While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สามก๊ก ศาสตร์แห่งการเอาตัวรอด


มันดีขนาดนั้นเลยเหรอ ผมเว่อร์ไปรึเปล่า .. ไม่นะ ผมไม่ได้พูดเกินจริง ในหนังสือสามก๊กฉบับนวนิยาย (มีที่เป็นพงศาวดารด้วยครับ) มีวิทยาการด้านต่างๆ ซ่อนอยู่มากมายเลยทีเดียว จนมีความคุ้มค่าที่จะเสียเวลาอ่านอย่างแน่นอน
ปัญหาคือ มันเป็นนวนิยายจีนเรื่องยาว 3 เล่มหนาๆ ผมหมายถึงฉบับแปลครั้งแรกโดยเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ที่รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าให้ดำเนินการแปลในปี พ.ศ. 2345 .. ทำให้ผมประมาณได้ว่า ทรงอ่านแล้วเห็นว่าจะเป็นประโยชน์มากกับผู้คนทุกชนชั้น และเนื่องจากทรงเป็นพระสหายของพระเจ้าตากสินมหาราช ถ้างั้นพระเจ้าตากสินซึ่งมีเชื้อสายจีน ย่อมต้องได้อ่าน ดีไม่ดี การกู้กรุงศรีอาจใช้ยุทธวิธีจากสามก๊ก ก็มีความเป็นไปได้มาก ไม่รู้ว่ามีใครลองนำมาเทียบเคียงดูหรือไม่ อาจไม่มีใครกล้าทำก็ได้นะครับ ผมเองก็ไม่กล้าเพราะความรู้ความสามารถไม่มากพอ
นวนิยายสามก๊กดียังไง .. ก่อนอื่นเราคงต้องรู้คร่าวๆ ว่ามันมีที่มายังไง ถึงจะเข้าใจได้ว่ามันดียังไง .. ผมจะเล่นแต่ version หลักๆ แล้วกันนะครับ
1.       ซานกว๋อจื่อ โดยเฉินโซ่ว(ตันซิ่ว) จัดทำขึ้นในรูปแบบของจดหมายเหตุในสมัยจิ้นอู่ตี้ ผู้รวมสามก๊กให้เป็นหนึ่ง เป็นการรวบรวมการจดบันทึกทั่วไป, บันทึกทางการทหาร และพงศาวดารของแต่ละก๊กเข้าด้วยกัน เป็นหลักฐานจากยุคนั้นเลย ออกมาเป็น พงศาวดารเว่ย(โจโฉ) 30 เล่มสมุด, พงศาวดารฉู่(เล่าปี่) 15 เล่มสมุด, พงศาวดารง่อ(ซุนกวน) 20 เล่มสมุด รวมเป็น 65 เล่มสมุด ใช้อักษรราว 360,000 ตัวอักษร อลังการมากครับ และถูกเรียกว่าพงศาวดารแห่งเว่ย ..
เรื่องเริ่มจากปลายราชวงศ์ฮั่น(สกุลเล่า) เกิดกบฎโจรโพกผ้าเหลือง ก๊กทั้งสามแยกตัวเป็นอิสระ สกุลโจขึ้นครองราชย์(ลูกของโจโฉ) สกุลซือหม่าขึ้นครองราชย์และรวบรวมแผ่นดิน เป็นเวลาราว 100 ปี (ค.ศ. 183 - 280) .. จะเห็นได้ว่า การยึดอำนาจ มาจากคนที่เป็นแม่ทัพ คุมกำลังทหาร .. จัดเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ดีและค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นตำราสงครามที่ยอดเยี่ยม แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจ
2.       ซานกว๋อจื่อผิงฮว่า เป็นนิทานพื้นบ้านที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง สำหรับเล่านิทานและเล่นงิ้ว ผูกเรื่องให้มีเค้าโครงในรูปแบบนวนิยายเป็นครั้งแรก โดยนำเรื่องสามก๊กไปผสมกับเต๋าและไซ่ฮั่น เรื่องราวกล่าวย้อนไปถึงต้นราชวงศ์ฮั่น เกี่ยวกับการชิงอำนาจของหลิวปังและฉ้อปาอ๋องรวมทั้งแม่ทัพหานซิ่นและกุนซือเก่งๆ ในช่วงล้มล้างราชวงศ์ฉิน(จิ๋นซีฮ่องเต้) แล้วมาเกิดใหม่ล้างแค้นกันในยุคสามก๊ก ข้อมูลไม่ค่อยถูกต้อง แต่เป็นต้นแบบของสามก๊กฉบับนวนิยาย ที่เราจะได้อ่านกัน
หมายเหตุ .. คำว่าจีนมาจากคำว่าฉิน และคนจีนเรียกตัวเองว่าชาวฮั่นมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ฮั่น ส่วนหานซิ่น(ฮั่นสิน)แม่ทัพใหญ่ที่ช่วยหลิวปังก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ภายหลังถูกกำจัดเพราะหลิวปังกลัวความเก่ง เกรงว่าจะยึดอำนาจ กลายเป็นที่มาของภาษิตที่ว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล .. คุ้นกันไหมครับ
3.       ซานกว๋อจื่อจู้ โดยเผย์ซงจื่อ ทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ราว ค.ศ. 960 เขาได้นำซานกว๋อจื่อของเฉินโซ่วมาชำระใหม่ โดยตรวจสอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบใหม่ๆ ไม่แก้ไขของเก่า แต่ใช้วิธีอธิบายเพิ่มเติม ทำหมายเหตุไว้ในจุดที่ข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง หรือขัดแย้งกันเองในเรื่องของเวลา มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากที่เฉินโซ่วไม่ได้พูดถึง อ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดี จัดเป็นการศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่มีความกดดันในเรื่องหน้าที่การงานแบบเฉินโซ่ว คุณเคยได้ยินไหม คำว่า ประวัติศาสตร์บันทึกโดยผู้ชนะ ซึ่งอาจไม่ได้ทำเรื่องที่ถูกต้องทุกเรื่อง แต่ไม่บันทึกเรื่องที่ผิด
4.       ซานกว๋อจื่อทงสูเหยี่ยนหยี่ โดยหลอกว้านจง อยู่ในช่วงปลายราชวงศ์หยวน(ชาวมองโกล) ต่อต้นราชวงศ์หมิง(ชาวฮั่น) ราว ค.ศ.1522 โดยนำข้อมูลจากซานกว๋อจื่อของเฉินโซ่วและซานกว๋อจื่อจู้ของเผย์ซงจื่อ มารวมกับจินตนาการของเขา ได้นวนิยายสามก๊กเป็นเล่มแรก ที่มีความยาว 240 ตอน นักประวัติศาสตร์ยุคหลังได้ทำการศึกษาเทียบเคียงแล้วพบว่า มีเนื้อหาถูกต้องตรงกันกับซานกว๋อจื่อ 70 % อีก 30 % เป็นจินตนาการล้วนๆ มีวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์หยวนเข้ามาผสมอยู่ด้วย และเนื่องจากเป็นรูปแบบของนวนิยาย เลยต้องมีพระเอกมีผู้ร้าย จากเดิมที่ไม่มีให้เห็นเด่นชัด  .. สิ่งสำคัญคือ นี่เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง กลับไปสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสามก๊กกันอย่างจริงจัง และทำให้เรื่องสามก๊กโด่งดังไปทั่วโลก
5.       ซานกว๋อจื่อเหยี่ยนหยี่ โดยพ่อลูกสกุลเหมา เหมาหลุนและเหมาจงกัง ในสมัยราชวงศ์ชิง(ชาวแมนจู) พวกเขาจับงานของหลอกว้านจงมาดัดแปลงแก้ไข เปลี่ยนภาษาพูดแบบสมัยราชวงศ์หยวนให้เป็นภาษาเขียนแบบราชวงศ์ชิง เปลื่ยนชื่อเรียกตำแหน่งทางการเมืองและการทหาร ชื่อสถานที่ เปลี่ยนบุคลิกลักษณะของบุคคล ล่อซะเละน่ะครับ ทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไปจากประวัติศาสตร์เยอะเลย แต่ก็มีข้อดีครับ พวกเขาลดความยาวยืดของฉบับหลอกว้านจงจาก 240 เหลือ 120 ตอน เดินเรื่องเร็ว และทำให้อ่านได้สนุกขึ้น
6.       สามก๊กฉบับพิสูจน์ประวัติศาสตร์ โดยพานเหมย เขาได้รวบรวมข้อมูลทางวิชาการในยุคราชวงศ์ชิง นำมาเทียบเคียงกับฉบับของเผย์ซงจื่อ มีข้อพิสูจน์ลงลึกในตัวบุคคล เวลา สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ
7.       นวนิยายสามก๊กภาษาไทยฉบับแรก แปลจากซานกว๋อจื่อเหยี่ยนหยี่ครับ โดยเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ในรัชกาลที่ 1 .. ท่านเป็นชาวจีน มีทีมแปลทั้งชาวไทยและชาวจีนร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องในการแปล พยายามใช้ถ้อยคำให้คนไทยสามารถเข้าใจได้ง่าย คำบางคำจึงไม่ถูกต้องตรงกับคำจีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร อย่างฉินกลายเป็นขิมไปอย่างนี้ ถ้าใช้คำว่าฉิน คนสมัยนั้นคงไม่มีใครนึกภาพออกแน่ ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ รวมถึงการแปลมาจากฉบับที่ไม่มีความถูกต้องตรงกับประวัติศาสตร์ก็ตาม .. ก็เราจะเอาความสนุกและกลยุทธกันไม่ใช่หรือ ถ้าอยากศึกษาประวัติศาสตร์เราควรต้องไปอ่านของเผย์ซงจื่อ
8.       สามก๊กฉบับคนขายชาติ .. หลังจากฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ออกมา ก็มีอีกมากครับ เช่น ยาขอบ วรรณไว มีแยกวิเคราะห์เป็นเรื่องๆ เป็นรายบุคคล เฉพาะทางด้านการทหาร การเมือง ธุรกิจ ก็มี จัดเป็นประเด็นร้อนมาทุกยุคทุกสมัย ที่ไม่เคยเสื่อมความนิยมเลย .. แต่ฉบับคนขายชาติเป็นการวิเคราะห์ทั้งเรื่อง ทุกด้าน และมีการอ้างอิงเทียบเคียงกับสามก๊กฉบับอื่นๆ อีกหลายเวอร์ชั่น .. ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล (เลยกลายเป็นของฟรีโหลดล่ะมั๊ง) ใช้เวลาเขียนราว 2 ปีกว่า
สามก๊กถูกจัดเป็น 1 ใน 4 วรรณกรรม (นวนิยาย) ระดับชาติของจีน ที่มีเรื่อง สามก๊ก, ซ้องกั๋ง(วีรบุรุษเขาเหลียงซาน), ไซอิ๋ว, ความฝันในหอแดง .. โครงเรื่องของนวนิยายสามก๊กฉบับหลอกว้านจง (ตัวต้นแบบของเหมาจงกังที่เราเอามาแปลกัน) เป็นนิยายสงครามทั่วไป แต่งขึ้นโดยอ้างอิงจากพงศาวดารจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบันทึกทางการทหาร ไม่มีการบันทึกเรื่องส่วนตัว ผู้คนมีตัวตนอยู่จริง แต่อุปนิสัยของแต่ละคนใช้การคาดคะเนและจินตนาการเอาเกือบทั้งหมด
แล้วหลอกว้านจงเก่งยังไง ทำไมเราควรให้ความสนใจนวนิยายสามก๊ก .. เขาจัดเป็นนักปราชญ์ของยุค เป็นคนมีความรู้เชี่ยวชาญหลายด้าน จึงกลายเป็นที่ปรึกษาของกองทัพ เขาร่วมรบกับจางซื่อเฉิงในการกู้ชาติ ต่อสู้กับทัพของจูหยวนจางที่กลายมาเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์หมิง ทำให้หลอกว้านจงมีความใกล้ชิดกับผู้นำทัพ เข้าใจความคิดอ่านของเหล่านักรบ รู้ยุทธศาศตร์ การใช้กลอุบาย การเมือง การทูต ซึ่งเขาได้นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาสอดแทรกไว้ในนวนิยายของเขา มันเลยกลายเป็นการรวมศาสตร์แห่งการเอาตัวรอดในทุกสถานการณ์ และเป็นเรื่องที่พอจะศึกษาได้ ไม่วุ่นวายและเรื่องเยอะเหมือนยุคชุนชิว จ้านกว๋อ (ยุคที่ซุนวูเกิดน่ะครับ ก่อนจิ๋นซีรวบรวมแผ่นดินจีน ใครๆ ก็ต้องศึกษาตำราพิชัยสงครามของซุนวู มาตั้งแต่ยุคของเขานั่นแหละ แม้แต่ขงเบ้งหรือโจโฉ)
สิ่งที่ซ่อนอยู่ในนวนิยายสามก๊กคือ การเมือง, การปกครอง, การวางกฎหมาย, การทหาร, ยุทธวิธี, จิตวิทยามวลชน, จิตวิทยาทั่วไป, ปรัชญา, ศาสนา, โหราศาสตร์, การใช้เล่ห์เพทุบาย , การใช้คำพูด, การแสดงออก ซึ่งทั้งหมดนี้มีไว้ให้ศึกษา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และคำว่ามารยา 500 เล่มเกวียนมันยังน้อยเกินไป ที่สำคัญมันช่วยทำให้ดูคนออกมากขึ้น เขามาแบบไหน ต้องการอะไร ลักษณะของคำพูด การกระทำ ต้องการอะไร ถ้าเราไม่มีอคติเข้าครอบงำ (ความรัก ความเกลียด) คุณก็จะเห็นตัวตนของคนอื่นได้ชัดเจนขึ้น ช่วยให้หัดสังเกตคนมากขึ้น พยายามมองหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้ม คำพูด มันดีต่อการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ และการใช้ชีวิตทั่วไป
ผมสนใจหนังสือนี้มาก มานาน แต่ล้มเหลวในการอ่านหลายครั้ง ไปติดอยู่ตรง 10 ขันที แล้วไปต่อไม่ได้ เพราะมันมึนแล้วถอดใจ ครั้งแรกที่อ่านได้จนจบ วางไม่ลงครับ มันเป็นนิยายจีนที่สนุกมาก ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยอ่านนิยายจีนมาก่อน
คุณอาจเคยได้ยินคำว่า อ่านสามก๊กสามจบคบไม่ได้ ผมได้ยินคำนี้มาจากพ่อของผมตั้งแต่ผมอายุได้ 10 กว่าขวบ ทำไมคนส่วนใหญ่พูดอย่างนั้น แล้วมันจริงไหม .. ไม่จริงทั้งหมดหรอกครับ การอ่านสามก๊กแล้วเอาข้อมูลไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของผู้อ่าน ความสามารถในการจดจำ และการนำไปประยุกต์ใช้ .. ถ้าเป็นคนดีๆ จะถูกเอาเปรียบน้อยลง ถ้าเป็นคนเลวๆ เขาก็จะนำมาใช้เพื่อเอาเปรียบคนอื่น .. แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าคนอื่นอ่านไหม ไม่มีทางรู้ได้หรอกครับ วิธีเดียวคืออ่านมันซะ จะได้รู้เท่าทันคนอื่นเขา เป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้เสียรู้คน
เรื่องของเรื่องคือ มันเป็นไปได้ยากที่จะเอาอะไรๆ ไปใช้ได้ จากการอ่านเพียงรอบเดียว .. แต่ข้อดีของนวนิยายสามก๊กคือ มันเป็นหนังสือที่อ่านสนุกด้วย ความไม่น่าเบื่อทำให้สามารถอ่านได้หลายครั้งโดยไม่ลำบากนัก .. ในการอ่านครั้งแรก คุณจะมัวแต่ตื่นเต้นกับเรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อน มึนกับตัวบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ วิธีปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ อันมากมายนับไม่ถ้วน .. รอบสอง คุณเริ่มจดจำเรื่องราวได้ในระดับหนึ่ง .. รอบสามคุณจะจำเรื่องราวได้มากขึ้น เห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น เริ่มคิดวิเคราะห์ตาม เริ่มดูเจตนาของตัวละครแต่ละคน .. เอาล่ะ ได้เวลาไปลองวิชากันแล้วครับ
คนที่อ่านรอบเดียวแล้วเอาไปใช้ได้เลย ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่คงไม่มาก เขาคงต้องมีความจำดีเยี่ยม รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่หลงไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลินในการดำเนินเรื่อง และเป็นคนช่างคิดวิเคราะห์อยู่แล้ว คนประเภทนี้ฉลาดและน่ากลัว แต่คนฉลาดเขาจะไม่บอกใครหรอกครับว่าเขาฉลาด ภาวนาให้เขาไม่ใช่คนนิสัยไม่ดีที่คุณต้องพบเจอก็แล้วกัน (ผมรู้จักอยู่คนนึง โชคดีที่เราร่วมสายเลือด) .. ตัวผมเอง อ่านไป 2 รอบในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) อีก 1 รอบกับฉบับคนขายชาติ แต่ก็ยังไม่ทันคน ดูคนไม่ผ่าน ที่เขาว่า อ่านให้ออก บอกให้ได้ ใช้ให้เป็น  .. นี่เรื่องจริง มันพลาดอยู่บ่อยๆ จนทำให้คิดว่า ถ้าผมไม่อ่านหนังสือเล่มนี้เลย มันจะแย่ขนาดไหน คงโดนหลอกตาย .. นี่จัดอยู่ในกลุ่มคนโง่ที่อยากจะฉลาดขึ้นนั่นเอง สงสัยว่าผมคงจำเป็นต้องอ่านรอบที่สี่ เผื่ออะไรๆ มันจะดีขึ้น.
อ่านต่อใน
insight สามก๊ก
สามก๊กฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม .pdf




 

1 ความคิดเห็น:

สามก๊กวิทยา กล่าวว่า...

เขียนได้ดี อ่านแล้วสนุกจนอยากกลับไปหยิบสามก๊กมาอ่านทบทวนอีกสักรอบ ขอบคุณครับ