การอ่านหนังสือนี้หลายรอบ แต่ก็ยังไม่ฉลาดขึ้นสักเท่าไหร่
ทำให้ผมประมาณได้ว่า ผมคงไม่รู้วิธีอ่านที่ถูกต้อง .. คราวนี้ผมจะลองใช้วิชา
ว่าด้วยการอ่านเอาความ อ่านไป วิเคราะห์ไป จดบันทึกด้วย .. ซึ่งในการอ่านหนังสือจำนวน
1677 หน้า A4 ที่คราวแรกผมคิดว่า หากอ่านวันละ 60 หน้า
จะใช้เวลาราว 1 เดือนในการอ่านให้จบ ปรากฏว่า เมื่อเราไม่ได้อ่านแบบผ่านๆ
มันก็ช้ากว่าที่คิดไว้มาก .. เมื่อคืน ผมอ่านได้แค่ 20 หน้า ที่คาดไว้ว่า 1
เดือนในอนาคต ผมคงจบเรื่องกับสิ่งนี้ เลยน่าจะกลายเป็น 3 เดือนเสียแทน
และดูเหมือนมันจะบานปลายไปมากกว่านั้น
แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมจะเอาสิ่งที่ผมดึงออกมาจากเรื่องราวล้นหลาม
ผู้คนมากมายอันน่ามึนงง เอามาแบ่งให้คนอื่นๆ ได้อ่านกันด้วย .. น่าจะดี
สำหรับคนที่ไม่มีเวลามากๆ, ไม่มีอารมณ์จะมานั่งอ่านนิยายจีนเรื่องยาวๆ
.. ซึ่งความจริง ตัวผมเองก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า ผมพลาดอะไรไป ..
เอามาจากสามก๊กฉบับคนขายชาติครับ ผมจะพยายามมา update มันทุกวัน ถ้าการงานไม่ล้นมือนัก .. ยังมีต่ออีกเยอะ ปีนึงจะจบเรื่องรึเปล่า
ผมก็ไม่แน่ใจ .. ค่อยๆ อ่านกันไปนะครับ แต่ผมว่า ถ้าคุณได้อ่านเอง คุณอาจได้อะไรมากกว่าผมก็เป็นได้
.. ที่ผมเอามาใส่นี่ ควรเรียกว่าการจดบันทึกแบบหยาบ
เนื่องจากเป็นงานใหญ่โต อ่านจบเมื่อไหร่ ผมคงกลับมาดูเรื่องความเรียบร้อยอีกที
ก็อย่าถือกันเลยนะครับ
ผมตั้งใจว่า อ่านจบรอบนี้แล้ว ผมจะหาสามก๊กฉบับสมบูรณ์
พร้อมคำวิจารณ์ ของคุณวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ มาอ่านต่อ ท่าจะสนุกและได้ความรู้ไปอีกแบบ
.. ทีแรกผมคิดว่า คนที่อ่านสามก๊กหลายรอบ คงมีไม่มาก
แต่เมื่อลองค้นหาข้อมูลในเนทก็พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ หลงใหลในสามก๊ก
จนเกินกว่าจะอ่านเพียงรอบเดียว ถ้าพอมีเวลา คุณน่าจะลองอ่านดูสักบท
หน้าที่ 1 – 23 อ่านวันที่
16 Oct.,2013
-
อันเสาศิลา 8 ศอกตอกเป็นหลัก
เมื่อผลักทุกวันเข้า เสาก็ไหว
-
ตั๋งโต๊ะ ไม่รู้การหนักเบา
เอาแต่ถือตัว อวดดี .. ตั๋งโต๊ะคือทรราชย์ตัวแม่ แต่อยู่รอดได้พักเดียว ..
โจโฉเขาก็ว่าเป็นทรราชย์เหมือนกัน (แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น)
ขึ้นสู่อำนาจในรูปแบบคล้ายกัน แต่นิสัยโจโฉแตกต่างจากนี้มาก ทำให้อยู่ได้ยาว
รวมใจคนและขุนนางได้ แถมยังสามารถวางรากฐานไว้ให้ลูกขึ้นสู่ความเป็นใหญ่
-
จะทำการค้าใหญ่ ต้องอยู่เมืองใหญ่
/ ปลาใหญ่ ต้องอยู่น้ำลึก
-
อำนาจ อยู่ที่ปลายดาบ / ปลายปืน
(ใช้มาตั้งแต่ยุคสามก๊กถึงปัจจุบัน ท่านเหมาเจ๋อตุงก็ใช้ปฏิวัติแผ่นดินจีน)
-
ของต้องระวังให้จงหนัก .. ไส้ศึก
/ การแปรพักตร์ / การทรยศหักหลัง
-
5 สุดยอดวิชาขันที ..
ทุกวันนี้ก็มีให้เห็นเกลื่อนกลาด
พินอบพิเทา สร้างความพอใจ
สร้างความแตกแยก เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ / เอาตัวรอด
ฆ่าคน โดยใช้วาจาเป็นอาวุธ
เรียกรับสินบน
ติดสินบน
-
อย่าต้อนคนให้จนตรอก เขาจะสู้ตาย
ต้องเปิดทางหนีให้ด้วย ความเสียหายจะไม่มาก
-
การปล้น 3 อย่าง ..
ใช้กำลัง+อาวุธ ปล้นข้าวของ เงินทอง .. มีมาตั้งแต่ยุคหิน
ใช้ปากกาเป็นอาวุธ พลิกกลับดำ-ขาว ปล้นความยุติธรรม .. เริ่มใช้เมื่อมีกระบวนการยุติธรรม
ใช้อิทธิพลปล้นความดีความชอบ .. เริ่มใช้เมื่อมีประชาธิปไตย
ในสามก๊ก มีครบหมดทุกอย่าง
-
มารยา 10 ขันที .. เมื่อจวนตัว
ให้ร้องไห้ฟูมฟาย ทำตัวน่าสงสาร จากนั้นรุกกลับด้วยคำพูดที่มีเหตุผล ..
จิตวิทยาการเปิดใจคน
-
ยอมอ่อนข้อ เพื่อลดความขัดแย้ง
แล้วหาโอกาสจัดการภายหลัง
-
ระบบส่วย สินบน ของกำนัล
-
พบเสือให้หนี พบหมูให้กิน
-
คนซื่อตรง แม้ด้ายสักเส้น
เข็มสักเล่ม ก็ไม่เบียดเบียนจากผู้อื่น (เล่าปี่ใช้ เหมาเจ๋อตงใช้)
-
อยู่ให้ถูกที่
-
ฝ่ามืออันน้อยเมื่อปิดตา
ก็สามารถปิดฟ้าอันกว้างไกล .. ใช้ได้กับเรื่องน่ารำคาญ /
ใช้ไม่ได้กับเรื่องจำเป็น ซึ่งหากไม่ให้ความสนใจ
จะเป็นภัยในภายหลัง
-
คำตอแหล ระรื่นหู มักติดใจ
- จะตักเตือนผู้ใด ให้พิเคราะห์ให้จงดี ใช้คำพูดให้ถูก กาละเทศะให้ถูก
หาไม่จะเป็นภัย
หน้าที่ 24 – 37 อ่านวันที่
17 Oct.,2013
-
แต่งตั้งพ่อค้าเนื้อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
.. จะใช้คนต้องดูความรู้ ความสามารถ สติปัญญา คุณธรรม นิสัยใจคอ
-
พระเจ้าเลนเต้
จะทำการใดไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ไม่รู้การควรไม่ควร เป็นเหตุให้สิ้นราชวงศ์
-
เมื่อถามความคิดอ่านแล้วนิ่งเฉย
ไม่อาจออกความเห็น อาจเป็นเพราะกลัวภัยหรือไม่ก็โง่เขลา
-
คุมอำนาจรัฐ / เป็นตัวแทนอำนาจรัฐ
/ ใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ .. จะนำอำนาจรัฐมาใช้ได้
-
ความไม่พอใจ --> คับแค้นใจ --> ชิงชัง --> อาฆาตพยาบาท --> หาหนทางชำระแค้น ..
ความไม่พอใจมันน่ากลัวกว่าที่คิด
-
จงระวังเชื้อไฟที่นิ่งสงบชั่วคราว
รอวันลุกโชติช่วงขึ้นมาใหม่ .. แก้ปัญหา ต้องให้จบจริง
-
แสร้ง / อ้าง อาศัยความภักดี
หาผลประโยชน์เพื่อตน
-
อำนาจรัฐ – ต้องช่วงชิง ต้องใช้ด้วยตนเอง ต้องรักษาไว้ .. ต้องจัดการ 2 ทาง
.. กับตนเอง ... เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ ความคิด
1. รู้เลือกคนดี
2. สามารถสร้างเอกภาพทางความคิด การรับรู้
การปฎิบัติ ให้มีความมั่นคง
3. ฝึกฝนตนเอง จนมีวิสัยทัศน์กว้างขวาง
บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง
4. นำการของตนให้บรรลุเป้าหมาย
.. กับคนอื่น ...
1. หาคนดีมีฝีมือมาร่วมทำการ
2. ส่งเสริมคนดีให้มีอำนาจ
3. ใช้คนดีให้เหมาะกับการ
-
ใช้เมตตาและคุณธรรม เพื่อรวมใจคน
-
หล่อหลอมตนเองให้มีคุณสมบัติพร้อมไว้
-
คนชั่วช้า
ไร้สติปัญญาและความสามารถ หากใช้สินบน ก็อาจมีอำนาจวาสนาได้
-
คนโลภอยู่ใกล้อำนาจ มักอันตราย
-
ความขัดแย้งภายใน
อย่าให้ล่วงรู้ถึงภายนอก ภัยจะยิ่งใหญ่
-
เมื่อกลางวัน
อย่าหลงระเริงจนลืมกลางคืน .. เมื่อกลางคืน
ผู้มีปัญญาย่อมเห็นอนาคตของแสงแห่งรุ่งอรุณ
-
น้ำไกล ไม่อาจดับไฟใกล้
-
สงบนิ่ง สังเกตอากัปกิริยา
ไม่พูดในสิ่งที่อาจเป็นภัยในภายภาคหน้า
-
คนประเภทที่จะเป็นภัย – ไร้สติปัญญา ขี้ขลาดตาขาว เอาตัวรอด
-
ทำตนเป็น แสงไฟน้อย
สว่างขึ้นในความมืด ผู้คนก็ดีใจนัก ไม่ต้องใช้ไฟกองใหญ่ ..
รอให้ผู้อื่นสิ้นหนทางจริงๆ จึงเสนอทางออก
-
คนไร้ความคิด จิตใจโลเล
ไม่หนักแน่น จะแพ้ภัยตนเอง .. และทำให้คนใกล้ชิดเป็นภัยไปด้วย
-
อย่าข่มใครให้มากนัก
หากเขาเป็นใหญ่ เขาย่อมเอาคืน
-
ว่าราชการหลังม่าน
-
อย่าข้ามหน้าข้ามตาผู้อาวุโส
แม้เขาจะสิ้นอำนาจ / ไร้วาสนา
-
จะหาแหล่งพักพิงอาศัย
ต้องให้มั่นคง
-
ความชิบหายจะเกิดแก่คน หวงอำนาจ
บ้ายอ หูเบา ชอบการพินอบพิเทา ยกย่องสรรเสริญ
-
กุมหัวใจนาย ของศัตรู
-
ให้ระวังคนที่ชอบยกยอปอปั้นผู้อื่น
มักไม่มีความจริงใจ มองหาช่องทางเอาประโยชน์ใส่ตัว
-
อย่าปล่อยให้ตนเองเป็นสินค้า
ที่จะซื้อได้ด้วยสินบน และคำสรรเสริญเยินยอ
-
คนช่างยุแยงตะแคงรั่ว อันตรายยิ่งนัก
-
ล่อหลอกด้วยผลประโยชน์ จัดว่าดี /
ล่อหลอกด้วยอำนาจบารมี ดียิ่งกว่า
-
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าเมือง ..
เรียกทัพหัวเมืองมาช่วยแก้ปัญหาในเมืองหลวง มีหรือจะถอยกลับ
รังแต่จะยึดครองเมืองหลวงเสีย
-
การน้อย ทำน้อย / การใหญ่ ทำใหญ่
/ การน้อย ทำใหญ่ ผลได้ไม่สู้เสีย
-
ควายได้ยินเสียงทิพยดนตรี ..
ได้รู้ ได้ยินอะไร คิดให้ถ้วนทั่ว อย่าให้ใครเอาคำนี้มาใช้กับคุณ
-
มองปัญหาให้ถึงแก่น
จำแนกออกเป็นส่วน การแก้ไขจะทำได้โดยง่าย
-
กำหนดเป้าหมายให้เล็ก
โจมตีเป้าหมายให้แม่นยำ ทำลายล้างอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
-
นั่งสงบ สบโอกาสเป็นต่อจึงค่อยทำการ
-
การสำคัญที่ควรลับ
อย่าให้เอิกเกริก อย่าให้เห็นความเคลื่อนไหว
หน้าที่ 37 – 48 อ่านวันที่ 18 Oct.,2013
-
หมายรับสั่งปลอม ..
จริงเท็จไม่สำคัญ เข้าทางแล้วก็ดำเนินการได้
-
ผู้มีปัญญาพึงเล็งการให้แม่นยำ
ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง
-
ความผิดพลาดในเรื่องเล็ก
ถ้าแก้ไขไม่ได้ ก็ยังพอรับได้
-
ความผิดพลาดในเรื่องใหญ่
สิ้นโอกาสแก้ไข .. พลาดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน
-
ฆ่าเขา ก่อนที่เขาจะฆ่าเรา
-
หากสถานการณ์ชัดเจน
การลงมือก่อนย่อมได้เปรียบ .. หากสถานการณ์ไม่ชัดเจน การลงมือก่อน มักเสียเปรียบ
-
หากมีคนขอความช่วยเหลือ
พิเคราะห์เจตนาให้ชัด มิเช่นนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของเขา
-
การยืมดาบฆ่าคน ..
ดาบไม่ควรรู้ว่าตัวเองถูกใช้เป็นดาบ
-
หลอกล่อด้วยภัย
ได้ผลเร็วกับคนเขลาและขี้ชลาด .. หลอกล่อคนฉลาด ต้องหลอกด้วยเหตุผล หมายความว่าคุณ ต้องฉลาดกว่า
-
อำนาจและผลประโยชน์
ทำลายคนมานักต่อนัก เมื่อมี ต้องรู้จัก และใช้ให้เป็น
-
ยกยอให้ยิ่งใหญ่
ไม่มีใครช่วยผมได้นอกจากคุณ .. คำพูดทำนองนี้ อันตรายยิ่งนัก ควรหลีกให้ไกล
-
เข้าเฝ้า เช้า-เย็น ..
สร้างความสนิทสนม ไว้วางใจ
-
ความเฉลียวใจ ความคิดอ่านระวังตัว
เป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่เสมอ
-
อย่าทะนงตน ลำพองใจ
คิดว่าไม่มีใครทำอะไรได้ .. คนประเภทนี้จะถูกทำลายได้ง่ายที่สุด
-
ดูเงาหัวตัวเองอยู่เสมอ
-
เมื่อได้เป็นใหญ่
ไม่กำเริบเสิบสาน จะเป็นใหญ่ได้นาน
-
คนอกตัญญู แม้เติบโตได้
ก็จะแพ้ภัยตนเอง
-
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
แล้วเลือกสู้ตาย ผลที่ได้มักตาย .. เพราะตกอยู่ในสภาพถูกกระทำ ถูกจำกัดหนทาง
ผู้มีปัญญาจะไม่ยอมให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพการณ์เช่นนั้น
-
การเห็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด
ได้ยินเสียงซึ่งไม่มีใครพูด คาดคิดในสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ทั่วถึง
เป็นวิสัยของบัณฑิต มิใช่ญาณหยั่งรู้ .. เรื่องทั้งหลายล้วนมีสิ่งบอกเหตุ
การจะรู้ได้ เห็นได้ อยู่ที่วิจารณญาณ
-
วาจาดี
อาจทำความเห็นผิดให้เป็นชอบ แต่ไม่อาจกลับดำให้เป็นขาว
-
เมื่อพลาดจนกลับลำไม่ได้แล้ว
ก็ทำให้ตลอด ล้างภัยให้สิ้น จึงจะมีโอกาสเอาตัวรอดได้
-
การฆ่าล้างโคตร
ไม่ใช่เรื่องของความแค้น แต่เป็นการป้องกัน การล้างแค้น
-
ทำเพื่อความแค้น
หรือทำเพื่อความยุติธรรม อยู่ที่คำพูด .. แบบแรกต้องทำคนเดียว
แบบหลังสามารถหาความร่วมมือได้
-
หากไม่มีใต้หล้า ก็มีฟ้าไม่ได้
-
กบฏหรือคณะปฎิวัติ ขึ้นอยู่กับว่า
ชนะหรือไม่
-
มหาราชหรือทรราชย์
อยู่ที่ปลายพู่กันของคนบันทึกประวัติศาสตร์
-
หากทรชนมีอำนาจ วีรชนก็อยู่ไม่ได้
บ้านเมืองย่อมชิบหาย
-
สวมวิญญาณ 10 ขันที = ใช้ระบบส่วย
สินบน ทุจริต ฉ้อราษฏร์
-
ขุนศึกปะทะขุนศึก
ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายแก่ไพร่พล
-
ผู้เป็นใหญ่ อุ้มชู ให้อำนาจทรชน
ตนก็จะมีภัยเสียเอง
-
แสงหิ่งห้อย แม้น้อยนัก
หากรวมกลุ่มกลับสว่างไสว
-
กำลังใจที่ดี
สร้างสิ่งมหัศจรรย์ในยามวิกฤติ
-
ฉวยโอกาสสร้างความชอบ
เพื่อเข้าแทรกแซงกิจการภายใน
-
คุมสติให้มั่น
แม้ภัยถึงตัวก็อาจแก้ไขเอาตัวรอด .. หากขาดสติ ก็สิ้นทางแก้ไข
-
สิ่งที่อำนาจบันดาลได้ : สมบัติ-วิบัติ
/ เจริญ-เสื่อม / สงบ-วุ่นวาย / สงคราม-สันติ .. ขึ้นอยู่กับผู้ใช้อำนาจ
-
อำนาจดุจดังน้ำ
รูปร่างขึ้นอยู่กับภาชนะ เคลื่อนตัวไปไม่หยุดยั้ง ผู้คนต่างช่วงชิง ใช้
และรักษาไว้
-
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
น่ากลัวกว่าฮ่องเต้ .. ผ่านคำเพ็ดทูล
-
มีกุนซือดี มีโอกาสมีชัย
-
แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ จัดว่าดี
แต่การวางแผนป้องกันไม่ให้มีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้น ย่อมดีกว่า
-
มีจุดอ่อน รู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อน
คือจุดแข็ง
-
เมื่อจะเสี่ยง
ต้องแน่ใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ การจะแน่ใจได้ ต้องคิดวิเคราะห์ให้รอบด้าน
-
กฎหมาย สามารถก้าวล่วงได้
หากผู้ถือกฎหมายเห็นชอบด้วย
-
ผู้ถืออำนาจ ย่อมเป็นผู้ถือกฎหมาย
-
นั่งภู ดูเสือกัดกัน ..
ปล่อยให้ฟาดฟันกันให้บรรลัย จึงค่อยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์
-
เมื่อความขัดแย้งรุนแรงและขยายตัว
เพียงนั่งดูเฉยๆ เมื่อเวลามาถึง มันจะระเบิดเอง
-
ระวังความโหดเหี้ยม อำมหิต
ภายใต้ใบหน้าใสซื่อ บริสุทธิ์
-
ดูให้ออกว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือใคร
วางตัวให้ถูก ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ตี 2 หน้าถ้าจำเป็น
-
ใครชนะเข้าด้วยช่วยกระพือ
เป็นการกระทำที่โง่เขลา ประจบสอพลอ อาจนำภัยมาให้ในภายหลัง
หน้าที่ 48 – 59 อ่านวันที่
21 Oct.,2013
-
แสร้งถามความเห็น
ใครขวางก็ฆ่าเสีย เชือดไก่ให้ลิงดู .. ก่อนตอบอะไร ดูให้ดี
-
จะมีเรื่องกับใคร
ดูคนข้างกายเขาด้วย .. เราไม่ได้มีเรื่องกับคนๆ เดียวที่อยู่ตรงหน้า ยังมีพรรคพวก
เพื่อนฝูง โคตรพ่อโคตรแม่มันอีก
-
การสำคัญ
ไม่ควรเอามาปรึกษาหน้าข้าว หน้าเหล้า
-
วิธีจัดการกับศัตรูที่ดีที่สุด
คือเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร
-
ลิโป้ องอาจกล้าหาญ แต่หยาบช้า
ละโมบ ไม่รู้จักบุญคุณคน หากให้ราคาถึงขนาด คนแบบนี้ก็พร้อมที่จะขายตัว
-
จะทำการใหญ่
เสียดายอะไรกับข้าวของเงินทองและม้า การสำเร็จแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะได้กลับคืนมา
-
ธรรมดานก
ย่อมอาศัยป่าที่มีผลไม้มากจึงเป็นสุข
-
กล่าวอ้างโองการสวรรค์
ทำตามอำเภอใจ
-
ขอความเห็นแกมบังคับ
ความจริงต้องการบอกให้รับรู้และปฏิบัติตาม ใครขัดก็ฆ่าเสีย
-
คงสภาพเละเทะไว้ แล้วใช้อำนาจบงการอยู่เบื้องหลัง
อาจง่ายกว่าการปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ
-
เน้นจุดมุ่งหมายหลัก
ก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง แม้ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ รวมถึงการเสียหน้า
-
ถามความเห็น ทดสอบความคิด
การเลือกข้าง
-
1 ใน 36 กลยุทธ์ซุนวู ..
สุดยอดกลยุทธ์คือ สู้ไม่ได้ ให้หนี
-
หากการกระทำโดยเฉียบขาดรุนแรง
จะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ก็ให้ประนีประนอมไปก่อน
-
ทำดีกับศัตรู
เพื่อแสดงความมีน้ำใจ ..ศัตรูอาจกลายเป็นมิตร / ศัตรูอาจลดความแค้นเคือง /
พรรคพวกของศัตรูอาจเริ่มไขว้เขว เปลี่ยนใจ เปลี่ยนข้าง / คนที่ไม่เป็นพรรคพวกใคร
จะเริ่มโน้มเอียงมาทางเรา
-
สภาพจำยอม ภายใต้การกดขี่ข่มเหง
ดูคล้ายสภาวะแห่งสันติ อันมีความขัดแย้งนอนตะกอนอยู่ก้นบึ้ง
-
โจโฉเปลี่ยนสี = จิ้งจกเปลี่ยนสี .. ใครใหญ่ ก็ไปเข้ากับคนนั้น ไม่สนเรื่องผิดชอบชั่วดี
ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ หวังประโยชน์เป็นใหญ่
-
ป่าวประกาศสรรเสริญ ทำเรื่องชั่วช้าเลวทรามให้เป็นความชอบธรรม
-
เดือนหนึ่งเลื่อนขึ้น 3 ที่ ..
ใช้เส้นสายเลื่อนยศตำแหน่งข้ามหน้าข้ามตาคน แม้ไร้สามารถ ขลาดเขลา
ไม่เกรงคำครหานินทา
-
หากอยู่ในสภาพด้อยกว่า
อย่าแสดงอาการฮึดสู้ รังแต่จะทำตัวเองให้ลำบากมากขึ้น
-
ทำตัวเสมอนาย
ไม่รู้ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ
-
การทั้งปวงเมื่อเกินเลยขีดคั่นของความพอดี
ผลร้ายและภัยพิบัติย่อมเลี่ยงไม่ได้
-
สำหรับคนดีมีคุณธรรม
ความรักตัวกลัวตายอาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าประโยชน์ส่วนรวม (14 ตุลา จงเจริญ)
-
ในการรวมกลุ่มกันทำการ
อาจไม่ต้องสนใจความต้องการส่วนบุคคล ขอให้มีปณิธานตรงกันเป็นพอ
-
กระตุ้นคนให้ตรงใจ ..
ต้องรู้ความต้องการของเขา ชักนำเขาด้วยสิ่งที่เขาต้องการ
-
อย่ามองข้ามความคิดที่ซ่อนอยู่
แล้วผลีผลามทำตามคำหลอกล่อที่ตรงใจ
-
โจโฉยืมกระบี่ชั้นดีไปฆ่าตั๋งโต๊ะ
.. หากพลาดก็มีทางหนี .. จะทำการใด ควรวางแผนให้รอบคอบถี่ถ้วน หากไม่มีทางหนีทีไล่
ก็ไม่ต้องทำ ถ้าตอนนี้คิดหาหนทางไม่ได้ ตอนนั้นก็จะตายเสียเปล่าๆ
หน้าที่ 60 – 68 อ่านวันที่
23 Oct.,2013 : สามก๊กฉบับคนขายชาติ
-
เมื่อจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ต้องทำให้เร็วและดี มีเหตุผลประกอบ มีที่มาที่ไป .. อย่าทำส่งเดช ปัญหาจะไม่จบ
ต้องกลับมาตามล้างตามเช็ดกันทีหลัง
-
บางครั้งแผนที่ดีเลิศ
ก็ยังไม่อาจสมความคิด ควรยอมรับเสีย แล้วเริ่มใหม่ให้เร็ว
-
การเท่านี้
คิดไปไม่ตลอดแล้วสิมานั่งร้องไห้ .. การร้องไห้ อาจช่วยระบายความคับแค้น
แต่ไม่อาจช่วยแก้ปัญหา
-
เหมาเจ๋อตงกล่าวว่า
จรเมื่อเห็นว่ารบไม่ชนะ ยุทธ์เมื่อเห็นว่ารบแล้วชนะแน่ เอาแต่จรไม่ยุทธ์คือลัทธิวิ่งหนี
เอาแต่ยุทธ์ไม่จรคือลัทธิสู้ตายแบบบ้าบิ่น
-
เสนอจุดมุ่งหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คน
ย่อมได้ผู้ร่วมแรงร่วมใจ
-
สร้างศรัทธาให้เกิด
ความเชื่อมั่นจะตามมา พร้อมความสนับสนุนช่วยเหลือ
-
ซื้อคนด้วยทรัพย์สิน ใช้กับคนโลภ
/ ซื้อคนด้วยอุดมการณ์ ใช้กับคนมีคุณธรรม .. คนเราจึงคล้ายสินค้า
ที่อาจถูกซื้อหาได้ทั้งสิ้น
-
คนไร้สติ
เรื่องเล็กน้อยก็ตื่นตกใจคล้ายวัวสันหลังหวะ เห็นอีกาบินอยู่บนฟ้า
ก็เกรงว่าจะจิกแผลตน
-
เฝ้าดูสถานการณ์ให้รอบคอบ
อย่าด่วนตัดสินใจ ความเสียหายอาจรุนแรงเกินแก้ไข
-
ความผิดครั้งแรก
อาจเป็นไปโดยไม่ตั้งใจ ทำผิดซ้ำสอง ย่อมเกิดจากเจตนา .. เอาตัวรอด เอาประโยชน์
ลองดี ก็ต้องดูในรายละเอียดอีกที
-
การบิดเบือนประเด็นด้วยข้อแก้ต่างที่มีเหตุผล
(ถึงจะเป็นเหตุผลที่แปลกประหลาด) ก็ย่อมทำได้
ถ้าทำให้คนเชื่อได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร นอกเสียจากตนเองจะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ถูกต้อง
แต่อาจจำเป็นต้องทำ หรือสบายใจที่ได้ทำ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
-
คำสอนของอธรรมเทวบุตร ที่ ร.6
ทรงแต่งไว้ในเชิงประชดประชัน .. ยามจนจะทนยาก จะลำบากไปไยมี
พึงปองข้าวของดี ณ ผู้อื่นเก็บงำไว้ .. ใครคิดแบบนี้ได้ ก็จัญไรดีเหมือนกัน
-
เมื่อเรารู้ซึ้งถึงคนและการฉาบหน้า
เราอาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่า การตีจากไปเสียก็พอ เพราะการอยู่ใกล้รังแต่จะเป็นภัย
-
สร้างสถานการณ์แวดล้อมให้เหมาะแก่การ
กันตัวแปรที่อาจควบคุมไม่ได้ออกไปเสีย เรื่องที่ต้องจัดการก็จะง่ายขึ้น
-
จงระวัง วาจาหลอกล่อ ลวงใจ
-
ประกาศอุดมการณ์เพื่อรวมใจคน ..
ความเสี่ยงมีมาก แต่ถ้าสำเร็จจะได้ผลคุ้มค่า / ไม่สำเร็จอาจถึงตาย .. ก่อนทำ
ต้องวิเคราะห์ถึงโอกาสในความสำเร็จให้ถ้วนทั่ว
-
อุดมการณ์ที่ดี เกิดจาก
การสร้างแนวทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของผู้คน
-
ปัญหาใหญ่ของแผ่นดิน
ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเสียงข้างมาก หากต้องแก้ไขด้วยเลือดและปลายดาบ .. ถ้าพูดดีๆ
ไม่รู้เรื่อง ก็ต้องใช้กำลัง การมอบความตายให้ เป็นเรื่องง่ายที่สุด
แต่ก็ยากที่สุดที่จะทำ เพราะอาจต้องฆ่าล้างโคตร ปัญหาจึงจะจบจริง
-
แม่ทัพ
ต้องชี้นำทิศทางสู่อุดมการณ์ รวมความสามัคคีให้เป็นหนึ่ง ความสำเร็จย่อมบังเกิด ..
หากมัวสาละวนอยู่กับเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นแก่นสาร ย่อมประสบความล้มเหลว
-
แม่ทัพ หากไร้สติปัญญา
จะนำพากองทัพสู่ความชิบหาย
-
ศัตรูของศัตรู คือมิตร
-
หากมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ศัตรูก็จะกลายเป็นมิตร ชั่วคราว
-
ร่วมมือกันต้านศึกนอกเสียก่อน
ศึกนอกสงบ เราค่อยรบกัน
-
แอบอ้างรับสั่งเมื่อจำเป็น ..
ชิงกำลังมาอยู่ฝ่ายตน ตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม เน้นภารกิจและเป้าหมาย
จำกัดวงให้แคบแต่ให้ได้ผลมาก ทำการอย่างเร้นลับและรวดเร็ว
-
นักยุทธศาสตร์ต้องสามารถ
กำหนดแผนการ วิธีปฏิบัติ รวมถึงกลยุทธในการปฏิบัติตามแผน
-
หุ่นเชิดกับเจว็ดขี้ มีความหมายเดียวกัน
-
ในเรื่องเดียวกัน
การกำหนดเป้าหมายที่แตกต่าง นำไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่าง ทั้งการรวมใจ
ระยะเวลาที่ต้องใช้ รวมถึงความสำเร็จเอง
หน้าที่ 68 – 79 อ่านวันที่
24 Oct.,2013 : สามก๊กฉบับคนขายชาติ
-
สงครามมีเพียง 2 ชนิด คือ
สงครามที่เป็นธรรม กับสงครามที่ไม่เป็นธรรม หากสามารถช่วงชิงฐานะที่เป็นธรรม
และยัดเยียด กล่าวหาให้อีกฝ่ายตกอยู่ในฐานะไม่เป็นธรรม
โอกาสได้คนร่วมใจย่อมมีมากกว่า
-
เขาสูงเสียดฟ้า รักษาน้ำไว้ไม่ได้
มหาสมุทรตั้งตนในที่ต่ำ กลับเป็นที่รวมแห่งน้ำ เปรียบได้ดั่งการวางตน
-
อันจะฆ่าไก่ แลจะเอามีดฆ่าโคมาใช้นั้นไม่ควร
-
หากขาดวินัย ลักษณะปราชัยก็ปรากฎ
-
จงเห็นประโยชน์ส่วนรวม
มาก่อนความแค้นส่วนตัว เมื่อส่วนรวมพ้นวิกฤติ
การล้างแค้นส่วนตัวย่อมไม่สายและทำได้สะดวก
-
หักหลังพันธมิตร /
ขายเพื่อนโดยตีราคาเพียงเท่าความฝัน .. ว่าทำแล้วจะได้โน่นได้นี่
-
เสือเชื่องจะเป็นเสือได้อย่างไร
จงพึงใจกับเสือดุ แล้วใช้ประโยชน์จากความดุของเสือ
-
การว่ากล่าว ครั้งเดียวก็เพียงพอ
หากผิดซ้ำสองควรลงทัณฑ์
-
คนพาลย่อมหาแพะรับบาป
หาเครื่องเซ่นสังเวย เพื่อให้ตนพ้นผิดจากความบกพร่องของตัวเอง
-
ความเสื่อมจะตกอยู่กับคนบ้ายศบ้าอย่าง
เกรงใจผู้มียศฐานันดร ตามวิสัยความคิดศักดินา
-
ทำผิดไม่ชำระ ทำชอบไม่ปูนบำเหน็จ กองทัพก็รวนเร
-
ใช้วาจายั่วโทสะท้าตีต่อย
หากเกิดโทสะก็จะตกเป็นรอง
-
นักการทูตกับเซลล์แมน
มีความคล้ายกันตรงที่ขอให้ได้เปิดฉากพูด ก็จะมีโอกาสชักจูงคนให้เชื่อ
-
อย่าตัดสินคนเพียงรูปลักษณ์ภายนอก
เปิดโอกาสให้เขาแสดงความสามารถค่อยตัดสินใจ
-
คนพาลจะมองหาเพียงข้อด้อยและความผิดพลาด
มองข้ามจุดเด่นและความดีที่สั่งสม
-
เมื่อส่งทหารไร้ชื่อไปรบกับทหารเอก
ทหารเอกจะปรามาส เปิดช่องโหว่ให้ทำลายได้ง่ายขึ้น
-
วีรชนมีอยู่ทุกกาลสมัย
อยู่ที่ใครจะมองเห็นและรู้จักช่วงใช้หรือไม่ หากมืดบอดทางปัญญาก็จะเสียโอกาสช่วงใช้คนดีมีความสามารถ
-
ซุนวูบทที่ 1 กล่าวว่า
การสงครามเป็นงานใหญ่ของชาติ คือความเป็นความตาย เป็นวิถีสู่ความยืนยงคงอยู่
พึงพิเคราะห์ให้จงหนักใน 5 ภาวะคือ ธรรม ดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ ขุนพล
ระเบียบวินัย .. ขุนพลคือ ผู้ประกอบด้วยสติปัญญา ความเที่ยงธรรม ความเมตตา
ความกล้าหาญ ความเข้มงวดเด็ดขาด .. นี่คือสิ่งที่ทุกวงการนำมาปรับใช้
-
สงครามระหว่างคนสิ้นคิด
ไร้สติปัญญา จะดำเนินไปแบบไร้ทิศทาง ไร้แผนกลยุทธ เป็นไปตามยถากรรม ความเสียหายจึงบังเกิดได้มากกว่าที่ควรจะเป็น
-
คำพูดพล่อยๆ
อาจเปลี่ยนสถานการณ์ที่พึงได้ ให้กลายเป็นเสีย / เปลี่ยนสถานการณ์เสมอกัน
ให้กลายเป็นเบี้ยล่าง
-
ความบ้ายศบ้าอย่าง
จะทำให้เสียโอกาสได้ใจคนดี
-
คนเลว เมื่อลุแก่โทสะ
ก็จะละความรู้ผิดชอบชั่วดีเสียสิ้น
-
การวางตัวของขุนพล
ส่งผลต่อชัยชนะหรือความพ่ายแพ้
-
หากผู้ยิ่งใหญ่บ้าอำนาจ การพินอบพิเทายกยอปอปั้นจึงจะทำให้พึงใจ
คนเยี่ยงนี้ ไม่ต้องการคำแนะนำใดๆ การเสนอความคิดเห็นจะเป็นภัย
-
หากผู้ยิ่งใหญ่มีความเที่ยงธรรม
การเสนอคำแนะนำ / การค้านในสิ่งผิด จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางความคิด มองหาจุดเด่น
เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสู่ความสำเร็จ
-
หากยังไม่รู้วิธีรุก จงหาทางตั้งรับให้มั่นคงเสียก่อน
/ หากรู้วิธีรุก ให้บุกทะลวงจนชนะในคราวเดียว จำกัดการสูญเสียให้น้อยที่สุด
-
การรบที่ไม่เห็นชัยชนะ
อาศัยปาฎิหารย์เป็นที่พึ่ง โอกาสชนะย่อมเท่ากับศูนย์
-
คำว่า ลูก 3 พ่อ = นักการเมือง 3 พรรค = บ่าว 3 นาย
มีความหมายถึงความเป็นคนจัญไร
-
ไม่ออกรบ ไม่เสนอแผนการรบ
อาจไม่ใช่ไร้สามารถ แต่เป็นการปิดบังความสามารถที่แท้จริง
เพื่อชิงชัยในสมรภูมิรบที่เหนือกว่า เมื่อถูกประเมินค่าต่ำ ฝ่ายตรงข้ามย่อมย่ามใจ
กลายเป็นความได้เปรียบในสงคราม
.. พอดีลูกชายป่วย ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด .. ไปอ่านต่อกันเอาเองนะครับ ..
อ่านต่อใน
สามก๊ก ศาสตร์แห่งการเอาตัวรอด
สามก๊กฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม .pdf
3 ความคิดเห็น:
สรุปและคัดกรองออกมาได้ดีมากเลยครับ คุณเรือง วิทยาคม เขียนสามก๊กฉบับคนขายชาติไว้ดีมาก มีข้อคิด คำคม และเกร็ดความรู้แฝงไว้ทุกหน้า เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านมากครับ
สุดยอดนะ
สรุปได้ดีมากค่ะ ต้องกลับไปอ่านใหม่อีกหลายรอบ เพื่อนเลิกคบแน่งานนี้ :)
แสดงความคิดเห็น