ก่อนอื่นเลย คุณต้องบ้าพอสมควร
ถึงจะพอรับความคิดคนอย่างผมได้ .. เอาเป็นว่า ใจกว้างพอแล้วกัน จะได้ฟังดูดีขึ้นนิดนึง
ย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน มันคล้ายกับว่า
อยู่ๆ ผมก็เบื่อสังสารวัฏ การเกิดดับ เปลี่ยนแปลง ทั้งสภาพแวดล้อมที่จับต้องได้ และความคิด
ผมเริ่มคิดว่า ทางพุทธเขาให้ความสำคัญกับการหลุดพ้นนี่ ทำไมไม่ลองอ่านดู
เผื่อเจออะไรที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ผมจึงนั่งอ่านบนเทศน์ของพระหลายองค์มากๆ
เริ่มจากที่ใครๆ ก็รู้จัก จนไปถึงไม่เห็นจะมีใครรู้จัก ผมอ่านแบบไม่เลือก อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า
ที่มีในโลกของ internet
จะเรียกได้ว่าอ่านสะสมเป็นฐานข้อมูลก็คงพอได้ เพราะอ่านกันไปเป็นพันๆ หน้า ฟังไฟล์
mp3 เป็น 100 ไฟล์
เช่น พระพุทธทาสภิกขุ, หลวงปู่มั่น, หลวงพ่อชา,
หลวงพ่อลี, หลวงพ่อโต, หลวงตามหาบัว,
หลวงพ่อเปลี่ยน, หลวงพ่อปราโมชย์,สมเด็จพระญาณสังวร, พระครูเกษม ธรรมทัต, พระไพศาล วิสาโร, ว. วชิรเมธี, พระชัยสาโร, ส.มหาปัญโญภิกขุ, แม้ฆารวาสอย่าง
ดังตฤณ ผมก็อ่าน และอีกมากมาย .. ยกเว้นพระไตรปิฎก ลองแล้วไม่ไหวครับ อ่านยากมาก
ถ้อยคำเมื่อ 2500 ปีก่อน กับสไตล์การจดบันทึก ทำให้ ผมคิดว่าถ้าจะพยายาม
คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจมากกว่าการอ่านพันๆ หน้านั่นหลายเท่า
สุดท้าย ผมได้ข้อสรุปกับตัวเอง 2
เรื่อง
1. ผมชอบสไตล์การคิดแบบพระป่ามากกว่าพระเมือง
ชอบแนวปฏิบัติเสรีมากกว่าการยึดติดพิธีกรรม ชอบแบบสุดทิศสุดทางมากกว่าครึ่งๆ กลางๆ
.. ความหมายคือ ผมตั้งใจให้ถึงการหลุดพ้น นิพพาน ไม่เกิดอีก
ไม่อยากได้แค่การยกระดับภพชาติ เพราะมันไม่จบจริง ยังต้องติดอยู่ในวัฏสงสาร ..
มันเป็นการเดินผ่านความอยากไปสู่ความไม่อยาก ยากนะ ..
โชคดีที่มันผูกอยู่กับคำแค่ 2 คำ
สมถะ กับวิปัสสนา .. ผมพูดให้กำลังใจหรือ ก็ใช่ เพราะใน 2 คำนั้น
มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำความเข้าใจอีกพอสมควร แต่ก็โชคดีอีก
ที่คุณแค่ทำให้ตัวเองเข้าใจอย่างถูกต้องก็พอ ไม่ต้องท่องจำ
(คุณไม่ได้คิดจะไปสอบเอาเปรียญอะไรใช่ไหม) เพราะเมื่อคุณเข้าใจ มันจะฝังลงไปในสมอง
แล้วดึงออกมาใช้เองเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ มันคือความมหัศจรรย์ของสมองมนุษย์ เราต้องการการกระตุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เพื่อดึงความทรงจำเก่าที่เกี่ยวข้องกันออกมา ซึ่งเงื่อนไขคือ
มันต้องเป็นลูกกุญแจดอกที่ถูกต้องด้วยนะครับ
2. สิ่งที่ตัดออกจากความสนใจ เช่น จะเวียนว่ายตายเกิดเป็นภพชาติแบบไหน, เจ้ากรรมนายเวร,
ทำบุญอะไรได้อะไร, ประเพณีพุทธเทียมต่างๆ นาๆ, ความเชื่อทุกอย่างที่ไม่ใช่พุทธแท้ ตัดทิ้งหมดครับ
เพราะคำตอบเดียวของพุทธแท้คือการวางให้หมด ไม่เอาอะไรเลย เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่สอนให้ไม่วาง
ผมก็ถือว่าผิดไปจากความต้องการของผมทั้งหมด จะเสียเวลารู้ไปทำไมกัน
ครั้งแรกในชีวิตที่ผมทดลองสัมผัสศาสนาพุทธ
เป็นตอนที่ผมอายุ 16 ปี ผมได้มีโอกาสอ่านอานาปานสติภาวนาของพระพุทธทาสภิกขุ
ที่ตลกคือ เป็นหนังสือที่คุณอาซิสเตอร์ท่านถือมาฝาก
จำได้ว่ามีหลายเล่มเกี่ยวกับพุทธ แต่ผมจำได้เล่มเดียว
อาจเป็นเพราะอ่านเล่มนี้เล่มเดียวกระมัง .. และเมื่อนักบวชเป็นคนยื่นมาให้เอง
ผมเลยสรุปได้ว่าคนคริตส์สามารถศึกษาศาสนาพุทธได้ตามความต้องการ เมื่อมาคุยกันตอนที่ผมแก่แล้ว
จึงรู้ชัดเจนว่า มีการศึกษาแนวคิดของศาสนาอื่นในกลุ่มนักบวชคาทอลิคอยู่แล้ว
อานาปานสติภาวนา ทำให้การทำสมาธิของผมติดอยู่กับวิธีนั้น
ตามลมหายใจอย่างเดียว ก็เล่นยากหน่อยถ้ามีเรื่องในหัว ผมมันคนฟุ้งซ่าน
ต้องใช้เวลาทำความเคยชินพอสมควร เมื่อต้องรื้อฟื้นใหม่ ..
จำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ผมว่างเลยทดลอง แล้วเห็นภาพตอนกลางวันแสกๆ
ในกระจกเงา เลยติดเล่นสนุกอยู่พักหนึ่ง พอเริ่มเข้าปี 1 ชีวิตก็วุ่นวายจนทิ้งไป
มาเริ่มใหม่เมื่อ 2-3 ปีก่อน คราวนี้เล่นทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่ก็ทิ้งไปอีก
วันนี้เลยเป็นการเริ่มครั้งที่ 3 ผมพลางสงสัย จะไปได้ถึงไหน
หนังสืออีกเล่มของพระพุทธทาสภิกขุที่คุณไม่ควรพลาดเด็ดขาด
“นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้” เป็นหนังสือที่เขียนได้ถึงแก่นอารมณ์มนุษย์ ผมหมายถึง ท่านเข้าใจถึงความเป็นปุถุชนของเราได้อย่างน่าทึ่ง
อ่านแล้วสามารถกำราบความคิดคนดื้อดึงได้ง่าย อ่านแล้วต้องยอมใจให้ว่าจริงหมด เห็นทุกอย่างได้ชัดเจนจนเถียงไม่ออก
.. หรือเรื่อง ตัวกูของกู, การบวชอยู่ที่บ้าน
ก็น่าสนใจไม่น้อย จัดเป็น recommand book เลยครับ
หลวงพ่อชา สุภทฺโท มรณภาพเมื่อปี
2535 ผมเกิดทันนะ แต่ตอนนั้นยังเหี้ยอยู่ เป็นช่วงเวลาที่ผมพอใจกับชีวิตเสเพล ที่ให้ความสุขแบบกลวงๆ
จัดว่ายังโชคดีอยู่บ้าง ที่ไม่ไปไกลจนกลับมาเป็นคนทั่วไปไม่ได้ ..
ผมเริ่มจากการลองฟังบทเทศน์ของท่าน
ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร แล้วเกิดความประทับใจแบบสุดๆ เลยหา download ที่เป็นตัวหนังสือ ซึ่ง ณ เวลานั้น
มันไม่มี e-book ของท่านเลย ผม copy จากสารพัดหน้าเวบ
แปะลง word แล้ว print ออกมา
น่าจะหลายร้อยหน้า A4 .. การอ่าน มันมีความยืดหยุ่นกว่าการฟัง
ในเรื่องของการใช้เวลา ในการให้ความสำคัญกับข้อความที่แตกต่าง
การทำความเข้าใจประโยค การทบทวนซ้ำ การเน้นจุดที่สำคัญไว้เพื่อกลับมาทบทวนใหม่ ..
หลวงพ่อชาท่านใช้คำพูดง่ายๆ
ลงลึกทั้งปรมัติและปฏิบัติ ผมอ่านบทเทศน์ทั้งหมดของท่านที่หาได้ แล้วรู้สึกว่าเข้าใจได้ง่ายที่สุดในการสอนของพระทั้งหมดที่ผมอ่าน
ลองอ่านสิ แล้วคุณจะเข้าใจสิ่งที่ผมพูด .. มีเรื่องเดียวที่ผมไม่เคลียร์
เรื่องการดูจิต จะดูยังไงให้มันเห็นชัดๆ .. เรามี การกระทำ การรู้สึกต่อการกระทำ
สติผู้มองดู ผู้รู้ แล้วยังต้องเห็นผู้รู้อีกด้วย ผมใช้เวลานานมาก
กว่าจะหาตัวผู้รู้เจอ แต่ก็ยังไม่แน่ใจ แล้วสิ่งที่ดูผู้รู้อยู่ล่ะ คืออะไร
ของผมมาๆ หายๆ เสียด้วย ไม่เสถียรเลย
จนมาเจอหนังสือของพระครูเกษม ธรรมทัต
เป็นหนังสือความหนาราว 200 หน้า รายละเอียดอลังการ แต่การอ่านไปลองทำตามไป
มันจะเคลียร์มากๆ เพราะสอนตรงเรื่องการดูจิตอย่างเดียว ชื่อหนังสือคือ
วิปัสสนาภูมิ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ก็เน้นเรื่องวิปัสสนา ผมมีโอกาสอ่านตั้งแต่หนังสือที่ท่านเขียนก่อนบวช จนหลังบวช
และฟังบทเทศน์อีกพอสมควร ก็สอนเรื่องการดูจิตได้เข้าใจง่าย ชัดเจน เป็นการเริ่มหรือไปต่อที่ดี
หนังสือกายคตาสติภาวนา
ของหลวงตามหาบัว เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ว่ากันด้วยเรื่องการพิจารณาอสุภะ
คือศพนั่นแหละ อาจมีความเข้าใจผิดกันว่า การพิจารณาอสุภะ
เน้นเพื่อกำราบราคะตัณหาเพียงอย่างเดียว ความจริง เรื่องนี้สำคัญมาก
เพราะช่วยให้ถอดถอนตัวตนออกได้หมด ทุกเรื่องอยู่บนรากฐานของตัวตน ที่เป็นเพียงหนังบางๆ
หุ้มสิ่งน่าเกลียดไว้ ว่ากันอย่างหยาบ เรามีแค่พอใจกับไม่พอใจ ที่วางอยู่บนตัวตน
ไม่มีตัวตน ก็ไม่มีที่ให้วาง ทำให้ผมนึกได้อีกเรื่อง การแผ่เมตตา
ไม่ควรแผ่เมตตาเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ไม่มีที่ให้ยึดให้จับ .. โชคดี
ที่ทุกวันนี้เรามี internet คุณสามารถพิจารณาอสุภะขั้นต้นได้โดยการค้นหาสิ่งที่เกี่ยวข้อง
ผมยังสงสัย หากให้ผมไปยืนดูของจริง ผมจะไหวเหรอ เรายึดติดกับของสวยงามมานานเกินไป
หลอกตัวเองมาทั้งชาติ เป็นเรื่องน่าสงสาร
ดังตฤณ เป็นฆราวาสคนเดียวที่ผมอ่าน แล้วอ่านเล่มต่อไป
แนวออกพระเมืองมากกว่า แต่ผมมองว่า การเปิดรับความคิดแบบฆราวาสบ้าง
คงได้แนวปฏิบัติที่ปรับใช้ได้ง่ายกว่าพระภิกษุ ด้วยเงื่อนไขชัดเจนกับตัวเองว่า ผมไม่เปลี่ยนศาสนาแน่
ไม่บวชแน่ๆ เนื่องจากความเหมาะสมในการใช้ชีวิตน่ะครับ ภาระ หน้าที่ ความรับผิดชอบ
อะไรพรรค์นั้น .. มันจึงมีข้อจำกัดในการปฏิบัติตัวแบบนักบวช ซึ่งคงไม่ใช่ปัญหาอะไร
ถ้าเราจะปรับวิถีชีวิตให้รองรับการปฏิบัติตามสมควร
ประเด็นสั้นๆ คือ เราจำเป็นต้องฝึกสมถะเพื่อให้สมาธิมันดีพอ
ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่านจนจับอะไรไม่ได้ จากนั้นตามด้วยวิปัสสนา
คือการตามดูให้เห็นความไม่เที่ยงในสิ่งต่างๆ เมื่อเห็นความไม่เที่ยงชัดๆ
ใจจะปล่อยทุกอย่างเอง ไม่ยึด ไม่เอาอะไรเลย นั่นคือถึงนิพพาน .. ยากตรงที่ให้เห็นความไม่เที่ยงนี่แหละ
ต้องอาศัยสมาธิ สร้างสติ ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของสภาวะต่างๆ
ที่เกิดดับอยู่ ต้องสร้างทักษะจากการทำซ้ำ คือรู้ตัวบ่อยๆ จนมันกลายเป็นอัติโนมัติ
มาเป็นรู้ตลอดเวลา มันจึงจะเห็นตลอดเวลา แล้ว ตามทฤษฎีคือ จิตมันจะเบื่อหน่าย
ไม่เอาเอง ถึงจุดนั้นได้ก็หลุดครับ ขอให้มีความเพียรเท่านั้น
ยังมีพระอีกหลายองค์ ฆราวาสอีกหลายคน
ที่ผมกล่าวไม่หมด คือจดจำลักษณะเด่นในเรื่องที่สอนไม่ได้น่ะครับ แต่ทั้งหมดที่อ่านไป
มันเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีความสำคัญทุกชิ้น
ให้สมองเอาไปกลั่นกรองเป็นภาพรวมใหญ่ได้ ที่เหลือคือ เราจะมุ่งเน้นไปทางไหน ความต้องการของแต่ละคนไม่เท่ากัน
หรือคนละด้านกันด้วยซ้ำ ทำให้ผมนึกถึงที่เพื่อนผมคนหนึ่งชอบพูดว่า คนเราคบหา
ศีลต้องเสมอกัน .. ผมไม่ได้คิดจะคบหากับคนมากมาย จึงไม่จำเป็นต้องมีศีลเสมอกับใคร
.. แค่เลือก ทางที่คิดว่าเหมาะกับตัวเอง แล้วเดินไปตามนั้น.
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณสำหรับบทความดีมีประโยชน์ใน เมื่อคนคริสต์ศึกษาพุทธ(2558) น่าสนใจมากครับ ผมเองเป็นคริสเตียนครับ
สงสัยเล็กน้อยว่า ปัจจุบันคุณยังเป็นคริสต์(คาธอลิค?) อยู่หรืออย่างไรครับ
ขอบคุณ
พระเจ้าอวยพรนะครับ
อัสนี
แสดงความคิดเห็น