าง เลี้ยงปาก แต่พอจิตเริ่มสงบนะ เลือดมาอยู่ที่ตรงนี้เยอะ จะให้ความรู้สึกว่าสว่าง สบาย แต่ไม่ใช่ว่าสว่างขึ้นมาเพราะเลือดมาอยู่ที่หัวหรอกนะ อันนี้สำหรับมนุษย์นะ เทวดาเขาไม่มีเลือดนี่ เขานั่งสมาธิเขาก็สว่างได้เหมือนกัน พอจิตมันสงบมันก็จะสว่างขึ้นมา
ทีนี้สว่างทีแรกมันก็จะสว่างอยู่ตรงนี้ เป็นดวงขึ้นมา ให้เราดูดวงสว่างตรงนี้แทนลมหายใจ เพราะลมหายใจสั้น จนลมหายใจหยุดไปแล้ว จะเป็นดวงสว่างขึ้นมา ใช้แสงสว่างตรงนี้แทนลมหายใจ ตัวนี้เรียกว่า อุคคหนิมิตไม่ใช่บริกรรมนิมิตแล้ว ตัวลมเป็นแค่บริกรรมนิมิตนะ พอมันเป็นความสว่างเกิดขึ้น เป็นอุคคหนิมิต ใช้ความสว่างนี้เป็นอารมณ์กรรมฐาน หายใจไปเรื่อย แต่มันไม่รู้สึกว่าหายใจเท่าไหร่ มันเหมือนหายใจทางผิวหนัง แต่ใจมันจะสว่าง รู้ในความสว่าง มันก็ใหญ่ๆขึ้นมาได้นะถ้าฝึกชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็จะถลำลงไปในแสง แล้วก็เบลอไปเลย เคลิ้มๆ ไป ถ้าชำนาญก็จะขยับได้ ให้ใหญ่แค่ไหนก็ได้ ให้เต็มโลกก็ได้ จิตใจก็เริ่มมีปีติมีควาสุขขึ้นมา นี่ได้สมาธิ
พอมีสมาธิขึ้นมาแล้ว ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น จิตมันยังตรึกมันยังตรองถึงดวงสว่างนี้อยู่ เรียกว่ามีวิตกมีวิจารอยู่ จิตยังไม่ละเอียดจริง เราเฝ้ารู้ไปนะ จิตมันสงบขึ้นมานี้ มันทิ้งการตรึกการตรองในตัวนิมิต ไม่เอานิมิตนะ มันกลับมารู้ที่จิตได้ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นตัวผู้รู้ขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นเป็นตัวผู้รู้แล้ว มันจะเห็นว่ามีความสุขเกิดขึ้น มันมีความสุขอยู่แล้วล่ะ แต่ทีแรกมันหวือหวา มันไม่ดูความสุขนะ มันมัวแต่ไปดูนิมิต จิตมันเปลี่ยนจากการรู้นิมิตมาดูความสุขแทน ความสุขก็จะดับให้ดู เป็นอุเบกขาขึ้นมา มีปีติ มีสุข สุดท้ายจิตเป็นอุเบกขา แล้วทรงตัวเป็นผู้รู้อยู่ บางทีร่างกายหายไปเลย ไม่มีร่างกายแล้ว
ทีนี้พอออกจากสมาธิมาแล้วเนี่ย จิตที่ฝึกมาจนมีตัวผู้รู้นะ ตัวผู้รู้นี้ยังทรงอยู่ได้ บางคนทรงอยู่ได้นานเลย ถ้าสมาธิทำมานานนะ ทำมาปราณีตลึกซึ้ง ตัวผู้รู้จะทรงอยู่นาน ตัวผู้รู้ที่ทรงอยู่นานจะดูจิตไม่ได้ อย่าไปดูจิตนะเวลามันทรงตัวผู้รู้อยู่ มันจะไม่มีอะไรให้ดู มันจะว่างๆ ให้ดูกายไว้
เห็นร่างกายยืนเดินนั่งนอนนะ ใจเป็นคนดู มันจะดูได้ทั้งวันเลยคราวนี้ มันจะเห็นเหมือนคนอื่นเคลื่อนไหวตลอดวันตลอดเวลา มันจะรู้สึกอย่างนี้ อาจารย์เหน่งรู้สึกไหม มันจะรู้สึกเหมือนเห็นคนอื่นทั้งวัน ปัญญามันเริ่มเกิด จิตมีสมาธิเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วร่างกายเคลื่อนไหว สติรู้ทันความเคลื่อนไหวของกาย ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นแค่ผู้รู้ ผู้ดู ปัญญาจะเกิด จะเห็นทันทีว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา
เพราะฉะนั้นปัญญาเกิดได้ด้วย ๒ เหตุผล  อันหนึ่งจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู อันที่สองมีสติระลึกรู้ลงไปที่กาย ก็จะเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา สติระลึกรู้ในเวทนาก็จะเห็นเวทนาไม่ใช่เรา สติระลึกรู้จิตทีเป็นกุศลอกุศลนะ ก็จะเห็นว่าจิตก็ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้ เป็นตัวผู้รู้อยู่ ถ้าประคองไว้มากนะ เหมือนตัวผู้รู้เด่นดวงอยู่อย่างนี้ จะเห็นว่าทุกอย่างในโลกธาตุนี้ไม่เที่ยง ยกเว้นผู้รู้ พวกนี้ยังเดินต่อไม่ได้จริง ยังยึดตัวผู้รู้อยู่ จะเห็นตัวผู้รู้เที่ยง หลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อ เคยสอนไว้นะ ใครเห็นผู้รู้เที่ยง ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่เพราะฉะนั้นตัวผู้รู้เราก็ไม่ประคองไว้ มีตัวผู้รู้ก็สักแต่ว่าอาศัยไปรู้กาย รู้เวทนา รู้สังขาร รู้อะไรไป แต่เราไม่ประคองตัวผู้รู้
ถ้าเราไม่ประคองตัวผู้รู้ไว้ เราจะพบปรากฏการณ์อันหนึ่งว่า ตัวผู้รู้ก็ไม่เที่ยง ตัวผู้รู้เองเดี๋ยวก็เป็นตัวผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้คิด ตัวผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้หลง เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้รู้เดี๋ยวเป็นตัวผู้เพ่งนะ นี่มีความแปรปรวน ตัวผู้รู้เองไม่คงที่ ในที่สุดก็จะเห็นเลยนะว่า ขันธ์ทั้งหมดแม้กระทั่งตัวจิตเอง เกิดดับตลอด ไม่มีตัวไหนคงที่เลย
แต่การที่เราจะรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้วเห็นความเกิดดับได้ จิตต้องตั้งมั่น จิตต้องเป็นกลาง ถ้าจิตถลำลงไปในอารมณ์ จะไม่เห็นหรอก ปัญญาจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นจิตต้องตั้งมั่น บางคนถึงบอกว่าต้องทำสมาธิก่อน อันนี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ไม่ใช่ทุกคนต้องทำสมาธิในรูปแบบก่อน บางคนทำไม่ได้ บางคนไม่มีวันทำได้นะ เพราะฉะนั้นบางคนต้องใช้ปัญญาก่อน ใช้ปัญญานำสมาธิ บางคนที่ทำสมาธิได้ก็ใช้สมาธินำปัญญา คนที่เชี่ยวชาญทั้งสมาธิและเชี่ยวชาญในการดูจิต จะใช้สมาธิและปัญญาควบกันได้ เพราะฉะนั้นมันมี ๓ แบบนะ การปฏิบัตินี้
