While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

รถมือสอง รู้ให้ทันคนขายรถ

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อ ผู้ขายห้ามอ่าน!
พอดีคิดจะซื้อรถมือสองครับ เลยได้ความรู้มาแบบสดๆ ร้อนๆ (แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ เพราะที่ผมต้องการมันก็มี แต่ไม่ดีพอจะให้เอา เราก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ครับ อย่าดื้อดึง) งานนี้ได้อะไรมาเพียบ เพราะเจ้าน้องชายไม่ยอมให้ผมนอนรอสบายๆ มึงต้องลองมาดูด้วยกัน เสร็จเลย คราวนี้ผมเกิดสนุกกับมันขึ้นมาน่ะสิ ปกติผมชอบดูคนอยู่แล้ว มีคนใหม่ๆ ให้ดู ทุกอย่างออกมาหมดในเวลาสั้นๆ ทันใจ ความรู้เรื่องรถที่ผมไม่เคยสนใจ กลายเป็นอะไรที่สนุกสนานน่าเรียนรู้ไปหมด
เรื่องนี้ผมเจตนาส่งต่อข้อมูลและประสบการณ์ เกี่ยวกับพฤติกรรมและเทคนิคของผู้ขาย รวมถึงวิธีการตรวจดูสภาพรถมือสองอย่างละเอียด และผมเข้าใจแล้วว่าทำไมหลายๆ คนไม่คิดเล่นรถมือสองเลย เพราะคุณต้องมี 4 อย่างหลักๆ นี้
1. เวลา หายากที่สุด การดูรถต้องดูตอนกลางวันเท่านั้น และควรเลิกดูก่อน 5 โมงครึ่ง เพราะแสงจะไม่พอให้คุณเห็นพิรุธร่องรอย คนทำงานคงมีเวลาแค่เสาร์-อาทิตย์ ถ้าคุณรีบเร่งคุณก็จะพลาด หรือจำใจต้องเอามาทั้งๆ ที่ยังไม่พอใจ หรือไม่ก็ต้องยอมโดนเอาเปรียบ
2. ความรู้และความช่างสังเกต ความรู้หาได้จากอินเตอร์เนท ความช่างสังเกตฝึกฝนได้ หรือพาคนที่เขารู้ไปด้วย จ้างช่างไปช่วยดูให้ก็ได้ แต่ระวังอย่าให้คนขายกับช่างของเราอยู่ด้วยกันตามลำพัง เคสผมฮามาก น้องผมไปดูรถก่อนหน้าแล้วรู้สึกน่าสนใจ เขาบอกคนขายไว้ว่าจะพาพี่มาดูอีกที ในขณะที่ผมอยู่ในรถทดสอบเกียร์ เขาอยู่กันตามลำพังหน้ากระโปรงที่เปิดไว้ คนขายถามน้องผมว่า ถ้าพี่เชียร์ให้เขาซื้อได้ พี่จะเอาเท่าไหร่! น้องผมบอกไม่เอา นี่พี่แท้ๆ เขาเลยว่างั้นเดี๋ยวให้เป็นส่วนลดแล้วกัน แล้วพูดแก้เขินว่า รูปร่างหน้าตาไม่เห็นเหมือนกันเลย (หนอยอินี่ 555+) ทำให้เราเห็นความไม่ซื่อ และคนขายดูออกนะว่าใครมีอำนาจในการตัดสินใจ ถ้าเขากล้าใช้คำพูดอย่างนี้กับคนที่แน่ใจว่าคงเป็นญาติ กับช่างคงไม่ลังเล ทีนี้ก็ลุ้นเอาว่าช่างของเราจะลังเลไหมในรายรับทางเดียวกับสองทาง ก็แล้วแต่คนครับ ใจคนมันยากเกินหยั่งถึง
3. ที่อยู่ของรถที่คุณกำลังค้นหา คุณอาจเริ่มต้นด้วยการดูจากเวบก่อนว่ามันอยู่แถวไหน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องไปดูให้ถึงที่แบบไม่ให้เต๊นท์เตรียมการใดๆ ไว้หลอกคุณ (ไม่ต้องโทรถาม ไม่ต้องทำให้รู้ว่าเราจะไปดู) ผมเล่นตลาดรถกรุงเทพเพราะมันมีตัวเลือกมาก ดังนั้นวิธีที่ผมทำคือ
 3.1 จำหน้าตารถที่คุณต้องการให้ได้ จะลดเวลาในการเข้าออกเต๊นท์ไปได้เยอะ ส่วนเต๊นท์ที่มีความลึกหรือตั้งรวมกันหลายเต๊นท์ก็เข้าไปวิ่งวนดู เจอลง ไม่เจอออก ผมดูทีละรุ่นนะ ไม่เรื่อยเปื่อยสะเปะสะปะ แบบนั้นจะเสียเวลามากและสับสน
3.2 เช็คกลุ่มเต๊นท์รถทีละถนน เช่น กวาดเส้นกาญจนาไปทั้งเส้นก่อน คราวหน้าเล่นเส้นรามอินทรา เขาจะตั้งเรียงต่อกันเป็นแหล่งๆ คุณจะไม่เสียเวลาในการโดดไปโดดมา
รถบ้านต่างกันไหม ผมว่าไม่นะ ล่าสุดผมเข้าเต๊นท์ที่เขาบอกว่าเป็นรถบ้านอย่างเดียว สภาพแย่กว่าเต๊นท์ทั่วไปเสียอีก ที่นี่ใช้ลูกเล่นขายรถสภาพเดิมๆ ไม่มีการเก็บงานมาก่อน แสดงให้เห็นว่ารถใช้งานตลอดไม่มีปัญหา รูปแบบนี้พบได้ในหลายเต๊นท์เช่นกัน อาจเป็นอีกแนวคิดหนึ่งให้คนดูไม่ต้องสงสัยมาก ดูไปเถอะ มันมาอย่างนี้แหละ(ซึ่งมันดูง่ายกว่าจริง ผมชอบนะ) เมื่อตกลงซื้อขายค่อยเก็บงาน ไม่ต้องเพิ่มทุนลงไปกับรถที่ยังขายไม่ได้ รถที่ขายตามบ้านคนจริงๆ ก็ไม่ต่างกับรถเต๊นท์ ความต่างอยู่ที่พฤติกรรมของผู้ใช้ การไปดูรถตามบ้านต้องมีการนัด ซึ่งทำให้เขาเตรียมสภาพรถล่วงหน้าได้ ส่วนเต๊นท์เองก็มีวิธีการเอารถมาให้ชาวบ้านขายให้ได้ด้วย เขาทำกันทุกรูปแบบจริงๆ ครับ รู้ไปเรื่อยๆ แล้วบันเทิงดี
4. ความอดทน มันเหนื่อยพอดู แต่เมื่อเราพยายามมันจะได้ความภูมิใจ และจะได้เห็นสารพันชั้นเชิงของผู้ขาย แต่ละคนทำให้คุณได้เปิดหูเปิดตาจริงๆ หลายคนเหนือชั้นจนน่าทึ่ง ลองสังเกตคำพูดจา สีหน้าท่าทางที่ดูเหมือนจะจริงใจสุดๆ มันมีอะไรซ่อนอยู่ไหม
ลองสักครั้งแล้วจะเข้าใจ เวลาครึ่งวันผมเก็บได้เส้นนึง จะเจอราว 7-8 คัน บางเส้นแทบไม่มี ทำให้เราพอรู้ว่าแต่ละละแวกเขาเล่นรถกลุ่มไหนกัน บังเอิญตัวที่ผมมองหามันมีไม่มาก ของถูกของดีไม่มีมันก็ใช่ แต่ของดีในราคาที่เหมาะสมมันมี ส่วนของแพงก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป บางทีเขารับมาถูกแต่ต้องทำไปมาก ก็ตั้งราคาให้สูงกว่าปกติเพื่อถอนทุน หรือบางที่อาจต้องการหลอกว่าของฉันดีนะมันเลยแพง ดังนั้นเขาจึงมีราคากลางสำหรับผู้ซื้อ ทีนี้ก็อยู่ที่เราจะได้เจอกับของดีราคาเหมาะสมไหม คงคล้ายการเจอเนื้อคู่กระมัง แต่อย่าลืมว่ามันมีแบบคู่บุญ ก็มีแบบคู่เวรด้วยเหมือนกัน อย่างหลังเราไม่กล้ำกลืนเอามาให้ช้ำใจ คงจะดีกว่า
คราวนี้มาดูกันว่าคุณจะซื้ออะไรได้ โดยทั่วไปก็พิจารณาจาก
1. รูปแบบการใช้งาน รถต้องรองรับได้เพียงพอ มากไปเปลือง ยังไม่สู้ น้อยไปพัง
2. เงินที่มีอยู่ในมือ หรือที่จะหาได้ หรือวงเงินที่กู้ได้
3. มีวงเงินอยู่ในใจว่าจะใช้จ่ายไปกับรถยนต์สักเท่าไหร่ เพื่ออะไร แต่ละคนต้องการไม่เหมือนกันนะครับ ไม่ต้องไปฟังใคร ไม่ว่าเขาจะหวังดีแค่ไหน นั่นก็ยังคงเป็นแค่มุมมองของเขา ไม่ใช่ของเรา เอาที่เหมาะสมกับตัวเราย่อมดีที่สุด
กรณีที่จำเป็นต้องกู้ ให้คิด [(ยอดเงินกู้+ดอกเบี้ย)+Vat7%] หารจำนวนปี หาร 12 เดือน จะได้จำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือน หรือจะคิดย้อนกลับมาก็ได้ แต่ที่ชัดๆ คือ Vat มันบวกหลังดอกเบี้ยคุณเห็นไหม ปกติเราซื้อของหรือบริการ มันต้องบวก Vat จากตัวสินค้าสิ แต่เขาเล่นกันแบบนี้ มันก็จะบานๆ ออกไป
ผมลองยกตัวอย่างให้ดูเล่นนะ เช่น รถราคา 544,000 ออกรถไม่ต้องใช้เงิน! ผ่อน 84 เดือน เดือนละ 10,472 ฟรีประกันชั้น 1 รับประกันเครื่อง/เกียร์ 1 ปี (ประกันมันไม่ได้ฟรี เขาบวกไว้แล้วและบังคับให้คุณทำ) สมมุติคุณตกลงใจไม่ดาวน์สักบาท แถมกู้ได้เต็มวงเงิน เต๊นท์จะได้เงินต้นพร้อมส่วนแบ่ง Vat เลย ส่วนคุณก็จ่ายหนี้กับไฟแน๊นซ์ไป (ระวังเรื่องกู้แล้วได้เงินเพิ่ม ดอกก็เพิ่มด้วยนะคุณ)
ต้องส่งงวดละ 10,472x84 เดือน = 879,648 บาท เอายอดที่ต้องส่งทั้งหมด 879,648 ลบเงินต้น 544,000 ได้ 335,648 นี่คือดอกเบี้ยบวก Vat ที่คุณต้องจ่าย! น่าตกใจ แต่เอารถมาใช้ได้ไง เหมือนเช่ารถเขาใช้อะไรแบบนั้น ค่าเช่ารถขนาดเล็กก็เดือนละ 17,000 เข้าไปละนะ เอาเหอะ มันจำเป็น ทีนี้อาจทำให้สบายใจขึ้นได้นิดหน่อย ด้วยการเอา 335,648/84 จะได้ 3,995.81 ต่อเดือนเอง โห e ดอก!
เงินต้น    544,000/84 = 6,476.19
ดอกเบี้ย+Vat  335,648/84 = 3,995.81 เอามาบวกกันได้ 10,472 เป๊ะ ไม่มีเศษสักสตางค์ ก็ลองคิดเล่นๆ ดูครับ แล้วเอาที่รับไหว ที่เหมาะกับเรา บวกเลขเล่นบ้างก็ดี เวลาถูกล่อลวงจะได้คิดทัน
การซื้อสดผู้ขายจะไม่ได้ Vat + ส่วนแบ่งจาก Vat ของดอกเบี้ย ซื้อสดไม่ต้องเสีย Vat นะครับ แต่ผมเจอที่หนึ่งจะเอา เขาอ้างว่าเพราะเขาจดทะเบียนบริษัทต้องส่งภาษี อ้าวที่อื่นเขาไม่จดกันรึไง บางคนก็แหม จะตอแหลให้แนบเนียนสักนิดก็ไม่ได้ หลังจากนั้นผมเลยถามมันทุกที่ไป ก็ไม่เห็นมีที่ใหนจะเอานะ ยังทำท่างงๆ ด้วยซ้ำ ถ้าคุณเจอลักษณะนี้ ให้ยืนกรานไปเลยว่าที่อื่นเขาไม่เอา ถ้าจะเอาให้ได้ก็ไม่ซื้อ มันเป็นสิทธิ์ของเราที่จะไม่ต้องจ่าย ตัวเลขไม่น้อยนะคุณ 100/7บาท 1,000/70 - 10,000/700 - 100,000/7,000 แล้วราคารถมันแสนนึงซะเมื่อไหร่
Vat จากดอกเบี้ยนี่แหละ ที่ทำให้เต๊นท์มักชักชวนให้เราซื้อผ่านไฟแน๊นซ์แม้เราจะมีเงินสด เจอหลายที่ครับ ทีแรกไม่เข้าใจเจตนาผมก็งง ซื้อสดไม่ดีกว่าเหรอ ตอนนี้เห็นได้ชัดละ มันเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ จนแล้วยังต้องโดนเอาเปรียบ เป็นเรื่องปกติครับ แต่มันมีวิธีให้โดนเอาเปรียบน้อยที่สุด โดยพยายามคิดตามเขาให้ทันไง คนบางคนก็ดูถูกคนอื่นว่าโง่นะ (ซึ่งดี เขาประมาทเรา เขาจะพลาดเอง) อย่าไปแสดงออกว่ารู้ทัน เขาจะไม่ระวังตัว แล้วเราจะได้เห็นอะไรเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในภายหลัง
เรื่อง Vat นี่ผมได้ข้อมูลมาจากผู้ขาย 2 รายที่หลุดออกมาขณะผมต่อราคาแล้วซักถามไปซื่อๆ เขาพยายามให้เหตุผลว่า เพราะซื้อสด เขารับมาเท่านี้เขาก็จะได้ส่วนต่างเท่านี้แหละ (ซึ่งผมไม่เชื่อ เต๊นท์เองก็มีราคากลางในการรับซื้ออยู่เหมือนกัน ซึ่งมีค่าบวกลบเหมือนราคาขายนั่นแหละ ตัวเลขที่บอกมาโดดไปมากกว่าที่จะน่าเชื่อถือ) เขาจึงอธิบายว่า ถ้าผมกู้ เขาถึงจะไปได้ส่วนแบ่งจาก Vat อีก เมื่อผมยืนยันว่าเงินไม่พอขาดสามหมื่น เขายังชักชวนให้ผมกู้สักแสน ยังจะมีเงินเหลือติดกระเป๋าไว้ให้อุ่นใจ .. โถ พ่อคุ๊ณ ช่างพยายามหลอกล่อเหลือเกิน คำถามคือ แล้วดอกล่ะใครจ่าย ใช่กูไหม
การกู้มาก ผ่อนยาว อาจทำให้รู้สึกไม่หนักหนาในการส่งแต่ละเดือน แต่มันจะทำให้ ดอก+Vat  มากมายมหาศาลจนแทบกระอักเลือด แต่มันก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เช่น ในกรณีฉุกเฉินคุณน่าจะพอหาเงินมาโปะได้ง่ายกว่า พอมีเวลาเพื่อทำให้สภาพคล่องกลับมา ที่ปลอดภัยก็ควรเป็น 1 ใน 3 ของรายรับต่อเดือน คุณต้องเก็บเงินบางส่วนไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉิน ค่าบำรุงรักษา ค่าต่อประกัน ค่าต่อทะเบียน ไม่งั้นอาจต้องลำบาก อย่าดูถูกเงินไม่กี่หมื่นนะ ผมเห็นมาเยอะเหมือนกัน ที่ทำอะไรก็ได้เพื่อเงินไม่เท่าไหร่อย่างไม่มีทีท่าละอายใจ
ทีนี้เมื่อได้ตัวเลขที่รับไหวในส่วนของราคารถแล้ว ต้องเตรียมไว้อีกจำนวนหนึ่งเป็น
1. ค่าทำประกันชั้นหนึ่ง
2. ค่าโอน กรณีกู้ซื้อไม่ต้องมี แต่จะถูกบังคับให้จ่ายพร้อมการส่งงวดสุดท้าย และอาจต้องจ่ายเพื่อโอนจากเต๊นท์ไปไฟแน๊นซ์ครั้งนึงก่อนด้วย คุยให้ชัดเจนนะครับว่าเราต้องจ่ายกี่รอบ
3. ค่าเปลี่ยนถ่ายของเหลวทั้งหมด กรองอากาศ กรองน้ำมัน สายพานเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่ เราไม่รู้ของเหลวเดิมเกรดอะไร ของแข็งถูกใช้มานานแค่ไหน การเปลี่ยนอาจไม่ต้องทันที แต่ควรทำหลังได้มา ราคารวมคร่าวๆ ไม่เกินหมื่นครับ
จากนั้น เราจะได้กลุ่มรถที่ซื้อได้ ถ้าเป็นได้ไม่ควรเล่นรถเกิน 3-4 ปี เพราะความเสื่อมของอะไหล่ต่างๆ เป็นไปตามอายุการใช้งาน นั่นคือทำไมประกันศูนย์จึงต้องดูระยะทางกับเวลาควบคู่ไปด้วยกัน ที่อยากบอกคือเลขไมล์มันกรอกันได้ง่ายๆ คุณต้องมองความสมเหตุสมผลและสภาพรถโดยรวม ถ้าเช็คประวัติการเข้าศูนย์ได้จะดี แต่ก่อนซื้อมักทำไม่ได้ ดังนั้นการนำรถเข้าศูนย์สักครั้งหลังได้มา จะทำให้คุณได้รู้จักรถของคุณมากขึ้น คุณอาจพบช่วงเวลาที่หายไป ซึ่งพ้องกันไหมกับช่วงเวลาที่มันไปจอดอยู่ในเต๊นท์!
ทีนี้แนวคิดเกี่ยวกับรถมือสองคือ ยกตัวอย่าง รถป้ายแดงเมื่อ 4 ปีก่อนที่ราคา 800,000-980,000 ราคารถจะหายไปราว 3-4 แสน หมายความว่ามันจะเหลือราคาขายอยู่ที่ราว 5-6 แสนบาท ถ้ารถราคาล้านสามก็จะเหลือแค่ 9 แสน! นี่คืออาการราคาตกของรถยี่ห้อสุดฮิตบ้านเรา
สมมุติคุณตั้งงบไว้ 550,000 คุณก็จะมี 2 ตัวเลือก
1.
eco car ป้ายแดง
2. รถเก๋งขนาดกลางมือสอง ราวปี 2014-2015 ขนาด 1.8
มันเป็นรถคนละกลุ่มกันเลย อยู่ที่คิดยังไง ต้องการอะไร ใช้พอไหม ให้เช็คราคากลางก่อน ราคาขายแต่ละแห่งไม่ควรบวกลบต่างกันมากนัก
ตั้งใจไว้เลยว่า จะหาของมือสองสภาพป้ายแดงหรือใกล้เคียงที่สุด ให้เลือกดูรถทีละรุ่นเท่านั้น เพราะงานของคุณคือจดจำให้ได้ว่าลักษณะเด่นของรุ่นนั้นมีอะไรอยู่ตรงไหน ถ้ามันยังมีขายในโชว์รูม ไปดูเลยว่ามันควรเป็นอย่างไร มันติดสติกเกอร์ตรงไหนบ้าง คานใต้ท้องรถอ๊อกตรงไหน แต่ละรุ่นอาจคนละตำแหน่ง แต่รุ่นเดียวกันต้องเหมือนกัน ลักษณะการทำสี ต่างๆ นาๆ
ถ้ามันไม่มีขายแล้ว ให้คุณดูหลายๆ คัน ยังไงมันก็ต้องเหมือนกัน ถ้าเจอคันไหนแตกต่างจากชาวบ้านเขา ก็ให้รู้เถอะว่ามันไม่ชอบมาพากล ดังนั้น ที่สำคัญคือต้องใจแข็ง ไม่รีบร้อน พลาดกันตรงนี้เยอะครับ ของที่มันไม่ดีพอ ที่จะทำให้คุณคิดว่ารับได้สบายๆ อย่าไปเสียดาย เพราะมันจะทำให้รู้สึกเจ็บใจทุกครั้งที่เห็น คุณจะเฝ้ามองมันทุกวัน แค้นเคืองทุกวัน มันจะกลายเป็นนรกน้อยๆ สำหรับคุณ
บางคนอาจเหน็บแนมคุณด้วยคำพูดพล่อยๆ เช่น ยากนักก็ซื้อป้ายแดงไปเลยสิจะได้ไม่ต้องดู (ป้ายแดงก็ต้องตรวจดูให้ละเอียดตอนรับรถนะคุณ มีกรณีให้เห็นเยอะแยะไป ขับออกมาแล้วก็จบนะ มีอะไรไปเคลมเอา แล้วเราซื้อรถใหม่ๆ มาจอดซ่อมรึไง) ที่ผมว่าพล่อย เพราะเรามีเงื่อนไขบนการคิดใคร่ครวญมาอย่างดีแล้ว ผู้พูดสนใจประเด็นรึเปล่า เมื่อมันไม่ใช่เงินที่เขาต้องจ่าย ไม่ใช่รถที่เขาต้องเอามาใช้ คนที่ให้ความเห็นแบบส่งๆ มีมาก อย่าแปลกใจ อย่าใส่ใจ จงยึดมั่นในวัตถุประสงค์ของตัวคุณเอง คุณไม่ควรให้คนที่ไม่ได้คิดอะไรสักนิด มาทำลายความเชื่อมั่นและเวลาที่คุณเสียไปในการคิดคำนวนวางแผนซีวิตคุณ แต่อย่ายึดติด คนเราควรยืดหยุ่นได้ คนส่วนใหญ่ที่ยึดติดมักต้องทนทุกข์
การดูรถใช้เวลามากไหม ตอบยากครับ ขึ้นอยู่กับสภาพของรถนะ บางคัน 5 นาทีก็เดินออกได้ บางคันไล่ไปเรื่อยๆ ผ่านๆๆๆ อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง จบที่การทำสัญญาซื้อขายหรือไม่ก็ไปเจออะไรแสบๆ ในนาทีสุดท้าย ผมดูรถไปไม่ต่ำกว่า 20 คันใน 3 ครึ่งวัน ก็ทั่วกรุงเทพข้ามไปถึงสมุทรปราการ หมดแล้วครับ (ยกเว้นพระราม 3 มันจะยากเย็นเกินไป) ทั้งหมดนั้นมีแค่ 2 คันที่ผ่านเกือบหมด แต่ยังเอาไม่ได้อยู่ดี นอกนั้นใช้เวลา 5-15 นาทีเท่านั้น
ผมเล่า 2 เคสที่ผมเกือบจะเอาก่อนละกัน ว่าทำไมถึงไม่เอา (ทั้งสองคันนี้เป็นรถที่ยังไม่ได้เก็บงานมาทั้งคู่) ค่อยไปเจาะว่าไล่ดูอะไร ก่อนหลังอย่างไร ให้เราเสียเวลาน้อยที่สุด กันทีหลังนะครับ
คันแรกทุกอย่างเนี๊ยบหมด แต่น้ำมันเครื่องพร่อง บูชพัดลมหลวม เสียงเครื่องดังผิดปกติ อันนี้เรื่องใหญ่เลย ไม่รู้ว่าเป็นมานานแค่ไหน เครื่องสึกหรอไปมากเท่าไหร่ ตามปกติเต๊นท์จะเปลี่ยน เช็ค แก้ไข เพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้ได้ แต่เจ้านี้ดูเหมือนไม่ใส่ใจ
เมื่อเราถามไถ่ เขาว่าเพิ่งเปลี่ยน ช่างเติมไม่เต็ม อาจเชื่อได้ถ้ามันไม่ดำแบบที่เห็น คนขายโกหกหน้าด้านๆ แล้วเรื่องอื่นจะพูดจริงสักเท่าไหร่ นี่เป็นประเด็นแรกที่เต๊นท์อื่นไม่กล้าทำ คนนี้กล้าก็ไม่น่าค้าขายกันละ ในกรณีที่เขาอาจไม่โกหกคงแย่ยิ่งกว่า ถ้าการที่รถไม่ได้ใช้ สตาร์ททิ้งไว้ 10-20 นาทีแค่ตอนลูกค้ามาดู แล้วน้ำมันเครื่องดำ พร่อง ควรต้องตัดใจครับ เอามาแล้วไม่รู้จะเจออะไร เมื่อไหร่ ซ่อมจบได้ไหม บานปลายไปได้อีกเท่าไหร่
ที่นี่ลักษณะการพูดจาของคนขายไม่ชัดเจน ให้ข้อมูลค่อนข้างสับสนเกี่ยวกับเล่มทะเบียน ซึ่งถ้าตกลงใจจะเอาแน่นอนแล้ว ทะเบียนตัวจริงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องขอดูให้ได้ก่อนการทำสัญญาซื้อขาย ให้ดูไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อ ทำไม ไว้ผมเล่ารายละเอียดในช่วงท้ายอีกที
คันที่สอง เกือบเนี๊ยบ ผู้ชายใช้ สะอาดเรียบร้อย ภายในแทบไม่มีร่องรอยอะไรเลย
ภายนอกกันชนโดนมานิดหน่อย ยังไม่ทำสี ซึ่งจะเก็บงานให้ได้ทีหลัง
ป้ายทะเบียนด้านหน้า บุบแบบผ่ากลาง คาดว่าไปจวกมอเตอร์ไซค์มาเบาๆ
มีรอยกระเทาะที่แมคหลายจุด เหมือนหินกระเด็นใส่ แต่ไม่ใช่รอยครูดอะไรมา
ยางด้านข้างยังนิ่ม แต่หน้ายางเริ่มแข็ง ดูปีแล้วน่าจะยังใช้ต่อได้อีกพัก
น๊อตทุกตัวไม่เคยมีการถอด รถเข้าศูนย์ต่อเนื่อง รอยมาร์กเก้อสดใส
ที่กระจกทุกบานปีตรงกัน ปีที่ belt ก็ด้วย(มีเฉพาะบางรุ่นและปีรถ) เบลท์ยังใช้งานได้ดีทั้ง 5 เส้น
ในห้องเครื่องมีเสียงสายพาน ที่ต้องเปลี่ยน เสียงพัดลมปกติ เครื่องปกติ
ไม่มีร่องรอยตระกรันจากหม้อน้ำ แต่ยางฝาหม้อน้ำเริ่มแข็ง มันไม่แพง คิดว่าเขาไม่รู้ มองจากการดูแลรักษา ถ้ารู้เขาต้องเปลี่ยนแน่
ขั้วแบตเตอรี่ลูบดูโอเค แผ่นเหล็กข้างเครื่องไม่มีคราบเกลือ สติกเกอร์ติดในตำแหน่งปกติ ที่เหลือไม่มีอะไรผิดปกติ
ดูใต้ท้อง ไม่มีร่องรอยผิดปกติ ไม่มีคราบอะไรไหลออกมา บิดล้อลูบดูโช๊คไม่มีน้ำมันรั่วซึม โอเค ผ่านๆๆๆ
แต่เมื่อลองขับ ยางต้องเปลี่ยนทันที ขับ 30 ก็มีเสียงชัดเจน อาจมีการกินยางไม่เท่ากัน ต้องเช็คช่วงล่าง ซุ้มล้อ เพราะยางยังนิ่มอยู่
เมื่อเร่งความเร็วแล้วทดสอบเบรคกระทันหัน สะท้านขึ้นมาที่เท้า จานเบรคต้องเจียรนิดหน่อยถึงจะหาย
เบรคเบาๆ หัวทิ่ม คงต้องตั้งระยะเบรคใหม่
ตรงนี้คนขายมีเทคนิคอำพรางเสียงรถโดยการชวนคุยเสียงดังตลอดเวลา และพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเราไปจากตัวรถ ในขณะที่ตอนเราดูรถเขาแทบไม่พูดอะไร เราได้เห็นความพยายามที่มากเกินไปจนส่อพิรุธ ปล่อยให้เขาพูดไป เราเปิดกระจกฟังครับ ก็มั่นใจว่ายางต้องเปลี่ยนแน่ 4 ล้อก็ราวหมื่นสี่แบบไม่ได้ดีอะไร
ราคาตั้งสูงกว่าปกติคือ 599,000 ซึ่งพอเข้าใจได้ เพราะสภาพดีกว่าที่ผมเจอๆ มาจริง สิ่งที่เราต้องคิดสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อเงินสดคือ ค่ารถ ค่าซ่อม ค่าโอน ค่าทำประกันชั้นหนึ่ง(ราคาตามปี-รุ่นรถ) กรณีนี้ผมตั้งงบค่ารถไว้ห้าแสนห้า เขาให้ได้เต็มที่ห้าแสนแปด ถ้าไม่ต้องไปทำอะไรอีกก็โอเคนะ แต่..
1. ผมต้องเปลี่ยนยางสี่ล้อ อย่างถูกๆ ก็ 14,000
2. เช็คตั้งศูนย์ ระบบเบรค เผื่อไว้ 3,000 (จะหายรึเปล่าไม่แน่ใจ)
3. ทำประกันชั้นหนึ่ง 18,000
4. ค่าโอนรถ แสนละห้าร้อย 2,800
5. เปลี่ยนสิ่งที่ต้องเปลี่ยนราว 10,000
รวมๆ แล้วก็ 47,700+580,000 = 627,700 รายการที่ 3-5 เราต้องเตรียมไว้ต่างหากอยู่แล้ว แต่มีรายการที่ 1-2 เพิ่มมาอีกเกือบสองหมื่น ถึงกับหมดตูด แดกอะไรล่ะทีนี้
ดังนั้นเคสนี้ผมผ่าน ให้เขาเก็บของเขาไว้ละกัน คนที่กล้าสู้ราคามากกว่าผมคงโอเค แต่บอกได้เลยว่าคันนี้น่าสนใจจริงๆ อยู่ในเต๊นท์รวมเส้นรามอินทรา
------------------------------------------------------
ประเด็นหลักในการดูรถมือสอง เพืิ่อ
1. วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้คนก่อนว่าดูแลรักษามาดีแค่ไหน หรือสักแต่จะใช้ส่งๆ ไป รู้ได้จากสภาพรถนั่นแหละ หลอกกันยากครับ
2. มองหาพิรุธ สิ่งผิดปกติ ที่ต่างจากที่มันควรจะเป็นในรถรุ่นนั้น
ไล่ไปทีละอย่างครับ ติดตรงไหนก็เดินออกเลย จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลามาก ถ้ารับได้ก็ดูต่อ จำไว้ว่าเงินของเราเป็นสิทธิ์ของเราเท่านั้น มันต้องถูกใช้ไปบนความพอใจของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น ไม่ต้องมีเรื่องความเกรงใจใดๆ ทั้งสิ้น หากคุณโดนโน้มน้าวหน่วงเหนี่ยวให้ต้องลำบากใจ คุณสามารถอัดเสียงเก็บหลักฐาน แล้วโทรแจ้ง สคบ.(โทร1166) ให้ดำเนินคดีกับผู้ขายรายนั้นได้ทันที มันเป็นกฏหมายและเรามีสิทธิเต็ม ซึ่งคนขายไม่กล้าหรอก เพราะเขาก็รู้เรื่องนี้เหมือนกัน ผมเล่าไว้เผื่อคุณไปเจอคนที่จบไม่ลง
ที่ดีที่สุดคือคุณต้องสุภาพเสมอ (เราไปขอดูของเขา ไปก้าวร้าวกับเขา มันควรหรือ) จะทำอะไรขอเขาก่อน เช่น ขอเปิดดูด้านในนะครับ ขอเปิดกระโปรง ขอสตาร์ทเครื่อง ขอมันทุกอย่าง แล้วอย่าติต่อหน้าเขา ไม่มีใครยอมรับว่าของเขาไม่ดีหรอก แต่ตอนที่เราจะจากมา ถ้าเราบอกว่าขอไปคิดดูก่อนแล้วมันไม่จบ ซึ่งมักเป็นคำถามว่าเราติดอะไร ก็ต้องชี้แจงไปด้วยเหตุผลอย่างสุภาพ หรืออาจเก็บไว้ใช้ในการต่อรองราคาทีหลังก็ได้
ที่สำคัญอย่าแสดงออกนอกหน้าว่าอยากได้ใจจะขาด การต่อรองเป็นเรื่องของจิตใจ นิ่งได้เท่าไหร่ก็ดีเท่านั้น คิดไว้ ไม่ได้ไม่เอา ที่อื่นยังมีอีก ถ้าคุณอาลัยอาวรณ์ก็จบไว้แบบสวยๆ ถ้าเขามีเยื่อใยก็จะขอเบอร์ไว้ตามจิก นี่ถือว่าสำเร็จละ แล้วเราก็ดูต่อไปเรื่อยๆ ก่อน ยังจะได้มีข้อมูลจากเต๊นท์อื่นไว้เปรียบเทียบ ต่อรอง
จงถามคำถามโง่ๆ ทีเล่นทีจริงนิดหน่อยเช่น มีชนมาบ้างรึเปล่าเนี่ย ตัดต่อมาบ้างรึเปล่า เราไม่ได้คาดหวังคำตอบที่แท้จริง แต่เราต้องการดูรูปแบบในการตอบ ซึ่งจะทำให้คุณพอประเมินได้ว่าผู้ขายรายนั้นเป็นคนยังไง จะมารูปแบบไหน แล้วก็จบนะ ไม่ต้องพูดเยอะ อย่าช่างคุย อย่าไปเชื่อสิ่งที่เขาบอก เขาคุยอะไรก็ยิ้มไปเรื่อยๆ จงดูด้วยตัวเอง ไม่งั้นเขาจะก่อกวนคุณให้ไขว้เขว เบี่ยงเบนความสนใจคุณไปจากการตรวจดูรถเขา แล้วคุณอาจหลุดในจุดที่จะทำให้เสียใจไปอีกนานๆ
ผู้ขายทุกคนที่ผมเจอ เมื่อเขาเห็นว่าคุณรู้ว่าจะดูอะไร เขาจะไม่เสนอหน้าเข้ามายุ่ง ถ้าคุณงงๆ เข้าไป เขาจะชี้ชวนให้คุณดูจุดดี แล้วพาคุณข้ามจุดบกพร่องไป หากคุณมีคำถาม เขาโกหกคุณไม่ได้ เพราะมันมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ เราสามารถฟ้องร้องได้หากพบภายหลังว่าข้อมูลไม่เป็นจริง(บางรายก็กล้า ถ้าคำถามซีเรียสก็อัดเสียงไว้)  แต่เขาสามารถตอบเลี่ยงๆ ได้ เช่น ไม่มีชนหนักแน่นอนครับ พี่ก็ดูเอา(ดูพลาดก็เรื่องของมึงนะ กูไม่ได้หลอกนี่) หรือ รถใช้มาแล้วก็อย่างนี้แหละพี่
คำตอบหลังนี่ไม่ค่อยฉลาด เป็นคำพูดที่ไม่ผิด แต่ให้ความรู้สึกในทางลบ แปลว่า ของใช้แล้วก็สภาพนี้แหละ มึงจะเอาอะไรนักหนา เอาๆ ไปเถอะ อย่างนั้นรึเปล่า งี้มันยัดเยียดกันนี่หว่า ไม่ใช่มั๊ง เต๊นท์นี้ผมออกเลยนะ ผู้ขายที่มีความคิดและลักษณะการพูดจาแบบนี้คงคุยกันยาก แต่หลักๆ เป็นเพราะรถเขาไม่โอเคด้วยแหละ(ถ้ามันโอเคผมก็จะลุยนะ คนไม่ยากเท่าของหรอก) คันนี้กันชนโดนมารอบคัน ทำสีแล้วแต่เข้าไม่สนิท ถึงจะไม่มากแต่มันก็บ่งบอกถึงผู้ใช้คนก่อนว่าคงชุ่ยเสียเต็มประดา ข้างนอกขนาดนี้ ข้างในจะขนาดไหน เปิดเข้าไปก็ไม่ได้ผิดจากที่คาด เราก็ลาเขามาด้วยท่าทีเป็นมิตร
เราจะใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ ในคันถัดไป เมื่อเริ่มจับประเด็นได้ว่าสิ่งที่เห็นบ่งบอกถึงอะไร
ผู้ขายร้อยทั้งร้อยจะเชื้อเชิญให้คุณเปิดประตูเข้าไปดูภายใน อยากสตาร์ทเครื่องให้คุณฟัง ให้คุณได้ดูความสมบูรณ์ของระบบต่างๆ บางเจ้าถึงกับล่อลวงให้ลองขับ ทั้งที่เรายังไม่ได้ดูอะไรมากมาย อย่าเพิ่งใจอ่อนไปลองล่ะ คุณควรดูทุกอย่างจนผ่านหมดแล้ว คิดว่าโอเคแล้วจึงค่อยลอง ถ้าไปถึงจุดนั้นแล้วคุณไม่เอา คุณต้องให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าทำไม
คนไทยค้าขายบนความเกรงใจ ก็ระวังอย่าให้ความเกรงใจทำร้ายตัวเอง นาทีนี้ไม่ต้องห่วงภาพลักษณ์ จงสนใจรักษาผลประโยชน์ของตัวเองให้มาก อย่ายอมให้ใครเอาเปรียบ มันจะกลายเป็นโง่ไปได้เหมือนกัน คำพูดหวานๆ จะพรั่งพรูออกมาจากปากผู้ขายเสมอ ขอให้จำไว้ว่า เขาทำการค้าย่อมต้องการผลกำไร เขาไม่ใช่เพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้องคุณ เขาพร้อมจะฟันหัวคุณแน่ๆ ทันทีที่คุณเพลี่ยงพล้ำ และในคนๆ เดียวกันนั้น ถ้าคุณเอารถไปขาย คุณจะได้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน
เอาล่ะ ไล่ดูเรียงไปตามลำดับนี่เลยครับ
ภายนอก
- สี เทียบกับหลังคาเลย จุดไหนที่ทำสีมาจะเห็นคลื่นแน่ๆ ให้เทียบลักษณะเงาสีกับรถรุ่นเดียวกันด้วย
- กันชน สเกิร์ต แนบสนิท บาล๊านซ์ ถ้าเข้าไม่สนิทลองถามเขาว่าแก้ไขให้ได้ไหม ปัญหาอยู่ที่ขาล๊อคตัวละหลายร้อยบาท ถ้าเขาทำไม่ได้ แล้วจุดอื่นโอเคหมดก็ไม่ซีเรียส แค่โน๊ตไว้ว่านี่คือค่าใช้จ่ายในส่วนที่เราต้องไปทำเพิ่ม
- สะเก็ดหิน+ยางมะตอย เป็นตัวบอกว่ามีวิ่งต่างจังหวัดมาบ้างไหม

- ขอบกระโปรงหน้าหลัง ให้เอามือลูบด้วย ใช้ตาอย่างเดียวไม่พอ การซ่อมที่ดีจะแทบมองไม่ออก ที่ดีกว่าคือลูบไปไม่พบความแตกต่าง แล้วเทียบกลับไปที่เรื่องการทำสีอีกที
- ไฟทุกดวงต้องเป็นยี่ห้อเดียวกัน
- กระจัง ร่องรอยการถูกกระแทก

- สภาพแม็ค สภาพยาง ดูปียาง
- ปีที่กระจกต้องตรงกันทุกบาน
ภายใน
- น๊อตทุกตัว เคยโดนถอดไหม
- ยางกรอบประตู หน้าต่าง
- มือจับ ปุ่มต่างๆ
- เบาะ
- พวงมาลัย เกียร์
- แผงคอนโซล
- เข็มขัดนิรภัย ดูปีด้วย
- พรม ถ้าถึงกับถอดซักคงซกมกน่าดู ผมอ่านเจอคนขายรถเขาบอกว่า เอามาก็ถอดซักทุกที่แหละ ไม่จริงครับ คุณใช้ปลายนิ้วกดที่ขอบดูจะรู้ได้ว่าคันที่ถอดกับไม่ถอดมันต่างกัน
- หมายเลขตัวถังใต้เบาะคนขับ อาจไม่ทุกรุ่น ในเล่มทะเบียนจะระบุตำแหน่งไว้
กระโปรงหลัง
- น๊อต
- ล้อสำรอง ดูสภาพยางด้วย อะไหล่ครบไหม
- รอยต่อ
- รอยบุบ
กระโปรงหน้า
- น๊อต
- หมายเลขเครื่อง รถรุ่นใหม่บางรุ่นอาจต้องเปิดฝาครอบเครื่องถึงจะเห็น ไม่ต้องดูก็ได้ ถ้าซื้อสดเราก็ไปใช้เงื่อนไขในการโอนตอนท้ายกัน เพราะยังไงขนส่งต้องเปิดดูให้อยู่แล้วตอนโอนรถ กรณีกู้ซื้อ เต๊นท์ต้องโอนให้ไฟแน๊นซ์ก็ต้องผ่านการตรวจสอบอยู่ดี แล้วถ้ามันโอนไม่ได้ไฟแน๊นซ์จะแก้ปัญหายังไง แจ้งเราไหม ยกเลิกการกู้ทั้งหมดรึเปล่า มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันหลายเคสเหมือนกัน ที่ส่งไปจนจบแล้วโอนรถไม่ได้ ถ้าจะเอาให้ชัวร์ก็ต้องขอให้เปิดดู
- คราบที่เครื่อง ถังน้ำ หม้อน้ำ ขั้วแบตเตอรี่ บ่งบอกถึงการดูแลรักษา ส่วนใหญ่เต๊นท์จะทำความสะอาดให้ดูดี แต่ร่องรอยมันจะมีหลงเหลือไว้ให้เห็น ให้ใช้นิ้วลูบดูด้วย (เพราะถึงเขาจะทำให้มันดูเรียบอย่างไร ลูบดูจะรู้สึกได้)
- คราบเกลือที่แผ่นเหล็กในห้องเครื่อง จะบอกว่ามันมาจากพื้นที่ใกล้ทะเล เศษทรายมีไหม
- สายพาน
- พัดลม จับโยกเบาๆ ว่าบูชหลวมไหม
- สติกเกอร์ต่างๆ
- สภาพหม้อน้ำ
- ยางฝาหม้อน้ำ ยังนิ่มอยู่ไหม ยางแข็งจะทำแรงดันในหม้อน้ำไม่สมบูรณ์ ผลที่เราเห็นได้คือคราบตระกรันที่คอหม้อน้ำ
- เปิดดูระดับน้ำในหม้อน้ำ มองหาคราบน้ำมันที่ผิวหน้าด้วย อาจมีการรั่วซึมของนำ้มันเครื่องเข้ามาในระบบหล่อเย็น
- ระดับน้ำมันเครื่อง ต้องตรงตามที่กำหนด มันถึงจะหล่อลื่นระบบได้สมบูรณ์ ถ้าพร่องจะทำให้เครื่องทำงานหนักมากขึ้น นานไปเครื่องจะหลวม ทีนี้อาจลามปามไปกันใหญ่
- สีของน้ำมันเครื่อง ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนใส่เกรดถูกๆ มาให้อยู่แล้ว คุณอย่าหวังว่าจะได้ซินเทติค

- สภาพคานด้านหน้า
- โฟมซับแรงหน้าคาน ชำรุดไหม โดนกระแทกมารึเปล่า
ใต้ท้องรถ
- รอยต่อคานในช่วงล้อหน้าหลัง
- ร่องรอยการรั่วซึม คราบต่างๆ ถ้ามีสนิมคือแช่น้ำมาแน่ๆ
- ร่องรอยการใช้งาน รอยหิน รอยครูด
- ด้านท้าย ดูตะเข็บตัวถัง เรียบเนียน สม่ำเสมอเหมือนกันทั้งหมดหรือไม่

- เอามือลูบภายในโครงล้อ ต้องเรียบและสัมผัสคล้ายกันทุกล้อ
- โยกล้อให้สุด แหวกยางหุ้มโช๊ค ลูบดูว่ามีน้ำมันรั่วไหม
ระบบไฟฟ้า
- เปิดสวิทช์ เช็คไฟแสดงสถานะต่างๆ ที่ควรขึ้นต้องขึ้น ที่ควรดับต้องดับ
- ไฟภายใน-นอกทุกดวง ดูความสว่างและเสมอกัน ไฟแท้-เทียมจะให้แสงไม่เท่ากัน ดูระดับสูงต่ำ เท่ากัน ทั้งซ้าย-ขวา
- ระบบแอร์ เปิดให้พัดลมแอร์ทำงานแรงสุดแล้วฟังว่ามันตันไหม เสียงพัดลม เสียงคอมแอร์ปกติไหม มีเศษอะไรปลิวออกมารึเปล่า

- เครื่องเสียง
- ระบบไล่ฝ้า เอามืออังดูมันจะอุ่นๆ คือยังใช้ได้

- น้ำฉีดกระจก ก้านปัดน้ำฝน
การตรวจสอบว่าระบบจ่ายไฟสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่ ทำได้ง่ายๆ โดยเปิดทุกสิ่งที่ต้องใช้ไฟ เปิดให้แรงที่สุด แล้วดูว่ารอบเครื่องเป็นยังไง โหดๆ ไปเลยครับ จะได้รู้กันว่าควรค่าไหมหรือจะต้องไปทำอะไรอีก รถที่ทำเครื่องเสียงมามักเจอปัญหาในระบบจ่ายไฟ แต่ถึงไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่ควรเล่นรถแต่งอย่างยิ่ง ความเสื่อมสภาพจากการใช้งานมันสูงกว่าการใช้ของคนปกติน่ะครับ ส่วนใหญ่เต๊นท์จะแปลงร่างรถแต่งให้กลับไปเป็นรถแบบเดิมๆ ถ้าทำได้ เพราะมันขายง่ายกว่าแน่ๆ ดังนั้นคุณจึงต้องมองหาร่องรอยการแต่งรถด้วย
เครื่อง+เกียร์
- สตาร์ทติดทันทีไหม
- ฟังเสียงไดชาร์ท
- เปิดแอร์แรงสุด คอมแอร์จะทำงานหนัก เข้าเกียร์ถอยหลัง มันจะดึงเครื่อง ให้ดูรอบเครื่องว่าตกแค่ไหน
- เปลี่ยนเกียร์ดูการสวิงของรอบเครื่อง

- ฟังเสียงเครื่อง สายพาน พัดลม ขณะสตาร์ททิ้งไว้
- ฟังเสียงเครื่องขณะเปลี่ยนเกียร์
- ฟังเสียงเครื่องขณะเพิ่มรอบเครื่อง ทดสอบที่ 2000 / 3000
- ดูท่อไอเสียที่ความเร็วรอบ 1000 / 2000 / 3000 ขณะเร่งเครื่องให้สังเกตแรงลมที่ออกจากท่อและกลิ่น เพื่อดูสภาพของ caterlytic เบื้องต้น อันนี้ต้องเทียบกับคันอื่นด้วย
- ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องขึ้นมานิดนึง ดูว่ามีควันขึ้นไหม กลิ่นเป็นยังไง ในรอบเครื่องแบบติดทิ้งไว้ (ระวังมากหน่อย ถ้าเครื่องไม่สมบูรณ์ มันจะพุ่งออกมา)
ห้องเครื่องที่ดี จะต้องมีแต่เสียงลูกรอกสายพานเครื่องเท่านั้น ไม่ว่าจะเปิดแอร์หรือเข้าเกียร์ ต้องไม่มีเสียงอื่นเพิ่ม เสียงพัดลมจะหมุนเร็วขึ้นเมื่อเปิดแอร์นี่เป็นเรื่องปกติ ในรถขนาดเล็ก/กลางจะมีพัดลมตัวเดียว ถ้ารุ่นใหญ่จะมี 2 ตัวทำหน้าที่แยกกัน ต้องจับการทำงานของมันแยกจากกัน มองหาความผิดปกติ
ลองขับ
หลายเต๊นท์ให้ลองขับโดยไม่ต้องมัดจำ บางเต๊นท์ก็ต้องการมัดจำ คุณต้องใส่เงื่อนไขที่ชัดเจนไว้ว่า กรณีใดที่คุณไม่เอาแล้วต้องคืนเงิน หรือไม่ยอมมัดจำไปเลย ไม่ให้ลองก็ไม่เอา จากนั้นก็ดูว่าความอยากของใครจะมากกว่ากัน
- ดูความสั่นสะเทือนของช่วงล่าง แร็ค บูชยาง
- ความโคลงของตัวรถ
- ระบบเบรค ให้เช็คที่ความเร็วต่างๆ กัน ความหนาผ้าเบรคคงต้องอาศัยเทียบเอากับคันอื่น ซึ่งค่อนข้างยาก ไม่แน่ใจก็เปลี่ยน แบบธรรมดาราคาคู่ละพันกลางๆ
- การทำงานของล้อและยาง
- พวงมาลัย
เมื่อรถอยู่กับที่ให้ลองหักพวงมาลัยซ้าย-ขวาสุด จะมีเสียงเตือนเล็กน้อยที่ล้อ ดูว่ามันปกติดีไหม ต้องไม่มีเสียงอื่นแทรกมา สังเกตรอบเครื่องด้วย ให้ลองเลี้ยวมุมแคบด้วยความเร็วระดับหนึ่งเพื่อเช็คแร็ค บูชยางบังคับเลี้ยวต่างๆ ต้องเงียบและไม่ดึงรอบเครื่องให้ตกลง
วางมัดจำเพื่อซื้อ
ก่อนวางมัดจำต้องได้ตรวจสอบเล่มทะเบียนของจริงก่อนเท่านั้น ปกติในรถจะมีสำเนาไว้ให้ดูแผ่นนึง แผ่นที่เขาอยากให้เราดู! ความน่ากลัวอยู่ที่เราไม่รู้ว่าหน้าอื่นมีอะไร ติดอะไรอยู่ไหม เพราะมันจะทำให้เราโอนไม่ได้
ที่สำคัญคือหน้า 18 จะเป็นประวัติการทำอะไรต่อมิอะไรกับตัวรถ เช่น ติดแกส เปลี่ยนป้ายทะเบียน(สาเหตุที่ทำให้ถึงกับต้องเปลี่ยนป้าย ก็เป็นเรื่องน่าคิด) มันยังมีเล่มทะเบียนที่สะอาดเกินไปให้ต้องระวัง เป็นมุขกลบเกลื่อนโดยแจ้งทะเบียนหายแล้วไปขอใหม่ คุณก็จะไม่ได้เห็นอะไรเลย อย่าคิดว่าเขาไม่ทำกัน อย่าโลกสวย คนทำมาหากินบางคนก็ไม่ได้ซื่อตรงอย่างที่เราคิด การค้าขายที่มีการแข่งขันสูงเขาทำกันได้ทุกรูปแบบ
คุณควรระบุไว้ด้วยว่า ถ้าโอนไม่ได้ต้องคืนเงินมัดจำให้คุณเต็มจำนวน รอบคอบดีกว่าเสียรู้ แล้วยังต้องแค้นใจ
การจ่ายเงิน
ง่ายๆ ครับ โอนรถได้ค่อยจ่าย บอกไปเลยว่าผมเคยทำอย่างนั้น ไม่ยอมก็ไม่ซื้อ อันนี้ต้องคุยกันให้จบก่อนวางมัดจำนะครับ ผมเจอมุข พี่จ่ายก่อนครึ่งนึงได้ไหม .. ไม่ครับ (และมันแสดงพิรุธบางอย่างออกมาด้วยนะในการพูดจาแบบนี้)
ห้ามโอนลอยเด็ดขาด (อันนี้ยาวครับ ไปหาอ่านเพิ่มเติมเองนะ เขาโดนกันมาเยอะ คุณจะเสี่ยงเป็นหนึ่งในนั้นก็เอา)
กรณีซื้อเงินสด เมื่อก่อนเราอาจต้องเช็คหมายเลขทะเบียนกับขนส่ง เลขเครื่อง เลขตัวถัง แต่เต๊นท์รถก็อาจวางคนไว้ที่ขนส่งได้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นที่มั่นใจได้ที่สุดคือ เต๊นท์ต้องให้คนของเขาไปโอนให้เรา โอนเสร็จค่อยรับเงินไป โดยอาจใช้
1. เงินสด หิ้วไปเลยถ้าสะดวก 5-6 แสนก็แค่แบงค์พันไม่กี่ร้อยใบ ปกติเราไม่ค่อยถือเงินสดกันทีละมากๆ อย่างนี้ ได้จับต้องบ้างก็ดี
2. เช็คสลักหลัง ให้เขาโทรไปเช็คกับธนาคารก่อนเลย แล้วขอเช็คมาไว้กับเรา โอนผ่านเอาไป ไม่ผ่านฉีกทิ้ง ถ้าเขาไม่ยอมจะเก็บไว้ที่เขาก็ได้ โอนผ่านจบไป ไม่ผ่านเราอายัด (อันนี้เป็นเต๊นท์หนึ่งที่ผมเคยซื้อรถแนะนำให้ทำ เพราะเขาเองก็ไม่ไว้ใจให้ลูกน้องถือเงินหลายแสนเหมือนกัน)
กรณีกู้ซื้อยังโอนไม่ได้ เราคงจำเป็นต้องตรวจสอบกับขนส่งจริงๆ เต๊นท์เขาสะบัดตูดไปตั้งแต่วันที่ไฟแน๊นซ์อนุมัติให้กู้แล้วครับ รับประกันเกียร์/เครื่องพังนี่น่าคิด ขนาดไหนถึงจะเรียกว่าพัง คุยกันไว้ก่อนก็ดีครับ เขียนไว้ในสัญญาให้ชัดเจน ถ้าเจอทีหลังว่าก็มันยังวิ่งได้ไม่ถือว่าพัง จะพูดไม่ออก
การที่ไฟแน๊นซ์อนุมัติให้กู้ ไม่ได้เป็นการการันตีว่ารถคันนั้นจะถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์และโอนได้แน่ๆ กรณีสวมทะเบียน ตัดต่อ ยกเครื่อง อาจทำให้มีรถสองคันที่เหมือนกันเด๊ะรวมถึงเลขทะเบียน ถ้าเราไม่ยอมตรวจสอบมันก็อาจเกิดขึ้นได้ จากนั้นก็ภาวนาเอาแล้วกันว่าขอให้เป็นคันของเราที่ถูกต้อง
อย่าคิดว่านี่ร้าย เราเรียกว่าความรอบคอบและตรงไปตรงมาจะดีกว่า เป็นการป้องกันการเกิดปัญหาที่อาจจะแก้ไม่ไหวในภายหลัง ถ้าอีกฝ่ายจริงใจ เรื่องแค่นี้ไม่ได้มีอะไรน่ากลัว เอกสารสำคัญของเราทุกอย่างอยู่ที่เขาหมดแล้ว เขาไม่ต้องกลัวอะไร เราสิต้องกลัว  ประสบการณ์กับชั้นเชิงของเราสู้เขาไม่ได้แน่ๆ เขาทำมาหากินอยู่ทุกวัน มันเป็นอาชีพ เป็นความเชี่ยวชาญของเขา ดังนั้น ต้องรอบคอบ
ที่มาของรถเต๊นท์
1. คนเอารถมาขาย
- ขายเพื่อเล่นป้ายแดง คนแบบนี้มีจริงครับ เขาจะใช้รถเพียง 3 ปี หมดประกันก็เปลี่ยนใหม่เพื่อความสบายใจในการใช้งานและทันสมัย ก็ต้องเป็นคนที่มีิเงินมากหน่อย เพราะ 3 ปีิเงินมันหายไปหลายแสน
- ขายเพราะซ่อมไม่ไหว
- ขายเพื่อเทรินรถกับเต๊นท์ กรณีนี้เต๊นท์เลือกไม่ได้ครับ ถ้าไม่เอาเขาก็ไม่มีิเงินพอให้ซื้อรถได้ แต่อาจเป็นโอกาสได้รถดีๆ ไว้ขาย หากมันผ่านมือผู้ใช้ที่ดีมา
2. ประมูลมาจากรถยึด รถโละ โอเค ผมอ่านแล้วเล่าต่อไม่ถูก คุณลองค้นหาด้วยคำว่าประมูลรถยนต์แล้วกัน กล้าก็เอา แต่ผมไม่ ผมขอเลือกแมวสวยๆ ที่เขาย้อมมาแล้วดีกว่า เอามาย้อมเองคงปวดกบาลและรับความเสี่ยงไม่ไหว
การย้อม อาจหมายถึง การเก็บงานสีที่ไม่เรียบร้อยให้ดูดี เปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างที่เสียหายบกพร่อง(ซึ่งก็ดี) เปลี่ยนบางชิ้นของอะไหล่ทั้งชุด เช่นยางรองแท่นเครื่อง บางที่ดีก็เปลี่ยนให้ทั้งชุด บางที่แย่ก็เปลี่ยนบางจุดเพื่อจบปัญหาชั่วคราว อะไหล่จะมีทั้งของแท้ ของเทียบ ของเทียม ของเชียงกง คุณคิดว่าเขาจะเอาอะไรมาเปลี่ยนให้ล่ะ อาจเป็นของแท้ก็ได้ใครจะรู้ ช่างไงรู้ แต่จะรู้ได้ต้องยกขึ้นฮ้อย ซึ่งผู้ขายไม่ยอมให้ทำอย่างนั้นแน่ๆ จุดนี้ดูไม่ได้จริงๆ แต่อย่างน้อยมันจะใช้ได้ดีระยะหนึ่ง เชื่อเถอะว่าเขาไม่ทำหรอกถ้ามันไม่จำเป็น
อีกอย่างคือการยำ เป็นการเปลี่ยนชิ้นส่วนจากรถคันหนึ่งไปสู่รถอีกคัน ดังนั้นในการหารถให้ไล่จากใกล้บ้านออกไป ถ้าไปเจอไกลบ้าน คุณต้องโกหกให้เนียนว่าพักอยู่แถวนี้(ไร้พรสวรรค์ก็ฝึกได้) ระยะเวลาตั้งแต่มัดจำถึงรับรถอาจหลายวัน เขาจะไม่กล้าทำอะไรกับรถคุณเพราะไม่รู้คุณจะแอบมาดูเมื่อไหร่ ถ้ารถรุ่นที่คุณจะเอามีอยู่คันเดียว โอกาสโดนยำจะต่ำกว่า กรณีนี้ผมเจอมากับตัว(ในอดีต) เมื่อต่อรองราคาด้วยความบกพร่องของอะไหล่บางชิ้นที่ต้องไปซื้อเปลี่ยนทีหลัง เขาถอดคันข้างๆ มาเปลี่ยนให้เลย!
3. รถเช่าเอามาชายทอดตลาด มันมีการทำธุรกิจรถเช่าที่ให้เช่าทั้งรถขนาดเล็ก/กลาง/ใหญ่ ให้บริการบริษัทต่างๆ เช่าให้พนักงานใช้ เพราะเขาไม่ต้องการซื้อรถมาไว้ในครอบครองให้กลายเป็นความยุ่งยากในทางบัญชี รถแต่ละรุ่นจะไปอยู่ในมือของผู้ใช้ต่างกลุ่ม คุณจะพอคาดเดาได้ว่าการใช้งานก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร                   
รถเช่า 1 ล๊อตจะมีช่วงเวลาเพียง 3 ปี นั่นคือช่วงเวลาที่อยู่ในประกัน ผู้ใช้รถเช่าจะต้องเซนต์สัญญาว่าจะใช้มันอย่างปกติวิสัย ต้องนำรถเข้าศูนย์ตามที่กำหนด ถ้าไม่เข้าเขาก็จะตามจิกให้ไปเข้าจนได้ เพราะเขาต้องรักษาสภาพรถไว้ขายต่อ ที่เหลือก็อยู่ที่พฤติกรรมส่วนบุคคลในการใช้รถล้วนๆ
การเช่าอาจเป็นสัญญาระยะยาวหรือเวียนเช่าก็ได้ จากนั้นจะนำมาขายทอดตลาด ให้เต๊นท์ไปกว้านซื้อมาแปรสภาพขายต่ออีกที ค่าเช่า+ค่าขายทิ้ง ได้กำไรไปซื้อรถใหม่มาให้เช่าต่อ(ลองเช็คเรทรถเช่าดูครับ) ฟังดูง่ายแต่ไม่ใช่มีเงินก็ทำได้ การบริหารจัดการและเครือข่ายต้องดี รถพวกนี้จะมีการขายออกเป็นล๊อต อยู่ที่เต๊นท์ไหนได้ของดีมา แต่ลักษณะจะคล้ายรถประมูล คุณจะไปซอกซอนดูแบบซื้อรถมือสองตามเต๊นท์ไม่ได้ ลองขับไม่ได้ และดูเหมือนคนธรรมดาจะเข้าไปขอซื้อไม่ได้
ดังนั้น จากข้อ 2-3 เต๊นท์จะได้ราคาซื้อที่ต่ำกว่าราคาขายราวห้าหมื่นถึงแสน(ลองเทียบกับราคารับซื้อดูครับ) เพื่อรับความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม แก้ไข ดัดแปลงให้มันดูดี ยังมีความเสี่ยงจากการที่รถจะต้องอยู่ที่เต๊นท์นานแค่ไหนไม่รู้ ซึ่งราคามันตกลงเรื่อยๆ คุณควรเห็นใจผู้ขายอยู่เหมือนกันนะ หรือจะเห็นใจตัวเองก่อนดี เอาเป็นว่านี่เป็นกระบวนการ เมื่อเข้าใจ เราก็รู้ได้ว่าแต่ละเต๊นท์มันไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ และจะต่อรองราคาอย่างไรไม่ให้น่าเกลียดจนถูกเขาด่า
หลายเต๊นท์จะถามเลยว่าคุณมีราคาในใจที่เท่าไหร่ ผมมักถามกลับไปว่าเขาให้ได้เต็มที่เท่าไหร่ จนมาเจอแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งที่เซลล์ใจถึงมาก เขากางลิสต์ให้ดูแล้วถามอย่างนี้แหละ ราคาเขาสูงกว่าราคากลางห้าหมื่น แต่ผมไม่อยากยืดเยื้อก็บอกราคากลางไป เขาว่าพี่ไปดูเลยหนูจัดการให้ได้ เก๋าว่ะ แต่พอมาคิดทบทวนแล้ว ผมว่าผมเห็นมาพอละ และสีที่เขามีมันดูแลยาก เลยเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ (ใครสนใจอยากคุยกับเซลล์คนนี้ ทิ้งคำถามกับอีเมล์ไว้ครับ เซลล์เก่งๆ จะไม่ปิดตัว รู้วิธีจัดการ คนแบบนี้ต้องสนับสนุน)
น่าจะครบถ้วนแล้วมั๊งครับ ที่เขาว่าการหารถมือสองเหมือนการได้เจอเนื้อคู่คงจริง อาจมาเร็ว มาช้า หรือไม่มาเลย แต่ถ้าเจอแล้วพบพิรุธหรือคิดว่ามีความเสี่ยงก็ควรจากมา อย่าเสี่ยงเลย ถ้ามันใช่มันต้องไม่ติดอะไร มันจะผ่านๆๆ แบบสบายใจ (บนความรู้นะ ไม่ใช่ไม่รู้แล้วสบายใจ) บทสรุปของผมคือเนื้อคู่ผมไม่มี หรือผมอาจอดทนไม่มากพอ ความรับได้ พึงพอใจ หรือเงื่อนไขของแต่ละคนมันต่างกันจริงๆ ไม่มีใครถูกผิดหรือคิดแทนกันได้หรอกครับ
บทความหน้าผมจะเขียนถึงชั้นเชิงต่อรองในการซื้อรถป้ายแดงอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทำได้จริงครับ ถ้าเราเข้าใจความต้องการของผู้ขาย เราก็ต่อรองได้มากขึ้น นอกเสียจากคุณจะเจอเซลล์ทื่อๆ เราก็เปลี่ยนไปใช้บริการของศูนย์อื่นสิ
หากท่านใดมีคำชี้แนะเพิ่มเติม เชิญได้เลยนะครับ ผมไม่ใช่พวกอีโก้จัด กูรู้กูเก่งอะไรเทือกนั้น ผมก็เป็นหนึ่งในผู้แสวงหาความรู้เหมือนกัน.

ไม่มีความคิดเห็น: