While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความงมงายของคนไทย

ความงมงาย .. เป็นเรื่องอันตรายและค่อนข้างน่ากลัว มันอาจทำให้เราหลงไปกับเรื่องไร้สาระ เสียเงิน เสียเวลา เสียผู้เสียคน .. การไม่ยอมคิดหาเหตุผล จะทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามความโง่เขลาไปได้ (คุ้นๆ ไหม .. คำว่าโง่ พระพุทธทาสภิกขุท่านใช้บ่อยๆ)
ความงมงายมันก็มีที่มาที่ไป .. ลองมาดูกันว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง เพื่ออะไร แล้วเราจะเอาตัวเองให้หลุดออกมาจากการเป็นเหยื่อได้ไหม อย่างไร ..
วัตถุประสงค์ในการสร้างเรื่องงมงาย
เท่าที่ผมนึกออกตอนนี้นะครับ น่าจะมีทั้งความหวังดีและความหวังร้าย
ความหวังดี .. จะถูกนำมาใช้กับคนดื้อ ที่การสอนดีๆ ไม่อยากจะเชื่อ ไม่อยากจะฟัง เลยต้องสร้างเรื่องอิทธิปาฏิหารย์มาหลอกล่อ เป็นกุศโลบายทางอ้อม ให้คนทำความดี ไม่ทำความชั่ว .. เห็นได้จากพระสายเกจิ ที่จะสื่อไปทางว่า เอาวัตถุมงคลไปบูชาแล้ว จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม จึงจะสามารถส่งผลให้แคล้วคลาด หนังเหนียว ร่ำรวย อะไรก็ว่าไป สุดท้ายคนผู้นั้นก็จะละเรื่องชั่วๆ ไปเอง เมื่อไม่ได้ทำ นานเข้าก็จะไม่กล้าทำ หรือกลัวว่าทำแล้วของจะเสื่อม แต่มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากภายใน ซึ่งยั่งยืนกว่า (อันนี้เป็นคำพูดด้านจิตวิทยา จำมาจากท่านอา)
ผมเคยอ่านเจอเมื่อราว 10 ปีก่อน ชาวบ้านคนหนึ่งยากจนและขี้เกียจ แต่อยากร่ำรวย เขาไปขอวัตถุบูชาจากหลวงพ่อท่านหนึ่ง เอาแบบที่ไม่ต้องทำอะไรก็รวยเลย .. ท่านก็ว่า ต้องใช้เศษบางๆ ใต้ใบกล้วยสด ตากแห้งให้ได้น้ำหนักราว 3 กิโลกรัม เอามาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างวัตถุมงคล ชายคนนั้นก็กลับไปบ้านตัวเอง ตัดใบกล้วยมา ใช้มีดขูดเอา หมดสวนแล้วก็ยังได้ไม่เท่าไหร่ ขอใครเขาก็ไม่ให้ เพราะมันเป็นของขายได้ .. เขาก็เริ่มจริงจังกับการปลูกกล้วย คงไม่ต้องเล่าอย่างละเอียดกว่านี้ ก็คงพอจะทำให้คุณนึกภาพได้ว่า ผลผลิตจากกล้วยเป็นสวนๆ ผ่านไปหลายปี ก็ยังไม่ได้วัตถุดิบที่จะนำไปทำวัตถุมงคลมากพอ แต่ก็ทำให้ฐานะดีขึ้นได้ .. นี่เป็นตัวอย่าง ของการจำเป็นต้องเอาเรื่องงมงายมาสอนคนดื้อ เพราะการบอกไปตรงๆ ว่า ไปทำงานสิจะได้รวย เขาก็คงไม่เชื่อ
ความหวังร้าย .. จะถูกนำมาใช้เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ตนเอง คุณจะสังเกตได้ง่ายๆ .. ถ้าผู้วิเศษที่ว่า ยังพอใจในลาภสักการะหรือชื่นชอบความดัง เขาไม่ใช่ผู้วิเศษจริงๆ แน่ .. ผู้ที่บรรลุแล้ว จะไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ เขาจะไม่เอามาพูดด้วยซ้ำถึงสิ่งที่เขาทำได้ผิดมนุษย์มนา เพราะผิดศีลในเรื่องอวดอุตริ .. หรืออย่างที่ต่ำลงมาเช่น การประโคมข่าวอะไรขึ้นมา ให้ผู้คนแห่กันไปดู ไปบูชา ก็จะมีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ..และเงินสะพัด ก็อาจดี ถ้ามองในแง่ของการกระจายรายได้ หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว
การที่คนจะงมงายได้ เกิดจากอะไร
ความโง่ .. ไม่รู้ รู้น้อย ไม่มีความเข้าใจ เลยเชื่อ ที่แย่กว่าก็คือ ไม่คิดที่จะหาความรู้ให้มากขึ้น ก็โง่ต่อไป
ความฉลาด .. คิดว่าตัวเองฉลาดพอแล้ว ไม่ฟังคำทัดทานจากผู้อื่น เชื่อว่าตนเองคิดถูกแล้ว เข้าใจถูกแล้ว เลยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มอีก อันนี้มีความอวดดีร่วมด้วย
อยากเชื่อ .. เพราะตรงกับความชอบของตนเอง ชอบเรื่องแบบนั้นเลยรีบเชื่อ ไม่คิดศึกษาหาเหตุผลให้รอบด้าน ไม่มองดูความเป็นไปได้อื่นๆ ในทุกแง่มุม ในศาสตร์ทุกแขนง
ความโลภ .. คนที่มีความโลภมากๆ มักจะถูกหลอกได้ง่ายกว่า ด้วยอุบายง่ายๆ เช่น ทำอย่างนี้แล้วจะได้อย่างนั้น เป็นการจูงใจด้วยผลตอบแทนที่จะได้รับ จากการเชื่อและปฏิบัติตาม คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ให้ความสนับสนุนกับพวกต้มตุ๋นให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างดี .. คนไม่โลภ มักไม่ถูกหลอกด้วยเรื่องแบบนี้
วิธีสร้างความงมงาย
ผมไม่ได้จะมาชี้แนะแนวทางให้คุณไปทำเรื่องเลวๆ นะ (อาจเป็นการสอนจรเข้ว่ายน้ำก็ได้) แต่คุณอาจไม่เคยสังเกตว่ามันมีอยู่ และมีให้เห็นบ่อยมากๆ ในสังคมของเรา
1.  สร้างเรื่องให้มีที่มาที่ไป มีเรื่องแวดล้อม สร้างพยาน หลักฐาน สร้างเหตุผลประกอบ ถึงจะเป็นเหตุผลที่เป็นไปได้เพียงบางส่วนและสามารถคัดค้านได้ ก็จะมีคนบางกลุ่มพร้อมที่จะเชื่อ และพวกเขาพร้อมที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปบอกต่อ ในฐานะเสียงสนับสนุนที่หนักแน่นและจริงจัง
2.  การประโคมข่าว เพื่อทำให้เรื่องราวนั้นๆ แพร่กระจายไปในวงกว้าง มันจะได้โดนใจคนโง่เขลากลุ่มใหญ่ แล้วพวกเขาจะช่วยกระพือข่าวออกไปอีก ช่วยไปโน้มน้าวให้คนที่เขารู้จักเชื่ออย่างเขา เป็นรูปแบบของจิตวิทยามวลชนแขนงหนึ่ง ..
ที่กวนใจผมคือ เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่เราให้ความยืดหยุ่นมากเกินไป เราปล่อยให้มีเรื่องของการเซ่นสรวงบูชาผีสางนางไม้ ราวกับเป็นพวกชนเผ่านับถือผีสมัยโบราณ .. ถ้าเป็นพุทธแท้ จะไม่มีเรื่องเหล่านี้เลย พุทธแท้ๆ จะมีเพียง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้น ..
ดูอย่างเรื่องศาลพระภูมิเป็นต้น พุทธจริงๆ ไม่มีเรื่องพระภูมิเจ้าที่นะ แต่บ้านคนพุทธมีทุกบ้านเลย ทำไมล่ะ .. ถ้าเจ้าที่มีอยู่จริง ก็ต้องมีอยู่ทุกที่ใช่ไหมครับ แล้วในที่ๆ คนไม่นับถือ เจ้าที่ทำยังไงล่ะ จะเป็นไรไหมถ้าคนพุทธจะเลิกให้ความสนใจเจ้าที่ คนที่เขาไม่นับถือก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ และมันไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกไม่ใช่หรือ .. พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนนี่นา ไปรับมาทำไม แล้วรู้สึกว่าการกราบไหว้เจ้าที่เป็นเรื่องผิดทางพุทธด้วยนะ ลองใช้คำว่าพระภูมิพุทธค้นหาดู นั่นเป็นพราหม์ไม่ใช่พุทธนะครับ .. เอ ผมเล่นแรงไปไหมเนี่ย เล่นไปแล้ว ทำไงได้
การหลุดจากความงมงาย
ดูเหมือนจะไม่มีทางลัดอะไร นอกจากคุณจะต้องอ่านให้มาก ฟังให้มาก ศึกษาให้มาก ใช้เหตุผล ตรรกะ วิทยาศาสตร์ เรื่องมันจะวุ่นวายน้อยลง และทำให้มีเวลาเหลือมากขึ้นในการนำไปพัฒนาตนเองและสังคม .. ลองดูพวกฝรั่งสิ เขาไม่ต้องมีฤกษ์งามยามดี ไม่ต้องมีสีถูกโฉลก ไม่ต้องบูชาพระราหู 9ล9 .. มันก็ลดความยุ่งยากลำบากใจไปได้มาก ประสิทธิผล เราก็เห็นๆ กันอยู่ .. ผมอยากเล่านิดหนึ่ง มีคนไปขอฤกษ์ปลูกบ้านกับหลวงพ่อชา ท่านถามว่า ข้าวของพร้อมหรือยัง ช่างมีไหม ถ้ามีก็ปลูกได้เลย .. คุณเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ไหม สิ่งที่ท่านพยายามสอนผู้คนน่ะ
หรือลองไปอ่านกาลามสูตรของพระพุทธเจ้า ว่าด้วยเรื่องของหลักความเชื่อ 10 อย่าง คือ
อย่าเชื่อเพราะฟังๆ กันมา
อย่าเชื่อเพราะทำๆ กันมา
อย่าเชื่อเพราะเรื่องเล่าลือ
อย่าเชื่อเพราะการอ้างตำรา
อย่าเชื่อเพราะตรรก
อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน คาดคะเน
อย่าเชื่อเพราะคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผล
อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่ตรงกับความคิดของตัว
อย่าเชื่อเพราะความน่าจะเป็นไปได้
อย่าเชื่อเพราะคนบอกเป็นครูอาจารย์ของเรา
ครั้งแรกที่อ่านผมงงเลยนะ อ้าว แล้วจะไม่ให้เชื่ออะไรเลยเหรอ .. เลยต้องอ่านต่อๆ ไปอีกมาก จนเข้าใจว่า ท่านสอนไม่ให้เชื่อเพราะอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องพิจารณาทุกอย่างนั้น แล้วดูด้วยว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามด้วยไหม คำสอนนี้เป็นคำสอนตรง ให้หลุดจากเรื่องงมงาย ผมมองว่าเป็นประโยชน์มากไปอีกนาน ถ้าคุณจะลองเสียเวลาพิจารณาดูสักครั้ง .. ที่มันแย่คือ เรามีคนที่มีสถานภาพทางสังคมสูงส่ง แต่ยังทำตัวงมงายออกสื่อ คิดบ้างไหมว่าคุณกำลังส่งเสริมเรื่องงมงายอยู่
ต่ออีกหน่อย .. เป็นเรื่องที่ผมเห็นบ่อยๆ และรู้สึกไม่เห็นด้วย เรื่องการสวดมนต์แล้วได้บุญ .. ผมรู้ว่าบทสวดทั้งหลายของทุกศาสนาเป็นคำสั่งสอน เป็นข้อเตือนใจ แต่ถ้าคุณสวดไปอย่างนั้นเอง โดยไม่คิดตาม ไม่รู้ความหมาย มันจะมีประโยชน์อะไร .. จะได้บุญ ได้ยังไง
ผมเคยไปงานศพคนพุทธ เท่าที่ฟังออก (ผมไม่ใช่พุทธน่ะ คนพุทธควรฟังออกใช่ไหม) พระท่านจะใช้บทสวดที่สอนเรื่องสังขาร เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่หลายคนที่มา ก็นั่งคุยกันอย่างไม่สำรวม ไม่ให้เกียรติทั้งคนเป็นและคนตาย เป็นเรื่องน่ารังเกียจนะ คุณว่าไหม .. ผมก็เข้าใจ คนมางานศพมี 2 เหตุผล รู้จักกับคนตาย หรือรู้จักกับญาติของคนตาย แต่ถึงยังไงเราก็ควรจะไว้หน้าพระท่านบ้าง พระท่านมาสวดให้เราฟัง ท่านก็เหนื่อยนะ หวังจะให้เราคิดตาม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของสังขาร เรื่องของความตาย ได้บ้าง .. คำพูดที่ว่าฟังสวดแล้วได้บุญหรือสวดแล้วได้บุญ ก็คงต้องดูกันด้วยว่า อย่างไร ..
อีกเรื่องที่ผมไม่เข้าใจจริงๆ ใครเข้าใจก็ช่วยอธิบายหน่อย คำพูดที่ว่า นั่งสมาธิแล้วได้บุญ .. ประโยคนี้คุณจะไม่ได้ยินจากสายพระป่านะ แต่จะเจอจากคำพูดของบุคคล หรือหนังสือทั่วๆ ไป .. ที่ผมงงคือ การนั่งเฉยๆ ดูลมของตัวเอง มันจะได้บุญได้ยังไง .. สิ่งที่ผมมั่นใจว่าได้แน่ๆ คือ คุณจะได้ฝึกจิต คุณจะนิ่งขึ้น ฟุ้งซ่านน้อยลง มีสติเร็วขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ได้ดูไตรลักษณ์ .. ผมไม่เห็นด้วยว่า การไม่ทำบาป ไม่คิดเรื่องไม่ดี จะเป็นบุญ .. คุณต้องทำเรื่องดีๆ มันถึงจะเป็นบุญ ผมเข้าใจถูกไหม .. หรือมันเป็นคำพูดกุศโลบาย ให้คนหันมานั่งสมาธิกัน หลอกว่าจะได้บุญ แต่ผู้ปฏิบัติก็จะได้อย่างอื่นอันจะนำไปสู่การทำบุญ แล้วได้บุญ ละบาป .. ก็เป็นไปได้นะ .. งั้นเราจะถือเสียว่า คนพูดประโยคนี้ ฉลาดจัง ก็แล้วกัน.

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เป็นข้อเขียนที่เป็นกลางดี ทำให้คนคิด และ รู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้อง

Unknown กล่าวว่า...

เป็นข้อเขียนที่เป็นพุทธที่สุดแม้ผู้เขียนจะบอกว่าไม่เป็นพุทธก็เถอะ แต่คนพุทธเองกลับไม่ยอมเข้าใจในสิ่งที่เป็นพุทธ