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เคยมีพระเล่าให้หลวงพ่อฟัง ว่าท่านระลึกย้อนไปนานมาก พบว่าหมื่นปีเนี่ย (นิสัย)คนแทบไม่เปลี่ยนเลย ถ้าเปลี่ยนก็คือ(นิสัย)แย่ลง ไม่ค่อยดีขึ้น (ที่ดีขึ้น)หายาก อย่างนิสัยเราตอนเด็กๆนะ นิสัยเป็นยังไงล่ะ เมื่อหมื่นปีก่อนส่วนใหญ่นิสัยอย่างนั้น บางคนก็ขี้โมโห บางคนก็ขี้โลภ เจออะไรก็อยากได้หมดเลย บางคนก็ฟุ้งซ่าน เคยเจอเด็กฟุ้งซ่านมั้ย แบบพูดทั้งวันเลย คือสะสมมา ตอนเป็นเด็กเนี่ยยังไม่มีมารยา ไม่รู้กติกามารยาทอะไร ตัวจริงๆมันออกมา โตขึ้นนะ เริ่มถูกดัดแปลงให้อยู่ในกรอบ ตัวจริงนะซ่อนไว้ ซ่อนไว้นานจนลืมว่าตัวจริงเป็นยังไง อย่างเราพอลงมือปฏิบัตินะ เราศึกษาปฏิบัติ เราดัดแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ ห่างไกลจากตัวจริงไปเรื่อยๆ
งั้นมาเรียนกับหลวงพ่อนะ หลวงพ่อจะค่อยๆ พาให้พวกเรากลับไปเห็น จริงๆ ตัวเองเป็นยังไง ร้ายกว่าที่คิด ทุกคนแหละร้ายกว่าที่คิดไว้ เพราะเราคิดเข้าข้างตัวเองเสมอแหละ นี้พอเราเห็นธาตุแท้ของตัวเองนะ เราค่อยเห็น จริงๆ มันเป็นยังไง มันทำงานอะไร ทำแล้วมันมีผลยังไง เราก็เห็นตัวเอง เรียนรู้ไป
กิเลสก็ไม่ใช่ของที่เกิดลอยๆ กิเลสก็มีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดตั้งหลายอย่าง อย่างโทสะเนี่ย จะเกิดได้ ก็ต้องมีการกระทบอารมณ์ อารมณ์นั้นไม่ถูกใจ แล้วจิตมีพื้นเดิม มีอนุสัยที่มีโทสะ งั้นมันมีของเก่าอยู่ด้วย งั้นอย่างบางคนมีอนุสัยขี้โมโหเนี่ย พอกระทบอารมณ์ คนอื่นเค้าไม่โมโห ไอ้นี่โมโหแล้ว งั้นพื้นเดิมมันมีอยู่ ตัวเนี้ยสะสมมา ตัวอนุสัย อนุสัย/สันดานเนี่ย มันเก็บทุกวันๆนะ พอกพูนไปเรื่อยๆ
อย่างเราจะเห็นคนแก่ที่ไม่ได้ฝึกกรรมฐาน ตอนสาวๆ ไม่ค่อยขี้บ่น ตอนเด็กๆ ยังไม่ขี้บ่น แต่งงานแล้วมีลูกนะ เรื่มขี้บ่นมากขึ้น แก่แล้วบ่นมาก เคยชิน มันสะสมความเคยชิน คนไหนขี้หงุดหงิดนะ ค่อยๆสะสมไปเรื่อย ต่อไป เจออะไรนิดนึงก็หงุดหงิด เพราะมันสะสมเป็นอนุสัย เราภาวนานะ เราไม่ได้ล้างกิเลสหรอก เพราะกิเลสมันเกิดแล้วก็ดับไปๆ แต่เราภาวนานะ มันจะค่อยๆเปลี่ยนอนุสัย สันดานมันจะค่อยๆ เปลี่ยน เปลี่ยนแปลง
สันดานในใจเรา/อนุสัยในใจเรานะ มันเหมือนรากของต้นหญ้า พอมันได้น้ำได้แดด ได้อากาศถูกใจนะ ต้นหญ้ามันก็งอกขึ้นมา มันงอกกิเลสขึ้นมา มันปรุงกิเลส กิเลสที่มันเป็นส่วนที่โผล่ขึ้นมาให้เราเห็นแล้ว ไอ้ส่วนที่ซ่อนอยู่ข้างล่างนะ คือ"อนุสัย"
อย่างสมมุติ เรามีหัวเผือกหัวมันอะไรซักอย่างหนึ่งนะ เอาไปฝังดิน งอกมีใบ ออกใบมา ได้แสงแดด ได้น้ำ ได้อาหาร หัวมันก็ใหญ่ขึ้นๆ สะสมไป งั้นอนุสัยมันสะสมไป แต่ถ้าเราเอาหัวมันไปฝังดินไว้ มันงอกต้นขึ้นมา มันงอกขึ้นมาทีไร เราตัดยอดมันไปเรื่อย ตัดๆ งอกทีไร ตัดทุกทีเลย หัวมันจะค่อยๆ ฝ่อไป มันหมดอาหาร
เวลาที่เราภาวนาก็แบบเดียวกันนะ เราไม่ได้มุ่งล้างกิเลสไปเพื่อจะทำลายกิเลส กิเลสเกิด-ดับๆไป "เรามีหน้าที่รู้มัน" พอกิเลสเกิดขึ้นมาแล้ว เรารู้ทันนะ กิเลสทำงานไม่ได้ คล้ายๆ งอกใบออกมา แล้วปรุงอาหารไม่ได้ อนุสัยจะค่อยๆ เหี่ยวแห้งลง กิเลสนะ เกิด-ดับๆ ไปเรื่อย เราคอยรู้ทันไว้นะ
แต่ถ้าเราไม่รู้ทัน โกรธเกิดขึ้น เราไม่รู้ทัน ความโกรธครอบงำจิต เราเกิดการกระทำกรรมตามความโกรธ คิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย เกิดขึ้น กิเลสอนุสัยที่ลงทุนสร้างกิเลสขึ้นมาเนี่ย กำไรแล้ว มันได้กำไร มันสะสม มันจะโกรธง่ายขึ้น มันจะสะสมพลังของอนุสัยมากขึ้น ๆ
งั้นเราภาวนานะ ไม่ได้ว่าจะต้องดีวิเศษอะไรหรอก แต่เรามีสติระลึกรู้  กิเลสอะไรเกิดขึ้นรู้ทัน รู้ทันไปเรื่อย กิเลสทำงานไม่ได้ อนุสัยอุตส่าห์ผลิตกิเลสขึ้นมานะ กิเลสทำมาหากินไม่สำเร็จซักที พอเราค่อยๆฝึกไป สันดานมันจะเปลี่ยน ไม่งั้นไม่เปลี่ยน หมื่นปีมันก็ไม่เปลี่ยน เคยเป็นยังไง มันก็เป็นอย่างนั้น เคยเซลฟ์จัด มันก็เซลฟ์จัดอยู่อย่างนั้น จะเซลฟ์จัด มากขึ้น ๆ ด้วย เพราะธรรมชาติของจิตไหลลงต่ำ ถ้าตามใจมันนะ พอตามใจมัน ทำไมไหลลงต่ำ ตามใจมัน มันก็ทำไปตามความเคยชิน จิตมีธรรมชาติไหลไปตามความเคยชิน มันเคยชินจะทำตามอนุสัยสั่ง มันทำไปเรื่อยมันก็สะสม ยิ่งคุ้นเคยที่จะทำอกุศลแบบเนี้ย มากขึ้นๆ
งั้นพระพุทธเจ้าท่านก็สอน บอก..กรรมชั่วเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ให้ทำ กรรมชั่วใหญ่ๆ นั้น มันเริ่มมาจากทำกรรมชั่วเล็กๆ ก่อน อย่างทีแรกก็พูดเล่น พูดเพ้อเจ้อพูดเล่นไป มันเคยชิน(จาก)พูดเล่น ก็เริ่มอำเค้า อำไปอำมาชักโกหกเก่ง จากจุดเล็กๆ ค่อยสะสม สะสมในเชิงที่แย่ๆ ไม่สะสมในเชิงที่ดีๆ นะ ถ้าปล่อยงั้น จิตนั้นมีธรรมชาติไหลไปตามความเคยชิน แต่ว่ามันเคยชินที่จะทำชั่ว

งั้นเราต้องมาอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้านะ แล้วพัฒนายกระดับจิตขึ้นมา ไม่เคยมีศีล ก็มีซะ ไม่เคยฝึกสมาธิ ก็ฝึกซะ ไม่เคยเจริญปัญญา ก็เจริญซะ อาศัยกำลังของศีล สมาธิ ปัญญา เนี่ย ค่อยแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ กิเลสมันก็อ่อนกำลังลง อนุสัยก็อ่อนกำลังลงทำงานไม่ได้เต็มที่
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช

ไม่มีความคิดเห็น: