มือขวาทำบุญ อย่าให้มือซ้ายรู้
โดย พุทธทาสภิกขุ
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โทร.
๐ ๒๙๓๖ ๒๘๐๐
www.dhamma4u.com ลำดับที่ ๙ ปี ๒๕๕๕
โอวาททัศนาจรแก่คณะคุณประยูร
วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๑๓
ผู้ถอดคำบรรยาย คุณอาคม พงษ์ธีระกุล
ประพฤติธรรมะสุจริตก็คือประพฤติธรรมะเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น
ประพฤติธรรมะให้เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น
ให้ขูดเกลาความยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งตัวกูของกูไม่เกิดขึ้นในใจ ไม่มีเหลือ
เรื่องสวนโมกข์
เรื่องมาทอดผ้าป่าสวนโมกข์ มาสวนโมกข์จะได้อะไรบ้าง มันมีปัญหาสำคัญอยู่ข้อหนึ่งเป็นปัญหาทั่วไปคือว่ามนุษย์มันมีความต้องการอะไร
การมาที่นี่หรือไปที่ไหนก็ตามมันต้องการอะไรอย่างหนึ่ง
เป็นเรื่องที่จะต้องดูให้ดีว่าต้องการอะไร มาที่นี่ต้องการอะไรหรือจะไปที่ไหน
ไปเมืองนอกต้องการอะไร ไปสิ้นสุดกันที่ตรงไหน เพราะมันอยู่ด้วยความต้องการ
เดี๋ยวนี้เท่าที่สังเกตเห็น
อาตมารู้สึกว่า พูดได้เลยว่ามันอะไรๆ ก็มีหมด ยังขาดอยู่แต่
สิ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์จากสิ่งที่ตัวมี
ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องนี้กันให้มากหน่อย
อย่าให้ความทุกข์มันเกิดขึ้นจากสิ่งที่ตัวมี เขาหา เขาคิดค้น เขาสร้าง เขาอะไรกันมากมายในโลกนี้
จนมีนั่นมีนี่มีได้ทุกอย่าง แต่แล้วก็มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่ตัวมี
ยิ่งสมัยนี้มันเป็นสมัยเครื่องจักร
มนุษย์ก็ยิ่งทำด้วยเครื่องจักรยิ่งสร้างด้วยเครื่องจักร มันยิ่งมีมาก
เพราะฉะนั้นความทุกข์เพราะสิ่งที่ตัวมี มันเลยมีขึ้นมาก ความเจริญมันก็เลยเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก
มีความทุกข์มาก เพราะเขามัวแต่เจริญ เจริญเพื่อให้มี ก็ทำให้มี ก็สร้างให้มีขึ้นมา
และก็ไม่รู้จักป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดจากสิ่งที่ตัวมี ยิ่งมีมาก
ยิ่งยุ่งมากก็ยิ่งเป็นความทุกข์มาก
ความรู้ที่จะป้องกันความทุกข์มันก็ไม่มีแปลว่ายังโง่อยู่เท่าเดิม
แต่ส่วนที่จะทำอะไรให้มีมากขึ้นนี้มันฉลาดมาก นี้เรียกว่า เรามองดูกันทั่วๆ
ไปทั้งโลก รู้จักทำ รู้จักสร้าง รู้จักอะไรขึ้นมามากมาย
แต่แล้วความรู้ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาจากสิ่งเหล่านั้นๆ ไม่มี
แล้วก็เลยเป็นทุกข์ นี่ปัญหารวมๆ กัน
ถึงแม้ว่าสมัยโบราณที่เรายังไม่รู้จักทำอะไรให้มากขึ้น เรามีกันแต่น้อย
มันก็มีความทุกข์เหมือนกับทุกข์จากสิ่งที่ตัวมี นี่เป็นเห็นได้ว่า จะเป็นสมัยไหน
ยุคไหน พวกไหนก็ตามใจ มันมีความทุกข์ เพราะสิ่งที่ตัวมี ไม่รู้จักมี
ไม่รู้จักได้หรือไม่รู้จักเป็น เป็นไม่เป็น มีไม่เป็น ได้ไม่เป็น
มันจึงมีความทุกข์
ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้ก็ไม่เข้าใจธรรมะหรอก
ไปคิดดูให้ดี เพราะว่าธรรมะมันมีอยู่ตรงนี้ มันมีความสำคัญอยู่ที่ตรงนี้
ถ้าเราไม่มีปัญหา ถ้าเราไม่มีความทุกข์ ธรรมะก็ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นจะต้องมีธรรมะ
เหมือนคนสบาย ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องการยา คนสบายไม่มีประโยชน์อะไรเกี่ยวกับยา
ไม่ต้องการยา มนุษย์ถ้าไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหา มันก็ไม่ต้องการธรรมะ
ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องได้ธรรมะ จึงต้องจัดการในข้อแรก ในขั้นแรก คือมองให้เห็น
ความเจ็บไข้หรือปัญหาหรือความทุกข์นั่นน่ะเสียก่อน ถ้าสบายดีก็ไม่ต้อง
ก็ไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องการธรรมะ ไม่ต้องการหยูกยา มันจะไปทำวิปัสสนา ไปทำอะไร
มันก็ทำเพ้อๆ ไปอย่างนั้นโดยไม่รู้ว่าทำทำไม ทำเผื่อๆ ไว้ว่าเผื่อว่าจะมีอะไรดี
ฉะนั้นเราจะต้องมองให้เห็นกันในข้อที่ว่า
มันเจ็บไข้อย่างไร ต้องการรักษาอย่างไรจึงจะต้องการยา ที่เรียกว่าธรรมะหรือแม้แต่ที่เรียกว่าบุญ
กุศล มันเหมือนกับความหายจากโรค ความไม่มีปัญหา ความไม่มีทุกข์ เรียกว่ามีบุญ
เดี๋ยวนี้เราต้องการบุญ ต้องการบุญ ต้องการทั้งที่ไม่รู้ว่าบุญคืออะไร ก็เลยเป็นเรื่องน่าหัว
มันกลายเป็นอย่างที่เขาเรียกว่าเมาบุญ เมาบุญ เมากุศลนี่เมาได้
แล้วมีคำล้อที่น่าจะนึกถึง ไอ้เมาบุญนั่นน่ะคือเมาที่ไม่รู้จักอิ่มจักพอ เมาอื่นๆ
รู้จักอิ่มรู้จักพอ คิดดูให้ดีเถอะ
มันมีคำล้อของคนอย่างโอมาร์
คัยยัม เขาเขียนข้อความ กรมพระนราฯ ท่านแปลข้อความนี้ว่า “เมาเหล้า เมาหญิง
เมาหยิ่ง เมายอ เมาครู่รู้พอ ไม่เหมือนเมาสวรรค์” คือเมาอะไรหลายๆ
อย่างนี่ เมาครู่รู้พอไม่เหมือนเมาสวรรค์ เมาสวรรค์นี่ไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่เป็นครู่เป็นอะไร เรื่องเมาเหล้าหรือเมาความรักหรือเมาอะไรต่างๆ
นั่นมันยังเป็นเรื่องครั้งคราวหรอื มันรู้พอ แต่เรื่องเมาสวรรค์ เมาบญุ เมากุศลนี่
ไม่รู้พอ เขาล้ออย่างนี้จริงหรือไม่
จริงก็ลองไปคิดดู
ไปสังเกตดู คือถ้ามันเป็นเรื่องที่เมา มันก็ไม่ไหวแล้ว
แล้วยังไม่รู้พออีกก็ยิ่งแย่มาก ฉะนั้นการเมาบุญ เมากุศล เมาสวรรค์
เมาอะไรเหล่านี้ มันเป็นฝ่ายความทุกข์หรือเป็นฝ่ายความสุขคือดับทุกข์ ลองคิดดู
ความเมานี่ จะเมาบุญนี่จะเป็นเรื่องดับทุกข์ หรือจะเป็นเรื่องความทุกข์เสียเอง
มันเป็นเรื่องความทุกข์เสียเอง มันก็กลายเป็นว่าความทุกข์เกิดมาจากบุญที่ตนเมา
มันก็เข้าหลักอันเดิมที่ว่า ไม่รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์จากสิ่งที่ตนมี
คือตนมีบุญแล้วก็ไม่รู้จักป้องกัน อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะบุญอย่างนี้
เป็นต้น
นี่มันสูงสุดแล้ว
ไอ้ความทุกข์ที่เกิดมาจากบ้านช่อง เงินทอง ข้าวของ บุตร ภรรยา อำนาจ วาสนา
เกียรติยศชื่อเสียงแล้วก็มีอยู่แล้ว อันสุดท้ายนี่ก็มาจากเมาบุญ
เรียกว่าทำบุญไม่เป็น ได้บุญไม่เป็น มีบุญไม่เป็นจนกระทั่งความทุกข์เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่าบุญ
บางทีก็ย้อนไปทีเดียวมาตั้งแต่ต้นว่า มีเงินก็ต้องอย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาจากเงิน
มีของทรัพย์สมบัติก็อย่าให้ความทุกข์เกิดมาจากสิ่งของ มีครอบครัว มีอำนาจวาสนา
มีอะไรก็ตาม อย่าให้ความทุกข์เกิดมาจากสิ่งเหล่านั้น กระทั่งมีบุญก็อย่าให้ความทุกข์เกิดมาจากบุญ
นี่อาตมาเห็นว่าเป็นปัญหาและเป็นปัญหาที่เหมาะที่สุดที่พวกเราอย่างที่นั่งกันอยู่ที่นี่จะต้องคิด
เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกมากแต่ไม่ใช่ปัญหา ดูไม่ใช่ปัญหา ไม่เป็นปัญหา ปัญหามันเหลืออยู่แต่ที่ว่าความทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรามี
ไม่ว่าอะไรที่เรามี ระวังให้ดี ก็อย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรามี
มันก็หมดปัญหา เราก็มีได้ตามที่เราจะมี ตามที่ควรจะมี
แล้วก็มีความสุขสบายไปหมดเพราะความทุกข์มันไม่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ตัวมี
อย่าเข้าใจผิดเหมือนที่คนโดยมากเขาพูดกันว่า พุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าก็ตามสอนไม่ให้ทำอะไร
ไม่ให้ต้องการอะไร อย่ามีอะไร นั่นมันพูดผิดๆ
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนอย่างนั้นท่านสอนแต่อย่าให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวมี
ส่วนใครจะมีอะไรสักเท่าไร ตามสมควรแก่อัตภาพเขาได้
แต่แล้วอย่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นเข้า มันจะเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา
มันจะกลายเป็นศัตรู เป็นอันตรายขึ้นมาคือมันจะกัดเอา
ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเราแล้วมันจะกัดเอา
จะมีความทุกข์ นี่คือเครื่องป้องกันที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์จากสิ่งที่เรามี
คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น
นี่ขอให้เข้าใจให้ถูกไปตั้งแต่ทีแรกว่าพระพุทธเจ้า
ท่านไม่ได้สอนว่าอย่ามีอะไรอย่าหาอะไร อย่าสร้างอะไร
แต่ท่านสอนว่ามันมีอะไรหรือทำอะไรขึ้นมา อย่าไปยึดมั่น
ถ้าไปยึดมั่นเข้าจะเกิดความทุกข์มาจากสิ่งเหล่านั้น
มีอะไรก็ให้เหมือนกับไม่มีอยู่เรื่อยไป
สำหรับชาวพุทธอย่าให้ด้อยน้อยหน้ากว่าชาวคริสเตียน
อาตมาชอบพูดถึงคริสเตียนบ้างก็เพราะว่า
กลัวว่าชาวพุทธนี่จะขายขี้หน้าพวกคริสต์เข้าสักวันหนึ่ง ฉะนั้นคำสอนอะไรที่มันเหมือนๆ
กันล่ะก็ อยากจะเอามาพูดให้รู้ไว้ แล้วเราอย่าได้มีปมด้อยเกี่ยวกับข้อนี้
คำสอนของพวกคริสเตียนก็เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน แต่ว่ามันน่าหัวตรงที่ว่ามันลับลี้อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลนั้นไม่มีใครเอามาพูด
เพราะคงจะเหมือนๆ กับพวกเราคือว่าพวกเรานี้ชอบยึดมั่นถือมั่น ชอบมี
ก็เลยไม่พูดถึงเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น
นี่สังเกตดูให้ดีที่กรุงเทพฯ
ในดงของนักศึกษา นักปฏิบัติ มันมีกี่คนที่พูดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือพูดเรื่องความว่างจากความยึดมั่นถือมั่น
ไม่ชอบพูดกันเรื่องนี้ พูดเรื่องอื่น พูดเรื่องได้ ได้บุญได้อะไร ก็ได้ๆๆ
ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่พูดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น พวกคริสเตียนก็เช่นกัน
มันก็ไม่พูดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น พูดเรื่องเชื่อ เชื่อตะพึด หลับตาเชื่อ
ไปตะพึดก็ดูกันอยู่แต่อย่างนี้ก็เลยเป็นอันว่า ทุกศาสนากำลังเป็นหมัน
ตัวผู้นับถือศาสนานั้นๆ ไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนาของตัว เพราะไปถือเปลือก ฝอย
กระพี้ของศาสนาซึ่งไม่ใช่ศาสนา
อยากจะพูดให้เลยไปอีกหน่อยหนึ่งว่า
มนุษย์กำลังไม่มีศาสนาคือถือศาสนากันแต่ปาก ถือแต่พิธีและไม่ถูกตัวศาสนา
ไม่ถูกเนื้อแท้หัวใจของศาสนา มันจึงเหมือนกับไม่มีศาสนา แม้ว่าจะมีวัดวาอาราม
โบสถ์วิหารอะไรมากมาย เพิ่มขึ้นมากมาย พระพุทธรูปเพิ่มขึ้นมากมาย
อะไรเพิ่มขึ้นมากมาย มันก็ยังเหมือนกับไม่มีศาสนาอยู่ มันมีแต่วัตถุเหล่านั้น
มันไม่ได้ปฏิบัติตัวแท้ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาคือธรรมะ
หัวใจของธรรมะคือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ศาสนาไหนก็เหมือนกัน กำลังเหมือนๆ
กันทั้งนั้น ไม่เฉพาะศาสนาพุทธ กำลังไม่มีศาสนาตัวจริง มีแต่เปลือก มีแต่กระพี้
มีแต่พิธีรีตองถ้าพูดให้ถูกก็ต้องพูดว่ากำลังไม่มีศาสนามีแต่เปลือกของศาสนา
ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมะจริงๆ
มันจึงจะเรียกว่ามีศาสนา คือมีหัวใจของศาสนาคือมีธรรมะ เพราะหัวใจของศาสนาก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น
สำหรับพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านยืนยันไว้ตรง
ตรัสยืนยันไว้ตรงจุดเลยว่าถ้ารวมทั้งหมดของศาสนาทั้งหมด ทั้งการคำสอนและการปฏิบัตินี้ก็เหลือประโยคสั้นๆ
ประโยคเดียวว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ –ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งทุกสิ่งไม่ว่าสิ่งใด
อย่าไปหลงยึดมั่น สำคัญมั่นหมาย ปักใจว่าตัวกูหรือว่าของกู
ก็เรียกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นเพราะมันผิด เพราะมันไม่จริง เพราะมันคดโกง
มันเป็นขโมย ของทุกสิ่งมันเป็นของธรรมชาติ
คือถ้าถือพระเจ้าก็ต้องว่า
ของพระเจ้า สิ่งทุกสิ่งที่ปรากฏแก่เรา รวมทั้งชีวิต เลือดเนื้อ จิตใจของเราด้วยนี้
มันเป็นของธรรมชาติ ถ้าถือพระเจ้าก็ต้องว่าเป็นของพระเจ้า
พระเจ้ากับธรรมชาตินี้อันเดียวกัน นี้พอว่าของเรามันก็เป็นคนโกหก เป็นคนโกง
เป็นคนปล้นเอามาซึ่งหน้า ปล้นธรรมชาติ ปล้นอะไรมาซึ่งหน้า เอามาเป็นของเรา
เอามาเป็นตัวเรา มันผิดเสียตั้งแต่ทีแรก ตลอดสายเลย
ของธรรมชาติเอามาว่าของกูหรือว่าเป็นตัวกู
พวกคริสเตียนก็ว่าของพระเจ้า
อะไรก็ของพระเจ้า ชีวิตของเราเป็นของพระเจ้า แล้วแต่พระเจ้าจะมีตัวกูของกูไม่ได้
นี่มันเหมือนกันอย่างนี้ ข้อเท็จจริงมันเหมือนกันอยู่อย่างนี้ แล้วสอนก็เหมือนกัน
สอนว่าอย่ายึดมั่นถือมั่น คำสอนที่มีในไบเบิลก็เป็นคำสอน ที่เซนต์ปอลรวบรวมคำสอนทั้งหมด
ชั้นดีในศาสนาของตนมาสอนแก่คนกลุ่มหนึ่ง เขาเรียกว่าหมู่บ้านโครินเธียนส์
สอนธรรมะที่ลึกแก่คนหมู่บ้านโครินเธียนส์
ข้อนี้ทำให้นึกถึงพระคัมภีร์พระไตรปิฎกของเรา
มีสูตรอยู่สูตรหนึ่งเรียกว่า มหาสติปัฏฐานสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่หมู่ชนที่อยู่ในหมู่บ้านกัมมาสธัมมะในแคว้นกุรุ
มหาสติปัฏฐานสูตรนี้มีตรัสทีเดียวครั้งเดียวแก่คนในหมู่บ้านกัมมาสธัมมะ
ซึ่งเป็นชนชาวกุรุ อรรถกถาอธิบายว่า
เพราะหมู่บ้านนี้ประชาชนที่หมู่บ้านนี้มีจิตใจสูง มีสติปัญญามาก
ปฏิบัติธรรมะอยู่เป็นประจำ พูดกันแต่เรื่องปฏิบัติธรรม
ทาสหรือคนใช้ไปตักน้ำตามบ่อน้ำ ไปพบกันก็ทักกันว่าเมื่อคืนปฏิบัติกรรมฐานอะไร
ทาสคนใช้ กรรมกรนี่ ก็ยังทักกันถามกันด้วยว่า ปฏิบัติธรรมะข้อไหน ตรงไหน อย่างไร หมายถึงธรรมะชั้นสูงนะ
อย่างนี้ก็ไม่ต้องพูดถึง ไอ้พวกชั้นนาย… พระพุทธเจ้าตรัสสูตรนี้แก่หมู่ชนนั้นที่บ้านนั้น
ไม่ตรัสแก่คนที่บ้านอื่น
ที่เซนต์ปอลก็สอนพวกหมู่บ้านโครินเธียนส์
ด้วยธรรมะที่ลึกเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น มีเป็นใจความว่า
มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็จงเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ
มีความสุขก็จงเหมือนกับไม่มีความสุข มีความทุกข์ก็จงเหมือนกับไม่มีความทุกข์
ซื้อของที่ตลาดอย่าเอาอะไรมา ลองจำไว้ เพราะเขาพูดชัดดี ฟังง่าย จำง่าย
เข้าใจก็ง่าย
ถ้าเข้าใจ
มีภรรยาเหมือนกับไม่มีภรรยาก็รวมถึงสามีด้วย
แล้วพูดสำหรับฝ่ายผู้ชายก็พูดมีภรรยาเหมือนกับไม่มีภรรยา
คืออย่าสำคัญมั่นหมายด้วยตัณหาอุปาทาน มีก็มีตามหน้าที่ ตามหน้าที่ ตามธรรมะ
ตามหน้าที่ มีทรัพย์สมบัติ มีสุข มีทุกข์อะไร ก็มีสักว่าตามหน้าที่
อย่าไปยึดมั่นว่ามี มันมีความทุกข์เกิดขึ้น
ไอ้ที่มันสรุปอยู่ที่ว่าไปซื้อของที่ตลาด อย่าเอาอะไรมา มันเป็นคำพูดที่ ที่ดี
เดี๋ยวนี้เราไปซื้อของที่ตลาดแล้วเอาอะไรมาด้วยจิตใจว่ามันเป็นของกู
กูเอามา จะกินจะใช้อย่างนี้เรียกว่าเอาอะไรมา ถ้าอย่าได้คิดว่ากูซื้ออะไรมา
เอาอะไรมา มากินมาใช้เป็นของกู แม้ว่าจะหิ้วมากินมาใช้ที่บ้าน
มันก็เหมือนกับไม่ได้เอาอะไรมา ก็หมายความว่า ในใจนั้นมันไม่มีตัวกูอยู่ตลอดเวลา
มันไม่ยึดถือเรื่องตัวกู ที่ตัวกูอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นไปซื้อของที่ตลาดมาก็เหมือนกับไม่ได้ซื้อและไม่ได้เอามา
และไม่ได้กินเข้าไป ที่ว่าไม่มีตัวกู ไม่มีนี่คือไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
ไม่มีอุปาทาน ไม่มีตัณหา ไม่มีอวิชชา มีแต่สติปัญญาตามธรรมชาติว่า เอ้า นี้ต้องซื้อ
นี้ต้องเอามา นี้ต้องกิน ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ มันทำอยู่แต่ด้วยสติปัญญาอย่างนี้
ไม่ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น
อย่างนี้เขาเรียกว่าซื้อของที่ตลาดแล้วไม่ได้เอาอะไรมา
เพราะคนทุกคนมีเงินแล้วก็คิดว่าเงินของกู
ขี้เหนียว จะซื้ออะไรสักหน่อยก็จะเอาเปรียบ
จะเอาให้มากโดยความหมายมั่นเป็นตัวกูของกู มากิน มาใช้ มาให้ลูกให้หลาน
อย่างนี้ทั้งนั้น ความคิดอย่างนี้ก็ไม่ต้องการให้มี ให้มีแต่สติสัมปชัญญะ
รู้สึกว่าต้องทำอย่างไร หน้าที่มีอยู่อย่างไร ต้องทำอย่างไรก็ทำไป มันก็กินและใช้
จะอะไรเหมือนกันแต่ในใจมันต่างกัน คือใจมันไม่ตกต่ำ ใจไม่มีกิเลส ใจไม่เป็นทุกข์
จึงสรุปคำสอนไปในรูปที่มันลืมยาก มีเหมือนกับไม่มี มีอะไรก็ตามใจ
ไปซื้อของที่ตลาดก็ยังไม่ได้เอาอะไรมาอีก
นี่ตัวอย่างคำสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถืดมั่นในคริสเตียน ถ้าเขาปฏิบัติได้
เป็นการปฏิบัติธรรมะสูงสุดเหมือนกัน
คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นตามแบบของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา
ฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าในศาสนาคริสเตียนก็มีสอนอย่างนั้น
อย่างเดียวกันกับในพุทธศาสนา ก็ระวังให้ดี
อย่าไปเกิดเสียท่าขายหน้ามีปมด้อยขึ้นในหมู่พุทธบริษัท
นี่เราพูดกันอย่างที่เรียกว่าเหมือนกับมีเรามีเขาแต่อย่าเข้าใจว่าเราพูดอย่างมีเรามีเขา
พูดแต่ว่าให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ไม่ใช่มีเรามีเขาจะไปอวดเบ่งจะทับกัน
จะเป็นศัตรูกัน มันไม่ใช่อย่างนั้น
แต่ให้รู้ว่าทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องทำและอย่าบกพร่องในหน้าที่ของตัว
และบัดนี้เผอิญหน้าที่มันไปเหมือนกันเสียด้วย หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติธรรมะ
เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่มันเกิดไปเหมือนเขาด้วยก็ระวังให้ดี
ให้เราได้ปฏิบัติธรรมะข้อนี้ ให้สมกับที่เป็นพุทธบริษัท
แล้วในที่สุดธรรมะข้อนี้เอง ข้อไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้เอง
จะเป็นเครื่องรางป้องกันไม่ให้สิ่งต่างๆ
ที่เรานั่งอยู่ในบ้านในเรือนที่เราครอบครองนั้น เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา
ที่เมืองนี้เขามีพูดไอ้คำพังเพยอยู่คำหนึ่ง
ซึ่งทางกรุงเทพฯ จะมีหรือไม่มีก็ไม่ทราบ
เขาพูดถึงโชคร้ายที่สุดแล้วก็พูดว่าก้อนเส้าเป็นเสือ
คือก้อนเส้าที่ใช้หุงข้าวอยู่ในครัวไฟทุกวันๆ มันเกิดกลายเป็นเสือ แล้วจะไม่แย่หรือ
คนเจ้าของบ้านนั้นเพราะแม้แต่ก้อนเส้ามันเกิดกลายเป็นเสือ มันก็เป็นอันตรายเป็นศัตรูขึ้นมา
ทีนี้เราระวังให้ดีนะ มันจะไม่ใช่เพียงแต่ก้อนเส้า
แม้แต่เงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติ ในหีบในปัดเชี่ยนหมากหรืออะไรก็ตาม
มันก็กลายเป็นเสือขึ้นมาได้เหมือนกับก้อนเส้า
คือถ้าไปยึดมั่นถือมั่นในลักษณะเป็นตัวกูของกู
ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทานนี่ มันจะร้อนเป็นไฟเพราะสิ่งเหล่านั้นทุกสิ่ง
ไม่ว่าบางทีของนิดเดียว แก้วน้ำสักใบหนึ่งก็ยังจะกลายเป็นเสือขึ้นมาได้
ในที่สุดไม้ขีดสักก้านหนึ่งก็จะกลายเป็นเสือขึ้นมาได้
เที่ยวกัดเจ้าของให้ร้อนใจเป็นไฟไปเถอะ
นี่เพราะความไม่รู้เพราะความทำผิดไปยึดมั่นถือมั่นเข้า ความทุกข์ก็เกิดขึ้นจากสิ่งที่ตนมีอยู่นั้นน่ะ
ไม้ขีดก้านเดียวตนมีอยู่กลายเป็นเสือเป็นความทุกข์ กัดหัวใจ เจ้าของนั่นก็ได้
นี่เรียกว่าความทุกข์เกิดขึ้นจากสิ่งที่ตนมี
เพราะตนมีไม่เป็น คือถ้าเรามีเป็น มีด้วยวิชาความรู้
ด้วยสติปัญญาของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งต่างๆ จะไม่กลายเป็นเสือขึ้นมาได้ มันจะกลายเป็นผู้รับใช้ที่ดีที่ให้ความสะดวกที่ดี
เงินทองข้าวของอะไรก็ตามทั้งหมดทุกอย่างจะไม่นำมาซึ่งความร้อนแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เป็นความเย็น
คำว่าเย็นหรือความเย็นนี้มันเป็นความหมายของนิพพาน
อย่าต้องการนิพพานอย่างอื่นให้มากไปจากความเย็น เอาที่ความเย็น เย็นอก เย็นใจ
เย็นกาย เย็นอะไรก็ได้ ให้มันเย็นจริงๆ ก็แล้วกันเรียกว่านิพพาน ถ้าร่างกายมันเย็น
ก็นิพพานที่ร่างกาย ถ้าจิตมันเย็น ก็นิพพานที่จิต ถ้าดวงวิญญาณมันเย็น
ก็นิพพานที่ดวงวิญญาณ ให้มันเย็นก็แล้วกัน
อย่าเอานิพพานต่อตายแล้ว
เข้าโลงแล้ว นั่นมันไม่รู้ว่าเย็นที่ใคร เข้าโลงไปแล้ว มันก็ไม่รู้ว่าไปเย็นที่ใคร
มันต้องเย็นที่นี่ เย็นที่ตัวผู้ปฏิบัตินี้ แล้วก็รู้ๆ เห็นๆ
กันในชีวิตนี้ว่ามันเย็น แล้วมันจึงจะได้สิ่งนั้นจริงๆ นิพพานนี้มันเป็นความเย็นคือถ้าเป็นการปฏิบัติ
ก็ปฏิบัติเพื่อให้เย็นแล้วแต่ว่าเราจะให้มันเป็นปฏิบัติ
เป็นตัวการปฏิบัติหรือเป็นผลของการปฏิบัติ
ถ้าไม่มีเรื่องของนิพพานเข้ามาแล้ว
เวทนาทั้งหลายจักเป็นของร้อน เวทนาทั้งหลายคือความรู้สึก
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อกระทบกับรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่เขาเรียกว่า เวทนา ความรู้สึก อันนี้เรียกว่าเวทนา
ถ้าไม่มีเรื่องของธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว เวทนาทั้งหลายจะเป็นของร้อน
ร้อนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
แต่ถ้าธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้แล้ว
เวทนานั้นจะเป็นของเย็น ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นความร้อนขึ้นมาได้
นี้ธรรมะจึงมีหน้าที่ตรงนี้มีหน้าที่ตรงที่ว่า ทำให้เวทนาทั้งหลายเป็นของเย็น เย็นอยู่เสมอ
ทุกแห่งและทุกเวลา ถ้าเมื่อไรมันเกิดร้อนขึ้นมาแล้ว ก็มันเป็นความทุกข์นั่นก็คือ
มันปราศจากธรรมะ ฉะนั้นอย่าหิว อย่าเมา อย่าหลงใหล อย่าอะไรซึ่งเป็นความร้อน
ฉะนั้นจึงมีปัญหาอย่างที่ว่าที่แรกว่า
เรากำลังร้อนหรือไม่ ถ้าเราร้อน เราก็ต้องรู้ว่ามันร้อนเพราะอะไร จะได้แก้ไข
แต่ถ้าพูดอย่างกำปั้นทุบดินก็ว่าร้อนเพราะขาดธรรมะ ขาดธรรมะข้อไหน
ขาดธรรมะข้อที่ว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวกูของกู
ไปๆ มาๆ ธรรมะก็มาอยู่ที่ตรงนี้นิดเดียวคือไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดยความเป็นตัวกูของกู
เป็นคำสอนที่ตรงกันทั้งพุทธ ทั้งคริสต์ ทั้งศาสนาอื่นๆ ก็เหมือนกันที่เรียกว่า
อย่าเห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัวเมื่อไร ก็เป็นความร้อนเมื่อนั้น
มันมีตัวกูของกูขึ้นมา มันเห็นแก่ตัวกูของกูขึ้นมา มันก็มีความร้อนเมื่อนั้น
นี่เป็นการสัมผัสในทางใจกับธรรมารมณ์ เป็นของร้อน ถ้าสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก
ทางลิ้น ก็ร้อนไปหมด
ขอให้สนใจจนจับใจความอันนี้ให้ได้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักสำหรับศึกษา
ทีนี้พอมาถึงหลักปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือจะพูดให้มันง่ายขึ้นไป
อีกก็ปฏิบัติเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น อันนี้พูดอย่างภาษาชาวบ้านธรรมดาขึ้นไปอีก
ปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว
การปฏิบัติทุกอย่างนี่ให้เป็นไปเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว
อย่าเพิ่มความเห็นแก่ตัวเป็นอันขาด
เดี๋ยวนี้เขาทำอะไรๆ
กันทั่วทั้งโลกนี่มันเป็นการเพิ่มความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ปากก็พูดว่าเพื่อยุติธรรม
เพื่อสันติภาพของโลก เพื่อนั่นเพื่อนี่
แต่โดยเนื้อแท้ใจจริงแล้วมันเพื่อเพิ่มอะไรให้แก่ตัว
เพิ่มความเห็นแก่ตัวพร้อมกันไปอยู่ในตัว คำว่าช่วยผู้อื่นนี่ ที่จริงเขาเอากำไรจากผู้อื่นมาช่วยตัวเขา
ในโลกมันเป็นเสียอย่างนี้ ทีนี้เรื่องของเขาก็ตามใจเขา
พูดถึงเรื่องของเราบ้างว่าเมื่อคนอื่นเขาไม่ปฏิบัติก็ตามใจเขาแต่เราจะปฏิบัติปฏิบัติทุกอย่าง
ก็เป็นไปเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว
เอาละ, ทีนี้ก็จะมาพูดถึงพูดถึงเรื่องของพวกเราเช่นเรื่องทอดผ้าป่า
การทอดผ้าป่านี้ มันก็มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาทีแรกว่า
เราจะทำเพื่อเพิ่มความเห็นแก่ตัวหรือจะทำเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว พูดสั้นๆ
ว่าจะเพิ่มความเห็นแก่ตัวหรือจะลดความเห็นแก่ตัว
ถ้าอยากจะเพิ่มความเห็นแก่ตัวก็ทอดผ้าป่าเพื่อให้ดี ให้เด่น ให้คนเขาเห็น ให้คนเขายอ
แล้วก็ได้ผลเป็นสวรรค์วิมานนางฟ้า ได้กำไรหลายร้อยหลายพันเท่าหลายหมื่นเท่า
นี้มันก็เพิ่มความเห็นแก่ตัว
ถ้าทอดผ้าป่าโดยคิดว่ามันจงเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
เราไม่เอาเราไม่ต้องการอะไร เราขอยกเว้นไม่ขอรับอะไร
ขอให้ผลประโยชน์ที่ทำไปนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในสากลจักรวาล
ถ้าคิดอย่างนี้มันก็ลดความเห็นแก่ตัวที่ว่าทอดผ้าป่านิดเดียวอย่างที่นี่ แล้วจะเป็นประโยชน์แก่สากลจักรวาลได้อย่างไร
ถ้าไม่คิดก็มองไม่เห็น ถ้าไปมัวคิดแต่จะเอาสวรรค์วิมานเสียเรื่อย
มันก็มองไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งสากลจักรวาลได้อย่างไร
ข้อนี้เราต้องใจกว้างว่า
ไอ้โลกนี้มันอยู่ได้ด้วยศาสนาหรือธรรมะ เราทำให้ธรรมะมีอยู่ในโลกนั้นน่ะคือช่วยโลก
ทั้งโลกธรรมะจะมีอยู่ในโลกก็เพราะมีคนเรียนคนปฏิบัติ ได้ผลของการปฏิบัติแล้วสอนต่อๆกันไป
เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยให้มีคนบวช ช่วยให้มีคนเรียน ช่วยให้มีคนปฏิบัติ
แล้วช่วยให้มีคนรู้แล้วสอนต่อๆ กันไป ถ้าทำอย่างนั้น
มันทำให้ธรรมะหรือศาสนามีอยู่ในโลกแล้วก็คุ้มครองโลก
ศาสนาไหนก็ต้องทำอย่างนี้ทั้งนั้น ช่วยทำให้ศาสนามีอยู่ในโลก
มันเป็นหน้าที่ของศาสนาที่จะคุ้มครองโลก ขอให้โลกทุกโลก โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกไหนก็ตาม
ปลอดภัยมีความสงบสุข
เราคิดอย่างนี้
มันไม่เพิ่มความเห็นแก่ตัวให้แก่เรา มันลดความเห็นแก่ตัวของเราแล้ว โลกก็มีความสุขได้จริงเพราะเราทำบุญถูกวิธีคือทำบุญแต่ในทางที่จะให้มันมีการบวช
การเรียน การปฏิบัติ การสอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทำบุญเอาสวรรค์วิมาน
ไม่ใช่ทำบุญเอาหน้า ถ้าทำบุญเอาหน้า
ทำบุญเอาสวรรค์วิมาน
มันก็เพิ่มความเห็นแก่ตัวทันทีแล้วพุทธบริษัทก็จะไม่ดีอะไรไปกว่าศาสนาอื่นๆ
ไอ้เรื่องสอนให้ทำบุญเอาสวรรค์เอาวิมานอะไร ศาสนาอื่นๆ
เขาก็สอนนี่เราก็ทำได้เพียงเท่านั้น ก็ไม่ดีไปกว่าศาสนาอื่นๆ
แล้วระวังให้ดีจะขายขี้หน้าพวกคริสเตียนขึ้นมา
อีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อพระเยซูเทศน์บนภูเขา เทศน์ครั้งสำคัญของพระเยซู เทศน์บนภูเขาคล้ายๆ
กับพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร เทศน์ครั้งสำคัญอย่างนั้นพระเยซูก็เทศน์บนภูเขา
มีอยู่หลายข้อแต่ข้อที่อยากจะเอามาพูดก็คือข้อที่ว่า “เมื่อมือขวาทำบุญ
อย่าให้มือซ้ายมันรู้”
ช่วยจำไปด้วยว่าพระเยซูสอนสาวกของแกว่า
เมื่อมือขวาทำบุญ อย่าให้มือซ้ายมันรู้ มันลึกซึ้งกี่มากน้อย ลองคิดดู ถ้าจะพูดว่าเมื่อเราทำบุญ
อย่าให้เพื่อนบ้านรู้ก็ดี ที่สุดวิเศษอยู่แล้ว เหมือนแอบไปปิดทองหลังพระ
ไม่มีใครรู้ ทำบุญนี้ก็บริสุทธิ์มากอยู่แล้ว แล้วมันยังเนื่องกับผู้อื่นทีนี้เหลือแต่ตัวคนเดียว
มือขวาทำบุญอย่าให้มือซ้ายรู้ เอากันถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีทางที่จะทำบุญเอาหน้า
ทำบุญอวดคน ทำบุญให้ใครรู้
พระเยซูก็แจงรายละเอียดเป็นอย่างๆ
ไว้เหมือนกันว่า เมื่อถึงวันอุโบสถ วันซับบาธให้ทาแป้งแต่งตัวใส่ทองใส่หยอง
อย่าให้ใครรู้ว่าเรารักษาอุโบสถแล้วก็สมาทานรักษาอุโบสถเต็มที่โดยไม่ให้ใครรู้
ถ้าออกมานอกบ้านก็ใส่ทองใส่หยอง แต่งหน้าแต่งตานี้ เป็นต้น คือทำไม่ให้มใครรู้ว่าเรากำลังสมาทานศลี
สมาทานพรตอะไรหรือว่าทำทานก็อย่าให้ชาวบ้านรู้กระทั่งว่าเมื่อมือขวาทำบุญ อย่าให้มือซ้ายรู้
คือว่าจิตที่จะคิดเอาหน้าเอาตา อย่าให้มันโผล่ขึ้นมาได้เป็นอันขาด
เมื่อเรานั่งอยู่คนเดียว ทำบุญอะไรออกไป
มือขวามันทำไปไอ้มือซ้ายที่คอยคิดจะเอาหน้าเอาตาเอาดีเอาเด่น เอาสวรรค์วิมานนั้น
อย่าให้มันรู้คืออย่าให้มันคิด อย่างนี้เรียกว่ามือขวาทำบุญ มือซ้ายไม่รู้
หรือจะแบ่งมนุษย์ออกเป็น
๒ ซีก ๒ คน ธรรมชาติฝ่ายต่ำซีกหนึ่ง ธรรมชาติฝ่ายสูงซีกหนึ่ง
ธรรมชาติฝ่ายสูงคิดไปในทางดี มันทำบุญอย่าให้มือซ้าย เออ, อย่าให้ฝ่ายต่ำมันรู้
ฝ่ายต่ำมันจะดึงไปในทางที่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นอย่าให้มันรู้
ขอให้ลองปฏิบัติเถอะ แม้จะเป็นคำสอนของพระเยซูหรือของศาสนาไหนก็ตามใจ
มันเหมือนกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้ ถ้าทำบุญจริงๆ ก็อย่ายึด
มันเป็นไปเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ทำบุญอวดคน
ไม่ใช่ทำบุญเอาสวรรค์วิมาน
นั่นเขามีไว้สำหรับเพื่อยั่วหรือล่อคนในขั้นแรกที่ไม่ค่อยจะทำบุญจึงเอาเรื่องสวรรค์
เรื่องอะไรมาล่อให้ทำบุญให้หัดทำบุญเสียบ้างแล้วก็ค่อยๆ ดึง ค่อยๆ
จูงไปในทางสูงว่าทำบุญ
นี้ต้องสละออกไปเลย
สละไปเลย อย่าเอาเข้ามา อย่าเอากลับเข้ามา มันจึงจะเป็นการทำบุญคือขูดเกลากิเลส
ทำบุญเพื่อขูดเกลากิเลสคือความเห็นแก่ตัวแล้วก็อย่าเอาเข้ามา ถ้าสละให้แล้วก็สละออกไป
ถ้าจะว่ามีได้อะไรบ้าง ขอให้ได้ความไม่เห็นแก่ตัว ได้การลดความเห็นแก่ตัวนั่นน่ะ
ถ้าจะได้บ้างก็ได้เพียงเท่านี้ อย่าได้สวรรค์วิมาน ได้หน้าได้ตา ได้เกียรติยศเลย
ถ้าทำอย่างนี้มันก็จะเป็นการขูดเกลาความเห็นแก่ตัว ลดความเห็นแก่ตัวด้วย จึงหวังว่าไอ้ทอดผ้าป่าของเราวันนี้ก็ขอให้เป็นอย่างนี้
เราคงจะเคยทอดผ้าป่าอย่างที่เอาหน้าหรือเห็นแก่ตัวมามากแล้วมันก็ควรจะพอกันที
มันก็เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นชั้นประถม ชั้นมัธยม
ชั้นอุดมกันไปในที่สุดก็ทำบุญเพื่อไม่เอาอะไรเลยเหมือนกัน นอกจากลดความเห็นแก่ตัว
นี่ก็ถือโอกาสพูดตอนนี้ ก็มีเวลามาก
ตอนเช้ามันมีเวลาน้อยจะพูดเดี๋ยวหิวข้าวจะโมโหเสียอีก
เรื่องให้ลดความเห็นแก่ตัวนี้ เดี๋ยวนี้ใจกำลังสบายก็พอจะคิดได้
ว่าความเห็นแก่ตัวกับความไม่เห็นแก่ตัว มันเป็นอย่างไร
มันต่างกันอย่างไรและเรามาถึงขั้นนี้แล้ว ก็มาถึงขั้นที่เรียกว่าจะต้องลดความเห็นแก่ตัวกันไป
ไม่ใช่ขั้นลูกเด็กๆ
ให้ทำทุกอย่างที่เป็นการทำลายความเห็นแก่ตัวไม่ว่าจะประกอบกรรมดี
กรรมงามอะไรที่ไหนอย่างไรก็ขอให้เป็นไปเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว
เดี๋ยวนี้ในโลก
เขาทำเพิ่มความเห็นแก่ตัว เช่นเล่นกีฬานี่ก็เล่นกีฬาเพื่อเพิ่มความเห็นแก่ตัว
ไปดูเถอะ เล่นกีฬาเอาเปรียบชกต่อยกัน ทำลายกัน แม้แต่กีฬาระหว่างชาติ
ระหว่างประเทศ มันก็มาชกต่อยกัน เพราะมันมีจิตใจผิดเสียแล้ว
เล่นกีฬาเพื่อส่งเสริมตัว เพื่อเชิดชูตัว เพื่อเห็นแก่ตัว
ไม่ได้เล่นกีฬาเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว กีฬาทั่วโลกกำลังจัด กำลังเล่นกันอยู่เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว
มนุษย์ก็กลายเป็นผู้มีความเห็นแก่ตัวไปหมด โลกนี้ไม่มีความสงบได้
การจัดการศึกษา
เขาก็มีแต่เรื่องเอาให้มากเข้าให้เจริญ ให้รุ่งเรือง
ให้มากเข้าแต่ไม่พูดถึงไอ้ลดความเห็นแก่ตัว ยิ่งเจริญเท่าไร
ยิ่งเพิ่มความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นไอ้การศึกษาแบบนี้ ยิ่งเจริญมากในโลก
โลกก็ยิ่งมีความทุกข์ นี่มันจะหมดที่พึ่ง โลกนี้กำลังจะหมดที่พึ่ง
เหลืออยู่สิ่งเดียวแต่เพียงธรรม
ฉะนั้น ต้องช่วยกันรักษาธรรมะไว้ให้เป็นที่พึ่งแก่โลก
เราทำอะไรก็ให้เป็นธรรมะ ทำอะไรก็ให้เป็นธรรมะ พูดออกจะฟังยากอยู่ ทำอะไรก็ต้องให้ถูกต้องให้เป็นธรรมะข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
ธมฺมํสุจริตํ จเร –จงประพฤติธรรมะให้สุจริต ธมฺมํ สุจริตํ จเร จงประพฤติธรรมะให้สุจริต
ลองฟังดูเอง คิดดูเองก็พอจะเข้าใจได้
จงประพฤติธรรมะให้สุจริตก็หมายความว่ามีคนประพฤติธรรมะทุจริต
มีคนประพฤติธรรมะคดๆ โกงๆ เรียกว่าประพฤติธรรมะไม่สุจริต เช่นว่าทำบุญ ให้ทาน
ควรจะทำเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว กลับทำเพื่อเพิ่มความเห็นแก่ตัว
อย่างนี้เรียกว่าประพฤติธรรมะไม่สุจริต ธรรมะหรือว่าการทำบุญให้ทานนี้
เขามีไว้เพื่อขูดเกลากิเลสแต่ตัวกลับไปทำเพื่อส่งเสริมกิเลสก็เรียกว่าประพฤติธรรมะทุจริต
พระพุทธเจ้าท่านจึงกำชับว่าประพฤติธรรมะให้สุจริต
ประพฤติธรรมะแล้วยังให้สุจริตอีกทีหนึ่งคือให้มันตรงตามวัตถุประสงค์ของธรรมะคือทำลายความเห็นแก่ตัว
ฉะนั้นถ้าถือหลักข้อนี้ได้ก็จะเป็นคนซื่อตรง
ซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง จำเอาไว้ให้แม่นยำว่า พระพุทธเจ้าท่านขอร้องไว้ว่า
จงประพฤติธรรมะให้สุจริต เราอาจจะเคยประพฤติธรรมะอย่างเล่นตลกกับธรรมะ
ฉะนั้นไปคิดเสียใหม่ ไปอะไรเสียใหม่
ประพฤติธรรมะให้สุจริตแล้วเรื่องก็จะหมดเพราะว่าประพฤติธรรมะสุจริตก็คือประพฤติธรรมะเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น
ประพฤติธรรมะให้เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น
ให้ขูดเกลาความยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งตัวกูของกูไม่เกิดขึ้นในใจ ไม่มีเหลือ
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า
มาสวนโมกข์จะได้อะไรบ้าง นี้อยากจะพูดตัดบทสั้นๆ รวบรัดว่ามาที่สวนโมกข์นี้
อย่างน้อยก็ได้ชิมลองรสชาติของความไม่ยึดมั่นถือมั่น มาชิมลองได้รสชาติของความไม่ยึดมั่นถือมั่นคือชิมลองรสของธรรมะของพระธรรมในอันดับสูงนี่เอง
เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น
นี่เรียกว่าเป็นอันดับสูง
เรามาชิม
ทดลองชิมรสชาติของความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็คือประโยชน์ที่จะได้จากสวนโมกข์หรือจะพูดอย่างเมื่อตะกี้
ก็พูดได้ว่า เวทนาเป็นของเย็นอย่างไร เราจะชิมลองดูที่นี่ ทีนี้ ตามันเย็น
หูมันเย็น จมูกมันเย็น ลิ้นมันเย็น ผิวกายมันเย็น ใจมันเย็น
เวทนาเป็นของเย็นเพราะว่าที่นี่กำลังไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ท่านมาถึงทีนี่
ธรรมชาติของที่นี่ ต้นไม้ ก้อนหิน มันแวดล้อมจิตใจไปในทางให้ลืม
ให้ลืมความยึดมั่นถือมั่นว่าชีวิตของกู ว่าอะไรของกูนี่มันลืมไปหมด
เดี๋ยวนี้ไม่นึกถึงความตาย ไม่นึกถึงความเสียหาย ไม่นึกถึงความได้ความเสียอะไรหมด
มันว่างอยู่อย่างนี้ มันก็คือกำลังไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็เย็น
เย็นตามแบบของนิพพาน คือไม่ยึดมั่นถือมั่น
แปลว่า เรามานั่งอยู่ตรงนี้
เวลานี้ก็ลองมาชิมรสชาติของความไม่ยึดมั่นถือมั่น เพียงเท่านี้พอแล้ว ได้กำไรเกินค่าแล้วในการมาที่นี่
เสียเวลาเสียค่ารถไฟ เสียอะไรต่างๆ ที่ลงทุนไป
มันได้ผลเกินคาดเพียงแต่ได้ชิมรสความไม่ยึดมั่นถือมั่นนิดเดียว
เวลาใดมันลืมไปเรื่องตัวกู เรื่องของกู ใจคอสบายเย็นบอกไม่ถูก
มันกำลังชิมรสของพระนิพพานล่วงหน้า เท่านี้ก็พอแล้ว คุ้มกันแล้วที่มานี้
แต่มันยังมีหน้าที่ที่จะต้องพากลับไปด้วย
รักษาสภาพของจิตใจชนิดนี้ให้ติดอยู่ในใจกระทั่งกลับไปกรุงเทพฯ
พอกลับไปนี้ให้เหมือนกับไปบ้านของคนอื่น
ไปทำงานให้คนอื่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นของกู เป็นตัวกูเหมือนเดิมก็ใช้ได้
อยู่ที่นี่ก็ทำได้จะทำอะไรก็ทำได้ จะหุงข้าวก็ได้ จะกินข้าวก็ได้
จะทำอะไรให้ใครก็ได้ ก็ไม่มีความทุกข์ แล้วทีนี้ก็ไม่ใช่ของตัว ถ้าทำก็ทำให้ผู้อื่นหรือแม้แต่กินเอง
มันก็ลืมว่าตัวกิน ลืมตัวกู ลืมเป็นตัวกู
มันเป็นธรรมชาติไปตามธรรมชาติด้วยสติปัญญา
มันก็ไม่มีความทุกข์ นี้กลับไปถึงบ้าน
ก็ขอให้เหมือนกับอยู่ที่นี่เหมือนกับไปขึ้นบ้านคนอื่น ไปอยู่บ้านคนอื่น
ไปทำงานให้คนอื่นซึ่งไม่ใช่ตัวกูก็แล้วกัน ถ้าถามว่าทำให้ใคร ก็ทำให้ธรรมะ
ประพฤติธรรมะก็ต้องประพฤติให้ธรรมะ อย่าประพฤติให้ตัวกู มันจะเป็นการคดโกงอีก
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ปฏิบัติตรงปฏิบัติธรรมะนี้ก็ปฏิบัติให้ธรรมะเพื่อธรรมะแก่ธรรมะ อย่าเพื่อตัวกู
นี่ธรรมะมันอยู่ที่ไหน
ธรรมะมันอยู่ที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเรา เพราะฉะนั้นมันก็อิ่มเอง อะไรเอง
ก็ปลอดภัยเอง สบายเอง เพราะว่าธรรมะมันไม่มีที่อยู่ที่อื่น มันต้องอยู่ที่กาย
ที่วาจา ที่ใจของเรา ฉะนั้นไอ้กาย วาจา ใจ ที่มันมีสติปัญญา ปฏิบัติธรรมะ ตัวกูไม่ต้องมี
ตัวกูเอาออกเสีย ให้กาย วาจาใจบริสุทธิ์ ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา ปฏิบัติหน้าที่ของตนไปตามที่ควรจะทำ
นับตั้งแต่กินอาหาร ตั้งแต่อาบน้ำ ตั้งแต่ปฏิบัติบริหารร่างกายและทำหน้าที่การงานอย่างอื่นๆ
ทุกสิ่งทุกอย่างให้ร่างกายจิตใจที่บริสุทธิ์ด้วยสติปัญญาทำไปตามหน้าที่
ไม่มีความทุกข์เลยจนกว่าถึงวาระสุดท้ายคือมันแตกสลาย
อย่างที่เรียกว่า
เข้าโลงไปมันก็เลิกกันเมื่อได้ทำไว้ดีที่สุดอย่างนี้แล้ว อนาคตไม่ต้องพูดถึง
มันก็ต้องดีหมด อย่าไปสนใจ
ไอ้เรื่องที่ยังไม่รู้ว่า
อะไรที่ไหน สนใจแต่เรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้
ที่เรารู้ว่าอะไรที่ไหนอย่างไรนี้ให้เต็มที่ แล้วทุกอย่างมันจะดีหมด จะถูกต้องหมด
จะเป็นไปได้หมด ชาติหน้าไม่ต้องนึกถึง ในลักษณะที่จะเป็นห่วงวิตกอย่างนั้นอย่างนี้
นึกถึงแต่ว่าที่นี่เดี๋ยวนี้ ทำให้ดีที่สุด แล้วชาติหน้าถ้ามีต้องดีแน่
ดีที่สุดแน่ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะปัจจุบัน อย่าเป็นห่วงอดีต
อนาคต
ท่านหมายความอย่างนี้
วันนี้มีหน้าที่อย่างไรที่จะทำให้ดีที่สุด แล้วก็ทำ ทำดีที่สุดแล้วก็สบาย
แล้วก็ไม่ต้องห่วงชาติหน้า ชาติหลังอะไรอีกมันก็ต้องดีไปหมด
เรื่องมันจะได้รวบรัดว่าเราไม่มี ไม่มีอะไรมากมายจนปฏิบัติไม่ไหวมันมีน้อยมาก
พอปฏิบัติไหวคือระวังอย่าให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลา
แล้วถ้าจะทำอะไรไปก็ต้องทำด้วยสติปัญญา ระวังอย่าให้เกิดตัวกูของกู
ถ้าจะทำบุญให้ทาน
ก็ทำเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น อย่าทำอวดคน อย่าทำเอาสวรรค์วิมาน
นี่ถ้าจะรักษาศีล ก็รักษาศีลเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น อย่ารักษาศีลอวดคน
อย่ารักษาศีลแลกสวรรค์วิมาน ถ้าจะทำสมาธิวิปัสสนาก็ทำเพื่อบีบคั้นทำลายความยึดมั่นถือมั่น
อย่าทำวิปัสสนาอวดคนหรือไปสวรรค์วิมาน เรื่องมันก็หมดเท่านั้น
แปลว่าทำอะไรทุกๆ
อย่าง หน้าที่ทุกชนิดนี้
ปฏิบัติเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาทุกศาสนาและก็โดยเฉพาะคือพุทธศาสนา
ในฐานะเป็นพุทธบริษัท ก็ต้องช่วยกันรักษาคุณค่าของพุทธบริษัทว่าถ้าเป็นเกลือแล้วต้องเค็ม
ถ้าเป็นพุทธบริษัทแล้วต้องประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ตามแบบของพระพุทธเจ้า
สามารถจะทำลายความทุกข์ได้ ทำให้ความทุกข์สูญหายกระจัดกระจายไปได้
นี่ลองคิดดูว่า
มาสวนโมกข์วันหนึ่งสองวันนี้จะได้อะไรบ้าง การจะพูดว่าได้ชิมธรรมะที่ยังไม่เคยชิม
แล้วติดอกติดใจและมีศรัทธาแน่นแฟ้น มีความพอใจแน่นแฟ้นในการที่จะปฏิบัติอย่างนั้น
สืบต่อไปจนตลอดชีวิต เรื่องมันก็หมดเท่านั้น
มาทอดผ้าป่าหรือจะมาทำสิ่งที่จะทำลายความเห็นแก่ตัวแล้วก็ได้ชิมรสชาติของความไม่เห็นแก่ตัวตามสัดตามส่วนอยู่แล้ว
มันก็เป็นการตั้งต้นที่ดี เป็นการจุดชนวนที่ดี เพื่อความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา
มีความสุขสมตามที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาจงทุกคนเทอญ
ปู่ย่าตายายเขาให้ปิดทองหลังพระ
ลูกหลานไม่ชอบเพราะไม่ได้เกียรติ.
จิตที่จะคิดเอาหน้าเอาตาอย่าให้มันโผล่ขึ้นมาเป็นอันขาด ทำบุญอะไรออกไป
มือขวามันทำไป ไอ้มือซ้ายที่คอยคิดจะเอาหน้าเอาตาเอาดีเอาเด่น เอาสวรรค์วิมานนั้น อย่าให้มันรู้
อย่าให้มันคิด
................................
รายชื่อหนังสือธรรมะเล่มน้อย
๑๒ เล่ม
เมื่อปี ๒๕๕๓ ประกอบด้วย
๑. ความสุขปีใหม่...กลิ้งให้ดีกว่าปีเก่า
๒. เป้าหมายชีวิตและสังคม
๓. อุดมคติของโพธิสัตว์
๔. ยอดแห่งความสุข
๕. การเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง
๖. วิปัสสนาระบบลัดสั้นสำหรับประชาชนทั่วไป
๗. ทำบุญ ๓ แบบ
๘. แม่คือผู้สร้างโลก
๙. บุตรที่ประเสริฐที่สุด
๑๐. การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง
๑๑. ทุกอย่างเป็นเช่นนั้นเอง
๑๒. ดอกสร้อยแสดงธรรม ๒๔ ฉากของชีวิต
๑๒ เล่ม
เมื่อปี ๒๕๕๔ ประกอบด้วย
๑. ชีวิตใหม่เมื่อปีใหม่
๒. ความรักผู้อื่น
๓. โลกบ้าหรือธรรมะบ้า
๔. การชนะโลก
๕. อริยมรรคมีองค์แปด
๖. การศึกษาและการรับปริญญาในพระพุทธศาสนา
๗. วิธีทำสมาธิเบื้องต้น
๘. สิ่งที่พระพุทธเ จ้าทรงเคารพ
๙. อิสรภาพหรือเสรีภาพในทางธรรม
๑๐. การเมืองเรื่องศีลธรรม
๑๑. ปัญญาดีกว่าศาสตราวุธ
๑๒. ผู้ทรงเปิดให้สัตว์โลกเห็นทั่วกันหมด
๑๒ เล่ม
สำหรับปี ๒๕๕๕ ประกอบด้วย
๑. การมีอายุครบรอบปี...เป็นเช่นนั้นเอง
๒. สิ่งที่เป็นคู่ชีวิต
๓. มาฆบูชา วันนี้เป็นการกระทำเพื่อบูชาพระอรหันต์
๔. ความถูกต้องของการศึกษา
๕. ความหมายและคุณค่าของคำว่า “ล้ออายุ”
๖. การทำงานนั้นคือการปฏิบัติธรรม
๗. เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ
๘. พระธรรมในทุกแง่ทุกมุม
๙. มือขวาทำบุญอย่าให้มือซ้ายรู้
๑๐. ปวารณา คือเครื่องหมายแห่งคนดี
๑๑. ประโยชน์ของความกตัญญู
๑๒. ภูมิต่าง ๆ และแนวครองชีวิต
email
bookclub@bia.or.th
facebook.com/bookcl ub.bia
facebook.com/buddhadasaarchives
สอบถาม ณภัทร เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.
โทรศัพท์ ๐.๒๙๓๖.๒๘๐๐ ต่อ ๗๑๐๘ • โทรสาร ๐.๒๙๓๖ ๒๙๐๐
บริการ จัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์ทั่วประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น