While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die - Leonardo da Vinci

บทความเหล่านี้ หากเป็นประโยชน์กับท่าน ผมก็ดีใจ หากจะนำไปใช้ที่อื่น ผมก็ยินดี แต่กรุณาอ้างอิงที่มานิดนึง จัดเป็นมารยาทพื้นฐานในการใช้บทความของผู้อื่นใน internet หลายเรื่องผมต้องค้นคว้า แปลเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง กลั่นกรอง เรียบเรียง ใช้เวลา ใช้สมอง ใช้ประสบการณ์ การก๊อปไปเฉยๆ อาจทำให้คนอื่นคิดว่าคนที่นั่งคิดนั่งเขียนแทบตายห่ากลายเป็นคนก๊อป ผมเจอเพจที่เอาเรื่องของผมไปตัดโน่นนิดนี่หน่อยให้เป็นงานของตัวเอง ไม่อ้างอิงที่มา ไม่ละอายใจหรือ .. สงสัยอะไร comment ไว้ ผมจะมาตอบ แต่ถ้าใครมาแสดงความไพร่หรือด่าทอใครให้พื้นที่ของผมสกปรก ผมจะลบโดยไม่ลดตัวลงไปยุ่งเกี่ยว อยากระบายไปหาที่ของตัวเองครับ หมายังขี้เป็นที่เป็นทางเลยจ้ะ นี่ก็เคยเจอ ไม่รู้พ่อแม่สอนมายังไง!!!

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

ลืมไม่ได้ ต้องทำยังไง

เรามักจะปลอบใจเพื่อนหรือตัวเอง เมื่อต้องเจอกับความไม่สบายใจ ว่า ลืมมันซะ .. มันฟังดูเหมือนจะจบ แต่การพยายามลืมอะไรๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เราไม่สามารถบอกตัวเองให้ลืม แล้วมันจะลืมได้ทันทีเหมือนการปิดโปรแกรมอะไรสักอย่าง .. และถ้าเราเข้าใจกระบวนการคิดของมนุษย์ เราจะรู้ว่ามันบังคับไม่ได้ เพราะยิ่งบังคับ มันยิ่งดิ้นรน ยิ่งต่อต้าน กลายเป็นทำให้ตัวเองต้องเหนื่อยกว่าเดิม รู้สึกแย่กว่าเดิม
แล้วมีอะไรที่ทำได้ ก็มีหลายวิธีที่คนทั่วไปนิยมใช้กัน แต่ผมจะแนะนำ สิ่งที่อาจไม่เคยมีใครพูดให้คุณฟัง เพื่อปลอบใจ
นั่นคือ .. อย่าไปพยายามลืมมันเลยครับ จำมันไว้ ดูมันไป คิดถึงเรื่องนั้นๆ ให้บ่อยเท่าที่ต้องการ (หรือไม่ต้องการก็ตามแต่) ถ้าคุณยังคงค้างคาใจ ให้พยายามคิดถึงมันให้บ่อยขึ้น มันจะมีเรื่องราวรอบด้านที่สะกิดใจให้คุณนึกถึง อย่าพยายามลืม เพราะมันจะไม่จบจริง คุณจะแค่ฝังมันไว้ที่ไหนสักแห่งในหัวคุณ วันดีคืนดีมันจะโผล่ออกมากวนใจ ถ้าเวลานั้น เรามีสติไม่ดีพอ ความรู้สึกจะยิ่งใหญ่จนเกินห้ามปราม
เงื่อนไขคือ คุณต้องดูทุกครั้ง ว่าขณะที่คุณนึกถึงเรื่องที่ทำให้คุณไม่สบายใจ มันเกิดความรู้สึกยังไงขึ้นมา อย่าคิดต่อ หรือถ้าอยากจะคิดต่อก็ได้ แต่ต้องดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเมื่อคิดต่อนั้นไปด้วย ดูไปเรื่อยๆ .. มันจะเป็นแค่ความรู้สึกบางอย่างที่ไม่สามารถใช้คำพูดบอกได้ว่า รู้สึกอย่างไร มีแค่ดีกับไม่ดีเท่านั้น .. ข้อได้เปรียบคือ ถ้าคุณมีเรื่องดีกับไม่ดีให้เปรียบเทียบใกล้ๆ กัน จะยิ่งเป็นประโยชน์ มันจะเห็นชัดกว่า เวลาที่ความคิดสลับจากดีไปไม่ดี เช่น สถานการณ์หนึ่งทำให้มีความสุข อีกสถานการณ์ทำให้มีความทุกข์ ซึ่งปกติ คนเราทุกข์กันก็เพราะเกิดการเปรียบเทียบนี่ล่ะ เพราะงั้นเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์เสียเลยแล้วกัน
วัตถุประสงค์ของการทำอย่างนั้นคือ เมื่อคุณได้เห็นความรู้สึกทั้งดีและแย่ของตัวเอง มากพอ บ่อยพอ (แต่ละคนใช้จำนวนครั้งไม่เท่ากันนะครับ ขึ้นอยู่กับความดื้อของตัวคุณ) สมองคุณในส่วนที่เป็นจิตใต้สำนึกจะตัดสินใจเองว่า เรื่องนี้เป็นอันตรายกับตัวคุณ เป็นภัยคุกคาม หรือไม่มีความหมายอะไรกับคุณอีก เพราะมันทำให้ทุกข์ใจ มันจะเปิดกลไกป้องกันตัวเองอัตโนมัติ โดยการปิดเรื่องนั้นไปตั้งแต่ยังไม่ปรากฎชัดขึ้นในความคิด หรือพอความคิดเรื่องนั้นโผล่มา มันก็จะหยุดคิดของมันเอง เพราะไม่รู้ว่าจะทำให้เจ้าของเป็นทุกข์ไปทำไม
มันเป็นวิธีการด้านจิตวิทยาร่วมกับศาสนา ซึ่งผมลองทำมาหลายครั้งกับเรื่องใหญ่ๆ แล้วได้ผล ความยากคือ มันต้องใช้เวลา ต้องทนรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากอารมณ์และความคิดแบบชัดๆ .. ขอให้คิดแค่ว่า ฉันต้องผ่านมันไปให้ได้ เมื่อคุณผ่านมันไปได้ มันจะเป็นการผ่านที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีอะไรติดค้าง และเป็นการได้บทเรียนถาวร ที่จะไม่พาตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เดิมๆ อีก หากมันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น ความตาย มันก็จะทำให้เรายอมรับได้อย่างหมดใจ ว่ามันต้องเป็นเช่นนั้นเอง และไม่ทุกข์กับมันมากนัก
ผมจะสรุปข้อดีและผลของมัน จากวิธีที่คนทั่วไปเขาใช้กัน แล้วคุณลองเลือกใช้สิ่งที่เหมาะกับตัวคุณดูแล้วกันครับ
1. ลืม เราสามารถบังคับความคิดให้ลืมได้ แต่มันเป็นเพียงการกดเอาไว้ ทำให้ความคิดมันดิ้น จะสร้างความอึดอัดคับข้องใจ ส่งผลทางกายภาพต่อร่างกายที่แสนอ่อนไหวของเรา และมันมีโอกาสโผล่ออกมากวนใจได้ทุกเมื่อ ถ้าเจอสิ่งกระตุ้นที่ตรงกัน
แต่ ผมเคยเจอบางเรื่องที่กลไกการทำงานของสมองทำเองโดยไม่ต้องสั่ง ด้วยเหตุผลบางอย่าง มันจัดการส่งเรื่องบางเรื่องไปเก็บไว้ในที่ๆ ผมเข้าไม่ถึง ถ้าไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง มันก็คงไม่กลับออกมาอีก กรณีนี้ก็ลุ้นเอาครับ ว่าการกลับออกมาอีกครั้งจะส่งผลดีหรือผลร้ายต่อตัวคุณ อันนี้ค่อนข้างควบคุมยากครับ
2. เบี่ยงเบนความคิด ทำได้โดยการหาเรื่องอื่นมาใส่ตัว ใส่หัว ภาษาชาวบ้านคือหางานนั่นเอง เพื่อดึงความสนใจไปจากสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ ซึ่งจะได้ผลในระยะสั้น แต่สิ่งที่จะตามมาคือ คุณอาจต้องเจอปัญหาในรูปแบบเดิมๆ หรือมีเรื่องให้ต้องวุ่นวายในชีวิตมากขึ้น จบมันไปเลยดีกว่าไหม ทำให้ตัวเองพ้นไปจากเรื่องที่ไม่สบายใจอย่างแท้จริง น่าจะดีกว่า
3. ทำความเข้าใจด้วยตรรกะ โดยพยายามคิดวิเคราะห์หาเหตุผลจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น แน่นอนครับ ว่ามันต้องมีสถานการณ์บางอย่างที่นำไปสู่ผลบางอย่าง แต่เราอาจไม่เห็นเมื่อมองผ่านๆ .. การคิดทบทวนตั้งแต่ต้นจนจบ ร่วมกับข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ จะทำให้คุณเห็นภาพรวมชัดเจนขึ้น พบต้นเหตุของปัญหา เข้าใจเรื่องราวและความจำเป็น (หรือไม่จำเป็นก็ตามแต่) คุณจะเกิดความเข้าใจ ซึ่งทำให้ยอมรับสภาพได้ง่ายขึ้น
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเรื่องนั้นๆ ยังคงอยู่ในความคิด ก็แปลว่าคุณยอมรับมันไม่ได้หรอกครับ คุณอาจยังมีความสงสัย ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมเรื่องอย่างนี้จึงต้องเกิดขึ้นกับฉัน .. เพียงแต่ถ้าคุณผ่านวิธีนี้ไปได้ มันจะทำให้ระยะเวลาที่คุณไม่สบายใจ ลดน้อยลง (อาจเป็นวันเดือนปี อันนี้ก็แล้วแต่คนนะครับ) ในกรณีนี้ ถ้าทำรอบเดียวไม่เจออะไร ก็ทำหลายๆ รอบ มันจะคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปอย่างแน่นอน
4. ทำความเข้าใจด้วยจิตใต้สำนึก ได้ผล 100 เปอร์เซนต์และจบเรื่องได้จริง แต่อาจใช้เวลามากกว่าและลำบากใจกว่า ซึ่งก็แล้วแต่คน คือวิธีข้างต้นนั่นแหละครับ จริงๆ ผมใช้วิธีที่ 3 ก่อน แต่ของผมมันจบไม่ลงครับ เข้าใจแต่ไม่จบ จึงต้องใช้วิธีนี้ต่อ มันเป็นวิธีที่ผมเคยใช้ได้ผลระยะยาวมาแล้ว จึงนำมาเล่า เผื่อจะเป็นประโยชน์กับใครได้บ้าง สำหรับให้คนที่ของแรงๆ หรือการยึดติดสูงๆ ได้ทดลองดู
กับคำถามสุดท้ายของบทความนี้ เผื่อคุณต้องใช้ถามตัวเองหรือคนที่ปลอบใจคุณ จะให้กูลืมทำเหี้ยอะไร ก็ในเมื่อ มันมีวิธีที่ได้ผลกว่า.

ไม่มีความคิดเห็น: