While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี (2)

ทุกข์ให้รู้ กิเลสให้ละ นิโรธให้แจ้ง มรรคให้เจริญ
สะสมมาจาก FB ครับ อ่านไปเก็บไป ที่ถูกจริตวิสัย เอาไว้ทบทวน/แบ่งคนอื่น
ตั้งแต่เกิดมา เราก็ถูกสอน ให้เรียนสิ่งข้างนอกตลอด พอลืมตาขึ้นมาตั้งแต่เด็กๆ นะ ก็ดูของข้างนอก ผู้ใหญ่ก็ชอบมาหลอก ให้เราดูของข้างนอกด้วยนะ ชอบเอามือมาหลอกเด็ก จ๊ะเอ๋ๆ เด็กก็ส่งจิตออกนอกนะ ฝึกตั้งแต่เล็กๆ เลยนะ ยังพูดไม่เป็นเลย ก็ถูกฝึกให้ส่งจิตออกนอก ถูกฝึกให้รู้จักสมมุติบัญญัติ นี่แม่นะ นี่พ่อนะ ถ้าลูกเรียกแม่ก่อนแม่ก็ดีใจ ถ้าลูกเรียกพ่อก่อนพ่อเท่มาก ปกติจะเรียกแม่ก่อน อักษร พ-ม เนี่ยมันจะอยู่ที่ริมฝีปาก มันใช้ริมฝึปาก ออกเสียงง่าย ฉะนั้นเด็กมันจะพูด เรียกพ่อเรียกแม่ได้ก่อน นี่ถูกสอนให้ส่งจิตออกนอก ถูกสอนให้รู้จักสมมุติบัญญัติ แต่ถ้าไม่รู้จักสมมุติบัญญัติ มันก็อยู่กับโลกไม่ได้ โตขึ้นมาหน่อยไปเล่นกับเพื่อน ก็สนใจของข้างนอก เด็กเล็กๆ สังเกตไหม จะสนใจสิ่งแวดล้อมข้างนอก เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอยู่ ธรรมชาติเดิมของสัตว์เป็นอย่างนั้น ต้องสนใจ(สิ่งแวดล้อมข้างนอก) ถ้าไม่สนใจนะ มัวแต่มาดูตัวเอง เอาตัวไม่รอด
เราถูกปลูกฝังให้ออกนอกมาตลอด เรียนหนังสือก็เรียนเรื่องข้างนอก ไม่มีหรอกหนังสือเรียน ที่สอนบอกให้ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย หรือของกระทรวงศึกษา ไม่ค่อยมีหรอก มีแต่สอนให้เราเรียนวิชาข้างนอก ให้เรียนวิชาข้างนอกไปเพื่ออะไร จะได้เอาไปทำมาหากินได้ ชีวิตจะได้มีความสุข
เราเรียนศาสตร์แต่ละสาขานะ บางคนก็หวังว่าจะเอาไปทำมาหากิน จะได้มีความสุข บางคนก็รวยมาแต่เกิดแล้ว เขาไม่ต้องคิดเรื่องทำมาหากิน เขาก็เลือกเรียนไอ้ที่เขาชอบ เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้มีความสุข สิ่งที่ต้องการมาตลอดนะ คือความสุข แล้วก็วิ่งหาความสุขตลอดชีวิตแหละ
ตอนเด็กๆ อย่างเรียนหนังสืออยู่ พึ่งตัวเองไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีรายได้อะไรนะ ก็ต้องพึ่งผู้ใหญ่ จะทำอะไรก็ต้องขอเขา เขาให้ก็ได้ เขาไม่ให้ก็ไม่ได้ ตอนเด็กๆ สุขภาพแข็งแรง มีเวลาเหลือ อย่างปิดเทอมใหญ่นี่ วิ่งเล่น มีเวลาเหลือเยอะเลย แต่เราไม่มีเงิน ตอนโตขึ้นมาทำงานแล้วเรามีเงินแล้ว สุขภาพก็ยังดีแต่ไม่มีเวลา เอาเวลาไปทำงาน ตอนแก่มีเวลา มีเงินนะ แต่สุขภาพไม่ดีแล้ว
ชีวิตนี่นะกะพร่องกะแพร่งตลอดเวลา แสวงหาความสุขทั้งชีวิตเลย หาความสุขตลอดชีวิตตั้งแต่เด็ก ถ้าได้อย่างนี้มาจะสุข ถ้าไม่เจอสิ่งนี้จะสุข คิดอย่างนี้ตลอด ถูกเร้าให้วิ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา เราไม่มีเวลาที่จะย้อนมาเรียนรู้ตัวเองเลย ทุกอย่างถูกเร้าให้วิ่งไปข้างหน้า วิ่งไปโดยมีความสุขมาเป็นเหยื่อล่อ ล่อให้เราวิ่งหาความสุข แล้วมันเหมือนๆ จะได้นะ ความสุขในโลกเหมือนๆ จะหาได้ แต่มันไม่เคยได้ มันไม่เคยเต็ม ก็ยังหวังต่อไปอีก ยังเทียวจะหาความสุข ฉะนั้นความสุขมันเหมือนภาพลวงตานะ หลอกให้เราวิ่งอยู่ในโลก วิ่งพล่านๆ ไป
บางคนหลวงพ่อเห็นแล้วสงสารเลย ทำงานหนักตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่มีเงินมากแล้วนะ แต่ไม่หยุดหรอก หิวตลอดเวลาเลย มีทฤษฎีประจำตัวเลยว่า คนเราต้องมีหนี้ เคยได้ยินไหมทฤษฎีอย่างนี้ ต้องมีหนี้ สร้างหนี้ไปเรื่อยๆ จะได้มีสมบัติมากๆ อยู่จนแก่นะ โทรมโกโรโกโสเลย เพราะว่าทำงานหนักมาตลอดชีวิต เหน็ดเหนื่อยมาก แต่ไม่มีเวลา ที่จะมีความสุขกับทรัพย์สินเงินทอง ที่ดิ้นรนหามาสะสมไว้เยอะเลย ถึงเวลาที่เจ็บ ถึงเวลาที่จะตายนะ ไม่มีอะไรที่จะช่วยตัวเองได้ น่าสงสารมากเลย
ถูกหลอก คิดว่ามีสมบัติมากๆ แล้วจะมีความสุข คิดว่าจะรวยแล้วจะมีความสุข บางคนอยากมีชื่อเสียง คิดว่ามีชื่อเสียงแล้วจะมีความสุข ดิ้นรนไปหาความสุขในชีวิต แต่มันหาไม่ได้ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรคงที่ มีแต่ของแปรปรวนตลอดเวลา
ฉะนั้นในโลกนี้มันมีแต่ของเปลี่ยนแปลง เราหาความสุข ถึงหามาได้นะ มันก็อยู่ไม่ได้ ความสุขนั้นมันอยู่ไม่ได้หรอก เพราะโลกนี้มันของเปลี่ยนแปลง ความสุขในโลกนี้อาศัยสิ่งภายนอก ซึ่งแปรปรวนตลอดเวลา
ความสุขที่อาศัยพ่อแม่ ก็ไม่แน่นอน โตขึ้นมาหน่อย ความสุขต้องอาศัยเพื่อน ถ้าไม่มีเพื่อนเลย เฉานะ วัยรุ่นอะไรพวกนี้ ติดเพื่อนไม่ติดพ่อแม่แล้ว เปลี่ยนไปอยู่กับเพื่อน ถ้าเพื่อนไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม ใจห่อเหี่ยว ถ้ากลุ่มเพื่อนมันไม่ดี ก็ต้องไม่ดีตามมัน เพื่อให้กลุ่มยอมรับจึงจะมีความสุข ถ้ากลุ่มไม่ยอมรับไม่มีความสุข
ความสุขที่อาศัยคนอื่นนะ ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองหรอก โตขึ้นมามีแฟน ก็ต้องทำตัวให้แฟนยอมรับใช่ไหม ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ไปทำงานก็ต้องให้เจ้านายยอมรับ ให้เพื่อนร่วมงานยอมรับ ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เมื่อไหร่จะได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นหรอก จนแก่เลยนะ มีเงินมีอะไรพร้อม สุขภาพไม่ไหวแล้ว ดิ้นรนหาความสุขมาตลอดชีวิตนะ สุดท้ายก็ไม่ได้ หาไม่ได้ นี่หาความสุขมาตั้งแต่เด็กนะ จนถึงวันตายนี่ ยังหาไม่เจอเลย
ฉะนั้นในโลกนี้มันหลอกนะ เราถูกหลอกมาตั้งแต่เล็กเลย ความสุขของเราอิงอาศัยคนอื่น อิงอาศัยสิ่งอื่น แล้วเราก็วิ่งหาความสุขตลอดชีวิต แต่วิ่งหาของไม่เที่ยงนะ มันถึงหยิบได้ก็หลุดมือไปทุกที วิ่งหาของซึ่งเอาไว้ไม่ได้อย่างนี้ โง่หรือฉลาด ฉะนั้นอย่าหลงโลกนะ โลกมันหลอกคนโง่ มันหลอกให้เราหลงผิดสำคัญผิด
ภาวนาไปนะ ดูของจริงจนหายโง่ เห็นมันเป็นของโลก แล้วคืนโลกมันไป ใจมันจะคลายความยึดถือ แล้วปล่อยวางได้ ก็ไม่ทุกข์
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
อินทรีย์ห้า อินทรีย์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน แก่อ่อนไม่เท่ากัน ถ้าอินทรีย์แก่กล้าก็บรรลุเร็ว อินทรีย์ไม่แก่กล้าก็ต้องสะสมเอา อินทรีย์มีห้าตัวนะ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา วิธีสะสมก็คือเจริญสติให้เยอะเอาไว้ ถ้าสติดีนะ ศรัทธามันจะดีขึ้น วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มันจะดีขึ้น แต่สติต้องเป็นสัมมาสติที่ถูกต้อง ถ้าเป็นมิจฉาสติก็ไม่ได้นะ อินทรีย์ก็ไม่แก่กล้าสัมมาสติต้องรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา รู้กายรู้ใจไป คำว่าสัมมาสติที่จริงก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง เป็นสติที่รู้กายรู้ใจ
วิริยะของเราก็ยังกะพร่องกะแพร่ง เมื่อวานขยัน วันนี้ไม่ขยัน วิริยะต้องค่อยสะสมกันนานนะ เป็นพระโสดาบันแล้วบางวันยังขี้เกียจเลย เป็นพระสกิทาคามีบางวันยังขี้เกียจ ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ชักวิริยะเกินไป เหลืออีกนิดเดียวรีบตะลุยเลย ให้เรามีสตินะแล้ววิริยะที่พอดีๆจะเกิดขึ้น เพราะทุกครั้งที่มีสตินั่นแหละวิริยะเกิดแล้ว คำว่าวิริยะเป็นอย่างไร วิริยะก็คือเพียรละอกุศลที่มีอยู่แล้ว เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรเจริญกุศลให้เกิดขึ้นมา กุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดบ่อยๆ ให้งอกงามไพบูลย์ อันนี้เรียกว่าวิริยะ
วิริยะไม่ใช่แปลว่าเดินทน วิริยะไม่ได้แปลว่านั่งทน นั่งทนเดินทนอันนั้นอาศัยทมะ ความข่มใจ อาศัยขันติ วิริยะที่แท้จริงเกิดจากการมีสติรู้ทันจิตใจตัวเอง ทันทีที่มีสติ อกุศลที่มีอยู่จะดับทันที อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นมา ตอนที่ขาดสติอยู่ก็ไม่มีกุศล ตอนที่มีสติก็มีกุศล พอเคยมีสติแล้ว ต่อไปสติเกิดบ่อยๆ ศีลสมาธิปัญญาแก่รอบขึ้นเรื่อยๆ สติงอกงามไพบูลย์ขึ้น ทำให้กุศลงอกงามไพบูลย์ขึ้น นี่อาศัยมีสตินะ ก็ทำให้มีศรัทธามากขึ้นแน่นแฟ้น มีวิริยะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ถ้าไม่หลงไปคิด ราคะโทสะจะเกิดไม่ได้ กิเลสไม่เข้าใครออกใครหรอก อย่าว่าแต่โยมเลย พระยังตีกันเลย เรื่องธรรมดาของโลก ภาวนาสู้กิเลสไม่ไหวก็โดนกิเลสขี่คอเอา ฉะนั้นอยู่ที่เราต้องค่อยๆ พัฒนาสติ คอยมีสติบ่อยๆ คอยรู้ทันกายคอยรู้ทันใจ ถ้ามีสติอยู่รู้กายรู้ใจอยู่ กิเลสจะมาแผ้วพานไม่ได้ กิเลสมันเล่นทีเผลอ ถ้าลืมตัวเผลอไปลืมกายลืมใจ พอลืมกายลืมใจ จิตหลงไปอยู่ในโลกของความคิด พอมีความคิดขึ้นมาคราวนี้กิเลสได้ช่องทำงาน กิเลสเล่นทีเผลอ เผลออะไร เผลอคิด ตรงที่เผลอไปลืมกายลืมใจ มีโมหะพอคิดไปแล้วชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ก็เกิดราคะ เกิดโทสะขึ้นมา หมุนเวียนอยู่อย่างนี้
ถ้ามีสติอยู่ ราคะโทสะไม่มีทางเกิดเลย ถ้ามันเกิดแสดงว่าขณะนั้นขาดสติ มันเกิดเพราะอนุสัยความเคยชินเก่าๆ ที่ไม่ดีของเรายังมี พอเผลอมันก็ปรุงกิเลสขึ้นมา จิตนั่นแหละปรุงกิเลสขึ้นมา จิตที่มันขาดความรู้สึกตัว มันหลง มันปรุงขึ้นมา แล้วทำไมมันหลง เพราะมันเคยหลง มันหลงมาแต่ไหนแต่ไร เคยชินที่จะหลง แล้วมันก็หลงบ่อย จิตไม่เคยชินที่จะรู้สึกตัวหรอก
การที่เรามาหัดรู้สึกตัว คอยรู้กายคอยรู้ใจ เป็นการสร้างความเคยชินชนิดใหม่ขึ้นมา เดิมเคยชินแต่จะหลงอย่างเดียว นี่หลงไปแล้วก็เกิดโลภเกิดโกรธขึ้นมา มันเผลอเมื่อไหร่ก็หลง เราต้องค่อยๆ ฝึก พัฒนาให้สติเกิด วิธีที่จะพัฒนาให้สติเกิด ต้องหัดรู้สภาวะบ่อยๆ จิตมันหลงไปคิดก็รู้ มันหลงไปคิดขึ้นมาแล้วโลภก็รู้ คิดขึ้นมาแล้วโกรธก็รู้ ถ้าไม่คิดไม่โกรธ ถ้าไม่คิดไม่โลภ
มีคนถามพระพุทธเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์มีกามราคะไหม ไปถามพระพุทธเจ้าว่าท่านมีราคะไหม ท่านก็ไม่ได้บอกตื้นๆ ว่าไม่มีนะ ท่านบอกว่าท่านไม่มีกามราคะเพราะไม่มีกามวิตก ไม่หลงไปตรึกในกาม ถ้าไม่มีพยาบาทวิตก มันก็ไม่มีโทสะ ฉะนั้นถ้าไม่หลงไปคิด ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ราคะโทสะอะไรมันก็ไม่มีขึ้นมา มันรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตที่หลงไปคือจิตไม่ตั้งมั่นไม่มีสติ ไม่ตั้งมั่นก็หลง ค่อยๆ ฝึก หัดสังเกตสภาวะไปเรื่อยๆ ให้สติเกิด
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วิธีทำให้สติเกิด ให้หัดรู้จักสภาวะไป จิตดวงนี้หน้าตาอย่างนี้ จิตดวงนี้หน้าตาอย่างนี้ รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน รูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง แต่ละรูปๆ ไม่เหมือนกัน แต่ละนามๆ ไม่เหมือนกัน การที่เรารู้จักแต่ละตัวๆ ได้ เพราะเรารู้จักลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละตัว เช่น ความโลภ จิตที่โลภมันมีลักษณะอย่างหนึ่ง จิตที่โกรธ จิตที่หลง มีลักษณะแตกต่างกันไป แต่ละตัวๆ มีลักษณะเฉพาะ ลักษณะเฉพาะนี่ภาษาแขกเรียกว่า "วิเสสลักษณะ"
การที่เรารู้วิเสสลักษณะทำให้เรารู้ว่า จิตโกรธก็ดวงหนึ่ง จิตไม่โกรธก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตโลภเป็นดวงหนึ่ง จิตไม่โลภเป็นอีกดวงหนึ่ง จิตหลงเป็นดวงหนึ่ง จิตไม่หลงเป็นอีกดวงหนึ่ง จะเห็นเป็นคู่ๆ จิตฟุ้งซ่านกับจิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตหดหู่กับจิตไม่หดหู่  จิตเป็นสุขกับจิตไม่มีความสุขไม่เหมือนกัน จิตเป็นทุกข์กับจิตที่ไม่ทุกข์ก็ไม่เหมือนกัน จิตเฉยๆ กับจิตที่ไม่เฉยก็ไม่เหมือนกัน แต่ละตัวไม่เหมือนกัน พอเราเห็นได้ว่าแต่ละตัวมันแตกต่างกันอย่างนี้นะ เราจะเห็นความเกิดดับได้
ฉะนั้น พอจิตที่โกรธเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทันจิตที่โกรธมันจะดับไป มันจะเกิดจิตที่ไม่โกรธขึ้นมาแทน พอจิตมันหลงไปเรามีสติรู้ทัน ด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิ เราจะเห็นทันทีเลยว่าจิตที่โลภที่โกรธที่หลง เกิดแล้วดับหมดเลย เกิดจิตไม่โลภไม่โกรธไม่หลงขึ้นมาแทน เกิดเป็นคู่ๆ ๆ ไป เหมือนพลิกซ้ายพลิกขวาอย่างนี้ตลอดเวลา พลิกอยู่สองด้าน เห็นไหมแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ทำไมไม่เหมือนกัน เพราะเราเห็นลักษณะที่แตกต่าง
การที่เรารู้จักลักษณะเฉพาะของรูปธรรมนามธรรม แต่ละตัวๆ ชัดเจนนะ คอยตามรู้ตามดูเรื่อย พอรูปธรรมนามธรรมชนิดนั้นเกิดขึ้น สติรู้ทันเลยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว พอมันหายไปสติก็รู้ทันอีก สิ่งนี้หายไปแล้ว เราจะเห็นความเกิดดับได้ ไม่ยากนะไม่ยาก ฟังแล้วยาก แต่ว่าปฏิบัติจริงไม่ยาก ไม่ต้องทำอะไร
เวลาเราภาวนาแล้วล้มลุกคลุกคลานแทบเป็นแทบตาย เพราะเราคิดตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรจะดี ทำอย่างไรจะถูก ทำอย่างไรจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ใจมันคิดแต่จะทำ ทำไมต้องทำ เพราะมันอยาก อยากดี อยากสุข อยากสงบ อยากได้มรรคผลนิพพาน ความอยากเป็นกิเลส เป็นโลภะ ถ้าความอยากครอบงำใจ สติจะไม่เกิด
วิธีทำสติให้เกิดมีวิธีเดียวคือหัดรู้สภาวะไป ใจมันโลภขึ้นมาก็รู้ ใจมันโกรธขึ้นมาก็รู้ ดูมันไป แต่ละดวงๆ ไม่เหมือนกันหรอก หัดดูไปเรื่อยๆ พอจิตจำสภาวะได้แม่นเรียกว่ามีถิรสัญญา มันจำได้หมายรู้ได้แม่นยำ สติจะเกิดเอง สติเป็นอนัตตาไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ แต่ถ้ามีเหตุคือมีถิรสัญญา สติถึงจะเกิด
ในศาสนาพุทธนี่เราต้องตั้งหลักให้ดี ไม่มีอะไรที่เราสั่งได้ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุทั้งสิ้นเลย ฉะนั้นไม่ใช่อยู่ๆ เราจะสั่งให้สติเกิด บางคนกำหนดถี่ยิบเลยนะ พุทโธๆๆ หรือว่าไปกำหนดอะไรต่ออะไรนี่ ไม่ให้คลาดสายตา ดูท้องพองยุบไม่ให้คลาดสายตา ทำอะไรไม่ให้คลาดสายตาเลย กะว่าสติจะเกิด สติไม่ได้เกิดเพราะการบังคับ ใครก็บังคับไม่ได้ เพราะสติเป็นอนัตตา สติเกิดจากถิรสัญญาเท่านั้น จำเอาไว้นะ คือจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจะจำสภาวะได้แม่น ต้องดูสภาวะบ่อยๆ
งานของเราคือหัดดูสภาวะไปเรื่อยๆ ดูไป สภาวะโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ ใจลอย เหม่อ ใจลอยเหม่อๆ เกิดขึ้นนะ รู้ไปเรื่อย รู้ไป วันหนึ่งกำลังใจลอยปั๊บ สติระลึกได้เอง เฮ้ย เผลอไปแล้ว มันระลึกได้เอง รู้ว่าเผลอไป ไม่ต้องคิดหนอนะ คิดหนอนั่นเผลอครั้งที่ ๒ แล้ว เป็นการคิดแล้ว ให้รู้สภาวะนะไม่ได้ให้บริกรรม ถ้าบริกรรมเมื่อไร ตกจากวิปัสสนาทันทีเลยเพราะจิตที่รู้กับจิตที่คิดเป็นคนละดวงกันแล้ว นี่ตัวสติ หัดรู้สภาวะไปแล้วสติจะเกิด
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ให้หัดรู้สภาวะที่จิตเผลอไป ต่อไปพอจิตเผลอแวบ สติเกิดเองเลย แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นได้ชั่วขณะนะ แล้วก็เผลอใหม่ รู้สึกใหม่ เผลอใหม่ ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรู้สึกตัวตลอดเวลานะ การปฏิบัติไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อให้มีสติตลอดเวลา อย่าสำคัญผิด สติตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ เราไม่ใช่พระอรหันต์ พระอรหันต์ก็ไม่ได้มีสติตลอดเวลานะ เวลาที่เป็นวิบากจิตก็ไม่ได้มีสติ เวลาที่จิตลงภวังค์ไปเป็นภวังคจิตก็ไม่ได้มีสติ เวลาที่ตามองเห็นหูได้ยินเสียงก็ไม่ได้มีสติ สติมันเกิดในชวนจิตเท่านั้นเอง ตรงนั้นเป็นกิริยาเฉยๆ มันเกิดเองอัตโนมัติ
ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีสติตลอดเวลา เรามีสติขึ้นมาแล้วก็เผลอไป มีสติขึ้นมาแล้วก็เผลอไป อันนั้นดีที่สุดแล้ว เพราะเราเป็นได้แค่นั้น การที่เรามีสติขึ้นมาแล้วก็เผลอ มีสติขึ้นมาแล้วเผลอนี่ มีข้อดีมากเลย การที่มีสติขึ้นมาหนึ่งครั้งเนี่ย มันได้ตัดชีวิตเราเป็นสองท่อนแล้ว อย่างคนทั่วๆ ไปเผลอวันละครั้ง ตั้งแต่ตื่นจนหลับไม่เคยรู้สึกตัวเลย มันจะเผลออยู่อย่างนั้นทั้งวัน มันรู้สึกมีตัวเราอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอมีสติขึ้นหนึ่งแวบ วันนี้เกิดมีสติหนึ่งครั้ง  ชีวิตถูกตัดขาดเป็นสองท่อนแล้ว มีเผลอสองอัน รู้สึกตัวอยู่ตรงกลางอันหนึ่ง
ฉะนั้นถ้าสติเกิดบ่อยนี่ ชีวิตจะถูกตัดเป็นท่อนเล็กๆ เป็นขณะที่เล็กลงๆ นะ เผลอแวบรู้สึก แวบรู้สึก พอรู้สึกได้แวบเดียว เดี๋ยวก็เผลอไปอีกแล้ว แล้วก็รู้สึกอีก เนี่ยมันจะเห็นเลย จิตจะเผลอก็ห้ามมันไม่ได้ จิตจะรู้สึกตัวก็สั่งให้รู้สึกไม่ได้ รู้สึกแล้วก็รักษาไม่ได้ จิตทั้งที่เผลอทั้งที่รู้สึกตัว เกิดแล้วดับทั้งสิ้น
ฉะนั้นภาวนาไม่ใช่เอาจิตที่รู้สึกตัวนะ ถ้าภาวนาอยากได้จิตที่รู้สึกตัว คือภาวนาเอาดี ไม่ได้ภาวนาเอาความจริง การมีสติสมาธิปัญญามีธรรมะอะไรขึ้นมาเนี่ย เป็นแค่เครื่องอาศัยเท่านั้นเอง อาศัยเพื่อจะได้รู้ว่า เมื่อกี้เผลอไป ตอนนี้รู้สึก รู้สึกได้แวบเดียวก็เผลออีกแล้ว เผลอแล้วรู้สึก เผลอแล้วรู้สึกนี้ ชีวิตจะขาดเป็นท่อนๆ เวลาเผลอก็เกิดความเป็นตัวตนขึ้นมา เวลารู้สึกขึ้นมาความเป็นตัวตนก็หายไป เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ มันจะค่อยๆ ละ ความเห็นผิดว่ามีตัวตนได้
ฉะนั้นเรามีสติแวบหนึ่งรู้สึก แวบหนึ่งรู้สึกนะ แล้วก็หลงไป แค่นี้พอแล้ว ดังนั้นการปฏิบัติง่ายนะ ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแค่ว่าหัดรู้สภาวะแล้วสติจะเกิดดีขึ้นๆ เอง แต่เดิมสติเกิดยาก วันหนึ่งเกิดครั้งหนึ่งก็บุญโขแล้วนะ เพราะคนทั้งโลกไม่ค่อยเกิดสติ ไม่ค่อยมีสติ ทีนี้เราหัดทีแรกก็นานๆ มีสติทีหนึ่ง พอหัดไปนานๆ นะ สติเกิดบ่อย คล้ายๆ เราทำมาหากินนะ ต้นทุนเราน้อยนะ สมมุติเราหาบเต้าฮวยขาย ได้กำไรวันหนึ่งไม่กี่บาท ต่อมารวยขึ้นมานะ หากินง่ายนะ นอนอยู่เฉยๆ เงินก็ไหลเข้าบ้านแล้ว
การภาวนาก็เหมือนกัน หัดทีแรก นานๆ สติจะเกิดทีหนึ่งนะ แต่พอจิตมันจำสภาวะได้แม่นขึ้นๆ นะ ชำนิชำนาญมากขึ้น สติเกิดทั้งวันเลย ไม่ได้เชิญให้เกิด เกิดทั้งคืนด้วย ยกเว้นเวลาจิตลงภวังค์ไปหลับจริงๆ ซึ่งไม่นานเท่าใดหรอก จะรู้สึกนอนอยู่นี่ ร่างกายพลิกซ้ายพลิกขวาก็รู้สึกได้เองเลย จิตใจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวคิดนึกอะไร มันรู้สึกได้เองเลย ทั้งวันทั้งคืน มันต้องเป็นอัตโนมัติแล้วไม่เหนื่อยยาก ถ้ายังเหนื่อยยากอยู่ ยังฝืนอยู่ ยังฝืดอยู่นะ แสดงว่ายังทำไม่เป็น
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
พยายามฝึกให้ใจฉลาด ให้ใจรู้ความจริงของรูปนามกายใจ แล้วต่อไปอะไรเกิดขึ้นในรูปนามกายใจ มันจะไม่ทุกข์ เราดูไป รูปไม่ใช่เรา นามไม่ใช่เรา ดูบ่อยๆ จนใจมันเข้าใจความจริง มันเข้าใจความจริงแล้วมันจะไม่ทุกข์ อย่างโลกจะแตกนี่นะ โลกจะแตกไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา มันจะแตกก็เรื่องของโลก ทุกอย่างเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่คงที่
แต่เราไม่ได้ดูเพื่อให้ความทุกข์ลดลงนะ เราดูเพื่อให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ จนมันหมดความอยาก แล้วมันหมดความทุกข์ถาวร อย่างที่เรารู้เป็นคราวๆ ตัณหาเกิด ความอยากเกิดเรารู้ทัน ความอยากดับ ใจก็มีความสุขแป๊บนึง เดี๋ยวอยากใหม่ก็ทุกข์ใหม่ อันนี้ยังกลับกลอกยังชั่วคราว ให้ฝึกไปเรื่อยๆ จนมัน(หมดความอยาก)ถาวรนะ
ค่อยๆ เรียนไป กิเลสอะไรเกิดขึ้น ค่อยๆ เรียนค่อยๆ รู้ไป กิเลสมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด กิเลสพอละเอียดนะมันดูดี๊ดี กว่าจะรู้ทันมารยามัน หลายชั้นเหลือเกิน แต่ไม่ต้องตกใจ มันเหมือนเราจะเรียนเอาปริญญาสักใบ เรียนกี่ปีได้ปริญญา ใครบอกว่า ๔ ปี ไม่ใช่นะ เรียนมาตั้งแต่ ป.๑ แน่ะ เรียนนานนะ กว่าจะได้ปริญญาใบหนึ่ง ใบแรกนานที่สุด ใบอื่นๆ ใช้เวลาน้อยกว่านะ
ฉะนั้นภาวนานะ อันแรก โสดาฯ ยากที่สุด ผ่านโสดาฯ แล้วที่เหลือยังไงก็ได้ ถึงวันหนึ่งต้องได้นะ ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เมื่อก่อนเรามันโง่ หัดภาวนาใหม่ๆ นะ เริ่มรู้สึกตัวเป็นมันมีความสุขนะ ทำไมมีความสุข เพราะว่ามันได้สมาธิขึ้นมา เวลาจิตใจอยู่กะเนื้อกะตัว มีสมาธินะ มีความสุข ตอนหัดใหม่ๆ บอกมีความสุข ทำไมภาวนาไปๆ เห็นแต่ทุกข์ ก็เพราะว่ามันโตขึ้น มันฉลาดขึ้น ถ้ายังโง่อยู่ก็ฝึกใจให้ฉลาดนะ ถ้าฉลาดแล้วจะมาเรียนกรรมฐานทำไม ก็มันไม่ทุกข์แล้วนี่ ฉะนั้นตราบใดที่ยังทุกข์ใจได้นะ ยังโง่อยู่ ต้องฝึกอีก มีไหมใครภาวนาแล้วไม่ทุกข์เลยมีไหม หลวงพ่อต้องเพ่งเล็งพิเศษ แสดงว่าภาวนาผิดแน่นอนเลย
(การภาวนาเหมือน)อย่างเราขึ้นบันได บันไดมี ๑๐ ขั้น บันไดขั้นที่ถูกไม่ใช่ขั้นที่ ๑๐ นะ ฉะนั้น เราหัดภาวนาในเบื้องต้น มันก็ถูกในเบื้องต้น มันก็เป็นฐานให้เราภาวนาดีขึ้นไปอีก จะบอกว่าขั้นต้นผิดไม่ได้หรอก อย่างเด็ก ป.๑ กับเด็ก  มหาวิทยาลัย เด็กมหาวิทยาลัยจะไปบอกว่า ความรู้ ป.๑ ใช้ไม่ได้ พูดอย่างนั้นโง่นะ เพราะมันเป็นฐานส่งเราขึ้นมาจนถึงจุดนี้
หรืออย่างเราฟังซีดีหลวงพ่อนะ เราก็รู้สึกว่าเราเข้าใจ พอเราภาวนาไปๆ เราจะพบว่า พอมีความเข้าใจใหม่ เราบอกอันนี้แหละใช่ ความเข้าใจเดิมไม่ใช่หรอก ภาวนาไปอีก อันนี้ก็ไม่ใช่อีกนะ มันเหมือนเราจะขึ้นชั้นบน ๑๐ ขั้นบันได ถ้าไปหยุดอยู่ที่ขั้นใดขั้นหนึ่ง ก็ใช้ไม่ได้นะ ผิดแล้ว ต้องอาศัยเดินก้าวขึ้นไปทีละขั้นๆ
พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญความดีที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ฉะนั้น เราควรจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ตรงที่ดีขึ้นไปแล้วนี่ จะเห็นของเก่านั้นไม่ดี ไม่ถูก ยิ่งภาวนาดีขึ้นไป ก็จะเห็น ที่ผ่านมาแล้วมันยังไม่ดี มันยังไม่ถูก ทุกคนแหละที่ปฏิบัติ จะเห็นอย่างนี้
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
ทำไมรู้ว่าโกรธแล้วไม่หายโกรธ ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อจิตเผลอ ไม่มีสติ หลง เมื่อสติเกิดขึ้น ความหลงจะหายไป ความเผลอจะหายไป เพราะความโกรธนั้นไม่มีที่ตั้ง ปัญหาของผู้ปฏิบัติก็คือ ขณะที่รู้ว่าโกรธนั้น ลึกลงไปในใจมีความรู้สึก ไม่ชอบความโกรธนั้นร่วมอยู่ด้วย จึงไม่ใช่แค่ "รู้เฉยๆ" แต่มีความรู้สึกว่า อยากผลักไสความโกรธออกไปด้วย จึงไม่ใช่สติที่บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์
หากจะเปรียบความโกรธเหมือนไฟ และสติเหมือนน้ำ เหตุใดน้ำนี้จึงดับไฟไม่ได้ สาเหตุที่น้ำนี้ไม่สามารถดับไฟได้ ก็เพราะน้ำนี้ไม่บริสุทธิ์ แต่เจือด้วยน้ำมัน น้ำมันในที่นี้ คือ ความรู้สึกลบต่อความโกรธ อยากจะให้ความโกรธหายไป มันมีทั้งตัณหาและโทสะร่วมอยู่ด้วยกัน ตัณหา คือ ความอยากให้ความโกรธหายไป โทสะ คือ ไม่ชอบความโกรธ รู้สึกลบต่อความโกรธ จึงเปรียบเหมือนน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ เจือด้วยน้ำมัน หลายคนมักบ่นว่า "ทำไมรู้ว่าโกรธแล้วไม่หายโกรธ" สาเหตุก็เพราะว่าไม่ได้แค่รู้เฉยๆ ไม่ได้รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง แต่มีความรู้สึกลบต่อความโกรธร่วมอยู่ด้วย
สิ่งใดก็ตามที่ถูกกดข่มจะสู้ จะต่อต้าน มีคำพูดหนึ่งที่อาตมาใช้ได้ดี คือ อะไรที่เธอผลักไสจะคงอยู่ อะไรที่เธอตระหนักรู้จะหายไป เราจึงต้องมีสติรู้ให้เท่าทันตรงนี้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวที่ละเอียด เมื่อเราแค่รู้เฉยๆ ความโกรธจะดับไปเอง ความฟุ้งซ่านก็เช่นเดียวกัน แต่หากยิ่งพยายามกดข่มไว้ ความฟุ้งซ่านก็จะยิ่งรังควานจิตใจเรา สิ่งใดที่เรากดข่มจะไม่ยอมไปง่ายๆ ถ้าเป็นความรู้สึกผิด ยิ่งพยายามกดข่ม ยิ่งพยายามลืม ก็จะยิ่งรบกวนจิตใจหนักขึ้นไปอีก หนทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยได้ก็คือ ต้องรู้มันด้วยใจที่เป็นกลาง อารมณ์เหล่านั้นก็จะไม่มีที่ตั้งอีกต่อไป
พระไพศาล วิสาโล
การเจริญปัญญาคืออะไร คือการเห็นไตรลักษณ์ เห็นกับคิดเหมือนกันไหม ไม่เหมือนนะ คิดกับเห็นไม่เหมือนนะ คิดก็คือมันเกิดเรื่องราวในใจเรา หรือถ้าเป็นภาษาพูด ก็คือ เกิดเรื่องราวขี้นมาในหัวเรา เช่น คิดเรื่องไตรลักษณ์ ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับไตรลักษณ์ขึ้นมาในหัวเรา แล้วจิตก็ไปจมแช่ในเรื่องราวที่คิดนั้น ลักษณะนั้นคือการคิด ไม่ใช่การเห็น และเรื่องราวที่คิดอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้
การเห็น อย่างเช่น เห็นกายเดิน คือการที่เรารู้สึกได้ด้วยใจ (หลับตาก็รู้สึกได้) ว่ามีร่างกายกำลังอยู่ในอิริยาบถเดินจริงๆ แต่ถ้าเป็นการคิดว่ามีร่างกายกำลังเดิน เราสามารถคิดออกมาเป็นเรื่องหรือเป็นภาพก็ได้ว่า ร่างกายเดิน คิดได้ทั้งๆที่เราเองนั่งหรือนอนอยู่ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น คำว่า เห็น คือการรู้สึกถึงความมีอยู่ ความปรากฏอยู่ของสิ่งนั้นๆ หรือประจักษ์ต่อสิ่งนั้นด้วยใจของเราเอง ไม่ใช่ด้วยการคิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา
ดังนั้นที่ว่า เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือการรู้สึกได้ถึงลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่มีอยู่ในสภาวะต่างๆ ที่มีอยู่ในรูปนาม ในกายใจนี้ การเห็นไตรลักษณ์นี่แหละ คือการเจริญปัญญา
แล้วทำไมการเห็นไตรลักษณ์มันจึงยากถึงขนาดว่า ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา ไม่มีพุทธศาสนาก็ไม่มีใครรู้วิธีที่จะเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็เพราะว่าปกติทั่วไป คนเรามันไม่เคยชินที่จะมาสังเกตว่า สิ่งที่เป็นขันธ์ 5 ของเรานี้ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเที่ยง หรือไม่เที่ยง อย่างนี้เราไม่เคยสังเกต มันเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข เราก็ไม่เคยสังเกต มันเป็นตัวตน หรือไม่เป็นตัวตน เราก็ไม่เคยสังเกต
แล้วเรามัวไปสังเกตดูอะไร อย่างเวลาเราสังเกตดูร่างกาย เรามัวไปสังเกตอะไร มัวไปสังเกตเห็นแค่ว่า มีลมเข้า มีลมออก ลมเป็นอย่างนั้น ลมเป็นอย่างนี้ ลมเข้าไปเย็น ลมออกมาร้อน อะไรทำนองนี้ มันไม่ใช่การเจริญปัญญา เพราะเรามัวแต่ไปสนใจตัวลมหายใจ ถ้าถามว่า ลมหายใจ เห็นมันมีไตรลักษณ์ไหม มันก็มีนะ แต่เราไม่เคยใส่ใจสังเกต เรามัวสังเกตแต่ตัวลม
หรือถ้าเราสังเกตดูจิต เราก็มัวไปสังเกต เห็นแค่ว่า โลภ โกรธ หลง หน้าตาเป็นอย่างไร ลักษณะอย่างนี้อย่างนั้นคือโลภ คือโกรธ คือหลง ถ้าถามว่า โลภ โกรธ หลง มันมีไตรลักษณ์ไหม? มี แต่เราไม่เคยสังเกต เรามัวแต่ไปสังเกตว่า โกรธเป็นอย่างนี้ โกรธมีอาการอย่างนี้อย่างนั้น ก็เลยไม่เห็นไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้น การเห็นสภาวะอะไรก็ตามถ้ามันไม่เห็นไตรลักษณ์ แสดงว่า ยังไม่ใช่การเจริญปัญญา ถ้าเห็นไตรลักษณ์จึงจะเป็นการเจริญปัญญา
สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา
สมาธิ แปลว่าความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่แปลว่าสงบนะ เคยเห็นเสาไฟฟ้าตั้งอยู่ไหม เสาไฟฟ้าตั้งอยู่ได้ไม่เอนไม่เอียง พายุมา มันไม่ได้อยู่ในความสงบ แต่มันจะไม่เอนเอียงไป
จิตที่ตั้งมั่น จะไม่เอนเอียงไป ไม่ไหลไปตามอารมณ์ที่มากระทบ จะทำหน้าที่เป็นผู้รู้ ผู้ดู เป็นผู้เห็นสภาวะที่มันเกิดขึ้น
ความโลภเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น ความโกรธเกิดขึ้น จิตจะทำหน้าที่เป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น หรือมาดูร่างกาย จะเห็นร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้อยู่ ร่างกายกับจิตเป็นคนละสิ่งกัน จิตมันไม่ได้วิ่งเข้าไป หรือไม่ได้รวมเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับร่างกาย เพราะฉะนั้นสมาธิที่แท้จริง ต้องแปลว่าความตั้งมั่นของจิต จิตที่มีความตั้งมั่นนี้แหละ คือจิตที่มีสมาธิแบบชาวพุทธ
ทำไมต้องมีความตั้งมั่นของจิต เพราะว่าจิตที่มีความตั้งมั่น หรือความตั้งมั่นของจิตนี้แหละ เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ การเรียนรู้ความจริงของกายของใจเราเอง ความจริงที่ต้องเรียนรู้มีอยู่ ๓ เรื่อง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ จะเรียนไตรลักษณ์ได้ จะต้องเห็นกายเห็นใจด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น หรือเห็นด้วยจิตที่มีสมาธิ
ปัญหาจริงๆของนักปฏิบัติมันไม่ใช่อยู่ที่ว่าทำความสงบไม่ได้ ปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ที่ว่า ไม่เข้าใจว่าสมาธิคืออะไร แล้วก็ฝึกสมาธิผิดๆ เมื่อยังฝึกสมาธิผิดๆ มันก็ไม่สามารถมาเรียนรู้ความจริงไม่สามารถเห็นไตรลักษณ์ได้ เมื่อยังไม่สามารถเห็นไตรลักษณ์ได้ จิตก็จะไม่ยอมรับความจริง เมื่อจิตยังไม่ยอมรับความจริง มันก็ปล่อยวางไม่ได้
พระพุทธเจ้าปรารถนาให้เราเห็นความจริงและยอมรับ แล้วก็ปล่อยวาง ปล่อยวางได้มากเท่าไหร่ ความทุกข์ก็จะน้อยลงเท่านั้นแต่การปล่อยวาง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะเจตนาสั่งมันได้ จิตจะต้องปล่อยวางของมันเองจากการที่มันเรียนรู้ความจริงแล้วก็ยอมรับว่า ทั้งกายทั้งใจ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา
ใครไม่เจอกับตัวอาจจะรู้สึกว่า จะอะไรกันนักกันหนา ก็แค่คนรักเก่าที่จากกันไปแล้ว ก็ตัดใจไปสิ ก็พยายามเอาใจมาผูกอยู่กับคนใหม่สิ เขาไม่ใช่ของเรา อะไรต่อมิอะไร แต่คนที่เจอมา จะรู้สึกยึดติดถือมั่น รู้สึกว่าไม่ลืมสักที แล้วก็ทรมานใจ บางทีนอนกระสับกระส่าย เราพลาดอะไรไปหรือเปล่า ปล่อยให้ใครบางคนหลุดมือไปหรือเปล่า รู้สึกเสียดาย รู้สึกเสียใจ รู้สึกเหมือนยังเป็นเจ้าของ เขายังเป็นของๆ เราอยู่
การจะลืมใครบางคนให้สนิท หรือคิดจะไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะจำใครได้ เป็นแค่ความอยากที่สูญเปล่าอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะไม่มีอุบายใด หรือกระทั่งวิธีเจริญสติวิปัสสนาแบบไหน ที่ช่วยให้ลืมใคร หรือไม่ต้องทุกข์เพราะใครได้จริง การเจริญสติที่ถูกทาง ต้องเริ่มจากความเข้าใจว่า คุณจะไม่ลืมเขา ไม่หายทุกข์เพราะความทรงจำไปอีกหลายปี
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสำคัญ ระหว่างปล่อยใจกับเจริญสติคือ เห็นหรือไม่เห็น รู้หรือไม่รู้ว่า ความทุกข์เป็นของชั่วคราว ที่ลมหายใจนี้ทุกข์มาก ที่ลมหายใจหน้ามันน้อยลง ที่คนเราทรมานใจกัน ก็เพราะรู้สึกว่าถ้าความทุกข์เกิดแล้ว มันจะไม่หายไปไหน มันจะรบกวนจิตใจไปเรื่อยๆ ไม่นึกถึงว่า มันจะเปลี่ยนแปลงไป
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะสักแค่ไหนก็ตาม ขอให้มองมันมาลงอยู่ที่คำๆเดียวนั่นแหละ ยึดติดถือมั่นเป็นความร้อยรัด เป็นยางเหนียว อาการร้อยรัดเป็นอย่างไร มันรู้สึกแน่นเข้ามา จุกเข้ามาในอก มันรู้สึกเหมือนเรากำลังกอดอะไรไว้ ไม่ได้กอดด้วยอ้อมแขน แต่เป็นอ้อมใจ ความรู้สึกเหมือน ยางเหนียวเป็นอย่างไร เป็นความรู้สึกเหนียวแน่น ผูกพัน ให้กำกับคำลงไปเลย นั่นแหละเรียกว่า ยึดติดถือมั่นนั่นแหละ ยางเหนียว
ในทางการเจริญสติแล้ว อะไรที่ปรากฏบ่อยๆเหมือนเป็นแขกประจำ มีประโยชน์ในแง่ที่ว่า เราจะจำได้ง่าย เราจะเห็นได้ชัด รู้สึกได้ทันทีว่า มาอีกแล้ว แขกเจ้าประจำคุณไม่จำเป็นต้องพยายามขับไล่แขกประจำ เพราะว่าถึงเราไม่เชื้อเชิญ ยังไงก็จะมาบ้านเราอยู่ดี บ้านเราก็คือจิต ไหนๆเขามาแล้ว ก็ใช้เขาให้เป็นประโยชน์ วันๆเราอาจจะต้อนรับแขกหลายคน แต่แขกคนนี้เราจำไว้เป็นพิเศษ ดูหน้าให้ชัดๆเลยว่า หน้าตาเป็นอย่างไร หูแหลมๆ ตาแหลมๆ จมูกโด่งๆ ปากเป็นอย่างไร
เราสังเกตใครด้วยความพิจารณาอย่างไร ให้สังเกต อาการยึดมั่นถือมั่นด้วยลักษณะแบบเดียวกันนั้นว่า มีความเป็นอย่างไร เพื่อให้จดจำได้ชัดๆ พอเขาปรากฏตัว เราจำได้ทันที พอเขาหายไป เราก็จำได้ทันทีว่าหายไปแล้ว ฉันใดฉันนั้น
เมื่อฝึกที่จะพิจารณาว่า แขกมาเอง แล้วไปเอง เราจะสามารถรู้สึกว่า ความยึดติดถือมั่น ที่เหมือนไม่เคยเสื่อมคลาย ไม่เคยเลิกรานั้น ไม่จริง มันมาๆ แล้วก็ไปๆ ผ่านไปไม่กี่นาที ความรู้สึกจะคลายลง แล้วเดี๋ยวมันกลับมาใหม่ เหมือนแขกเจ้าประจำ ไม่มีความรู้สึกแบบที่คั่งค้างถาวรหรอก นี่คือความจริงที่คนไม่สังเกต
พอเรามีอนิจจสัญญา คือ รู้สึกว่าความยึดติดถือมั่น เป็นอะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่เที่ยง ในที่สุดถึงวันหนึ่ง มันจะรบกวนจิตใจเราไม่ได้จริงๆ ฝึกแบบนี้ ประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์จริงๆ
ดังตฤณวิสัชนา
เจอความเจ็บปวดจากความไม่แน่นอนของคน คือเจอแบบฝึกหัดเจ็บๆ ให้รู้อนิจจังไปถึงกระดูกดำ เรามักบ่นว่าชีวิตเป็นเรื่องเจ็บปวด หรือแค้นกับคนที่ทำให้บาดเจ็บ จากการเปลี่ยนคำพูด จากการมีพฤติกรรมกลับไปกลับมา หรือจากการเปลี่ยนตัวตนไปเป็นคนละคน เพราะทำลายความคาดหวังของเรา ทำลายความติดยึดในใจเรา หรือกระทั่งทำลายศรัทธาที่เรามีเป็นที่พึ่ง
แท้จริงแล้ว ถ้ามองเป็นการสอนให้รู้จักความไม่เที่ยง สอนให้รู้ว่าใจอาจเจ็บได้รุนแรงแค่ไหน จากสิ่งที่กำไว้แน่นเกิน จากสิ่งที่หลุดมือไปกะทันหัน เจ็บแต่ละที สติรู้ความจริงของเราจะค่อยๆเจริญขึ้น คือจำได้แม่นเป็นหนๆว่า สิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ก็เพื่อให้เห็นว่าค่อยๆ แปรไป หรืออาจเปลี่ยนแปลงปุบปับฉับพลัน ยึดมาก เจ็บมาก ยึดน้อย เจ็บน้อย ธรรมดาของใจมีอยู่เท่านั้นเอง
และถ้าเจ็บถึงจุดหนึ่ง จนอยากเข้าให้ถึงว่า ความไม่เที่ยงของแท้เป็นอย่างไร แล้วเราจะมีสติที่มั่นคง ยอมรับความไม่เที่ยงได้จริงๆท่าไหน ก็ขอให้มีแก่ใจสังเกตเถิด ทุกลมหายใจแสดงความจริงให้ดู ลมหายใจเป็นแบบฝึกหัด ให้ยอมรับความไม่เที่ยงอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีลมเข้าแล้วเข้าเลย มีแต่ลมเข้ามาแล้วต้องออกไป ไม่มีลมออกแล้วออกเลย มีแต่ลมออกไปแล้วต้องเข้าใหม่ บางครั้งยาว บางครั้งสั้น ตามสภาพทางกาย ลมยาวรู้สึกเป็นสุข ลมสั้นมีแนวโน้มจะเป็นทุกข์ สุขทุกข์จึงแปรปรวนไม่ต่างจากลมหายใจไปด้วย
เห็นลมชัดต่อใจเมื่อใด เห็นความไม่เที่ยงชัดถึงจิตเมื่อนั้น แล้วคุณจะได้ข้อสรุปว่า ลมหายใจเราเองยังไม่เที่ยง รักษาไว้ให้คงเส้นคงวาไม่ได้ แล้วจะหวังให้ใคร รักษาลมปากของเขาไว้ ให้คงที่อย่างนั้นตลอดไปได้เล่า
ดังตฤณ
วัตถุครอบประเทศ กิเลสครอบปัญญา ตัณหาครอบจริยธรรม ล้วนเกิดจากรสนิยมที่เห็นผิด
อยู่กับหลักความรู้ที่ถูก จะไม่ไปมั่ว มืดมน สับสนกับใคร
ว.วชิรเมธี (รู้เช่นเห็นชาติ รู้แจ้งเห็นจริง)
อดีต ปัจจุบัน อนาคต มันรวมอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันที่เราอยู่กันนี้ ก็คือผลของอดีต อดีตมันก็คือสิ่งนั้นมันเป็นเหตุของปัจจุบัน  เมื่อปัจจุบันเป็นผลนี้ ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตก็เป็นผล ทางพระพุทธศาสนาอันนี้เรียกว่าเป็นวิบาก เกิดจากการกระทำดีกระทำชั่ว ฉะนั้นวิบากทั้งหลาย อดีตก็ดี อนาคตก็ดี มารวมที่ปัจจุบัน เรานั่งอยู่เนี่ย ทำเสีย เมื่อเรามีอยู่ มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ รีบทำ
ท่านก็ว่าอย่าไปห่วงอนาคตเลย อย่าไปห่วงอดีตเลย ทำไมท่านถึงพูดอย่างนั้น เพราะที่เราอยู่อยู่นี้ มันก็เป็นผลของอดีตอยู่แล้ว ที่เราอยู่อยู่นี้มันก็เป็นเหตุของอนาคตอยู่แล้ว เมื่อเราอยู่ในปัจจุบันนี้มันก็เรียกว่า อดีต อนาคต มารวมอยู่จุดเดียวกัน ฉะนั้นมาทำปัจจุบันอันนี้ ให้เป็นปัจจุบัน
ปฏิบัติศีลธรรมให้เป็นปัจจุบัน ว่าวันนี้เราทำอะไร ว่าเดี๋ยวนี้เราคิดอะไร จิตเราวันนี้ทุกข์ไหม สุขไหม เป็นอะไรไหม ก็เห็นในปัจจุบันนี้ ก็ไม่ต้องตามไปถึงอดีตแล้ว ไม่ต้องตามไปถึงอนาคตแล้ว เพราะเหตุมันอยู่ตรงนี้ ผลมันก็อยู่ตรงนี้
หลวงปู่ชา สุภัทโท
หัวโจกของกิเลสคือ อวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ไม่รู้หน้าที่ต่อทุกข์ ไม่รู้หน้าที่ต่อสมุทัย ไม่รู้หน้าที่ต่อนิโรธ ไม่รู้หน้าที่ต่อมรรค ฟังแล้วเยอะ จริงๆ จุดเล็กนิดเดียวคือ อวิชชาซ่อนอยู่ที่จิตนี่เอง วันใดรู้แจ้งแทงตลอดลงไปในจิต ว่าตัวจิตผู้รู้นี้คือตัวทุกข์ เรียกว่า รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง
จิตผู้รู้ดวงเดียวนี่แหละ ถ้ารู้ว่าเป็นทุกข์แล้ว ขันธ์ ๕ ที่เหลือจะเป็นทุกข์ โลกทั้งโลกจะเป็นทุกข์ ถ้าตราบใดที่ยังไม่เห็น ว่าจิตผู้รู้เป็นตัวทุกข์ เดี๋ยวตัวรู้นี้มันจะไปสร้างขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นตัวทุกข์ขึ้นมาอีก จะไปยึดสมบัติของโลกมาเป็นของเราอีก
ฉะนั้น การภาวนานะ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา คอยรู้ทัน รู้เฉยๆ อย่าไปบังคับ จะได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้วิมุตติ ได้วิมุตติญาณทัสสนะ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
บางคนภาวนาลำบาก บางคนภาวนาสบาย บางคนได้ผลเร็ว บางคนได้ผลช้า มีหลายแบบ อีกพวกนึงไม่ได้ผลเลยก็มี เรียกบัวใต้น้ำ(ปทปรมะ) คนที่ได้ผลเร็ว ก็มีต้นทุนเดิม แล้วก็มาขยันต่อยอด มีแต่ต้นทุนเดิมไม่ทำเพิ่ม มันก็ลดลงไปเรื่อยๆ
อย่างเคยทำทาน ถือศีล ภาวนา ดูดีมากๆเลย อย่างบางคนพอเห็นคนนี้นะ บอกว่า คนนี้นะภาวนาง่าย ไม่นานจะบรรลุธรรม ไม่นานจะเป็นพระอรหันต์ พอฟังแล้วประมาท ปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อยๆ สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย บุญเก่าที่เก็บสะสมมาก็เอาไปใช้หมด ของใหม่ไม่ได้สร้าง อันนี้เรียกว่ามีของเดิม หัดภาวนาทีแรกนะ เนี๊ยบมากเลย ดี ถ้ายิ่งภาวนาไปนะ ยิ่งแย่ลงๆ เคยเจอเคสอย่างนี้ เพราะว่าประมาท ไม่รู้ไปฟังใครเขาพยากรณ์มา ว่าชาตินี้จะเป็นพระอรหันต์ หลวงพ่อดูแล้ว มันจะหันยังไงน้อ ที่แท้หันไปเข้ารกเข้าพงไป
บางคนไม่มีใครสนใจนะ มองข้าม มาภาวนาแล้วตั้งอกตั้งใจ ทุกวันๆ เงียบๆ ไม่วุ่นวาย เข้าใจธรรมะรวดเร็ว พวกที่มีของเดิมนะ แล้วก็มาขยันปฏิบัติ พวกนี้จะไปได้เร็ว ถ้ามีของเดิมแล้วไม่ขยันนะ มันยังไปไม่รอด เพราะของเดิมที่สะสมมา มันยังไม่มากพอที่จะได้ธรรมะ
แต่ละคนมีต้นทุนไม่เท่ากัน อย่างศรัทธา บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี วิริยะ บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี สติ บางคนก็มี บางคนไม่มี สมาธิ ปัญญา มีไม่เท่ากัน ๕ อย่างนี้(พละ ๕) เป็นกำลัง เป็นกำลังที่จะให้เกิดอริยมรรค เลยเรียกว่าพละ เป็นกำลัง ๕ อย่าง บางคนสะสมมาแต่ชาติก่อนนะ กำลังดี แล้วชาตินี้ประมาท ก็เสื่อมไป ทำไม ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่สะสมมาเสื่อมได้ เพราะยังเป็นโลกียะอยู่ ไม่ใช่โลกุตตระ
อย่างเราทำวิปัสสนาเนี่ย มาเจริญวิปัสสนาไป ต่อมาเกิดวิปัสสนูฯ ฝึกจิตให้เข้าฐานก็พ้นจากวิปัสสนูฯ แล้วทำวิปัสสนาไปเรื่อยๆ จนจิตเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา เป็นกลางด้วยปัญญา เห็นเลยทุกอย่างมันเสมอกันหมด สุข หรือทุกข์ ดี หรือชั่ว เกิดแล้วดับเท่าๆ กัน สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ไม่ได้เท่าเทียมกันนะ ไม่ได้เท่าเทียมกันในทุกๆ แง่มุม มันเท่าเทียมกันโดยความเป็นไตรลักษณ์เท่านั้น
อย่างภาวนาไป เจริญสติ เจริญปัญญาเรื่อยๆ เห็นสุขมันเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ต่อไปปัญญามันเกิดนะ มันเข้าสู่ความเป็นกลาง เจอสุขมันก็ไม่หลงยินดี เจอทุกข์มันก็ไม่หลงยินร้าย นี่จิตเป็นกลางด้วยปัญญา ปัญญาตัวนี้เรียกว่า"สังขารุเปกขาญาณ" ญาณ คือปัญญา มีอุเบกขาต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่เป็นคู่ๆ
เมื่อจิตเป็นกลาง ถึงตรงนี้แล้ว (สังขารุเปกขาญาณ) บางคนก็ภาวนาต่อ ก็เกิดมรรคผลขึ้นมา บางคนก็ทิ้งตรงนี้  ประมาท คิดว่าทุกอย่างเป็นกลางแล้ว สบายแล้ว ไม่ต้องระวังรักษาจิตแล้ว จิตก็เป็นของไม่เที่ยง นี่ปัญญาล้ำหน้าไป จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ทิ้งมันไปเลย สุดท้ายที่เคยเป็นกลาง มันก็ไม่เป็นกลาง มันเสื่อม เสื่อมได้นะ เป็นโลกียญาณ ยังเสื่อม
งั้นการภาวนาประมาทไม่ได้ ถ้าประมาทเพราะย่อหย่อน ถึงเคยดีมาก่อนมันก็เสื่อมได้ มันยังไม่พอ เพราะถ้าพอมันจะเกิดอริยมรรค ถ้าได้อริยมรรคมาแต่ชาติก่อนๆ ได้อริยผลเป็นพระอริยะบุคคลมาแล้วเนี่ย การภาวนานั้นมันแน่นอน ยังไงก็จะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ
นี้ครูบาอาจารย์บางองค์นะ ท่านบอก ท่านไม่เคยเห็น คนได้โสดาฯ มาเกิดแล้วก็เป็นพระโสดาฯ นี้ท่านไม่เคยเจอ ท่านเห็นมาตัดใหม่ทั้งนั้นเลย ต้องเกิดอริยมรรคใหม่ อันนี้ในทางปริยัติบอกไม่ใช่ อริยมรรคเกิดได้ ๔ ครั้งเท่านั้น ในวัฏฏะสงสารของเราที่ร่อนเร่มานี้ (อริยมรรค-อริยผล)เกิดแล้วเกิดเลยไม่เกิดซ้ำ
แต่ทำไมบางคนมาภาวนาปุ๊บๆ นะ จิตมันแสดงอาการตัดให้ดู อันนั้นของเก่านะ มันเคยตัดมาแล้ว เคยตัดมาแล้ว มันแค่แสดงทบทวนให้ดู บอกว่าร่องรอยมันมาทางนี้นะ มันไม่ใช่ตัดใหม่ ถึงจะมีของเดิมมากเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ต่อยอด มันก็ไปไม่รอด มันเสื่อม มันเสื่อมได้
บางคนมาบวชด้วยซ้ำไป แต่บวชแล้วดื้อ ครูบาอาจารย์สอนให้ทำอย่างนี้ ก็จะทำอย่างนี้ ห้ามว่าอย่าทำอย่างนี้ ก็จะทำ ไอ้สิ่งที่ให้ทำไม่ทำ สิ่งที่ห้ามก็จะทำ อย่างบอก อย่าไปดูจิตคนอื่น อย่าส่งจิตออกนอก อย่าดูจิตคนอิ่น ปุถุชนเนี่ย ถ้าดูจิตคนอื่นก่อนนะ มันจะไม่ดูจิตตัวเอง ดูจิตคนอื่นมันง่าย ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ไม่ใช่เรื่องพิศดารอะไรนะ ดูจิตคนอื่นน่ะ นอกศาสนาพุทธ ไม่ใช่ศาสนาพุทธด้วยซ้ำไป
ครูบาอาจารย์ก็ห้าม หลวงปู่ดูลย์นี่ห้าม ว่าอย่าไปดูจิตคนอื่น หลวงพ่อไม่ดูเลยนะ ภาวนา พวกที่ไปดูคนอื่น ทำสิ่งที่ครูบาอาจารย์ห้าม บุญบารมีเยอะนะ ภาวนาแป๊บเดียว จิตได้สมาธิละเอียดมากมาย รอบรู้แตกฉานในธรรมะ แต่ไม่ต่อยอดให้ดี ไม่ภาวนาต่อ มัวแต่สนใจไปดูคนอื่น สุดท้ายวิปลาส หลวงปู่ไม่อยู่แล้วตอนนั้น ไม่มีใครแก้ให้ได้ เวลามองเห็น เห็นคนเดินมาเนี่ย ไม่รู้ว่าคนจริงหรือคนปลอม ไม่รู้ว่าผีหรือคนเดินมานะ แยกไม่ออก บางทีก็ไปเดินคุยกับเขา เพี้ยนไปเลย รายนี้สุดท้ายฆ่าตัวตาย ภาวนาแล้วก็เพี้ยน ก็ไปรักษาหายแล้ว ก็ภาวนาอีกก็เพี้ยนอีก เพราะว่าพอลงมือภาวนา ก็จะไปดูจิตคนอื่นทันทีเลย จิตมันไปตามความเคยชิน
งั้นถึงเราจะมีของเก่ามากนะ เราก็ต้องระวังรักษา เหมือนมีสมบัติที่ยังต้องระวังรักษาอยู่ มีทรัพย์สินแล้วก็อยู่เฉยๆ กินไปทุกวันๆ ก็หมด ก็ต้องทำมาหากินอีก การภาวนาก็เหมือนกัน มีทรัพย์สินมีสมบัติเดิมมา มีพลัง มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ สมาธิ ปัญญา สะสมมา แต่ไม่ภาวนาต่อ มันก็เหมือนลูกเศรษฐีเกิดมารวย แต่ไม่ทำมาหากิน ใช้แต่เงิน สุดท้ายก็หมด กลายเป็นยาจก ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
เราต้องกระตุ้นตัวเอง ให้ขยันดู คอยสอนตัวเอง คอยเตือนตัวเอง ว่าเรายังไม่พ้นทุกข์ อนาคต ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา เราไม่รู้ เพราะอย่างนั้น เราจะต้องเตรียมใจของเราให้แข็งแรง ให้ฉลาด ให้แข็งแรง ที่จะเผชิญทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตได้
ชีวิตเราไม่คงที่ เหมือนทุกวันนี้ตลอดไป ชีวิตเราจะต้องเปลี่ยน คอยเตือนตัวเองเรื่อยๆ เราจะได้ขยันภาวนา
บางทีภาวนาแล้วมันเฉื่อย สอนมันไป ขยันไว้ตอนนี้ ยอมลำบาก ยอมอดทนต่อความขี้เกียจ เพราะว่า เป็นการสะสมต้นทุนให้ตัวเอง วันหนึ่งชีวิตอาจจะมีปัญหาอะไรขึ้นมา เมื่อไรก็ได้ เราจะได้เตรียมความพร้อม ไม่ขี้เกียจ
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
คุณเลือกไม่ได้ที่จะต้องพบกับคนเลว แต่เลือกได้ที่จะไม่เลวตาม
คนเห็นแก่ตัว มักฝากความเจ็บใจไว้กับคุณ แต่คุณเลือกได้ว่าจะเก็บไว้หรือปล่อยไป
คนไม่ดีจะกระตุ้นความคิดไม่ดีขึ้นในหัวคุณ มีแต่คุณที่ตัดสินใจคิดดีเองหรือคิดไม่ดีตาม เพื่อเพิ่มคนไม่ดีขึ้นอีกราย
ข้อแตกต่างระหว่างคนดีกับคนชั่ว ไม่ใช่คนดีไม่คิดชั่ว แต่คนดีห้ามใจไม่ทำตามความคิดชั่วๆ ได้
การล้มเลิกความตั้งใจดีทำให้คุณอ่อนแอลง การล้มเลิกความตั้งใจไม่ดีทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น
เมื่อใจงาม คุณจะรู้สึกถึงความงามแม้ในสิ่งเลวร้าย แต่หากใจร้าย คุณจะเห็นแค่แง่ร้ายแม้ในสิ่งดีงาม
เราทำให้โลกโหดร้ายน้อยลงไม่ได้ แต่ทำให้ความโหดร้ายในใจตนเองน้อยลงได้
ถ้าเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีไม่ได้ เรื่องร้ายจะเปลี่ยนคุณให้ค่อยๆ ร้ายตามมัน

ดังตฤณ
ชีวิตประจำวัน เหมือนทะเลปั่นป่วน การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องจะช่วยลดการถือตัวถือตน ถ้าไม่ลดหรือกำเริบเสิบสานแสดงว่าหลงทางแล้ว
พระวัดป่าเราก็ไม่พ้นเรื่องนี้ ออกจากป่าเข้าไปในเมือง เห็นพระครองผ้าเหลืองฉูดฉาดไม่เรียบร้อยเดินตามถนนสูบบุหรี่ หรือถือกล้องถ่ายรูป พระวัดป่าบางองค์อาจจะนึกรังเกียจว่าพระพวกนั้นไม่เคร่งเหมือนเรา เราดีกว่าเขา คิดอย่างนี้ใจของท่านก็เศร้าหมองแล้ว
กิเลสตัวนี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า มานะ หรือถ้าญาติโยมรักษาศีล ๕ ได้แล้วคิดว่าตัวเองดีกว่าเขาที่ไม่รักษาศีล แล้วยกตนข่มท่านโดยประการต่างๆ ก็เศร้าหมองแล้วเหมือนกัน
มานะอีกประเภทหนึ่งคือ การถือว่าเราเสมอกันหมด ไม่มีใครสูงกว่าใครเรียกว่า ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ความคิดอย่างนี้จะเห็นชัดที่สหรัฐอเมริกา มานะที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคุณธรรม ก็คือการถือว่าเราด้อยกว่าเขา หรือเขาดีกว่าเรา
แต่การเปรียบเทียบเฉยๆ รับรู้ต่อการยิ่งหย่อนต่ำสูง ยังไม่ถือว่าเป็นกิเลส หมอเชื่อว่าเขาสามารถรักษาโรคของคนดีกว่าชาวบ้าน ก็ไม่ใช่ความเศร้าหมอง แต่พอมีการหลงแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด มีเรามีเขา เราดีกว่าเขา เราเสมอกับเขา เราด้อยกว่าเขาก็เข้าเกณฑ์ของมานะแล้ว
มานะจะปรากฏชัดที่สุด ในกรณีที่เราทำอะไรด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เสียสละของตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เสร็จแล้วเขานินทาว่าเราทำเพราะอยากดังบ้าง เพราะหวังผลประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ตอนนี้อัตตาจะพุ่งขึ้นมาทันที
จับความรู้สึกอันนี้ไว้ให้ดี สิ่งนี้แหละคือตัวร้ายกาจ สิ่งนี้แหละคือรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง สังเกตไว้ให้ดีจำให้แม่น เมื่อมันเกิดในชีวิตประจำวันเราจะได้รู้ตัวและป้องกันอันตราย คืออย่าไปสำคัญมั่นหมายมัน อย่าเอาจริงเอาจังกับมันเลย มันแค่ภาพมายาของธรรมชาติเท่านั้นเอง
ฉะนั้น ให้เราพยายามพัฒนาจิตของเราด้วยวิธีต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ ชีวิตประจำวันเหมือนทะเลปั่นป่วนมีคลื่นใหญ่ อย่าไปคิดว่าจะรอให้คลื่นหมดจึงจะปฏิบัติ มันไม่หมดหรอก เป็นธรรมชาติของทะเลที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้มีเรือดีๆ ชีวิตย่อมไม่ล่ม นักปราชญ์จึงตั้งอกตั้งใจระงับสิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่เกิดขึ้น แล้วป้องกันสิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น เพียรสร้างสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็พยายามสนับสนุนบำรุงเลี้ยงให้เจริญงอกงาม ทำให้ดีที่สุดแล้วปล่อยวาง ผลเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของเรา
นักศึกษาจะสอบก็พยายามทำให้ถูกทุกข้อ แต่ได้ ๘๐% ก็ได้เกรด A แล้ว เราก็เหมือนกัน ตั้งใจทำมันให้ได้ ๑๐๐% แต่ได้ ๘๐% ก็ได้ A อาจารย์เซนจึงสอนว่า ๘๐% is perfect...
ชยสาโรภิกขุ
ไตรสิกขา .. การเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนบทเรียนไว้ ๓ บท เรียกว่าไตรสิกขา อันแรกเลยคือเรื่องศีล "ศีลสิกขา" อันที่สอง "จิตสิกขา" อันที่สาม "ปัญญาสิกขา" ถ้าเราเรียนไม่ครบ จะมีปัญหาเกิดขึ้น
จิตสิกขา ต่อไปนี้เราก็เรียนบทเรียนที่สอง ชื่อว่า "จิตสิกขา" บทเรียนนี้อาภัพที่สุด ไม่ค่อยมีใครเรียนทั้งที่สำคัญถึงขนาดว่า ถ้าไม่เรียนก็จะเจริญปัญญาไม่ได้ นักปฏิบัติพวกหนึ่งไม่เรียนจิตสิกขา จะเอาแต่นั่งสมาธิ เพราะคิดว่าการนั่งสมาธิไปเรื่อยๆ เคลิ้มๆ ไปเรื่อยๆ เรียกว่าจิตสิกขา นี่ไม่ใช่นะ อีกพวกหนึ่งก็เห็นว่าไม่ต้องทำอะไรหรอก แค่หัดกำหนดรูปนามไปเรื่อยๆ จิตก็มีสมาธิเองน่ะแหละ โถ จิตสิกขามันไม่ตื้นๆ แค่เรื่องการนั่งสมาธิหรอกนะ
จิตสิกขา คือการเรียนรู้เรื่องจิตว่า จิตชนิดใดเป็นกุศล จิตชนิดใดเป็นอกุศล จิตชนิดใดเอาไว้ทำสมถะ จิตชนิดใดเอาไว้ทำวิปัสสนา และจิตชนิดใดใช้ไม่ได้เลย เราต้องเรียนรู้ลักษณะของจิตแต่ละอย่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อจะได้ทราบว่าจิตของเราในขณะนี้ ควรแก่การงานชนิดไหนแน่
วิธีเรียนก็มี ๒ ทาง ทางหนึ่งเรียนจากตำรา พวกที่เขาเรียนอภิธรรมเขาเรียนสภาวธรรม ๗๒ ชนิด ซึ่งจิตเป็นสภาวะอันหนึ่งใน ๗๒ ชนิดนั้น แต่จิตอย่างเดียวนั่นแหละสามารถแจกแจงชนิดของจิต ออกไปได้อีกเยอะแยะถึง ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง ซึ่งไม่มีใครมีจริงครบทุกดวงหรอก เรียนอย่างนี้ก็ลำบากนิดหนึ่ง แต่ก็น่าเรียนรู้ไว้เหมือนกัน
มีวิธีเรียนรู้เรื่องจิตอีกวิธีหนึ่ง เป็นการเรียนง่ายๆ โดยการตามรู้ของจริงไปเลย แต่ในชั้นแรกเราต้องรู้หลักสักนิดหนึ่งก่อนว่า จิตชนิดไหนเป็นกุศล และจิตชนิดไหนเป็นอกุศล อันนี้ต้องอาศัยปริยัตินิดหนึ่ง อาศัยครูบาอาจารย์สอน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่รู้จัก บางทีเราไปหลงสร้างอกุศลจิตขึ้นมา แล้วนึกว่าเป็นกุศลจิต เรื่องนี้นักปฏิบัติเป็นกันมาก คือชอบไปสร้างอกุศลจิตขึ้นมา เป็นเรื่องอัศจรรย์ทีเดียว
เราต้องเรียนหลักอีกว่า จิตชนิดไหนควรแก่การทำสมถกรรมฐาน จิตชนิดไหนควรแก่วิปัสสนากรรมฐาน ไม่อย่างนั้นเวลาปฏิบัติจริง มักจะเอาจิตที่ไม่มีคุณภาพพอไปทำวิปัสสนา ซึ่งจะไม่ได้ผล
นักปฏิบัติมากมายที่ไม่รู้จักสมถะกับวิปัสสนา อยากทำวิปัสสนาแต่ไปหลงทำสมถะ อันนี้เยอะที่สุดเลย  มีในทุกค่ายทุกสำนัก มีหมดเหมือนๆ กันหมด ไม่ดีไม่เลวไปกว่ากันเท่าไร ดังนั้น ต้องฟังให้รู้เรื่องของสมถะกับวิปัสสนาเสียก่อน ถ้ารู้หลักแล้วจะเลือกใช้วิธีปฏิบัติ ของสำนักใดสำนักหนึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ได้ว่าสำนักใดดีกว่าสำนักใดหรอก เว้นแต่สำนักที่ไม่สอนเรื่องการรู้กายรู้ใจเท่านั้น ที่ไม่มีทางเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้เลย
ถ้าเรียนให้ถูกหลักแล้ว การปฏิบัติจะไม่ยาก ถ้าไม่ถูกหลัก ไม่รู้เรื่องจิตเรื่องใจตัวเอง การปฏิบัติจะยากที่สุดเลย เหมือนงมเข็มในมหาสมุทรทีเดียว
อันแรกเลย เราต้องรู้จักก่อนว่า จิตอย่างไรเป็นกุศล จิตอย่างไรเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลนี่นะ ไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ เพราะฉะนั้น ขณะใดจิตมีราคะ มีโทสะ ขณะใดจิตหลงไป เผลอไป จิตนั้นเป็นอกุศลแน่นอน อย่างนี้ดูง่าย แต่ว่าจิตบางอย่างนี่ดูไม่ออกว่ามีราคะ โทสะ โมหะ หรือเปล่า มันเป็นอกุศลที่ละเอียดๆ เราก็สังเกตเอา เพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก
จิตที่เป็นกุศลจริงๆ จะต้องมี ลหุตา มีความเบา ถ้าเมื่อไรเราปฏิบัติแล้วจิตเราหนักๆ ขึ้นมา ต้องรู้นะ ทำผิดแน่นอน อกุศลเกิดขึ้นแทนกุศลแล้ว เวลาลงมือปฏิบัติ บางคนหนักอึ้ดเลย หนักเหมือนแบกภูเขา มันหนักขึ้นมา ถ้ามันหนักขึ้นมา แสดงว่าทำผิดแน่นอน จิตที่เป็นกุศลจะต้องเบา
จิตที่เป็นกุศล จะต้องมี มุทุตา มีความนุ่มนวล อ่อนโยน ถ้าปฏิบัติแล้วจิตเราแข็งๆ ทื่อๆ นี่อกุศลนะ ต้องระมัดระวัง จิตที่เป็นกุศลนั้นจะนุ่มนวล
จิตที่เป็นกุศลมี ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ถ้าซึมๆ ทื่อๆ นี่อกุศลนะ ทื่อทั้งวัน อย่างนี้อกุศล ต้องระมัดระวัง
เพราะฉะนั้น  เวลาที่ปฏิบัติ  รู้สึกไหม พอจงใจทำเมื่อไหร่ จะหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ ขึ้นมา เพราะอะไร เพราะโลภะมันเกิด อยากปฏิบัตินี่อกุศลนะ โลภะเกิด พออยากปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติตามความอยาก ในขณะนั้นความอยากยังครอบงำจิตอยู่ ในอภิธรรมท่านสอนว่า "กิเลสเป็นสหชาตปัจจัยของกรรม" กิเลสเกิดร่วมกับกรรมนั่นเอง กิเลสทำให้เกิดการกระทำกรรม แต่เกิดด้วยกัน
เพราะฉะนั้น อย่างเราอยากปฏิบัติปุ๊บ ลงมือปฏิบัติปั๊บ ในขณะนั้นความอยากปฏิบัติยังครอบงำจิตอยู่ จิตดวงนั้นเป็นอกุศลจิต หนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ  ขึ้นมาเลย แล้วสติตัวจริงเกิดขึ้นได้ไหม ไม่มีทางเกิดเลย เพราะขณะนั้น พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ของกิเลสไปแล้ว สติจะเกิดร่วมกับกิเลสไม่ได้เด็ดขาด มีอันหนึ่งต้องไม่มีอีกอันหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติไป ใจแข็งทื่อขึ้นมา เกิดจากโลภะนะ มีโลภมูลจิต อยากปฏิบัติ ทีนี้พอใจแข็งทื่อขึ้นมาแล้ว เกิดโทสมูลจิตใหม่ อยากหาย ไม่ชอบมันแล้ว แข็งๆ อึดอัดไม่ชอบ อยากจะดี อยากจะสุข อยากจะสบาย นี่กิเลสล้วนๆ เลยนะ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนให้รู้จักลักษณะของจิต จิตชนิดใดเป็นกุศล ชนิดใดเป็นอกุศล
หลวงพ่อพูดตรงไปตรงมานะ นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด หลงสร้างอกุศลอยู่ อยากได้กุศล แต่หลงสร้างอกุศล จิตจะแข็งๆ  ทื่อๆ หนักๆ แน่นๆ อึดอัด มีราคะแทรกบ้าง มีโทสะแทรกบ้าง แต่ที่ยืนพื้นคือโมหะ แทรกอยู่ตลอดเลยแต่ไม่เคยเห็น เพราะไม่รู้สภาวะตรงตามความเป็นจริงนั่นแหละ โมหะมันบังอยู่ หรืออย่างบางทีเราปฏิบัติ พอเราเพ่งมากๆ เรากำหนดมากๆ ใจเราจะซึมๆ ใจเราจะนิ่งๆ
แต่บางทีก็เกิดความนุ่มนวลขึ้นมาได้  เกิดความสว่าง เกิดความนุ่มนวล แต่จิตของเราหลงเข้าไปยึดถือความสุขความสงบ ที่เกิดจากการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติจะมีอีกประเภทหนึ่ง ที่เพ่งมากๆ กำหนดมากๆ แล้วรู้สึกว่าจิตเบาๆ จิตสบาย จิตมีความสุข รู้สึกสว่างไสว แต่สังเกตให้ดี มันจะมีความนิ่งๆ เกินจริงอยู่นิดหนึ่ง มันจะผิดธรรมดาอยู่นิดหนึ่ง
แท้จริงแล้ว จิตที่ดีที่สุดสำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็คือจิตธรรมดาของมนุษย์ธรรมดาๆ นั่นเอง จิตปกติของมนุษย์นั่นแหละดีที่สุด มนุษย์คือผู้ที่มีใจสูง มีใจที่พร้อมจะรองรับธรรมะได้ แต่พวกเรานักปฏิบัติส่วนหนึ่ง พอปฏิบัติแล้วเพ่งเอาๆ กำหนดเอาๆ เราสูญเสียจิตของมนุษย์ กลายเป็นจิตของพรหมขึ้นมาแทน จิตของพรหมนี่จะนุ่มนวล เบิกบาน มีความสุข แต่มันเยิ้มๆ อยู่นิดหนึ่ง มันจะเยิ้มๆ มีความสุข จะนุ่มนวลมีความสุข ราคะแทรกอยู่ แต่ไม่เห็น
เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติจำนวนมากเลย พวกหนึ่งทำไปแล้วเกิดอกุศล เครียดจัด แข็งๆ หนักๆ แน่นๆ อีกพวกหนึ่งทำไปแล้วเคลิบเคลิ้ม มีความสุข เพลิดเพลิน ตัวนี้ไม่ใช่อกุศลแล้ว เป็นกุศล เป็นโลกียกุศล ตัวนี้แหละขวางการเดินมรรคผลนิพพาน ในขั้นละเอียดต่อไป เพราะฉะนั้น ต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง
บางคนฝึกมากๆ จิตใจจะนุ่มเลย นุ่มผิดความเป็นจริง นุ่มทั้งวันทั้งคืน สามวันสามคืนก็นุ่มอยู่อย่างนั้นแหละ นักปฏิบัติจำนวนมากเป็นอย่างนี้ ราคะแทรกแล้ว โมหะแทรกแล้ว ไม่เห็นอีกแล้ว ส่วนพวกที่กำหนดเอา กำหนดเอา เริ่มต้นใหม่ๆ นี่นะ โมหะกับโทสะแทรก พอกำหนดได้ที่ เพ่งได้ที่ โมหะกับราคะแทรก
ต้องเรียนนะ ต้องเรียนจนเรารู้จักลักษณะของจิต เราจะได้เดินไม่พลาด
ถัดจากนั้น เราจะมีจิตที่เป็นกลาง และสักว่ารู้สักว่าเห็นอารมณ์ได้ ซึ่งจิตที่มีคุณภาพเช่นนี้ในตำราอภิธรรมจะเรียกว่า "มหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริก" แปลว่า จิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา และเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้จงใจให้เกิด จิตชนิดนี้มีกำลังกุศลแก่กล้าที่สุด เหมาะควรที่สุดที่จะใช้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน รายละเอียดยังมีอีกมากต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เรียนไป
หลวงพ่อปราโมทย์  ปาโมชฺโช
 ความคิดนั้นมันเกิดอยู่เสมอ เหมือนลมหายใจนั่นเอง ห้ามไม่ได้ การปฏิบัติก็ไม่ได้มุ่งดับความคิด เอาแค่ว่า พอรู้อารมณ์แล้ว จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ก็ให้รู้ทัน อย่าฝันทั้งที่ตื่น คือหลงคิดไปโดยไม่รู้ตัวเท่านี้ก็พอ
พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)
จะปฏิบัติธรรมอย่างไร คนเราไม่รู้จัก นึกว่าการเดินจงกรม นึกว่าการฟัง นึกว่าการนั่งสมาธิ เป็นการปฏิบัติ นั่นเป็นส่วนน้อยก็จริงอยู่ นั่นเป็นเปลือกของมัน การปฏิบัติจริงๆ ก็ปฏิบัติเมื่อประสบอารมณ์นั่นแหล่ะการปฏิบัติแล้ว ที่มันประสบอารมณ์กันอยู่นั้น เช่นมีอะไร มีคนมาพูดไม่ถูกใจนะ เราก็เป็นทุกข์ ถ้าคนพูดให้ถูกใจเรา เราก็เป็นสุข ตรงนี้แหละ ตรงที่จะ ปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้สำคัญ ถ้าเราไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์ มัวไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์อยู่นั้น จะสิ่งตลอดจนถึงวันตายก็ไม่พบธรรมะ นี่ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อรู้จักสุขทุกข์ทั้งสองขึ้นมาเมื่อไหร่ เราจะแก้ปัญหาอย่างไรโดยธรรมะ นี่คือการปฏิบัติ
โดยมากคนที่ได้ของที่ไม่ชอบใจ ไม่อยากจะ พิจารณา อย่างคนนินทาว่าเรา "อย่ามาว่าฉัน มาว่าฉันทำไม" นี่คือคนปิดตัวไว้ ตรงนั้นแหล่ะต้องปฏิบัติ ถ้าเขาว่าเราไม่ดี นินทราเรา นี่ควรฟัง "เขาว่าถูกหรือผิดอะไรหนอ" ไม่ดีตรงไหนเราควรรับฟัง ไม่ต้องปิด ปล่อยเข้ามาให้ดูไว้ บางทีก็มีนะที่เราไม่ดีนั่นน่ะ เขาว่าถูกยังไปโทษเขาอีกนี่ ทีนี้เรามาดูตัวเรา เราเห็นที่ไหนมันไม่ค่อยดี เราก็เขี่ยมันออกเสีย เขี่ยโดยไม่ให้ใครรู้จักนั่นแหล่ะ เขี่ยสิ่งไม่ดีออกเสีย มันก็ดีขึ้นอีก นี่คือคนมีปัญญา
หลวงปู่ชา
การฝึกภาวนาทางอายตนะหก การฝึกทางอายตนะหกนี้ มันเหมาะกับคนที่มีปัญญากล้ามากๆ มันอยู่ในธัมมานุปัสสนา การปฏิบัติโดยอายตนะหกนี้ เมื่อตาเห็นรูปก็มีสติ รู้รูป รู้ตา รู้การเห็น รู้สังโยชน์ รู้กิเลสที่เกิดตามหลังมา มีงานเยอะนะ เมื่อหูได้ยินเสียง ก็รู้ประสาทหู รู้เสียง รู้การได้ยิน รู้กิเลสที่เกิดตามหลังการได้ยิน เมื่อได้รสก็รู้ลิ้น รู้ประสาทลิ้น รู้รส รู้การกระทบสัมผัส รู้ความรู้สึกที่กระทบสัมผัสรส รู้กิเลสที่เกิดตามมา สังเกตไหมว่ามันมีตัวร่วมอยู่ตัวหนึ่งคือ รู้กิเลสที่เกิดตามมา
ฉะนั้นในธัมมานุปัสสนา อายตนบรรพไม่ได้จบลงที่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รสนะถ้าเมื่อใดเราจงใจกำหนดลงไปที่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รส จะไม่มีการทำงานอะไรต่อไป จิตจะทื่อๆ นิ่งๆ แท้จริงแล้วจิตที่ไปรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นวิบาก จิตไม่มีดีมีชั่วอะไร ไม่มีสุขมีทุกข์อะไร เฉยๆ ดังนั้นพอเราไปดูแต่ทางอายตนะพวกนี้ เราจะเห็นว่าจิตเฉยๆ ตลอดเวลาเลย จะทื่อๆ นิ่งๆ อยู่อย่างนั้น ในที่สุดก็ติดความนิ่ง ความทื่อ กิเลสเหมือนไม่เกิดขึ้น แต่ความจริงโมหะเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จิตซึมๆ ทื่อๆ ไปเรียบร้อยแล้ว จิตที่ซึมๆ ทื่อๆ เป็นอกุศลจิต
ในหนังสือ ทางเอก ที่หลวงพ่อเขียนไว้ มีเรื่องของพระองค์หนึ่งชื่อพระโปฐิละ พระใบลานเปล่า ให้ไปอ่านเอานะ คือ เมื่อตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์แล้ว มันส่งสัญญาณมาที่ใจ ให้รู้ความเปลี่ยนแปลงที่ใจไป เหมือนที่เณรพระอรหันต์สอนพระโปฐิละว่า ถ้ากระทบอารมณ์ทางทวารทั้งหกแล้ว ให้ตั้งกัมมัฏฐานขึ้นทางมโนทวารทางใจ เพราะชวนจิตเกิดขึ้นที่มโนทวาร กุศลอกุศลสุขทุกข์เกิดขึ้นที่นี่ ให้คอยรู้ทันตรงนี้ อย่ามัวเอาแต่ตั้งอยู่ที่ตาอยู่ที่หูนะ เพราะตั้งอยู่ที่นั่นจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะทื่อๆ เรียกว่าเราเรียนอายตนบรรพไม่ครบนะ
ในอายตนบรรพที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านสอนถึงตาถึงรูปถึงการรับรู้การกระทบ คือถึงจิตที่เกิดทางตา แล้วก็ถึงกิเลสที่เกิดตามมา ถ้าเราไปจ้องใส่จิตที่เกิดทางตา มันคือการเพ่งจิต ถ้าเราไปจ้องประสาทตา มันคือการเพ่งรูป ถ้าไปจ้องอยู่ที่รูปที่จิตไปรู้เข้าที่ตาไปเห็นเข้า ก็คือการเพ่งรูป การเพ่งตัวรูปตัวนามนี้เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน เป็นการเพ่งตัวอารมณ์ ได้สมถะนะ ดังนั้นคนที่ฝึกไล่จี้ทางอายตนะจำนวนมาก เกิดสมถะโดยไม่รู้สึกตัว นึกว่าทำวิปัสสนาอยู่ มีใจนิ่งๆ ทื่อๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนหมดกิเลสนะ
พ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ความเพียรใดก็ตามไม่เหมือนความเพียรพยายามรักษาจิต และพยายามกำจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในจิตออกไป และพยายามรักษาไม่ให้จิตออกไปกว้านเอาอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เข้ามาทำลายจิตใจ หรือเข้ามาเพิ่มกิเลสที่มีอยู่แล้วให้กำเริบยิ่งขึ้น
งานนี้เป็นงานสำคัญมากสำหรับนักบวชเรา จึงต้องต่อสู้กันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช สุดกำลังความสามารถ สุดสติปัญญาที่จะต่อสู้ได้ จึงชื่อว่าเป็นผู้เชื่อธรรม เป็นผู้ต้องการมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นจะต้องแพ้กิเลสไปเรื่อย ๆ โดยที่เข้าใจว่าตนประกอบความเพียรเพื่อชำระกิเลส แต่กิเลสสวมรอยเข้ามาในท่าและประโยคแห่งความเพียรไม่รู้ตัว โดยที่สติปัญญารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่รู้เท่าทันมัน จึงต้องสั่งสมสติปัญญาขึ้นให้พอตัว การระมัดระวังจิตให้อยู่กับตัว อย่าให้เผลอได้เป็นการดี ถ้าไม่อยากเห็นเราเองตกเวทีความเพียร ให้กิเลสหัวเราะเย้ยหยัน
อย่าระวังสิ่งใดยิ่งกว่าระวังการกระเพื่อมของจิตที่จะคิดปรุงในแง่ต่างๆ ที่เรียกว่าจิตแสวงหาอาหาร ความจริงนั้นจิตแสวงหายาพิษมาเผาตัวเอง ถ้าได้คิดได้ปรุงเรื่องใดด้วยความชอบใจพอใจ ต้องเพลินจนลืมตัว ซึ่งส่วนมากจิตที่เป็นพื้นๆ นี้ ความคิดปรุงต่าง ๆ มักจะเป็นยาพิษทั้งนั้น เว้นเสียแต่จิตที่มีสติเท่าที่ควร หรือมีสติค่อนข้างจะสมบูรณ์ และมีสติโดยสมบูรณ์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจิตจะผลิตแต่อรรถแต่ธรรม ชำระสะสางหรือฟาดฟันแต่กิเลสเรื่อยไป ไม่มีคำว่าถอย
จิตเรายังไม่ถึงขั้นนั่นจึงมักมีแต่ขั้นทำลายตัวอยู่ ด้วยความคิดความปรุงโดยเจ้าตัวก็ไม่ทราบ ทำลายอยู่ในทางจงกรม เดินมีแต่ก้าวขาเดินกลับไปกลับมา นั่งก็มีแต่ร่างนั่งอยู่เฉยๆ เหมือนหัวตอ แต่จิตลอยอยู่เหมือนว่าวเชือกขาดอยู่บนอากาศ จิตลอยไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส เครื่องสัมผัสต่างๆ แล้วก็กว้านมาเป็นอตีตารมณ์ ครุ่นคิดอยู่ภายในใจ เผาลนตนอยู่ด้วยอิริยาบถต่างๆ โดยที่ตนสำคัญว่า ประกอบความเพียร ความจริงเป็นการเพียรเพื่อสั่งสมกิเลส โดยไม่รู้สึกตัว เพราะสติปัญญาไม่ทันกลมายาของกิเลส
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความเข้มแข็งในการระวังรักษา จุดที่จะต้องรักษามากเพื่อถูกต้องเหมาะสมก็คือจิต จิตเป็นตัวคิดตัวปรุงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการยับยั้ง ไม่มีเวลาพักผ่อนตัวเลย นอกจากจะได้รับความสงบจากการภาวนาที่ถูกบังคับด้วยธรรมบทใดบทหนึ่งเท่านั้น แม้จิตจะยังไม่สงบ แต่การบริกรรมธรรมบทใดบทหนึ่งนั้น ก็เป็นทางที่จะทำใจให้สงบได้ ท่านจึงสอนทางสมถะด้วยธรรมหลายประเภท ตามแต่จะเลือกหาบทที่ถูกกับจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นรายๆ ไป มี ๔๐ ห้องด้วยกัน ท่านเรียกกรรมฐาน ๔๐ มีอนุสสติ ๑๐ เป็นต้น
งานของใจถ้าเป็นไปด้วยการบริกรรมโดยความมีสติแล้ว เป็นงานแท้ เป็นงานเพื่อจะทำความสงบให้แก่ใจโดยถ่ายเดียว ถ้าปราศจากสติ แม้บริกรรมอยู่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนนกขุนทองร้องแก้วเจ้าขานั่นเเล พึงทราบไว้อย่างถึงใจ
พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
มีพระหนุ่มรูปหนึ่ง อารมณ์ไม่ค่อยเบิกบานสักเท่าไร แต่ละวันมีเรื่องขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจอยู่เสมอ เวลานั่งสมาธิ ถ้ายินเสียงคนพูดคุยกันก็ไม่พอใจ บางครั้งตบะแตกก็ไปต่อว่าคนที่พูดคุยกัน เวลากวาดใบไม้ก็บ่นว่าใบไม้ร่วงเยอะ กวาดไปก็หงุดหงิดไป เวลาทำงานก็มักรู้สึกว่าถูกเพื่อนกินแรงอยู่เสมอ บางทีเขียนหนังสือแล้วปากกาฝืด ก็โมโหขว้างปากกาทิ้ง ทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาของหลวงพ่อมาตลอด
วันหนึ่งหลวงพ่อบอกให้พระหนุ่มไปเอาเกลือจากในครัวมาหนึ่งห่อ เอาน้ำมาหนึ่งแก้ว แล้วก็ให้เทเกลือครึ่งหนึ่งลงไปในแก้ว จากนั้นก็ให้พระหนุ่มชิมน้ำนั้นดู แล้วถามว่าเป็นอย่างไร พระหนุ่มก็ตอบว่า เค็มมากครับหลวงพ่อ ทีนี้หลวงพ่อก็พาไปที่ลำธาร เอาเกลือที่เหลือโรยลงไปในลำธาร แล้วให้พระหนุ่มชิมน้ำในลำธาร
หลวงพ่อถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง พระหนุ่มตอบว่าจืดครับหลวงพ่อ ในใจก็สงสัยว่าหลวงพ่อตั้งใจจะสอนอะไรหรือ หลวงพ่อให้พระหนุ่มคิดสักพัก พระหนุ่มก็คิดไม่ออก หลวงพ่อจึงบอกพระหนุ่มว่า ความทุกข์ก็เหมือนกับเกลือ มันจะเค็มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับใจเราว่าเป็นแค่น้ำแก้วหนึ่ง หรือเป็นลำธารหนึ่งสาย
ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรามันเป็นอย่างนั้น มันจะหนักหรือเบา ก็ขึ้นอยู่กับใจของเรา ว่าใจเราเปรียบเหมือนกับน้ำแก้วเล็ก ๆ หรือลำน้ำอันกว้างใหญ่ เวลาเราเจออะไรที่ไม่พอใจ ถ้าหากว่าเรามีความขุ่นเคือง มีความทุกข์มาก แสดงว่าใจของเรานั้นเล็กและแคบเหมือนกับแก้วน้ำ สิ่งที่มากระทบเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา จะทำให้เราเจ็บปวดหรือขุ่นเคืองหรือไม่ อยู่ที่ใจเรา
ถึงแม้ใบไม้จะเยอะ เพื่อนร่วมงานจะไม่น่ารัก ดินฟ้าอากาศจะไม่เป็นใจ แต่มันทำให้เราทุกข์ไม่ได้ ถ้าหากว่าใจเราใหญ่เหมือนแม่น้ำ จะสุขหรือทุกข์นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพจิตของเรา คนที่ใจแคบ ใจเล็ก คิดถึงแต่ตัวเอง เจออะไรมากระทบก็ทุกข์ โกรธ ไม่พอใจไปหมด แต่คนที่ใจกว้างใหญ่ แม้จะมีเรื่องใหญ่ ๆ เกิดขึ้น เขาก็สามารถรักษาใจให้เป็นปกติได้
พระไพศาล วิสาโล
มีปัญญามองเห็น..อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่แหละคือ.."หนทาง"ที่แท้จริง ไปสู่ "ความดับทุกข์"
"เมื่อมีปัญญาเข้าใจถูกต้องในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นสังขารหรือเป็นธรรมชาติเหล่านั้นแล้ว เมื่อนั้นแหละ คนเราจะประพฤติปฏิบัติ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ชนิดที่เป็นความถูกต้องอย่างยิ่ง คือ ไม่ใช่เป็นการทำตามระเบียบ ตามธรรมเนียม ตามแบบพิธีโดยที่ยังไม่เข้าใจ
หรือถ้าจะกล่าวอีกทางหนึ่งก็ว่า เพราะคนมองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยเขาไปเถอะ จะไม่มีทางที่จะทำอะไรผิด ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เพราะอำนาจของความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง เป็นเครื่องกำกับเอาไว้ คือ เมื่อรู้หรือเข้าใจหรือเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างถูกต้องแล้ว คนเราจะคิดผิด หรือหวังผิด หรือพูดผิด หรือทำผิด เป็นได้อย่างไรกัน เพราะว่าปัญญานั้นมองเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ชัดๆแล้ว จึงหลงผิดอะไรไม่ได้ ทำไปตามปัญญานั้นก็มีแต่ความถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมาเอง หรือว่าเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมาเอง หรือว่าเป็นกุศลกรรม ๑๐ ประการ(กุศลกรรมบถ ๑๐)ขึ้นมาเอง ดังนี้เป็นต้น
นี้จะทำให้ท่านทั้งหลายมองเห็นได้ว่า ถ้าสมมุติว่าเราจะลงมาจากยอด ก็คือเราลงมาจากยอดของปัญญาที่มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ทำอะไรข้างล่างหรือข้างใต้นี้ถูกหมด ทีนี้อีกทางหนึ่ง เราจะตั้งต้นจากข้างล่างคือรากฐาน เราก็ต้องสร้างรากฐานที่กาย ที่วาจา หรือที่ใจ ให้เป็นการประพฤติปฏิบัติชนิดที่เป็นไปในลักษณะที่จะทำให้เราเกิดมีปัญญาเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นปุถุชนคนเขลาอยู่ตามสามัญแล้ว ก็จงเชื่อจงพยายามปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั้นเรื่อยไป ไม่เท่าไรก็จะมีปัญญาเกิดขึ้นตามลำดับ เพราะว่ามันเป็นการเดินที่ถูกทาง ในที่สุดก็จะถึงยอดคือได้รับปัญญา ได้เกิดปัญญา ที่มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกนั่นเอง
เพราะเหตุฉะนี้แหละ เราจะมองดูจากปลายทางมาต้นทาง หรือจะมองจากต้นทางไปปลายทาง มันก็ควรจะได้ทั้งนั้น แล้วแต่ใครเกิดมามีพื้นเพอุปนิสัย มีอินทรีย์ มีสติปัญญา มากน้อยอย่างไรนั้นมากกว่า และสำหรับบุคคลที่ได้เกิดมาในโลกนี้ มีอายุยืนยาวมาป่านนี้แล้ว ก็ควรจะมีปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นทุกวันๆ จนกระทั่งบัดนี้ พอที่จะมองเห็นได้ว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้อย่างไร หรือว่า การปรุงแต่งไม่หยุดนั้นเป็นความทุกข์อย่างไร การไม่ปรุงแต่งเป็นความไม่ทุกข์อย่างไร
นี่แหละเป็นคำตอบที่พอแล้ว สำหรับจะช่วยให้มองเห็นว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสิ่งที่เรียกว่า "ทาง" หรือ "หนทาง" นี้ไว้ในลักษณะต่างๆกัน ในอันดับสูงได้ตรัส "สติปัฏฐาน ๔" ว่าเป็น "เอกายนมรรค" หรือ หนทางอันประเสริฐ สำหรับบุคคลผู้เดียว เดินทางไปในทางเส้นเดียว เพื่อถึงจุดหมายปลายทางเพียงสิ่งเดียว อย่างนี้ก็มี คือได้ตรัสสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นว่าเป็นตัวทาง และยังมี "ทาง" ที่ตรัสไว้ในชื่ออื่นอีกมากมาย ไม่จำเป็นที่จะต้องประมวลมาในที่นี้ให้มากเกินไป จนทำความฟั่นเฝือรำคาญ
เพียงแต่ต้องการให้ท่านทั้งหลายมองเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า "ทาง" นั้น จะเป็นทางที่แท้จริงขึ้นมา ก็ต่อเมื่อมีปัญญาเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามาเจืออยู่ด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วยังไม่เป็นหนทางที่แท้จริง จะเป็นเพียงการตระเตรียมหรือต้นทางอย่างเดียวเท่านั้น หมายความว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาที่จะมองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเดินทางนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน มีแต่จะเดินเข้าหาสิ่งซึ่งเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากขึ้น แล้วก็จะมีความทุกข์ซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น
แต่ถ้ามองเห็นเสียบ้างว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว จิตใจก็จะเดินทางหลีกห่างออกจากสังขารเหล่านั้น ไปตามแนวที่จะข้ามพ้นหรืออยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ไม่ให้ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ทำอันตรายตนได้ นี่แหละ คือ หนทางที่แท้จริง ที่หลีกออกไปจากความทุกข์ ไปสู่ความดับทุกข์
พุทธทาสภิกขุ
จิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนา กัมมัฏฐานที่ง่ายๆ หลวงพ่อไม่ได้โฆษนาชวนเชื่อนะ แต่ท้าให้ลองต่างหาก ลองดู กัมมัฏฐานที่เหมาะกับฆราวาส เหมาะกับคนที่ทำมาหากินด้วยการคิด ในคัมภีร์เราสอนว่าการดูจิตและธรรม เหมาะกับพวกที่คิดมาก เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต
พวกเรายุคนี้เป็นคนเมือง ส่วนมากประกอบอาชีพด้วยการคิดเอา วันๆ เรามีเรื่องที่ต้องคิดมากมาย คนที่คิดมากจิตใจไม่สงบหรอก ในคัมภีร์ของเราสอนว่าเหมาะกับการดูจิต เหมาะกับจิตตานุปัสสนา เหมาะกับธัมมานุปัสสนา ท่านอธิบายต่อไปอีกว่า จิตตานุปัสสนาทำง่าย ธัมมานุปัสสนาทำยาก
ดังนั้นพวกเราที่อินทรีย์ยังไม่แก่กล้าถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคล เบื้องต้นฝึกดูจิตไป ส่วนคนไหนถนัดจะรู้กายจริงๆ นะ ก็ฝึกสมาธิไป มีเวลาก็ลางานไปอยู่ตามวัดป่า ภาวนาให้มีสมาธินะ พอมีสมาธิแล้วก็เอาสมาธิมารู้กายรู้เวทนา ท่านสอนอีกว่า กายรู้ง่าย เวทนารู้ยาก ธัมมานุปัสสนายากกว่าจิตตานุปัสสนา ฉะนั้นกัมมัฏฐานที่ง่ายคือกายกับจิต กัมมัฏฐานที่ยากคือเวทนากับธรรม
คนเมืองพวกคิดมากเหมาะกับการดูจิต จิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องทำให้ดีก่อน เช่น จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน ไม่ต้องทำสมาธิก่อน เพราะถ้าทำสมาธิก่อนจะไม่มีจิตฟุ้งซ่านให้ดู จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ รู้ไปตรงๆ ไม่ต้องทำสมาธิก่อน ถ้าทำแล้วมันไม่มีราคะให้ดู จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ ไม่ต้องทำสมาธิ ถ้าทำสมาธิก่อน จิตจะไม่มีโทสะให้ดู แต่ดูไปๆ จิตจะเกิดสมาธิขึ้นเองนะ เรียกว่าใช้ปัญญานำสมาธิ
ส่วนการดูกายนี่ ใช้สมาธินำปัญญา มีสมาธิก่อนแล้วมาเจริญปัญญารู้กายรู้เวทนา การดูจิตใช้ปัญญานำสมาธิ มารู้จิตรู้ธรรมก่อนแล้วสมาธิเกิดขึ้นทีหลัง แต่ว่าแต่ละวันก็ต้องทำสมาธิเล็กน้อย อย่าทิ้งเลย ไหว้พระสวดมนต์ก็ได้สมาธิ แผ่เมตตาก็ได้สมาธิ คิดถึงธรรมะฟังธรรมะก็ได้สมาธิ คิดถึงทานคิดถึงศีลที่เราทำแล้วดีแล้วก็ได้สมาธิ คนไหนชอบรู้ลมหายใจก็ทำได้ ถ้าดูจิตชำนาญแล้วรู้ลมหายใจก็มีสมาธิง่ายนะ ทำอะไรมันก็ทำได้ถ้าจิตมีสติแล้ว ฉะนั้นพวกที่คิดมากพวกคนเมือง จึงควรใช้ปัญญานำสมาธิ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ธัมมานุปัสสนาเนี่ยเราจะเห็นกระบวนการของมัน ถ้ากาย(กายานุปัสสนา) เวทนา(เวทนานุปัสสนา) จิต(จิตตานุปัสสนา) เนี่ยเราจะเห็นสภาวะของมัน ฉะนั้นดูกายเวทนาจิตไปเรื่อยนะ ต่อไปก็จะเห็นกระบวนการ เช่น นิวรณ์ นิวรณ์ทำงานขึ้นมาได้อย่างไร นิวรณ์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร นิวรณ์เกิดมาแล้วมีบทบาทอย่างไร นิวรณ์ดับไปได้อย่างไร นิวรณ์จะไม่เกิดใหม่ได้อย่างไร
จะเห็นกระบวนการเกิดขึ้นของโพชฌงค์ จะเห็นกระบวนการทำงานของขันธ์ห้า จะเห็นกระบวนการของจิตที่มีอวิชชา จนปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท นี่ธัมมานุปัสสนาจะเห็นกระบวนการทำงานของมัน
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ภาวนาไม่ใช่ว่าจะไปนั่งหลับตาภาวนา บางคนก็มาวัดทุกวัน วันพระก็มานั่งหลับตาภาวนา พอกลับไปบ้านทิ้งเลย ทะเลาะกับลูกกับผัว ทะเลาะกับใครต่อใคร เขาเข้าใจว่าเวลานั้น เขาออกจากการภาวนาแล้ว เมื่อจะภาวนาก็มานั่งหลับตาเอาบุญ พอออกไปแล้วบุญไม่ไปด้วย เอาแต่บาปไปเท่านั้น ไม่อดไม่กลั้น ไม่ประพฤติธรรมไม่ปฏิบัติธรรม อะไรต่ออะไรหลายๆอย่าง
ความเป็นจริง การประพฤติการปฏิบัติภาวนานี้ เมื่อไรก็ตามเถอะ จะอยู่ในวัดก็ตาม นอกวัดก็ตาม เหมือนกับเราได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดีๆ เมื่อเราเรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดีๆแล้ว เราเรียนหนังสืออ่านหนังสือได้ในโรงเรียนแล้ว แล้วจะไปอ่านอยู่ที่บ้านก็ได้ จะอ่านอยู่ในทุ่งในป่าก็ได้ จะอ่านในที่ชุมชนก็ได้ อ่านคนเดียวก็ได้ อ่านที่ไหนก็ได้ ถ้าเราเข้าใจดีแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะอ่านหนังสือจะต้องวิ่งมาโรงเรียนถึงจะอ่านหนังสือได้ ไม่ใช่อย่างนั้น การภาวนานี้ก็เหมือนกัน ฉันนั้น
เมื่อเรามีปัญญาแล้ว มันจะไปในทุ่งก็ดี จะเข้าไปในป่าก็ดี อยู่ในคนจำนวนมากก็ดี อยู่ในคนจำนวนน้อยก็ดี จะถูกนินทาก็ดี จะถูกสรรเสริญก็ดี เป็นต้น ก็มีความรอบรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ เรียกว่าคนที่ภาวนา ให้มันรู้เท่าอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เช่นนี้ ก็เรียกว่าเราสบายแล้ว นี่เรียกว่าคนภาวนาเป็น มีอารมณ์เป็นอันเดียว
ภาวนา ก็คือ รู้ให้ทั่วถึง รู้รอบคอบนั่นเอง ท่านจึงให้เป็นผู้มีสติความระลึกได้ เป็นคนมีสัมปชัญญะความรู้ตัว เป็นผู้มีปัญญา ความรอบคอบในการยืน การเดิน การนั่ง การนอน สามารถจะมองเห็นความบกพร่อง ความสมบูรณ์บริบูรณ์ด้านจิตใจอยู่ทุกเวลา นั่นเรียกว่าคนภาวนา ถ้าเรารู้เสมอเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรจะมากระทบกระทั่งเราได้ จิตใจก็สบาย ราบรื่นอยู่เสมอ นั่นเรียกว่าจิตเป็นปกติ
หลวงพ่อชา สุภัทโท
ผู้ปฏิบัติต้องช่วยตัวเองให้มากๆ สังเกต สู้ด้วยสติ สู้ด้วยปัญญา มีสติก็คืออย่าลืมตัวเอง คอยรู้กายคอยรู้ใจเอาไว้เรื่อยๆ มีปัญญาก็คอยตรวจสอบตัวเองเรื่อยเลย ที่ทำอยู่นี้มันถูกหรือผิด อย่างเราภาวนาไปแล้ว ใจของเราหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ อะไรอย่างนี้ ผิดแน่นอน หรือเราภาวนาแล้วเครียดๆ ขึ้นมา นี่ผิดแน่นอน ภาวนาแล้วต้องสบาย ต้องโปร่งโล่งๆ ต้องสบายนะ หรือภาวนาไปแล้ว แหม มันสบายมาเจ็ดวันเจ็ดคืนแล้ว ต้องผิดแน่นอน อะไรมันจะเที่ยงขนาดนั้น อย่างนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
เราต้องมีสติมีปัญญา ปัญญาเบื้องต้นของเรานี่แหละเรียกว่าโยนิโสมนสิการ มีความแยบคายในการสังเกตตัวเองว่า สิ่งที่เดินนี่มันถูกหรือมันผิด หรือแยบคาย เช่น เราภาวนาแล้ว ช่วงนี้สังเกตตัวเองว่ามันเนือยๆ ไป ก็ต้องแยบคายนะ  ทำให้มัน active (กระฉับกระเฉง) ขึ้นมาหน่อย หรือช่วงนี้ขยันดูทั้งวันทั้งคืน จนเพื่อนถามว่าไปกัดกับใครมาดูโทรมนะ ภาวนาจนโทรมอย่างนี้ก็ต้องรู้ว่าเร่งมากไป จิตใจไม่มีความสุข แห้งแล้ง นี่ต้องวัดตัวเองเรื่อยๆ นะ
ฉะนั้นช่วยตัวเองให้มาก มีสติรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ อย่าลืมกายอย่าลืมใจ ลืมได้แต่อย่าลืมนาน มีปัญญาคือโยนิโสมนสิการ คอยตรวจสอบตัวเองเรื่อยๆ ว่าที่ทำอยู่นี่ มันอยู่ในร่องในรอยไหม โยนิโสมนสิการจะเกิดได้ ต้องฟังธรรมนะ ฟังหลวงพ่อพูด หรืออ่านหนังสือที่หลวงพ่อเขียนเอาไว้
โยนิโสมนสิการไม่ใช่การคิดพิจารณาตามใจชอบ แต่การคิดการพิจารณานั้นจะต้องสอดคล้องถูกต้อง กับหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ อย่างถ้าเราภาวนาไปแล้วเราพยายามดูจิตให้ทัน โมโหตัวเองที่ดูอย่างไรก็ไม่ทันสักที ถ้ามีโยนิโสมนสิการ แยบคาย เคยได้ยินได้ฟังมาว่าการดูจิตนี่ต้องตามดู เราก็จะระลึกขึ้นได้ว่าพลาดไปทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว คือพยายามดูจิตให้เป็นปัจจุบัน
นี่โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อยตามใจชอบนะ หลายคนเคยไปอ่านหนังสือ สมัยก่อนมีเรื่องหนึ่งนะชื่อ สิทธารถะ แล้วตอนหลวงพ่อหนุ่มๆ นะ มีเรื่อง นกนางนวล ด้วย พออ่านแล้วแหมใจมันฮึกเหิม จะหาธรรมะด้วยตนเองเหมือนสิทธารถะ เหมือนนกนางนวล นกนางนวลตัวนี้ตกทะเลแหงๆ เลย
ฉะนั้นต้องเรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เราจะหาด้วยตัวเองเนี่ย หาได้เหมือนกัน ถ้าเราเป็นพระโพธิสัตว์ ใช้เวลาอย่างต่ำที่สุดยี่สิบอสงไขย ใช้เวลาต่ำที่สุดที่จะหาด้วยตนเองได้ พระพุทธเจ้าเรา ภาวนาก่อนที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้านะ ทั้งหมดยี่สิบอสงไขยแสนมหากัปป์ ยี่สิบอสงไขยนี่นะ สิบหกอสงไขยทำไปลุ่มๆ ดอนๆ สี่อสงไขยแสนมหากัปสุดท้ายนี้เท่านั้นแหละ ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระทีปังกร
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
พอรู้สึกตัวได้แล้วนะ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตหนีไปคิดก็รู้นะ มันก็จะรู้สึกตัวได้มากขึ้นมากขึ้น แล้วจะเห็นว่า ร่างกายพนมมืออย่างนี้นะ มันไม่ใช่เราหรอกนะ หรือร่างกายมันเคลื่อนไหว แล้วใจเราเป็นคนรู้สึกนะ จะรู้สึกเลยว่าตัว(ร่างกาย)นี้ ไม่ใช่เราหรอก หรือความรู้สึกอื่นๆ ผ่านมาในใจ ใจเราเป็นคนดูสบายๆอยู่ มันก็จะรู้สึกว่า ความรู้สึกทุกอย่างมันไม่ใช่เราหรอกนะ อย่างความสุข ความโกรธ อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวเรา มันมาแล้วก็ไปนะ
เราดูไปเรื่อยๆ นะ ถึงวันหนึ่ง จิตมันจะยอมรับความจริงว่า สิ่งใดเกิดขึ้นมา สิ่งนั้นดับทั้งหมด เมื่อใจยอมรับตรงนี้ได้นะ ต่อไปไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเรา เราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่างถ้าเราจะต้องตาย มันก็เรื่องธรรมดา เพราะว่าทุกอย่างก็ชั่วคราวนะ เวลาเราเจอความสุข เราก็ไม่หลงเพลิน เรารู้ว่าความสุขมันก็อยู่ชั่วคราว เวลาเราเจอความทุกข์ เราก็ไม่เสียใจ ไม่กลุ้มใจ เพราะรู้ว่าความทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว
ดังนั้นการที่เราคอยเห็นว่า ร่างกายมันไม่ใช่เรานะ มันทำงานของมันเอง จิตใจมันก็ไม่ใช่เรา มันทำงานของมันเอง ทุกอย่างเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใจจะค่อยๆ ฉลาด แล้วใจก็จะไม่เป็นทุกข์นะ นี่เป็นวิธีที่ใจจะพ้นทุกข์
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ถ้าเราแยกส่วนการปฏิบัติธรรมออกจากชีวิตธรรมดาของเรา เรายังห่างไกลกับมรรคผลนิพพาน ถ้าเราหลอมรวมการปฏิบัติเข้าในชีวิตธรรมดาของเราได้ เราใกล้กับมรรคผลนิพพานแล้ว
วิธีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อันแรกเลย ตั้งใจไว้ก่อน เราจะไม่ปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส เพลิดเพลินไปเรื่อยๆ ผัดวันประกันพรุ่ง อ้างโน่น อ้างนี่ ไปแล้ว ขี้เกียจปฏิบัติ ต้องมีใจมั่นคงเด็ดเดี่ยวว่า หน้าที่หลักในชีวิตของเรานี้ คือการปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์
ถ้าเรารู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมเป็นงานรอง เรื่องอื่นๆ เป็นงานหลัก อย่างจะไปจีบสาว เรื่องจีบสาวเป็นงานหลัก หรือทำมาหากินเป็นงานหลัก การทำมาหากินมันก็เพื่อหารายได้ มาเลี้ยงชีวิต จำเป็นไหม จำเป็น แต่เป็นงานรอง เพราะว่าชีวิตเรา อย่างไรก็ไม่ยั่งยืนเท่าไหร่ งานหลักของเราจริงๆ ก็คือ ปฏิบัติให้มันพ้นทุกข์ให้ได้ เราทำมาหากิน เป็นแค่ว่าพออยู่พอกิน ไม่มีจะกิน มันก็ภาวนาไม่ไหว
เมื่อใจเรามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวว่าเราจะต้องปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์แล้ว เรื่องอื่นมันจะไม่สำคัญเท่าไหร่ เรื่องการปฏิบัติจะสำคัญที่สุด พอตั้งเป้าได้ เราก็ขยันปฏิบัติไปนะ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ถ้าเราภาวนามานานแล้วมันยังไม่ดีขึ้นอ่ะนะ ใส่ใจการภาวนาให้เยอะขึ้นหน่อย คิดถึงการปฏิบัติบ่อยๆ แต่อย่าไปนั่งเพ่งเอา หาอารมณ์กรรมฐานไว้สักอันนึงเป็นเครื่องอยู่ของจิต ลำพังอินทรีย์พวกเราไม่แก่กล้า (อินทรีย์)ยังไม่แก่กล้า เราจะรู้สึกตัวไปเฉยๆ เนี่ยมันรู้ไม่ค่อยจะได้ นานน๊าน มันจะรู้ทีนึง มันจะหลงยาว
งั้นเราต้องมีบ้าน(วิหารธรรม)ให้จิตอาศัยอยู่ จะอยู่กับพุทโธ จะอยู่กับลมหายใจ จะอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายก็ได้ หาเครื่องอยู่(ให้จิต) นี้จะไม่ชอบพุทโธ จะบริกรรมอย่างอื่นก็ได้ แล้วเราอยู่กับเครื่องอยู่อันนั้น แล้วพอใจเราหนีไปนะ รู้ไวๆ แค่นั้นแหละ ไม่ห้าม อย่าไปบังคับว่าห้ามหนี
(จิต)หนีได้ แต่ว่าถ้าเราใส่ใจ มีมนสิการนะ สนใจ ใส่ใจ คิดถึงอารมณ์กรรมฐานของเราบ่อยๆ อย่างหลวงพ่อเจอหลวงปู่ดูลย์เนี่ย หลวงพ่อทำสมาธิมาได้ตั้งแต่เด็กแล้ว หลวงปู่ไม่ต้องสอนสมาธิให้หลวงพ่อ ท่านสอนหลวงพ่อดูจิตไปเลย หลวงพ่อดูจิตได้ ใช้จิตเป็นเครื่องอยู่ได้ พอจิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตเคลื่อนแล้วรู้ แล้วใจเนี่ยเคล้าเคลียสนใจ ที่จะรู้ทันจิตใจของตัวเองอยู่ทั้งวัน พอสนใจ มีเวลาปุ๊บมันจะสนใจ เรียกว่ามันใส่ใจนะ ใส่ใจ
นี้ถ้าเราใส่ใจมาดูที่จิตตรงๆอย่างนี้ไม่ไหว หลงยาว อะไรอย่างเนี้ย ก็ต้องหาอารมณ์ที่มันหยาบขึ้น (เพราะ)จิตเป็นอารมณ์ที่ละเอียดนะ ละเอียดมากๆ ถ้าสมาธิไม่พอไม่เห็นหรอก มันจะหลงยาว
งั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้ นึกถึงพุทโธบ่อยๆ นึกถึงลมหายใจบ่อยๆ วันนึงให้ได้ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้งยิ่งดี นึกบ่อยๆ นะ ระลึกไป นึกถึงลมหายใจ หรือนึกถึงพุทโธ ก็กลับมาพุทโธๆ พุทโธไปด้วยใจที่ธรรมดา อย่าไปบังคับใจให้นิ่งนะ อย่าบังคับใจ ใช้ใจปกติ ไม่ชอบพุทโธจะใช้อย่างอื่นก็ได้ แล้วแต่เราจะชอบคำบริกรรมนะ อะไรก็ได้ แต่ง(คำบริกรรม)เองยังได้เลย
ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ บางองค์ท่านก็บริกรรมต่างๆ กันออกไป หลวงพ่อก็เคยลองบริกรรมหลายอย่าง แล้วก็รู้อย่างหนึ่งว่าคำบริกรรมอะไร ที่มีลักษณะเป็นเหมือนกัน ข้อจังหวะ/ริทึ่ม(rhythm)มันจะช่วยให้สงบง่าย มันกล่อมจิตให้สงบง่าย อย่าง พุท-โธ พุท-โธ พุท-โธ นี่มันเป็นจังหวะ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ อะไรอย่างนี้ก็ได้
หลวงปู่แหวนท่านก็มี(คำบริกรรม)อะไรน่ะ พุทโธอะระหัง ธัมโมอะระหัง สังโฆอะระหัง อย่างนี้ก็ได้ หลวงปู่ขาว ท่านเป็นคนขี้โมโห ท่านก็มีคำบริกรรมสำหรับคนขี้โมโห พุทธะเมตตัง จิตตังมะมะ พุทธะพุทธานุภาเวนะ ธัมมะเมตตัง จิตตังมะมะ ธัมมะธัมมานุภาเวนะ เนี่ยฟังแล้วสบายใจ สังฆะเมตตัง จิตตังมะมะ สังฆะสังฆานุภาเวนะ
พุทธะเมตตัง คิดถึงพระพุทธเจ้ากับความเมตตาของท่าน พุทธะเมตตัง จิตตังมะมะ ภาษาคาถาอาคม มะมะ มักจะแปลว่า มาๆ เรียกจิตตัวเอง เตือนให้รู้จักจิตตัวเอง พุทธะเมตตัง จิตตังมะมะ ลงท้าย พุทธะพุทธานุภาเวนะ มันจะเป็นจังหวะนะ ลองไปท่องดู
ลักษณะคำบริกรรมที่เป็นจังหวะ เหมือนเป็นริทึ่ม(rhythm ) มันจะลงเป็นจังหวะ วับ วับ วับ ไป อย่างนี้ใจมันจะสงบง่าย พุทธะเมตตัง จิตตังมะมะ พุทธะพุทธานุภาเวนะ ธัมมะเมตตัง จิตตังมะมะ ธัมมะธัมมานุภาเวนะ สังฆะเมตตัง จิตตังมะมะ สังฆะสังฆานุภาเวนะ หรือหลวงปู่ดู่ท่านชอบ(คำบริกรรม) พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ) แล้วแต่ชอบนะ
แต่ไม่แนะนำคำบริกรรมที่ยาวเกินไป อย่างจะบริกรรม ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตวา (พระคาถาชินบัญชร) ยาวมากนะ ยาว สวดตั้งหลายนาทีแน่ะ ระหว่างสวดหลายนาที หนึ่งจบเนี่ยหลงไปห้าร้อยครั้งแล้ว อย่างนี้ใช้ไม่ได้
เอา(คำบริกรรม)ที่เป็นจังหวะที่ไม่ต้องคิดน่ะ จังหวะสั้นๆ (เช่น) ระโชหะระนัง ระชังหะระติ ระโชหะระนัง ระชังหะระติ ง่ายๆ เห็นมั้ย ฟังทีเดียวก็จำได้ ใครจำไม่ได้ ระโชหะระนัง ระชังหะระติ เอา(คำบริกรรม)บทที่ไม่ต้องใช้ความจำมาก แล้วบทที่สวดแล้วสบายใจ ใช้บทที่สบายใจ มันมีจังหวะอยู่ด้วย แล้วก็ทำไปด้วยใจที่สบาย เคาะจังหวะไป แป๊บเดียวก็สงบ เนี่ยเรื่องใช้คำบริกรรมก็มีลูกเล่นบ้าง หรือใช้อานาปานสติก็ได้ หายใจออก-รู้สึก หายใจเข้า-รู้สึก (ใช้เครื่องอยู่ของจิต)แล้วแต่ถนัด.
เคยมีพระองค์หนึ่งอยู่กับหลวงพ่อพุธ นี่หลวงพ่อพุธเล่าให้ฟัง(ว่า) หลวงพ่อพุธสอนให้พุทโธ ท่านก็พุทโธนะ พุทโธๆ แล้วแป๊บเดียวไปท่องชื่อแฟนแทน ท่านก็รู้สึกท่านบาปมาก ท่องพุทโธแท้ๆเลย กลายเป็นชื่อแฟนเฉยเลยนะ ใจมันชอบ แต่ตกใจวิ่งมาหาหลวงพุธ ว่าทำยังไงดีบาปมากแล้ว จาก(ท่อง)พุทโธกลายเป็นชื่อแฟนไป
หลวงพ่อพุธบอกว่าใจมันชอบ บริกรรมคำนี้ไปเลย บริกรรมชื่อแฟนไปเลย ท่านก็ดีใจหลวงพ่ออนุญาต มาบวชนะ เด็กหนุ่มๆ ถูกพ่อแม่บังคับมาบวชอย่างนี้ เลยคิดถึงแฟน ให้บริกรรมชื่อแฟนนะใจมันมีมนสิการ มันสนใจบริกรรมทั้งวันเลย จิตรวม/จิตสงบ พอจิตรวม เกิดนิมิตเห็นแฟนโผล่ขึ้นมา ใจก็มีความสุขแฟนโผล่ขึ้นมาแล้ว บริกรรมไปเรื่อยๆ แฟนก็ล้มลงไป แล้วก็ตาย แล้วก็ค่อยตัวแข็ง ตัวพอง ตัวเขียวๆ ตัวแตก น้ำเหลืองน้ำหนองไหล เน่าเปื่อยผุไป เหลือแต่กระดูก บริกรรมชื่อแฟน ก็ใช้ได้ผลนะ ท่านก็ใช้ได้ผลของท่าน
เราเลือก(คำบริกรรม)ที่สบายใจ แต่อย่ายั่วกิเลสเกินไปนะ เอาคำที่สบายใจเป็นหลัก แล้วก็เป็นจังหวะ สวดบริกรรมเป็นจังหวะในใจเราไป ให้สบายๆ รีแล็กซ์(relax ) ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ พอใจเรามีความสุขสมาธิมันจะเกิด เราก็อยู่กับคำบริกรรมของเราไปเรื่อยๆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ว่าไป
แล้วพอใจมันหนี ใจมันเคยคุ้นเคยกับการบริกรรมคำนี้แล้ว มันหนีไม่นาน มันคุ้นเคยแล้วเดี๋ยวมันจะกลับมาอย่างรวดเร็ว โดยที่เราไม่ต้องดึงจิตกลับมา ห้ามดึงจิตกลับมานะ ถ้าดึงจิตกลับมาจิตจะแน่นอึ๊ดทึดเลย ใช้ไม่ได้แล้ว เป็นจิตที่เลวเลย เป็นจิตอึดอัด จิตอึดอัดคือโทสมูลจิต จิตที่เป็นอกุศลนะ แต่จิตที่เป็นกุศลนะ โปล่ง โล่ง เบา สบาย มีความสุขบ้าง มีอุเบกขาบ้าง แต่จะไม่มีความทุกข์ ถ้าอึดอัดเป็นทุกข์ขึ้นมา จิตเป็นอกุศล เลิกเลยไม่ต้องเสียดาย
งั้นให้พวกเราหาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่ง ใส่ใจในเครื่องอยู่ของเรา คือนึกถึงบ่อยๆ ไม่ใช่วันหนึ่งนึกถึงตอนก่อนนอน มีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็นึกถึงเครื่องอยู่ของเรา อย่างสมัยหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อนึกถึงจิต นึกถึงจิตทั้งวันเลย พอมีเวลาว่างจิตสนใจ สนใจกลับมาดูจิต แล้วก็ดูของมันทั้งวัน
การที่เรามีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่นะ แล้วพอใจมันหนีไปแล้วรู้ ใจหนีไปแล้วรู้ ต่อไปจิตจะจำสภาวะที่จิตเคลื่อนไปได้ ถ้าจิตมันเคลื่อนไปคิดจะรู้ จิตมันเคลื่อนไปเพ่งอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็รู้ พอจิตเคลื่อนปั๊บ สติจะเกิดเอง เมื่อจิตจำสภาวะ(จิตเคลื่อน)ได้แล้ว เพราะ "การจำสภาวะได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ" นี่เป็นหลักเลยนะ!
การที่เราจำสภาวะได้ เพราะเราเห็นบ่อยๆ อย่างเราบริกรรมไป แล้วใจเราเคลื่อนเรารู้ๆ ต่อไปพอใจเราเคลื่อนเนี่ย มันจะรู้โดยไม่ต้องเจตนา จะรู้อัตโนมัติขึ้นมา พอได้สติแล้วเนี่ย ใจเราเคลื่อนไป สมมุติเราโกรธคนสักคนหนึ่ง ใจเราเคลื่อนไปปุ๊บเราเห็นเลย ใจก็ตั้งมั่น ความโกรธดับ  รับรองว่าไม่ผิดศีลนะ ไม่ผิดศีลแน่นอนเพราะว่ามีสติ เป็นศีลชั้นสูงนะ คือเรียกว่าอินทรียสังวรศีล เป็นศีลชั้นดีเลย ไม่ใช่ศีลห้าข้อ แปดข้อ (อินทรียสังวร)อันนี้มีข้อเดียว คือรักษาจิตเอาไว้ได้ ไม่ถูกกิเลสครอบงำศีลก็ได้แล้ว
แล้วพอใจเราเคลื่อน เรารู้ทัน ใจก็ไม่เคลื่อน ใจก็ตั้งมั่น โดยไม่เจตนาให้ตั้งมั่น เราได้สมาธิที่ดีขึ้นมาแล้ว แล้วจิตเคลื่อนอีก-รู้อีก เคลื่อนอีก-รู้อีก ต่อไปปัญญาจะเกิด มันจะสรุปได้ว่า จิตแต่ละอย่างนี้ไม่เที่ยง จิตไหลไปก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง (จิต)เกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวหลง นี่คือ การเจริญปัญญา
ต่อไปก็จะรู้ว่า "จิตไม่ใช่ตัวเราหรอก" ต่อไปก็รู้ลึกซึ้งสุดขีด "จิตนี้คือตัวทุกข์" ถ้าจิตถึงตัวทุกข์นะ ก็จะเป็นพระอรหันต์แล้ว ถ้าเห็นตรงนี้ได้นะ คือที่สุดของการปฏิบัติ อยู่ตรงที่เห็นตัวจิตผู้รู้คือตัวทุกข์นั่นเอง ตัวจิตผู้รู้นี่แหละ เป็นเครื่องอาศัยที่เราจะต้องมีเพื่อปฏิบัตินะ เพื่อพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาให้เต็มที่
พอศีล สมาธิ ปัญญา เต็มที่แล้ว เนี่ยจิตจะทิ้งตัวผู้รู้เอง ถึงเวลาเขาจะทิ้งของเขาเอง หลวงปู่ดูลย์ถึงสอน "พบผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง" วิธีทำลายผู้รู้เนี่ย จิตเขาทำลายของเขาเอง เมื่อเขามีปัญญารู้ความจริงว่า ตัวจิตผู้รู้คือตัวทุกข์
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ยุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น เรียนรู้กายใจตัวเองให้มาก"
ตัวนึงก็คือเรื่องไม่คลุกคลี ไม่คลุกคลีก็เรื่องสำคัญถ้าเราจะภาวนาให้พ้นทุกข์จริงๆ วันๆยุ่งกับคนอื่นทั้งวัน ใจไม่สงบ หลวงพ่อตอนเป็นฆราวาสเลิกงานแล้วก็กลับบ้าน กินข้าวอาบน้ำอะไรเรียบร้อย เวลาที่เหลือมีเวลาภาวนา ถ้าวันไหนเหนื่อยมากก็พักผ่อนนิดหน่อยอ่านหนังสือการ์ตูนอะไรเนี้ย ดูข่าวนิดหน่อยไม่ดูเยอะ หลังข่าวไม่ดูมีแต่นิยาย ดูแล้วจิตเสีย กิเลสที่ยังไม่เกิดก็เกิด กิเลสที่เกิดแล้วก็แรงขึ้น กุศลที่มีก็หายไป กุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่ยอมเกิดเลย มัวแต่ดูนิยาย ใจฟุ้งซ่าน
เนี่ยรักษาตัวมาด้วยเรื่องนี้นะ ไม่ยุ่งกับใคร เวลาทำงานต้องยุ่งกับคนก็ยุ่งไปตามหน้าที่ ติดนิสัยมาจนถึงวันนี้นะ ใครบอกได้ว่าเป็นคนสนิทหลวงพ่อพูดออกมั้ย พูดไม่ออก ไม่มีลูกศิษย์เอกลูกศิษย์โท เท่าๆกันน่ะ ถึงมาเรียนถึงเวลาก็ออกไป หลวงพ่อไม่คลุกคลีกับโยมหรอกนะ อย่าว่าแต่โยมเลยกับพระถึงเวลาวัดหลวงพ่อมีระเบียบนะ พระห้ามเดินไปตามกุฏิซึ่งกันและกันนะ ยิ่งยามวิกาลเนี่ย ถ้าเดินไปนั่งคุยกันนิมนต์ไปคุยที่นอกวัดเลย
แต่ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยต้องดูแลกันนะคนละเรื่อง ของเราถ้าวันๆ ยุ่งกับคนมาก ภาวนาไม่ขึ้นหรอก ยุ่งเท่าที่จำเป็น ทำธุรกิจทำอะไรก็จำเป็น ไปเลี้ยงลูกค้าถือว่าคลุกคลีมั้ย ไม่ใช่ มีธุรกิจต้องไปเลี้ยงกับลูกค้ากินเลี้ยง นั่นคืองานไม่ใช่เรื่องคลุกคลี คลุกคลี(คือ)ไม่จำเป็น ไม่มีธุระอะไร ก็ยังไปยุ่งกับคนอื่นเค้า พวกเราหลายคนภาวนาแล้วชอบยุ่งคนอื่น ภาวนาไม่ขึ้นหรอก งั้นเอาเวลามาเรียนรู้กายเรียนรู้ใจตัวเองให้มาก
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
เวลาที่จิตออกไปรับอารมณ์ เหมือนเจ้าของบ้านออกไปรับแขก ออกไปมองแขก ออกไปดูแขก แล้วเมื่อจิตรับอารมณ์ปรุงแต่งดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็จะเกิดความรู้สึก เกิดอาการขึ้นกับจิต เป็นความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ความพอใจไม่พอใจนี้ เวลาที่เจ้าของบ้านออกไปรับแขก บางครั้งก็โกรธเกลียดแขก ทะเลาะกับแขก บางครั้งก็รักแขกหลงแขก พอใจ ติดใจต่อแขก บางทีก็ตามแขกไป ทิ้งบ้าน แล้วคิดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย คิดไป หนักเข้าก็ลืมตัวเองไปไหนๆ
ฉะนั้น จะต้องฝึกการรู้เท่าทันต่อเจ้าของบ้านไว้ เวลาที่ออกไปรับแขก รับแขก รับอารมณ์อย่างรู้ตัว ก็จะรู้ว่า
๑.รู้อารมณ์ รู้แขกคือรู้อารมณ์
๒.รู้เจ้าของบ้าน ก็คือรู้จิต
การรู้จิตก็จะมีอยู่ ๒ แง่ด้วยกัน คือ หนึ่ง แง่ของการรับแขกหรือรับอารมณ์ สอง แง่ในการรู้สึก รู้สึกต่ออารมณ์ ชอบบ้างไม่ชอบบ้างก็อยู่ในจิต เหมือนคนคนเดียวกัน มีทั้งการรับแขก มีทั้งการรู้สึกต่อแขก ฉะนั้น จะต้องสังเกต ต้องมีการระลึกรู้เจ้าของด้วย ระลึกรู้ว่ากำลังรู้อยู่ กำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร พอใจไม่พอใจ ได้ยินแล้วรู้สึกอย่างไร พอใจไม่พอใจ รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะรู้สึกเป็นอย่างไร พอใจไม่พอใจ รู้เรื่องรู้ราวต่างๆ พอใจไม่พอใจ
ต้องระลึกสังเกต ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พอทำได้ ไม่เกินวิสัยของมนุษย์ มันอยู่กับตัวอยู่แล้ว ไม่ได้ไปปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติอยู่ที่กายที่ใจ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เท่านั้น สิ่งที่ผู้ปฏิบัติทั่วๆ ไป ที่มักจะทำไม่ค่อยได้ขาดอยู่ก็คือการรู้จิต โดยเฉพาะการรับรู้อารมณ์ บางคนก็รู้จิตได้ แต่รู้ได้เฉพาะความรู้สึกสบายใจ ไม่สบายใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ อย่างนี้พอรู้ได้ แต่จิตในสภาพรู้อารมณ์ดูไม่เป็น
ฉะนั้น ต้องหัดระลึก ระลึกถึงใจผู้รู้ เมื่อมีการรู้ก็รู้สึกได้ว่ากำลังรู้ การดูใจผู้รู้ก็เหมือนเจ้าของบ้าน รู้สึกตัวของตัวเอง บางท่านปฏิบัติไปแล้วก็มีสมาธิ พอมีสมาธิ รูปต่างๆ ละเอียดไม่ปรากฏ มันก็เลยกลายเป็นจับไม่ออก ว่างเปล่าไปหมด เหมือนเจ้าของบ้านที่หาแขก เขาไปกันหมดแล้ว ก็เลยว่างไปหมด เดินหาใครก็ไม่มีใคร ไปกันหมด ว่างเปล่า ในขณะที่เดินหาแขก หาคนอยู่ แล้วก็บอกว่าไม่มีใครเลย ถามว่ามีคนอยู่ไหม เจ้าของบ้านเดินหาคน แล้วก็บอกไม่มีใคร ว่างๆ ถามว่ามีคนอยู่ไหม ใครเป็นผู้หาอยู่ เจ้าของบ้านก็เปรียบเหมือนคนหนึ่ง เจ้าของบ้านเดิน
ฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะเจอตัวเองได้ เราให้กำหนดใจผู้รู้ จิตกำหนดรู้จิต ทำอย่างไรจิตจะรู้จิต เดินหาจิต เดินหาเจ้าของ เจอไหม เจ้าของบ้านจะหาตัวเจ้าของ ทำอย่างไรจะเจอ เที่ยวค้นหา ฝักใฝ่ค้นหา ตัวเราเองอยู่ตรงไหน  หาเท่าไรก็ไม่เจอ ทั้งๆ ที่อยู่กับตัวเองก็หาไม่เจอ เพราะอะไร เพราะมันมองหา มันก็จะเลยตัวเอง
ทำอย่างไรถึงจะรู้จักตัวเองขึ้นมา ก็ไม่ต้องไปหาที่ไหน หยุดหา พอหยุดหาก็จะได้รู้สึกเข้ามาที่ตัวเอง นี่อุปมาให้ฟังสำหรับการดูจิตใจผู้รู้
หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เครียดแล้วรู้ว่าเครียดนะ ไม่ค่อยได้ผลหรอก เพราะว่าฝีมือการปฏิบัติของเรายังไม่แข็งแรง พอมันเครียด สังเกตที่กายเอา ร่างกายมันตึงไปด้วย ทำใจสบาย ดูไปที่ร่างกายส่วนที่มันตึง จะคลายออก มันจะคลายออกพร้อมที่จิตคลายนั่นแหละ โดยที่เราไม่ต้องเจตนาให้จิตมันคลายตัวออก
อันนี้เป็นอุบายนะ ไม่ใช่หลัก อุบายของการปฏิบัติ มันจะช่วยให้เราภาวนาสบายขึ้น
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
อริยสัจจ์มีทั้งส่วนที่เป็นรูปและนาม คือทุกข์นั้นมีทั้งรูปและนาม แต่สมุทัยหรือตัณหาเป็นนามล้วนๆ ทุกข์และสมุทัยนี้ใช้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ สำหรับนิโรธและมรรค เป็นส่วนของโลกุตตรธรรมซึ่งพ้นจากรูปนาม จึงไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน
อย่างไรก็ตามการเจริญวิปัสสนาด้วยการรู้อริยสัจจ์ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งเกินภูมิของพวกเราไปสักหน่อย จึงขอเชิญชวนนักปฏิบัติให้ตามรู้อารมณ์กรรมฐานที่ปรากฏง่ายๆ และเป็นสามัญไปก่อน เมื่อสติปัญญาแก่กล้าแล้ว สติปัญญาก็จะตามระลึกและเข้าใจอริยสัจจ์ได้เอง คือจะเข้าใจทุกขสัจจ์ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี มีแต่รูปกับนามอันเป็นตัวทุกข์ และเมื่อใดเข้าใจทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว สมุทัยก็เป็นอันถูกละไปเอง มรรคและนิโรธก็จะเกิดขึ้นตามลำดับไป
การเข้าใจทุกข์ให้รอบด้านไม่ใช่เรื่องง่าย คนทั่วไปเขาก็เข้าใจทุกข์ ไปตามสติปัญญาอย่างโลกๆ ของเขา คือเข้าใจว่า  ถ้าเมื่อใดเราได้รับอารมณ์ที่เลวก็เป็นทุกข์ ถ้าเมื่อใดเราได้รับอารมณ์ที่ดีก็เป็นสุข ส่วนนักปฏิบัติในเบื้องต้นจะเห็นว่า ความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย ยังเป็นของที่แปรปรวน เอาเป็นเครื่องให้ความสุขที่ถาวรไม่ได้ ต่อเมื่อใดผู้ปฏิบัติสามารถคุ้มครองจิตได้ด้วยสติปัญญา
จิตไม่เกิดความอยาก ไม่เกิดความยึดถือ และไม่เกิดความดิ้นรนทางใจ เมื่อนั้นจิตจะไม่ทุกข์ แต่เมื่อใดจิตเกิดความอยาก เกิดความยึดถือ และเกิดความดิ้นรนทางใจ เมื่อนั้นจิตจะเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้จึงพยายามรักษาจิตอย่างเป็นชีวิตจิตใจ ต่อเมื่อปฏิบัติมากเข้า จึงจะเข้าใจอริยสัจจ์ได้อย่างลึกซึ้งหมดจด คือได้เห็นความจริงว่าขันธ์ทั้งปวง แม้แต่จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ เข้าใจได้อย่างนี้ จิตจะเกิดปล่อยวางจิต แล้วได้พบกับสภาวธรรมแห่งความสิ้นตัณหาหรือวิราคะ  และสิ้นความดิ้นรนทางใจหรือวิสังขาร นี่เองคือความเข้าใจอริยสัจจ์อย่างแจ่มแจ้งถึงที่สุด
สรุปแล้วไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนา ด้วยการรู้อารมณ์รูปนามอย่างใดในสติปัฏฐาน ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนาม และมีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ว่ามีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งสิ้น และในที่สุดจิตจะเห็นแจ้งอริยสัจจ์ แล้วปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามได้ทั้งสิ้น
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ถ้าเมื่อไหร่รู้อริยสัจนะ จะปล่อยวางตัวจิตได้ งั้นการที่จะเข้ามาทำลายผู้รู้ ปล่อยวางตัวจิตได้ ต้องรู้แจ้งอริยสัจ อันนี้แถมไว้ให้นะ พวกเรายังไม่ถึงตรงนี้หรอก แต่บอกไว้ก่อน นานๆเจอกันที เกิดถึงตัวผู้รู้แล้วจะได้ทำลายผู้รู้ได้ ทำลายผู้รู้ไม่ได้ทำด้วยวิธีอื่น ไม่ได้ทำด้วยการกำหนดจิตไปเพ่งใส่มัน ไม่ได้แกล้งทำเป็นเอ๋อๆไม่รู้เรื่อง ทำสติแตก ไม่ใช่ แต่มันคือการรู้แจ้งอริยสัจแห่งจิต
ถ้าวันใดเราเห็นความจริง ว่าจิตนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ บางท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ เพราะมันถูกบีบคั้น บางท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ เพราะมันบังคับไม่ได้ มันบังคับไม่ได้นะ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั่นเอง การที่เห็นแจ้งว่าจิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพียงมุมใดมุมหนึ่งนะ จิตจะปล่อยวางจิต เค้าจะปล่อยของเค้าเอง
ทำไมต้องเห็นแจ้งตรงนี้แล้วเป็นการรู้อริยสัจ ในบรรดาขันธ์ ๕ ทั้งหลายเนี่ย สิ่งที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุดนะก็คือจิต สิ่งที่เราสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเรามากที่สุด ก็คือจิต สิ่งที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุด ก็คือจิต งั้นวันใดที่เห็นความจริงว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา วันใดไม่ยึดถือจิต ก็จะไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีกแล้ว เพราะจิตเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
งั้นให้เราคอยมาสังเกตความจริงของจิตไปเรื่อยๆ จิตนี้ไม่เที่ยง จิตนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตนี้ไม่อยู่ในอำนาจ สั่งให้ดีก็ไม่ดี ห้ามชั่วมันก็จะชั่ว สั่งให้สุขมันก็ไม่สุข ห้ามทุกข์มันก็จะทุกข์ มันไม่อยู่ในอำนาจจริง เนี่ยเฝ้าดูลงไป เห็นแต่ของที่ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่ใช่ฝึกจนมันอยู่ในอำนาจนะ ถ้าฝึกจนอยู่ในอำนาจก็คือเข้าไปควบคุมมันสำเร็จ นั่นแหละไม่ปล่อยตัวผู้รู้หรอก แต่ว่าเข้าไปยึดถือผู้รู้ไว้อย่างเหนียวแน่นเลย
แต่ก่อนที่พวกเราจะมาถึงจุดที่ทำลายผู้รู้นี้ อย่าเพิ่งรีบร้อนนะ ดูจิตมันเกิดดับ ดูจิตมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่อยๆไป ถึงเวลามันทำลายของมันเอง เหมือนลูกไก่ที่โตเต็มที่แล้วจะเจาะทำลายเปลือกเอง อยู่ๆเราไปรีบตอกไข่นะ แม่ไก่ออกมาปุ๊บ แล้วเราอยากได้ลูกไก่เร็วๆ ตอกไข่ออกมาไม่เจอลูกไก่ ยังไม่เป็นตัว เหมือนจิตของพวกเราตอนนี้นะ อย่าเพิ่งไปทำลายจิตนะ อย่าเพิ่งไปทำลายผู้รู้นะ ทำลายออกมาจะไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ไข่เจียว เหลือแต่ไข่ดาว ไม่ได้เรื่องหรอก
งั้นพอมีจิตแล้วนะ ก็คอยรู้คอยดูของเราไป เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยไป ถึงจุดหนึ่งเมื่อสติปัญญามันบ่มเต็มที่แล้ว มันจะปล่อยวางจิตด้วยตัวของมันเอง นี่สอนให้แบบละเอียดแล้วนะ ไม่มีใครเค้าสอนกันหรอกนะอย่างนี้ สอนแล้วมันเปลืองตัว นี้หลวงพ่อเรียนมาจากครูบาอาจารย์ ท่านสอนมาอีกที เรามาบอกต่อให้ ธรรมะจะได้ไม่หายไป
ถ้าตราบใดที่ปล่อยวางจิตไม่ได้ ยังเวียนว่ายตายเกิดอีก จิตเหมือนเมล็ดของต้นไม้ เหมือนเมล็ดของต้นมะม่วง เหมือนเมล็ดทุเรียน ขนุน อะไรอย่างนี้ มีเมล็ดอยู่เมล็ดเดียวนะ เอาไปเพาะ งอกต้นไม้ขึ้นมาอีก ออกลูกออกหลานมาได้อีกเยอะแยะเลย จิตดวงเดียวที่ยังไม่สิ้นเชื้อเกิด ยังมีอวิชชา ยังมีความไม่รู้แจ้งถึงอริยสัจซ่อนอยู่ภายใน จิตดวงเดียวนี้แหละ พาเราเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่ภพภูมิใหม่ๆ สร้างขันธ์ ๕ ใหม่ขึ้นมาได้อีก เหมือนเมล็ดมะม่วง สร้างต้นมะม่วง ออกลูกมะม่วงมาได้อีกเยอะแยะเลย จิตดวงเดียวที่ยังมีเชื้อเกิดคือไม่รู้อริยสัจอยู่เนี่ย มันพาให้เราได้ขันธ์ ๕ ขึ้นมาอีกในภพภูมิต่างๆ เวียนว่ายไปเรื่อย
งั้นเฝ้ารู้ไปนะ เฝ้ารู้ รู้ทันจิตใจของเราไปเรื่อย อย่าเข้าไปแทรกแซงจิต จิตเป็นอย่างไรให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตสุขให้รู้ว่าจิตสุข คือเห็นว่าความสุขก็อยู่ชั่วคราว จิตที่สุขก็อยู่ชั่วคราว จิตทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ก็เห็นว่าความทุกข์เป็นของชั่วคราว จิตที่มีความทุกข์อยู่ก็เป็นของชั่วคราว ความฟุ้งซ่านความหดหู่อะไรเกิดขึ้น ความสุขความทุกข์ความดีความชั่วอะไรเกิดขึ้น ก็ดูลงไป ความโกรธก็ของชั่วคราว จิตที่โกรธก็ของชั่วคราว ดูอย่างนี้เรื่อยไป นี่แหละเรียกว่าการเจริญปัญญานะ
ถ้าเจริญปัญญาจนถึงขั้นปล่อยวางกายปล่อยวางจิตได้เราจะมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน เป็นความสุขที่ไม่กลับกลอก เหมือนความสุขของการเข้าสมาธิ ความสุขของการทำสมาธิเป็นความสุขที่กลับกลอก เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้จริง มันสุขอยู่ชั่วเวลาที่นั่งทำสมาธินั่นแหละ พอออกจากสมาธิมันก็กลับมาทุกข์อีก เพราะงั้นมันไม่ได้สาระแก่นสารจริง เราก็ต้องมาพัฒนาให้เกิดความสุขที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ปล่อยวางความยึดถือในธาตุในขันธ์ เราจะเป็นอิสระที่แท้จริง
มนุษย์นะใฝ่หาอิสรภาพ แต่ละคนๆ ก็บอกตัวเองเป็นอิสระๆ ความจริงไม่มีใครเป็นอิสระเลย ทุกคนตกเป็นทาสของความอยากตลอดเวลา ความอยากสั่งเราตลอดเวลานะ เราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองหรอก
เรามาฝึกจิตฝึกใจของเรา วันหนึ่งเราเป็นอิสระ เรามีความสุข เราโปร่งโล่งเบา กลางวันก็มีความสุข กลางคืนก็มีความสุข แช่มชื่นเบิกบาน ร่างกายแก่ ใจก็ยังมีความสุข ร่างกายเจ็บ ใจก็ยังมีความสุข ร่างกายจะตาย ใจก็มีความสุขนะ มีความสุขอยู่ได้ตลอด ไม่ต้องพึ่งพาอะไรภายนอก มันเต็มอิ่มอยู่ในตัวเอง
พวกเราความสุขของเราอิงอาศัยสิ่งภายนอก นึกออกไหม เราต้องเจอคนนี้ถึงจะมีความสุข ถ้าไปเจอคนนี้ไม่มีความสุข เห็นไหมเราต้องอิงอาศัยของข้างนอก เราต้องมีรถยี่ห้อนี้ถึงจะมีความสุข ถ้ามียี่ห้อนี้ไม่มีความสุข อะไรอย่างนี้ ต้องมีมือถือรุ่นนี้ ไม่มีรุ่นนี้ไม่มีความสุข อะไรอย่างนี้ อิงอาศัยของข้างนอกตลอดเลย ต้องมีบ้านหลังใหญ่ๆแล้วมีความสุข บ้านหลังใหญ่ๆภาระเยอะจะตายไป มีแต่ภาระ ไม่เห็นจะสุขตรงไหนเลย วันๆแทนที่จะได้เข้าบ้านแล้วนอนให้สบายนะ ทำความสะอาดแป๊บเดียวนอนได้แล้ว นี่บ้านหลังเบ้อเร่อเลย ทำแทบตาย ทำจนหมดแรงหอบแฮ่กๆ มีความสุขตรงไหน
งั้นเราคอยดูนะ เราจะได้พบความสุขภายในตัวของเราเอง ความสุขที่ไม่อิงอาศัยของข้างนอก เศรษฐกิจจะตกต่ำ การเมืองจะวุ่นวาย ไม่ได้มาทำให้ใจของเราเสียความสุขไปได้นะ อะไรเกิดขึ้น คนที่เรารักจะตาย เราจะต้องเจอสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต จิตใจไม่หวั่นไหวเลย จิตใจจะเต็มอิ่มอยู่ในตัวของตัวเอง เนี่ยธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจรรย์ถึงขนาดนี้นะ
เมื่อเราปล่อยวางจิตได้แล้วนะ จิตจะพรากออกจากขันธ์ จิตกับขันธ์ ๕ เนี่ยไม่กระทบกระทั่งกัน อยู่ด้วยกันนะ แต่ไม่กระทบกระทั่งกัน คำว่าจิตพรากจากขันธ์นี้ไม่ใช่พรากออกมาเป็นสองอัน ไม่ใช่ถอดจิตออกจากกายนะ จิตก็อยู่อย่างปกตินี่แหละ แต่จิตมันไม่ยึดขันธ์ มันจะมีความรู้สึกเหมือนจิตกับขันธ์แยกออกจากกัน ไม่ใช่ถอดออกไปนอกร่างกายนะ
จิตกับความรู้สึกสุขทุกข์ก็แยกออกจากกัน พรากออกจากกัน จิตกับความปรุงแต่ง ความคิดนึกปรุงแต่ง ก็พรากออกจากกัน จิตมันพรากออกจากขันธ์ ขันธ์นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ จิตก็พรากออกจากตัวทุกข์
งั้นพระอรหันต์เนี่ย ท่านก็ยังมีขันธ์อยู่ แต่ท่านไม่เกาะเกี่ยวในขันธ์ ขันธ์เป็นตัวทุกข์ เพราะงั้นพระอรหันต์ไม่ทุกข์ไปกับขันธ์ เรียกว่าท่านพ้นทุกข์ ถ้าอยู่ไปเรื่อย ดำรงชีวิตไปเรื่อยนะ ไปจนวันที่ขันธ์แตกดับ ขันธ์แตกดับพวกเราเรียกว่าตาย พระอรหันต์ท่านเห็นว่าธาตุมันจะแตก ขันธ์มันจะแตกอะไรเนี่ย ท่านจะไม่หวั่นไหวเลย เมื่อธาตุแตกขันธ์แตกแล้ว จิตซึ่งบริสุทธิ์แล้วจะสลายตัว จะกระจายตัวรวมเข้ากับความว่าง ความว่างของจักรวาล
ความว่าง ท่านเปรียบเทียบคล้ายๆไฟ ไฟที่มันติดอยู่นี้ พอถึงวันหนึ่งเวลาหนึ่งไฟมันดับ ไฟมันดับเนี่ย ไฟไม่ได้สูญไปนะ แต่ไฟนี้กระจายตัวออกไป ความร้อนนี้กระจายตัวเต็มโลกธาตุออกไป ธาตุรู้นี้เหมือนกัน ธาตุรู้นี้พอถึงจุดนั้นนะมันจะทิ้งขันธ์แล้ว ขันธ์แตกขันธ์ดับแล้ว ไม่มีขันธ์มาเป็นเครื่องผูกรั้งเกาะเกี่ยวอีกต่อไปแล้ว มันจะกระจายตัวรวมเข้ากับพระนิพพาน จิตกับพระนิพพานเข้าไปสัมผัสกัน ความจริงสัมผัสตั้งแต่บรรลุพระอรหันต์แล้วล่ะ แต่ยังมีขันธ์เป็นตัวถ่วงอยู่
เพราะงั้นพระอรหันต์เวลาที่ใกล้จะมรณภาพ ใกล้จะนิพพานเนี่ย ท่านร่าเริงนะ จะไม่เหมือนพวกเราเวลาใกล้ตาย บางทีเสียดาย เศร้าโศก จิตใจไม่สบาย ในขณะที่พระอรหันต์ท่านครองขันธ์อยู่ ท่านมีความรู้สึกว่าท่านแบกภาระอยู่ ขันธ์เป็นภาระที่ต้องคอยดูแลอยู่ พอขันธ์จะแตก ธาตุจะแตก ขันธ์จะดับเนี่ย กลายเป็นความสบายของท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้อยากให้มันแตกนะ เพราะใจท่านเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เพราะงั้นพระอรหันต์ไม่ได้กลัวตาย แต่พระอรหันต์ก็ไม่ได้อยากตาย เป็นภาวะที่อัศจรรย์นะ
พลังงานที่เหลืออยู่ จิตท่านนั้นกลมกลืนเข้ากับความว่างไป แต่พลังงานนั้นไม่สูญหายไปไหน งั้นพลังจิตของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ยังดำรงอยู่นะ ถ้าพวกเรามีสมาธิพอ จิตใจเราสะอาดพอ เราจะสัมผัสพระพุทธเจ้าได้ จะรู้สึกสัมผัสพระพุทธเจ้าได้

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ ใครเคยได้ยินชื่อหลวงปู่ดู่บ้าง หลวงปู่ดู่เป็นพระโพธิสัตว์ ลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ไปถามหลวงปู่ดู่ว่าได้ไปอ่านหนังสือ จิตคือพุทธะของหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์สอนถูกหรือเปล่า เรื่องจิตที่ไปนิพพาน
หลวงปู่ดู่บอกว่าถูก ลูกศิษย์ลูกปู่ดู่ก็ถามหลวงปู่ดู่เลยว่า ถ้างั้นที่หลวงปู่ดู่สอนก็ผิดสิ หลวงปู่ดู่สอนนี่ มีพาลูกศิษย์ไปไหว้พระพุทธเจ้า ในวิมานแก้วในพระนิพพานอีก ท่านบอกว่าถูกของท่านเหมือนกันนะ แต่ว่ามันคนละอันกัน ที่เข้าไปสัมผัสได้ไปเห็นได้อะไรนี่เป็นพุทธนิมิต
ถ้าพูดสมัยพวกเรานะ คือเป็นพลังงานที่ท่านทิ้งเอาไว้ ที่เราสัมผัสได้ พอจิตของเรากระทบกับพลังงานนี้นะ จิตจะแปรสภาพพลังงานนี้ออกมาเป็นสมมุติบัญญัติ ก็จะเป็นรูปอย่างนี้ บางทีคุยได้ด้วยซ้ำนะ บางทีเทศน์ได้ด้วยซ้ำนะ แต่อย่าคิดนะว่าพระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเลยนั้นไปอีก
ท่านสอนดีนะ ท่านสอนดี ไม่ต้องทะเลาะกันเลย อย่างบางคนนั่งสมาธิแล้วเห็นพระพุทธเจ้า ถามว่าเห็นไหม ก็เห็นเหมือนกันนะ ถามว่าพระพุทธเจ้าหรือเปล่า จริงๆ เป็นพลังงานของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรอก
ค่อยฝึกไปนะ สิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราไม่เห็นนั้นมีอีกมาก แต่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับความทุกข์ และความพ้นทุกข์ และการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ท่านสอนสโคปของพระพุทธศาสนา สอนเรื่องทุกข์ กับเรื่องทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แค่นั้นเอง
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ ๕ นี้เองนะ ทางปฏิบัติก็คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ ย่อลงมาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกไตรสิกขา ค่อยฝึกเอา พวกเรามีโอกาสนะ ถ้ามีโอกาสแล้วอย่าให้เสียชาติเกิดนะ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีลักษณะ ๘ ประการ
๑. มักน้อย การวางตัวของผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะพระ ต้องมีความมักน้อยเป็นหลัก ถึงมีมากก็ใช้น้อย
๒. สันโดษ หมายถึงว่าให้ขยันทำเหตุให้เต็มที่ แต่ว่าเมื่อได้ผลเท่าไรก็ยินดีตามที่ได้
๓. ไม่คลุกคลี แม้แต่นักปฏิบัติด้วยกัน แต่พระองค์ทรงสอนให้เสวนากับบัณฑิตและกัลยาณมิตร เข้าไปเรียน เข้าไปรู้ตามกาลสมควร โดยไม่คลุกคลี
๔. ปรารภความเพียร การปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ก็คือปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นเวลาที่ทำงานที่ต้องคิด ถ้าทำงานที่ใช้ร่างกาย เวลาทำงานก็เป็นเวลาปฏิบัติได้
๕. มีสติ คอยรู้สึกอยู่ในกาย คอยรู้สึกอยู่ในใจ กายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก
๖. มีสมาธิ ฝึกให้จิตตั้งมั่น และฝึกให้จิตสงบ เช่น พุทโธไปจิตหนีไปคิด รู้ทัน หายใจไปจิตหนีไปคิด รู้ทัน ถ้าจิตไหลไปแล้วเรารู้ทันว่าจิตไหลไป จิตจะตั้งมั่น
๗. มีปัญญา คือ การมีสติ รู้กาย รู้ใจ ตามที่เขาเป็น ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จะมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ ของรูปของนาม(ของกายของใจ) นี่คือหลักของวิปัสสนากัมมัฏฐาน
๘. ไม่เนิ่นช้า ถ้าเราปฏิบัติตามได้ทั้ง ๗ ประการข้างต้น เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างรวดเร็ว แล้วเราจะเชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง เพราะเราเห็นด้วยตัวเราเอง
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วิธีการรู้รูปนามในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น สามารถพัฒนาไปจากการเจริญสติปัฏฐาน ด้วยการรู้กาย เวทนา และจิตนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าชำนาญในการรู้จิต จะเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ง่าย เพราะอารมณ์ส่วนใหญ่ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นนามธรรม
ทั้งนี้การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถกระทำได้ดังนี้คือ
๑. นิวรณ์ เป็นนามธรรมล้วนๆ ทั้งกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา การรู้นิวรณ์นั้นไม่ต้องทำสมถกรรมฐานก่อน เพราะถ้าจิตเป็นสมาธิจะไม่มีนิวรณ์ให้ดู หากมีนิวรณ์ใดเกิดขึ้น ก็ให้ระลึกรู้นิวรณ์นั้นเข้าไปตรงๆ เลยทีเดียว นิวรณ์จะดับไปเองในทันทีที่สติเกิดขึ้น
การรู้นิวรณ์ไม่ได้กระทำเพื่อจะข่มหรือละนิวรณ์ เพราะการข่มหรือละนิวรณ์ เป็นหน้าที่ของสมถกรรมฐาน แต่เรารู้นิวรณ์เพื่อจะได้เข้าใจความจริงว่า นิวรณ์เป็นนามธรรมอันหนึ่ง ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุ นิวรณ์ก็เกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุ นิวรณ์ก็ดับไป
แม้จิตที่รู้นิวรณ์ รวมทั้งรูปและเวทนาทั้งหลาย อันเป็นเหยื่อล่อให้นิวรณ์เกิดขึ้น ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาเช่นกัน ดังนั้นแม้เพียงเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในนีวรณบรรพอย่างเดียว ก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพราะมีปัญญารู้ทั่วถึงความจริงของรูปนามได้ทั้งหมด
๒. ขันธ์ แม้ขันธ์จะมีทั้งรูปและนาม แต่การจำแนกสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" ออกเป็นขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นคำสอนที่เน้นหนัก สำหรับผู้ที่สนใจนามมากกว่ารูป เพราะพระพุทธเจ้าทรงจำแนกรูปไว้เพียง ๑ ขันธ์ แต่ทรงจำแนกนามไว้ถึง ๔ ขันธ์
การรู้ขันธ์นั้น ถ้าสติระลึกรู้ขันธ์ใด ก็ตามรู้และเข้าใจความเป็นจริงของขันธ์นั้นไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องรู้ไปตามลำดับขันธ์ หรือจงใจใช้ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นอารมณ์ ดังเช่นที่เคยเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ผ่านมาแล้ว
ทั้งนี้การรู้ขันธ์ไม่ใช่รู้เพื่อจะควบคุมขันธ์ แต่รู้เพื่อจะได้เห็นความจริงว่า ตัวเราไม่มี มีแต่รูปกับนาม และรูปนามหรือขันธ์ทั้งหมดนั้น มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังนั้นแม้เพียงเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในขันธบรรพอย่างเดียว ก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพราะมีปัญญารู้ทั่วถึงความจริงของรูปนามได้ทั้งหมด
๓. อายตนะ การจำแนกสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" ออกเป็นอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ กับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์นั้น เป็นคำสอนที่เน้นหนัก สำหรับผู้สนใจการรู้รูปมากกว่ารู้นาม เพราะอายตนะส่วนใหญ่เป็นรูปธรรม มีสิ่งที่เป็นนามธรรมเฉพาะใจ กับธัมมารมณ์บางอย่างเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการเจริญสติปัฏฐานในอายตนบรรพนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้รู้แค่อายตนะ แต่ท่านสอนให้รู้ถึงนาม คือสังโยชน์ที่อาศัยอายตนะเกิดขึ้นด้วย เช่น เมื่อตาเห็นรูป หรือเมื่อใจรู้ธัมมารมณ์แล้ว หากสังโยชน์ใดเกิดขึ้นที่จิต ท่านก็ให้รู้สังโยชน์นั้นด้วย สังโยชน์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นนามธรรมทั้งสิ้น ดังนั้นแม้จะทรงจำแนกสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" ด้วยอายตนะที่เป็นรูปเป็นหลัก แต่ก็ทรงสอนให้รู้นามไปด้วยเสมอๆ
คำสอนตรงจุดนี้ของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ขอฝากให้สนใจสังเกตให้ดี เพราะทุกวันนี้มีนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อย ที่พยายามตัดการทำงานของจิต ภายหลังการกระทบสัมผัสอารมณ์ทางอายตนะทั้งปวง เพื่อไม่ให้เกิดกิเลสขึ้นได้ ด้วยการรีบพิจารณาอายตนะว่าเป็นรูปนาม เช่น พอตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือใจรู้ธัมมารมณ์ ก็รีบใช้ความคิดพิจารณาตาและรูป หูและเสียง ใจและธัมมารมณ์ว่าเป็นเพียงรูปนาม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
เมื่อจิตคิดปรุงแต่งไปในเรื่องธรรมะ อันเป็นกุศลเสียแล้ว จิตก็ไม่ปรุงแต่งอกุศลหยาบๆ คือกิเลสตัณหาใดๆ ขึ้นมา จิตเกิดความนิ่ง สงบ สบาย อันเป็นผลของการคิดถึงธรรม ซึ่งก็คือธัมมานุสติ อันเป็นการเจริญสมถกรรมฐานนั่นเอง แล้วผู้ปฏิบัติก็ภูมิใจว่า เราสามารถระงับกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น ภายหลังการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ได้
ขอให้สังเกตให้ดีว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ทำเช่นนั้น คือไม่ได้สอนให้คิดเรื่องอายตนะ แต่ทรงสอนให้รู้ชัดถึงความเป็นรูปนามของอายตนะ และรู้ชัดถึงสังโยชน์ที่เกิดขึ้น ภายหลังการกระทบอารมณ์ด้วย ซึ่งจิตจะเกิดสังโยชน์หรือกิเลสใดๆ ภายหลังการกระทบอารมณ์ได้ ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติไม่ได่เพ่งจ้องหรือแทรกแซงจิต ด้วยการทำสมถกรรมฐาน
แท้จริงการปฏิบัติไม่จำเป็นต้องทำสิ่งใดให้ยุ่งยากเลย เมื่อตาเห็นรูป หากจิตเกิดความยินดียินร้ายก็ให้รู้ทัน เมื่อหูได้ยินเสียง หากจิตเกิดความยินดียินร้ายก็ให้รู้ทัน และเมื่อใจรู้ธัมมารมณ์ หากจิตเกิดความยินดียินร้ายก็ให้รู้ทัน เท่านี้ก็พอแล้ว เมื่อปฏิบัติมากเข้า ก็จะเห็นว่า ทั้งรูปและนามทั้งหลาย ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาทั้งสิ้น ดังนั้นแม้เพียง เจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอายตนบรรพอย่างเดียว ก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพราะมีปัญญารู้ทั่วถึงความจริงของรูปนามได้ทั้งหมด
๔.โพชฌงค์ คือองค์ธรรมที่เป็นเครื่องให้ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือทำให้เกิดอริยมรรค องค์ธรรมของโพชฌงค์เป็นนามธรรมล้วนๆ ได้แก่ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา
สติสัมโพชฌงค์ คือสติเจตสิกที่ระลึกรู้อารมณ์รูปนามในสติปัฏฐาน ๔ จนมีกำลังแก่กล้าเป็นสัมมาสติในอริยมรรค
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ปัญญาเจตสิกที่รู้ความจริงของรูปนาม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา จนแก่กล้าเป็นสัมมาทิฏฐิในอริยมรรค
วิริยสัมโพชฌงค์ คือวิริยเจตสิกที่ทำกิจในการละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น ทำกุศลให้เกิดขึ้น และทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญขึ้น วิริยเจตสิกนี้เมื่อแก่กล้าขึ้นก็จะเป็นสัมมาวายามะในอริยมรรค
ปีติสัมโพชฌงค์ คือปีติเจตสิกหรือความอิ่มใจในการเจริญสติปัฏฐาน เป็นปีติที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน องค์ธรรมได้แก่ปีติเจตสิกที่เกิดในจิต ๓๔ ดวง คือ
(๑) มหากุศลจิตอันประกอบด้วยโสมนัสเวทนาและปัญญา ซึ่งเกิดได้ทั้งด้วยการชักชวนให้เกิด และเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ชักชวนให้เกิดรวม ๒ ดวง
(๒) มหากิริยาจิตของพระอรหันต์ อันประกอบด้วยโสมนัสเวทนาและปัญญา ซึ่งเกิดได้ด้วยการชักชวนให้เกิด และเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ชักชวนให้เกิดรวม ๒ ดวง
(๓)มหัคคตจิตในฌานที่ ๑-๓ ทั้งที่เป็นกุศล ๓ ดวง เป็นกิริยาในพระอรหันต์อีก ๓ ดวง และ
(๔) โลกุตตรจิตอันประกอบด้วยฌานที่ ๑-๓ ในพระอริยบุคคล ๘ ประเภทอีก ๒๔ ดวง
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือปัสสัทธิเจตสิกที่เป็นความสงบกายสงบใจ ในการเจริญสติปัฏฐาน
สมาธิสัมโพชฌงค์ คือเอกัคคตาเจตสิกหรือความตั้งมั่นของจิต ในการรู้อารมณ์รูปนาม จนแก่กล้าเป็นสัมมาสมาธิในอริยมรรค
อุเบาขาสัมโพชฌงค์ คือตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่ทำให้จิตเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายในรูปนาม อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้จิตดำเนินไปในทางสายกลางได้อย่างมั่นคง
โพชฌงค์เป็นนามธรรมจึงต้องใช้การตามรู้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า "เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย"
เมื่อตามรู้มากเข้าในที่สุดก็จะเห็นความจริงว่า สภาวธรรมทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา และทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ อย่างไรก็ตามโพชฌงค์เป็นองค์ธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง และเกินจากเรื่องขันธ์ อายตนะ ธาตุ ซึ่งเป็นวิปัสสนาภูมิขั้นพื้นฐาน จึงขอเชิญชวนนักปฏิบัติให้ตามรู้อารมณ์กรรมฐาน ที่ปรากฏง่ายๆ และเป็นสามัญไปก่อน เช่น การระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของรูปกาย และการรู้จิตเป็นต้น เมื่อสติปัญญาแก่กล้าแล้ว โพชฌงค์ก็จะกิดขึ้น และสติปัญญาก็จะตามระลึก และเข้าใจความเป็นไตรลักษณ์ของโพชฌงค์ได้เอง
กล่าวคือเมื่อตามรู้รูปนามอยู่นั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น การตามรู้รูปนามก็คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
เมื่อสติเกิดเนืองๆ จิตก็ยิ่งขยันรู้รูปนามได้เร็วขึ้นๆ อกุศลที่มีอยู่ก็เป็นอันถูกละไป และอกุศลใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น ธรรมฝ่ายกุศลที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นและเจริญงอกงาม นี้คือวิริยสัมโพชฌงค์
เมื่อตามรู้ตามดูรูปนามเรื่อยไป จิตใจจะมีความสุข มีความอิ่มใจที่ได้มีสติระลึกรู้รูปนาม นี้คือปีติสัมโพชฌงค์
เมื่อปีติเกิดขึ้นและสติระลึกรู้ปีตินั้น จิตก็เข้าสู่ความสงบระงับหรือปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
เมื่อจิตมีความสงบระงับและอิ่มเอิบใจอยู่นั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ คือความตั้งมั่นของจิตในการรู้รูปนามก็เกิดขึ้น แล้วสามารถรู้รูปนามได้ด้วยจิตที่เป็นกลาง หากจิตไม่เป็นกลาง สติก็ระลึกรู้ความไม่เป็นกลางนั้น ความไม่เป็นกลางอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจของอกุศล ก็จะดับไปเพราะการเจริญสติ
จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนา นี้คืออุเบกขาสัมโพชฌงค์
โพชฌงค์เป็นองค์ธรรมที่จะเจริญขึ้น เพราะการเจริญสติปัฏฐาน และแม้โพชฌงค์จะเป็นองค์ธรรมอันดีเลิศ แต่เราก็ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะยึดถือ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่เพียงการตามรู้ และเข้าใจความเป็นจริงขององค์ธรรมในโพชฌงค์ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาเท่านั้น
ก็ขนาดองค์ธรรมที่ดีเลิศปานนี้ยังไม่ยึดถือแล้ว จิตจะยึดถืออะไรได้อีกง่ายๆ เล่า ในที่สุดจิตก็จะปล่อยวางสภาวธรรมทั้งปวง แล้วบรรลุมรรคผลนิพพานได้ต่อไป
๕.อริยสัจจ์ มีทั้งส่วนที่เป็นรูปและนาม คือทุกข์นั้นมีทั้งรูปและนาม แต่สมุทัยหรือตัณหาเป็นนามล้วนๆ ทุกข์และสมุทัยนี้ใช้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ สำหรับนิโรธและมรรค เป็นส่วนของโลกุตตรธรรมซึ่งพ้นจากรูปนาม จึงไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน
อย่างไรก็ตามการเจริญวิปัสสนาด้วยการรู้อริยสัจจ์ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งเกินภูมิของพวกเราไปสักหน่อย จึงขอเชิญชวนนักปฏิบัติให้ตามรู้อารมณ์กรรมฐานที่ปรากฏง่ายๆ และเป็นสามัญไปก่อน เมื่อสติปัญญาแก่กล้าแล้ว สติปัญญาก็จะตามระลึกและเข้าใจอริยสัจจ์ได้เอง คือจะเข้าใจทุกขสัจจ์ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี มีแต่รูปกับนามอันเป็นตัวทุกข์ และเมื่อใดเข้าใจทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว สมุทัยก็เป็นอันถูกละไปเอง มรรคและนิโรธก็จะเกิดขึ้นตามลำดับไป
การเข้าใจทุกข์ให้รอบด้านไม่ใช่เรื่องง่าย คนทั่วไปเขาก็เข้าใจทุกข์ ไปตามสติปัญญาอย่างโลกๆ ของเขา คือเข้าใจว่า ถ้าเมื่อใดเราได้รับอารมณ์ที่เลวก็เป็นทุกข์ ถ้าเมื่อใดเราได้รับอารมณ์ที่ดีก็เป็นสุข ส่วนนักปฏิบัติในเบื้องต้นจะเห็นว่า ความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย ยังเป็นของที่แปรปรวน เอาเป็นเครื่องให้ความสุขที่ถาวรไม่ได้
ต่อเมื่อใดผู้ปฏิบัติสามารถคุ้มครองจิตได้ด้วยสติปัญญา จิตไม่เกิดความอยาก ไม่เกิดความยึดถือ และไม่เกิดความดิ้นรนทางใจ เมื่อนั้นจิตจะไม่ทุกข์ แต่เมื่อใดจิตเกิดความอยาก เกิดความยึดถือ และเกิดความดิ้นรนทางใจ เมื่อนั้นจิตจะเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้จึงพยายามรักษาจิตอย่างเป็นชีวิตจิตใจ
ต่อเมื่อปฏิบัติมากเข้า จึงจะเข้าใจอริยสัจจ์ได้อย่างลึกซึ้งหมดจด คือได้เห็นความจริงว่าขันธ์ทั้งปวง แม้แต่จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ เข้าใจได้อย่างนี้ จิตจะเกิดปล่อยวางจิต แล้วได้พบกับสภาวธรรมแห่งความสิ้นตัณหาหรือวิราคะ และสิ้นความดิ้นรนทางใจหรือวิสังขาร นี่เองคือความเข้าใจอริยสัจจ์อย่างแจ่มแจ้งถึงที่สุด
สรุปแล้วไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนา ด้วยการรู้อารมณ์รูปนามอย่างใดในสติปัฏฐาน ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนาม และมีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ว่ามีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งสิ้น และในที่สุดจิตจะเห็นแจ้งอริยสัจจ์ แล้วปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามได้ทั้งสิ้น
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ไม่มีความคิดเห็น: